หลังตรุษจีน 2554 ต้องติดต่อกับหน่วยงานราชการนครคุนหมิง ในเขตเมืองใหม่เฉิงก้ง (CHENGGONG)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 4, 2011 14:59 —กรมส่งเสริมการส่งออก

นายจาง จู หลิน (Mr. Zhang Zulin) รองเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำเทศบาล นครคุนหมิงและนายกเทศมนตรีนครคุนหมิงเปิดเผยในระหว่างการปราฐกถาเกี่ยวกับแผนงานและสถานการณ์การสร้างเมืองใหม่ของเทศบาลนครคุนหมิง ณ มหาวิทยาลัยยูนนานเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2553 ว่าภายใต้แผนงานพัฒนาของเทศบาลนครคุนหมิงระหว่างปี 2553-63 นั้น จะมีการขยายเขตเมืองของเทศบาลนครคุนหมิงไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ภายใต้เนื้อที่กว่า 160 ตารางกิโลเมตร ในชื่อเมืองใหม่ คือ เฉิงก้ง (CHENGGONG) ซึ่งปัจจุบันได้ก่อสร้างในส่วนของสถานที่ราชการและสาธารณูปโภคพื้นฐาน อาทิ ศูนย์ราชการ ห้องพักสำหรับข้าราชการและประชาชนทั่วไป ธนาคาร และมหาวิทยาลัยเสร็จแล้ว ซึ่งตามแผนงานในอนาคตนั้น จะมีการย้ายที่ทำการราชการทั้งหมดไปยังเขตเมืองเฉิงก้งด้วย โดยในช่วงกลางเดือนมกราคม 2554 จะเริ่มทำการย้ายหน่วยงานราชการฝ่ายบริหารไปก่อน เพื่อให้เปิดทำการในช่วงหลังเทศกาลตรุษจีนปี 2554 (ประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์) สำหรับหน่วยงานราชการอื่นๆ จะทยอยย้ายที่ทำการต่อไป

เฉิงก้ง (CHENGGONG)

อำเภอเฉิงก้ง ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของนครคุนหมิง มีพื้นที่โดยรวมประมาณ 461 ตารางกิโลเมตร ห่างจากใจกลางนครคุนหมิงประมาณ 12 กิโลเมตร ภายในเขตเมืองใหม่เฉิงก้งนี้ จะแบ่งพื้นที่ออกเป็นศูนย์ราชการและเขตเศรษฐกิจ ศูนย์กลางการศึกษา เขตค้าส่งดอกไม้นานาชาติ และเขตนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น ในปี 2552 GDP ของเมืองเฉิงก้งอยู่ที่ 6,096 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และมีงบประมาณรายได้ท้องถิ่นกว่า 531 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.26 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

คณะกรรมการประจำเทศบาลนครคุนหมิงเปิดเผยว่า เทศบาลคุนหมิงได้พยายามที่จะพัฒนานครคุนหมิงให้เป็นเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นเวลามากว่า 50 ปีแล้ว โดยคุนหมิงมีทัศนียภาพของทะเลสาบ ภูเขา วัฒนธรรมธรรมท้องถิ่น วิถีชีวิตของชาวเมือง รวมถึงสิ่งปลูกสร้างหลายแห่ง เป็นภูมิทัศน์และภูมิสถาปัตย์ของเมืองที่สวยงาม คงไว้ซึ่งความเป็นธรรมชาติและเอกลักษณ์ของเมือง คณะกรรมการฯ มีเป้าหมายหลักในการส่งเสริมให้เป็นนครที่มีการเติบโตด้านเศรษฐกิจสูงเหมาะแก่การค้าและการลงทุน มีจุดเด่นด้านวัฒนธรรม มีสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์ มีความปลอดภัย นอกจากนี้ นครคุนหมิงจะมุ่งเน้นการเป็นพันธมิตรกับประเทศในอาเซียนและเอเซียใต้ มุ่งมั่นจะพัฒนาเมืองให้มีความทันสมัย สร้างความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ ภายใต้สภาพแวดล้อมของความสวยงามของเมืองแห่งฤดูใบไม้ผลิ

เฉิงก้งอยู่ในเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจ “Pan-Pearl River Delta Economic Cooperation Zone (9+2)” และ “CHINA-ASEAN Free Trade Area (10+1)” ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลก จากสภาพภูมิศาสตร์ เมืองเฉิงก้ง จึงเป็นประตูสู่ประเทศในอาเซียนและเอเซียใต้ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีน

มณฑลยูนนานเป็นมณฑลที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติเป็นอันดับที่ 6 ของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน มีอัตราเฉลี่ยของทรัพยากรธรรมชาติต่อประชากรต่อหัวสูงเกินกว่ามาตรฐานอัตราเฉลี่ยของทั้งประเทศ มณฑลยูนนานจึงได้รับการขนานนามว่า Kingdon of Plant (อาณาจักรแห่งพันธุ์พืช), Kingdom of Animal (อาณาจักรแห่งสัตว์), Gene Warehouse of Biotic Resource (คลังแห่งยีนต์ทางชีวภาพ), Kingdom of Nonferrous Metal (อาณาจักรแห่งเหมืองแร่อโลหะ), Capital of Flower (เมืองหลวงแห่งดอกไม้) and Capital of Medical Herbs (เมืองหลวงแห่งพืชและยาสมุนไพร) เป็นต้น

ในช่วงระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา เทศบาลนครคุนหมิงและมณฑลยูนนาน ยังได้รับการประกาศรางวัล อาทิ China’s Top Ten Recreation City (เมืองแห่งการสันทนากาด้านการพักผ่อนและท่องเที่ยว) China’s Top Ten Most Joyous City (เมืองแห่งความสนุกสนานปิติยินดี) China’s Top Ten Happiest City (เมืองแห่งความสุข) China’s Top Ten Summer City ( เมืองแห่งการพักผ่อนในฤดูร้อน) และในส่วนเมืองเฉิงก้ง ก็ได้รับการประกาศให้เป็น The Country with the Best Conditions for the Investment of Chinese Private Economy (เมืองที่มีบรรยากาศเหมาะแก่การลงทุน) The Financial and Ecological Country in China (เมืองแห่งเศรษฐกิจการเงินและระบบนิเวศวิทยา) The National Model Country or District for Greening (ตัวอย่างเมืองแห่งธรรมชาติ) เป็นต้น

ศูนย์ราชการและเขตเศรษฐกิจ

ศูนย์ราชการและเขตเศรษฐกิจตั้งอยู่ในเขตตำบล Wulong และ Luo Long มีพื้นที่รวมกันประมาณ 36.17 ตารางกิโลเมตร ตามแผนงานจะสามารถรองรับจำนวนประชากรได้ประมาณ 350,000 คน เป็นศูนย์กลางการบริหารงานราชการระดับเทศบาลนครแห่งใหม่ในอนาคต มีการจัดการด้านสังคมที่ทันสมัยและครบวงจร พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน ได้แก่ โรงพยาบาลในเครือวิทยาลัยแพทย์นครคุนหมิง โรงพยาบาลแพทย์แผนจีนนครคุนหมิง โรงเรียนมัธยมที่ 3 (Kunming No.3 Middle School) โรงเรียนประถมจงฮวา (Zhong Hua) และหน่วยบริการสังคมอื่นๆ

ศูนย์กลางการศึกษา

ศูนย์การศึกษาจะตั้งในเขตตำบล Wu Jia Ying และ Yu Hua มีพื้นที่รวมกันประมาณ 86.39 ตารางกิโลเมตร ตามแผนงานจะสามารถรองรับจำนวนประชากรได้ประมาณ 250,000 คน และรองรับจำนวนโรงเรียน วิทยาลัย และมหาวิทยาลัยรวมกว่า 10 แห่ง

เขตค้าส่งดอกไม้นานาชาติ

ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองเฉิงก้ง รวมพื้นที่ประมาณ 21.78 ตารางกิโลเมตร รองรับจำนวนประชากรประมาณ 150,000 คน พื้นที่มีการคมนาคมสะดวก ห่างจากเขตนครคุนหมิงประมาณ 12 กิโลเมตร ห่างจากสถานีรถไฟศูนย์ขนส่งสินค้า 3 กิโลเมตร และห่างจากศูนย์ราชการเพียง 2 กิโลเมตรล้อมรอบด้วยเส้นทางทางด่วนคุนหมิง-ต้าหลัว (Kunming-Daluo หรือ คุนหลัว) ทางด่วนคุนหมิง-วี้ซี (Kunming-Yuxi หรือ คุนวี้) ถนนไฉ่หยุน (Cai Yun) และทางรถไฟฟ้าหมายเลย 1 และ 4 ซึ่งเป็นการอำนวย-ความสะดวกด้านการคมนาคมให้แก่เขตค้าส่งดอกไม้นานาชาติแห่งนี้เป็นอย่างมาก

เขตนิคมอุตสาหกรรมเฉิงก้ง

เขตนิคมอุตสาหกรรมตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองคุนหมิงและอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองเฉิงก้ง มีพื้นที่ประมาณ 28.5 กิโลเมตร ตามแผนงานจะสามารถรองรับจำนวนประชากรได้ประมาณ 100,000 คน เขตนิคมอุตสาหกรรมเฉิงก้ง มีความได้เปรียบด้านการคมนาคมที่สะดวก โดยอยู่ห่างจากนครคุนหมิง ท่าอากาศยานนานาชาตินครคุนหมิง และศูนย์โลจิสติกส์นานาชาติเพียงครึ่งชั่วโมง รวมทั้งห่างจากศูนย์ราชการเพียง 8.6 กิโลเมตร อีกทั้ง ยังมีเส้นทางรถไฟคุนหมิง-ฮานอย (Kun-He หรือ คุนเหอ) ทางรถไฟหนานหนิง-คุนหมิง (Nan-Kun หรือ หนานคุน) ทางด่วนคุนหมิง-สือหลิน (Kun-Shi หรือ คุนสือ) ทางด่วนอันหนิง-สือหลิน (An-Shi หรือ อันสือ) ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกด้านการคมนาคมขนส่งให้แก่เขตนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าวอีกด้วย

เส้นทางการคมนาคมเมืองเฉิงก้งแผนการขยายเส้นทาง

  • ทางบก (ถนน) แบ่งออกเป็น

ถนนคุนหมิง-กรุงเทพ (Kun-Man หรือ คุนมั่น)

เฉิงก้ง (Chenggong) --- ม้อฮัน (Mohan) --- หลวงน้ำทา (Namta) --- เชียงราย (Qinglai) ---กรุงเทพฯ (Mangu) รวมระยะทางประมาณ 1,800 กม. ในปัจจุบัน เส้นทางถนนคุนมั่น เป็นเพียงเส้นทางเดียวที่เชื่อมแถบภูมิภาคจีนตอนใต้กับกรุงเทพฯ ของประเทศไทยที่สะดวกที่สุด และสามารถเชื่อมการเดินทางได้ถึงประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์อีกด้วย(สร้างแล้ว)

ถนนคุนหมิง-เวียดนาม (Dian-Yue หรือ เตียนเยวีย)

เฉิงก้ง (Chenggong) --- เหอโค่ว (Hekou) --- ฮานอย (Hanoi) --- ไฮฟอง (Haiphong) รวมระยะทางประมาณ 940 กิโลเมตร เป็นเส้นทางออกสู่ทะเลที่ใกล้ที่สุดของมณฑลยูนนาน

ถนนคุนหมิง-พม่า (Dian-Mian หรือ เตียนเหมียน)

คุนหมิง (Kunming) --- ต้าหลี่ (Dali) --- รุ่ยลี่ (Ruili) --- ลาโช (Lashio) --- ย่างกุ้ง (Yangguang) รวมระยะทางประมาณ 1,800 กิโลเมตร ในอนาคตหากถนนสร้างแล้วเสร็จ จะสามารถเชื่อมเส้นทางการคมนาคมขนส่งระหว่างมณฑลยูนนานกับประเทศตอนบนของกลุ่มอาเซียน ทั้งยังเป็นการเปิดประตูสู่อ่าวไทยและอ่าวเบงกอล

โครงข่ายถนนภายในประเทศ

ถนนหลวง (ระดับประเทศ) เชื่อมต่อระหว่างมณฑลมีทั้งหมด 7 สาย ได้แก่ ถนนหลวงหมายเลข 324, 108, 326, 213, 320, 40, และ 65 รวมระยะทางกว่า 644 กิโลเมตร ถนนหลวง (ระดับมณฑล) เชื่อมต่อภายในมณฑล มีทั้งหมด 7 สาย ได้แก่ ถนนหลวงหมายเลข 101, 102,103, 202, 207, 214, และ 215 รวมระยะทางกว่า 467 กิโลเมตร

นอกจากนี้ เมืองเฉิงก้ง ยังมีเส้นทางด่วนเชื่อมต่อระหว่าง ปักกิ่ง-คุนหมิง, ฉงชิ่ง-คุนหมิง, หังโจว-รุ่ยลี่, ซั่งไห่ (เซี่ยงไฮ้)-คุนหมิง, สั้นโถว (ซัวเถา)-คุนหมิง, กว่างโจว (กวางเจา)-คุนหมิง, หม้อฮัน-คุนหมิง

ถนนรอบทะเลสาบหวนหู (Huanhu)

ถนนรอบทะเลสาบหวนหู (Huanhu) ในเขตเมืองเฉิงก้ง มีความยาวทั้งสิ้น 26.5 กิโลเมตร เป็นทางหลวงหลักระดับคุณภาพดีเลิศ มีช่องทางวิ่ง 4-6 ช่องทาง กำหนดความเร็วไว้ที่ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

สิ้นสุดเดือนกันยายน 2552 เมืองเฉิงก้งได้ใช้งบประมาณลงทุนในการก่อสร้างเส้นทางถนน เป็นระยะทาง 22 กิโลเมตร และอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกว่า 100 กิโลเมตร รวมแล้วประมาณ 20,000 ล้านหยวน

  • ทางระบบราง (รถไฟ)

เส้นทางสาย Trans - Asia แบ่งออกเป็น 3 สาย ได้แก่

1. สายตะวันออก

เฉิงก้ง (Chenggong) --- ฮานอย (Hanoi) --- โฮจิมินซิตี้ (Hu Shi Ming Shi) --- พนมเปญ (Jin Bian) --- กรุงเทพฯ (Mangu) --- กัวลาลัมเปอร์ (Ji Long Po) --- สิงคโปร์ (Xin Jia Po) รวมระยะทางกว่า 5,520 กิโลเมตร รวมระยะเวลาในการเดินทางทั้งสิ้น 55 ชั่วโมง คาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จในปี 2556

2. สายตะวันตก

เฉิงก้ง (Chenggong) --- ย่างกุ้ง (Yangguang) --- กรุงเทพฯ (Mangu) --- กัวลาลัมเปอร์ (Ji long Po) --- สิงคโปร์ (Xin Jia Po) รวมระยะทางกว่า 4,312 กิโลเมตร รวมระยะเวลาในการเดินทางทั้งสิ้น 43 ชั่วโมง คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2558

3. สายกลาง

เฉิงก้ง (Chenggong) --- เวียงจันทร์ (Wan Xiang) --- กรุงเทพฯ (Mangu) --- กัวลาลัมเปอร์ (Ji Long Po) --- สิงคโปร์ (Xin Jia Po) รวมระยะทางกว่า 4,180 กิโลเมตร รวมระยะเวลาเดินทาง 26-32 ชั่วโมง คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2558

สถานีรถไฟ ตั้งอยู่ในเขต Wujiaying ตามแผนงาน “แปดเส้นทางสู่ยูนนาน สี่เส้นทางสู่ชายแดน(ต่างประเทศ)” โดยสถานีรถไฟจะก่อสร้าง 30 ชานชาลา และ 30 รางรถไฟ นอกจากนี้โครงการดังกล่าวยังเป็นส่วนหนึ่งของโครงการทางรถไฟยูนนาน---กว่างซี ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะเชื่อมต่อนครคุนหมิง (Kunming Hub) และเส้นทางสาย Pan-Asia ทั้งยังเชื่อมต่อเครือข่ายเส้นทางตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูง 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เส้นทางเซี่ยงไฮ้---คุนหมิง และเส้นทางในมณฑลความเร็วกว่า 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

การก่อสร้างสถานีรถไฟบนพื้นที่ 100,000 ตารางเมตร จะสามารถรองรับผู้โดยสารจำนวน 31.20 ล้านคน ในปี 2563 และ 46.93 ล้านคน ในปี 2573 โดยสถานีสามารถรองรับผู้โดยสารจำนวนสูงสุด 12,000 คน และรองรับรถไฟจำนวน 180 ขบวนต่อวันในปี 2563 และ 303 ขบวนต่อวันในปี 2573

ภายหลังจากสถานีเปิดใช้บริการรถไฟความเร็วสูง (350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) เส้นทางรถไฟจากนครคุนหมิงไปยังเมืองฉางซาจะใช้เวลาเพียง 4 ชั่วโมง ไปเมืองหังโจวใช้เวลา 8 ชั่วโมง ไปนครเซี่ยงไฮ้ใช้เวลา 10 ชั่วโมง ไปกรุงปักกิ่งใช้เวลาประมาณ 12 ชั่วโมง ซึ่งถ้าโครงการแล้วเสร็จจะสามารถเชื่อมต่อการคมนาคมและอำนวยความสะดวกในการเดินทางทั้งการเดินทางภายในมณฑลและระหว่างมณฑล ซึ่งจะเป็นการรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมของคุนหมิงในอนาคต

สถานีขนส่งสินค้า (คอนเทนเนอร์) ทางราง

นครคุนหมิงถือเป็นสถานีขนส่งสินค้าทางรางที่สำคัญ 1 ใน 18 แห่งของสาธารณรัฐประชาชนจีน โครงการมีการลงทุนกว่า 500 ล้านหยวน บนพื้นที่กว่า 500 ไร่ มีพื้นที่ใช้สอยรวมกว่า 300,000 ตารางเมตร โครงการได้มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยจากต่างประเทศมาใช้ ในปัจจุบัน สถานีขนส่งสินค้าดังกล่าวได้เปิดดำเนินการโครงการ “1 ด่าน 3 ตรวจ” ซึ่งถือเป็นด่านทางบกที่ใหญ่เป็นอันดับหนึ่งในสาธารณรัฐประชาชนจีน การขนส่งทางบกผ่านทางมณฑลยูนนานไปสู่กลุ่มประเทศอาเซียนจะช่วยลดเส้นทางการขนส่งสินค้าทางการเดินเรือลงกว่า 3,000 กิโลเมตร และสามารถลดต้นทุนการขนส่งได้กว่าร้อยละ 40-60

การลงทุนกว่า 600 ล้านหยวน ในการก่อสร้างสถานีขนส่งสินค้าทางราง ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2549 นั้น สถานีขนส่งสินค้าทางรางแห่งนี้ ถือเป็นใจกลางการขนส่งสินค้าจากภาคตะวันตกสู่กลุ่มประเทศอาเซียน สถานีขนส่งสินค้าทางรางดังกล่าวสามารถรองรับจำนวนตู้คอนเทนเนอร์ (TEU) ได้จำนวน 330,000 ตู้ต่อปี คาดว่าในปี 2553 จะสามารถรองรับตู้คอนเทนเนอร์ (TEU) ได้จำนวน 520,000 ตู้ต่อปี และในปี 2558 จะสามารถรองรับตู้คอนเทนเนอร์ (TEU) จำนวนกว่า 820,000 ตู้ต่อปี ครอบคลุมพื้นที่มณฑลยูนนาน กุ้ยโจว และเสฉวน รองรับการพัฒนาศูนย์กลางการขนส่งสินค้าที่สำคัญในเส้นทาง Pan-Asia

  • ทางอากาศ

มณฑลยูนนาน มีสนามบินในเชิงพาณิชย์รวมทั้งหมด 12 แห่ง มีเส้นทางการบินกว่า 190 เส้นทาง โดยมีเส้นทางระหว่างประเทศหลายเส้นทาง อาทิ สิงคโปร์ ฮานอย โฮจิมินท์ซิตี้ ย่างกุ้ง อังกอร์ กัวลาลัมเปอร์ กัลกัตตา มัลดีฟล์ กรุงเทพฯ อาบูดาบี ดาการ์ และโอซากา

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งสำนักงานสายการบินในท่าอากาศยานนครคุนหมิงอีกกว่า 30 สายการบิน อาทิ สายการบิน Singapore Airlines, All Nippon Airways, Thai Airways, JAS, United Arab Emirates Airlines เป็นต้น ในปัจจุบันท่าอากาศยานนครคุนหมิงเป็น 1 ใน 5 ของสนามบินนานาชาติของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน สามารถรองรับผู้โดยสารจำนวน 20 ล้านคนต่อปี

เพื่อรองรับการขยายตัวของนครคุนหมิง ได้มีการลงทุนเป็นจำนวนเงินกว่า 23,000 ล้านหยวนเพื่อสร้างท่าอากาศยานนานาชาติแห่งใหม่ ณ นครคุนหมิง โดยสนามบินมีระยะห่างจากนครคุนหมิงเป็นระยะทาง 20 กิโลเมตร และห่างจากเมืองเฉิงก้ง เป็นระยะทางประมาณ 17 กิโลเมตร ซึ่งท่าอากาศยานนานาชาติแห่งใหม่ ณ นครคุนหมิงแห่งนี้ ถือเป็นเพียงแห่งเดียวในเขตตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่จะรองรับการขยายตัวสู่ประเทศในแถบอาเซียน เอเชียกลาง และยุโรปในอนาคต ท่าอากาศยานนานาชาติแห่งใหม่ ณ คุนหมิง เป็นสนามบินขนาด 4 รันเวย์ มีหลุมจอดเครื่องบินถึง 108 หลุม เนื้อที่รวมกว่า 390,000 ตารางเมตร เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นสนามบินที่ใหญ่อันดับ 4 ของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน รองจากสนามบิน ณ กรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ และนครกว่างโจว

ท่าอากาศยานนานาชาติแห่งใหม่ ณ นครคุนหมิง ได้เริ่มการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2550 และจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2554 และเฟสหลังในปี 2563 มีการคาดการณ์ว่าจะรองรับผู้โดยสารเป็นจำนวนกว่า 38 ล้านคนมีปริมาณการขนส่งสินค้าสูงถึง 1.3 ล้านตันถือได้ว่าท่าอากาศยานนานาชาติแห่งใหม่ณนครคุนหมิง แห่งนี้จะเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนในภายภาคหน้า

  • ทางน้ำ

มณฑลยูนนาน ได้มีการพัฒนาการขนส่งทางน้ำอย่างต่อเนื่องเพื่อเชื่อมต่อกับแม่น้ำแยงซีเกียงโดยในทางทิศเหนือเชื่อมต่อเป็นสามเหลี่ยมแม่น้ำแยงซีเกียงและแม่น้ำจูเจียง ในทางทิศตะวันออกเชื่อมต่อเป็นสามเหลี่ยมแม่น้ำจูเจียง ในทางทิศใต้เชื่อมต่อแม่น้ำโขง และทางทิศตะวันตกเชื่อมต่อแม่น้ำอิรวดีของประเทศพม่าออกสู่มหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย

เส้นทางแม่น้ำหลันชัง (Lanchang) --- แม่น้ำโขง

แม่น้ำสายดังกล่าวไหลผ่านจีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม รวม 6 ประเทศ รวมระยะทางกว่า 3,200 กิโลเมตร เป็นเส้นทางคมนาคมทางธรรมชาติจากมณฑลยูนนานสู่ประเทศในแถบอาเซียน ซึ่งได้รับการขนานนามว่า “แม่น้ำดานูบแห่งตะวันออก” ทางรัฐบาลมณฑลยูนนานได้มีการลงทุนกว่า 1 ล้านหยวน ปรับปรุงเส้นทางเดินเรือในแม่น้ำหลันชัง เป็นระยะทางกว่า 262 กิโลเมตร จากสถิติปี 2550 มีปริมาณนำเข้าและส่งออกกว่า 600,000 ตัน มีเรือพาณิชย์ขนส่งสินค้าที่ให้บริการจำนวนกว่า 100 ลำ มีระวางเรือสูงสุดที่ 300 ตัน

เส้นทางแม่น้ำอิระวดี

แม่น้ำอิระวดีแบ่งออกเป็นสองช่วง คือช่วงมณฑลยูนนานและช่วงประเทศพม่า (เส้นทางทางบกในเขตสาธารณรัฐประชาชนจีน คือ จากนครคุนหมิงไปยังเมืองรุ่ยลี่ ยาวประมาณ 807 กิโลเมตร ซึ่งเป็นทางด่วนทั้งหมด และเริ่มเปิดใช้เมื่อปี 2545 ที่ผ่านมา การขนส่งเส้นทางแม่น้ำอิระวดีได้มีการยกระดับด่านระหว่างประเทศ คือBhamo ในเขตประเทศพม่ากับด่านเมืองรุ่ยลี่ในจีน (ระยะทางประมาณ 11.63 กิโลเมตร) การขนส่งทางน้ำจะเริ่มจากท่าเรือ Bhamo ถึงท่าเรือกรุงย่างกุ้ง ระยะทางประมาณ 1,307 กิโลเมตร สามารถรองรับระวางเรือสูงสุดที่ 500 ตัน จากเมืองมันดาเลย์ถึงท่าเรือกรุงย่างกุ้ง ระยะทาง 897 กิโลเมตร สามารถรองรับระวางเรือสูงสุดที่ 800 ตัน ถ้าหากมีการขุดลอกแม่น้ำในอนาคตจะสามารถรองรับระวางเรือสูงสุดที่ 1,000 ตัน

เส้นทางแม่น้ำแดง (Red River)

เป็นเส้นทางเชื่อมโยงมณฑลยูนนานกับอ่าวเป่ยปู้ (Beibu) ในประเทศเวียดนาม จากชายแดนจีนและเวียดนามที่เมืองเหอโค่ว (Hekou) และเหล่าเจีย (Laojie) ออกสู่มหาสมุทรแปซิฟิกรวมระยะทางกว่า 505 กิโลเมตร ภายหลังจากการขุดลอกและบูรณะแล้วจะสามารถรองรับระวางเรือขนาด 200 ตัน

รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนระบบราง

เพื่อรองรับการขยายเมืองในอนาคต นครคุนหมิงได้มีการจัดทำแผนรองรับการขนส่งมวลชนที่จะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวในอนาคต โดยเส้นทางการขนส่งระบบรางความเร็วสูงในตัวนครคุนหมิงจะมีระยะทางทั้งสิ้น 162.6 กิโลเมตร รวมทั้งสิ้น 6 เส้นทาง

เส้นทางสายที่ 1 เชื่อมต่อใจกลางนครคุนหมิง และไปสิ้นสุด ณ ศูนย์การศึกษาทางใต้ของเขตเมืองใหม่เฉิงก้ง โดยเส้นทางนี้เป็นระบบลอยฟ้าทั้งหมด ปัจจุบัน เส้นทางสายที่ 1 แห่งนี้ อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างรวมระยะทางกว่า 4.9 กิโลเมตร รวมสถานีทั้งสิ้น 4 สถานี

เส้นทางสายที่ 4 เชื่อมต่อระหว่างเขตนิคมด้านตะวันตกเฉียงเหนือของนครคุนหมิง ผ่านตัวเมืองและใจกลางเศรษฐกิจนครคุนหมิง สิ้นสุดที่เขต Bailongtang ของเมืองเฉิงก้ง ซึ่งเป็นการเชื่อมเขตอุตสาหกรรมของทั้งสองแห่งเข้าด้วยกัน

นอกจากนั้น เมืองเฉิงก้ง ยังจัดให้มีการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานอื่นๆ อาทิ ระบบการสื่อสาร ระบบการจัดการและกำจัดของเสีย ระบบการประปา ระบบการจ่ายแก๊สหุงต้ม ระบบไฟฟ้า รวมถึงศูนย์กลางการศึกษา ศูนย์พยาบาล เป็นต้น

ภายใต้แผนการพัฒนาฉบับที่ 11 ของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนจีนนี้ มีแผนยุทธศาสตร์จะพัฒนาประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนด้านตะวันตกเฉียงใต้ โดยอาศัยมณฑลยูนนานและนครคุนหมิง เป็นศูนย์กลางการพัฒนาศูนย์กลางการค้ากับประเทศในแถบอาเซียนและเอเชียใต้ โดยมุ่งเน้นยกระดับเมืองในแถบพื้นที่ตะวันตกและตะวันตกเฉียงใต้ให้มีความทัดเทียมกับภาคตะวันออกของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน อีกทั้งโครงการ Bridgehead (Qiao Tou Bao) และระเบียงตะวันตกของรัฐบาลกลางนี้ จะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของประชากรในภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้อีกด้วย

จากการเปิดเสรีการค้ากับประเทศอาเซียนเป็นต้นมา มณฑลยูนนานและนครคุนหมิงได้มีการพัฒนาเพื่อยกระดับเป็นศูนย์กระจายสินค้าที่สำคัญ ภายใต้ความร่วมมือในภูมิภาคที่มีประชากรรวมกว่า 2,000 ล้านคน มีมูลค่าจีดีพี (GDP) รวมกว่า 6,000,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปีที่ผ่านมามีมูลค่าการซื้อขายรวม 4,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ในอนาคต นครคุนหมิงจะไม่เป็นเพียงศูนย์กลางการค้าของตลาดอาเซียนและเอเซียใต้ แต่จะขยายครอบคลุมไปถึงภาคพื้นยุโรป โดยอาศัยสภาพภูมิศาสตร์ที่ได้เปรียบนี้เองเป็นเส้นทางการส่งออกสินค้าสู่ประเทศต่างๆ และนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศสู่ภาคพื้นภายในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และจากการที่เทศบาลนครคุนหมิงมีการพัฒนาอย่างรอบด้าน แต่ในขณะเดียวกันก็ได้มีการผสมผสานการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติของเมืองควบคู่กันไป โดยเน้นการพัฒนาสังคมควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมซึ่งถือเป็นการพัฒนาที่ถาวรและยั่งยืน

สำนักงานสงเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครคุนหมิง

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ