ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของประเทศสิงคโปร์

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 4, 2011 16:31 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. จุดแข็ง/จุดอ่อน ทางการค้าและการลงทุน

1.1 จุดแข็ง

(1) สิงคโปร์มีความเชี่ยวชาญในการจัดการทรัพยากรบุคคล การบริหารจัดการธุรกิจ ตลาดการค้าเสรีและเป็นตลาดเทคโนโลยีของเอเซียแห่งหนึ่ง มีจุดเด่นเรื่องทำเลที่ตั้งทำให้เป็นเมืองท่าที่สำคัญของโลก มีเครือข่ายธุรกิจกับคนสัญชาติจีนในประเทศต่างๆ มีระบบ Logistics ในการจัดการด้าน Supply Chain ในระดับมาตรฐานโลก ทำให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญ ดังนี้

  • ศูนย์กลางสู่เอเซีย-แปซิฟิค
  • ศูนย์กลางการค้า/บริการของภูมิภาค
  • ศูนย์กลางการเดินเรือพาณิชย์
  • ศูนย์กลางการเงินของภูมิภาค
  • ศูนย์กลางการบินพาณิชย์
  • ศูนย์กลางอุตสาหกรรมเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสีย
  • ศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีชีวภาพของโลก
  • ศูนย์กลางการกระจายสินค้า
  • เป็นที่ตั้งสำนักงานภูมิภาคขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization: WIPO)

(2) สิงคโปร์เป็นประเทศสมาชิกอาเซียนที่เปิดให้มีการค้าอย่างเสรี โดยมีมาตรการควบคุมการนำเข้า-ส่งออกสินค้าเพียง 4 รายการ ได้แก่ รถยนต์ น้ำมัน บุหรี่ และสุรา+เครื่องดื่มผสมแอลกอฮอส์ ทั้งยังเป็นประเทศที่ทำธุรกิจในลักษณะ Trading Hub และในปัจจุบันมีนโยบายมุ่งเน้น Regionalization คือ จะทำการค้าและการลงทุนกับประเทศในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น

(3) ปัจจัยอื่นๆ ได้แก่ 1) วิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศ 2) เสถียรภาพทางการเมือง 3) การวางแผนระยะยาวที่ดี และ 4) ความสามารถในการสร้างสิ่งใหม่ๆเพื่อดึงดูดการค้าการลงทุน

1.2 จุดอ่อน

(1) สิงคโปร์เป็นตลาดเล็ก แม้จะเป็นตลาดการค้าเสรี แต่มีประชากรเพียง 5 ล้านคน

(2) สินค้าต่างๆต้องพึ่งพาการนำเข้าจากแหล่งผลิตทั่วโลก รวมทั้งไทยเพื่อการบริโภคภายในประเทศและและการส่งออกต่อ สินค้าส่วนใหญ่ที่นำเข้าจากไทยเป็นสินค้าอาหาร เช่น ข้าว ผัก ผลไม้ อาหารทะเล อาหารกระป๋อง เป็นต้น

(3) ขาดแคลนแรงงานระดับล่าง ซึ่งต้องนำเข้าแรงงานจากประเทศต่างๆ อาทิ จีน อินเดีย บังกลาเทศ และไทย

(4) ค่าใช้จ่ายในการประกอบธุรกิจมีระดับสูงมาก ทำให้การแข่งขันทางการค้าสูง

2. โอกาสและอุปสรรคในการทำการค้ากับสิงคโปร์

2.1 โอกาส

(1) สิงคโปร์เป็นตลาดการค้าเสรี นักธุรกิจต่างชาติสนใจมาลงทุนจำนวนมาก รวมถึงความหลากหลายในภาคธุรกิจของสิงคโปร์ ที่จะส่งผลให้บริษัทไทยมีโอกาสประกอบธุรกิจทั้งในสิงคโปร์ และสามารถต่อยอดเพิ่มได้อีกในประเทศของนักธุรกิจต่างชาติอื่นๆที่เข้ามาลงทุนในสิงคโปร์ อีกทั้งได้รับผลประโยชน์จากการสร้างเครือข่ายกับบริษัทต่างชาติอื่นๆด้วย

(2) บริษัทไทยสามารถจัดตั้งธุรกิจได้อย่างสะดวกรวดเร็ว การดำเนินธุรกิจคล่องตัว เนื่องจากสิงคโปร์มีโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวย อัตราภาษีที่แข่งขันได้ และบุคคลากรมีความรู้/ความชำนาญระบบการทำงานที่เป็นระเบียบและมีประสิทธิภาพ

(3) บริษัทไทยสามารถใช้ประโยชน์จากการที่สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางในด้านการค้า การลงทุน การเงินและบริการด้านต่างๆ และมีบริษัท MNCs มาตั้งสำนักงานใหญ่เป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้สามารถกำหนดยุทธศาสตร์ด้านธุรกิจได้อย่างชัดเจน และสร้างความมั่นใจในการลงทุน อีกทั้งสิงคโปร์เป็นประเทศแห่งโอกาสในการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากเศรษฐกิจมีการเติบโตและสามารถแข่งขันได้

(4) ประเทศไทยควรใช้สิงคโปร์เป็นฐานในการส่งออกต่อ (re-export) สินค้าไทยไปสู่ประเทศที่สามเพื่อขยายการส่งออก โดยอาศัยจุดแข็งของสิงคโปร์ในด้านการจัดการ การตลาด การเงิน/ธนาคาร การสื่อสารและการคมนาคมขนส่ง

(5) การพิจารณาร่วมลงทุนกับสิงคโปร์นับเป็นโอกาสในการขยายธุรกิจของไทย โดยร่วมลงทุนในธุรกิจที่สิงคโปร์มีความพร้อม เช่น Logistics การท่าเรือ และการบริการด้านการเงิน นอกจากนี้ ยังสามารถส่งเสริมให้บริษัทสิงคโปร์เข้ามาลงทุนในประเทศไทย อาทิ 1) การจัดตั้งสำนักงานในประเทศไทย(มีที่ตั้งเหมาะสมที่จะเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนแห่งหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน) 2) สิงคโปร์ร่วมลงทุนด้านการเกษตรในการทำ Contract Farming ในประเทศไทย

2.2 อุปสรรค

(1) ตลาดสินค้าและบริการที่จำกัด (ประชากรเพียง 5 ล้านคน) แม้ว่าสินค้านำเข้าที่ต้องเสียภาษีขาเข้าเพียง 4 รายการก็ตาม(รถยนต์ น้ำมัน บุหรี่ และสุรา+เครื่องดื่มผสมแอลกอฮอส์) และการแข่งขันทางการค้าในระดับสูง เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการประกอบธุรกิจสูงมาก

(2) มาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีที่เป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการนำเข้าสินค้าจากไทย ได้แก่

  • สินค้าเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ Agri-Food Veterinary Authority (AVA) ภายใต้ Ministry of National Development เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการตรวจสอบการนำเข้าอาหาร โดยจะอนุญาตให้นำเข้าจากฟาร์มที่ได้รับการรับรองจาก AVA เท่านั้น โดยสินค้ามีดังนี้

1. สุกรและเนื้อสุกรแปรรูป

  • ตามระเบียบการนำเข้าสุกรมีชีวิต แปรรูป หรือผลิตภัณฑ์ เช่น หมูกระป๋อง แฮม Ready-to-eat ที่มีส่วนประกอบของหมู หมูหยอง หมูแผ่น ไส้กรอกหมู รวมทั้งเนื้อสัตว์ทุกชนิด ซึ่ง Agri-Food Veterinary Authority (AVA) กำหนดว่า สุกรมีชีวิต เนื้อสุกรแปรรูป และผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจะต้องผลิตมาจากฟาร์มเลี้ยงสุกร โรงฆ่า โรงชำแหละ และโรงงานแปรรูปที่ได้รับการตรวจสอบและรับรองจากหน่วยงาน AVA แล้วเท่านั้น
  • กรณีประเทศไทย AVA ห้ามนำเข้าสุกรมีชีวิตและผลิตภัณฑ์แปรรูปเนื่องจากการเกิดโรค Nipah Virus ในเขตชายแดนภาคใต้ แต่ในปี 2546 ได้ผ่อนผันโดยเปิดให้มีการนำเข้าเนื้อสุกรแปรรูปโดยผ่านความร้อนสูง (Heat-processed pork products) จากประเทศไทย ซึ่งเนื้อสุกรจะต้องมาจากโรงฆ่าที่กรมปศุสัตว์รับรองและ AVA ตรวจสอบและอนุมัติแล้วเท่านั้น

2. เนื้อวัว AVA กำหนดให้นำเข้าได้จากประเทศผู้ผลิตที่ได้รับการอนุมัติเท่านั้น ได้แก่ อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล จีน นิวซีแลนด์ อัฟริกาใต้ สวีเดน และอุรุกวัย สำหรับประเทศไทยยังไม่ได้รับการอนุมัติใดๆ

3. ไก่/เป็ด AVA กำหนดให้นำเข้าได้จากประเทศผู้ผลิตที่ได้รับการอนุมัติเท่านั้น สำหรับประเทศไทย ดังนี้ 1) ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549 AVA ได้ประกาศอนุญาตให้นำเข้าผลิตภัณฑ์ไก่/เป็ดแปรรูปโดยผ่านความร้อนสูงในอุณหภูมิ 70?C ระยะเวลา 3 นาที (Heat-processed poultry meat products) จากบริษัทผู้ผลิตไทย อาทิ C.P. Food Products Co., Ltd., GFPT Public Co., Ltd., CP Food Products Co., Ltd., Sun Valley (Thailand) Ltd., Bangkok Produce Merchandise Public Co., Ltd., Ajinomoto Frozen Foods (Thailand) Co., Ltd., C.P. Food Industry Export Co., Ltd., Surapon Nichirei Foods Co., Ltd., Grampian Foods Siam Ltd., Mckey Food Services (Thailand) Ltd., Panus Poultry Co., Ltd. 2) ใบรับรองสุขอนามัยสินค้าฯ ที่ส่งให้ AVA จะต้องลงรายละเอียดอุณหภูมิของการผลิตโดยผ่านความร้อนและระยะเวลาให้ครบถ้วน 3) หากผลิตภัณฑ์ไก่/เป็ดแปรรูปโดยผ่านความร้อนสูงนั้น มีส่วนผสมของผัก(เช่น ขิง กระเทียม ใบ shiso แห้ง เป็นต้น) และผลิตภัณฑ์จากไข่(เช่น ไข่ขาวและไข่ทั้งฟองแห้ง) ผู้ผลิตจะต้องจัดส่งข้อมูลวิธี ควบคุมการผลิตและโปรแกรมการดูแลสารตกค้างของยาปราบศัตรูพืช รวมทั้งข้อมูลของผู้จัดส่งสินค้าผลิต- ภัณฑ์ไข่แปรรูปและขั้นตอนการผลิตให้ AVA พิจารณาด้วย

4. ไข่ไก่ ซึ่ง AVA จะอนุญาตให้นำเข้าไข่ไก่เฉพาะจากโรงงานที่ผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ AVA แล้วเท่านั้น และผู้ส่งออกจากประเทศผู้ผลิตจะต้องแนบใบรับรองจากหน่วยงานที่ตรวจสอบภายในประเทศมาด้วยทุกครั้งในการส่งออกมาสิงคโปร์ สำหรับประเทศไทย ยังไม่ได้รับการอนุมัติให้นำเข้า

  • สินค้าข้าว : 1) International Enterprise Singapore (IE Singapore) เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการกำกับดูแล ภายใต้กฎระเบียบการนำเข้าข้าว ซึ่งกำหนดให้มีการสำรองข้าว ควบคุมปริมาณนำเข้า และเป็นผู้ออกใบอนุญาตนำเข้า 2) ผู้นำเข้าข้าวต้องสำรองข้าวไว้ในปริมาณ 2 เท่าของปริมาณที่นำเข้าแต่ละเดือนและข้าวที่สำรองต้องเก็บไว้ในโกดังสินค้าของรัฐบาล Singapore Storage & Warehouse Pte. Ltd. (SSW) สำหรับการนำเข้าข้าวชนิด Fragrant Rice, White Rice และ Broken Rice จากทุกประเทศ ข้าวที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องสำรองคือ ข้าวกล้อง ข้าวนึ่ง ข้าวเหนียว และข้าวบาสมาติ เช่น กรณีผู้นำเข้าข้าวเพื่อจำหน่ายปริมาณ 500 ตัน จะต้องนำเข้าเพื่อสำรองไว้ปริมาณ 1,000 ตัน รวมเป็นการนำเข้าปริมาณ 1,500 ตัน และหากผู้นำเข้าต้องการนำเข้าข้าวเพิ่มหรือลดจากจำนวนที่แจ้งไว้ ผู้นำเข้าต้องทำหนังสือขออนุมัติจาก IE Singapore ล่วงหน้าก่อนเป็นเวลา 3 เดือน
  • สินค้าผักและผลไม้ : 1) Agri-Food Veterinary Authority [AVA] และ Food Control Department [FCD] ภายใต้กระทรวงสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการตรวจสอบสารตกค้างผักและผลไม้ทุกชนิดที่นำเข้าสิงคโปร์ ภายใต้กฎ/ระเบียบ The Food Regulations โดยจะส่งเจ้าหน้าที่สุ่มตรวจสินค้าฯ หากพบสารตกค้างใดๆ จะพิจารณาให้ส่งสินค้ากลับประเทศผู้ส่งออกหรือสั่งทำลาย โดยเผาสินค้าฯ ทันที พร้อมทั้งนำผู้นำเข้าส่งเรื่องฟ้องศาลด้วย 2) ข้อควรระวังอย่างมาก คือ การใช้สารซัลเฟอร์ไดอ๊อกไซด์ [So2] ในการถนอมลำไยให้คงทนอยู่ได้นาน AVA กำหนดว่า ไม่ให้มีสารซัลเฟอร์ไดอ๊อกไซด์ตกค้างอยู่ในเนื้อลำไย แต่บนเปลือกลำไยจะอนุโลมให้ในสัดส่วน 350 ppm 3) ปัจจุบันผักชีที่นำเข้าจากไทยซึ่ง AVA ไม่อนุญาตให้นำเข้าเมื่อตรวจพบสารตกค้างเกินกว่าที่กำหนด ได้แก่ Methamidofos, Parathion-methyl, EPN, Triazofos, Metalaxyl, Chlorpyrifos, Dithiocarbamates, Chlorothalonil, Dicrotofos, Dimethoate, Ethion, Profenofos
  • ฉลากสินค้าอาหาร Labeling Requirements เป็นไปตามระเบียบ The Food Regulations ระเบียบข้อกำหนดสำคัญที่ผู้ผลิตพึงถือปฏิบัติคือ การปิดฉลากสินค้าที่มีข้อมูลเป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษ ความสูงของตัวอักษรไม่น้อยกว่า 1.5 mm. แสดงรายละเอียด ดังนี้
  • ชื่อสินค้า
  • น้ำหนัก
  • ชื่อและที่อยู่ของผู้ผลิต ผู้นำเข้า และ Distributor
  • ประเทศผู้ผลิตสินค้า
  • รายการส่วนผสม พร้อมแสดงน้ำหนัก ปริมาณส่วนผสมแต่ละชนิด
  • Date of Marking ซึ่งสามารถใช้คำว่า “Use By” , “Sell By” , “Expiry Date” หรือ “Best Before” ในการแสดงวัน/เดือน/ปี จะใช้ในลักษณะ dd/mm/yy (หมายถึง วันที่/เดือน/ปี)
  • แสดงเครื่องหมาย Bar Code
  • รายละเอียดด้านโภชนาการ (Nutrition Facts)
  • ไม่ให้มีคำพูดใดๆ บนฉลากที่อ้างถึงสินค้าในเรื่องการบำรุงสุขภาพ (no health claims allowed on the label)
  • การจ้างแรงงานด้านธุรกิจบริการ ซึ่งไม่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนในภาคธุรกิจบริการของไทยในสิงคโปร์ โดยการยื่นขอใบอนุญาตจ้างแรงงานไทยต่อ Ministry of Manpower (MOM) ประสบปัญหา เนื่องจากในบางกรณีสำนักงานแรงงานไทยได้มีหนังสือรับรองพร้อมเอกสารใบประกาศนียบัตรจากหน่วยงานของไทยเพื่อรับรองแล้ว แต่ไม่ได้รับอนุญาต โดยไม่มีการชี้แจงเหตุผล นอกจากนี้ หน่วยงาน Workforce Development Agency ได้ออกกฎระเบียบกำหนด Skill Standard ใหม่ ภายใต้ National Skills Recognition System (NSRS) มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549 ได้เพิ่มเงื่อนไขมากขึ้น โดยหมอนวดจะต้องผ่านหลักสูตรการนวดมาตรฐานรวมถึง Full-body massage with oil, Full-body massage without oil, Manicure-pedicure และ Face treatment โดยในความเป็นจริง ธุรกิจสปาของไทยในสิงคโปร์ ดำเนินธุรกิจเฉพาะนวดตัวและนวดเท้าเท่านั้น ดังนั้น เงื่อนไขดังกล่าวจึงเป็นการเพิ่มภาระและต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ

3. กลยุทธ์การขยายตลาดในสิงคโปร์

3.1 ขยายเครือข่าย Business Networking ร่วมกับสิงคโปร์เพื่อขยายตลาดสู่ต่างประเทศ

3.2 สร้าง Branding สำหรับสินค้าไทย โดยใช้สิงคโปร์เป็น Testing Base สู่ตลาดโลก

3.3 ขยายการส่งออกสินค้า Innovative Product, High Value Added มายังตลาดสิงคโปร์

4. ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของสิงคโปร์

4.1 สิงคโปร์ได้ประกาศนโยบายยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของประเทศ โดยมีเป้าหมายที่จะปรับปรุงกลยุทธ์ในการพัฒนาประเทศให้ก้าวไปสู่การเป็นประเทศผู้นำในเอเซีย (A leading global city in the heart of Asia) วัตถุประสงค์หลัก มีดังนี้

(1) เพื่อพัฒนาความก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจให้เป็นไปโดยเร็วยิ่งขึ้น สิงคโปร์จะต้อง

  • สนับสนุนบุคลากรในด้านความสามารถพิเศษเฉพาะตัว
  • เปิดโอกาสให้เกิดการพัฒนาและขยายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
  • สนับสนุนให้มีการใช้แหล่งทรัพยากรที่หายากให้เกิดประโยชน์ให้มากที่สุด

(2) สร้างโอกาสเพื่อให้เกิดการ :-

  • สร้างงานที่มีคุณภาพ เพื่อให้เกิดการจ้างงานในอัตราค่าจ้างที่สูงขึ้น
  • การลงทุนด้านการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่สังคมที่มีศักยภาพ

4.2 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2553 กระทรวงการคลังสิงคโปร์ได้จัดทำรายงานยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเพิ่มเติม เพื่อส่งเสริมให้ประเทศมีความเจริญก้าวหน้าต่อไป โดยมีนโยบายมุ่งเน้นสำคัญ 6 ประการ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ (1) Economic growth that sustainable : โดยบ่งชี้ภาคอุตสาหกรรมสำคัญที่ทำให้เกิดการเติบโต การสร้างโอกาสการจ้างงาน และพัฒนาบุคคลากรให้สามารถแข่งขันได้กับนานาชาติ (2) Having a strong social security framework : ให้ความมั่นใจเสถียรภาพด้านการเงิน ส่งเสริมและพัฒนาการรักษาสุขอนามัยและที่พักอาศัยซึ่งประชากรสามารถจ่ายได้โดยไม่ลำบาก (3) A world-class environment and infrastructure : ให้เป็นเมืองที่มีชีวิตชีวาของโลก การคมนาคมขนส่งสะดวกและสภาวะแวดล้อมรักธรรมชาติ (4) A Singapore that is secure and influential : การเตรียมพร้อมสำหรับช่วงวิกฤตต่างๆ และสร้างให้มีความเป็นอยู่ที่ดี (5) Having strong families, cohesive society : ให้มีการศึกษาที่ได้ระดับนานาชาติ ให้ความสำคัญต่อประชากร (6) Effective government : สร้างบุคคลากรให้เป็นผู้นำในอนาคต ควบคุมมวลชนให้ตั้งอยู่ในความสงบ ปราบการคอร์รัปชั่น ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ภาครัฐให้ปฏิบัติงานด้วยความตั้งใจและซึ่อสัตย์สุจริต ส่งเสริมการใช้เครือข่ายข้อมูลให้เป็นไปอย่างถูกต้องและได้ประโยชน์อย่างสูงสุดต่อทุกฝ่าย

4.3 ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ได้แก่ จัดสรรงบประมาณร้อยละ 21 ของงบประมาณรวมเพื่อเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ทักษะแรงงาน ส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางธุรกิจและเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการ SME ให้เป็น Trading Hub ของเอเชีย โดยการพัฒนาทักษะแรงงาน ปรับสมดุลจำนวน แรงงานต่างชาติและจัดตั้ง Human Capital Leader Institution (HCLD) รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ(รถไฟใต้ดิน ท่าอากาศยาน และเมืองใต้ดิน) และส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ให้สิงคโปร์อยู่บน Creativity map เป็นประเทศที่ดีที่สุดสำหรับนักลงทุนและเป็นศูนย์กลางทางความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมของเอเชีย

4.4 สิงคโปร์เริ่มปรับเปลี่ยนโฉมภาคอุตสาหกรรมเพื่อขยายเศรษฐกิจ ซึ่งมุ่งเน้นที่จะสร้างประเทศให้เป็นศูนย์กลาง Clean Energy ของโลก โดยให้เป็นแหล่งที่มีการพัฒนา การผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับ Clean Energy ไปยังต่างประเทศ ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2552 สิงคโปร์ได้กำหนดในแผนเศรษฐกิจแห่งชาติให้อุตสาหกรรม Clean Energy เป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ภาครัฐได้เริ่มวางนโยบายพิมพ์เขียวครอบคลุมเพื่อการขยายตัวของอุตสาหกรรม ในขั้นต้น รัฐบาลให้เงินสนับสนุน 350 ล้านเหรียญสิงคโปร์ โดยมีแกนสำคัญ 5 ประการ คือ 1) การค้นคว้าและวิจัย-R&D 2) การพัฒนาบุคคลากร 3) การส่งเสริมฝึกอบรมและยกระดับบริษัทสิงคโปร์ 4) การสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในตลาดนานาชาติ และ 5) การสร้างอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ภาคอุตสาหกรรม Clean Energy ของสิงคโปร์ ได้เริ่มต้นผลักดันกลุ่มพลังงานแสงอาทิตย์-Solar Energy เนื่องจากประเทศตั้งอยู่ในเขตยุทธศาสตร์สำคัญของภูมิภาคเขตร้อน และสนับสนุนการหันไปหาผลผลิตจากทางเลือกอื่นๆ ได้แก่ พลังงานชีวภาพ-Biofuels พลังงานลม-Wind Energy พลังงานคลื่น-Tidal Energy การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ-Energy Efficiency และการบริการคาร์บอน-Carbon Services คาดว่าภายในปี 2558 อุตสาหกรรม Clean Energy จะมีมูลค่าประมาณ 1.7 พันล้านเหรียญสิงคโปร์และเป็นปัจจัยสำคัญส่งเสริมการขยายตัว GDP ของสิงคโปร์ อีกทั้งจะมีการจ้างงานถึง 7,000 อัตรา

ภาครัฐได้จัดตั้ง The Clean Energy Programme Office (CEPO) เป็นหน่วยคณะทำงาน ประกอบด้วยหน่วยงานต่างๆของภาครัฐให้มีความรับผิดชอบในการวางแผนและกำหนดนโยบายเพื่อพัฒนาสิงคโปร์ให้เป็นศูนย์กลาง Clean Energy ของโลก และเพื่อให้สิทธิประโยชน์แก่บริษัทวงการอุตสาหกรรมพลังแสงอาทิตย์ในสิงคโปร์และทำให้อุตสาหกรรมมีการขยายตัว ซึ่ง CEPO ได้เปิดตัวโปรแกรมสำคัญ 5 โปรแกรม คือ

(1) Clean Energy Research Programme (CERP) : เงินสนับสนุน 50 ล้านเหรียญสิงคโปร์ ซึ่งสนับสนุนการศึกษา R&D ในด้านความริเริ่มสำหรับการศึกษาและด้านอุตสาหกรรม

(2) NRF (Clean Energy) PhD Scholarships and Company Scholarship — เงินสนับสนุน 25 ล้านเหรียญสิงคโปร์

(3) Quickstart : โปรแกรมการช่วยเหลือที่ค้นหาและให้การอบรมบริษัทสิงคโปร์ซึ่งจะเริ่มจัดตั้งบริษัทเกี่ยวกับ Cleantech ภายใต้คำแนะนำของกลุ่มที่ได้รับการอนุมัติ มีจุดมุ่งหมายเพื่อจะให้มีความเชื่อมั่นว่า สิงคโปร์มีพื้นฐานที่บริษัทใหม่จะประสบความสำเร็จในสิงคโปร์และเป็นผู้ที่ได้รับความสำเร็จในอุตสาหกรรม Cleantech ระดับโลก

(4) Solar Capability Scheme (SCS) : เงินสนับสนุน 20 ล้านเหรียญสิงคโปร์ เปิดตัวเมื่อปี 2551 สำหรับภาคเอกชน มุ่งให้การส่งเสริม innovative design and integration of solar panels into green buildings จุดประสงค์ของโปรแกรมเพื่อสร้างความมั่นคงด้านความสามารถของบริษัทในระบบ solar ecosystem และให้มีผู้ใช้ระบบนี้เพิ่มมากขึ้น

(5) Clean Energy Research & Testbedding Programme (CERT) : เงินสนับสนุน 17 ล้านเหรียญสิงคโปร์ มุ่งเน้นภาคที่เกี่ยวข้องกับรัฐและสนับสนุน SCS เปิดตัวในปี 2550 เน้นในการสร้างโอกาสสำหรับบริษัทที่จะพัฒนาและทดลอง Clean Energy โดยใช้อาคารและสถานที่ของภาครัฐในสิงคโปร์

ในปัจจุบัน สิงคโปร์ได้รับการลงทุนด้าน Clean Energy จากบริษัทชั้นนำสำคัญในอุตสาหกรรม ได้แก่ บริษัท Renewable Energy Corporation (นอรเวย์)- ลงทุนประมาณ 6.3 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ สร้างโรงงานขนาดใหญ่ผลิตสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานแสงอาทิตย์ และบริษัท Vestas Wind Systems (เดนมาร์ค)-ผู้นำของโลกด้านเทคโนโลยีลม ได้จัดตั้งสำนักงานใหญ่ภูมิภาคในสิงคโปร์ตั้งแต่ปี 2550 และลงทุนประมาณ 500 ล้านเหรียญสิงคโปร์ในการพัฒนาศูนย์ R&D แห่งแรกนอกประเทศเดนมาร์ค

4.5 การสร้างความสัมพันธ์โดยมีความร่วมมือทางการค้ากับต่างประเทศ ทั้งระดับทวิภาคีและ พหุพาคี เป็นสมาชิก APEC, ASEAN, ASEM, WTO, UN, ASEF, FEALAL, G77, NAM, The Commonwealth, UNSC, OPCW รวมทั้ง มีการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement : FTAs) กับนานาประเทศด้วย ซึ่งข้อตกลงการค้าเสรีที่มีทั้งการลงนามระหว่าง 2 ประเทศหรือมากกว่า จะช่วยลดมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ลดอัตราภาษีการนำเข้า ผ่อนปรนกฎ/ระเบียบในการลงทุน และส่งเสริมให้การส่งสินค้าและการบริการระหว่างประเทศเป็นไปด้วยความสะดวก อีกทั้ง ยังเป็นประโยชน์ต่อการสร้างตลาดใหม่ๆให้แก่นักลงทุนสิงคโปร์พร้อมเปิดโอกาสด้านการค้าขาย รวมถึงการพัฒนาทรัพย์สิน-ทางปัญญา และเพื่อให้สิงคโปร์รักษาระดับมาตรฐานของการเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าและการขนส่งอีกด้วย นอกจากนี้ สิงคโปร์มีกรอบขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับสิงคโปร์ (Singapore-Thailand Enhanced Economic Relationship : STEER) ดังนั้น เมื่อรวมระบบสำคัญต่างๆ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของสิงคโปร์เข้ากับการที่สิงคโปร์มีข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศต่างๆทั่วโลก ก็สามารถทำให้กระบวนการค้าระหว่างประเทศเป็นไปได้โดยง่ายและส่งผลให้เศรษฐกิจสิงคโปร์เติบโตอย่างรวดเร็ว

4.6 ภาครัฐส่งเสริมการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (รถไฟใต้ดิน ถนน ท่าเรือ สนามบิน เครือข่ายโทรคมนาคม) ให้สภาพบ้านเมืองเหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจการค้า สร้างบรรยากาศด้านการลงทุนให้เป็นที่น่าสนใจต่อชาวต่างชาติที่ประสงค์จะย้ายถิ่นมาลงทุนในสิงคโปร์ รักษากฎ/ระเบียบอย่างเคร่งครัด รวมทั้งมีมาตรการในการเคารพทรัพย์สินทางปัญญา และรักษาสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อสังคม

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ สิงคโปร์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ