สถานการณ์การประกอบธุรกิจของร้านค้าปลีกในสหรัฐอเมริกาในปี 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 8, 2010 11:06 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ร้านค้าปลีก (Retail Stores ในสหรัฐฯ ทั้งประเภทบริษัทเอกชน (Privately Company) และบริษัทมหาชน (Public Company) เป็นสาขาเศรษฐกิจที่มีบทบาทสำคัญต่อการขยายตัวเศรษฐกิจ เนื่องจากยอดค้าปลีกรวมของประเทศคิดประมาณ 2 ใน 3 ของ GDP ของสหรัฐฯ หรือมีจำนวน 4.13 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2552 และเป็นสาขาเศรษฐกิจที่มีการจ้างงานสูงถึง 14.4 ล้านคน (สถิติเดือนเมษายน 2553)

วิกฤตเศรษฐกิจของสหรัฐฯ นับตั้งแต่ปี 2551 ส่งผลกระทบรุนแรงต่อธุรกิจค้าปลีกของสหรัฐฯ และเป็นผลให้ร้านค้าปลีกจำนวนมากต้องปิดตัวหรือเลิกกิจการไป รวมทั้งปลดคนงานจำนวนมาก โดยในปี 2551 ร้านค้าปลีกประสบปัญหาในด้านยอดขาย และเป็นผลให้มีร้านค้าปลีกต้องปิดตัวหรือเลิกกิจการไปกว่า 5,770 แห่ง และในปี 2552 การปิดหรือเลิกกิจการของร้านค้าปลีกเพิ่มขึ้นเป็น 13,207 แห่ง หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 129 จากปี 2551

ปัจจุบัน เศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มขยายตัว อัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP Growth) ในไตรมาสที่ 1, 2 และ 3 ของปี 2553 ขยายตัวร้อยะ 2.2, 1.7 และ 2.0 ตามลำดับ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวส่งสัญญาณทางบวกต่อภาวะตลาดค้าปลีกของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ยอดขายของร้านค้าปลีกยังคงขยายตัวในอัตราต่ำ ในขณะเดียวกัน การว่างงานยังคงอยู่ในระดับสูง (ร้อยละ 9.8 ในเดือนพฤศจิกายน 2553) จึงเป็นผลให้ภาคธุรกิจร้านค้าปลีกบางกลุ่มหรือบางสาขายังคงประสบปัญหาด้านยอดขายต่ำกว่าเป้าหรือการขาดทุนกิจการ ดังนั้น การปิด/เลิกกิจการของร้านค้าปลีก ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ในปี 2553

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 (มกราคม-กันยายน) ธุรกิจร้านค้าปลีกจำนวน 13 สาขา 52 บริษัทของสหรัฐฯ ได้ประกาศปิดสาขาของร้านรวม 5,175 แห่ง ซึ่งจำนวนการปิดร้านค้าปลีกลดลงร้อยละ 61

ข้อคิดเห็นและเสนอแนะ

1. จำนวนการปิดร้านสาขา/เลิกกิจการของร้านค้าปลีกได้ลดลงในอัตราสูงในปี 2553 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ธุรกิจค้าปลีกโดยรวมของสหรัฐฯ ปรับตัวไปในทางที่ดีขึ้น ผู้บริโภคเพิ่มการใช้จ่าย เป็นผลให้ยอดขายรวมของตลาดค้าปลีกเพิ่มขึ้น สมาคม National Retail Federation ของสหรัฐฯ รายงานว่า การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศโดยตรงจากต่างประเทศของร้านค้าปลีก ซึ่งมีจำนวนประมาณปีละไม่ต่ำกว่า 12.6 ล้านตู้สินค้า (Containers) หรือคิดเป็นร้อยละ 44 ของการนำเข้าตู้สินค้า (Containers) ทั้งหมดของสหรัฐฯ ดังนั้น ยอดขายของร้านค้าปลีกจึงเป็นดัชนีสำคัญในการแสดงถึงแนวโน้มการนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ

2. ควรหลีกเลี่ยงหรือทำการค้ากับร้านค้าปลีกที่ปิดสาขาจำนวนมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ฐานะการเงินของร้านค้าปลีกไม่มั่นคง หากการปิดสาขาไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาด้านการเงินได้ ร้านค้าปลีกอาจจะต้องหากทางออกด้วยการเลิกกิจการ

3. ก่อนการตกลงทำธุรกิจการค้ากับร้านค้าปลีก/ผู้นำเข้าสหรัฐฯ ในยุคนี้ ผู้ผลิต/ส่งออกไทยควรพิจารณาตรวจสอบประวัติและฐานะการเงินก่อน ซึ่งอาจจะใช้บริการของ Dunn & Bradstreet (www.db.com) ซึ่งเป็นที่ผู้ที่มีชื่อเสียงในด้าน Credit Report ของธุรกิจ หากผู้นำเข้าเป็นบริษัทมหาชน อาจจะพิจารณาจาก Stock Index ของบริษัทฯ

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครชิคาโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ