“รถยนต์ไฟฟ้า: Electric Car” ตลาดสินค้ายานยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบในสหรัฐอเมริกา

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 23, 2010 11:51 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ภาวะตลาด

อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของสหรัฐฯ ได้รับความสนใจมานานกว่า 10 ปี แต่ไม่ขยายตัวมากนัก เนื่องจาก ยังไม่ประสบปัญหาในเรื่องราคาน้ำมันถึงขั้นวิกฤต อย่างไรก็ตาม กระแสการรณรงค์รักษาสภาพแวดล้อมที่ขยายวงกว้างมากขึ้น ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศเป็นนโยบาย แห่งชาติในด้านการส่งเสริมการใช้ Renewable Energy และเป็นปัจจัยส่งเสริมต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐฯ ซึ่งจะกลายเป็นนวัตกรรมยานยนต์ที่ประหยัดพลังงานและปล่อยมลพิษออกสู่บรรยากาศได้น้อย

อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเริ่มขยายตัวในอัตราสูงในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบัน ผู้ผลิตรถยนต์ทั้งของสหรัฐฯ Ford และ General Motor และจากต่างประเทศ เช่น Toyota, Nissan และ Honda รวมทั้งผู้ผลิตรายใหม่ที่เข้าตลาด เช่น Tesla และ Fisker เป็นต้น ปัจจุบัน ตลาดรถไฟฟ้ามีมูลค่าตลาดประมาณ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

รัฐบาลสหรัฐฯ จัดสรรเงินงบประมาณเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โดยรัฐสภาสหรัฐฯ ออกพระราชบัญญัติ The Energy Act 2007 ตั้งงบประมาณ 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อุดหนุนและให้กู้แก่อุตสาหกรรมการผลิตและพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า รวมไปถึงการจัดงบประมาณ 2,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นเงินกู้แก่การอุตสาหกรรมการแบตเตอรี่สำหรับรถไฟฟ้าของสหรัฐฯ

นอกจากนั้น ภาคธุรกิจเอกชนให้การสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ เช่น บริษัท General Electric ประกาศซื้อรถไฟฟ้าจำนวน 25,000 คัน เพื่อนำมาใช้เป็นรถให้บริการลูกค้าบริษัทเอกชนรายอื่นๆ ให้ความสนใจต่อการใช้รถไฟฟ้า เช่น Microsoft, Fedex เป็นต้น

แนวโน้มและความต้องตลาดรถยนต์ไฟฟ้า

บริษัทที่ปรึกษา J.D. Powers & Associated ได้รายงานผลศึกษาแนวโน้มตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐฯ ว่า ความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าในอีก4 ปีข้างหน้า (2558) จะมีมูลค่าตลาดจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนตลาดประมาณร้อยละ 10 ของตลาดรถยนต์ของสหรัฐฯ และสหรัฐฯ จะเป็นตลาดรถไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดของโลก มลรัฐแคลิฟอร์เนียจะเป็นผู้นำตลาดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญและใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ คาดว่าจะมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั้งแบบ Hybrid และ Plug-in ประมาณ 1 ล้านคันภายในในปี 2563

นอกจากนั้นแล้ว สหรัฐฯ จะเป็นผู้นำในการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าไปต่างประเทศ โดยตั้งเป้าหมายส่งไปตลาดแคนาดาและเม็กซิโกเป็นลำดับที่ 1 ตลาดยุโรปเป็นตลาดอันดับที่ 2 และ ตลาดจีนเป็นลำดับที่ 3

ปัจจุบัน ผู้ผลิตรถยนต์สหรัฐฯ เช่น General Motor, Ford และ Chrysler หันมาทุ่มเทงบประมาณในการพัฒนารถยนต์ ไฟฟ้า และชะลอการขยายการผลิตรถใช้แก้สโซลีน โดยปิดโรงงานผลิตรถใช้น้ำมัน และ หันไปผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแทน นอกจากนั้น บริษัท General Motor ลงทุน 4,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ใช้สำหรับรถไฟฟ้า

สหรัฐฯ จะนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า จากบริษัท BYD Auto ของประเทศจีน ซึ่ง Mr. Warren Buffet, CEO บริษัท Berkshire Hathaway ถือหุ้นประมาณร้อยละ 10 มาจำหน่ายในสหรัฐฯในปี 2555

ปัญหาและอุปสรรค

1. การผลิต Battery และ Fuel Cell ในสหรัฐฯ ยังอยู่ในระดับต่ำ และต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น จากญี่ปุ่น และ เยอรมัน

2. การคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยี่ Battery และ Fuel Cell ในสหรัฐฯ เพิ่งเริ่มขยายตัว ในขณะที่ญี่ปุ่นและกลุ่มประเทศยุโรปได้พัฒนามานานแล้ว

3. สถานที่เติมพลังงานไฟฟ้า (Charging/Plug-in Station) ยังมีจำนวนจำกัด รถไฟฟ้าบางประเภทไม่สามารถ Plug-in ไฟฟ้าใช้ตามบ้านได้ทันที ต้องมีการปรับปรุงและติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติม และมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในส่วนนี้

4. ครัวเรือนที่ใช้รถไฟฟ้าจะต้องติดตั้ง Home Charging Station (240-Volts) ซึ่งจะสะดวกกว่าการชาร์จจากไฟบ้านโดยตรง (110 Volt) ซึ่ง Home Charging Station มีค่าใช้ในการติดตั้งประมาณ 2,000 — 4,000 เหรียญสหรัฐฯ เพิ่มจากราคารถยนต์

5. ครัวเรือนที่เช่าอพาร์ทเม้นท์หรืออยู่คอนโดมิเนียมเปน็ ที่อาศัย อาจจะหมดโอกาสซื้อรถไฟฟ้ามาใช้ หากเจ้าของตึกหรือฝ่ายบริหารไม่อนุญาตให้ติดตั้ง Charging Station

6. ปัจจุบัน สถานีชาร์จไฟฟ้าสาธารณะ (Public Charging Station) ในสหรัฐฯ ยังมีจำนวน จำกัด คาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 แห่ง ภายในปี 2554 และส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย

วิเคราะห์ SWOT อุตสหกรรมรถไฟฟ้าของสหรัฐฯ

Strength:

1. ประหยัดพลังงานและค่าใช้จ่าย เนื่องจากค่าไฟฟ้ามีราคาต่ำ

2. มีความปลอดภัยสูงกว่ารถยนต์ใช้แก้สโซลีน

3. กลไจขับเคลื่อนราบรื่น เครื่องยนต์เงียบ

4. ก่อให้เกิดมลภาวะต่ำ

5. พื้นที่ภายในรถมีมากขึ้น ถึงแม้ว่า ตัวรถจะดูมีขนาดเล็ก (เมื่อเทียบกับรถขนาดเดียวกัน)

Weakness:

1. สถานีสาธารณะ Plug-in ไฟฟ้า ยังมีจำนวนน้อยโดยเฉพาะในเขตตอนกลางและตะวันออกของสหรัฐฯ

2. ต้องใช้ช่างที่มีความชำนาญโดยเฉพาะ เป็นผลให้ต้นทุนดูแลรักษาสูงกว่ารถยนต์ทั่วไป

3. ความเชื่อมั่นในอายุการใช้งานของ Battery & Fuel Cell ยังอยู่ในระดับต่ำ

Opportunities:

1. Fuel Cell & Battery เป็นเทคโนโลยี่ที่รองรับความต้องการพลังงานในอนาคต

2. ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดในเรื่องความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

3. รัฐบาลสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือผู้บริโภคในด้าน Tax Reduction Incentive

Threats:

1. รถยนต์มีราคาสูงกว่ารถยนต์ที่ใช้แก้สโซลีนเมื่อเทียบกับรถขนาดเดียวกัน

2. ถ้าราคาแก้สโซลีนลดลงอย่างต่อเนื่อง จะเป็นผลให้ผู้บริโภคหันกลับไปใช้รถยนต์แก้สโซลีนแทนรถไฟฟ้า และความต้องการลดไฟฟ้าจะ ลดลงไป

ข้อคิดเห็นและเสนอแนะ

ปัจจุบัน ยุคความนิยมเครื่องยนต์น้ำมันเชื้อเพลิงเริ่มลดความสำคัญลง พลังงานทดแทนชนิดใหม่ -พลังงานไฟฟ้า- เข้ามาแทนที่และได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งหากรถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้ามีความนิยมกว้างขวางมากขึ้น จะส่งผลกระทบต่อความต้องการชิ้นส่วนประกอบหรือทดแทนส่วนที่สึกหรอ เครื่องยนต์ที่จะลดจำนวน เนื่องจาก รถยนต์ไฟฟ้ามีชิ้นส่วนเครื่องยนต์เพียง 5 ชิ้น ในขณะที่รถยนต์ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงมีชิ้นส่วน/ประกอบมากว่า 100 ชิ้น

ประเทศไทย เป็นแหล่งผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และส่วนประกอบยานยนต์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก สหรัฐฯนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์และส่วนประกอบจากประเทศไทยเป็นมูลค่าประมาณ 1,450 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 (มกราคม-กันยายน) ดังนั้น การขยายตัวของรถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อการนำเข้า ชิ้นส่วนยานยนต์ของสหรัฐฯ จากประเทศไทย ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของไทยจึงควรดำเนินการในด้านการศึกษาตลาดชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าในเชิงลึกเพื่อนำไปปรับแผนกลยุทธ์การส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์และส่วนประกอบในอนาคต รวมทั้งการศึกษาลู่ทางการลงทุน/ร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมเบตเตอรี่รถไฟฟ้าในสหรัฐฯ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามความต้องการ

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครชิคาโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ