สถานการณ์ตลาดเครื่องปรุง ซอสประเภทต่างๆ ในแคนาดา

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 22, 2010 14:02 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. สถานการณ์การค้าในปัจจุบัน

ตลาดสินค้ากลุ่มเครื่องปรุง ซอสประเภทต่าง ๆ ในแคนาดานับว่าเป็นตลาดที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากการขยายตัวสินค้าจากกลุ่มอาหารอื่น ๆ จะส่งผลให้ตลาดสินค้ากลุ่มนี้ ซึ่งเป็นส่วนประกอบของการปรุงอาหารขยายตัวตามไปด้วย จากข้อมูลสถิติการค้าของแคนาดา ณ ช่วงเดือน ม.ค.-ต.ค 2553 ได้รายงาน มูลค่าการนำเข้าสินค้าหมวดซอสและของปรุงแต่งสำหรับทำซอส ของผสมที่ใช้ปรุงรส และของผสมที่ใช้ชูรส ผงละเอียดและผงหยาบของมัสตาร์ด และมัสตาร์ดปรุงแต่ง อาทิ ผงปรุงรส น้ำปลา น้ำมันหอย เครื่องแกง ซอสพริก (HS : 2103.90) คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 218.778 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.04 โดยตลาดผู้ส่งออกหลัก เรียงลำดับได้ดังนี้

ลำดับ            ประเทศ                 มูลค่า             สัดส่วนตลาด
                                 (ล้านเหรียญสหรัฐ)         (ร้อยละ)
   1     สหรัฐอเมริกา                  17.036               80.92
   2     ไทย                           6.22                2.84
   3     สหราชอาณาจะกร                 5.90                 2.0
   4     จีน                            5.72                2.68
   5     ญี่ปุ่น                          3.305                1.51
แหล่งข้อมูล : Statisti of Canada ณ ช่วงเดือน มกราคม - ตุลาคม 2553

แม้ว่า ไทยจะมิได้ครองตลาดส่งออกสินค้ากลุ่มเครื่องปรุง ซอสประเภทต่างๆ นี้มากเมื่อเทียบกับประเทศสหรัฐฯ แต่นับได้ว่าสามารถครองสัดส่วนตลาดเป็นอันดับ 2 และยังมีอัตราการขยายตัวถึงร้อยละ 26.87 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันจากปีก่อน

สาเหตุอีกประการหนึ่งที่ส่งผลให้สินค้าเครื่องปรุง ซอสประเภทต่าง ๆเป็นที่นิยม มาจากการที่ชาวแคนาเดียนเดินทางท่องเที่ยวต่างชาติ จึงมีโอกาสได้ลิ้มลองอาหารรสชาติใหม่ ๆในแต่ละท้องถิ่น ประกอบกับอาหารไทยได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ มีรสชาติอาหารที่คงความป็นเอกลักษณ์ จึงทำให้เป็นที่พึงพอใจสำหรับชาวต่างชาติ

อย่างไรก็ดี สินค้ากลุ่มซอส ซีอิ้วขาวยังสามารถนำมาผสมกับเครื่องปรุงอื่นๆ เพื่อสร้างเป็นเครื่องจิ้มในรสชาติใหม่ๆ ที่แตกต่างออกไป อาทิ ซีอิ้วขาวผสมกับน้ำมันงา จะได้เป็นรสชาติแบบอาหารเกาหลี หรือ ซีอิ้วขาวผสมกะทิ ถั่วบด พริก จะได้เป็นรสชาติแบบอาหารอินโดนีเซียเป็นต้น

2. โอกาสสำหรับผู้ผลิต/ส่งออกของไทย

จากข้อมูลสถิตินำเข้าสินค้ากลุ่มเครื่องปรุง ซอสประเภทต่าง ๆ ในแคนาดานับได้ว่า ประเทศไทยยังมีโอกาสและช่องทางการขยายตลาดมายังแคนาดา อย่างไรก็ดี ผู้ผลิต/ส่งออกไทยจะต้องทำการศึกษาตลาดกลุ่มผู้บริโภคและความต้องการของสินค้า โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้ากลุ่มเครื่องปรุง ซอสประเภทต่าง ๆ มีดังนี้

  • ด้านสุขภาพ (Health) ชาวแคนาเดียนเริ่มตระหนักถึงความใส่ใจในการรักษา สุขภาพมากขึ้น จะคำนีงถึงส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ และอ่านฉลากติดแนบผลิตภัณฑ์เพื่อศึกษาถึงส่วนผสม และคุณค่าทางโภชนาการ จากการสำรวจตลาดสินค้ากลุ่มเครื่องปรุง ซอสประเภทต่าง ๆ ในตลาดแคนาดา จะสามารถเห็นสินค้าซอสต่างๆ ประเภท Less Soium หรือ Less Salt วางจำหน่ายคู่กับประเภททั่วไป เพื่อทางเลือกทางหนึ่งให้กับผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ
  • รูปแบบบรรจุภัณฑ์ของสินค้าที่สะดวกต่อการใช้ เนื่องจากชาวแคนาเดียนต้องการ ผลิตภัณฑ์ที่สามารถเปิดใช้ได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอุปกรณ์อื่นสำหรับการเปิดใช้ ดังนั้นผู้ผลิต/ส่งออกไทย ควรตระหนักด้านบรรจุภัณฑ์ที่สะดวกต่อการเปิดใช้พร้อมฉลากที่แสดงรายละเอียดผลิตภัณฑ์อย่างชัดเจน
  • คุณภาพ และรสชาติชั้นดี เนื่องจากชาวแคนาเดียนได้มีโอกาสท่องเที่ยวต่างชาติและ มีได้ลิ้มลองอาหารต่างชาติ รวมทั้งอาหารไทยชั้นดีในเมืองไทยจนเป็นที่พึงพอใจ และได้ให้ความสนใจในการสรรหาเครื่องปรุงเพื่อมาปรุงรับประทานเองและสำหรับครอบครัว ดังนั้นผู้บริโภคจึงต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและรสชาติดี เพื่อการประกอบอาหารให้ใกล้เคียงรสชาติอาหารอย่างแท้จริง
  • ผลิตภัณฑ์ประเภทเกษตรอินทรีย์ (Organic) จากกระแสความนิยมรักษาสุขภาพของ ชาวแคนาเดียนที่ขยายตัวมากขึ้น ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์อาหารในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ (Organic) กำลังเป็นที่นิยมของตลาด โดยขยายตัวจากกลุ่มผู้บริโภคจำเพาะกลุ่ม (nihe market) เป็นกลุ่มผู้บริโภคในหมู่วงกว้างขึ้น (mainstream) ทั้งนี้รายค้าปลีกขนาดกลางและใหญ่จำนวนมากในแคนาดาจะจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประเภทเกษตรอินทรีย์ (Organic) เพื่อเป็นช่องทางจำหน่าย และเพิ่มตัวเลือกการจับจ่ายใช้สอยให้กับผู้บริโภดอีกทางหนึ่ง

3. ความเห็น / ข้อเสนอแนะ สคร. แวนคูเวอร์

กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องปรุง ซอสประเภทต่าง ๆ เป็นสินค้าที่ยังมีแนวโน้มการตลาดที่ดี ซึ่งผู้ส่งออกไทยมีศักยภาพในการผลิตและการส่งออก อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ประสบความสำเร็จผู้ผลิต/ผู้ส่งออก จะต้องสนใจติดตามพฤติกรรมผู้บริโภค และ แนวโน้มความนิยม ตลอดทั้งการเลือกใช้ส่วนประกอบ และการพัฒนาสูตรอาหาร เครื่องปรุงให้สอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์ความนิยมอยู่ตลอดเวลาอาทิ ผู้บริโภคชาวแคนาดาให้ความใส่ใจเรื่องสุขภาพ ดังนั้นผู้ผลิต/ส่งออกไทย ควรตระหนักด้านการใช้ส่วนผสมเพื่อสุขภาพ เช่น การนำสมุนไพรไทยมาใช้เป็นส่วนผสม เพื่อมาทดแทนซอสปรุงรสประเภทไขมันสูงที่จำหน่ายในท้องตลาด รวมทั้งการผลิตเครื่องปรุง ซอสต่างๆในแบบ Less soium หรือ less salt เพื่อตอบสนองความต้องการผู้บริโภคในปัจจุบัน

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครแวนคูเวอร์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


แท็ก ข้อมูล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ