ผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 9, 2010 10:22 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ตั้งแต่ต้นปี 2553 เงินบาทได้แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐจนถึงปัจจุบัน(พฤศจิกายน) ประมาณร้อยละ 10 และเมื่อเปรียบเทียบกับการแข็งค่าของสกุลเงินคู่แข่งสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ ทั้งในและนอกภูมิภาคเอเชีย พบว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในอัตราที่มากกว่าคู่แข่งอื่นๆ เช่น จีน เกาหลีใต้ อินเดีย บังคลาเทศ เวียดนาม และกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป แต่การส่งออกของไทยไปยังเดนมาร์กและกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียน ก็ยังมีการขยายตัวต่อเนื่อง โดยในรอบ 10 เดือนแรกของปี 2553 (มกราคม —ตุลาคม) มีการส่งออกรวม 5 ประเทศมูลค่า 902.95 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30.96 โดยมีปัจจัยสำคัญ เนื่องจากการเริ่มฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่แต่ละประเทศนำมาใช้ เช่น การปรับลดอัตราภาษีเงินได้ การเร่งก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน เพื่อให้เกิดการจ้างงาน นอกจากนี้ แม้ว่า เมื่อเปรียบเทียบราคากับประเทศคู่แข่งแล้วราคาสินค้าไทยจะมีการปรับตัวขึ้นสูงกว่าคู่แข่ง ทั้งผู้นำเข้าและผู้ส่งออก ก็พยายามปรับกลยุทธ์การตลาดของตนเพื่อที่จะรักษาตลาดและคู่ค้าไว้เพื่อให้สามารถธุรกิจดำเนินต่อไปสักระยะก่อนเพราะเชื่อว่าสถานการณ์เช่นนี้จะคงอยู่ไม่นานและคงจะไม่แข็งค่ามากไปกว่านี้

มูลค่าการส่งออกแยกรายประเทศได้ ดังนี้

Rank    Country          2009          JAN-Oct          JAN-Oct     (Jan-Dec)    (Jan-Oct.)
                                          2009             2010          2009          2010
                        Value            Value            Value    Change (%)    Change (%)
47      Denmark        518.82           418.78           562.06         -6.73         34.21
37      Sweden          447.7           363.59           469.05        -19.09            29
52      Finland        273.55           228.04           282.45        -46.89         25.86
59      Norway         118.65            94.19           147.32        -37.99         56.42
        Iceland          4.58             3.66             4.13         -53.2         12.73
        Total          844.48           689.48           902.95        -25.37         30.96

เนื่องจาก ผู้นำเข้าส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าไทย ซึ่งมีการรักษามาตรฐานและมีการพัฒนาให้ทันสมัยอยู่เสมอ การตรงต่อเวลา การรักษาคำมั่นสัญญาและการบริการหลังการขาย ซึ่งหลายรายได้ค้าขายมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมานาน จึงไม่อยากเปลี่ยนผู้ส่งออก (suppliers) บ่อยๆ

ทั้งนี้ สำนักงานฯ ได้สอบถามผู้นำเข้าสินค้าไทยจากประเทศในเขตดูแล ก็ได้รับทราบข้อมูลที่ผู้นำเข้าหลายรายก็ได้พยายามปรับกลยุทธ์ เช่น ผู้นำเข้าสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูป รายหนึ่งแจ้งว่า ที่ผ่านมาได้ตกลงชำระค่าสินค้าเป็นเงินบาท และประกันความเสี่ยงไว้ทำให้ไม่ประสบปัญหามากนัก แต่การสั่งซื้อในงวดต่อไปอาจจะประสบปัญหาซึ่งนอกจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าแล้ว ราคาของฝ้ายก็ได้เพิ่มขึ้นถึงประมาณร้อยละ50 และค่าเงิน เดนิชโครนก็อ่อนค่าลงตามเงินยูโร เนื่องจากค่าเงินเดนมาร์กได้ผูกติดไว้กับเงินยูโร

ผู้นำเข้าอาหารรายหนึ่งแจ้งว่า โดยปกติการปรับเพิ่มราคาสินค้าจะปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าอัตราการแข็งค่าของเงินบาท หากจะต้องการรักษากำไรให้เท่าเดิม สมมติว่าการที่เงินบาทราคาแข็งค่าขึ้น ร้อยละ 10 ราคาขายสินค้าอาจต้องปรับขึ้นถึงร้อยละ 20 หรือมากกว่า เนื่องจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 นั้น ได้ถูกนำเข้ามาเป็นฐานในการคำนวณภาษีนำเข้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าขนส่ง ค่าเบี้ยประกันที่เพิ่มขึ้น ซึ่งผู้นำเข้าอาจจะรับภาระไว้ได้ระดับหนึ่งหรือช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ดังนั้น การแข็งค่าของเงินบาทในระยะยาว จะทำให้ไทยเริ่มสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ด้านราคา โดยเฉพาะ สินค้าที่ไทยเป็นคู่แข่งกับจีน เวียดนาม บราซิล ยุโรป

อย่างไรก็ตาม ปกติในไตรมาสที่ 4 ของปี 2553 จะเป็นช่วงที่มีการนำเข้าสินค้าสูงสุดของปีเพื่อเข้ามาจับจ่ายใช้สอย เฉลิมฉลองในช่วงเทศกาลส่งท้ายปี เช่น คริสต์มาส ปีใหม่ แต่ปีนี้ คาดว่าการขยายตัวของการส่งออกของไทยมายังกลุ่มประเทศเหล่านี้ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ อาจจะเริ่มแผ่วลงจากต้นปี ไม่ขยายตัวเพิ่มขึ้นมากเท่าที่ควร เนื่องจากการแข็งค่าเงินบาทเริ่มส่งผลกระทบในบางกลุ่มสินค้า เช่น อาหารและผลิตผลทางการเกษตร และปัญหาความเข้มงวดในการตรวจสอบผักที่นำเข้าจากไทย รวมทั้งปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นทำให้พืชผลเสียหาย และประสบความยากลำบากในการขนส่งสินค้า สำนักงานฯประมาณว่าการส่งออกของไทยไปยังกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียน จะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 25

สำหรับปี 2554 ปัจจัยกำลังเป็นที่กังวลของนักธุรกิจส่วนใหญ่ในขณะนี้ คือ วิกฤตหนี้สาธารณะที่กำลังเกิดขึ้นในไอร์แลนด์จนถึงขั้นต้องขอรับความช่วยเหลือจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปและ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ที่ทำให้นักลงทุนเกิดความไม่มั่นใจ และจะลุกลามไปถึงโปรตุเกส และสเปน การค่ากระทบต่อความเชื่อมั่นในค่าของเงินยูโรทั้งนี้ ค่าเงินยูโร วันที่ 25 พ.ย. อ่อนค่าต่อเงินเหรียญสหรัฐลงมาอยู่ที่ 1.3290 เหรียญสหรัฐต่อยูโร ซึ่งในขณะที่ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวียนซึ่งยังค่อนข้างเปราะบางโดยคาดว่าจะมีการขยายตัวGDP ประมาณร้อยละ1-1.5 ปัญหาหนี้สาธารณะในไอร์แลนด์ ทำให้เดนมาร์กซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจด้านการเงิน การธนาคาร รวมทั้งการค้าการลงทุนที่ใกล้ชิดกับไอร์แลนด์ ก็ได้ประกาศจะให้วงเงินช่วยเหลือหลายพันล้านยูโร ประกอบกับนโยบายการปรับปรุงสวัสดิการด้านแรงงาน ทั้งในเดนมาร์ก และสวีเดน เพื่อแก้ปัญหาการขาดดุลงบประมาณ เช่น การปรับลดงบประมาณหรือเงินชดเชยสำหรับแรงงาน แนวโน้มการปรับลดอัตราค่าจ้างแรงงาน แผนการเลื่อนกำหนดเวลาเกษียนอายุ จาก 65 ปี เป็น 67 ปี ทำให้ประชาชนออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย หรือประท้วง ยิ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นใจของผู้บริโภคกำลังซื้ออาจจะลดลง และหากแนวโน้มปัญหาเศรษฐกิจในยุโรปได้ลุกลามไปมากกว่าปัจจุบันจะทำให้ประเทศในยุโรปจะหันมาค้าขายและนำเข้าสินค้าจากประเทศในยุโรปด้วยกันเพิ่มขึ้น เช่น สินค้าสิ่งทอ ของขวัญของชำร่วย ของใช้ในบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านจากกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก ผัก ผลไม้ สดและแปรรูป จากกลุ่มประเทศยุโรปใต้ เช่น สเปน อิตาลี อาจทำให้การส่งออกของไทยขยายตัวได้ไม่มากเท่ากับปี 2553

อย่างไรก็ตาม ภายหลังสถานการณ์ความไม่สงบในคาบสมุทรเกาหลีเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2553 ทำให้ค่าเงินเหรียญสหรัฐได้กลับแข็งค่าขึ้นมา ทำให้ผู้นำเข้าสินค้าไทยซึ่งส่วนใหญ่ซื้อขายกันในรูปเงินเหรียญสหรัฐได้รู้สึกผ่อนคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับค่าเงินบาทลงบ้าง ซึ่งผู้ส่งออกไทยควรติดตามอย่างใกล้ชิด สรุปข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

1. กลุ่มประเทศลูกค้าในแถบสแกนดิเนเวียนแม้ว่าจะเป็นตลาดขนาดเล็ก แต่ก็เป็นขนาดที่มีกำลังซื้อสูง มาตรฐานความเป็นอยู่สูง ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม มีความกังวลห่วงใยในสุขภาพ โครงสร้างประชากรเป็นสังคมผู้สูงวัย (aging society) เป็นกลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงบน จึงควรพิถีพิถันในการส่งสินค้าที่มีความปลอดภัยสูงคุณภาพระดับดีรักษาคำมั่นสัญญา มีความซื่อสัตย์ทางธุรกิจ เพราะว่าหากได้มีการสั่งซื้อแล้วก็มักจะไม่เปลี่ยน ให้ความสำคัญในมิตรภาพและความสัมพันธ์ทางการค้าคล้ายกับลูกค้าชาวญี่ปุ่น ซึ่งหลายรายซื้อขายกันมาหลายสิบปี

2. ผู้ส่งออกไทยควรมีการพัฒนาคุณภาพรูปแบบสินค้าให้ทันสมัยตรงกับรสนิยมความต้องการ ให้ความสำคัญการทำธุรกิจการค้าแบบยั่งยืน Sustainable approach โดยการเน้นกลุ่มสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม( Environmental Friendly Products ) สินค้าที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม (Coporate Social Responsibility-CSR) เช่น การไม่ใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลง ลดการเพิ่ม CO2 หรือมลภาวะ มีการค้าที่เป็นธรรม( Fair Trade ) การนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ สินค้าที่ตอบสนองหรืออำนวยความสะดวกผู้สูงวัย เช่น สินค้าเกษตรอินทรีย์ สินค้าและบริการเกี่ยวกับสุขภาพ ( Health products and wellness)

3. ผู้ส่งออกไทยควรเน้นการสร้างภาพลักษณ์ การสร้างตราสัญญลักษณ์ เพื่อให้ลูกค้ารู้จักจดจำสินค้า และช่วยสร้างความเชื่อมั่น ในคุณภาพสินค้าและบริการ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ตลอดจนทำให้เกิด Loyalty

4. อื่นๆ เช่น การลดต้นทุนสินค้า ต้นทุนโลจิสติกส์ ตลอดจนการเข้าไปลงทุนประกอบการในต่างประเทศ (Internationlization ) เป็นต้น

สำนักงานส่งเสริมการค้า ณ กรุงโคเปนเฮเกน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ