เกาหลีใต้ลงนามความตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐอเมริกาบนพื้นฐาน Win-Win ร่วมกัน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 13, 2010 10:32 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว เกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกา ได้เริ่มเจรจาการค้าเสรีกันมานานถึง 3 ปี การเจรจาหยุดชะงักเป็นช่วงๆ เพราะไม่สามารถตกลงกันได้ในสินค้าอ่อนไหวที่ต่างก็ต้องการปกป้องผู้ผลิตในประเทศ เมื่อเศรษฐกิจโลกถดถอย กำลัง ซื้อและความต้องการของตลาดลดลง จึงเป็นแรงผลักดันให้รัฐบาลทั้งสองฝ่ายต้องเร่งหาหนทางสรุปการเจรจา เพื่อหวังขยายตลาดและสร้างความร่วมมือใหม่ๆ รวมทั้งเพื่อปูทางไปสู่การเจรจา TPP (Trans Pacific Partnership Agreement) ที่ ทั้งสองประเทศสนใจจะเข้าร่วมเจรจา

ในที่สุด สหรัฐอเมริกา-เกาหลีใต้ ก็สามารถสรุปผลการเปิดตลาดและลงนามเขตการค้าเสรีสหรัฐฯ-เกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2553 เพียงแต่ยังต้องการให้สัตยบันจากรัฐบาลทั้งสองฝ่าย เพื่อเริ่มบังคับใช้ สาระสำคัญของการเปิดตลาดเน้นไปที่สินค้าอุตสาหกรรม ดังนี้

  • ร้อยละ 95 ของสินค้าที่นำเข้า-ส่งออก ระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ ซึ่งมีอัตราภาษีนำเข้าเฉลี่ยที่ร้อยละ 3.2 เป็นศูนย์ (0 %) ภายใน 5 ปี
  • ด้านการเปิดตลาดรถยนต์ ซึ่งสหรัฐฯ กังวลมากว่ารถยนต์ราคาถูกจากเกาหลีจะหลั่งไหลเข้าไปแข่งขันและทำลายอุตสาหกรรมในประเทศ เกาหลี ยินยอมให้สหรัฐฯคงภาษีนำเข้าอัตรา ร้อยละ 2.5 ต่อไปอีก เป็นเวลา 5 ปี โดยเกาหลีจะลดภาษีนำเข้ารถยนต์จากสหรัฐฯ ลงครึ่งหนึ่งเหลือ ร้อยละ 4 และทั้งสองฝ่ายจะลดภาษีลงให้เหลือ ศูนย์ ( 0%) ใน 5 ปีข้างหน้า
  • เกาหลีจะผ่อนผันเงื่อนไขเรื่องความปลอดภัย และมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม ที่มีอยู่ ซึ่งบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ของสหรัฐฯมองว่าเป็นการสร้างข้อกำหนดที่ไร้เหตุผล ด้วยการเปิดตลาดนี้ จะทำให้ผู้ผลิตรถยนต์แต่ละรายของสหรัฐฯ สามารถส่งออกรถยนต์ไปเกาหลีได้ 25,000 คัน ต่อปี
  • เกาหลียินยอมให้สหรัฐฯ คงภาษีนำเข้ารถยนต์บรรทุก (Truck) ที่อัตรา ร้อยละ 25 ต่อไปอีกเป็นเวลา 8 ปี ภาษีดังกล่าวจะลดลงเหลือ ศูนย์ (0 %) ภายในปีที่ 10 ส่วนเกาหลี ยินยอมลดภาษีรถยนต์บรรทุก (Truck) ที่นำเข้าจากสหรัฐฯ จากปัจจุบัน อัตราภาษี ร้อยละ 10 ลงเหลือ ศูนย์ ในทันทีที่ข้อตกลงบังคับใช้
  • ข้อสังเกตุ คือ ความตกลงนี้ ไม่ได้กล่าวถึงสินค้าเนื้อวัว ที่สหรัฐฯ ต้องการเปิดตลาดในเกาหลี แต่ก็คาดว่าการเจรจาจะยังคงเดินหน้าต่อไป

ทั้งประธานาธิบดีสหรัฐ และประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ต่างก็สรรเสริญว่าข้อตกลงที่สรุปได้นี้เป็น ‘Landmark Trade Deal’ และ ‘Mutual Win-Win’ ที่จะช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนของแต่ละฝ่าย กล่าวได้ว่า US-Korea FTA เป็นการเปิดตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ นับตั้งแต่ลงนามความตกลงการค้าเสรี อเมริกาเหนือ หรือ NAFTA ที่สหรัฐฯ จัดทำกับแคนาดาและเม็กซิโก เมื่อปี 2527 และ เกาหลีใต้ก็จะเป็นประเทศแรกที่จะบังคับใช้ความตกลงการค้าเสรีกับตลาดขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และอินเดีย

มาตรการลดผลกระทบในสาขาเกษตรของเกาหลี

ชัดเจนว่า US-Korea FTA เพิ่มโอกาสแก่อุตสาหกรรมยานยนต์และอิเลคทรอนิกส์ของเกาหลี ขณะที่สาขาเกษตรซึ่งเกาหลีปกป้องมานานด้วยอัตราภาษีเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 54 จำต้องเปิดตลาดให้แก่สินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ เข้ามาแข่งขันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และรัฐบาลเกาหลีก็ยอมรับว่าเกษตรกรบางสาขา และรายที่มีผลผลิตต่อหน่วยต่ำอาจจำต้องล้มละลายหรือถอนตัวออกจากระบบ รัฐบาลเกาหลีคาดการณ์แล้วว่า การเปิดตลาดสินค้าเกษตรคงเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงได้ยาก ประธานาธิบดี ลี มุน บัค จึงเริ่มวางฐานสร้างความเข้าใจต่อทิศทางนโยบาย และขอการสนับสนุนจากเกษตรกรมาเป็นเวลานานกว่า 7 ปี เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ รัฐบาลได้จัดทำโครงการ Long Term Agricultural Project ขึ้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2546 และจะต่อเนื่องไปถึงปลายปี 2555โดยมุ่งพัฒนา และเพิ่มศักยภาพการข่งขันของภาคเกษตรให้เป็นธุรกิจที่สร้างผลกำไร มีการพัฒนาปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นในภาคเกษตร รวมถึงการช่วยเหลือทางการเงิน มีการใช้จ่ายเงินในโครงการแล้วประมาณ 130 ล้านล้านวอน(ประมาณ 9 ล้านล้านเยน) ครอบคลุมเกษตรกร 20,000 ราย และ 10,000 กลุ่มการเกษตร ตามแผนที่วางไว้ ประธานาธิบดี เกาหลี จะผ่อนผันกฎระเบียบและเปิดโอกาสให้บริษัทต่างชาติเข้าไปลงทุนในภาคเกษตรในอนาคต

ท่าทีของญี่ปุ่นต่อการลงนาม US-Korea FTA

ข่าวความสำเร็จของการเจรจาเปิดตลาดระหว่างสหรัฐฯ-เกาหลี ได้สร้างความกังวลอย่างมาก แก่อุตสาหกรรมส่งออกของญี่ปุ่น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตยานยนต์และอิเลคทรอนิกส์ เพราะแม้ไม่มีข้อตกลงการค้าเสรีสินค้าญี่ปุ่นก็ต้องเผชิญกับการแข่งขันแบบ Neck and Neck กับสินค้าเกาหลีอยู่แล้ว สมาคมยานยนต์ญี่ปุ่น (JAMA) วิเคราะห์ ว่า ตลาดรถยนต์ในภูมิภาคที่เกาหลีจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี มีขนาด 41 ล้านคัน เทียบกับที่ญี่ปุ่นมีความตกลง มีขนาดเพียง 8.1 ล้านคัน หากข้อตกลงบังคับใช้เมื่อใด ก็แน่นอนว่าอำนาจแข่งขันของสินค้าญี่ปุ่นจะถูกบั่นทอนลง หากบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นจะปรับกลยุทธ์ เพื่อลดผลกระทบโดยเพิ่มการผลิตของโรงงานในสหรัฐฯ หรือในภูมิภาคใกล้เคียง ผลลบที่ตามมาและหลีกเลี่ยงยาก คือสภาวะ ‘Hollowing out’ ของอุตสาหกรรมภายในประเทศญี่ปุ่น ติดตามความเคลื่อนไหวในนโยบายและการเจรจาระหว่างประเทศของเกาหลีอย่างใกล้ชิด เพราะเกาหลีเป็นคู่แข่งที่ติดตามมาใกล้ชิด มีการเรียกร้องจากกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมให้รัฐบาลเร่งตัดสินใจเข้าร่วมเจรจา TPP เพื่อไม่ให้เสียเปรียบเกาหลีมากกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้

ข้อมูลประกอบ

1. S Korea, US reach deal on free trade; The Japan times, Sunday, December 5, 2010

2. US; S Korea clinch new trade deal; the Yomiuri Shimbun, 5 December 2010

3. US-Seoul FTA Deal may keep Japan exporters at bay; the Yomiuri Shimbun, 6 December 2010

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ