การค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่น 10 เดือนแรกปี 2553 และแนวโน้มเศรษฐกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 17, 2010 11:33 —กรมส่งเสริมการส่งออก

การค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่น

แม้เงินเยนแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐฯ การส่งออกไปยุโรปชลอตัวลง ตลาดสหรัฐฯ กระเตื้องขึ้นจากปีที่แล้วไม่มากนัก แต่การส่งออกของญี่ปุ่นเดือนตุลาคม 2553 ไปตลาด เอเชียตะวันออก อาเซียน ลาตินอเมริกา อินเดีย และออสเตรเลีย ยังขยายตัวสูง ส่งผลให้การส่งออกญี่ปุ่นไปตลาดโลก เดือนตุลาคมนี้ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 19.1 เป็นมูลค่า 69,987 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นำเข้ามูลค่า 59,946 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2552 ร้อยละ 20.2

ช่วง 10 เดือนแรก(มกราคม — ตุลาคม) ปีนี้ ญี่ปุ่นได้ดุลการค้า 66,662 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยส่งออกมูลค่า 630,820 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552 ร้อยละ 35.8 นำเข้ามูลค่า 564,157 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.5

การส่งออก และนำเข้า 10 เดือนแรกปี 2553 เมื่อคิดเป็นสกุลเงินเยน มีมูลค่า 55.853 และ 49.967 ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปี 2552 คิดเป็นร้อยละ 27.6 และ 19.0 ตามลำดับ

สินค้าส่งออกสำคัญของญี่ปุ่นที่ขยายตัวต่อเนื่อง ได้แก่ เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ อุปกรณ์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อินทรีย์เคมี เป็นต้น

สำหรับการนำเข้าของญี่ปุ่น จีนยังเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 1 มูลค่า 123,937 เหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วง 10 เดือนแรกของปี 2552 ร้อยละ 24.9 ประเทศอื่นที่เป็นแหล่งนำเข้าสินค้าขั้นกลาง และวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรม มีมูลค่านำเข้าเพิ่มขึ้นสูง ได้แก่ บราซิล ชิลี รัสเซีย อาฟริกาใต้ อินเดีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และนิวซีแลนด์

การค้าระหว่างญี่ปุ่นกับไทย

ตั้งแต่เดือนมกราคม-ตุลาคม 2553 สินค้าญี่ปุ่นที่ส่งออกมาไทยซึ่งกว่าร้อยละ 80 เป็นสินค้า ทุนวัตถุดิบ และสินค้าขั้นกลาง มีมูลค่า 28,043 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวจากระยะเดียวกันของปี 2552 ร้อยละ 62.9 นำเข้าจากไทยมูลค่า 17,103 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 32.5

สินค้าสำคัญจากไทยที่ขยายตัวสูงในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ ได้แก่

  • รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และส่วนประกอบจากไทย มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 131.0 ขณะที่ญี่ปุ่นนำเข้าจากทุกแหล่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.1 การขยายฐานการผลิตในประเทศไทยส่งผลให้สินค้าจากไทย ขยายตัวสูงกว่าแหล่งนำเข้าอื่น ส่วนยางพารามูลค่าเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว หลังจากการนำเข้าของญี่ปุ่นจากทุกแหล่งลดลงมากในปี 2552
  • อุปกรณ์ เครื่องจักรไฟฟ้า และส่วนประกอบ ที่ญี่ปุ่นนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นมาก ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องส่งสำหรับวิทยุโทรทัศน์ ไดโอททรานซิสเตอร์และอุปกรณ์ สายไฟฟ้าสายเคเบิล อุปกรณ์สำหรับต่อภายในวงจรไฟฟ้า เป็นต้น
  • เครื่องสำอาง และน้ำหอม ยังคงขยายตัวในอัตราสูงต่อเนื่องจากปีก่อนร้อยละ 111.9 ขณะที่ญี่ปุ่นนำเข้ารวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.9 ส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ จากไทยมูลค่าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วในอัตราร้อยละ 14.9 และ 6.2 ส่วนแบ่งตลาดของไทยเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
  • สำหรับสินค้าอาหารจากไทยหลายชนิดมีมูลค่าเพิ่มขึ้น เช่น อาหารทะเล แช่เย็น แช่แข็ง (เนื้อปลาสด ปลาหมึก กุ้งสด) ข้าว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ ขณะที่เนื้อสัตว์ เนื้อปลาปรุงแต่ง และอาหารสัตว์ มีมูลค่าใกล้เคียงกับปีที่แล้ว

แนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่น

การใช้จ่ายของผู้บริโภคซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 60 ของ GDP และการลงทุนภาคเอกชนในช่วงไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม- กันยายน) 2553 ที่ขยายตัวสูงว่าที่ประมาณไว้ ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศปรับตัวเลข real GDP ของไตรมาสที่ 3 นี้จากเดิมที่ประกาศตัวเลขเบื้องต้นไว้ร้อยละ 3.9 เป็นขยายตัวในอัตราร้อยละ 4.5 ต่อปี

ด้วยภาวะค่าเงินเยนที่แข็งค่าต่อเนื่องและยอดการจำหน่ายรถยนต์ภายในประเทศที่ลดลงมาก หลังจากมาตรการอุดหนุนการซื้อรถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (eco-car) หมดอายุลงสิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา นักวิเคราะห์คาดว่า ไตรมาส 4 (ตุลาคม-ธันวาคม) ปีนี้ เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะหดตัวร้อยละ 1.6 คาดว่า GDP ปี 2553 ขยายตัวในอัตราร้อยละ 2.6 และคาดว่าปี 2554 เศรษฐกิจญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 1.0-1.5

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ