รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจและภาวะการค้าภูมิภาคอาเซียน ประเทศสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 16-30 พฤศจิกายน 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 27, 2010 16:21 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ประเทศสิงคโปร์

ประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและภาวะการค้าระหว่างวันที่ 16-30 พฤศจิกายน 2553

เศรษฐกิจ-ภาวะการค้า

1. การค้าระหว่างประเทศของสิงคโปร์ช่วงเดือน มค.-กย. 2553 มีมูลค่ารวม 485,545.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.03 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 256,806.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.72 และมูลค่าการนำเข้า 228,738.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.16 โดยประเทศคู่ค้านำเข้า 10 อันดับแรกได้แก่ มาเลเซีย สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ซาอุดิอาระเบีย ไทย และฟิลิปปินส์ สำหรับประเทศคู่ค้าส่งออก 10 อันดับแรกได้แก่ มาเลเซีย ฮ่องกง จีน อินโดนีเซีย สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ไทย และไต้หวัน

2. การค้าระหว่างสิงคโปร์กับไทยช่วงเดือน มค.-กย. 2553 สิงคโปร์ยังคงได้เปรียบดุลการค้ากับไทย มูลค่า 1,704.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.78 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา มูลค่า 1,323.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยสิงคโปร์ส่งออกไปยังไทยคิดเป็นมูลค่า 9,366.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.79 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าและไทยเป็นคู่ค้าส่งออกอันดับที่ 9 สินค้าส่งออก 10 อันดับแรกเรียงลำดับตามมูลค่า ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า สื่อบันทึกข้อมูล/ภาพ/เสียง ส่วนประกอบและอุปกรณ์ของเครื่องจักรกล เครื่องพิมพ์และเครื่องจักรที่ใช้ประกอบการพิมพ์ น้ำมันสำเร็จรูป อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์และไดโอด เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าป้องกันวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้า ของผสมมีกลิ่นหอมใช้ผลิตอาหารและเครื่องดื่ม และเคมีภัณฑ์ไซคลิกไฮโดรคาร์บอน และสิงคโปร์นำเข้าจากไทยมูลค่า 7,661.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.01 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 3.35 โดยนำเข้าจากไทยเป็นอันดับที่ 9 สินค้านำเข้า 10 อันดับแรกเรียงลำดับตามมูลค่า ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป แผงวงจรไฟฟ้า ส่วนประกอบและอุปกรณ์ของเครื่องจักรกล เครื่องคอมพิวเตอร์/อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องพ่นหรือฉีดเชื้อเพลิงของเตาเผา เครื่องโทรสาร/โทรพิมพ์/โทรศัพท์/อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศ อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์และไดโอด มอเตอร์/เครื่องกำเนิดไฟฟ้า และข้าว

3. แนวโน้มการนำเข้าสินค้าไทยของสิงคโปร์ ปี 2553 สืบเนื่องจากการแข็งค่าของเงินบาท ส่งผลต่อการนำเข้าสินค้าจากไทยดังนี้ (1)การนำเข้าสินค้าเกษตร และอาหาร จะได้รับผลกระทบมาก คาดว่า ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2553 เป็นต้นไป สินค้าที่นำเข้าจะมีราคาสูงขึ้นประมาณร้อยละ 5-7 โดยเฉพาะสินค้าผัก/ผลไม้สด อาหารกระป๋อง อาหารทะเลแช่เย็น/แช่แข็ง ข้าวหอมมะลิ เนื่องจากสิงคโปร์ต้องพึ่งการนำเข้าจากไทยเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ หากราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นอีก ผู้นำเข้าบางรายอาจหันไปนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารจากประเทศผู้ผลิตอื่นๆในภูมิภาคที่มีค่าเงินอ่อนลง เพื่อให้สินค้านำเข้ามีราคาที่สามารถแข่งขันได้ในตลาดสิงคโปร์ (2) กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม คาดว่า ปริมาณการนำเข้าจะคงที่ หรืออาจจะเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปริมาณการสั่งซื้อที่สิงคโปร์จะได้รับจากยุโรปและสหรัฐฯ (3) สำหรับสินค้าชนิดอื่นๆ (นอกเหนือจากสินค้าเกษตรและอาหาร) ผู้นำเข้าสิงคโปร์อาจจะลดปริมาณนำเข้าจากไทย และหันไปนำเข้าจากประเทศผู้ผลิตอื่นๆ ที่ค่าเงินแข็งขึ้นน้อยกว่าไทย(ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน อินเดีย และจีน) รวมถึงประเทศที่มีค่าเงินอ่อนลง (เวียดนาม พม่า และฮ่องกง) (4) อย่างไรก็ตาม การนำเข้าสินค้าจากประเทศคู่ค้าอื่นๆของสิงคโปร์ โดยเฉพาะจากมาเลเซีย ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย คาดว่า สินค้าจะมีราคาสูงขึ้นกว่าปัจจุบันประมาณร้อยละ 6-8

4. คาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจสิงคโปร์ ปี 2553 สำหรับในช่วงที่เหลือของปี 2553 คาดว่า การเติบโตเศรษฐกิจส่วนใหญ่จะได้รับการสนับสนุนจาก 2 ภาคสำคัญ คือ ภาคอุตสาหกรรมการผลิตสินค้า Biomedical ที่มีผลผลิตมากและมูลค่าสูง และภาคการบริการด้านการเงินที่ได้รับการส่งเสริมจากกิจการธนาคารและการประกันภัย ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัว เพิ่มขึ้น โดยกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมได้คาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจปี 2553 ประมาณร้อยละ 15.0

5. คาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจสิงคโปร์ ปี 2554 กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์คาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจของสิงคโปร์ในปี 2554 จะมีการเติบโตประมาณร้อยละ 4.0-6.0 โดยคาดว่า สภาวะเศรษฐกิจภายในภูมิภาคจะเป็นปัจจัยส่งเสริมการเติบโตเศรษฐกิจ แต่การขยายตัวจะเป็นไปอย่างช้าๆและอยู่ในระดับที่มั่นคง ธุรกิจการลงทุนฟื้นตัวและเริ่มดีขึ้น เนื่องจากภาครัฐให้การสนับสนุนนโยบายการเงินเกี่ยวกับที่พักอาศัย ซึ่งยังมีความต้องการมากขึ้นเรื่อยๆในประเทศพัฒนาแล้ว แต่ความแข็งแกร่งของการฟื้นตัวอาจจะถูกกดกันโดยอัตราการจ้างงานที่สูงขึ้น และการเงินของครอบครัวที่รายได้มีค่าเงินลดลง ทั้งนี้ ในภูมิภาคเอเชีย ความต้องการภายในประเทศคาดว่า จะเพิ่มสูงขึ้นมาก เนื่องจากนโยบายของภาครัฐสนับสนุนให้มีการปรับค่าจ้างเพิ่มขึ้น สำหรับในสิงคโปร์การที่มีโรงงานผลิตสินค้าและแหล่งท่องเที่ยว พักผ่อนหย่อนใจเพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญส่งผลกระตุ้นให้การค้าทั้งที่เป็นตัวสินค้าและการบริการ (ได้แก่ การท่องเที่ยว และการเงิน) ภายในประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ความต้องการสินค้าจากต่างประเทศและในภูมิภาคจะเป็นตัวสนับสนุนอีกแรงหนึ่งด้วย อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจทั่วโลกรวมถึงสิงคโปร์ ยังคงต้องพึงระวังปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ การผันผวนของเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ และหนี้สินของ EU นอกเหนือจากปัจจัยเสี่ยงด้านน้ำมันที่มีราคาผันแปร และภัยธรรมชาติ

6. อัตราเงินเฟ้อของสิงคโปร์เดือนตุลาคม 2553 Consumer Price Index (CPI) เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า (เดือนกันยายน 2553 ร้อยละ 3.7) โดยสาเหตุจากการเพิ่มราคาขึ้นของการคมนาคม (ร้อยละ 9.5) ที่พักอาศัย (ร้อยละ 3.5) การศึกษา (ร้อยละ 3.6) สุขอนามัย (ร้อยละ 2.6) การพักผ่อนหย่อนใจ (ร้อยละ 2.4) อาหาร (ร้อยละ 1.7) เสื้อผ้า+รองเท้า (ร้อยละ 1.2) การสื่อสาร (ร้อยละ -2.1) นอกจากนี้ ยังมีผลมาจากค่าใช้จ่ายการท่องเที่ยวและค่าจ้างคนรับใช้ที่เพิ่มขึ้นอีก ทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น

ตารางแสดงอัตราเงินเฟ้อของสิงคโปร์ ปี 2542-2552
   ปี        ดัชนีราคาผู้บริโภค (2552=100)        อัตราเงินเฟ้อ (%)
  2542                86.4                         0
  2543                87.6                        1.3
  2544                88.4                         1
  2545                88.1                       -0.4
  2546                88.5                        0.5
  2547                 90                         1.7
  2548                90.4                        0.5
  2549                91.3                         1
  2550                93.2                        2.1
  2551                99.4                        6.6
  2552                 100                        0.6
Source: Singapore Department of Statistics  Last updated: 19 Feb 2010

7. ผลผลิตอุตสาหกรรมสิงคโปร์เดือนตุลาคม 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 31 (เป็นการเติบโตเร็วที่สุดในช่วง 5 เดือน) โดยกลุ่ม Biomedical เป็นปัจจัยส่งเสริมสำคัญที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 107.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยเฉพาะสินค้าเภสัชภัณฑ์ที่เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 121.4 สำหรับกลุ่มสินค้าอื่นๆที่มีการเติบโต ได้แก่ Precision Engineering เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.8 Transport Engineering เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 ทั้งนี้ การเติบโตของกลุ่มการผลิตในช่วงเดือน มค.-ตค. 2553 ขยายตัวร้อยละ 31.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งจะช่วยให้การเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 8-10 และคาดว่า การเติบโตเศรษฐกิจปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 15 เป็นไปตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า นอกจากนี้ คาดว่า การเติบโตของกลุ่มการผลิตในปี 2554 จะอยู่ในระดับที่อ่อนตัวลง ในขณะที่กลุ่มธุรกิจบริการ(การท่องเที่ยวและการบริการด้านการเงิน)จะนำให้การเติบโตเพิ่มขึ้นและส่งผลให้อัตราการเติบโตเศรษฐกิจในปี 2554 อยู่ระหว่างร้อยละ 4-6

8. การค้าเฟอร์นิเจอร์ของสิงคโปร์ยังคงแข็งแกร่ง Singapore Furniture Industries Council (SFIC) คาดว่า กลุ่มสินค้าเฟอร์นิเจอร์สามารถขยายตัวเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะมีเหตุการณ์เศรษฐกิจถดถอยก็ตาม จากสถิติ การค้าเฟอร์นิเจอร์ภายในประเทศปี 2552 มีมูลค่า 4.7 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ เทียบกับ 3.2 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ในปี 2550 การจำหน่ายในประเทศคิดเป็นร้อยละ 20 ของการค้ารวมทั้งหมด (ภายในและส่งออก) ทั้งนี้ SFIC ส่งเสริมอุตสาหกรรมโดยการจัดงานแสดงสินค้าเฟอร์นิเจอร์เป็นประจำทุกปี

9. อัตราค่าเช่าสำนักงานในสิงคโปร์ช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2553 เพิ่มสูงขึ้น ร้อยละ 7.2 (เทียบกับ ไตรมาสที่ผ่านมา) จากราคา 6.90 เหรียญสิงคโปร์/ตารางฟุต/เดือน เป็น 7.40 เหรียญสิงคโปร์/ตารางฟุต/เดือน ความต้องการส่วนใหญ่มาจากกลุ่มการเงิน การประกันภัย และการให้บริการธุรกิจ

ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ

1. สิงคโปร์กับเวียดนาม เข้าร่วม Vietnam-Singapore Connectivity Ministerial Meeting ประจำปี ในสิงคโปร์ ซึ่งปี 2553 เป็นการประชุมครั้งที่ 6 เพื่อสร้างสัมพันธไมตรีให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และให้ความเชื่อมั่นที่จะเสริมสร้างการค้าทวิภาคีให้แข็งแกร่ง ซึ่งสิงคโปร์เห็นว่า เวียดนามเป็นประเทศที่บริษัทสิงคโปร์สามารถขยายธุรกิจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในด้านสารสนเทศ การสื่อสาร การเงิน/การคลัง และการพัฒนาเขตเมือง อีกทั้ง เวียดนามสามารถขยายการส่งออกจากการที่สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางทางอากาศ ทางทะเล และศูนย์การเงิน ทั้งนี้ การร่วมปรชุมครั้งนี้ ได้มีการลงนามความร่วมมือการลงทุนระหว่างบริษัท Miltrade Aerospace และ Vietstar Airways ที่จะสร้างศูนย์ซ่อมและบำรุงรักษาในเวียดนาม และความร่วมมือระหว่าง TEE International และKhanh Viet ทำการพัฒนาโครงการที่พักอาศัยในเมืองโฮจิมินส์ อนึ่ง การค้าระหว่างสิงคโปร์กับเวียดนามเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า จาก 3.24 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ ในปี 2542 เป็น 13.4 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ ในปี 2552

2. สิงคโปร์กับเกาหลีเหนือและอิหร่าน ศุลกากรสิงคโปร์ได้ประกาศระเบียบล่าสุดเพิ่มเติม ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 กำหนดห้ามการติดต่อธุรกิจการเงินกับเกาหลีเหนือและอิหร่าน ก่อนหน้านี้ ได้ห้ามในด้านการค้าสินค้าต่างๆ ดังนี้ 1) การค้าอาวุธและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง 2) ระบบสุญญากาศและเครื่องปั๊ม 3)compressors and gas blowers 4) สินค้าฟุ่มเฟือย เช่น ซิการ์ ไวน์ เหล้า และ พลาสมาทีวี เป็นต้น ทั้งนี้ การค้ารวมระหว่างสิงคโปร์กับเกาหลีเหนือและอิหร่านในปี 2552 มีมูลค่าเพียงเล็กน้อยคือ 747 ล้านเหรียญสิงคโปร์ (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 0.4) สินค้าที่นำเข้า/ส่งออกได้แก่ สินค้าเกษตร ยาสูบ และสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป

อื่นๆ

1. ศูนย์เก็บสินค้าเน่าเสียง่าย ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ณ ชางกี ชื่อ Coolport@Changi ซึ่งดำเนินการและเป็นเจ้าของโดย Sats ด้วยเงินลงทุน 16.5 ล้านเหรียญสิงคโปร์ เป็นศูนย์แห่งเดียวในภูมิภาคที่ตั้งอยู่ใน Free Trade Zone บนพื้นที่ 8,000 ตารางเมตร ได้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 พย. 2553 คาดว่า จะมีสินค้า (เช่น ดอกไม้ ผลไม้ เนื้อสัตว์ ยารักษาโรค) ผ่านศูนย์นี้ ปีละประมาณ 140,000 ตัน ซึ่งร้อยละ 40 สำหรับการบริโภคภายในประเทศ ทั้งนี้ ภายในศูนย์แบ่งออกเป็น 18 โซนด้วยอุณหภูมิที่แตกต่างระหว่าง 28-19 องศาเซนติเกรด อีกทั้งมีรถห้องเย็นที่มีอุณหภูมิเหมาะสมสำหรับสินค้าประเภทต่างๆ ให้สินค้ามีคุณภาพสดเมื่อจัดส่งถึงปลายทาง

2. สนามบินชางกียังคงเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว ซึ่งในปี 2553 (มค.-พย.) ได้รับรางวัลรวม 16 รางวัล (รางวัลที่ได้รับตั้งแต่เปิดให้บริการเมื่อปี 2524 ถึงปัจจุบันรวม 350 รางวัล) รางวัล Best International Airport ได้รับจากนิตยสาร Business Traveler (UK), Conde' Nast Traveler (US), Business Traveler Asia-Pacific

กิจกรรมที่ดำเนินการ ระหว่างวันที่ 16-30 พฤศจิกายน 2553

1. คณะนักธุรกิจสิงคโปร์ เข้าร่วมงาน TIEE 2010 โดยเป็น Exhibitor จำนวน 2 ราย และแขกพิเศษ จำนวน 1 ราย (19-21 November 2010)

2. ประสานงานให้บริษัทจำหน่ายสินค้าไทย 5 ราย คือ The Sukha House Pte Ltd, Home Town Pte Ltd, Yen Investments Pte Ltd. Siam Eastern Interholding Supplies Co., Ltd. และ Thairichfoods Group Co.,Ltd. นำสินค้าจัดแสดงและจำหน่ายในงาน Asia Pacific Food Expo 2010 ณ Singapore Expo (19-23 พฤศจิกายน 2553)

3. ผู้อำนวยการฯ เข้าร่วมงานมหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์นานาชาติ ในประเทศไทย และงานสัมมนา Creative ASEAN ซึ่งจัดโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา (27 พย.- 2 ธค. 53)

4. ร่วมปรึกษาหารือกับเจ้าหน้าที่ VivoCity ในการจัดโครงการส่งเสริมสินค้าแฟชั่นไทย ณ VivoCity (งบประมาณปี 2554)

5. ติดต่อสื่อสิ่งพิมพ์สิงคโปร์ เพื่อการประชาสัมพันธ์งานแสดงสินค้า BIFF & BIL 2554

6. ขออนุมัติโครงการปีงบประมาณ 2554 เพิ่มเติม คือ โครงการส่งเสริมเครือข่ายธุรกิจสปาไทยสู่ตลาดสิงคโปร์

7. ประสานเชิญชวนนักธุรกิจ/ผู้นำเข้าสิงคโปร์เยือนงานแสดงสินค้า Bangkok Gems & Jewelry Fair 2011, Thailand International Furniture Fair 2011

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ สิงคโปร์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ