การเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างอุตสาหกรรมที่ใช้ข้าวเป็นวัตถุดิบของญี่ปุ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 15, 2010 10:38 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ข้าวเป็นหนึ่งในสินค้าเกษตรที่ญี่ปุ่นผลิตได้เพียงพอกับความต้องการบริโภคของประเทศ ภายใต้ความตกลงขององค์การการค้าโลกหรือ WTO ตลาดข้าวญี่ปุ่น ถูกบังคับให้ต้องเปิดนำเข้าข้าวจากต่างประเทศเข้าไปจำหน่ายเป็นครั้งแรก เมื่อปี 2538 ด้วยจำนวน 397,000 ตัน หรือ ร้อยละ 4 ของปริมาณที่บริโภค และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 8 หรือ 682,000 ตัน และคงไว้ที่ระดับร้อยละ 8 ของปริมาณบริโภคนับตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา

ญี่ปุ่นก็เหมือนกับประเทศที่บริโภคข้าวเป็นอาหารหลักชาติอื่นๆ ที่วิถีชีวิตและพฤติกรรมการบริโภคอาหารของประชาชนเปลี่ยนไป จำนวนข้าวที่บริโภคเฉลี่ยต่อหัวลดลงเรื่อยๆ แต่ผลผลิตไม่ได้ลดลงมากนัก เมื่อถูกกำหนดให้ต้องนำเข้าในปริมาณที่เท่าเดิม จึงมีข้าวในสต๊อกคงเหลือสูงขึ้น ในอดีต ญี่ปุ่นระบายข้าวส่วนเกินด้วยการส่งไปช่วยเหลือในโครงการ Food Aid แต่ปัจจุบันความช่วยเหลือดังกล่าวลดน้อยลง ข้าวจำนวน 682,000 ตันที่ญี่ปุ่นต้องนำเข้าภายใต้ WTO นี้ หรือเรียกรวมๆ ว่า Minimum Market Access (MMA) แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ข้าวที่นำไปใช้บริโภค หรือ Table Use หรือ SBS กำหนดไว้ปีละ 100,000 ตัน และข้าวที่นำเข้าสำหรับอุตสาหกรรมแปรรูป หรือ General Import (GI) มีปริมาณปีละ 582,000 ตัน การนำเข้าดำเนินโดยกระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมง ด้วยวิธีประมูล ตามคุณภาพ และแหล่งผลิตของผู้ใช้ เช่น อุตสาหกรรมที่นำข้าวไปแปรรูป บริษัทค้าส่ง-ค้าปลีกข้าว เป็นต้น

กระทรวงเกษตรฯ ญี่ปุ่น รายงานว่า การซื้อ-ขายข้าวผ่านรัฐบาลว่า ในฤดูนำเข้าปีนี้ (พย. 2552 - ตค.2553) รัฐบาลขายข้าวที่นำเข้าแก่ผู้ใช้ในประเทศรวม 850,000 ตัน สูงกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งพบข้อสังเกตุ ว่า ข้าวที่นำเข้าจะถูกใช้ไปในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ (Feed Industry) ในสัดส่วนที่สูงขึ้นเรื่อยๆ อุตสาหกรรมใหม่ที่พบว่ามีการใช้ข้าวเป็นวัตถุดิบ คือ Bio Ethanol ใช้ 10,000 ตันในปี 2553 นอกจากนี้ ความต้องการใช้ข้าว SBS เพื่อบริโภค และข้าว MA เพื่ออุตสาหกรรม ก็มีแนวโน้มว่าจะลดลงอย่างต่อเนื่อง หากสถานการณ์ยังดำเนินต่อไปเช่นนี้ ก็เป็นไปได้ว่า น่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในชนิดของข้าวที่ญี่ปุ่นนำเข้าภายใต้ Minimum Market Access จากข้าวคุณภาพดี ไปสู่ปลายข้าว และข้าว คุณภาพต่ำเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์

การนำข้าวที่ญี่ปุ่นนำเข้าไปใช้ตามวัตถุประสงค์ต่างๆ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ให้ข้อมูลว่า ข้าวที่นำเข้าภายใต้ SBS เพื่อ Table use หรือ การขายเพื่อการบริโภคของครัวเรือน ซึ่งกำหนดไว้ปีละ 100,000 ตันนั้น ในข้อเท็จจริง เป็นการนำเข้าเพื่อการใช้ของภัตตาคาร ครัวเรือน และการจำหน่ายปลีกสำหรับครัวเรือน เพียงประมาณร้อยละ 20 หรือ ประมาณ 20,000 ตัน ที่เหลือ เป็นการนำเข้าสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูป นอกจากนี้ญี่ปุ่น ยังมีแนวโน้มส่งข้าวไปช่วยเหลือ ตามโครงการ Food Aid ลดน้อยลงเรื่อยๆ ขณะเดียวกัน นับตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ได้หันมาใช้ข้าวนำเข้าเพื่อเป็นวัตถุดิบมากขึ้น

กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง ญี่ปุ่น รายงานเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2553 ว่า ข้าวฤดูผลิตปี 2553 มีจำนวน 8.239 ล้านตัน ผลผลิตลดลง ร้อยละ 2 เทียบกับปีที่ผ่านมา ขณะที่มีความต้องการบริโภครวม ปีละ 8.13 ล้านตัน ญี่ปุ่นประสบปัญหาประชากรในภาคเกษตรมีจำนวนลดน้อยลง และอายุเฉลี่ยของเกษตรกรสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

การพัฒนาคุณภาพสินค้าอุตสาหกรรม ของจีน และเกาหลี จนเริ่มเป็นที่ยอมรับในตลาดในต่างประเทศ และก้าวขึ้นมามีบทบาทต่อเศรษฐกิจโลก ทำให้ญี่ปุ่นต้องทบทวนนโยบายเกษตรที่ตนเองปกป้องไว้สูง และตระหนักดีว่า หากยังดำเนินนโยบายปกป้องภาคเกษตรต่อไปอีก ภาคเกษตรก็อาจเป็นสาขาที่ฉุดรั้งภาคธุรกิจอื่นและในที่สุด อาจต้องสูญเสียอำนาจแข่งขันในตลาดโลก เมื่อเดือนธันวาคม 2553 รัฐบาลญี่ปุ่นจึงทบทวนกฎหมายที่ดินเกษตร โดยเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชน สามารถเข้ามาลงทุนในภาคเกษตรมากขึ้น เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดิน และเพิ่มผลผลิตต่อไร่ คาด ว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นการเตรียมความพร้อม สำหรับการเปิดตลาดสินค้าเกษตรในอนาคต

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ