ถั่วฝักยาวจากเนเธอร์แลนด์ คู่แข่งของไทยในตลาดเยอรมนี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 15, 2010 11:42 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ถึงแม้ว่าในตลาดเยอรมนีจะมีชาวเอเชียพำนักอาศัยอยู่กันประมาณ 1 ล้านคนก็ตาม ในเรื่องอาหารการกินผู้นำเข้าสินค้าอาหารเอเชียยังคงให้ความสนใจ ทำการนำเข้าสินค้าอาหารสด แห้ง แช่เย็น แช่แข็ง ตลอดจนอาหารแปรรูปและเครื่องกระป๋องต่างๆ จากหลากหลายประเทศในเอเชีย ได้แก่ ไทย จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน อินโดนีเชีย และฟิลิปปินส์ เป็นต้น เป็นมูลค่าปีละหลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ บริโภคที่เป็นคนเอเชีย คนชาติอื่นๆ ตลอดจนชาวเยอรมันและชาวยุโรปอื่นๆ ที่เคยท่องเที่ยวไปในประเทศต่างๆ ในเอเชีย สำหรับสินค้าอาหารของไทย เยอรมนีนำเข้าเป็นมูลค่าโดยเฉลี่ยปีละประมาณ 400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในจำนวนนี้เป็นสินค้าเกษตรเพื่อการบริโภค (แช่เย็น แช่แข็ง) มูลค่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร (อาหารแปรรูป อาหารสำเร็จรูป และเครื่องกระป๋องต่างๆ) มูลค่าประมาณ 210 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เฉพาะผักและผลไม้สดมีมูลค่าเล็กน้อย มีการนำเข้าปีละประมาณ 9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นผักสดแช่เย็น แช่แข็ง 7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และผลไม้ 2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

สินค้าผักและผลไม้สดในตลาดเยอรมนี นอกจากนำเข้าจากประเทศในแถบเอเชียแล้ว ยังมีการนำเข้ามากจากประเทศในอัฟริกา และอเมริกาใต้ ซึ่งมีสินค้าหลายชนิดที่คล้ายกับสินค้าจากไทยและใช้แทนกันได้ เช่น ถั่วต่างๆ กะหล่ำปลี ข้าวโพดฝักอ่อน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการปลูกเองได้ในประเทศทางตอนใต้ของยุโรป ในฝรั่งเศส และในเรือนกระจกในประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่ส่งออกผักสดเข้าสู่ตลาดเยอรมนีมากในอันดับต้นๆ อย่างไรก็ตาม อีกส่วนหนึ่งของสินค้าจากเนเธอร์แลนด์ที่ส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ ในยุโรป รวมทั้งเยอรมนี จะเป็นสินค้าที่นำเข้าจากประเทศอื่นๆ ในเอเชีย รวมทั้งจากไทยด้วย ได้แก่ ข้าวสาร ซอสปรุงรส อาหารแปรรูป แช่แข็ง และเครื่องกระป๋องต่างๆ ตลอดจนผักและผลไม้สดแช่เย็นและแช่แข็ง เป็นต้น สำหรับผักสดนั้น มีหลายชนิดที่ภัตตาคารอาหารเอเชีย รวมทั้งร้านอาหารไทยนำไปใช้เป็นส่วนประกอบ ในการปรุงอาหาร ได้แก่ ผักกาดต่างๆ บร็อคเคอรี่ ข้าวโพดฝักอ่อน และผักคะน้า เป็นต้น

จากการที่เยอรมนีให้ความสำคัญในด้านสุขอนามัย และความปลอดภัยของผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้นมาโดยตลอด สินค้าอาหารมนุษย์และสัตว์ที่เข้าสู่ตลาดเยอรมนีจะต้องปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ปราศจากยาฆ่าแมลงต้องห้าม สารเคมี สารพิษตกค้าง หรือมีจำนวนสารปนเปื้อนไม่เกินอัตราที่กำหนดไว้ โดยในระยะหลังๆ ที่ผ่านมา ได้มีการตรวจพบความไม่ถูกต้องในสินค้าพืชผัก ผลไม้สดที่นำเข้าจากต่างประเทศมากขึ้น สหภาพยุโรปจึงเพิ่มความเข้มงวด โดยกำหนดให้มีการตรวจสอบ สุ่มตรวจสินค้าที่นำเข้าจากแหล่งต่างๆ เข้มงวดมากขึ้น เช่น เชื้อรา ในสินค้าถั่วจากสหรัฐอเมริกา ตุรกี สารเคมีตกค้างในผลไม้จากประเทศในอัฟริกา เป็นต้น สำหรับสินค้าจากไทย ล่าสุดเป็นผักสดรวม 6 ชนิด คือ มะเขือ กะหล่ำ ถั่วฝักยาว กะเพรา-โหระพา ผักชี และสะระแหน่ ที่ถูกตรวจเข้มร้อยละ 20 — 50 ของการนำเข้า (รายละเอียดดังแนบ) การถูกตรวจเข้ม และการขึ้นราคาสินค้าของไทยในช่วงต้นปี 2553 เป็นต้นมา ได้ทำให้สินค้าเข้าสู่ตลาดลดลง และขาดตลาดในบางช่วง ทำให้เนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกผักสดที่สำคัญประเทศหนึ่งในยุโรป และที่ผ่านมา ได้คิดค้นขยายพันธุ์พืชผักต่างๆ ให้มีความหลากหลายยิ่งขึ้น เช่น การแปลงพันธุ์พริกหยวกที่เดิมมีแต่สีแดง และเขียว ให้เป็นสีอื่นๆ ได้แก่ สีเหลือง สีส้ม ตลอดจนการเพาะปลูกผักสดที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศเอเชียมากขึ้น โดยล่าสุด ได้ทำการเพาะ ปลูกถั่วฝักยาวสายพันธุ์จากประเทศสุรินัม และสามารถส่งออกได้แล้ว ราคาที่วางจำหน่ายในร้านค้าของชำชาวเอเชียที่กิโลกรัมละ 5.99 ยูโร นอกเหนือจากผักชนิดอื่นๆ ได้แก่ ถั่วงอก แมนโกลด์ ผักโสภณ กะหล่ำ เป็นต้น ที่มีราคาจำหน่ายกิโลกรัมละ 2 — 8 ยูโร ในขณะที่ผักสดของไทยเสนอขายในราคากิโลกรัมละ 13 — 18 ยูโร

จากการสอบถามผู้นำเข้ารายใหญ่รายหนึ่งในเยอรมนี ได้แจ้งว่า ตราบใดที่ยังคงมีผู้ซื้อพืชผักที่นำเข้าจากไทยในราคาที่เสนอขายในปัจจุบันหรืออาจจะต้องเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยในช่วง 3 — 4 เดือนข้างหน้านี้ ตามราคาเสนอขายของผู้ส่งออกไทยที่เพิ่มราคาสูงขึ้น ก็ยังคงจะทำการนำเข้าสินค้าจากไทยอยู่ต่อไป และหวังว่า ประเทศไทยจะทำการแก้ไข ควบคุมคุณภาพของสินค้าให้ได้มาตรฐาน และเรื่องการถูกตรวจสอบสินค้าที่เพิ่มความเข้มงวดขึ้นนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 เป็นต้นไป จะคลี่คลายไปในทางที่ดีและมีการยกเลิกในที่สุด เพราะการตรวจสอบแต่ละครั้งผู้นำเข้าจะต้องเสียค่าธรรมเนียมหลายร้อยยูโร ซึ่งจะต้องเพิ่มราคาขายทำให้สินค้ามีราคาแพงมากขึ้น จนอาจจะไม่มีผู้สนใจซื้อต่อไป ทำให้ต้องเลิกการนำเข้าสินค้าเหล่านี้จากไทยในที่สุดได้

EU แก้ไขมาตรการสุ่มตรวจเข้มผักไทย Review ครั้งที่ ๒ อย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๔ เป็นต้นไป

Contributed by สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ/สหภาพยุโรป Tuesday, 30 November 2010

ในวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ คณะกรรมาธิการยุโรปได้ตีพิมพ์ผลการ Review ครั้งที่ ๒ ของกฎระเบียบ EC Regulation 669/2009 อันเป็นการแก้ไขภาคผนวกที่ 1 อย่างเป็นทางการ ตาม Commission Regulation (EU) No 1099/2010 of 26 November 2010 amending Annex I to Regulation (EC) No 669/2009 implementing Regulation (EC) No 882/2004 of the European Par liament and of the Council as regards the increased level of official controls on imports of certain feed and food of non-animal origin สำหรับในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างจากการ Review ครั้งที่ ๑ กล่าวคือ

๑. EU ให้คงมาตรการตรวจเข้มผักไทยในการตรวจหาสารฆ่าแมลงตกค้างในผัก ๓ ประเภท คือ

ผักในกลุ่มมะเขือ (พิกัด ๐๗๐๙ ๓๐ ๐๐, ex ๐๗๑๐ ๘๐ ๙๕)

กลุ่มกะหล่ำ (พิกัด ๐๗๐๔, ex ๐๗๑๐ ๘๐ ๙๕)

ถั่วฝักยาว (พิกัด ex ๐๗๐๘ ๒๐ ๐๐, ex ๐๗๑๐ ๒๒ ๐๐)

ที่ระดับ ๕๐% ทั้งในรูปของผักสด แช่เย็น และแช่แข็ง (fresh, chilled or frozen vegetables)

๒. EU ให้คงมาตรการตรวจเข้มในการตรวจหาสารฆ่าแมลงตกค้างในผักไทย ๒ ประเภท คือ

ใบผักชี (coriander leaves พิกัด ex๐๗๐๙ ๙๐ ๙๐)

กะเพรา และ โหระพา (holy-, sweet-basil พิกัด ex ๑๒๑๑ ๙๐ ๘๕) เฉพาะในรูปผักสด (fresh)

ที่ระดับ ๒๐%

๓. EU ให้คงมาตรการตรวจเข้มในการตรวจหาเชื้อซัลโมแนลล่าในผักไทย ๓ ประเภท คือ

ใบผักชี (coriander leaves พิกัด ex ๐๗๐๙ ๙๐ ๙๐)

กะเพรา-โหระพา (holy, sweet basil พิกัด ex ๑๒๑๑ ๙๐ ๘๕)

สะระแหน่ (mint พิกัด ex ๑๒๑๑ ๙๐ ๘๕) เฉพาะในรูปผักสด ที่ระดับ ๑๐%

มาตรการนี้มีผลใช้บังคับใช้อย่างเป็นทางการในทุกประเทศสมาชิก EU-๒๗ ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๔ เป็นต้นไป

รายละเอียดของกฎระเบียบใหม่นี้ สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากเว็ปไซต์ ดังต่อไปนี้ http://eur-lex.europa.eu/LexUriServ/LexUriServ.do?uri=OJ:L:2010:312:0009:0013:EN:PDF

ที่มา: สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ/สหภาพยุโรป

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ