พระราชบัญญัติความปลอดภัยสินค้าอาหารฉบับใหม่ของสหรัฐอเมริกา (FDA Food Safety Food Safety Modernization Act)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 8, 2010 11:09 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ความเป็นมา

ตามที่สคร.ชิคาโกรายงานเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2553 เรื่องภาระกิจด้านการค้าที่สำคัญของรัฐสภาสหรัฐฯ ต้องเร่งดำเนินการ 2 ประการ โดยภาระกิจสำคัญประการแรก กล่าวถึงการปรับปรุงพระราชบัญญัติความปลอดภัยสินค้าอาหารของสหรัฐฯ (FDA Food Safety Food Safety Modernization Act หรือ S.510) และปัจจุบัน วุฒิสภาสหรัฐฯ ได้มีมติเห็นชอบผ่านกฎหมายด้วยคะแนนเสียง 73-25 เป็นกฎหมายแล้ว เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2553

อนึ่ง ปัจจุบัน มีกฎหมายปรับปรุงหมายความปลอดภัยของอาหาร 2 ฉบับ คือ ฉบับของวุฒิสภา และกฎหมายปรับปรุงกฏหมายความปลอดภัยสินค้าอาหาร The Food Safety Enhancement Act of 2009 ของสภาผู้แทนราษฎร (House of Representatives) ซึ่งผ่านสภาผู้แทนฯ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2552 กฎหมายทั้งสองมีเนื้อหาสาระคล้ายคลึงกัน แต่มีประเด็นแตกต่างกันในเชิงปฏิบัติและวิธีการบางประการ ดังนั้น โดยทางปฏิบัติ วุฒิสภาจะขอให้สภาผู้แทนฯ เห็นชอบกับพระราชบัญญัติฉบับของวุฒิสภา ก่อนที่จะส่งขึ้นไปให้ประธานาธิบดี ลงนาม และมีผลบังคับทางกฎหมาย แต่ถ้าหากสภาผู้แทนฯ ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับของวุฒิสภา จะต้องหาทางออกด้วยการประนีประนอมกัน (Reconciliation) นำข้อกฎหมายที่แตกต่างจากฉบับของสภาผู้แทนฯ มารวม

บทบัญญัติสำคัญของกฎหมาย

ตัวกฎหมายความปลอดภัยสินค้าอาหารฉบับของวุฒิสภา มีสาระโดยย่อ ดังนี้

1. ให้อำนาจหน่วยงาน US Food & Drugs Administration (FDA) สามารถเรียกคืน (Recall) สินค้าอาหารที่มีสารอันตรายปนเปื้อน และ กักกันสินค้าที่ผิดระเบียบตามกฎหมาย Food & Drugs Cosmetics Act ในเรื่องฉลากสินค้า มีสิ่งสกปรกเจือปน และ ชื่อแบรนด์สินค้า

2. บังคับให้โรงงานผลิตสินค้าอาหารขนาดใหญ่ทั้งในประเทศสหรัฐฯ และต่างประเทศที่ส่งสินค้ามาจำหน่ายในสหรัฐฯ จะต้องจดทะเบียนกับ US FDA และต้องต่ออายุทุก ๒ ปี และ FDA มีอำนาจในการเพิกถอนการจดทะเบียน หากสินค้าอาหารของโรงงานผู้ผลิตก่อให้เกิดปัญหา เสียหายด้านความปลอดภัยสุขภาพของผู้บริโภคหรือถึงแก่การเสียชีวิต

3. ให้อำนาจ FDA ในการออกระเบียบบังคับในเรื่องเอกสารรับรอง (Certificate) ความปลอดภัยสินค้าจากโรงงานผลิตอาหารที่มีความเสี่ยงสูงด้านความปลอดภัย และอำนาจในการห้ามนำเข้าสินค้าหากไม่มีใบรับรองความปลอดภัย

4. บังคับให้ผู้นำเข้าสินค้าอาหารยืนยันความปลอดภัยของโรงงานผลิตสินค้าอาหารและสินค้าอาหารที่นำเข้า และ ห้ามผู้นำเข้าสินค้าอาหารที่มิได้ปฏิบัติในเรื่องนี้ นำเข้าสินค้าอาหาร

5. จัดทำ Voluntary Qualified Importer Program เพื่อให้ผู้นำเข้าที่มีเอกสารรับรองความปลอดภัยของโรงงานผลิตอาหารในต่างประเทศ จ่ายค่าธรรมเนียมในด้านพิธีศุลกากรนำเข้าสหรัฐฯ

6. ให้หน่วยงาน US FDA ออกระเบียบบังคับและข้อปฏิบัติด้านความปลอดภัยของสินค้าผักผลไม้สด โดยเฉพาะสำหรับสินค้าผักผลไม้สดที่มีความเสี่ยงในด้านความไม่ปลอดภัยสูง

7. ให้ US FDA เพิ่มการตรวจสอบโรงงานผลิตอาหาร ทั้งในประเทศและในต่างประเทศ โดยเฉพาะโรงงานที่มีประวัติความเสี่ยงด้านความไม่ปลอดภัยสินค้าอาหารสูง อย่างน้อย 1 ครั้ง ทุกๆ 4 ปี และอนุญาตให้ US FDA ทำความตกลงกับรัฐบาลในประเทศผู้ผลิตสินค้าอาหารในด้าน การตรวจสอบความปลอดภัยโรงงานอาหารในต่างประเทศ

8. กำหนดให้การแจ้งล่วงหน้า (Priority Notice) สินค้าอาหารนำเข้า เพิ่มเติมในเรื่องชื่อของประเทศที่ปฏิเสธห้ามนำเข้าสินค้าอาหารชนิดที่จะส่งมายังสหรัฐฯ

9. ให้อำนาจ US FDA เรียกเก็บค่าปรับผู้ผลิต/ส่งออกอาหาร ในกรณีที่สินค้าดำเนินการผิดระเบียบ เช่น สินค้าถูก Recall และ Re-Inspection

10. ให้อำนาจ US FDA เปิดสำนักงานสาขาในต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างน้อยใน ๕ ประเทศ รวมไปถึงการเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ภายในปี 2557

อนึ่ง กฎหมายไม่มีผลบังคับสินค้าเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อวัว หมู ไก่ และ ไข่ ซึ่งกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ เป็นผู้กำกับดูแล

นอกจากนั้นแล้ว วุฒิสมาชิก Mary Landrieu พรรค Democrat รัฐหลุยส์เซียน่ายังได้แนบเรื่องการเข้มงวดการใช้สาร Antibiotic กับสินค้าอาหารทะเล นำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้ากุ้ง เข้าไปกับกฎหมาย Food Safety Food Safety Modernization Act ฉบับใหม่นี้ด้วย โดยกำหนดให้ FDA เพิ่มการตรวจสอบ (Testing) สินค้าอาหารทะเลนำเข้าจากต่างประเทศให้ได้ถึงร้อยละ ๒๐ ภายในปี ๒๕๕๘ (ปัจจุบันดำเนินการได้เพียงร้อยละ ๒) และ วางกฎและระเบียบที่เข้มงวด กำหนดบทลงโทษ และ การปรับในกรณีผู้กระทำผิด และ รวมไปถึงการใช้แรงงานเด็ก

ข้อคิดเห็นและเสนอแนะ

1. วุฒิสมาชิกMike Enzi พรรค Republican ไม่เห็นด้วยกับการประนีประนอมกับสภาผู้แทนฯ และคิดว่าเวลามีไม่เพียงพอในช่วงสมัยประชุมสภา Lame Duck Session ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนธันวาคม 2553 ในขณะเดียวกัน Henry Waxman ผู้แทนราษฏร พรรคดีโมแครต และ เป็นประธาน House Energy and Commerce Committee จะให้การสนับสนุน หากวุฒิสภาขอความเห็นชอบ อย่างไรก็ตาม นักกฎหมาย เชื่อว่า สภาผู้แทนจะเห็นชอบกับกฎหมายปรับปรุงความปลอดภัยสินค้าอาหารฉบับของวุฒิสภาชิกโดยไม่ขัดแย้ง

2. ประเทศไทยควรพิจารณาการทำข้อตกลงกับ US FDA สหรัฐฯ ขอเป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบและรับรองโรงงานของไทยในด้านความปลอดภัยของสินค้าอาหาร ให้ตรงตามที่กฎหมายใหม่ของสหรัฐฯ แทนการตรวจสอบจาก FDA โดยตรง ซึ่งจะเป็นการช่วยลดต้นทุนให้แก่ผู้ผลิต/ส่งออก

3. กฎหมายฉบับนี้จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อผู้ผลิต/ส่งออกสินค้าในต่างประเทศรวมทั้งประเทศไทยซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าอาหารที่สำคัญแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ และเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตของโรงงาน เนื่องจากโรงงานจะมีภาระค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการมากขึ้น อีกทั้งกฎหมายจะเป็นอุปสรรคต่อการเพิ่มการส่งสินค้าอาหารของไทยไปยังสหรัฐฯ หากผู้ผลิต/ส่งออกไทยไม่สามารถเตรียมการและปรับตัวได้ทันท่วงที

4. ผลิต/ส่งออกไทยสินค้าอาหารควรจศึกษารายละเอียดของกฎหมายเพื่อเตรียมความพร้อม โดยดูตัวกฎหมายได้จาก www.govtrack.us/congress/billtext.xpd?bill=s111-510

5. ภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาเชิญเจ้าหน้าที่ US FDA สหรัฐฯ มาบรรยายและให้คำแนะนำเกี่ยวกับกฏหมายความปลอดภัยสินค้าอาหารฉบับใหม่ของสหรัฐฯ แก่ผู้ผลิต/ส่งออกไทยสินค้าอาหารของไทยได้รับทราบ เพื่อเตรียมการและการปฏิบัติได้ถูกต้องต่อไป

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครชิคาโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ