ปลากระป๋องไทย...แจ่ม...ในยูเออี

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 23, 2010 11:31 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. สินค้า :

อาหารทะเลกระป๋องแปรรูป (H.s. code 1604) ได้แก่ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลาแมคคาเรล ปลาอังโชวี่ ปลาแซลมอน และไข่ปลาคาร์เวียร์

2. ภาวะตลาด:

รูปแบบการบริโภคในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงจากการซื้อหาอาหารและเครื่องปรุงทำอาหาร เปลี่ยนเป็นการซื้ออาหารปรุงสำเร็จ หรืออาหารแปรรูปกึ่งสำเร็จรูป ให้เหมาะกับชีวิตปัจจุบันที่เร่งรีบ ไทยเป็นผู้ผลิตอาหารแปรรูปและอาหารกระป๋องรายสำคัญของโลก อาหารแปรรูป/กระป๋องของไทยในตลาดยูเออี มีสัดส่วนสูงที่สุดคือ ทูน่ากระป๋อง ปลาแมคคาเรล กุ้ง หอยลาย ปูและกุ้งกระป๋องในน้ำเกลือ ปลากระป๋องนอกจากเป็นอาหารสะดวกรับประทานแล้ว น้ำมันปลาที่มีอยู่ในปลาเหล่านี้ช่วยรักษาให้โรคไขข้ออักเสบบรรเทาลง

2.1. ภาวะการนำเข้า :

ภาพรวมการนำเข้าอาหารทะเลกระป๋องเมื่อปี 2009 ลดลงเพราะผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ ยูเออีนำเข้าอาหารทะเลแปรรูปผ่านรัฐดูไบและเขตอุตสาหกรรมพิเศษจีเบลอาลี มูลค่าสูงสุด หรือคิดเป็นร้อยละ 70 ของการนำเข้าของประเทศ

จากสถิติการนำเข้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ประมงแปรรูปของยูเออีในช่วง 3 ปี (2007-2009) และการนำเข้าจากไทยสัดส่วนตลาด มีมูลค่าเปลี่ยนแปลง พอสรุปได้ดังนี้

มูลค่า ล้านเหรียญสหรัฐฯ

H.S. 1604          มูลค่า     M.S.%      มูลค่า     M.S.%      มูลค่า     M.S.%     Increase    Increase
                   2007                2008                2009               2008/07     2009/08
                                                                                +-%         +-%
นำเข้ารวม           35.9                49.2                  32                 37.2       -13.9
นำเข้าจากไทย        17.3    48.20%      35.4    72.00%      19.1     59.70%       104         -46

2.2. การส่งออกต่อ(Re-export) :

รัฐดูไบเป็นแหล่งที่ตั้งสำคัญของผู้นำเข้าที่เป็นผู้ดำเนินการสั่งซื้อปลากระป๋องโดยมีปลาทูน่ากระป๋อง เป็นสินค้ายอดนิยม รองลงไปคือปลาซาร์ดีนกระป๋อง แล้วจัดส่งไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง อัฟริกา กลุ่มประเทศซีไอเอส ประเทศอิหร่าน โดยเฉพาะตลาดซาอุดิอาระเบียที่มีการนำเข้าปลาทูน่ากระป๋องมีมูลค่าสูง สินค้ากว่าร้อยละ 70 นำเข้าผ่านผู้นำเข้าในรัฐดูไบ เขตอุตสาหกรรมพิเศษจีเบลอาลี จึงไม่มีการประมวลสถิติปริมาณและมูลค่าการนำเข้ารวมไว้ในสถิติที่ระบุไว้ในตารางข้างต้น

ประเทศอื่นๆที่ยูเออีส่งออกต่อในปี 2009 ได้แก่ ประเทศอาเซอร์ไบจัน เยอรมัน โซมาเลีย อิรัค กาตาร์ สหรัฐฯ โอมาน คูเวต และซาอุดิอาระเบีย เป็นต้น มูลค่าการส่งออกปี 2009 7.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปริมาณ 1,319 ตัน การส่งออกต่อหดตัวลงจากปี 2008 ร้อยละ 55 ของมูลค่าและร้อยละ 42 ของปริมาณ

3. ลักษณะสินค้า/ราคา

ชนิดของปลากระป๋องที่ยูเออีนำเข้า ได้แก่ ปลาทูน่า White meat และ Light meat ชนิดชิ้นใหญ่ หรือ solid pack ชนิดชิ้นเล็ก หรือ chunk นิยมที่มีส่วนผสมน้ำมันพืช (เมล็ดทานตะวัน) น้ำมันมะกอก น้ำเกลือ Spring Water ขนาดบรรจุ ได้แก่ 100 กรัม 180 กรัม และ 200 กรัม และ 450 กรัม

ราคาจำหน่าย

ปลาทูน่ากระป๋อง

          ขนาดบรรจุ 180 กรัม 0.70-1.50 เหรียญสหรัฐฯ          ยี่ห้อของไทย ฟิลิปปินส์
          ขนาดบรรจุ 200 กรัม 1.20-2.00 เหรียญสหรัฐฯ          ยี่ห้อของไทย ฟิลิปปินส์
          ขนาดบรรจุ 180 กรัม 2.00-5.00 เหรียญสหรัฐฯ          ยี่ห้อของอังกฤษ

ปลาซาร์ดีนกระป๋อง ในซอสมะเขือเทศ/น้ำมันพืช/น้ำเกลือ

          ขนาดบรรจุ 125 กรัม 0.70-1.50 เหรียญสหรัฐฯ          ยี่ห้อของไทย ฟิลิปปินส์
          ขนาดบรรจุ  75 กรัม      3.40 เหรียญสหรัฐฯ          ยี่ห้อของอังกฤษ

ปลาแมคคาเรลกระป๋อง ในซอสมะเขือเทศ/น้ำมันพืช/น้ำเกลือ

          ขนาดบรรจุ 180 กรัม 0.70-2.50 เหรียญสหรัฐฯ          ยี่ห้อของไทย

4. คู่แข่งขัน

ไทยเป็นผู้ส่งออกปลากระป๋องไปยูเออีมูลค่ามากเป็นอันดับหนึ่ง ติดต่อกันมาหลายปี แต่ในเชิงส่วนแบ่งตลาดในปี 2009 ลดลงเหลือร้อยละ 60 เมื่อเทียบกับปี 2008 ที่มีมากกว่าร้อยละ 70 ประเทศอื่นๆที่เข้าไปช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดเพิ่มมากขึ้น ได้แก่

  • ฟิลิปปินส์คู่แข่งขันสำคัญที่มีความได้เปรียบกว่าไทย ทั้งทางด้านวัตถุดิบและค่าแรงถูกกว่า สามารถแบ่งสัดส่วนตลาดปี 2008 ที่ 5.5% เป็น 12.3% ในปี 2009 สินค้าส่วนใหญ่เป็นปลาซาร์ดีนในน้ำมัน/น้ำเกลือ และซอสมะเขือเทศ และชนิดปรุงรสแบบอาหารฟิลิปปินส์ เพื่อจำหน่ายให้คนฟิลิปปินส์จำนวนหลายแสนคนที่ทำงานอยู่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง เช่น รส Calamansi, Caldereta, Adoba และ Hot & Spicy เป็นต้น
  • อังกฤษ ส่งออกปลาทูน่า/ปลาซาร์ดีน/ปลาแซลมอนกระป๋องในน้ำเกลือ น้ำแร่ มายองเนส และน้ำมันมะกอก
  • ไข่ปลาคาร์เวียร์จากรัสเซียและอิหร่าน จัดอยู่ในกลุ่มสินค้านี้
  • โมรอคโคส่งออกปลาซาร์ดีน และปลาแองโชวี่ในน้ำมันมะกอก

นอกจากนี้มีประเทศเยเมนและอิหร่านที่ส่งออกปลาทูน่ากระป๋องไปยูเออีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเยเมนหากได้รับการส่งเสริมที่ดีจะสามารถเป็นคู่แข่งสำคัญในตลาดนี้

สินค้าของไทยที่วางจำหน่ายในยูเออี มีชนิดที่ใช้แบรนด์ของไทยเองในการส่งออก และรับจ้างผลิตให้กับแบรนด์ของยูเออี หรือประเทศอื่นๆ ขณะนี้ปลาซาร์ดีนกระป๋องจากไทยมีการนำเข้าลดลงมากเพราะมีราคาสูง ส่วนปลาแมคคาเรลลักษณะคล้ายกับปลาทูในซอสมะเขือเทศของไทยไม่เป็นที่นิยมบริโภคนัก

5. ช่องทางการนำเข้า/การตลาด/การจัดจำหน่าย

การนำเข้าปลากระป๋องในรัฐดูไบ มีช่องทางการจำหน่ายที่ไม่สับสน โดยผู้นำเข้า และบางส่วนจะเป็นผู้นำเข้าดำเนินการในลักษณะ Commission Agent และในขณะเดียวกันก็เป็นผู้ค้าส่งอีกด้วย โดยนำเข้ามาจำหน่ายผ่านห้างซูปเปอร์มาร์เก็ต ที่มีสาขาหรือ Co-operative ที่มี กระจายอยู่ทุกรัฐในยูเออีเพื่อจำหน่ายต่อให้กับผู้บริโภค

6. เงื่อนไขและกฎระเบียบการนำเข้า

  • ภาษีนำเข้าร้อยละ 5
  • ผู้ซื้อนิยมให้เสนอราคา C&F เป็นเงินเหรียญสหรัฐฯ
  • บนฉลากปลากระป๋องต้องระบุวันผลิต/วันหมดอายุนับแต่วันผลิต 12 เดือน
  • หากปลากระป๋องบรรจุในน้ำมันพืชหรือมีส่วนผสมน้ำมันผู้ผลิตจะต้องระบุว่า เป็นน้ำมันพืช หรือชนิดของน้ำมันที่ใช้
  • มาตรการกีดกันทางการค้า : ไม่มี
  • วิธีการชำระเงิน : L/C
  • การขนส่ง : ขนส่งทางเรือ

7. สรุป ปัญหาและข้อเสนอแนะ

7.1. ตลาดปลาทูน่ากระป๋องยังเปิดกว้าง แม้ว่าจะไม่มีการประชาสัมพันธ์ ขยายตลาด แต่ผู้ซื้อสามารถนำไปปรุงอาหารได้หลายประเภทรับประทานได้ทุกศาสนาใช้ทดแทนอาหารสดเป็นอาหารที่สามารถกักตุนไว้รับประทานในทุกสภาวะ ผู้จ้างงาน นิยมซื้อปลากระป๋องปรุงเป็นอาหารให้คนงานในแคมป์

7.2. แนวโน้มว่าความต้องการปลาทูน่าในน้ำเกลือจะเพิ่มขึ้นมากกว่าในน้ำมัน กรณีใช้น้ำมันควรเป็นน้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน เพราะปัจจุบันผู้บริโภคในยูเออี ได้เริ่มหันมาใส่ใจในคุณประโยชน์ และตระหนักในความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหารมากขึ้น

7.3. การส่งออกสินค้าอาหารไปกลุ่มประเทศ GCC มีระเบียบเข้มงวดในการตรวจสอบมาตรฐานด้านสุขอนามัยของประเทศคู่ค้า และให้ความสำคัญกับฉลากอาหารที่จะต้องระบุข้อมูลตามกฎระเบียบที่กำหนดไว้ ผู้ผลิตไทยจะต้องรักษาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าให้คงที่

7.4. การออกแบบฉลากบรรจุภัณฑ์ที่แสดงรูปสินค้าสวยงามน่ารับประทาน ระบุ ข้อมูลผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ส่วนผสมในอาหาร ชื่อ/ประเทศผู้ผลิต และข้อมูลโภชนาการที่ได้รับจากอาหาร รวมถึงจะเน้นคุณสมบัตอื่นๆเพิ่มอีก เช่น สินค้าอุดมด้วย Omega 3, High in Protine, Rich in DHA เป็นต้น ทุกข้อความเป็นภาษาอังกฤษและอาระบิค (หรือพิมพ์กำกับภาษาอาระบิคบนสติกเกอร์) เพื่อให้เป็นไปตามกฎระเบียบการนำเข้าและเพื่อส่งเสริมการตลาดอีกด้วย

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่งประเทศ ณ เมืองดูไบ

ที่มา: http://www.depthai.go.th


แท็ก ยูเออี  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ