สถานการณ์สินค้ายานยนต์และยางรถยนต์ในประเทศญี่ปุ่น เดือนธันวาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 23, 2010 10:38 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ความเคลื่อนไหวที่สำคัญในตลาดรถยนต์ญี่ปุ่น

บ.นิสสัน มอเตอร์ ได้วางจำหน่ายรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) อย่างเป็นทางการแล้วในวันที่ 20 ธันวาคม 2553 นับเป็นการปฏิวัติวงการอุตสาหกรรมรถยนต์โลกอีกครั้งหนึ่ง เมื่อยานยนต์ไม่ต้องพึ่งพาน้ำมันเชื้อเพลิงอีกต่อไป นิสสัน ลีฟ (LEAF) คือรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่สามารถเดินทางได้ไกลถึง 200 กิโลเมตรต่อการชาร์ตแบตเตอรี่หนึ่งครั้ง วางจำหน่ายแล้วในประเทศญี่ปุ่นด้วยราคา 33,000 เหรียญสหรัฐ ถือว่าเป็นการผลิตรถยนต์พลังไฟฟ้าเพื่อการจำหน่ายแบบ Mass production เป็นครั้งแรกของโลก นิสสันลีฟ เป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลขนาด 5 ที่นั่งขนาดเล็ก ใช้พลังงานไฟฟ้าจากลิเธียมอิออน แบตเตอรี่

ปัจจุบันนิสสันลีฟ ผลิตจากโรงงาน Oppama ของนิสสัน ที่เมืองโยโกซุกะ ซึ่งสายการผลิตในโรงงานได้รับการปรับปรุงเพื่อให้สามารถประกอบรถยนต์พลังงานไฟฟ้าโดยใช้สายการผลิตร่วมกับรถยนต์ที่ใช้พลังงานน้ำมันเชื้อเพลิงปกติทั่วไป การใช้สายการผลิตร่วมกันทำให้นิสสันประหยัดค่าใช้จ่ายในการผลิตได้มาก (นิสสันใช้เงินในการวิจัยและพัฒนานิสสันรถยนต์พลังงานไฟฟ้าถึง 5 แสนล้านเยนในระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา) นิสสันตั้งเป้าหมายว่าจะต้องจำหน่ายลีฟ ให้ได้ 6,000 คันภายในเดือนมีนาคม 2554 นี้ แต่จากการตอบรับของผู้บริโภคในปัจจุบันได้มีคำสั่งซื้อมากกว่า เป้าหมายที่นิสสันตั้งไว้เรียบร้อยแล้ว

นิสสัน มอเตอร์ ต้องการชู นิสสัน ลีฟ ให้เป็นสัญลักษณ์แห่งรถยนต์ EV เหมือนอย่างที่โตโยต้า เคยทำให้ TOYOTA PRIUS เป็นสัญลักษณ์ของรถยนต์ HYBRID ในตลาดโลกนั้นแบรนด์ของนิสสันถือว่ายังมีปัญหาอยู่มาก กล่าวคือไม่ติด 100 อันดับแรกด้วย แบรนด์นิสสันเป็นรองกระทั่งรถยนต์ฮุนไดของประเทศเกาหลี ที่อยู่ในอันดับ 65 ขณะที่ผู้ผลิตในประเทศรายอื่นๆ เช่นโตโยต้า อยู่ในอันดับที่ 11 ฮอนด้าอยู่ในอันดับที่ 20 นิสสันมอเตอร์หวังว่า LEAF จะทำให้ภาพลักษณ์ของนิสสันโดดเด่นขึ้นในฐานะของผู้นำเทคโนโลยีด้านรถยนต์ไฟฟ้า และเป็นที่จดจำในระดับสากล

เป็นที่น่าจับตามองว่าประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดรถยนต์ที่สำคัญอันดับ 1 ของโลกในปัจจุบัน ก็กำลังเร่งพัฒนาเทคโนโลยีด้านรถยนต์ไฟฟ้าอยู่ โดยในรัฐบาลจีนได้ใช้เงินลงทุนเพื่อวิจัยและพัฒนาไปกว่า 10.5 พันล้านเหรียญแล้ว โดยเฉพาะมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานประกอบรถยนต์ BYD Auto Co., ภาครัฐของจีนได้ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ และได้ใช้เงินในการพัฒนาเทคโนโลยีแล้วกว่า 3 หมื่นล้านหยวนและตั้งเป้าหมายที่จะผลิตรถยนต์ EV ให้ได้ 3 แสนคัน ในปี 2015

ความเคลื่อนไหวของผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นในประเทศไทย

กระทรวงอุตสาหกรรมวางแผนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ในอนาคต ซึ่งสอดรับกับยุทธศาสตร์ของมิตซึบิชิ มอเตอร์ ประเทศไทย ที่จะใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ EV ของบริษัท ที่มีชื่อว่า I-MiEV และ Global Small โดยตัวบริษัทเองได้เร่งสร้างโรงงานประกอบรถยนต์แห่งที่ 3 ในบริเวณนิคมอุตสาหกรรม แหลมฉบัง ซึ่งจะแล้วเสร็จและพร้อมผลิตรถยนต์คันแรกได้ราวเดือนมีนาคม 2012 ในระยะแรกจะทำการผลิตรถยนต์อีโค้คาร์ขนาดเล็กที่มีขนาดเครื่องยนต์ระหว่าง 1.0-1.2 L. และคาดว่าเมื่อเดินสายการผลิตแล้วจะสามารถผลิตรถยนต์ได้ระหว่าง 1.5 แสน- 2 แสนคันต่อปี โรงงานแห่งใหม่ของมิตซึบิชิจะก่อให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ราว 3,000 ตำแหน่ง การเข้าสู่ตลาดของรถยนต์ EV จะเป็นจุดเริ่มต้นของการแข่งขันกันระหว่างรถยนต์ Next Generation กับ รถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง อย่างแท้จริง

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครโอซากา

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ