ภาวะตลาดแบตเตอรี่รถยนต์: ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 22, 2010 10:29 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. ขอบเขตของสินค้า

1.1. สินค้า : แบตเตอรี่ทุกชนิดใช้กับรถยนต์ รถบรรทุก รถมอเตอร์ไซต์ รถกอล์ฟ ชนิดที่ใช้สำหรับสตาร์ทรถยนต์

1.2. พิกัดศุลกากร (H.S. code) : 8507

2. การนำเข้า

มูลค่าการนำเข้าแบตเตอรี่รถยนต์ในปี 2009 หดตัวอยู่ที่ร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา คาดว่าจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในปี 2010 อย่างไรก็ดีเนื่องจากการหดตัวสูงในช่วงต้นปี การนำเข้าช่วง 11 เดือนแรก จึงยังหดตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนการนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้ของยูเออีมีการนำเข้าผ่านรัฐดูไบปริมาณและมูลค่ามากที่สุด หรือคิดเป็นร้อยละ 70 ของสินค้าที่นำเข้าทั้งสิ้น

2.1 ยูเออีนำเข้าแบตเตอรี่รวมระหว่างปี 2007-2009 มีมูลค่าพอสรุปได้ ดังนี้

ปี 2007 มูลค่า 175 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ปี 2008 มูลค่า 239 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือนำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 36.3

ปี 2009 มูลค่า 201 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือนำเข้าลดลงร้อยละ —15.7

2.2. แหล่งนำเข้า (ปี 2009)

เกาหลีใต้ 27.9% ซาอุดิอาระเบีย สวีเดน จีน ร้อยละ 8% ญี่ปุ่น เยอรมัน อินโดนีเซีย 5.5%

ไทย 4.4% โอมานและเนเธอร์แลนด์ประมาณ 3.5% ตามลำดับ

3. มูลค่าการส่งออกแบตเตอรี่ของไทยไปยูเออี 2007-2010 (มค.-ตค.)

ปี 2007 มูลค่า 42 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วนตลาดร้อยละ 5.6

ปี 2008 มูลค่า 40 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือนำเข้าลดลงร้อยละ 5 สัดส่วนตลาดร้อยละ 7.9

ปี 2009 มูลค่า 17 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือลดลงร้อยละ 58 สัดส่วนตลาดร้อยละ 4.4

ปี 2010 (มค.-ตค.) มูลค่า 20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 64 YoY

4. ลักษณะสินค้า และแบตเตอรี่ยี่ห้อของไทยในยูเออี

แบตเตอรี่ที่นำเข้าในยูเออีทั้งสำหรับใช้ในประเทศ และใช้สำหรับส่งออกต่อ (Re-export) เป็นแบตเตอรี่ชนิดน้ำกรดหรือ Lead Acid Battery แบตเตอรี่ตะกั่วกรดหรือ Lead Acid Battery มีหลายชนิด ได้แก่ ชนิด Dry Charged, ชนิด maintenance-free / ชนิด Seal Maintenance free (SMF) แบบพร้อมใช้และไม่ต้องเติมน้ำกลั่นตลอดอายุการใช้งาน แบตเตอรี่สำหรับรถกอล์ฟ (Deep cyble) แบตเตอรี่รถยกไฟฟ้า (Traction battery) แบตเตอรี่รถจักรยานยนต์ ทั่วไปสินค้าใช้มาตรฐานญี่ปุ่น ตัวแบตเตอรี่หรือเปลือกเซลแบตเตอรี่ (Cell Jar) ทำจากพลาสติกขุ่น หรือสีดำ (Polypropolyne) ประกอบด้วยซี่อัลลอยเพื่อความทนทานและป้องกันสนิม

นอกจากนี้มีแบตเตอรี่ที่ผลิตจากลิเธียมที่สามารถใช้กับรถยนต์โดยสาร รถยก และอุปกรณ์ก่อสร้าง รวมทั้งนำไปใช้สำรองไฟในบ้าน ร้านค้า โรงงาน และลิเธียมแบตเตอรี่สามารถใช้กับรถยนต์ไฟฟ้าซึ่งเป็นสินค้าเทรนด์สีเขียวรักษาสภาวะแวดล้อมหรือ “Green Car” เพราะแบตเตอรี่ชนิดนี้สามารถเก็บกำลังไฟได้เป็นจำนวนมาก ช่วยแก้ไขภาวะไฟตก คาดว่าลิเธียมแบตเตอรี่จะเป็นสินค้าที่ต้องการของตลาด อีกทั้งมีบริษัทผู้แทน จำหน่ายรถยนต์ในดูไบนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้าแบบสปอร์ต ยี่ห้อ Phoenix SUT ราคาจำหน่ายประมาณคันละ $75,000 ออกแนะนำตลาดและได้รับความสนใจอย่างมาก เพราะปัจจุบันประเทศผู้ผลิตน้ำมันในกลุ่ม GCC ให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมรวมทั้งการประหยัดน้ำมัน รัฐอาบูดาบีเมืองหลวงยูเออี โครงการสร้าง Masdar City โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน โดยใช้พลังงานหมุนเวียนจากธรรมชาติ (Renewable energy)

สินค้าที่นำเข้าจากประเทศไทยเป็นแบตเตอรี่รถยนต์แบบทดแทนชนิด Dry charged แบตเตอรี่ของไทยมีคุณภาพดี รักษามาตรฐานสินค้าสม่ำเสมอ แต่มีราคาสูงเมื่อเทียบกับสินค้าจากเกาหลี อินโดนีเซีย จีน แต่มีราคาต่ำกว่าแบตตเตอรี่จากญี่ปุ่น เยอรมัน และสินค้าจากยุโรป สินค้ายี่ห้อของไทยที่วางจำหน่ายในยูเออีได้แก่ ยี่ห้อ 3k ยี่ห้อ TRANE เป็นต้น ความจุของแบตเตอรี่มีหลายขนาด ได้แก่ 40, 50, 55, 60, 70...100 ถึง 200 Ampere และยี่ห้อ Panasonic ที่ผลิตในประเทศไทย เป็นต้น

5. การผลิตในประเทศ การส่งออกและส่งออกต่อหรือ Re-Export

มีโรงงานในเขตอุตสาหกรรมพิเศษจีเบลอาลีรัฐดูไบ และในรัฐชาร์จาห์อีก 1 โรงงาน ปี 2009 ยูเออี การส่งออกและส่งออกต่อมูลค่าประมาณ 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตลาดรองรับที่สำคัญ คือ อิหร่าน อิรัค ซาอุดิอาระเบีย ซูดาน บาห์เรน เป็นต้น

6. กฏเกณฑ์และระเบียบการนำเข้า

6.1. ภาษีนำเข้า ร้อยละ 5 จากราคาซีไอเอฟ

6.2. การให้สิทธิพิเศษทางศุลกากร : ไม่มี

6.3 เอกสารประกอบการนำเข้า : Invoice, Certificate of Origin ประทับตรารับรองจากหอการค้าไทย และ Legalize จากสถานทูตประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในประเทศไทย Bill of Lading และPacking List

6.4. ระเบียบการนำเข้าอื่นๆ : ไม่มีกฏกระเบียบว่าด้วยมาตรฐานของแบตเตอรี่แต่ส่วนใหญ่ผู้นำเข้าจะระบุไว้ในแอลซีว่าต้องการแบตเตอรี่ให้ได้มาตรฐานของประเทศใดประเทศหนึ่ง เช่นจาก ญี่ปุ่น สหรัฐฯ เยอรมัน หรืออังกฤษ สำหรับสินค้าของไทยส่วนใหญ่จะระบุเป็นมาตรฐานญี่ปุ่น

7. ช่องทางการจำหน่ายสินค้า และส่วนต่าง

7.1. ฤดูการสั่งซื้อ : ตลอดปี

7.2.ฤดูการจำหน่าย : ตลอดปีเพราะสินค้าบางส่วนใช้สำหรับส่งออกต่อ

7.3 ส่วนต่างของราคาขายส่งและขายปลีกประมาณ 15%-30%

8. สรุป

ตลาดสินค้าแบตเตอรี่ในภูมิภาคนี้ยังคงมีแนวโน้มดีอยู่สินค้าที่ดูไบนำเข้า ส่วนหนึ่งจะใช้ส่งออกต่อไปประเทศอื่นๆใกล้เคียง คู่แข่งขันสินค้าของไทยจากประเทศอินโดนีเซีย เกาหลีใต้

ผู้ผลิตของไทยควรให้ความสำคัญเรื่องการจดลิขสิทธิ์เครื่องหมายการค้าในประเทศที่ส่งสินค้าไปจำหน่าย เพื่อป้องกันปัญหาสินค้าลอกเลียนแบบ หรือจดลิขสิทธิ์ทับ เพราะมีแบตเตอรี่ของไทยบางยี่ห้อถูกลอกเลียนแบบโดยอินโดนีเซียซึ่งมีราคาถูกกว่า

ผู้ผลิตหรือผู้ส่งออกแบตเตอรี่ควรให้การสนับสนุนช่วยเหลือผู้นำเข้าที่เป็นเอเยนต์จำหน่ายสินค้า ในการดำเนินกิจกรรมด้านการตลาดและการขาย เพื่อที่เพิ่มสัดส่วนทางการขายอย่างมีนัยสำคัญ อาทิ การโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าโดยช่วยจ่ายค่าโฆษณาบางส่วน รวมทั้งเพิ่มสัดส่วนการขายโดยออกผลิตภัณฑ์ใหม่ตอบโจทย์ความต้องการใช้งาน

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองดูไบ

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ