ตลาดดอกไม้สดตัดดอกในสหรัฐอเมริกา

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 8, 2010 10:50 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ภาพรวมตลาดดอกไม้สดในสหรัฐฯ

1. ตลาดดอกไม้สดของสหรัฐฯ ประกอบด้วย ดอกไม้กระถาง (Potted Flower) และดอกไม้ตัดดอก (Fresh Cut Flower)

2. ตลาดดอกไม้สดในสหรัฐอเมริกามีมูลค่าค้าปลีกประมาณ 18,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2551

3. สหรัฐฯ มีสวนปลูกดอกไม้ (Farm & Nursery) ทั่วประเทศจำนวน 6,150 แห่งใน 28 มลรัฐและใช้พื้นที่รวมประมาณ 1.1 ล้าน ไร่ (ทั้งแบบปลูกในพื้นที่โล่งและปลูกในเรือนเพาะชำ)

4. มีจำนวนผู้ประกอบการค้าส่งดอกไม้สดจำนวนประมาณ 475 ราย และ ร้านค้าปลีกจำหน่ายดอกไม้สด/ร้านจัดดอกไม้ประมาณ 47,000 ราย (รวมร้านซุปเปอร์มาร์เกต) ทั่วประเทศ

5. สหรัฐฯ ผลิตดอกไม้สดตัดดอกได้ประมาณร้อยละ 34 ของความต้องการตลาดโดยมีรัฐแคลิฟอร์เนียเป็นผู้ผลิตดอกไม้สดตัดดอก (Cut Flower) อันดับ 1 ของสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 70 ของประเทศ รัฐวอชิงตันเป็นอันดับที่ 2 ร้อยละ 6 และ รัฐฮาวายเป็นอันดับที่ 3 ร้อยละ 5 รัฐฟลอริด้าเป็นอันดับที่ 4 ร้อยละ 4.5 และ อันดับที่ 5 รัฐโอรีกอน ร้อยละ 3.5

6. ประมาณร้อยละ 67 ของดอกไม้ตัดดอก (Cut Flower) ในสหรัฐฯ นำเข้าจากต่างประเทศ มีแหล่งนำเข้าที่สำคัญของสหรัฐฯ คือ Colombia (ร้อยละ 65.0), Ecuador (ร้อยละ 16.0), Netherland (ร้อยละ 8.0), และ Costa Rica (ร้อยละ 4.0) และ Mexico (ร้อยละ 3.0) ในขณะดอกไม้ตัดดอกของไทยมีสัดส่วนตลาดนำเข้าของสหรัฐประมาณร้อยละ 1

7. ท่าอากาศยาน Miami International Airport มีปริมาณนำเข้าดอกไม้ตัดดอกมากที่สุดของประเทศหรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 70 ของปริมาณนำเข้าทั้งหมด ท่าอากาศยาน New York International มีปริมาณนำเข้าเป็นอันดับที่ 2 ประมาณร้อยละ 10 และ ท่าอากาศยาน Los Angeles International Airport มีปริมาณนำเข้าเป็นอันดับที่ 3 ประมาณ ร้อยละ 5

2. ดอกไม้ตัดดอกที่นิยม

          1. Rose           2. Lilies           3. Tulip
          4. Carnation      5. Chrysanthemum    6. Daisies
          7. Gerbera        8. Gladioli         9. Alstroemeria

พฤติกรรมการบริโภคดอกไม้สดในสหรัฐฯ

1. ครัวเรือนสหรัฐฯ ใช้จ่ายการซื้อดอกไม้ประมาณ 150 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปี และมีอัตราเพิ่มประมาณร้อยละ 2

2. ผู้บริโภคสหรัฐฯ มีความต้องการดอกไม้สดประเภทที่มีแหล่งกำเนิดหรือใช้กันมากในสหรัฐฯ (Traditional Flowers) เป็นส่วนใหญ่ ดอกไม้จากต่างประเทศ มีใช้กันบ้างแต่ไม่กว้างขวาง

3. ผู้บริโภคร้อยละ 34 ซื้อดอกไม้สด (Fresh Cut Flower) ร้อยละ 46 ซื้อดอกไม้กระถาง (Potted Flower) และ ร้อยละ 20 ซื้อไม้ประดับมีดอก (Flower Plant)

4. ผู้หญิงเป็นผู้บริโภคหลักในการซื้อดอกไม้ หรือคิดเป็นร้อยละ 79 ในขณะที่ผู้ชายซื้อดอกไม้เพียงร้อยละ 21

5. ผู้บริโภคร้อยละ 67 ซื้อดอกไม้สดเพื่อเป็นของขวัญในโอกาสต่างๆ เช่น Thank You, Sympathy, Love & Think about, Get Well, Birthday, Baby Shower, Visiting, Anniversary และFuneral, เป็นต้น และร้อยละ 33 เพื่อตัวเองใช้หรือประดับบ้าน (Housewarming)

6. ช่วงเวลาที่ผู้บริโภคสหรัฐฯ นิยมซื้อดอกไม้ คือ เทศกาล Christmas/Hanukkah ร้อยละ 30 วัน Mother’s Day ร้อยละ 24 วัน Valentine Day ร้อยละ 20 วัน Easter/Passover ร้อยละ 13 และ วัน Thanksgiving ร้อยละ 6

ช่องทางการจัดจำหน่ายดอกไม้ในสหรัฐฯ

สหรัฐฯ ไม่มีการซื้อ-ขายดอกไม้ด้วยวิธีประมูลในประเทศ เนื่องจาก สหรัฐฯ ไม่มีตลาดประมูลดอกไม้ (Auction Market) ดังเช่นในประเทศเนเธอร์แลนด์ เยอรมนี แคนาดา บราซิล ญี่ปุ่น และ ไต้หวัน ดังนั้น กลุ่มคนกลางได้แก่ Wholesaler และ Distributor เป็นตัวจักรสำคัญในการกระจายดอกไม้ไปยังร้านค้าปลีกขายดอกไม้/จัดดอกไม้และผู้บริโภค

ปัจจุบัน การซื้อ-ขายดอกไม้ทางอินเตอร์เนทเป็นช่องทางที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเป็นลำดับ ผู้ประกอบการรายสำคัญได้แก่ www.1800flowers.com , www.ftd.com , www.teleflora.com

ตลาดดอกกล้วยไม้ในสหรัฐฯ (Orchid Flower)

1. ภาวะตลาด

1.1 สินค้าดอกกล้วยไม้ในสหรัฐฯ แยกเป็น 2 ชนิด คือ กล้วยไม้กระถาง (Plant Orchid) และ กล้วยไม้ตัดดอก (Cut Orchid)

1.2 ตลาดกล้วยไม้สหรัฐฯ มีมูลค่าตลาดค้าปลีกประมาณ 325 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2551 (กล้วยไม้กระถาง 265 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และกล้วยไม้ตัดดอก 60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) อนึ่ง ตลาดกล้วยไม้ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ ผู้บริโภคลดการใช้จ่ายซื้อดอกไม้ซึ่งส่งผลต่อยอดจำหน่ายรวมของประเทศลดลงร้อยละ 5

1.3 สหรัฐฯ มีสวนปลูกกล้วยไม้ (Orchid Nursery) จำนวน 281 แห่งทั่วประเทศ โดยมีรัฐ California ปลูกกล้วยไม้มากที่สุดของสหรัฐฯ ประมาณร้อยละ 40 รัฐ Hawaii เป็นแหล่ง อันดับที่ 2 ร้อยละ 34 และ รัฐ Florida เป็นอันดับที่ 3 มีสัดส่วนร้อยละ 18

1.4 ครัวเรือนในสหรัฐฯ ใช้จ่ายซื้อดอกกล้วยไม้โดยเฉลี่ย 9.8 เหรียญสหรัฐฯ

1.5 ประเภทกล้วยไม้ที่นิยม: Phalaenopsis, Cymbicium, Dendrobium, Cattleya

1.6 ในอดีตที่ผ่านมา ผู้บริโภคสหรัฐฯ มองกล้วยไม้เป็นดอกไม้ชั้นสูง มีราคาแพง แต่ปัจจุบัน ผู้บริโภคสหรัฐฯ เห็นว่า กล้วยเป็นดอกไม้ธรรมดาทั่วไป ที่สามารถหาซื้อได้ง่าย มีราคาย่อมเยาและ นำไปใช้ได้หลายๆ โอกาส ดังนั้น ความต้องการจึงขยายตัวต่อเนื่อง

2. การนำเข้ากล้วยไม้ของสหรัฐฯ

สหรัฐฯ นำเข้ากล้วยไม้เป็นมูลค่า 59.43 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2552 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2551 ร้อยละ 9.36 โดยแยกเป็น (1) การนำเข้า Cut Orchids มูลค่า 11.24 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงไปจากปี 2551 ร้อยละ 15.23 และ (2) การนำเข้า Orchid Plant มูลค่า 48.19 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.30 โดยมีแหล่งนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ไต้หวัน (ร้อยละ 54) ไทย (ร้อยละ 16) และ แคนาดา (ร้อยละ 11)

อนึ่ง การนำเข้ากล้วยไม้ของสหรัฐฯ ในช่วง 9 เดือน (มกราคม-กันยายน) 2553 มีมูลค่า 53.33 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.27 และสหรัฐฯ นำเข้ากล้วยไม้จากไทยในช่วงเดียวกันนี้เป็นมูลค่า 8.53 ล้าน ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นร้อยละ 21.27

ตลาดกล้วยไม้ไทยในสหรัฐฯ

1. การนำเข้าจากประเทศไทย

ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกกล้วยไม้อันดับหนึ่งของโลก มีตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และ กลุ่มประเทศประชาคมยุโรป ส่วนคู่แข่งขันของไทยในตลาดโลก ได้แก่ นิวซีแลนด์ เนเธอร์แลนด์ มาเลเซีย เวียดนาม ไต้หวัน อินเดีย และ สิงคโปร์

1.1 สินค้ากล้วยไม้ของของไทยในสหรัฐฯ แยกเป็น 2 ประเภท คือ Cut Orchid และ Orchid Plants

1.2 กล้วยไม้ตัดดอกไทยพันธุ์ Dendrobium ครองตลาดสหรัฐฯ มากที่สุดร้อยละ 98

1.3 สหรัฐฯ นำเข้ากล้วยไม้เป็นมูลค่า 9.48 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2552 ลดลงจากปี 2551 ร้อยละ 9.02 โดยแยกเป็น การนำเข้า Cut Orchids มูลค่า 5.80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงไปจากปี 2551 ร้อยละ 1.36 และ การนำเข้า Orchid Plants มูลค่า 0.85 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ร้อยละ 17.30 คู่แข่งขัน ที่สำคัญของไทย ได้แก่ นิวซีแลนด์ เนเธอร์แลนด์ เวียดนาม มาเลเซีย ไต้หวัน เป็นต้น

2. ปัญหาและอุปสรรคการขยายตลาดกล้วยไม้ไทยในสหรัฐฯ

2.1 กล้วยไม้ตัดดอกของไทยต้องเสียภาษีนำเข้าในสหรัฐฯ ไม่ได้รับการยกเว้น หรือสิทธิประโยชน์ GSP เนื่องจากมีสัดส่วนตลาดนำเข้าสูง

2.2 ค่าระวางขนส่งทางอากาศจากประเทศไทยไปสหรัฐฯ มีต้นทุนสูงเนื่องจากปัญหาราคาน้ำมันมีราคาสูง

2.3 ค่าเงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ เป็นผลให้ราคาสินค้ากล้วยไม้ของไทยมีราคาสูงกว่าคู่แข่งขัน

2.4 การขายสินค้าแข่งขันกันด้วยวิธีการตัดราคาระหว่างผู้ส่งออกกล้วยไม้ของไทย

2.5 ความหลากหลายของดอกกล้วยไม้มีจำกัดให้ผู้ซื้อเลือกซื้อ

2.6 ประสบการแข่งขันจากกล้วยไม้ตัดดอกประเภทเดียวกันหรือคล้ายคลึงที่ปลูกเลี้ยงในประเทศสหรัฐฯ เช่น ดอกกล้วยไม้ตัดดอกจากรัฐฮาวาย แคลิฟอร์เนีย และ ฟลอริดา

2.7 การหีบห่อ (Packing) ไม่แข็งแรง ดอกไม้เสียหายในระหว่างการขนส่ง

2.8 ขาดการส่งเสริมและผลักดันในด้านการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์จากภาครัฐ

กฎและระเบียบในด้านการส่งกล้วยไม้ไปยังสหรัฐฯ

หน่วยงาน Animal Plant Health Inspection Service: APHIS กระทรวงเกษตร สหรัฐฯ เป็นผู้กำกับดูแลในเรื่องการอนุญาตนำเข้าสินค้ากล้วยไม้ และ เพื่อให้ผู้ส่งออกไทยดำเนินการโดยถูกต้องตามระเบียบของสหรัฐฯ โดย

1. ผู้ส่งออกไทยจะต้องเตรียมพร้อมเพื่อการส่งกล้วยไม้ให้ผู้นำเข้าในสหรัฐฯ ในด้าน

  • ฉลากสินค้า(ชื่อพืชพันธุ์ น้ำหนัก เป็นต้น) แนบไปกับสินค้า
  • ต้นกล้วยไม้ต้องเอกสารใบรับรองปลอดศัตรูพืช สารตกค้าง หรือ แมลง โดยติดต่อกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยกเว้นกล้วยไม้ตัดดอก

2. ต้องมีเอกสารรับรอง CITES : The Convention on International Trade in Endangered Species www.cites.org/eng/disc/species.shtml เนื่องจากดอกกล้วยไม้บางพันธุ์ที่อยู่ในบัญชีการคุ้มครองพันธุ์

3. ดอกกล้วยไม้ตัดดอกที่นำเข้าต้องได้รับการ Fumigation หากเจ้าที่ PPQ Inspector ของสหรัฐฯ พบว่ามีศัตรูพืชหรือแมลง ด้วยสาร Methyl Bromide

4. กล้วยไม้ตัดดอกของไทยเสียภาษีนำเข้าในสหรัฐฯ ในอัตราร้อยละ 6.4 ส่วนต้น กล้วยไม้ไม่เสียภาษีนำเข้าในสหรัฐฯ

ข้อคิดเห็นและเสนอแนะ

ภาวะเศรษฐกิจซบเซาของสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อการลดบริโภคดอกกล้วยไม้ เนื่องจาก กล้วยไม้จัดเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย โดยเฉพาะกล้วยไม้ราคาพรีเมี่ยม เช่น คัทรียา หรือ แวนด้า ประกอบกับเงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ เป็นผลให้ราคาส่งออกดอกล้วยไม้ไทยสูงขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับคูแข่งขันอื่นๆ ในตลาด ดังนั้น ผู้ส่งออกกล้วยไม้ของไทยจะต้องหาวิธีการ เพื่อฝ่าฝันวิกฤติเศรษฐกิจ และขยายตลาดดอกกล้วยไม้ไทย จึงควรพิจารณาดำเนินการ ดังนี้

1. ผู้บริโภคมีความสนใจดอกกล้วยไม้ที่มีสีสรรใหม่หรือหลากสี ดังนั้น จึงควรพิจารณาในเรื่องการย้อมสีดอกกล้วยไม้ เพื่อเป็นสร้าง Value Added ให้แก่ดอกกล้วยไม้

2. พัฒนาสร้างพันธุ์กล้วยไม้ให้มีคุณภาพสูงและเลือกส่งออกดอกกล้วยไม้คุณภาพสูง

3. เสนอราคาขาย (Quotation) กล้วยไม้ไทยเป็นเงินบาทหรือเงินสกุลอื่นที่มิใช่สกุลดอลล่าร์สหรัฐฯ

4. ให้ความสำคัญกับการหีบห่อ(Packing) ที่ดีและแข็งแรงให้เหมาะสม เพื่อลดความเสียหายในระหว่างการขนส่ง

5. การพิจารณาใช้กะเปาะแบบแห้งหดตัว (Collapsible Water Tube) ซึ่งมีคุณสมบัติ เมื่อดอกไม้ดูดน้ำไปหมดแล้ว หลอดกะเปาะจะจะแห้งหดตัวเป็นสูญญากาศ ซึ่งทำให้ดอกไม้มีอายุอยู่ได้ยาวนานกว่าการใช้กะเปาะพลาสติกแข็งธรรมดา Quick and efficient transportation and handling

6. การนำเอาหลัก Good Agriculture Practice: GAP มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาผลิตให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูงขึ้น และจะช่วยลดต้นทุนได้ประการหนึ่ง

7. การพิจารณาเข้าร่วมงานแสดงสินค้าด้านพืชพันธุ์และกล้วยไม้ที่สำคัญในสหรัฐฯ ในปี 2554 เพื่อประชาสัมพันธ์การขยายตลาดดอกกล้วยไทยให้มากยิ่งขึ้น ดังนี้

  • Pennsylvania Flower Show, www.theflowershow.com, March 6-13, 2554, Philadelphia, Pennsylvania, USa
  • Redland International Orchid Festival, www.redlandorchidfestival.org, May 13-15, 2554, Homestead, Florida, USA
  • World Floral Expo, http://www.hppexhibitions.com/floriculture/2011/wfe, March 8-10, 2554, Miami, Florida, USA

8. การผลักดันและจัดทำให้ประเทศไทยเป็นตลาดกลางขายดอกไม้สดของภูมิภาค ASEAN และจัดงานแสดงสินค้าดอกไม้ รวมไปถึงการประชาสัมพันธ์ในวารสารดอกไม้ในสหรัฐฯ

9. การปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบการนำเข้า ในด้านการปิดฉลากสินค้าระบุรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้า เช่น ชื่อสายพันธุ์ ชื่อกล้วยไม้ แหล่งที่มา และ จำนวนบรรจุ เป็นต้น

10. แหล่งค้นหาข้อมูลกล้วยไม้ในสหรัฐฯ เพิ่มเติม

  • Orchid Web www.orchidweb.org
  • Orchid Mall www.orchidmall.com
  • Orchid Society of America www.aos.org
  • Society of American Florist www.safnow.org
  • APHIS (USDA) www.aphis.usda.gov
  • About flowers http://aboutflowers.com
  • Association of Floral Importers of Florida www.afifnet.org

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครชิคาโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ