ภาวะการผลิตและตลาดมันสำปะหลังของจีน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 20, 2010 10:57 —กรมส่งเสริมการส่งออก

การเพาะปลูกมันสำปะหลัง

สภาพทั่วไป

แหล่งเพาะปลูกของจีนมีหลายมณฑล ได้แก่ เขตปกครองตนเองกว่างซี มณฑลกวางตุ้ง มณฑลไหหลำ มณฑลยูนนาน มณฑลฝูเจี้ยน และมณฑลเจียงซี โดยเขตฯ กว่างซีมีสัดส่วนการปลูกประมาณร้อยละ 60 ในระยะหลายปีมานี้จีนมีพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังมากกว่า 7.5 ล้านหมู่ ( 1 หมู่ = 667 ตร.ม.) ปริมาณการผลิตเฉลี่ย 1.3 ตัน/หมู่ ปริมาณมันสำปะหลังสด 9 ล้านตัน

ในฤดูเก็บเกี่ยวปี 2009/10 เนื่องจากผลกระทบจากภัยแล้ง ทำให้การผลิตลดลงเหลือพื้นที่เพาะปลูก 5 ล้านกว่าหมู่ ปริมาณการผลิต 7 ล้านกว่าตัน (แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับฤดูเก็บเกี่ยวในปี 2008/09) โดย

1. มณฑลกวางตุ้ง พื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลัง 7 - 8 แสนหมู่ ปริมาณการผลิตน้อยกว่า 1 แสนตัน ส่วนปี 2010/11 พื้นที่เพาะปลูกประมาณ 8 แสนกว่าหมู่ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

2. มณฑลไหหลำ พื้นที่เพาะปลูก 5.6 - 5.7 แสนหมู่ ปริมาณการผลิตน้อยกว่า 9 แสนตัน ปริมาณโดยเฉลี่ยด่ำกว่า 1.5 ตัน/หมู่ ส่วนปี 2011 พื้นที่เพาะปลูกพอๆ กับปีที่แล้ว แต่ปริมาณการผลิตลดลงเนื่องจากจากน้ำท่วม

3. มณฑลยูนนาน พื้นที่เพาะปลูก 4.163 ล้านหมู่ ปริมาณการผลิต 3.228 แสนตัน พื้นที่เพาะปลูกของปี 2010 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2009 เนื่องจากปริมาณน้ำฝนเพียงพอ มีผลให้ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นพอควร ทั้งนี้ คาดว่าปริมาณเฉลี่ยจะเพิ่มถึง 1.1 ตัน/หมู่ ส่วนเขตที่ปลูกพันธุ์ใหม่ปริมาณเฉลี่ยคาดว่าจะได้ถึง 2 ตัน/หมู่

4 . มณฑลเจียงซี มีการปลูกมันสำปะหลังบริเวณ อ.ตงเซียงเป็นหลัก มีพื้นที่เพาะปลูก 1 แสนกว่าหมู่ ซึ่งพอๆ กับปี 2009 ปริมาณการผลิต 2 แสนกว่าตัน ทั้งนี้ มันสำปะหลังในฐานะที่เป็นวัตถุดิบหลักของการผลิตเชื้อเพลิงเอทานอล คณะกรรมการ-ปฏิรูปและพัฒนาแห่งชาติจีนจึงอนุญาตให้มณฑลเจียงซีมีโครงการเชื้อเพลิงเอทานอล ซึ่งต้องใช้มันสำปะหลัง 1 แสนตัน/ปี

5. เขตฯ กว่างซี

5.1 สภาพทั่วไปปี 2009

มีพื้นที่เพาะปลูก 3.464 ล้านหมู่ ปริมาณการผลิต 5.47 ล้านตัน เขตที่ปลูกมันสำปะหลังสำคัญๆ ได้แก่ อ.หวู่หมิง (3.2 แสนหมู่) อ. เมืองกุ้ยผิง (2.5 แสนหมู่ ) อ. เถอเซี่ยน (2.3 แสนหมู่ ) อ.ฉินซี (2.1 แสนหมู่) อ.หลงอัน (1 แสนหมู่)

5.2 สภาพทั่วไปปี 2010

มีพื้นที่เพาะปลูก 3.4439 ล้านหมู่ ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เขตที่ปลูกมันสำปะหลังสำคัญๆ ได้แก่ นครหนานหนิง (3.4439 ล้านหมู่ ) เมืองหวูโจว (5.495 แสนหมู่) เมืองกุ้ยก่าง (4.47 แสนหมู่) เมืองชิงโจว (3.112 แสนหมู่) เมืองเป่ยไห่ (2.171 แสนหมู่) เมืองยู่หลิน (2.261 แสนหมู่) เมืองฉงจั่ว (20.44 แสนหมู่) เมืองเหอเฉือ (2.019 แสนหมู่) และอื่นๆ (4.914 แสนหมู่)

สาเหตุหลักที่ทำให้พื้นที่เพาะปลูกลดลง คือ

  • การเพาะพันธุ์ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งร้ายแรง แม้ว่าหน่วยงานด้านเกษตรที่เกี่ยวข้องของท้องถิ่นได้ใช้มาตราการเพื่อรักษาหน่อและกระตุ้นการเพาะปลูก แต่ภัยแล้งยังคงมีผลกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูกและปริมาณการผลิตของปีนี้อย่างเห็นได้ชัด เช่น ทำให้หน่อมันสำปะหลังแห้งตาย อัตราการแตกหน่อต่ำ ฯลฯ นอกจากนี้ บางพื้นที่มีการเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นแทนประมาณ 6 แสนกว่าหมู่
  • การปรับนโยบายของรัฐบาล ในปีที่ผ่านมาเนื่องจากราคาน้ำตาลสูงขึ้นมาก รัฐบาลจึงส่งเสริมการเพาะปลูกอ้อยในการผลิตน้ำตาลเพื่อเพิ่มรายได้คงคลัง ทำให้พื้นที่ปลูกมันสำปะหลังจำนวนมากกลายเป็นพื้นที่ปลูกอ้อย นอกจากนี้ ยังมีความพยายามควบคุมสิ่งแวดล้อมจากการแปรรูปมันสำปะหลัง ทำให้ความต้องการและการแปรรูปมันสำปะหลังลดลง

การคาดการณ์ปริมาณการผลิตมันสำปะหลังของเขตฯ กว่างซี ปี 2010

จากผลกระทบของภัยแล้งในช่วงแรกของปี ทำให้การปลูกมันสำปะหลังโดยทั่วไปเลื่อนออกไป 10-15 วัน ทั้งนี้ หน่วยงานด้านเกษตรของเขตฯ กว่างซีได้พัฒนาเทคนิดการเพาะปลูก ซึ่งมีผลให้ความเสียหายต่อหน่ออ่อนลดลง จึงคาดการณ์ว่าในปีนี้ปริมาณการผลิตโดยเฉลี่ยของเขตฯ กว่างซีจะมีถึง 1.6 ตัน/หมู่ ปริมาณการผลิตรวมมันสำปะหลังสดจะมีถึง 5.6 ล้านตัน เพิ่มจากปีที่แล้วที่ได้ 5.4707 ล้านตัน (ตัวเลขจากกรมสถิติแห่งเขตฯ กว่างซี)

การวางแผนปลูกมันสำปะหลังของเขตฯ กว่างซี

ต.ค. 2010 ทางการจีนได้ประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมันสำปะหลังของเขตฯ กว่างซีว่า จะเน้นพัฒนาในหลายๆ ด้าน เช่น สร้างฐานวัตถุดิบอุตสาหกรรมมันสำปะหลัง นำพันธุ์ใหม่จากต่างถิ่น/คัดเลือกพันธุ์และเผยแพร่อย่างต่อเนื่อง พัฒนาเทคนิคที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่มันสำปะหลัง เพิ่มปริมาณการผลิต ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ปลูกข้าวไปปลูกมันสำปะหลังอย่างเต็มที่ ดำเนิน“แผนการปลูกพืชไร่แซมในพื้นที่หลายแสนหมู่”อย่างเจาะลึก และเผยแพร่เทคนิคการปลูกมันสำปะหลังแซมและขยายพื้นที่เพาะปลูกให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เมื่อถึงปี 2015 มีเป้าหมายขยายพื้นที่เพาะปลูกทั่วทั้งเขตฯ กว่างซีให้ได้ 5 ล้านหมู่ มีปริมาณการผลิตรวม 9 ล้านตัน และมีพื้นที่ที่ปลูกมันสำปะหลังพันธุ์ที่ดีและปลูกด้วยเทคนิคสูงในสัดส่วนร้อยละ 80 ขึ้นไป

การตลาดในฤดูการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังปี 2009/10

ราคามันสำปะหลังสดและมันสำปะหลังแผ่นแห้ง นอกจากขึ้นอยู่กับปริมาณแป้งในหัวมันสำปะหลังสดแล้ว ยังขึ้นกับราคาแป้งมันสำปะหลังและแอลกอฮอล์ เมื่อปลายปี 2009 สถานการณ์เศรษฐกิจของจีนค่อนข้างดี ทำให้ราคาน้ำตาลทราย แอลกอฮอล์และสตาร์ชเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคารับซื้อมันสำปะหลังสดเพิ่มขึ้นเช่นกัน กล่าวคือ จาก 400 หยวน/ตัน สูงถึง 650 หยวน/ตัน (พ.ค.2009 — ก.พ. 2010) มันสำปะหลังแผ่นแห้งจาก 1,300 หยวน/ตัน สูงถึง 1,900 หยวน/ตัน (ก.ค. 2009 — ต.ค. 2010 ) ซึ่งทำให้ต้นทุนของวิสาหกิจที่ผลิตแป้งมันสำปะหลังและแอลกอฮอล์ดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็จ ราคาของผลิตภัณฑ์ก็เพิ่มขึ้นด้วย

สาเหตุหลักที่ทำให้ราคามันสำปะหลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวที่แล้ว มีดังนี้

  • พื้นที่เพาะปลูกของเขตฯ กว่างซีในปีนี้มีน้อยกว่าปีที่แล้วๆ มา กล่าวคือ ลดการประมาณร้อยละ 20 รวมทั้งการผลิตของมณฑลไหหลำก็ลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากพายุหลายครั้ง
  • ผลผลิตของต่างประเทศ(ไทยและเวียดนาม) ลดลง เนื่องจากภัยจากแมลงและพายุ
  • ราคาแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น โรงงานผลิตแอลกอฮอล์ต่างต้องแย่งกันซื้อมันสำปะหลัง

การนำเข้ามันสำปะหลังแผ่นแห้ง

ผลจากการพัฒนาอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์และเชื้อเพลิงเอทานอลภายในประเทศ ทำให้ความต้องการมันสำปะหลังเพิ่มมากขึ้น การนำเข้ามันสำปะหลังแผ่นแห้งก็เพิ่มขึ้นทุกปีเช่นกัน โดยจีนนำเข้าประมาณ 5 ล้านตัน/ปี ส่วนใหญ่นำเข้าจากเวียดนามและไทย ปี 2009 การนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างมากถึง 5.9 ล้านตัน ซึ่งมากกว่าปี 2008 ที่นำเข้าเพียง 3.95 ล้านตัน ส่วนปี 2010 (ม.ค.-ม.ย.) จีนนำเข้ามันสำปะหลังทั้งหมด 3.88 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 1.03 ล้านตัน

อุตสาหกรรมแปรรูปมันสำปะหลังแผ่นแห้ง

สภาพทั่วไป

ในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา มีโรงงานทยอยปิดกิจการ 10 กว่าแห่ง เนื่องจากถูกทางการจีนตรวจพบว่า ไม่มีอุปกรณ์รักษาสิ่งแวดล้อมที่ได้มาตรฐานหรือบริหารงานไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันมีวิสาหกิจ 120 กว่าแห่งที่มีปริมาณการผลิตประมาณ 1.5 หมื่นตัน/วัน ปี 2009/10 เนื่องจากภัยแล้งทำให้ปริมาณแป้งมันสำปะหลังลดลงเหลือ 7 แสนตัน อย่างไรก็ดี จากการผลิตที่ฟื้นตัวขึ้นมา จึงคาดว่าปี 2010/11 สามารถผลิตแป้งมันสำปะหลังได้ถึง 8.5 แสนตันขึ้นไป

ความต้องการของตลาด

ชาวจีนส่วนใหญ่ใช้แป้งมันสำปะหลังทำวุ้นเส้นและแป้งมันสำปะหลังแปรรูป โดยมีความต้องการมากกว่า 1.5 ล้านตัน/ปี เท่าที่ผ่านมาจีนสามารถผลิตแป้งมันสำปะหลังได้เพียง 8 แสนกว่าตัน และนำเข้าจากต่างประเทศมากกว่า 8 แสนตัน/ปี ส่วนใหญ่นำเข้าจากเวียดนามและไทย ทั้งนี้ คาดว่าความต้องการจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต

ปัญหาหลักของอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังของจีนในปัจจุบัน ได้แก่

  • การบริหารจัดการน้ำเสียมีต้นทุนสูง
  • ตามกฏระเบียบของจีนกำหนดให้โรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังต้องมีมาตรการบริหารจัดการน้ำเสียเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งโดยทั่วไปโรงงานมีค่าใช้จ่ายสำหรับมาตรการดังกล่าวประมาณ 5 — 6 ล้านหยวน ทำให้โรงงานไม่น้อยต้องเลิกกิจการ
  • การขาดวัตถุดิบมันสำปะหลังและฤดูกาลเก็บเกี่ยวสั้นลง เมื่อ 10 ปีมาแล้วโรงงานมันสำปะหลังมีขนาดย่อม ฤดูเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังมีระยะเวลา 4 -5 เดือน แต่ปัจจุบันฤดูเก็บเกี่ยวสั้นลงเหลือ 2-3 เดือน บางแห่งเหลือแค่ 40-50 วัน ในขณะที่โรงงานมีการขยายตัวและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต ทำให้มันสำปะหลังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ
  • การขาดเงินทุนหมุนเวียน จากการที่ราคาวัตถุดิบมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และต้นทุนการรักษาสิ่งแวดล้อมอยู่ในระดับสูง ทำให้วิสาหกิจยิ่งต้องการเงินทุนหมุนเวียนมากขึ้น

การตลาดในฤดูการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังปี 2009/2010

ตั้งแต่ พ.ย. 2009 เป็นต้นมา ราคามันสำปะหลังของเขตฯ กว่างซี มณฑลกวางตุ้งและประเทศอาเซียนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กล่าวคือ จาก 2,500 หยวน/ตัน (ตามราคา ณ นครหนานหนิง ก.ย. 2009) เพิ่มเป็น 4,000 หยวน/ตัน (ตามราคา ณ นครหนานหนิง ต.ค 2010) มีสาเหตุหลักมาจาก

  • ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง ราคาของน้ำมัน แก้ส ไฟฟ้า และน้ำประปาเพิ่มขึ้น ราคาวัตถุดิบมันสำปะหลังก็เพิ่มขึ้น ทำให้ราคาผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้น
  • ตั้งแต่ ก.ย. 2009 เป็นต้นมา ตลาดสตาร์ชทั่วจีนพากันเพิ่มราคา โดยปัจจุบันแป้งข้าวโพดราคา 3,200 หยวน/ตัน(ตามราคา ณ นครกวางโจว ต.ค.2010) ผู้ประกอนการบางรายเสนอราคาแป้งมันฝรั่ง 10,000 หยวน/ตันขึ้นไป น้ำตาลทรายราคาประมาณ 7,200 หยวน/ตัน ซึ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลให้กับราคามันสำปะหลังเพิ่มขึ้นด้วย
  • ประเทศหลักๆ ที่ผลิตแป้งมันสำปะหลัง เช่น ไทยและเวียดนาม ต้องประสบปัญหาโรคแมลงและภัยจากฝน ซึ่งปริมาณการผลิตที่ลดลงไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้แป้งมันสำปะหลังราคาสูง แต่สาเหตุสำคัญคือการเก็งกำไรของตัวแทนจำหน่าย
  • ในจีนหลังจากฤดูเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังได้เกิดภาวะขาดแคลนแป้งมันสำปะหลัง โดยหลังจาก พ.ค.2010 เป็นต้นมา สินค้าที่กักเก็บไว้ของโรงงานแป้งมันสำปะหลังในเขตฯ กว่างซีมีปริมาณไม่มากนัก และส่วนใหญ่จำหน่ายแล้วเกือบหมด ดังนั้น จึงต้องอาศัยการนำเข้าจากเวียดนามและไทย ซึ่งก็มีราคาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

แนวโน้มของราคามันสำปะหลัง แป้งมันสำปะหลังและแอลกอฮอล์ของจีนปี 2010 — 2011

มันสำปะหลัง

คาดว่าในปีนี้ มันสำปะหลังของจีนจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในขณะที่ไทย เวียดนามและมณฑลไหหลำจะมีปริมาณลดลง เนื่องจากประสบปัญหาน้ำท่วม อย่างไรก็ดี การที่ยังมีความต้องการมันสำปะหลังคงที่ รวมทั้งภาวะเงินเฟ้อทั้งในและนอกประเทศ ย่อมส่งผลให้ราคาแป้งมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ราคามันสำปะหลังในปีนี้จะสูงกว่าปีที่แล้ว โดยปัจจุบันราคารับซื้อของมันสำปะหลังสดในเขตฯ กว่างซีอยู่ในระดับ 650-700 หยวน/ตัน มณฑลยูนนาน 650 หยวน/ตัน และมีโรงงานในมณฑลไหหลำตั้งราคา 600 หยวน/ตัน ทั้งนี้ คาดว่าในเขตฯ กว่างซี ช่วงแรกมีราคา 650-700 หยวน/ตัน ช่วงกลาง 650 หยวน/ตัน และช่วงสุดท้าย 700 หยวน/ตัน

แป้งมันสำปะหลัง

ในปัจจุบันแป้งมันสำปะหลังของเขตฯ กว่างซีมีราคา 4,400 — 4,500 หยวน/ตัน ราคา CIF ณ ท่าเรือของเวียดนามคือ 4,400 หยวน/ตัน ณ ท่าเรือของไทยประมาณ 5,000 หยวน/ตัน เนื่องจากสินค้าอาหารและสินค้าหลักในจีนส่วนใหญ่มีราคาเพิ่มขึ้น ราคาวัตถุดิบมันสำปะหลังจะสูงขึ้นอีก ซึ่งในตลาดของจีนบางแห่งแป้งมันฝรั่งมีราคาสูงถึง 10,000 หยวน/ตัน น้ำตาลสูงถึง 7,000 หยวน/ตันขึ้นไป

ทั้งนี้ ยังคาดการณ์อีกว่า ราคาแป้งมันสำปะหลังในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวของจีนควรอยู่ที่ระดับ 4,100 หยวน/ตัน จากนั้นจะเพิ่มถึง 4,200-4,500 หยวน/ตัน และจะเพิ่มขึ้นอีกต่อไปหลังจาก เม.ย. และพ.ค.

แอลกอฮอล์ที่รับประทานได้

ปัจจุบันแอลกอฮอล์ที่รับประทานได้ของเขตฯกว่างซีมีราคา 6,250-6,350 หยวน/ตัน แอลกอฮอล์ข้าวโพดของมณฑลกวางตุ้งราคา 6,200-6,300 หยวน/ตัน ส่วนมณฑลอื่นๆ มีราคาเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอย่างต่อเนื่องในขณะที่ความต้องการของตลาดมีไม่มากนัก

ทั้งนี้ คาดว่าแอลกอฮอล์ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวของเขตฯ กว่างซีควรมีราคาลดลงเหลือ 5,900-6,000 หยวน/ตัน และหลังจาก มิ.ย.- ก.ค. 2011 ราคาจะสูงขึ้นถึง 6,200-6,300 หยวน/ตัน

อุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังแปรรูป

คาดว่าการผลิตแป้งแปรรูปของจีนทั่วไปมีปริมาณ 1.35 ล้านตัน (โดยมีแป้งมันสำปะหลังแปรรูป 5 แสนกว่าตัน) และในปี 2015 จะสูงถึง 2 ล้านตันขึ้นไป โดย บริษัท Guangxi Ming Yang Biochmical Technology จำกัด ซึ่งเป็นวิสาหกิจใหญ่ที่สุดของจีนที่สามารถผลิตแป้งมันสำปะหลังแปรรูปประมาณ 2 แสนตัน/ปี โดยส่วนใหญ่ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การผลิตกระดาษ การปั่นทอ การทำอาหาร อาหารสัตว์ และวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น

ความต้องการของตลาด

อุตสาหกรรมแป้งแปรรูปของจีนมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้ ซึ่งจีนมีความต้องการนำเข้าแป้งแปรรูปประเภทต่างๆ 2 แสนกว่าตัน/ปี อย่างไรก็ดี แป้งแปรรูปที่ผลิตจาก มันสำปะหลังต้นทุนต่ำและคุณภาพดี เป็นสินค้าที่มีศักยภาพมากที่สุดในตลาดจีน

(ที่มา รายงานโดยคณะกรรมธิการแป้งมันสำปะหลัง สมาคมอุตสาหกรรมมันสำปะหลังแห่งกว่างซี และศูนย์การพัฒนาสินค้าเกษตรคุณภาพดีแห่งกว่างซี ในงาน ASEAN Cassava Industry Development Summit Forum เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2010 ซึ่งจัดโดยคณะกรรมาธิการแป้งมันสำปะหลังแห่งจีน ร่วมกับ สมาคมอุตสาหกรรมมันสำปะหลังแห่งกว่างซี)

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ