ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax :VAT) เป็นเรื่องที่ผู้ส่งออกสินค้าไทยโดยเฉพาะผู้ส่งออกผลไม้ไทย ให้ความสนใจและมักเข้าใจว่าทางการจีนจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มระหว่างชาวต่างประเทศและชาวจีนไม่เท่าเทียมกันหรือมีการเลือกปฏิบัติ ทำให้ไม่ได้รับความเป็นธรรมทางการค้า ดังนั้นเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง จึงขอนำเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่มของจีนมาพูดคุยกัน
ประเทศจีนมีการปฏิรูปการจัดเก็บภาษีในปี 2537 และได้มีการแยกระบบการจัดเก็บภาษีระหว่างรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นออกจากกัน พร้อมทั้งวางกรอบการทำงานของระบบการคลังในแต่ละระดับ ทำให้ระบบการเงินของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นจะแยกออกจากกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินงบประมาณ เพื่อความเป็นอิสระและสร้างแรงจูงใจให้กับรัฐบาลมณฑลในการหารายได้เข้ามณฑลของตนเอง ตัวอย่างเช่น การเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล (corporate income tax) รัฐบาลกลางเรียกจะเก็บในอัตราร้อยละ 25 ทั้งผู้ประกอบการชาวจีนและนักลงทุนจากต่างประเทศ แต่รัฐบาลท้องถิ่นเรียกเก็บเพียงร้อยละ 20สำหรับธุรกิจที่ทำยอดกำไรได้ต่ำและเก็บเพียงร้อยละ 15 สำหรับผู้ประกอบธุรกิจ ทางด้านสินค้านวัตกรรมหรือ High Technology หรือแม้แต่ในมณฑลที่มีนโยบายการส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เขตนิคมอุตสาหกรรม ก็สามารถกำหนดอัตราภาษีพิเศษหรือสร้างแรงจูงใจเพิ่มเติมได้ เป็นต้น
สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่มถือเป็นอัตราภาษีระดับประเทศจะต้องปฏิบัติเหมือนกันหมดทุกมณฑล ประเทศจีนเริ่มมีการทดลองจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่ปี 2522 แต่เริ่มมีการจัดเก็บจริงตั้งแต่วันที่ 1 มกรคม 2537 โดยการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นไปตามกฎระเบียบการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มของสำนักนายกรัฐมนตรีตามประกาศเลขที่ 134 และได้มีการปรับปรุงแก้ไขครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2551
ภาษีมูลค่าเพิ่มนับเป็นภาษีที่มีความสำคัญที่สุดประเภทหนึ่งของจีน รายได้จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มแต่ละปีคิดเป็นสัดส่วนอัตราร้อยละ 60 ของรายได้จากภาษีทั้งหมด ซึ่งนับว่าเป็นภาษีที่จัดเก็บได้มากที่สุดโดยมีหน่วยงานที่มีชื่อว่า “ State Administration of Taxation” รับผิดชอบ ทั้งนี้เมื่อรัฐบาลจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้แล้วก็จะมีการแบ่งสัดส่วนรายได้ออกเป็น 2 ส่วนคือ รายได้ในอัตราร้อยละ 75 จะเป็นของรัฐบาลกลาง ส่วนอีกอัตราร้อยละ 25 จะเป็นของรัฐบาลท้องถิ่น ส่วนการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ หน่วยงานสำนักงานศุลกากรประจำด่านนำเข้าสินค้าของแต่ละมณฑล/ท้องที่ จะเป็นผู้รับผิดชอบจัดเก็บและส่งรายได้ให้รัฐบาลกลางต่อไป ทั้งนี้ ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีดังกล่าวคือ ผู้ประกอบกิจการที่จำหน่ายสินค้าหรือให้บริการด้านการแปรรูปสินค้า ธุรกิจบริการ งานรับจ้างซ่อมแซมต่างๆ ที่ดำเนินธุรกิจในประเทศจีน รวมทั้งผู้นำเข้าสินค้าทั้งที่เป็นนิติบุคคลและบุคคลทั่วไปที่นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมายังประเทศจีน
ทั้งนี้สาระสำคัญของกฎระเบียบการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มของจีนโดยสรุปมี ดังนี้
1. จีนมีเพดานภาษีมูลค่าเพิ่ม3 อัตรา คือ
1) ร้อยละ 0 สำหรับสินค้าส่งออก
2) ร้อยละ 13 จำนวนสินค้า 19 หมวด อาทิ สินค้าเกษตร ยากำจัดศัตรูพืช เครื่องจักร การเกษตร ก๊าซ ถ่านหิน หนังสือ ปุ๋ยเคมีสิ่งตีพิมพ์ เป็นต้น
3) ร้อยละ 17 สำหรับสินค้าอื่น ๆ นอกเหนือจากสินค้า 19 หมวดข้างต้น
2. การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มแบบเหมาจ่ายจะเก็บในอัตราร้อยละ 4 ในภาคการค้าสำหรับธุรกิจขายส่งและขายปลีกขนาดเล็ก เช่น ธุรกิจตัวแทนจำหน่าย ร้านจำหน่ายของเก่า ร้านค้าปลอดภาษี เป็นต้น นอกจากนั้น ธุรกิจขนาดเล็กอื่นๆในภาคอุตสาหกรรมจะเก็บที่ร้อยละ 6 ของยอดขายรายปีเช่น โรงงานขนาดเล็กที่ผลิตเครื่องกำเนิดไฟฟ้า งานก่อสร้างที่ใช้วัสดุดิน ทราย ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับmicroorganism เป็นต้น
3. ระบบการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มของจีน สำหรับสินค้าผลิตภายในประเทศ กรณีสินค้าเกษตร การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม จะเก็บจากผู้ซื้อรายแรกที่ซื้อจากเกษตรกร (เกษตรกรไม่ต้องเสีย VAT) และเมื่อมีการขายสินค้าต่อแก่ผู้ซื้อคนต่อไป พ่อค้าคนกลางรายแรกจะต้องเสีย VAT ร้อยละ 13 ในส่วนของมูลค่าหรือกำไรที่บวกเพิ่มขึ้นแต่สามารถขอ refund ภาษีที่ตนเสียไปเมื่อครั้งซื้อสินค้าจากเกษตรกรได้
สำหรับสินค้านำเข้า ผู้นำเข้าจะเป็นผู้ที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 13% หรือ 17% แล้วแต่ชนิดของสินค้า (ผู้ส่งออกไม่เสีย VAT) ขั้นแรก ณ ด่านศุลกากรและเมื่อมีการขายสินค้าต่อแก่ผู้ซื้อคนต่อไป ผู้นำเข้าจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ในส่วนของมูลค่าหรือกำไรที่บวกเพิ่มขึ้นมา (หรือพ่อค้าคนกลางรายแรก) แต่จะสามารถขอ refund ภาษีที่ตนเสียไปเมื่อนำเข้าสินค้าได้ หลังจากนั้น จะมีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในทุกขั้นตอนของมูลค่าเพิ่มเมื่อมีการเปลี่ยนมือสินค้า ซึ่งในทางปฏิบัติส่วนใหญ่ผู้บริโภคจะเป็นผู้รับภาระภาษีในฐานะผู้บริโภคขั้นสุดท้าย
ภายใต้ข้อผูกพันขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) ประเทศจีน สามารถกำหนดอัตราการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มใดก็ได้ตามความเหมาะสมภายใต้เงื่อนไขว่า ต้องเก็บภาษีดังกล่าวจากสินค้านำเข้าและสินค้าภายในประเทศในอัตราเดียวกัน ดังนั้น การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มของจีน จึงมีระเบียบปฏิบัติเหมือนกันทั้งกับสินค้านำเข้าและสินค้าที่ผลิตภายในประเทศและมีผลบังคับใช้เหมือนกันในทั้งระดับรัฐบาลกลางและระดับมณฑล เพียงแต่ในบางมณฑลอาจมีการเก็บค่าธรรมเนียมอื่นๆที่แตกต่างกันได้ เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้ท้องถิ่นหรือตามนโยบายของมณฑลนั้น ๆ ซึ่งไม่ถือว่าเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่อย่างใด
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว
ที่มา: http://www.depthai.go.th