รายงานภาวะตลาดเดนมาร์กปี 2553 และแนวโน้มปี 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 14, 2010 15:02 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศไทย-เดนมาร์ก

มูลค่า                     ม.ค. —ธ.ค.          ม.ค. — ต.ค.         ม.ค. — ต.ค.    % เพิ่ม/ลด
                           ปี 2552              ปี 2552              ปี 2553
การค้ารวม                    721.3               583.4               741.1         27.03
การส่งออก                    518.8               418.7                 562         34.21
การนำเข้า                    202.2               164.6                 179          8.75
ดุลการค้า                     316.6               254.1                 383

ในรอบ 10 เดือนแรกของปี 2553 (ม.ค.-ต.ค.) การค้าประเทศไทยกับเดนมาร์กมีมูลค่าการค้ารวม 741.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับช่วงเดียวกันที่มีมูลค่า 583.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.03 โดยเดนมากร์กเป็นคู่ค้าอันดับที่ 39 ของไทย ซึ่งสามารถแยกเป็น การส่งออกไทยจากไปเดนมาร์ก มูลค่า 562.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับในช่วงเดียวกันของปี 2552 ที่การส่งออกมีมูลค่า 418.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.21 และการนำเข้าสินค้าจากเดนมาร์กมายังไทยมีมูลค่า 179.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2552 ที่นำเข้ามูลค่า 164.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.75 ทำให้ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ารวมมูลค่า 383.0 เทียบกับปี 2552 ที่ไทยได้เปรียบดุลการค้า 254.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

2. การส่งออกของไทยไปยังเดนมาร์ก

ในปี 2553 เดนมาร์กเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับที่ 39 ของไทย มีส่วนแบ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.35 ของการส่งออกของไทยทั้งหมด สินค้าที่ไทยส่งออกไปยังเดนมาร์กที่สำคัญ 10 อันดับแรก ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2553 (มกราคม — ตุลาคม) ดังนี้

(1) อัญมณีและเครื่องประดับมูลค่า 236.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 75.13

(2) รองเท้าและชิ้นส่วนมูลค่า 103.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.53

(3) แผงสวิทช์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้ามูลค่า 26.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.98

(4) เสื้อผ้าสำเร็จรูป 17.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.14

(5) วงจรพิมพ์ มูลค่า 14.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 104.57

(6) เครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นและส่วนประกอบอื่นๆ 12.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 101.99

(7) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป มูลค่า 11.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.47

(8) เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและครัวเรือน มูลค่า 8.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 61.16

(9) เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนมูลค่า 7.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 51.48

(10) เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ส่วนประกอบมูลค่า 6.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.72

3. การนำเข้าจากเดนมาร์กของไทย

ในปี 2553 เดนมาร์กเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 51 ของไทย คิดเป็นสัดส่วน 0.12 ของการนำเข้าของไทยทั้งหมด สินค้าที่ไทยนำเข้าจากเดนมาร์กที่สำคัญ 10 อันดับแรก ได้แก่

(1) ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม มูลค่า 28.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.16

(2) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบมูลค่า 20.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.88

(3) เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบมูลค่า 17.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.87

(4) เคมีภัณฑ์ มูลค่า 15.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.99

(5) สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ มูลค่า 9.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 78.18

(6) พืชและผลิตภัณฑ์จากพืชมูลค่า 8.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 91.75

(7) แผงวงจรไฟฟ้ามูลค่า 7.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ58.52

(8) ผลิตภัณท์จากพลาสติก มูลค่า 7.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 8.22

(9) เครื่องมือเครื่องใช้วิทยาศาสตร์การแพทย์ มูลค่า 6.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.52

(10) เครื่องใช้เบ็ดเตล็ดมูลค่า 6.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.66

4. สรุปและข้อคิดเห็น

4.1 ในปี 2553 การส่งออกของไทยไปยังประเทศเดนมาร์กมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก หลังจากที่ลดลงเนื่องจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจการเงินของสหรัฐและยุโรปในปี 2552 โดย มีมูลค่าการส่งออก ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2553 มูลค่า 562 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.21 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก และจากการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพสินค้าและการตลาดของผู้ส่งออกไทยจนทำให้ให้ผู้นำเข้าเกิดความเชื่อมั่น แม้ว่าในช่วงปี 2553 จะประสบปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการนำเข้าสินค้าไทย เช่น การแข็งค่าของเงินบาท ความไม่สงบทางการเมืองในประเทศไทย ปัญหาถ่านควันภูเขาไฟในไอซ์แลนด์ วิกฤติค่าเงินยูโร แต่การส่งออกของไทยก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ โดยคาดว่าในปี 2553 การส่งออกของไยไปยังเดนมาร์กจะขยายตัวอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 30

ทางการเดนมาร์กได้มีการปรับการคาดการณ์ GDP ของปี 2553 ว่าอาจจะขยายตัวถึงร้อยละ 2 จากที่คาดการณ์ไว้เดิมประมาณ 1.2 ในปี 2554 คาดว่าจะมีการขยายตัวGDP ประมาณร้อยละ 1.5 แม้ว่านักธุรกิจหลายฝ่าย จะมีความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นใน กรีซ ไอร์แลนด์ และอาจจะลุกลามไปยังโปรตุเกส สเปน หรือประเทศยุโรปอื่นจนเกรงว่าอาจจะเกิดวิกฤติค่าเงินยูโร และกระทบไปทั่วยุโรปโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศยูโรโซน แต่เดนมาร์กยังถือเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเงินสูงอันดับต้นๆของสหภาพยุโรป จากวิกฤติเศรษฐกิจที่ผ่านมาหลายครั้งระบบเศรษฐกิจของเดนมาร์กก็นับว่าได้รับผลกระทบน้อยกว่าประเทศอื่น จึงคาดว่า การส่งออกของไทยในช่วงปี 2554 จะยังคงสามารถเติบโตต่อไปได้ แต่อาจเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลง

4.2 สินค้าไทยที่มีศักยภาพในเดนมาร์ก ได้แก่ สินค้ากลุ่มแฟชั่น เครื่องประดับตกแต่งร่างกาย เช่น เครื่องประดับอัญมณี เสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า สินค้าเกษตรและอาหาร เช่น อาหารทะเลแช่แข็ง ผัก ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ผักผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง เครื่องปรุงรส กะทิ น้ำปลา เครื่องใช้ในครัวเรือน เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ตลอดจนอุปกรณ์ไฟฟ้า อีเลคทรอนิกส์ นอกจากนี้ ธุรกิจภัตตาคารอาหารไทย สปา รักษาพยาบาล แฟรนไชส์ ก็ยังมีโอกาสขยายลู่ทางอีกมาก

4.3 เดนมาร์กกับไทยมีความสัมพันธ์กันมาช้านาน เป็นตลาดกลุ่มผู้ซื้อขนาดเล็ก แม้ว่าปริมาณการสั่งซื้อจะไม่มากเท่าตลาดอื่น แต่เป็นตลาดที่กำลังซื้อสูง และต้องการสินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐานสูง ในราคาที่สมเหตุสมผล ผู้ค้าส่วนใหญ่มักไม่กดราคาผู้ส่งออกเมื่อเทียบกับผู้ซื้อประเทศอื่น นิยมการค้าแบบยั่งยืนในรุปแบบพันธมิตรทางการค้า ผู้ส่งออกไทยจึงควรพิถีพิถันในการส่งสินค้าที่มีความปลอดภัยสูงคุณภาพระดับดี รักษาคำมั่นสัญญา มีความซื่อสัตย์ทางธุรกิจ ให้ความสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์โดยอาจจะเดินทางเยี่ยมเยียนกัน ก็จะทำให้เกิดความสัมพันธ์อันดีและความมั่นใจใน 2 ฝ่าย ทำให้ติดต่อซื้อขายกันได้ยาวนาน

4.4 ผู้ส่งออกไทยควรให้ความสำคัญในด้านคุณภาพ มาตรฐานความปลอดภัยสินค้า ที่ส่งมายังเดนมาร์กเป็นอย่างมาก เนื่องจากเดนมาร์กเป็นประเทศที่มีความเข้มงวดในการตรวจสอบมาตรฐานสินค้ามาก โดยเฉพาะสินค้าอาหาร ซึ่งที่ผ่านมาก็มักมีปัญหาสินค้าไทยถูกเรียกเก็บคืน หรือไม่ผ่านการตรวจสอบ และเมื่อเร็วนี้ ซึ่งสหภาพยุโรปได้ออกประกาศระเบียบสหภาพยุโรป ( แก้ไขเพิ่มเติม) ที่ 878/2010 ซึ่งมีผลตั้งวันที่ 7 ตุลาคม 2553 ทำให้สินค้ากลุ่มพริก มะเขือ ถั่วฝักยาว ผักชี กะเพรา สะระแหน่ จากไทยประสบปัญหาการตรวจสอบเข้มงวดกว่าเดิมและใช้เวลานานขึ้น ทำให้พืชผักเน่าเสียหาย

4.5 ชาวเดนมาร์ก ยังให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม มีความกังวลห่วงใยในสุขภาพ และโครงสร้างประชากรเป็นสังคมผู้สูงวัย (aging society) เป็นกลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงบน ผู้ส่งออกไทยจึงต้องพัฒนาปรับปรุงสินค้าให้เข้ากับนิสัยความเป็นอยู่ของชาวเดนมาร์ก เช่น การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ให้สวยงาม เข้าใจง่าย มีรูปแบบเรียบง่ายแต่ดูดี ทำจากวัสดุที่ประหยัดพลังงาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีขนาดบรรจุภัณฑ์เหมาะสำหรับการบริโภคของครอบครัวขนาด 1-2 คน ใช้ครั้งเดียวหมด หรือง่ายต่อการใช้โดยเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุ หรือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมหรือทำจากธรรมชาติ ไม่มีสารตกค้าง การผลิตอาหารบำรุง สุขภาพ เช่น มีส่วนผสมของน้ำตาลน้อย หรือใช้สารความหวานอื่นที่ไม่เป็นอันตรายแทนน้ำตาล สินค้าทีทำจากสมุนไพร เป็นต้น

4.6 เดนมาร์ก ถือเป็นศูนย์กลางของยุโรปเหนือ ทั้งด้านการค้าและการขนส่ง ในการกระจายสินค้าต่อไปยังประเทศอื่นในภูมิภาค สนามบิน Kastrup ในกรุงโคเปนเฮเกน เป็นสนามบินที่ใหญ่และสะดวกสบายที่สุดในภูมิภาคยุโรปเหนือ และบริเวณใกล้สนามบิน Kastrup มีสะพาน Oresund Bridge เชื่อมระหว่าง เกาะ (Zealand) ของเดนมาร์กกับเมือง Malmo ทางตอนใต้ของสวีเดน นอกจากนี้ยังมีโครงการที่จะสร้างสะพานเชื่อมระหว่างเกาะ (Zealand) เมือง Fermern Baelt Rodby ของเดนมาร์ก กับเมืองPuttgarden ของสหพันธรัฐเยอรมัน จึงทำให้เดนมาร์กมีบทบาทในสถานะที่เป็นศูนย์กลางทางด้านการค้าและคมนาคมในภูมิภาคยุโรปเหนือ สามารถเป็นแหล่งช่วยกระจายสินค้าไทยไปยังประเทศข้างเคียง

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโคเปนเฮเกน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ