อัตราเงินเฟ้อ-ปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 27, 2010 14:17 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สภาวะทั่วไป

เมื่อ 2 ปีก่อน ผู้นำในเอเชียต้องกังวลถึงเรื่องเศรษฐกิจที่ถดถอยในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งถึงขณะนี้เริ่มฟื้นตัวและคาดว่า จะกลับสู่สภาวะที่ดีได้ภายในปี 2554 แต่ปรากฎว่า มีปัจจัยสำคัญเข้าแทรกซ้อน คือ อัตราเงินเฟ้อ ซึ่งจะส่งผลทางอ้อมต่อการเติบโตเศรษฐกิจ ทำให้ประเทศต่างๆในเอเชียเริ่มปรับนโยบายเพื่อช่วยให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ดี

นักเศรษฐศาสตร์มีความเห็นว่า อัตราเงินเฟ้อเริ่มเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อสภาวะความมั่นคงของเศรษฐกิจในเอเชีย สิ่งสำคัญที่ส่งให้อัตราเงินเฟ้อแปรปรวน คือ ภัยธรรมชาติที่ทำให้สินค้าอาหารขาดแคลน ส่งผลให้สินค้ามีราคาสูงขึ้นและผลต่อเนื่องทำให้ food price index อยู่ในระดับที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ประเทศเศรษฐกิจใหม่ในเอเชีย (Emerging Asia) ได้แก่ อินเดีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ จะได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากสัดส่วนของอาหารคิดเป็นร้อยละ 40-60 ของการบริโภคในประเทศ

ปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องพึงระวังควบคู่ไปกับอัตราเงินเฟ้อ คือ การที่มีเงินทุนหมุนเวียนสู่เอเชียเพิ่มมากขึ้น เพราะนักลงทุนหันมาพึ่งอัตราดอกเบี้ยในประเทศเศรษฐกิจตะวันออกแทนตะวันตก อีกทั้ง คาดหวังถึงการพิมพ์ธนบัตรอีกรอบหนึ่งของสหรัฐฯ ที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า “quantitative easing” ที่ทำให้ค่าเงิน green back ลดลงไปอีก และทำให้นักลงทุนหันเข้าสู่เอเชียเพื่อหาผลกำไรที่สูงกว่า ไม่เพียงแต่ในด้านเงินตราเท่านั้น จะเพิ่มไปสู่ด้านอสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้นอีกด้วย ซึ่งจะทำให้ราคาสินค้าดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นอีก ดังนั้น สิงคโปร์ ฮ่องกง และจีน ได้มีมาตรการควบคุมและพร้อมเสมอที่จะเข้าแทรกแซงเพื่อไม่ให้กลุ่มอสังหาริม- ทรัพย์แตกฟองสบู่ และส่งผลต่อไปถึงการเพิ่มสูงขึ้นของราคาอาหาร พลังงาน และสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งจะเป็นกลไกให้อัตราเงินเฟ้อมีระดับที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ในปัจจุบัน ยังไม่น่ากังวลว่าจะเป็นสภาวะเดียวกันกับในปี 2550 เนื่องจาก ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจทั่วโลกเติบโตขึ้น ส่วนในปัจจุบัน เศรษฐกิจในเอเชียมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก แต่ในสหรัฐฯ ยุโรปและญี่ปุ่น การเติบโตเศรษฐกิจชะลอตัวลง

สภาวะในสิงคโปร์

หน่วยงาน Monetary Authority of Singapore (MAS) มีความเป็นห่วงในราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากเป็นตัวชี้วัดสำคัญที่ใช้ในการวัดอัตราเงินเฟ้อ นอกจากราคาที่พักอาศัย และค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคต้องรับภาระในราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น

อัตราเงินเฟ้อของสิงคโปร์ยังคงเพิ่มขึ้น ดัชนีผู้บริโภค (Consumer Price Index : CPI ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 ในเดือนสิงหาคม 2553 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า หากเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 ซึ่งมีสาเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายด้านการคมนาคมขนส่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 (เดือนสิงหาคม 2553) อีกทั้ง โควต้า COE (ค่าป้ายทะเบียนรถยนต์) ได้ทำให้ราคารถยนต์สูงขึ้น สำหรับราคาที่พักอาศัย เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 ราคาอาหาร เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 และราคาเสื้อผ้าและรองเท้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 MAS มีมาตรการปรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา เพื่อต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อและให้เศรษฐกิจมีการเติบโตเพิ่มขึ้น (ส่วนธนาคารแห่งชาติอื่นๆใช้การปรับอัตราดอกเบี้ย) แต่นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า หากอัตราเงินเฟ้อมิใช่ปัจจัยสำคัญที่ต้องเป็นห่วง MAS จะใช้นโยบายเดิมที่ให้ค่าเงินสิงคโปร์มีความแข็งแกร่งขึ้นต่อไป และนักเศรษฐศาสตร์บางกลุ่มเชื่อว่า ความกังวลในการหาวิถีทางทำให้เศรษฐกิจเติบโตในช่วงเวลา 12-15 เดือนข้างหน้าจะทำให้เรื่องอัตราเงินเฟ้อเป็นเรื่องเล็กที่ไม่ต้องน่ากังวล ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้น อาจถึงร้อยละ 4 ในปี 2553 ซึ่งเป็นอัตราที่อยู่ในความคาดหวังของ MAS (ร้อยละ 2.5-4.0) โดยปัจจัยราคาที่กดดันส่วนใหญ่มาจากการค้าภายในประเทศ มีเพียงร้อยละ 20-25 ของอัตราเงินเฟ้อมาจากการนำเข้า ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงนโยบายการคลังคงจะไม่ใช่วิธีที่เหมาะสมในการลดระดับอัตราเงินเฟ้อ

สำหรับค่าเงินเหรียญสิงคโปร์ ที่อัตราการแลกเปลี่ยนกับค่าเงินสกุลอื่นๆ เช่น เหรียญสหรัฐฯ ยูโร และเงินเยน ได้มีค่าสูงขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายน 2553 โดยอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 22 กันยายน 2553 เท่ากับ 1.3263 เหรียญสิงคโปร์ต่อ 1 เหรียญสหรัฐฯ

นักเศรษฐศาสตร์สิงคโปร์คาดว่า การเพิ่มขึ้นของเงินเดือน/ค่าจ้างในปี 2554 จะมีอัตราประมาณร้อยละ 4 (ปี 2553 ค่าจ้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1) ซึ่งจะไม่ส่งผลให้เงินที่เพิ่มขึ้นมีมูลค่าสูงแต่อย่างใด เนื่องจากได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่คาดการณ์ไว้ร้อยละ 2.4 ส่งผลให้การขึ้นเงินเดือน/ค่าจ้างตามความเป็นจริงมีค่าเพียงร้อยละ 1.6 เท่านั้น ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำกว่าพนักงานได้รับประสบการณ์การขึ้นเงินเดือนในช่วงเศรษฐกิจถดถอยในปี 2550 (ร้อยละ 2.9) และยังต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยของการเพิ่มเงินเดือน/ค่าจ้างในภูมิภาค (ร้อยละ 2.4 จากการสำรวจแนวโน้มเงินเดือน/ค่าจ้างของ ECA International)

ตารางแสดงอัตราเงินเฟ้อของสิงคโปร์ ปี 2533-2552

   ปี        ดัชนีราคาผู้บริโภค (2552=100)        อัตราเงินเฟ้อ (%)
  2533                73.8                        3.4
  2534                76.3                        3.4
  2535                78.1                        2.3
  2536                79.8                        2.3
  2537                82.3                        3.1
  2538                83.7                        1.7
  2539                84.9                        1.4
  2540                86.6                         2
  2541                86.4                       -0.3
  2542                86.4                         0
  2543                87.6                        1.3
  2544                88.4                         1
  2545                88.1                       -0.4
  2546                88.5                        0.5
  2547                 90                         1.7
  2548                90.4                        0.5
  2549                91.3                         1
  2550                93.2                        2.1
  2551                99.4                        6.6
  2552                 100                        0.6
Source: Singapore Department of Statistics
Last updated: 19 Feb 2010

ข้อสังเกต

(1) นักเศรษฐศาสตร์สิงคโปร์ให้ความเห็นว่า อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นยังไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะทำให้ Monetary Authority of Singapore (MAS) ปรับเปลี่ยนนโยบายการแลกเปลี่ยนเงินตราแต่อย่างใด เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันเป็นการเปรียบเทียบกับพื้นฐานของปีก่อนหน้าที่มีอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ

(2) MAS อยู่ในระหว่างการพิจารณาปรับการคิดอัตราเงินเฟ้อใหม่ โดยไม่รวมค่าที่พักอาศัยและค่ารถยนต์ส่วนตัว ซึ่งคาดว่า อัตราเงินเฟ้อของปี 2553 ประมาณร้อยละ 1-2

(3) ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค เงินเดือน/ค่าจ้างในปี 2553 เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 5.2 และคาดการณ์ว่า ในปี 2554 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 และอาจจะมีการเพิ่มขึ้นต่อๆไปจนถึงระดับสูงของภูมิภาคที่เคยเพิ่มขึ้นในปี 2551 ร้อยละ 6.9

(4) อัตราการเพิ่มเงินเดือน/ค่าจ้างของทั่วโลกโดยเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 หรืออาจจะเพิ่มขึ้นไปถึงร้อยละ 5.2 อย่างไรก็ตาม บริษัทร้อยละ 4 ของจำนวนบริษัททั่วโลกมีนโยบายไม่เพิ่มเงินเดือนในปี 2554

ที่มา : International Enterprise Singapore และ The Straits Times

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ สิงคโปร์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ