สถานการณ์สินค้าอิเล็คทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่น เดือนธันวาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 20, 2010 16:05 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. ภาวะการผลิตสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าของญี่ปุ่นในตลาดโลกปี 2553 และ 2554

ปริมาณการผลิตของอุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิกส์และไอที เทคโนโลยี ของญี่ปุ่นในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 11 ในปี 2553 มีมูลค่า 43.2 ล้านล้านเยน โดยสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ที่ผลิตโดยบริษัทญี่ปุ่นเพิ่มสูงร้อยละ 12 มีมูลค่า 38.1 ล้านล้านเยน แม้ว่าการแข็งค่าของเงินเยนจะมีผลต่อการทำกำไรของบริษัท รวมทั้งลดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก แต่ในหลายกลุ่มสินค้าที่มีการผลิตนอกประทศ เช่นโทรทัศน์จอแบน และพริ้นเตอร์มียอดการผลิตที่สูงขึ้นมาก

ในปี 2553 สินค้าที่ญี่ปุ่นเป็นผู้ครองส่วนแบ่งตลาด ได้แก่ อุปกรณ์ Audio-Visual (ร้อยละ 92) อุปกรณ์ถ่ายวิดิโอ (ร้อยละ 66) อุปกรณ์สแกนภาพ (ร้อยละ 65) อุปกรณ์ภาพและเสียงในรถยนต์ (ร้อยละ 51) พริ้นเตอร์ (ร้อยละ 43) โทรทัศน์จอแบน(ร้อยละ 43) และชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์ (ร้อยละ 40)

ส่วนในปี 2554 คาดว่าการผลิตจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 มูลค่า 45.1 ล้านล้านเยน ทั้งอุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิกส์ และไอที เนื่องจากปริมาณความต้องการสินค้าที่ใช้เทคโนโลยี่สูงเพื่อใช้ลดภาวะโลกร้อน ลดการใช้พลังงาน นอกจากนี้การพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ เพื่อตอบสนองเรื่องภาวะโลกร้อนและการประหยัดพลังงานของบริษัทญี่ปุ่นยิ่งจะสามารถเพิ่มปริมาณความต้องการ และปริมาณการผลิตเพิ่มตามไปด้วย

2. ความเคลื่อนไหวของบริษัท

2.1 บริษัทแคนนอนได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 1 จากการจัดอันดับบริษัทยอดเยี่ยมของญี่ปุ่นของ Nikei โดยสามารถชนะบริษัท ฮอนดา ทั้งนี้การตัดสินใช้หลักเกณฑ์จากมุมมองของนักลงทุน ลูกค้า พนักงาน รวมทั้งจากสังคม แคนนอนสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดกล้องถ่ายรูปดิจิตอลแม้กระทั่ง ในช่วงเศรษฐกิจฝืดเคือง รวมทั้งแสดงถึงการเอาใจใส่ต่อพนักงาน ลูกค้า และสังคม ส่วนบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ที่ได้รับการจัดอันดับ ได้แก่ บริษัท พานาโซนิกส์ (อันดับ 7) ที่แม้ว่าผลประกอบการจะไม่ค่อยดีนัก แต่ประสบความสำเร็จในการสร้างแบรนด์ และเอาใจใส่ต่อพนักงาน บริษัท ไดกิน อินดัสตรีส์ (อันดับ 13) บริษัท มิตซูบิชิ อิเล็คทริค(อันดับ 14 ) และฟูจิตซึ (อันดับ 15)

2.2 บริษัทฟูจิตซึ จะร่วมมือกับบริษัทโบอิ้งผู้ผลิตเครื่องบินในการสร้างระบบจัดการชิ้นส่วนอะไหล่เครื่องบิน คาดหวังกลุ่มลูกค้าสายการบินที่ต้องการระบบการดูแลรักษาที่มีประสิทธิภาพ โดยระบบจะใช้การเก็บข้อมูลต่างๆ เช่น ประวัติการซ่อมบำรุง ตารางกำหนดเวลาเปลี่ยนอะไหล่ อายุการใช้งานไว้ที่ smart tag ที่สามารถติดบนเครื่องยนต์ เบรค หรือชิ้นส่วนอื่นๆ รวมทั้งเสื้อชูชีพ และอุปกรณ์บนเครื่องบิน ทำให้สามารถอ่านข้อมูลชิ้นส่วนที่ต้องเปลี่ยน หรือดูแล ซึ่งสายการบินจะใช้ค่าใช้จ่าย 50-100 พันล้านเยน ต่อปีกับการซ่อมบำรุงชิ้นส่วนเครื่องบิน โดยฟูจิตซึคาดว่าจะยอดขายได้ราว 20 พันล้านเยน

2.3 บริษัทชาร์ป จะเปิดตัวโทรทัศน์ LCD ขนาดใหญ่ 70 นิ้วในสหรัฐอเมริกาในฤดูใบไม้ผลิ โดยจะเป็นโทรทัศน์ขนาดใหญ่ที่สุดที่มีวางจำหน่าย ตั้งราคาไว้ที่ เครื่องละ 700,000 -800,000 เยน ซึ่งในปัจจุบัน โทรทัศน์ที่ใหญ่สุดมีขนาด 60 นิ้ว เพื่อแข่งขันกับคู่แข่งจากเกาหลี โดยจะใช้โรงงานผลิตที่เมืองซาไก จังหวัดโอซากา ชาร์ปเคยจำหน่ายโทรทัศน์ในตลาดอเมริกาเหนือจำนวน 2.82 ล้านเครื่องในปี 2551 และลดลงเหลือ1.64 ล้านเครื่องในปี 2552

2.4 บริษัท โตชิบา จะเริ่มผลิตโทรทัศน์ LCD ในประเทศอียิปต์ โดยจะเป็นการลงทุนร่วมกับ El Araby Group ของอียิปต์ เพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคของตลาดตะวันออกกลาง และแอฟริกา บริษัทร่วมทุน Toshiba El Araby Visual Product Co. จะเปิดทำการในเดือนมกราคม 2554 และโรงงานจะเริ่มผลิตในเดือนมีนาคม โดยโตชิบาถือหุ้นร้อยละ 51 และ El Araby ร้อยละ 49 โรงงานใหม่ จะสามารถทำการผลิตโทรทัศน์ LCD ได้ 600,000 เครื่อง/ปี โดยจะเพิ่มเป็น 2 ล้านเครื่องภายในปี 2014

3. ภาวะการส่งออกและนำเข้าสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ของญี่ปุ่น

การส่งออกสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ในเดือนตุลาคม 2553 มีมูลค่า 8.9 แสนล้านเยน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.7 จากเดือนตุลาคม ปี 2552 โดยยอดการส่งออกรวม 10 เดือนของปี 2553 มูลค่า 8.6 ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.7 จากปี 2552 สินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นคือ ส่วนประกอบ อิเล็คทรอนิกส์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.4 และอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.7 ส่วนสินค้าที่ปรับลดลงคือ อุปกรณ์สื่อสาร ลดลงร้อยละ 3.4 คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ลดลง ร้อยละ 1.2

ส่วนการนำเข้าสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ในเดือนกันยายน 2553 มีมูลค่า 7 แสนล้านเยน เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.9 จากเดือนกันยายน ปี 2552 โดยยอดการนำเข้ารวม 10 เดือนของปี 2553 มูลค่า 5.9 ล้านล้านเยน สินค้าเกือบทุกหมวดปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น Consumer equipment เพิ่มขึ้นร้อยละ 63 และส่วนประกอบอิเล็คทรอนิกส์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.2 ส่วนสินค้าที่ปรับลดลงคือสินค้าที่มีมูลค่าไม่สูงนัก เช่น เครื่องจักรธุรกิจ ลดลงร้อยละ 31.6 หลอดไฟลดลง ร้อยละ 23.1

สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ นครโอซากา

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ