สรุปภาวะตลาดสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในเยอรมนี เดือนธันวาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 29, 2010 13:42 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. การผลิตและยอดการจำหน่าย

ในช่วงปลายปีที่มีเทศกาลสำคัญ คือ วันคริสต์มาสและวันปีใหม่สร้างความคึกคักในตลาดค้าปลีกในประเทศมากที่โดยเฉลี่ยมีส่วนแบ่งประมาณร้อยละ 20 ของการจับจ่ายซื้อสินค้าตลอดทั้งปี จากการที่เศรษฐกิจของเยอรมนีฟื้นตัวเร็วกว่าประเทศอื่นๆ การเพิ่มเงินเดือนคนงาน อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำ ประมาณร้อยละ 1 — 2 เหล่านี้ทำให้ในระยะ 2 เดือนที่ผ่านมามีการจับจ่ายซื้อสินค้ากันมาก สมาคมผู้ค้าปลีกประเมินว่ายอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับปีก่อนในช่วงเวลาเดียวกัน นอกเหนือจาก เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรทัศน์ เครื่องเสียง กล้องวีดีโอ กล้องถ่ายรูปดิจิตอล แล้ว เครื่องประดับ อัญมณีแท้ก็ได้รับความสนใจมีการซื้อกันมากด้วย มียอดการจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 นี้ ส่วนเครื่องประดับเทียมจะมีการนำเข้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น

2. สถานการณ์การนำเข้า

ปัจจุบันตลาดมีความต้องการสินค้าเครื่องประดับแท้และเทียมเพิ่มมากขึ้น ในช่วง 9 เดือนแรก ปี 2553 (ม.ค.-ก.ย.) เยอรมนีนำเข้ารวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 10,928.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.9 สินค้าที่เยอรมนีนำเข้ามากจะเป็นโลหะมีค่าต่างๆ เพื่อใช้ในการผลิตเป็นเครื่องประดับต่อไป มีการนำเข้าเป็นมูลค่า 6,503.6 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 59 ของการนำเข้าทั้งสิ้น มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.9 แหล่งนำเข้าที่สำคัญๆ ได้แก่ อัฟริกาใต้ (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 14) สหรัฐฯ (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 11) และเบลเยี่ยม (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 10) ทองคำมีการนำเข้าเป็นมูลค่า 3,033 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 27.8 ของการนำเข้าทั้งสิ้น มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.4 แหล่งนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ สวิส (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 69) ออสเตรีย (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 11.5) อัฟริกาใต้ (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 3.1) สำหรับเครื่องประดับแท้ทำด้วยทองและเงิน มีการนำเข้ามูลค่า 707 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 6 ของการนำเข้าทั้งสิ้น มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.1 แหล่งนำเข้าสำคัญๆ ได้แก่ สวิส ไทย (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 21) จีน (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 13) อิตาลี ส่วนเครื่องประดับเทียม มีการนำเข้ามูลค่า 392 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 4 ของการนำเข้าสินค้ารายการนี้ทั้งสิ้น มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.7 แหล่งนำเข้าสำคัญๆ ได้แก่ จีน ออสเตรียและฮ่องกง มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 57, 17 และ 3 ตามลำดับ

3. การส่งออกของไทยไปตลาดเยอรมนี

ในช่วง 11 เดือนแรกปี 2553 (ม.ค.-พ.ย.) ไทยส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไปเยอรมนีเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 208.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนระยะเดียวกันร้อยละ 19.7 สินค้าส่งออกมากอันดับแรกจะเป็น เครื่องประดับทำด้วยเงิน มูลค่า 96.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 46.2 ของการส่งออกสินค้ารายการนี้ไปเยอรมนี มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.9 ในเยอรมนีสินค้าไทยมีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดประมาณร้อยละ 37 รองลงมาเป็นจีนมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 27 และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น อินเดีย (6%) และฝรั่งเศส (5%) รองลงมาเป็นเครื่องประดับทำด้วยทองคำ มูลค่า 36.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 23.2 คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 17.7 สินค้าของไทยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 12 แหล่งนำเข้าอื่นๆ ได้แก่ สวิส (34%) อิตาลี (12%) ทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูป มูลค่า 19.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 71 แหล่งนำเข้าสำคัญๆ ได้แก่ สวิส (69%) ออสเตรีย (11%) และอัฟริกาใต้ (3%) ไทย (0.5%) เครื่องประดับอัญมณีเทียม มีการนำเข้ามูลค่า 9.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 2.0 แหล่งนำเข้าอื่นๆ ได้แก่ จีน (57%) ออสเตรีย (17%) และฮ่องกง (3%) ไทยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 2.6

ปัญหาอุปสรรค

1. ขาดแคลนวัตถุดิบ

2. ขาดเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการผลิตเครื่องประดับ

3. ขาดบุคลากรด้านฝีมือแรงงานด้านการออกแบบและการผลิตสินค้าระดับสูง

4. การสร้างและพัฒนาตราสินค้ามีน้อย

กลยุทธ์

1. พัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญระดับโลก

2. จัดหาวัตถุดิบจากต่างประเทศในปริมาณที่เพียงพอ

3. พัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเครื่องประดับ

4. พัฒนาบุคลากรให้มีความสามารถในการผลิต ออกแบบ สินค้าที่เหมาะสมกับตลาด

5. สร้างภาพลักษณ์ของสินค้าในด้านผู้นำแฟชั่น สินค้าที่มีเอกลักษณ์ ควบคู่ไปกับศักยภาพทางการค้า/ส่งออก

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ