ในปี 2554 กระทรวงพาณิชย์โดยรัฐมนตรีว่าการฯ ได้กำหนดเป้าหมายการส่งออกปี 2554 ในเบื้องต้นให้ขยายตัวร้อยละ 10 ซึ่งคิดเป็นมูลค่าประมาณ 207,910—209,586 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เผยว่า ภาพรวมของการส่งออกในปี 2553 กำหนดเป้าส่งออกไว้ที่ 20% หรือประมาณ 189,912 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และในช่วง 10 ดือน (ม.ค.-ต.ค.) ที่ผ่านมามีมูลค่า 160,277.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 29.2 และคาดว่าอีก 2 เดือนสุดท้ายของปี 2553 ยอดส่งออกจะมีมูลค่าเฉลี่ยเดือนละ 14,366 — 15,128 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เนื่องจากเศรษฐกิจและการค้าของตลาดส่งออกสำคัญทั้งในสหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่นและประเทศในเอเซียยังมีการขยายตัวต่อเนื่อง และทางผู้ส่งออกเองได้แจ้งว่าคำสั่งซื้อสำหรับไตรมาสสุดท้ายของปี 2553 มีอยู่สูงและกำลังอยู่ในระหว่างการส่งมอบ เพื่อใช้ในเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ โดยคาดว่าตลอดทั้งที่ 2553 ยอดส่งออกจะขยายตัวอยู่ที่ 24-25% หรือประมาณ 189.0-190.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
“ในปี 2554 กระทรวงพาณิชย์โดยรัฐมนตรีว่าการฯ ได้กำหนดเป้าหมายการส่งออกปี 2554 ในเบื้องต้นให้ขยายตัวร้อยละ 10 ซึ่งคิดเป็นมูลค่าประมาณ 207,910—209,586 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายใต้สมมติฐานเมื่อเดือนตุลาคม 2553 ที่ค่าเงินบาทประมาณ 30 บาท/เหรียญสหรัฐฯ และราคาน้ำมันที่ประมาณ 76-77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าภาวะเศรษฐกิจและการค้าของโลกและตลาดส่งออกสำคัญ ในปี 2554 ยังมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 2553 แต่อัตราขยายตัวของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว โดยประเทศสหรัฐฯ เป็นอันดับหนึ่ง Euro Area ญี่ปุ่น อาเซียน (5) และจีน ตามลำดับ โดยทางกระทรวงพาณิชย์มีนโยบายและแผนงานในการเร่งรัดผลักดันการส่งออกให้สอดรับกับภาวะการณ์ที่ประเทศไทยเผชิญอยู่ในปัจจุบัน โดยตั้งเป้าหมายให้การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 โดยจะทำงานเชิงบูรณาการร่วมกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องในการผลักดันการส่งออก” นางนันทวัลย์ กล่าวเพิ่มเติม
ด้านนายปิลัน พานิชศุภผล ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาตร์การค้าระหว่างประเทศ ได้เปิดเผยถึงแผนงานในปี 2554 ว่า ส่วนใหญ่จะเป็นการดำเนินมาตรการต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยจะมีการเพิ่มจุดเน้นที่สำคัญ ได้แก่ 1) ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมและผลักดันผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสู่เวทีการค้าระหว่างประเทศ ให้มากขึ้น มีการวางแผนงานและกำหนดกิจกรรมที่เป็นระบบตั้งแต่การจำแนกผู้ประกอบการ ออกเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทที่มีประสบการณ์การส่งออก และที่ไม่เคยหรือไม่มีประสบการณ์ส่งออกโดยตรงและการกำหนดกลยุทธ์ แผนงาน/โครงการ ที่เหมาะสมกับผู้ประกอบการในแต่ละประเภท เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการส่งเสริมและมีผลในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง โดยดำเนินการใน 4 ด้าน คือ Capacity Building, Market Development, Cluster Network Development และ Financial Support & Risk Management ซึ่งเริ่มตั้งแต่การพัฒนาความรู้ความสามารถของผู้ประกอบการในด้านต่างๆ การนำผู้ประกอบการไปทำการตลาดในต่างประเทศผ่านกิจกรรมต่างๆ การสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการ เป็นต้น 2) ให้ความสำคัญกับการเจาะและขยายตลาดในตลาดที่มีศักยภาพสูง เช่น ตลาดอาเซียน จีน อินเดียและรัสเซีย ซึ่งมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงเป็นเป้าหมายสำคัญเพื่อเป็นการทดแทนตลาดหลักที่เศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงและมีความเปราะบางสูง โดยเฉพาะตลาดอาเซียนที่มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558 มีการเพิ่มแผนงาน/โครงการที่จะเจาะและขยายตลาดเพิ่มขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพเพื่อเป็นการสร้างโอกาสทางการค้าการลงทุนให้ผู้ประกอบการไทยให้มากขึ้น 3) ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและส่งเสริมสินค้าและธุรกิจบริการบนพื้นฐานของการสร้างมูลค่าเพิ่ม การสร้างตราสินค้า นวัตกรรม การสร้างสรรค์ และการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางและแนวโน้มของเศรษฐกิจการค้าโลกยุคใหม่
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการส่งออกในปี 2554 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออก คือปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่าที่เริ่มมีผลกระทบต่อภาคส่งออกไทยในขณะนี้ และอาจลากยาวไปถึงการส่งออกปีหน้า รวมทั้งต้นทุนของผู้ประกอบการที่มีแนวโน้มสูงขึ้น อันเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในปี 2544 เนื่องจากคาดว่าจะมีความต้องการใช้น้ำมันสูงขึ้นอันเนื่องมาจากปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2553 ประมาณ 76.23 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และสศช.ได้คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบโดยเฉลี่ยในปี 2553 และ 2554 คาดว่าจะอยู่ที่ 77 และ 80-90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล การปรับขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำ รวมทั้งผลจากการประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ของธปท.ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการในที่สุด ซึ่งหากสอดคล้องกับการที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศระบุว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยยังอยู่ห่างจากระดับปกติก็อาจมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นไปอีก
แต่ทางกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการส่งออกก็กำลังอยู่ในระหว่างการประเมินสถานการณ์และแนวโน้มการส่งออกตามกลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญของไทย (Chief of Products) ในปี 2554 ร่วมกับภาคเอกชน จากการประชุมประเมินสถานการณ์ในเบื้องต้นผู้ส่งออกสินค้าสำคัญส่วนใหญ่วิตกกังวลกับความผันผวนและแนวโน้มการแข็งค่าเพิ่มขึ้นของเงินบาทอย่างมากและส่งผลกระทบต่อการส่งออกโดยตรงและค่อนข้างมาก เนื่องจากผู้ส่งออกไม่สามารถกำหนดราคาขายสินค้าได้ หากกำหนดราคาตามค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นผู้นำเข้าก็ไม่ยอมรับและมีแนวโน้มที่จะหันไปซื้อจากประเทศที่ค่าเงินแข็งน้อยกว่าไทยโดยเฉพาะเวียดนามและจีน หากกำหนดราคาตามเดิมผู้ส่งออกก็จะขาดทุน ทำให้มีการชะลอการรับคำสั่งซื้อเลือกรับเฉพาะคำสั่งซื้อที่จำเป็นเพื่อเป็นการรักษาลูกค้าเดิม รวมทั้งผู้ซื้อในต่างประเทศมีการชะลอการสั่งซื้อซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกในช่วงไตรมาสแรกของปี 2554 ค่อนข้างมาก
ที่มา: http://www.depthai.go.th