ธุรกิจสปาและการนวดแผนไทยเปิดตัวครั้งแรกในกรุงเตหะราน ประเทศสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 20, 2010 15:45 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ในแต่ละปี มีชาวอิหร่านเดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศไทยกว่าแสนคน ทำให้มีชาวอิหร่านรู้จักและพอใจบริการสปาและนวดแผนไทยเป็นจำนวนมาก และเรียกร้องให้มีบริการนวดแผนไทยและสปาไทยในอิหร่าน จนทำให้มีนักธุรกิจอิหร่านสมองใส เห็นช่องทางและโอกาสทางธุรกิจ อย่างไรก็ดี เนื่องจากกิจการสปาและนวดแผนไทยไม่เคยมีมาก่อนในอิหร่าน จึงไม่มีกฎหมายหรือระเบียบควบคุมรองรับกิจการสปาและนวดแผนไทย ประกอบกับอิหร่านเป็นประเทศที่ปกครองตามหลักศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัด ทำให้การดำเนินกิจการสปาและนวดแผนไทยต้องคำนึงถึงหลักปฎิบัติของชาวมุสลิม ดังนั้น การเปิดกิจการนวดแผนไทยในอิหร่านเป็นเรื่องท้าท้ายความสามารถเป็นอย่างยิ่ง

นาย Ali Azizpoor ถือได้ว่าเป็นนักธุรกิจชาวอิหร่านคนแรกที่บุกเบิกธุรกิจสปาและนวดแผนไทยในอิหร่าน โดยใช้เวลากว่า 5 ปี ในการศึกษาหาความรู้ด้านการนวดแผนไทย และฟันฝ่าแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ จนสามารถเปิดกิจการนวดแผนไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายในอิหร่านเป็นครั้งแรกเมี่อสามปีที่แล้ว และในปัจจุบันได้เปิดกิจการสปาและนวดแผนไทยแห่งแรกในกรุงเตหะราน เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2553 ที่ผ่านมา

ในโอกาสที่นาย Azizpoor เปิดกิจการสปาและนวดแผนไทยแห่งใหม่ ที่กรุงเตหะราน ซึ่งเป็นเมืองหลวงของอิหร่าน นาย Azizpoor ได้กล่าวขอบคุณสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงเตหะรานที่ให้ความช่วยเหลือและการสนับสนุนบริษัทฯ เสมอมา พร้อมกับกล่าวว่า ธุรกิจสปาและการนวดแผนไทยแห่งใหม่ ชื่อว่า “นีรูฟาเร่ะออบี” (Niroofar e Abi) ซึ่ง “นีรูฟาร” เป็นภาษาฟาร์ซี มีความหมายว่า “ดอกบัว” ส่วนคำว่า “ออบ” มีความหมายว่า “น้ำ” สาเหตุที่ตั้งชื่อร้านเช่นนี้ เนื่องจากว่าดอกบัวเป็นดอกไม้ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ในวัฒนธรรมไทย และเป็นดอกไม้ที่มีความสำคัญในวัฒนธรรมอิหร่านสมัยโบราณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยราชวงศ์ Achaemenid ซึ่งใช้ดอกบัวเป็นลายประดับพระราชวังในสมัยโบราณในจังหวัดชีราซ นอกจากนี้ที่เลือกใช้คำว่า น้ำ เพราะสปาต้องใช้น้ำเป็นองค์ประกอบสำคัญ

นาย Azizpoor เล่าเพิ่มเติมอีกว่า ในอิหร่านไม่มีหลักฐานแน่ชัดเกี่ยวกับการนวดว่าเริ่มต้นครั้งแรกตั้งแต่เมื่อใด แต่ในหนังสือของนักปราชญ์และแพทย์แผนโบราณชาวอิหร่านชื่อว่า “บูอาลีซีนา” ได้บันทึกถึงประโยชน์จากการนวดเอาไว้ และในอดีต มีการให้บริการนวดในห้องน้ำสาธารณะของชุมชนอิหร่านที่เรียกว่า “ฮามมาม” แต่ต่อมา เมื่อทางการให้ยกเลิกบริการห้องน้าสาธารณะลง การนวดในอิหร่านก็ค่อยๆ เลือนหายไปปัจจุบัน มีการบริการนวดตามสระว่ายน้ำบางแห่งเท่านั้น ซึ่งเป็นการนวดที่ไม่เป็นแบบทางการและไม่มีหลักวิชาการนวดที่ถูกต้อง

ในอิหร่าน คำว่า “สปา” ยังไม่มีชื่อเรียกหรือนิยามเป็นภาษาฟาร์ซีอย่างเป็นทางการ ดังนั้นประชาชนจึงเรียกทับศัพท์ว่า “สปา” และถึงแม้ว่าประชาชนชาวอิหร่านจะมีบริการอาบน้ำแร่ตามแหล่งธรรมชาติอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้ให้บริการแบบ “สปา” แต่อย่างใด

นาย Azizpoor กล่าวว่าการนวดแผนไทย เริ่มเข้ามาในอิหร่านครั้งแรก เมื่อประมาณ 3 ปีแล้ว โดยบริษัทของตนเองที่ชื่อว่าบริษัท Tan Asa Kish เป็นบริษัทแรกที่บุกเบิกด้านการนวดแผนไทยในอิหร่าน ซึ่งหลังจากที่บริษัทฯ ได้ศึกษาวิจัยวิชาการนวดที่นิยมในประเทศไทย รวมทั้งได้ศึกษาหลักสูตรการฝึกอบรมและให้บริการด้านการนวดแผนไทยต่างๆ ทางบริษัทฯ ได้ลงทุนพิมพ์หนังสือ “หลักการนวดแผนไทย” เป็นภาษาฟาร์ซี ที่อธิบายหลักวิชาการนวดแผนไทยอย่างละเอียดสมบูรณ์ โดยเน้นเรื่องการผ่อนคลาย (Relax) เป็นหลัก

บริษัทฯ ได้มอบหนังสือ “หลักการนวดแผนไทย” แก่องค์กรและหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งภายหลังจากที่หน่วยงานภาครัฐได้ศึกษาและเข้าใจการนวดแผนไทยมากขึ้น ในเดือนกรกฎาคม 2551 จึงอนุญาตให้บริษัทฯ จดทะเบียนเป็นผู้ให้บริการสปาและการนวดแผนไทยในเขตเศรษฐกิจพิเศษ “เกาะคิช” ที่อยู่ทางใต้ของอิหร่าน ต่อมา ในเดือนสิงหาคม 2551 ได้อนุญาตให้บริษัทฯ จ้างแรงงานเป็นพนักงานนวดชายชาวไทย และเปิดร้านสปาและการนวดแผนไทยสาขาแรกที่โรงแรม Flamingo และในเดือนมีนาคม 2552 ทางบริษัทฯ ได้รับอนุญาตให้จ้างพนักงานนวดสตรีชาวไทยให้ทางานได้ในอิหร่าน จึงได้เปิดร้าน Pelaje Banovan เป็นสาขาที่สองในเดือนเมษายน 2552 และในเดือนพฤศจิกายน 2552 ที่ผ่านมา บริษัทฯ เปิดสาขาที่สามในโรงแรม Daryoosh ซึ่งเป็นโรงแรมระดับห้าดาว

เหตุที่บริษัทฯ เลือกเกาะคิช เพื่อเปิดให้บริการการสปาและนวดแผนไทยเป็นแห่งแรกในอิหร่าน ก็เพราะในอิหร่านยังไม่มีหน่วยงานทางราชการที่รับผิดชอบด้านการนวดแผนไทยและสปาที่แน่ชัด ประกอบกับยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญงานด้านนี้โดยตรง แต่เกาะคิชตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีกฏหมายเฉพาะของตนเอง ที่ง่ายในการเปิดบริการสปาและนวดแผนไทยอย่างถูกต้องตามกฏหมาย

ในกรุงเตหะราน มีชาวอิหร่านที่เคยเรียนนวดแผนไทยให้บริการนวดตามบ้านหรือในร้านเสริมสวยอยู่บ้าง แต่ยังไม่มีการเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด จนกระทั่งทางบริษัท Tan Asa Kish ได้ติดต่อขออนุญาตไปยังหน่วยงานราชการต่างๆ ในกรุงเตหะรานและได้รับอนุญาตให้ดำเนินกิจการ ณ ศูนย์กีฬา Sorkh Pushan Aria Sport Complex, Chamran Alley, Kabiri Tameh Ave., West Hemat Highway. กรุงเตหะราน

การให้บริการสปาและนวดแผนไทยของบริษัทฯ มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

1. เพื่อผ่อนคลายจากความตึงเครียดโดยการนวดแผนไทย

2. บำบัดโรคโดยใช้หลักวิชาการนวดแผนไทย

3. เปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ทางลบเกี่ยวกับการนวดแผนไทยในอิหร่าน

4. เพื่อเผยแพร่การนวดแผนไทยไปสู่ประชาชนชาวอิหร่าน โดยไม่ขัดกับหลักความเชื่อของศาสนาอิสลาม

5. เพื่อให้เกิดมาตรฐานทางด้านระเบียบและกฎหมายการนวดแผนไทย ในอิหร่าน

6. เพื่อให้ภาครัฐของอิหร่านได้มีโอกาสศึกษา ตรวจสอบและให้การรับรองสถานที่ให้บริการสปาและนวดแผนไทย

7. เพื่อก่อตั้งสถานศึกษาสอนนวดแผนไทยในอิหร่าน

ในส่วนของรูปแบบการให้บริการ บริษัทฯ ได้รักษาเอกลักษณ์การนวดแผนไทยและสปาไทยไว้อย่างเคร่งครัด โดยการตกแต่งสถานที่และสร้างบรรยากาศการให้บริการแบบไทยแท้ สวยงาม หรูหรา โดยไม่มีการใช้วัฒนธรรมอิหร่านเข้ามาผสมผสานแต่อย่างใด ทั้งนี้การตกแต่งห้องนวดและเครื่องประดับต่างๆ จะใช้อุปกรณ์และเครื่องเรือนแบบไทยเดิมที่สั่งทำและนำเข้าจากประเทศไทยทั้งหมด นอกจากนี้ภายในร้านจะเปิดเพลงไทยตลอดเวลา ซึ่งทำให้ลูกค้าชาวอิหร่านที่เดินทางมาใช้บริการที่ร้าน รู้สึกเสมือนหนึ่งว่ากำลังอยู่ในประเทศไทยเลยทีเดียว

การนวดแผนไทยในอิหร่านแยกเป็นแผนกนวดชายและแผนกนวดชายหญิงแยกจากกันเด็ดขาด ไม่ปะปนกันโดยใช้พนักงานชายนวดผู้ชายและพนักงานหญิงนวดผู้หญิง และเปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 11.00-24.00 น. โดยต้องโทรศัพท์จองเวลาล่วงหน้าเท่านั้น

  • แผนกสุภาพสตรี มีห้องบริการทั้งหมด 9 ห้อง บนพื้นที่ 130 ตารางเมตร แบ่งเป็น

1. ห้องนวดฝ่าเท้า 2 ห้อง

2. ห้องนวดแบบไทย 3 ห้อง

3. ห้องนวดน้ำมัน 3 ห้อง

4. ห้องนวดหน้า 1 ห้อง

5. ห้องนวดแบบ VIP เป็นการนวดแบบ Hot Stone และมีอ่างอาบน้ำ 2 ห้อง

  • แผนกสุภาพบุรุษ มีห้องบริการทั้งหมด 7 ห้อง บนพื้นที่ 108 ตารางเมตร แบ่งเป็น

1. ห้องนวดแบบไทย 2 ห้อง

2. ห้องนวดฝ่าเท้า 1 ห้อง

3. ห้องนวดน้ำมัน 3 ห้อง

4. ห้องนวดแบบ VIP 1 ห้อง เป็นการนวดแบบ Hot Stone และมีอ่างอาบน้ำ 2 ห้อง

พนักงานนวดของบริษัทฯ เป็นคนไทยทั้งหมด เนื่องจากลูกค้าชาวอิหร่านจะปฎิเสธการนวดหากพนักงานนวดเป็นชนชาติอื่นที่ไม่ใช่คนไทย ในช่วงแรก บริษัทฯ มีพนักงานนวดทั้งหมด 6 คน เป็นชาย 4 คน หญิง 2 คน และจะมีพนักงานไทยทยอยมาทางานเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต โดยตั้งเป้าจ้างพนักงานชาวไทยจำนวน 30 คน เป็นชาย 12 คน หญิง 18 คน ทำสัญญาปีต่อปี ซึ่งทางบริษัทฯ ได้จัดหาที่อยู่ให้พนักงานไทยเป็นอาพาร์ทเมนต์ 3 ชั้น ขนาดคูหากว้าง 185 ตารางเมตร

กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริษัทฯ ส่วนใหญ่เป็นสุภาพสตรีชาวอิหร่านในวัยต่างๆ โดยตั้งแต่ที่มีการเปิดให้บริการที่เกาะคิช มีลูกค้ามาใช้บริการไปแล้วประมาณ 80,000 คน ซึ่งมีอาชีพเป็นนักธุรกิจ แม่บ้าน พ่อค้า นักกีฬา แพทย์ นักแสดง ฯลฯ ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่มีความพอใจต่อคุณภาพและการให้บริการ และต้องการกลับมาใช้บริการอีกครั้ง

บริษัทฯ มีแผนการในอนาคต ดังนี้

1. ขอความร่วมมือองค์กรมรดกทางวัฒนธรรมแห่งอิหร่าน ในการสร้างมาตรฐานและปรับปรุงรูปแบบการบริการสปาและนวดแผนไทย

2. ขอความร่วมมือมูลนิธิการแพทย์และนักกีฬา เพื่อสร้างมาตรฐานสปาและนวดแผนไทยในอิหร่าน

3. พัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมและหลักสูตรการนวดแผนไทยในอิหร่าน

4. พัฒนาสถาบันนวดแผนไทย เพื่อบำบัดโรค ร่วมกับสถาบันการศึกษาวิชาชีพระยะสั้นและระยะยาว ในอิหร่าน

ในอนาคต บริษัทฯ มีแผนจะขยายสาขาบริการสปาและนวดแผนไทยในกรุงเตหะรานอีกสองแห่ง โดยจะเปิดร้านในย่าน Chameranat และย่าน Ajantin ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่ของกลุ่มลูกค้าฐานะดี เนื่องจากสถานที่เปิดให้บริการในปัจจุบันเป็นที่อยู่ของกลุ่มลูกค้าฐานะปานกลางเท่านั้น

นาย Azizpoor ได้กล่าวถึงอุปสรรคสำคัญในการเปิดกิจการสปาและนวดแผนไทยในอิหร่านว่า

1. หน่วยงานของรัฐฯ และข้าราชการอิหร่านยังไม่เข้าใจหรือยอมรับการนวดแผนไทย ทำให้การจดทะเบียนประกอบธุรกิจหรือขอความร่วมมือทำได้ยากลำบาก

2. อิหร่านไม่มีองค์กรเป็นการเฉพาะที่รับผิดชอบหรือควบคุมธุรกิจสปาและนวดแผนไทย เช่นในประเทศไทย

3. ศูนย์ฝึกอบรมวิชาการและมหาวิทยาลัยยังไม่เข้าใจและไม่เห็นด้วยที่จะเปิดหลักสูตรการฝึกอบรมการนวดแผนไทยในอิหร่าน

4. ภาพลักษณ์การนวดแผนไทยยังไม่เป็นที่รู้จักดีพอ ทำให้ชาวอิหร่านบางคนมองนวดแผนไทยในแง่ลบ หรือขัดกับหลักศิลธรรม

สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ กรุงเตหะราน เห็นว่ากิจการสปาและนวดแผนไทยในอิหร่าน ยังมีโอกาสอีกมาก หากนักลงทุนสปาและนวดแผนไทยต้องการเปิดตลาดในอิหร่าน สามารถติดต่อสำนักงานฯ ได้ที่ E-Mail: thaitctehran@depthai.go.th

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงเตหะราน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ