รายงานการเยี่ยมพบ/ประชุมร่วมกับผู้นำเข้า

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 21, 2010 13:42 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. ข้อมูลพื้นฐานของบริษัท

1.1 ชื่อบริษัท AHARON Investment & Project Management

1.2 ผู้ติดต่อ Mr. Moshe AHARON , เจ้าของกิจการ

1.3 ที่อยู่ Am Sonnenhang 9, D-65719 Hofheim

1.4 หมายเลขโทรศัพท์ +49(0)171 2375170, +49(0)6192 2005873

1.5 หมายเลขโทรสาร +49(0)6192 39812

1.6 อีเมล์ ceo@aharon-investment.com

1.7 เวบไซด์ www.aharon-investment.com

2. สรุปผลการประชุม สคร.แฟรงก์เฟิร์ตได้เดินทางไปพบ Mr. Moshe Aharon, CEO, บริษัท AHARON Investment & Project Management เพื่อหารือเกี่ยวกับธุรกิจร้านอาหารไทยในเยอรมนี แผนงาน/โครงการเปิดสปาไทยซึ่งบริษัทฯ ประสงค์จะดำเนินการในอนาคตอันใกล้ ตลอดจนปัญหาอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจที่ผ่านมา ได้ข้อสรุป ดังนี้

2.1 บริษัทฯ ปัจจุบันเป็นเจ้าของกิจการร้านอาหารไทยในเยอรมนีจำนวน 6 สาขา ประกอบด้วย MY THAI Oberursel, MY THAI Nordwestzentrum, MY THAI Bad Soden, MY THAI Hofheim, MY THAI Kelkheim, MY THAI Airport FFM

2.2 บริษัทฯ มียอดสั่งซื้อวัตถุดิบของแห้งจากประเทศไทยประมาณปีละ 1 ล้านยูโร หรือ 45 ล้านบาท โดยการสั่งซื้อผ่านบริษัท Vierlande GmbH ซึ่งเป็นผู้ค้ารายใหญ่ที่กระจายสินค้าไปยังร้าน Asia Shop และร้านอาหารไทยทั่วเยอรมนี ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงผักสดจากไทยที่บริษัทฯ สั่งซื้อจากร้าน Asia Shop อีกจำนวนหนึ่ง

2.3 บริษัทฯ มีแนวทางส่งเสริมการขาย คือ

2.3.1 การตกแต่งร้านแบบโปร่งโล่งสมัยใหม่ ใช้โคมไฟและสีที่ให้ความรู้สึกอบอุ่นสบาย มีสถานที่จอดรถกว้างขวาง สะดวกแก่ลูกค้า ตลอดจนการจัดทำเมนูอาหารที่สวยงาม พร้อมทั้งใส่ภาพสถานที่ท่องเที่ยว ศิลปวัฒนธรมของไทยประกอบ ซึ่งเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับ ประเทศไทย ทำให้ผู้ที่มารับประทานอาหารแล้วรู้สึกอยากไปเที่ยวประเทศไทย

2.3.2 รสชาดอาหารเป็นลักษณะไทยแท้ ใช้วัตถุดิบส่วนใหญ่ใช้ของไทย อาหารได้รับการตกแต่งบนจานอย่างประณีต

2.3.3 ราคาค่าอาหารอยู่ในระดับปานกลาง หากเทียบกับร้านอาหารประเภทอื่นๆ เช่น จีน อิตาลี สเปน ถือว่าอาหารของร้านราคาถูก ทำให้มีลูกค้าประจำจำนวนมาก

2.4 จากการที่ทำธุริกจร้านอาหารไทยประสบความสำเร็จ บริษัทฯ จึงมีแผนการขายธุรกิจ โดยการเปิดนวด/สปาไทยแบบครบวงจร ในระดับมาตรฐานสปาชั้นสูงของไทย โดยประสงค์จะนำเข้าพนักงานนวด/สปาจากประเทศไทย แต่ยังติดปัญหาอุปสรรคในการขอวีซาการนำเข้าพนักงาน เนื่องจากทางการเยอรมันมีความเข้มงวดในเรื่องนี้มาก

3. ภาวะตลาดสินค้าอาหาร/สปาไทยในเยอรมนี

3.1 ปัจจุบันการบริโภคอาหารไทยอยู่ในกระแสความนิยมของตลาดเยอรมนีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ซึ่งอยู่ในระดับคนทำงานถึงวัยรุ่น และจากความนิยมดังกล่าวได้ส่งต่อไปยังความต้องการในการเดินทางไปเที่ยวประเทศไทยตลอดจนการนำสินค้าไทยมาตกแต่ง/ประดับบ้าน

3.2 สำหรับสปาไทยก็ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง มีร้านสปาไทยเปิดกันอย่างกระจัดกระจายอยู่ตามเมืองใหญ่ๆ มีตั้งแต่ระดับบนจนถึงล่าง ซึ่งจากการสำรวจพบว่าหากเป็นสปาระดับบน ซึ่งมีมาตรฐานการบริการสูงเจ้าของกิจการมักจะเป็นชาวต่างชาติ ส่วนคนไทยมักจะเปิดเป็นกิจการเล็กๆ และเน้นการนวดแผนไทยเป็นส่วนใหญ่

4. ปัญหาอุปสรรค/มาตรการทางการค้า

4.1 การขาดแคลนพ่อครัว เนื่องจาก ทางบริษัทฯ ประสงค์จะนำเข้าพ่อครัวจากเมืองไทย โดยทำสัญญา 4 ปี เพื่อเป็นการประกันว่าพ่อครัวจะไม่ลาออกหรือย้ายไปอยู่ที่อื่น แต่ก็มีปัญหาในเรื่องวีซา เนื่องจากทางการเยอรมันจะให้วีซาเพียง 1 ปี และหลังจากนั้นต้องกลับไปประเทศไทยเพื่อขอต่อวีซาซึ่งจะได้อีกคราวละ 1 ปี ในขณะเดียวกัน พ่อครัวที่ได้รับมาบางรายยังทำอาหารไทยไม่เป็น ต้องเสียเวลาในการเรียนรู้วิธีการอีกอย่างน้อย 6 เดือน แต่หากจะให้ฝึกฝนคนไทยที่อยู่ในเยอรมนีขึ้นมาเป็นพ่อครัว ก็มีความเสี่ยงในเรื่องการลาออก/เปลี่ยนงาน ในกรณีที่ได้รับการเสนอเงินเดือนมากขึ้นจากนายจ้างรายอื่น

4.2 การขาดแคลนวัตถุดิบในการปรุงอาหารปัจจุบันบริษัทฯ สั่งซื้อสินค้าโดยผ่านผู้นำเข้ารายอื่นก็ประสบปัญหาในด้านการถูกขึ้นราคาสินค้า เมื่อผู้ขายเห็นว่ามียอดการสั่งซื้อจำนวนมาก โดยจะอ้างว่าสินค้าขาดตลาด และนำมาเป็นเหตุผลในการปรับขึ้นราคาสินค้า เช่น กระทิ เป็นต้น ทางบริษัทฯ จึงมีแนวคิดจะนำเข้าจากที่อื่น อาทิ เวียดนาม มาเลเซีย ซึ่งคาดว่าประมาณเดือนเมษายน 2554 ประเทศเหล่านั้นจะมีความพร้อมในการส่งออก ทั้งนี้ บริษัทฯ ต้องการจะหาผู้ผลิต/ผู้ส่งออกกระทิและปอเปี๊ยะแช่แข็งเป็นการด่วน

4.3 การนำหมอนวด/พนักงานสปามาจากประเทศไทยประสบปัญหาในเรื่องการขอวีซา ซึ่งบริษัทฯ จะขอให้ สคร.แฟรงก์เฟิร์ตรับประกันกับทางการเยอรมนีว่าในการนำเข้าพนักงานจะทำงานเป็นพนักงานสปาเท่านั้น จะไม่ไปทำงานด้านอื่นแอบแฝง แต่ สคร.แฟรงก์เฟิร์ตได้ปฏิเสธและแจ้งให้ผู้นำเข้าได้ทราบว่า เราเป็นหน่วยงานภาครัฐไม่สามารถรับประกันบุคคล/หน่วยงานอื่นใดได้ เพียงแต่อาจช่วยเจรจากับทางการเยอรมันให้ช่วยอำนวยความสะดวกให้

5. ความเห็น/ข้อเสนอแนะ

5.1 ปัจจุบันธุรกิจร้านอาหารไทยเยอรมนีได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง จากการสอบถามผู้ประกอบการหลายๆ ราย พบว่า ยอดขายเติบโตขึ้นในทุกๆ ปี และลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติร้อยละ 80-90 แต่สิ่งที่หลายร้านประสบปัญหาคือเรื่องพ่อครัว เนื่องจากมีความยากลำบากในการนำเข้า ซึ่งมีปัจจัยหลักคือเรื่องการขอวีซาและพ่อครัวที่ไม่ได้คุณภาพ ดังนั้นหากทางการไทยจะสามารถผลิตพ่อครัวที่มีคุณภาพเพื่อรองรับการเติบโตของร้านอาหารไทยในต่างประเทศ พร้อมทั้งเจรจากับประเทศคู่ค้าเพื่อให้ผ่อนปรนในการออกวีซาให้กับพ่อครัวที่ทางการไทยรับรองก็จะทำให้การดำเนินธุรกิจร้านอาหารไทยในต่างประเทศมีการเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง

5.2 ในการนำเข้าผักผลไม้สดจากไทย ขณะนี้สหภาพยุโรปได้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้าจากไทยมากขึ้นเป็นลำดับ บางคราวทำให้ผักสดที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของอาหารไทยขาดตลาด เช่น ใบกระเพรา โหระพา เปน็ ต้น ซึ่งผักทั้งสองรายการในขณะนี้ยังไม่สามารถจัดหาจากที่อื่นมาทดแทนได้ ทำให้ร้านอาหารไทยเดือดร้อน แต่หากไทยยังไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ อาจส่งผลให้ประเทศเพื่อนบ้านมองเห็นลู่ทางที่จะผลิตออกมาแข่งขัน ซึ่งจะทำให้ไทยสูญเสียตลาดได้ ซึ่งไม่เพียงเฉพาะสินค้าเพียงหนึ่งหรือสองรายการ แต่อาจขยายไปยังสินค้ารายการอื่นๆ ด้วย

5.3 ในการหา/ติดต่อผู้ผลิตอาหารนั้น สคร.แฟรงก์เฟิร์ตได้แนะนำ/เชิญให้มาเยี่ยมชมงานแสดงสินค้า ThaiFex 2011 เพื่อจะได้พบผู้ส่งออกสินค้าอาหารจำนวนมาก ซึ่งบริษัทฯ สนใจที่จะมาชมงานดังกล่าวด้วย

5.4 สำหรับธุรกิจสปาไทยในเยอรมนีซึ่งก็กำลังอยู่ในกระแสความนิยม แต่ผู้ประกอบการบางรายซึ่งเป็นขนาดเล็กและคนไทยเป็นเจ้าของ ยังไม่ทราบวิธีการบริหารจัดการในการดำเนินธุรกิจ ทำให้ต้องปิดกิจการลงไปหลังจากเปิดตัวได้ไม่นาน และถึงแม้จะมีรายใหม่เกิดขึ้นมาแทน และเพียงระยะเวลาไม่นานก็ปิดตัวลงไปอีก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการขาดความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจ และที่สำคัญผู้ประกอบการบางรายมีการบริการอื่นๆ แอบแฝง ทำให้ลูกค้าชั้นดีขาดความเชื่อมั่น และไม่กลับไปใช้บริการอีก

ทั้งนี้ สคร.แฟรงก์เฟิร์ตได้แนะนำว่าในไทยมีสมาคม/บริษัทที่รับจัดบริหารธุรกิจสปา/นวดไทย สามารถจะแนะนำรายชื่อ/นัดหมายให้พบได้ หากมาเยือนไทยหรือไปชมคูหาไทยในงานแสดงสินค้า Beauty International ซึ่งจะจัดที่เมืองดุสเซลดอร์ฟในวันที่ 18-20 มีนาคม 2554

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต

ที่มา: http://www.depthai.go.th


แท็ก Investment   อีเมล์  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ