นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าว ในการแถลงผลการดำเนินงานของกระทรวงพาณิชย์ในปี ๒๕๕๓ ว่า กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดยุทธศาสตร์การค้าไทยเพื่อเป็นแนวทางในการสร้างความมั่นคงให้เศรษฐกิจการค้าของประเทศเติบโตอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานของความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยภาคการค้าได้สร้างความเข้มแข็งและขยายฐานการค้าในประเทศให้เติบโตไปพร้อมกับให้ความสำคัญกับการค้าระหว่างประเทศ ส่วนภาคการผลิตได้เน้นส่งเสริมการผลิตที่คนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ เช่น เกษตร เกษตรอุตสาหกรรม รวมถึงการผลิตที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์และธุรกิจบริการที่มีศักยภาพ สำหรับปี ๒๕๕๓ กระทรวงพาณิชย์มีผลงานเด่น ดังนี้
๑. ยอดส่งออกคาดว่าทะลุ ๑๙๐,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ อย่างแน่นอน และทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์
- การส่งออกในรอบ ๑๑ เดือนแรกของปี ๒๕๕๓ (มกราคม — พฤศจิกายน ๒๕๕๓) ของไทยทะลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยมีมูลค่า ๑๗๗,๙๗๗.๓ ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าการส่งออกรวม ๑๓๗,๘๐๔.๒ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ๒๙.๑๕
- ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้า มูลค่า ๑.๑๘ หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
- โดยเฉพาะเดือนมิถุนายน ๒๕๕๓ การส่งออกของไทยได้ขยายตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึงร้อยละ ๔๖.๓
- ทั้งนี้เนื่องจากการที่กระทรวงพาณิชย์ได้เร่งใช้มาตรการขยายตลาดใหม่ และรักษาตลาดเดิม เช่น โครงการ Thailand Best Friend, โครงการ Thailand World Exhibition ที่จีน, โครงการ The Designer และ Thailand Fashion Expo
- รวมถึงการตั้ง Chief of Product มาดูแลเป็นรายสินค้า ร่วมกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด
- โดยให้ความสำคัญกับการส่งออกในภูมิภาคเอเซีย(อาเซียน จีน ญี่ปุ่นและอินเดีย) มากขึ้นโดยการใช้ประโยชน์จาก FTA ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และยังคงรักษาตลาดหลัก คือ สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ไปพร้อมกัน
- นอกจากนี้ยังเร่งส่งเสริมธุรกิจบริการอย่างเข้มข้น
- สนับสนุนการลดต้นทุนสินค้าในระบบโลจิสติกส์
- ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยไปดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ (Internationalization)
- พัฒนาผู้ประกอบการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออก
- ส่งเสริมและพัฒนาย่านการค้าเพื่อการส่งออก
- พัฒนารูปแบบและคุณภาพสินค้าส่งออก
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดว่าตลอดทั้งปี ๒๕๕๓ มูลค่าการส่งออกจะขยายตัวอยู่ที่ ร้อยละ ๒๖.๕-๒๘.๕ หรือประมาณ ๑๙๓,๐๐๐ — ๑๙๖,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้การขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ (GDP) เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ ๗.๙ มากกว่าที่ทุกฝ่ายคาดการณ์
สำหรับการค้าชายแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน มีมูลค่าการค้าโดยรวมเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าพอใจ โดยกระทรวงพาณิชย์เดินหน้าจัดทำยุทธศาสตร์การค้าใหม่ มุ่งหวังกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเน้นการค้าชายแดนมากขึ้น อาทิ
- การตั้งศูนย์ส่งเสริมการค้าชายแดนไทย-ประเทศเพื่อนบ้านทุกจังหวัด ที่มีเขตชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ใช้งบประมาณรวม 30 ล้านบาท รวมทั้งได้จัดงานมหกรรมการค้าชายแดน
- เป็นผลให้มูลค่าการค้าชายแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน (มาเลเซีย พม่า สปป.ลาว และกัมพูชา) ในรอบ ๑๑ เดือนแรกของปี ๒๕๕๓ (มกราคม — พฤศจิกายน ๒๕๕๓) มีมูลค่ารวมถึง ๗๑๒,๓๒๔ ล้านบาท เทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าการค้ารวม ๕๗๕,๙๘๗ ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๓.๖๗ และยังได้ดุลการค้าถึง 174,825 ล้านบาท
- กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายจะสร้างมูลค่าการค้าชายแดนให้ขยายตัวถึง ๑ ล้านล้านบาท (๓๐,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐ) ภายในปี ๒๕๕๕
๒. ราคาสินค้าเกษตรสำคัญขึ้นเกือบทุกตัว ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น
๒.๑ ราคาสินค้าเกษตรหลักสูงขึ้นเกือบทุกตัว โดยดำเนินการตามมาตรการขยายตลาด เชื่อมโยงการค้าสินค้าเกษตร รวมทั้งการเร่งระบายสินค้าเกษตรในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก เพื่อกระจายไปยังตลาดปลายทาง
- ข้าวเจ้า (นาปรัง) จาก 7,820 บาท/ตัน (เม.ย.53) เป็น 8,987 บาท/ตัน (พ.ย.53) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.92
- ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จาก 8.05 บาท/กก. (ม.ค.53) เป็น 9.08 บาท/กก. (ธ.ค.53) เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.13
- มันสำปะหลัง จาก 1.99 บาท/กก. (ม.ค.53) เป็น 3.26 บาท/กก. (ธ.ค.53) เพิ่มขึ้นร้อยละ 225.28
- ยางพารา จาก 90.93 บาท/กก. (ม.ค.53) เป็น 125.58 บาท/กก. (ธ.ค.53) เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.10
- ผลไม้ เช่น เงาะ จาก 16.67 บาท/กก. (พ.ค.53) เป็น 25 บาท/กก. (ธ.ค.53) เพิ่มขึ้นร้อยละ 49.97 มังคุด จาก 18.22 บาท/กก. (พ.ค.53) เป็น 19.00 บาท/กก. (ก.ย.53) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.28
๒.๒ เกษตรกรมีความมั่นคงด้านรายได้ ดำเนินการตามนโยบายประกันรายได้ โดยกำกับดูแลและกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาล เช่น การจัดตลาดนัดสินค้าเกษตร การจัดตั้ง Farm Outlet
- โดยมีเกษตรกรประมาณ 4.10 ล้านครัวเรือน (ข้าว 3.28 ล้านครัวเรือน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 0.39 ล้านครัวเรือน และมันสำปะหลัง 0.43 ล้านครัวเรือน) ได้รับประโยชน์จากโครงการประกันรายได้ และมาตรการเสริม เช่น การจัดตลาดนัด การเปิดจุดรับซื้อ
๓. สามารถดูแลค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อได้อย่างเหมาะสม
ภายใต้ภาวะความผันผวนทางเศรษฐกิจโลกปี ๒๕๕๓ ซึ่งทำให้ประเทศต่าง ๆ ประสบปัญหาเรื่องเงินเฟ้อรวมทั้งประเทศไทย
- โดยที่กระทรวงพาณิชย์สามารถส่งสัญญาณในการขึ้นราคาสินค้าอย่างเหมาะสม
- รวมทั้งการเข้าไปกำกับดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นแก่การครองชีพอย่างใกล้ชิด เช่น อาหารสด อาหารสำเร็จรูป เครื่องใช้ไฟฟ้า และของใช้ส่วนบุคคล ทำให้การเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและอัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ที่ร้อยละ ๓.๔ ซึ่งอยู่ในกรอบที่กำหนดไว้ (ร้อยละ ๓.๐-๓.๕)
- ถือว่าเป็นอัตราเงินเฟ้อที่ดีมาก และต่ำกว่าหลายประเทศมาก เมื่อเทียบกับการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยที่ขยายตัวร้อยละ ๗.๙
- ขณะที่ประเทศในแถบเอเชียประสบกับปัญหาเงินเฟ้อที่รุนแรง เช่น เวียดนาม เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นร้อยละ ๙.๗ (GDP เพิ่มขึ้นร้อยละ ๖.๐) อินโดนีเซีย เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นร้อยละ ๕.๗ (GDP เพิ่มขึ้นร้อยละ ๖.๐) และจีน เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นร้อยละ ๔.๔ (GDP เพิ่มขึ้น ร้อยละ ๑๐.๔)
๔. พลิกโฉมการบริการ สร้างปรากฏการณ์ใหม่ในวงการราชการไทย “ขอแค่ 1 ได้ถึง 3” คว้ารางวัลดีเด่น คุณภาพการให้บริการประชาชน
กระทรวงพาณิชย์ เพิ่มความสะดวกให้ผู้ประกอบการไทย “ขอแค่ 1 ได้ถึง 3” ไปทีเดียว สามารถทำธุรกิจได้ทันที โดยจะได้รับเลขทะเบียนนิติบุคคล พร้อมเลขประจำตัวเสียภาษีอากร และเลขบัญชีนายจ้าง
- ซึ่งถือเป็นบริการ ณ จุดเดียวกัน (Single Point ) โดยใช้แบบฟอร์มร่วมกัน (Single form) และเอกสารประกอบชุดเดียวกัน (Single Document ) เช่น สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน
- จากเดิมใช้เวลาถึง 4 วันเหลือเพียง 90 นาที
- การให้บริการดังกล่าวเกิดจากการผนึกกำลังร่วมกันระหว่างกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมสรรพากร และสำนักงานประกันสังคม ในการดำเนินการโครงการพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลการเริ่มต้นธุรกิจ (e-Stating Bussiness) ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น (Easier) รวดเร็วขึ้น (Faster) และค่าใช้จ่ายถูกลง (Cheaper)
- เป็นการประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และทำให้ภาคราชการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เป็นการลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน และพลิกโฉมการบริการในวงการราชการไทยอย่างแท้จริง
- ในปี 2554 จะพัฒนาความร่วมมือไปสู่การใช้เลขทะเบียนเดียวกัน (Single Number) ทั้ง 3 หน่วยงาน
5. เป็นผู้บุกเบิกด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์เชิงพาณิชย์ในอาเซียน
กระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานบุกเบิกและจุดประกายในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งชาติ ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมเป็นประเทศแรกในอาเซียน โดยมีเป้าหมายเพิ่มมูลค่าของอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์จากร้อย ๑๒ เป็นร้อยละ ๒๐ ภายในปี ๒๕๕๕ โดยได้ดำเนินโครงการสำคัญ ดังนี้
5.1 ) จัดตั้งหน่วยงาน Thailand Creative Economy Agency (TCEA) เป็นองค์กรในการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อให้การดำเนินงานตามนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของรัฐบาลมีผลงานต่อเนื่อง ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคงและยั่งยืน
5.2) จัดงานมหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์นานาชาติ (Thailand International Creative Economy Forum : TICEF) ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน อาทิ องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และ องค์การการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ในการรวบรวมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีชื่อเสียงด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ระดับโลก มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และมุมมองการพัฒนาประเทศตามแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในประเทศไทย รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ความก้าวหน้าด้านการสร้างสรรค์ที่ประเทศไทยมีศักยภาพ
5.3) จัดตั้ง Creative Academy โดยร่วมมือกับ ๑๔๖ มหาวิทยาลัย คัดสรรมหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพเพื่อให้เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาองค์ความรู้และศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการ รวมถึงเป็นศูนย์มาตรฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์แต่ละสาขา (Center of Excellence : COE)
๖. บริหารระบบเศรษฐกิจการค้าในภาวะวิกฤติประเทศให้ผ่านพ้นไปได้อย่างยอดเยี่ยม
- ท่ามกลางภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้นภายในประเทศ ทั้งเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง มีอุทกภัยทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ และผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่า ทำให้ประชาชนและผู้ประกอบธุรกิจทุกภาคส่วน ประสบความเดือดร้อนกันทั่วหน้า
- ผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ได้เร่งเข้ามาช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาโดยทันท่วงที ดังนี้
๖.๑ การช่วยเหลือและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบภายในประเทศ โดยออก ๓ มาตรการหลัก ดังนี้ มาตรการระยะสั้น ได้แก่
- ให้ศูนย์บริการประชาชนของกระทรวงพาณิชย์เป็นสื่อกลางในการรับคำร้องขอความช่วยเหลือจากผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ
- ขยายเวลาการยื่นงบการเงินประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ไปอีก ๑ เดือน
- ให้สินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง
- ขยายระยะเวลาและการดำเนินการตามกฏหมายที่อยู่ในความดูแลของกรมทรัพย์สินทางปัญญา
- ขอความร่วมมือจาก บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) มิให้เรียกเก็บค่าตอบแทนการส่งเสริมสนับสนุนการขายด้วยการแพร่เสียง แพร่ภาพ การแข่งขันฟุตบอลโลกจาก โรงแรม สถานบันเทิง และร้านอาหารบริเวณที่ได้รับผลกระทบตลอดการแข่งขัน
- ให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จัดมหกรรมออกร้านขายสินค้าเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย
- จัดมหกรรมออกร้านขายสินค้า และการอำนวยความสะดวกทางการค้าให้แก่ผู้ประกอบการในส่วนภูมิภาค
- ช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้ประกอบธุรกิจโลจิสติกส์ไทย และฟื้นฟูความเชื่อมั่นจากต่างประเทศให้กลับมาดังเดิม
- ยังยึดมั่นในนโยบายการค้าเสรีและเป็นธรรม กับผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น ผู้บริโภค เกษตรกร ผู้ประกอบการ และภาคประชาสังคมต่างๆ โดยนำกฎหมายที่กระทรวงฯดูแลอยู่ และกลไกที่มีอยู่ มาบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น พรบ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พรบ.แข่งขันทางการค้า พรบ.มาตราชั่งตวงวัด พรบ.ควบคุมโภคภัณฑ์ เพื่อไม่ให้มีผู้ฉวยโอกาสจากการเกิดวิกฤตต่างๆ
- สถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น จะไม่มีผลกระทบต่อนโยบายการค้า และการปฏิบัติตามพันธกรณีทางการค้าระหว่างประเทศของไทย
๖.๒ การช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบอุทกภัย
- กระทรวงพาณิชย์ได้เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ โดยจัดทำข้าวสารบรรจุถุง และถุงยังชีพ เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบอุทกภัยในทุกพื้นที่
- และได้ดำเนินการมอบข้าวสารบรรจุถุง ขนาด ๔ กก. จำนวนรวม ๑,๘๐๘,๑๑๘ ถุง และมอบถุงยังชีพ รวม ๒๘,๙๒๕ ถุง ให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยทั่วประเทศแล้ว จำนวน ๕๔ จังหวัด
๖.๓ มาตรการช่วยเหลือผู้ส่งออกจากวิกฤตการแข็งค่าของเงินบาท
- กระทรวงพาณิชย์ได้พิจารณาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแข็งค่าเงินบาทเป็นรายกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อกำหนดมาตรการช่วยเหลือที่เหมาะสมตรงกับกลุ่มเป้าหมายและลักษณะผลกระทบ
- ทั้งนี้ ได้เข้าแก้ปัญหาทันที เช่น ช่วยเหลือธุรกิจ เอสเอ็มอี โดยการหาช่องทางการตลาดใหม่มาทดแทน เป็นต้น
ที่มา: http://www.depthai.go.th