รายงานสถานการณ์กระดาษและผลิตภัณฑ์ในยูเออี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 29, 2010 11:09 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สินค้า :

กระดาษและกระดาษแข็ง ที่ไม่เคลือบ ชนิดที่ใช้สำหรับเขียน พิมพ์หรือวัตถุประสงค์อื่น

ทางกราฟิก บัตรเจาะและกระดาษที่ใช้ทำเทปเจาะที่ยังไม่ปรุรู เป็นม้วนหรือเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมผืนผ้า (รวมถึงสี่เหลี่ยมจัตุรัส) ขนาดเท่าใดก็ตาม (นอกจากกระดาษตาม Heading 48.01-กระดาษพิมพ์หนังสือพิมพ์ เป็นม้วนหรือเป็นแผ่น และ 48.03-กระดาษชนิดที่ใช้สำหรับทำกระดาษชำระหรือกระดาษเช็ดหน้า)

พิกัดอัตราศุลกากร 4802

โครงสร้างสินค้า :

อุตสาหกรรมกระดาษในตะวันออกกลางพึ่งพิงการนำเข้าถึงร้อยละ 62 ของความต้องการทั้งสิ้น และมีอัตราความต้องการใช้กระดาษเพิ่มขึ้นทุกปี ประมาณว่าความต้องการใช้กระดาษในภูมิภาคตะวันออกกลางมีประมาณปีละ 8 ล้านตัน โดยปริมาณ 3 ล้านตันนั้นได้จากการผลิตภายในประเทศ ที่เหลือปริมาณ 5 ล้านตันต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

เมื่อปี 2009 ที่ผ่านมา ตลาดสินค้ากระดาษเกือบทุกชนิด เช่น กระดาษประเภทที่ใช้ด้านกราฟฟิค กระดาษที่ใช้ในด้านสุขอนามัยและกระดาษ/กระดาษอัดแผ่นสาหรับบรรจุภัณฑ์ นั้นต่างได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้การนำเข้าหดตัวลง

สำหรับตลาดกระดาษในยูเออีสามารถแบ่งสินค้าออกได้ 8 ประเภทหลักๆได้แก่ กระดาษและกระดาษอัดแผ่น (Paper /Paperboard waved) กระดาษที่ใช้ในด้านสุขอนามัย (Sanitary / hygienic use) กระดาษมันที่ใช้ด้านกราฟฟิค (glossy graphic use) กระดาษแบบธรรมดาที่ใช้ด้านกราฟฟิค (Natural graphic use ) กระดาษหนังสือพิมพ์ (Newspaper) กระดาษและกระดาษอัดแผ่นสำหรับการบรรจุภัณฑ์(paper /paperboard packing use) และกระดาษผลิตกล่องต่างๆ (Paper for cases)

การนำเข้า :

การนำเข้าสินค้ากระดาษในรอบปี 2009 มีปริมาณ 112 ,675 ตัน คิดเป็นมูลค่า 104 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากปี 2008 ที่นำเข้าปริมาณ 142,867 ตันหรือมูลค่า 142 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นอัตราขยายตัวในเชิงมูลค่าลดลงร้อยละ 26.6

ปี 2009 นำเข้าจาก อินโดนีเซีย สัดส่วน 25% ฟินแลนด์ 11% สวีเดน 10% ไทย 8% อัฟริกาใต้ อังกฤษ 5% อิตาลี เยอรมัน ซาอุดิอาระเบียและจีนประมาณ 3% ตามลำดับ

การส่งออกของไทย :

ปี 2007 ไทยส่งออกกระดาษไปยูเออีมูลค่า 30.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปี 2008 เพิ่มเป็น 43.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯหรือขยายตัวร้อยละ 45 ปี 2009 มูลค่าส่งออกลดลงร้อยละ 24 หรือมูลค่า 33.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ในช่วง 11 เดือนของปี 2010 ไทยส่งออกสินค้ากระดาษไปยูเออีมูลค่า 43 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 38

สินค้าของไทยที่ส่งออกไปยูเออีมูลค่ามาก ได้แก่ กระดาษถ่ายเอกสารอย่างดี (Offset Photocopy paper) ขนาด A4 คุณภาพ Grade A มีความหนา: 70 - 150 กรัม ความสว่าง (Brightness) มากกว่า 96%

การผลิต :

ไม่มีการผลิตกระดาษในยูเออี แต่มีอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เกี่ยวข้องและใช้กระดาษเป็นวัตถุดิบ ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตลังกระดาษและบรรจุภัณฑ์ อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ และอุตสาหกรรมการผลิตเกี่ยวข้อง (printing: Cardboard & Processing Industry) นอกจากนี้มีโรงงานผลิตกระดาษทิชชูเกือบทุกรัฐในยูเออี

การส่งออกและส่งออกต่อ :

ปี 2009 ยูเออีส่งออกปริมาณ 6,526 ตัน มูลค่า 8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และส่งออกต่อ (Re-export) ปริมาณ 6,181 ตัน มูลค่า 6.9 ล้านเหรียญศหรัฐฯ ประเทศรองรับสินค้าที่สำคัญ ได้แก่ อิรัค ลิเบีย อินเดีย จีบูตี แทนซาเนีย คูเวต โอมาน และเอธิโอเปีย เป็นต้น

มาตรฐานสินค้า :

อุตสาหกรรมต่างๆในปัจจุบันเป็นอุตสาหกรรมยุคใหม่ ที่ดำเนินธุรกิจได้แบบยั่งยืนควบคู่กับสิ่งแวดล้อมที่ดี มีมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม หรือ ISO 14000 ซึ่งเป็นมาตรฐานที่เน้นไปในเรื่องของระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี การผลิตโดยไม่ใช้ไม้ที่ตัดโดยผิดกฎหมาย เพื่อส่งเสริมป้องกันรักษาป่าและสภาพแวดล้อมมากขึ้น

แต่ทั้งนี้มาตรฐานนี้เป็นเรื่องของความสมัครใจ แต่สำหรับอุตสาหกรรมกระดาษหลายประเทศพยายามหยิบยกมากเป็นมาตราฐานของสินค้า รวมทั้งยูเออีเช่นกันที่ให้ความสนใจกับปัญหาภาวะโลกร้อน ปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศ รัฐบาลรณรงค์ให้ประชาชนช่วยกันบริโภคสินค้าที่ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม

สรุป

1. ถึงแม้ว่าเวลานี้กำลังซื้อในตลาดยูเออีจะฟื้นตัวกลับมาแล้วแต่ก็ยังไม่เป็นปกติเท่ากับก่อนหน้านี้ ภาวะการผลิตและการบริโภคสินค้ากระดาษในปี 2554 คาดว่าจะโตเพิ่มประมาณ 15% ซึ่งจะต่อเนื่องจากปี 2553 ที่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยของยูเออีค่อยค่อยผ่านพ้นไป รวมทั้งในตลาดรองรับสินค้าส่งออกต่อของยูเออีด้วย ซึ่งมีหลายประเทศเริ่มทยอยสั่งซื้อสินค้าผ่านดูไบ โดยเฉพาะอิรัคที่เป็นตลาดรองรับสินค้ากระดาษจากยูเออีมูลค่ามากสูงสุด และเพิ่งผ่านพ้นการจัดตั้งคณะรัฐบาลชุดใหม่ไปเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เพื่อบริหารประเทศและนำรายได้จากการส่งออกน้ำมันนำไปฟื้นฟูประเทศ สร้างเศรษฐกิจแบบยั่งยืนต่อไป

2. ยูเออีเป็นตลาดสำคัญของการนำเข้ากระดาษเพื่อใช้กระจายส่งออกต่อไปประเทศอื่นๆในตะวันออกกลาง และกลุ่มประเทศอัฟริกา ผู้ซื้อจากอัฟริกานิยมเดินทางเข้าไปซื้อสินค้าในตลาดขายส่งดูไบ เลือกซื้อสินค้าตามจำนวนที่ต้องการแล้วรวบรวมส่งทางตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งนับว่ามีความสะดวก เพราะไม่สามารถสั่งซื้อสินค้ากระดาษและเครื่องเขียนจากประเทศผู้ผลิตมักจะกำหนดปริมาณการซื้อขั้นต่ำไว้ค่อนข้างสูง ทำให้ผู้นำเข้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการ SME ไม่นิยมซื้อสินค้า เพราะต้องซื้อในปริมาณมากทำให้เกิดภาวะค่าใช้จ่ายในการสต๊อกสินค้า

3. ขณะนี้สินค้ากระดาษใช้ในสำนักงานของไทยมีคุณภาพดีและเป็นที่นิยมในตลาดตะวันออกกลาง ผู้ผลิตของไทยใช้กลยุทธ์ทางการตลาดเต็มรูปแบบ เพื่อย้ำแบรนด์และความสัมพันธ์ที่ดี โดยใช้สื่อโฆษณาทางทีวีกระตุ้นให้ลูกค้าซื้อสินค้าอย่างต่อเนื่อง มีการขยายช่องทางการตลาดใหม่ๆเน้นความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ โดยผลิตสินค้าใหม่ๆออกมาอย่างต่อเนื่อง คุณภาพกระดาษดีไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้ สีของกระดาษลดการสะท้อนของแสงเพื่อช่วยถนอมสายตา ในขณะเดียวกันเป็นสินค้าอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอีกด้วย

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองดูไบ

ที่มา: http://www.depthai.go.th


แท็ก ยูเออี  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ