รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจและภาวะการค้าอิตาลี ระหว่างวันที่ 1-15 ธันวาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 22, 2010 13:15 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. สถานการณ์เศรษฐกิจและภาวะการค้าของอิตาลีในช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือนธันวาคม 2553 ทรงตัวหลังจากที่กระเตื้องขึ้นเล็กน้อยในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนหน้า เนื่องจากเป็นช่วงใกล้เทศกาลคริสต์มาสที่ประชาชนจะออกมาซื้อสินค้าเพื่อเป็นของขวัญ

2. อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาลคริสต์มาสนี้ก็ยังคงลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยสมาพันธ์ผู้บริโภค (Italian Consumer’s Federation-Federconsumatori) ได้รายงานว่าผลจากภาวะการว่างงานที่ยังคงมีอยู่และกำลังซื้อของประชาชนที่ลดลง อันเนื่องมาจากมาตรการประหยัดงบประมาณและการเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาลจะทำให้การใช้จ่ายในช่วงคริสต์มาสปีนี้ลดลงจากปีก่อน 11% โดยมีงบประมาณการใช้จ่ายต่อครอบครัวราว 1,337 ยูโร ลดลงจากปีก่อน 170 ยูโร หรือร้อยละ -1.2 และสินค้าที่คนอิตาลีนิยมซื้อในช่วงเทศกาลคริสต์มาส ได้แก่ อาหารที่บริโภคในเทศกาล เช่น Panettone และ Sparkling wine (+6%) IPODS และ IPADS (+2.7%) โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์และเครื่องอุปกรณ์ (+1.5%) ส่วนสินค้าที่คนซื้อลดลง ได้แก่ เสื้อผ้า/รองเท้า (-4%) และหนังสือ/ซีดี (-1.2%)

คาดว่าค่าใช้จ่ายช่วงวันหยุดเทศกาลคริสต์มาสนี้จะเพิ่มขึ้น 1.2% จากปีก่อน หรือประมาณ 33.6 พันล้านยูโร (11.3 พันล้านยูโรเป็นการใช้จ่ายในร้านค้าและ chains stores และ 22.3 พันล้านยูโรเป็นการใช้จ่ายในส่วนของเชื้อเพลิง สาธารณูปโภค และค่าเดินทางต่างๆ)

3. ข้อมูลจากกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ได้เปิดเผยว่าในเดือนพฤศจิกายน 2553 ยอดจำหน่ายรถยนต์ที่ใช้ในทางการค้า เช่น รถบรรทุกเพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน และในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2553 เพิ่มขึ้น 7.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ ยอดจำหน่ายในช่วงไตรมาสแรกของปี 2553 ได้เพิ่มขึ้นถึง 26% ซึ่งเป็นผลจากมาตรการช่วยเหลือ “Cash for chambers” ของรัฐบาล ในขณะที่ยอดจำหน่ายในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2553 เพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

4. ธนาคารแห่งอิตาลี (Bank of Italy) ได้เปิดเผยว่าร้อยละ 5 ของจำนวนประชาชนอิตาลีที่มีภาระจำนองไม่สามารถจ่ายชำระค่าจำนองรายเดือนได้อันเนื่องมาจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ทั้งนี้ นอกเหนือจากสเปนแล้วอิตาลีก็เป็นประเทศหนึ่งในกลุ่มสหภาพยุโรป 7 ประเทศ ที่มีสถานะลำบากอันเนื่องมาจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2550 ค่อนข้างมาก นอกจากนี้ยังมีประเทศสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส ฟินแลนด์ เนเธอร์แลนด์ และไอร์แลนด์ ที่ได้รับผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจค่อนข้างมาก เช่นกัน

5. สำนักงานสถิติแห่งอิตาลี (ISTAT) ได้รายงานว่าในเดือนตุลาคม 2553 อิตาลีขาดดุลการค้าเพิ่มสูงขึ้นถึง 2 พันล้านยูโร มากกว่าเป็น 3 เท่าของเดือนตุลาคม 2552 และในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2553 อิตาลีขาดดุลการค้า 21.2 พันล้านยูโร มากกว่าเป็น 4.5 เท่าของยอดขาดดุลการค้าในช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขาดดุลจำนวน 4.7 พันล้านยูโร

อย่างไรก็ดี หากไม่รวมยอดการนำเข้าน้ามันและเชื้อเพลิง ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2553 อิตาลีกลับได้ดุลการค้า 21.5 พันล้านยูโร ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ได้ดุลการค้า 29.2 พันล้านยูโร

การส่งออก ในเดือนตุลาคม 2553 มูลค่าการส่งออกของอิตาลีเพิ่มขึ้น 17.6% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 1.2% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (เป็นการส่งออกไปตลาดนอกสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น 21.9% และตลาดในสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น 14.5%)

การนำเข้า ในเดือนตุลาคม 2553 มูลค่าการนำเข้าของอิตาลีเพิ่มขึ้น 22.5% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 2.4% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (เป็นการนำเข้าจากตลาดนอกสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น 32% และตลาดในสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น 16%)

6. ธนาคารแห่งอิตาลี (Bank of Italy) ได้รายงานว่า ณ เดือนตุลาคม 2553 อิตาลีมีหนี้สาธารณะสูงถึง 1,867.398 พันล้านยูโร โดยเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 นับแต่เดือนกรกฎาคม 2553 เป็นต้นมา

ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2552 เป็นต้นมา หนี้สาธารณะของอิตาลีได้เพิ่มสูงขึ้นเท่ากับ 63 พันล้านยูโร และตั้งแต่เริ่มต้นปี 2553 ก็ได้เพิ่มสูงขึ้นเป็น 104 พันล้านยูโร หรือเพิ่มขึ้น 5.9%

ด้านการจัดเก็บรายได้ของรัฐ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2553 รัฐบาลจัดเก็บได้ 294.307 พันล้านยูโรลดลง 5.2 พันล้านยูโร หรือลดลง 1.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน นอกจากนี้ กระทรวงการคลังอิตาลียังได้รายงานว่าผลการตรวจสอบภาษีในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2553 ทำให้จัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น 4.118 พันล้านยูโร (ร้อยละ 13.6% ของรายได้) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

7. ธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรป (The European Central Bank-ECB) ได้รายงานว่ามีความเป็นได้อย่างมากที่หนี้สาธารณะของประเทศในภูมิภาคยุโรปเกือบทั้งหมดจะเพิ่มขึ้นในปี 2554 และ 2555 ยกเว้น เยอรมันและอิตาลี โดยคาดว่าในปี 2555 ประเทศในภูมิภาคยุโรปจะมีหนี้สาธารณะเฉลี่ยเท่ากับ 87.8% ของ GDP และมีจานวน 4 ประเทศ ได้แก่ เบลเยียม ไอร์แลนด์ กรีซ และอิตาลี ที่มีหนี้สาธารณะสูงกว่า 100% ของ GDP

ทั้งนี้ ในภาพรวมประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปทั้งหลายได้มีการปรับงบประมาณอย่างเป็นที่น่าเชื่อถือ เพื่อให้ดุลบัญชีเกิดความสมดุลย์โดยการตัดค่าใช้จ่ายลง แต่ก็ยังมีข้อกังวลว่าบางประเทศอาจไม่สามารถควบคุมดุลบัญชีได้ตามแผน โดยเฉพาะความสามารถในการจัดทางบประมาณสมดุลแบบยั่งยืน และการปกป้องตนเองจากผลกระทบทางลบของตลาด

ในด้านอัตราดอกเบี้ยในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ECB เห็นว่ายังคงมีอัตราที่เหมาะสมกับภาวะเงินเฟ้อที่ไม่รุนแรง และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวทีละน้อยและยังคงมีความไม่แน่นอน อันเนื่องมาจากความกังวลว่าวิกฤตการเงินอาจจะกลับมาเกิดขึ้นอีก

ทั้งนี้ ECB ได้คาดการณ์ว่า ในปี 2553 GDP ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป 16 ประเทศจะเพิ่มขึ้นระหว่าง 0.6-1.8%, 0.7-2.1% ในปี 2554 และ 0.6-2.8% ในปี 2555 โดยมีการค้าระหว่างประเทศเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจในขณะที่ปัจจัยทางลบที่คุกคามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ราคาน้ำมันและต้นทุนทรัพยากรหลัก การใช้มาตรการปกป้อง และการเจริญเติบโตระหว่างประเทศที่ไม่สมดุลย์

8. ISTAT ได้รายงานการปรับประมาณการอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ของปี 2553 เพิ่มขึ้นจากเดิม 1% เป็น 1.1% สอดคล้องกับรัฐบาลอิตาลีที่ได้ปรับประมาณการอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจล่าสุดว่าในปี 2553 จะมี GDP เพิ่มขึ้น +1.2%

9. คณะกรรมาธิการยุโรป (ฝ่ายเศรษฐกิจ) ได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจอิตาลีจะสามารถกลับไปอยู่ในระดับที่เคยเป็นก่อนหน้าวิกฤตเศรษฐกิจโลกเมื่อปี 2551 ได้ภายในสิ้นปี 2555 และเห็นว่าอิตาลีคงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีการปรับปรุงงบประมาณทั้งในช่วงปี 2554 และ ปี 2555 ตราบเท่าที่รัฐบาลอิตาลีสามารถรักษาอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้ตามที่ได้คาดการณ์ไว้ คือ ปี 2553 GDP เพิ่มขึ้น +1.2% และ ปี 54 GDP เป็น +1.3% โดยรัฐบาลจะต้องติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายของรัฐและการจัดเก็บรายได้อย่างเข้มแข็ง เพื่อให้มั่นใจได้ว่า GDP จะเติบโต ได้ตามเป้าหมาย

ในส่วนของหนี้สาธารณะที่ค่อนข้างสูง ก็ยังคงเป็นปัญหาที่ซับซ้อน และหากกฏระเบียบว่าด้วยธรรมมาภิบาลฉบับใหม่สามารถมีผลบังคับใช้ได้ในช่วงฤดูร้อนปี 2554 อิตาลีก็จะมีระยะเวลาเพื่อการปรับตัว (transition period) ถึง 3 ปีก่อนที่จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มรูปแบบ อย่างไรก็ดี กรรมาธิการฯ ด้านเศรษฐกิจเห็นว่าแนวโน้มหนี้สาธารณะของอิตาลียังคงดีกว่าประเทศอื่น และปัญหาไม่ได้อยู่ที่การที่หนี้ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่อยู่ตรงการที่อัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจได้ลดลง และทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP เพิ่มขึ้น

10. สหภาพยุโรปโดย ISTAT ได้จัดอันดับประเทศที่มีรายได้ประชาการต่อหัว (GDP per capita) ในปี 2552 โดยคำนวณจากคำสั่งซื้อรายบุคคลซึ่งผลปรากฏว่าอิตาลีอยู่ในอันดับที่ 12 ซึ่งนับว่าดีกว่าเดิมที่ได้คาดการณ์ไว้ที่อันดับที่ 13 และเหนือกว่าสเปนซึ่งตกลงมาอยู่ที่อันดับที่ 13 (จากเดิมอันดับที่ 12) แต่ยังคงต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป 16 ชาติ และต่ำกว่าเยอรมัน สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส ทั้งนี้ ประเทศที่อยู่ในอันดับรองลงมาจากอิตาลีและสเปน ได้แก่ ไซปรัส กรีซ และสโลวาเนีย

11. OECD ได้เปิดเผยรายงานว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของอิตาลีในเดือน ตุลาคม 2553 เป็นไปอย่างช้าๆ ในขณะที่ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป 16 ประเทศ ยังคงทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลง โดยพิจารณาจากตัวชี้วัดต่างๆ (composite leading indicator-CLI) โดยตัวชี้วัดของอิตาลีได้หดตัวลง 0.1 จุด (จากเดือน กย. 2553 ที่ลดลง 0.2 จุด) เป็น 102.9 จุด อย่างไรก็ดี OECD เห็นว่าแม้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกทั้ง 16 ประเทศยังคงที่ แต่ก็ฟื้นตัวในลักษณะพอประมาณและยังคงมีความเสี่ยงอยู่

นอกเหนือจากอิตาลีแล้วยังมีประเทศที่มี CLI หดตัวลง 0.1 จุด ได้แก่ แคนาดา เยอรมัน และญี่ปุน ในขณะที่อินเดียหดตัวลง 0.2 จุด และบราซิลหดตัวลง 0.3 จุด

ส่วนประเทศที่มี CLI ขยายตัวดีขึ้น ได้แก่ จีน (0.6 จุด) และสหรัฐฯ (0.3จุด)

ทั้งนี้ OECD ได้อธิบายว่าตัวชี้วัด (CLI) ดังกล่าว เป็นการวัดผลด้านโอกาสในการฟื้นตัวด้านเศรษฐกิจมิใช่การวัดอัตราเจริญเติบโตของประเทศ จึงทำให้ CLI ของอินเดียหดตัวลง ในขณะที่อินเดียยังคงมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงที่สุดในโลก

12. พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเข้าเมืองของคนต่างชาติซึ่งรัฐบาลอิตาลีได้เห็นชอบตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2553 และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่มกราคม 2554 เป็นต้นไป จะมีผลให้คนต่างชาติ (ประเทศที่มิใช่สมาชิกสหภาพยุโรป) ที่ต้องการอยู่อาศัยและทำงานในอิตาลีต้องผ่านการทดสอบความสามารถในการเข้าใจภาษาอิตาเลียนก่อนที่จะยื่นขอรับใบอนุญาตการมีถิ่นพำนักอาศัยอยู่ในอิตาลีได้ โดยต้องตอบแบบทดสอบให้ถูกต้องถึงร้อยละ 80 ซึ่งคน

ต่างชาติสามารถทำแบบทดสอบผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์หรือร้องขอให้ทดสอบด้วยการเขียนผ่านเวปไซต์ของกระทรวงมหาดไทยอิตาลีที่ www.testitaliano.interno.it ภายใน 60 วัน หากผู้สมัครทดสอบไม่ผ่านเกณฑ์ดังกล่าวก็สามารถขอทดสอบใหม่ได้และบางรายการก็สามารถยกเว้นได้

ระบบการทดสอบภาษาดังกล่าวจะครอบคลุมถึงผู้ที่ต้องการได้รับหนังสือรับรองความเชี่ยวชาญด้านภาษาอิตาเลียน นักวิจัยในมหาวิทยาลัย และคนที่เข้ามาทำงานในอิตาลีในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง โดยรัฐบาลอิตาลีได้เตรียมที่จะแนะนำระบบการขออนุญาตมีถิ่นพำนักอาศัยในอิตาลีใหม่ เพื่อช่วยในการรวมชาติของประชากรวัยหนุ่มสาว จากประเทศนอกสหภาพยุโรปที่ต้องการเข้ามาอยู่อาศัยในอิตาลี ระบบดังกล่าวมีกระบวนการคล้ายคลึงกับระบบการขอมีถิ่นที่อยู่อาศัยในระยะยาวของแคนาดาและสหรัฐอเมริกา และจะมีผลใช้บังคับกับผู้สมัครที่มีอายุตั้งแต่ 16-25 ปี

ภายใต้ระบบนี้ คนต่างชาติจะได้รับการอนุญาตให้เข้ามาพักอาศัยในอิตาลีในครั้งแรกได้ ต่อเมื่อได้มีการลงชื่อและมีข้อผูกมัดที่จะต้องปฏิบัติตนให้เป็นพลเมืองที่ดีและการรวมชาติ

มีระยะเวลาการอนุญาต 2 ปี และมีคะแนนเริ่มต้นที่ 16 จุด และหากต้องการอยู่อาศัยแบบถาวร ก็จะต้องทำคะแนนให้ได้ถึง 30 จุด ภายในระยะเวลา 2 ปี ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การเข้ารับการฝึกอบรมเป็นระยะๆ การทำสัญญาเพื่อเช่าหรือซื้อบ้านพักอาศัย การทำงานแบบสมัครใจ และการขึ้นทะเบียนกับสถานบริการด้านสุขภาพแห่งชาติ และหากไม่สามารถทำคะแนนได้ถึง 30 คะแนน ภายในเวลา 2 ปี ก็สามารถขอขยายระยะเวลาการอนุญาตเพื่อมีโอกาสในการทำคะแนนให้ได้ตามที่กำหนด

กรณีที่คนต่างชาติจะถูกตัดคะแนน ได้แก่ การไม่เข้าร่วมคอร์สการฝึกอบรมการเป็นพลเมืองที่ดีที่รัฐบาลจัดให้ฟรีและขอร้องให้เข้ารับการอบรมภายในเดือนที่ได้รับการอนุญาตเข้าเมืองครั้งแรก นอกจากนี้กรณีที่ผู้ได้รับการอนุญาตการเข้าเมืองแล้วปฏิบัติผิดกฏหมายด้านอาชญากรรมหรือทำความผิดด้านภาษีจะถูกตัดคะแนนและหากถูกตัดคะแนนจนหมด เจ้าหน้าที่ก็สามารถให้เดินทางออกนอกประเทศอิตาลีได้

ทั้งนี้ คนที่เป็นเหยื่อจากเหตุการณ์รุนแรงและคนพิการซึ่งมีข้อจากัดด้านความสามารถในการเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมของอิตาลีจะได้รับการยกเว้นจากระเบียบใหม่ดังกล่าว

13. OECD ได้รายงานว่าในปี 2552 อิตาลีได้ถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความบีบคั้นด้านภาษีเป็นอันดับที่ 3 ในกลุ่มประเทศสมาชิก OECD 34 ประเทศ โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2552 (ที่เท่ากับ 43.2%ของ GDP) เป็น 43.5% ของGDP ในขณะที่เบลเยี่ยมได้ลดลงจากเดิมที่ 44.2% ของ GDP เป็น 43.2% ของ GDP

ประเทศที่มีความบีบคั้นด้านภาษีสูงกว่าอิตาลีได้แก่ เดนมาร์ก (48.2% ของ GDP) และสวีเดน (46.4%ของ GDP)

ประเทศที่มีความบีบคั้นด้านภาษีสูงกว่า 40% ได้แก่ ออสเตรเลีย ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส และ นอร์เวย์

ประเทศที่มีความบีบคั้นด้านภาษีต่ำที่สุด ได้แก่ เม็กซิโก (17.5% ของ GDP) ชิลี (18.2%) สหรัฐอเมริกา (24%) และตุรกี (24.6%)

ทั้งนี้ ความบีบคั้นด้านภาษีของประเทศในกลุ่ม OECD ส่วนใหญ่ลดลง แต่ในช่วงจากปี 2551-2552 ความบีบคั้นทางภาษีได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในลักเซ็มเบิร์ก (จาก35.5% เป็น 37.5%) และสวิสเซอร์แลนด์ (จาก 29.1% เป็น 30.3% ของ GDP)

นอกจากนี้ อิตาลียังเป็นประเทศที่มีอัตราประชากรหนุ่มสาวที่มีงานทาเกือบน้อยที่สุดคือ 21.7% (44.4% ไม่ใช่ตำแหน่งงานประจำ และ 18.8% ทำงาน part time อย่างเดียว)

ส่วนประเทศที่มีการว่างงานในคนหนุ่มสาวต่ำ ได้แก่ ฮังการี (18.1%) ในขณะที่อัตราเฉลี่ยของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป 34 ประเทศ อยู่ที่ 40.2%

14. ผลสำรวจการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลคริสต์มาสของอิตาลีปรากฏว่า โรมเป็นเมืองที่คนอิตาลีนิยมที่จะใช้จ่ายในช่วงเทศกาลดังกล่าว ตามด้วยลอนดอนและปารีส ในการสำรวจได้ทำการเปรียบเทียบราคาของการเดินทาง วิเคราะห์การจองที่พักและสถานที่เพื่อฉลองเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ และดัชนีราคาโรงแรมรายเดือนซึ่งปรากฎผลสำรวจว่าในเดือน ธค. 2553 ลอนดอนเป็นเมื่องที่มีค่าที่พักแพงที่สุด (ห้องคู่ราคาคืนละ 187 ยูโร) เปรียบเทียบกับโรมแล้วราคาที่พักในโรมถูกกว่า (110 ยูโรต่อคืน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2%) สถานที่ท่องเที่ยวในอิตาลีที่คนต้องไปเที่ยวค่อนข้างมาก คือ Merano และ Livigno ซึ่งเป็นรีสอร์ทสำหรับการเล่นสกีในทางตอนเหนือของอิตาลี และสถานที่ที่เป็นที่นิยมของคนอิตาลีในการฉลองเทศกาลคือ ลอนดอน ส่วนกรุงปารีสเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันดับที่ 3 ที่คนนิยมเดินทางไปท่องเทียวในช่วงเทศกาลนี้โดยมีราคาที่พักสำหรับห้องคู่คืนละ 142 ยูโร โดยมีซองเอลิเซ่ เป็นที่ที่คนนิยมไปนั่งดื่มฉลองปีใหม่มากที่สุด

นอกจากนี้ หากเป็นประเทศนอกสหภาพยุโรป นิวยอร์ค ถือเป็นเมืองในฝันและลืมไม่ลงของคนอิตาลีที่นิยมไปท่องเที่ยวและฉลองเทศกาลปีใหม่มากที่สุด โดยมีราคาที่พักเฉลี่ยต่อคืนแพงที่สุดในโลกในช่วงเทศกาลนี้คือ 274 ยูโร นอกจากนี้ก็ยังมีเมือง Sharm EL Sheik (85 ยูโร) ดูไบ (123 ยูโร) และมาราเคช (89 ยูโร)

15. บุลการีซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายจิวเวลรี่และเครื่องประดับระดับหรูของอิตาลีได้ตกลงร่วมมือกับกลุ่มบริษัท Hengdeli Holdings limited ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้าหรูหราชั้นนาในจีนเพื่อจัดจำหน่ายนาฬิกาบุลการีในห้างกว่า 50 สาขาทั่วประเทศจีน ภายในระยะเวลา 5 ปี

ทั้งนี้ข้อตกลงดังกล่าวจะช่วยเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดนาฬิกาบุลการีในจีนซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพที่ยิ่งใหญ่มาก จากเดิมที่บุลการีได้จัดตั้งร้านจำหน่ายแบรนด์ของตนเองในจีนอยู่แล้ว 20 แห่ง

16. ตัวชี้วัดเศรษฐกิจอิตาลี ณ 15 ธันวาคม 2553

                                    จำนวน          % เปลี่ยนแปลง             % เปลี่ยนแปลงเมื่อ
                                    (ราย)       เมื่อเทียบกับเดือนก่อน         เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
1 . ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม                                 +0.6%                     +4.3%
(พฤศจิกายน 2553)
2 . คำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรม                                  +2%                     +2.4%
(พฤศจิกายน 2553)
3. การบริโภค (ตุลาคม2553)                               +0.4%                     -1.8%
4. ภาวะเงินเฟ้อ (พฤศจิกายน 2553)                            0%                     +1.7%
5. อัตราการจ้างงาน (ตุลาคม2553)        57.0%                0%                     -0.1%
(จำนวนคนจ้างงาน)                (22.890 ล้านคน)
6.อัตราการว่างงาน (ตุลาคม2553)          8.6%             +0.3%                     +0.4%
(จำนวนคนว่างงาน)                 (2.167 ล้านคน)
7. GDP (ไตรมาส 3ปี 2553)                               +0.3%                     +1.1%
ที่มา : Confindustria; Confcommercio และ ISTAT

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโรม

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ