ธุรกิจสปาในสิงคโปร์

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 4, 2011 17:06 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. ภาพรวมของธุรกิจสปา

ในอดีต ธุรกิจสปาในสิงคโปร์ถือว่าเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย เนื่องจากมีค่าบริการสูง การเข้ารับบริการจะอยู่เฉพาะในกลุ่มผู้หญิงที่มีรายได้สูงเท่านั้น แต่เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจสปาเป็นที่แพร่หลายอย่างมาก กลุ่มผู้บริโภคเดิมยังคงอยู่ และกลุ่มผู้บริโภคใหม่ที่เพิ่มขึ้นมากคือ กลุ่มผู้หญิงและผู้ชายที่มีรายได้ระดับกลาง เริ่มมีความกระตือรือร้นในการดูแลสุขภาพของตนเองเพิ่มมากขึ้น ชอบเข้าสปาเพื่อผ่อนคลายความเครียด ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นต่อชีวิตที่จะต้องจัดสรรเงินรายได้ส่วนหนึ่งเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อใช้บริการสปา รวมทั้งการทำเล็บ การนวดหน้า การบำรุงรักษาผิวพรรณ ในปี 2552 จากเหตุการณ์เศรษฐกิจถดถอยและชะลอตัว ส่งผลให้การเติบโตของธุรกิจสปา

ถดถอยลงไปด้วย อย่างไรก็ตาม การเติบโตยังมีการขยายตัว แต่ในอัตราที่ลดลง เนื่องจากผู้ใช้บริการยังมีความห่วงใยและใส่ใจเรื่องสุขภาพ รวมถึงการเสริมสร้างบุคคลิกภาพและสภาพจิตใจที่จะต้องต่อสู้กับความท้าทายต่างๆในช่วงเศรษฐกิจถดถอย

ธุรกิจสปา ณ โรงแรมและ Resort ในปี 2552 มีการเติบโตลดลงร้อยละ 7 เนื่องจากนักท่องเที่ยวเยือนสิงคโปร์ลดลง (ถึงแม้จะมีนักท่องเที่ยวมากขึ้นในช่วงการแข่งขัน Formula One : F1 ทำให้สถาน สปาของโรงแรมและ Resort ที่ตั้งอยู่ในเขตที่มีการแข่งขันมีรายได้เพิ่มขึ้นก็ตาม) ส่วนสปาประเภท Day Spa ขนาดเล็ก ยังคงมีการเติบโตร้อยละ 10 เนื่องจาก ค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจน้อยกว่ากิจการสปาที่โรงแรมและ Resort ชาวสิงคโปร์เข้าใช้บริการเพิ่มขึ้นเพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดีและพัฒนาบุคคลิกภาพ นอกจากนี้ การจัดโปรแกรมที่แตกต่างและราคาพอสมควรสำหรับสมาชิก จะส่งเสริมให้ผู้ใช้บริการกลับมาใช้บริการอีกเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง ส่วนใหญ่สถานสปาขนาดเล็กตั้งอยู่ ณ ศูนย์การค้าในเขตชุมชนต่างๆ ซึ่งทำให้ผู้ใช้บริการสะดวกในการเดินทาง และได้รับทราบข้อมูลประชาสัมพันธ์โปรแกรมให้บริการสปาอย่างต่อเนื่อง ในขณะนี้มีธุรกิจสปาและสถานบริการนวดในสิงคโปร์มากกว่า 500 แห่ง (ในจำนวนนี้ 48 แห่งเป็นสถานสปาที่โรงแรมและ Resort และ 2 ใน 3 เป็นกิจการที่เพิ่งเริ่มเปิดใหม่ได้ไม่เกิน 1 ปีครึ่ง) คาดว่า จะทำรายได้ประมาณ 1.2 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ต่อปี นักลงทุนส่วนใหญ่เห็นว่า ธุรกิจสปาเป็นภาคธุรกิจที่สามารถทำรายได้และมีผลกำไรอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลา 1-2 ปี ดังนั้นจึงมีกิจการสปาลักษณะ Day Spa เปิดขึ้นมากทั่วเกาะสิงคโปร์ รวมถึงร้านเล็กๆในชุมชนต่างๆ ส่งผลให้มีการแข่งขันทางธุรกิจในระดับสูง และตลาดกลายเป็นของผู้บริโภคที่สามารถเลือกใช้บริการได้ตามความประสงค์ทั้งการบริการและค่าบริการ

2. กฎระเบียบ/ข้อกำหนดและขั้นตอนในการจัดตั้งธุรกิจ

สิงคโปร์ไม่จำกัดการลงทุนขั้นเริ่มแรก ผู้ลงทุนสามารถตัดสินใจว่าจะลงทุนเองทั้งหมดหรือลงทุนร่วมกับผู้ประกอบการท้องถิ่น การจดทะเบียนบริษัทเป็นผู้ประกอบการ ต้องยื่นต่อ Accounting & Corporate Regulatory Authority (ACRA) ซึ่ง ACRA จะใช้เวลาในการพิจารณาอนุมัติจัดตั้งบริษัทประมาณ 14-60 วัน เมื่อได้รับอนุมัติแล้ว จึงสามารถจัดตั้งบริษัทพร้อมจัดหาแรงงาน หากเป็นแรงงานต่างชาติต้องขอใบอนุญาตทำงานจากกระทรวงแรงงาน (Ministry of Manpower) หากมีการนำเข้าหรือส่งออกสินค้าต้องขอใบอนุญาต จาก International Enterprise Singapore (IE Singapore) สำหรับนักธุรกิจที่จะจัดตั้งธุรกิจสปาในสิงคโปร์ เมื่อจดทะเบียนบริษัทเรียบร้อยแล้ว ต้องสมัครเป็นสมาชิกของ The Spa Association Singapore อีกทั้งพนักงานผู้ให้การบริการร้อยละ 50 จะต้องมีประกาศนียบัตรรับรองวิชาชีพจากสมาคมฯด้วย

ข้อมูลการจัดตั้งธุรกิจในสิงคโปร์

การจัดตั้งบริษัทในสิงคโปร์ สามารถมีผู้ถือหุ้นต่างชาติได้ทั้งหมด โดยยื่นขอจดทะเบียนบริษัทต่อกรมทะเบียนการค้าและธุรกิจ (Accounting & Corporate Regulatory Authority : ACRA) เพื่อจดทะเบียนการจัดตั้งบริษัท/ธุรกิจภายใต้ Business Registration Act Cap 32 ซึ่งบุคคลที่จะจัดตั้งบริษัทต้องจดทะเบียนกับ ACRA ในธุรกิจทุกสาขา รวมถึง trade, commerce, craftsmanship, profession or any activity carried on for the purpose of gain รายละเอียดจากเว็บไซด์ www.acra.gov.sg

ข้อมูลสรุปสำหรับการจัดตั้งบริษัทในประเทศสิงคโปร์

1. สามารถมีผู้ถือหุ้นต่างชาติได้ทั้งหมด

2. ทุนจัดทะเบียนขั้นต่ำ 1 เหรียญสิงคโปร์

3. สามารถจดทะเบียนได้ภายใน 1 วัน หากไม่ต้องยื่นขอใบอนุญาตจากหน่วยงานอื่น

4. มีผู้ถือหุ้นอย่างน้อย 1 คน และกรรมการ 1 คน

5. ได้รับการยกเว้นภาษีรายได้ 100,000 เหรียญสิงคโปร์แรกต่อปี เป็นเวลา 3 ปีนับแต่วันจัดตั้งบริษัท

6. ภาษีร้อยละ 9 คิดจากเงินได้ 300,000 เหรียญสิงคโปร์ ต่อปี เริ่มตั้งแต่ ปี 2551

7. ภาษีบริษัทร้อยละ 18 สำหรับเงินได้ที่นอกเหนือจาก 300,000 เหรียญสิงคโปร์แรก

8. โดยทั่วไป ไม่มีภาษีบนกำไรที่ได้รับจากการขายคืนสินทรัพย์ (Capital Gain Tax) และเงินปันผล

9. สิงคโปร์จะออกวีซ่าสำหรับผู้ประกอบการ (Entrepreneur Pass) ให้แก่เจ้าของกิจการที่ประสงค์จะย้ายกิจการมาที่ประเทศสิงคโปร์

10. ไม่มีข้อจำกัดในการแลกเปลี่ยนและการส่งเงินกำไรจากการประกอบการกลับประเทศ

ขั้นตอนการจดทะเบียนของบริษัทต่างชาติ

1. การจดทะเบียนบริษัท/ธุรกิจ — Type of Business Organization ภายใต้ Foreign Companies เอกสารที่ต้องยื่น คือ

-application for approval of name

-application to register a business

ผู้ประสงค์จะจัดตั้งบริษัทสามารถมอบอำนาจให้สำนักงานทนายความในสิงคโปร์เป็นตัวแทนในการขอจดทะเบียนบริษัททาง Internet ได้ที่ www.bizfile.gov.sg

2. การขออนุญาต [license] เปิดสถานสปา ร้านอาหาร/ภัตตาคาร นอกจากยื่นขอจดทะเบียนกับ ACRA แล้ว ยังต้องขออนุญาตจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม และ Singapore Police Force ด้วย

3. การนำพนักงานต่างชาติเข้ามาทำงานในสิงคโปร์ ผู้ประกอบการจะต้องยื่นขอ S Pass หรือ Employment Pass จาก Employment Pass Department, Ministry of Manpower

ขั้นตอนพื้นฐาน

  • ได้รับการอนุมัติชื่อของบริษัทเพื่อจดทะเบียน
  • เตรียมเอกสารในการจดทะเบียน และลงนามโดยผู้จัดตั้งบริษัท
  • จดทะเบียน กับ ACRA (Registrar of Companies)
  • เปิดบัญชีธนาคารในนามของบริษัท

ข้อมูลและเอกสารที่จำเป็นประกอบการจดทะเบียนบริษัท

  • Memorandum and Articles of Association (หนังสือบริคณห์สนธิ และหนังสือรับรองของบริษัท)
  • Statutory Declaration of Compliance
  • รายละเอียดของผู้ถือหุ้น กรรมการ เลขานุการ และอื่นๆ บริษัทจะต้องมีกรรมการอย่างน้อย 1 คน ที่พำนักอยู่ในสิงคโปร์ ซึ่งอาจจะเป็นคนสัญชาติสิงคโปร์/ผู้พำนักถาวร หรือเป็นผู้ที่ถือวีซ่าทำงาน (Citizens, Permanent Residents, or Employment Pass Holders) และเลขานุการ 1 คน ที่เป็นผู้พำนักถาวรอยู่ในประเทศสิงคโปร์
  • Certificate of Identity (บัตรประชาชนหรือหนังสือเดินทาง)
  • สถานที่และที่อยู่ที่จดทะเบียนของบริษัท (ที่อยู่ในสิงคโปร์) วันและเวลาทำการตามที่จดทะเบียน
  • หลักฐานการได้รับอนุมัติให้เป็นกรรมการของบริษัท และคำให้การว่าด้วยคุณสมบัติการเป็นกรรมการ
  • หลักฐานการได้รับอนุมัติให้เป็นเลขานุการของบริษัท

EntrePass สำหรับผู้ประกอบการต่างชาติ

EntrePass Scheme มีไว้อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการที่ระดับการศึกษาไม่สูง ประสงค์เข้ามาทำกิจการในสิงคโปร์ (ต่างกับ Employment Pass ที่ออกให้กับผู้ที่มีคุณสมบัติทางการศึกษาในขั้นปริญญา) หากได้รับการอนุมัติให้มี EntrePass แล้ว จะต้องจัดตั้งบริษัทภายใน 30 วันหลังจากนั้น ทั้งนี้ EntrePass จะมีอายุ 1-2 ปี และอนุญาตให้บุคคลนั้นๆนำครอบครัวเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศได้ด้วย โดยจะต้องขอ Dependent Pass ให้ กับสมาชิกของครอบครัวในเวลาเดียวกัน หากธุรกิจยังดำเนินอยู่ สามารถขอต่ออายุ EntrePass ได้ อนึ่ง EntrePass มีไว้เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถอยู่ดูแลกิจการในสิงคโปร์

สิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องมีในการขอ EntrePass คือ

เอกสารที่จำเป็นต้องใช้ในการขอ ดังนี้

  • แผนการดำเนินธุรกิจ (Business Plan) โดยประมาณ ควรจะมีเนื้อหาประมาณ 10 หน้า
  • เงินลงทุนเพื่อจัดตั้งกิจการในระยะเริ่มต้น
  • หลักฐานทางการศึกษา
  • หลักฐานการทำงานในอดีต
  • สำเนาหนังสือเดินทาง
  • รูปถ่ายขนาดทำหนังสือเดินทาง
  • สำเนาข้อมูลส่วนตัวและประวัติการทำงาน (CV/ Resume)
  • แบบฟอร์มคำร้องขอ (www.mom.gov.sg)

ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนบริษัท

ค่าธรรมเนียมการยื่นขอจดทะเบียนชื่อบริษัท 15 เหรียญสิงคโปร์ และค่าธรรมเนียมการก่อตั้งบริษัท 300 เหรียญสิงคโปร์ (company with share capital) หรือ 1,200 เหรียญสิงคโปร์ (company without share capital) โดยที่ ACRA จะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงในการตรวจสอบเพื่ออนุญาตการจดทะเบียนชื่อบริษัท ซึ่งจะมีอายุใช้ได้ 2 เดือน ผู้ยื่นขอจะต้องขอจดทะเบียนบริษัทให้เรียบร้อยภายในเวลา 2 เดือน หากผู้ยื่นขอต้องการเวลาเพิ่มมากกว่า 2 เดือน จะต้องทำหนังสือขอต่อเวลา พร้อมค่าใช้จ่าย 10 เหรียญสิงคโปร์ ต่อชื่อบริษัท ทั้งนี้ ระยะเวลาในการจดทะเบียนบริษัทให้แล้วเสร็จใช้ประมาณ 14 วัน — 2 เดือน

คุณสมบัติของผู้ที่สามารถจดทะเบียนการค้า มีดังนี้

1) ต้องมีอายุอย่างน้อย 18 ปีบริบูรณ์ (เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2552)

2) ต้องไม่เป็นผู้ที่ถูกฟ้องล้มละลาย หรือมิฉะนั้น ต้องได้รับการอนุญาตอย่างเป็นทางการ หากต้องการจดทะเบียนการค้าในประเทศสิงคโปร์

การยื่นขอใบอนุญาตสถานสปา

โดยยื่นขอต่อ Police Licensing Division (391 New Bridge Road, #02-701 Police Cantonment Complex, Singapore 088762 Fax: 6538 6647) โดยมีระเบียบสรุป ดังนี้

ผู้ยื่นขอ อายุอย่างน้อย 20 ปี มีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ ไม่มีคดีอาชญากรรม หากเป็นชาวต่างชาติ จะต้องมี Employment Pass

บริษัท เป็นสมาชิกของ The Spa Association Singapore พนักงานอย่างน้อยร้อยละ 50 ของจำนวนพนักงานรวม จะต้องมีประกาศนียบัตรที่ได้รับการรับรอง เช่น CIBTAC (The Confederation of International Beauty Therapy and Cosmetology), CIDESCO (The Comite International D’estheique Et De Cosmetologie), ITEC (International Therapy Examination Council), NSRS (National Skills Redognition System) และ NITEC (National Institute of Technical Certificate) รวมถึงมีเครื่องแบบที่เหมาะสมสำหรับพนักงาน

สถานที่ ได้แก่ Shophouses (non-HDB type), HDB neighbourhood Centres, Private shopping Centres, Commercial Complexes and Hotels และจะต้องได้รับการอนุญาตจากหน่วยงานที่ดูแล ได้แก่ URA, HDB และ FSSB

ค่าธรรมเนียม สำหรับ Massage Establishment (MEs) ดังนี้

                         ประเภท                            ค่าธรรมเนียม (เหรียญสิงคโปร์)
          ใบอนุญาต                                                   525 ต่อปี
          สำเนาทดแทนใบอนุญาต                                           11

การเปลี่ยนแปลงแก้ไขต่างๆ ได้แก่ ชื่อสถานสปา

          ขอบเขตการให้บริการ และกิจการของบริษัท                          22 ต่อครั้ง
          ใบอนุญาตสำหรับพนักงาน                                        17 ต่อราย

ค่าใช้จ่ายในการประกอบธุรกิจ  สรุป ดังนี้

1. ค่าเช่าสำนักงานในเขต Central Business District ประมาณ 18.00-42.00 เหรียญสิงคโปร์/ตารางฟุต/เดือน หรือนอกเขตฯ ประมาณ 9.00-18.00 เหรียญสิงคโปร์/ตารางฟุต/เดือน ไม่รวมค่าใช้จ่ายครั้งแรกสำหรับ fitting-out cost ระหว่าง 120-250 เหรียญสิงคโปร์/ตารางฟุต

2. ค่าจ้างพนักงาน ในปัจจุบันค่าจ้างพนักงานโดยเฉลี่ยเดือนละ 1,800-2,700 เหรียญสิงคโปร์ และการขึ้นเงินเดือนอยู่ที่ระดับประมาณร้อยละ 3.5 ต่อปี

3. เงินสะสมพนักงาน (CPF) บริษัทจะต้องจ่ายเงินสะสมให้แก่พนักงานร้อยละ 5-14.5 ของเงินเดือน ขึ้นอยู่กับอายุของพนักงาน โดยหน่วยงานสิงคโปร์ Central Provident Fund Board (CPF Board) เป็นหน่วยงานที่เก็บเงินสะสมให้พนักงาน ทั้งนี้ ในส่วนของพนักงานเอง ต้องส่งเงินสะสมเข้าบัญชีตนเองที่ CPF Board ร้อยละ 5-20 ของเงินเดือนด้วย

4. ค่าข่าวสารทาง Internet ขึ้นอยู่กับระบบที่ใช้ ประมาณ 90 - 2,400 เหรียญสิงคโปร์/เดือน

3. รูปแบบลักษณะและอัตราค่าบริการของสปาในสิงคโปร์

รูปแบบลักษณะสปาจำแนกได้ 5 ประเภท คือ

1) Destination Spa เป็นสปาที่เน้นการรักษาความงามและสุขภาพ ลดความตึงเครียด ซึ่งจะมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกด้านฟิตเนส มีกิจกรรมต่างๆ และโปรแกรมลดความอ้วนเข้ามาเสริม

2) Hotel/Resort Spa เป็นสปาที่อยู่ในโรงแรม หรือ Resort เน้นการให้บริการสปาและนวดรักษาความงามและสุขภาพ

3) Day Spa เป็นสปาให้บริการระยะสั้น ไม่มีที่พัก ให้บริการสปาและนวดเพื่อผ่อนคลายความเครียด และการเสริมความงาม

4) Club Spa เป็นสปาให้บริการด้านฟิตเนสเป็นหลักสำคัญ

5) Medical Spa เป็นสปาให้บริการก่อนและหลังการทำศัลยกรรม มีเครื่องอำนวยความสะดวกในการรักษาความงามและสุขภาพ มีแพทย์ให้คำแนะนำและตรวจร่างกาย นอกจากพนักงานสปา

การให้บริการสปาในสิงคโปร์ เป็นการผสมผสานกันระหว่างศิลปะการนวด (Massage) และการทำ Treatment ทั้งใบหน้าและลำตัวด้วยการใช้ Essence Oil โดยใช้เครื่องหอมเข้าช่วยในการผ่อนคลาย หรือเรียกว่า Aromatheraphy ลักษณะการให้บริการมีทั้งแบบไทย บาหลี อินเดีย จีน สวีเดน และยุโรป

อัตราค่าบริการ

ค่าบริการจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับระยะเวลาและวิธีการที่ให้บริการ สรุป ดังนี้

               วิธีการ                  ระยะเวลา      ค่าบริการ(เหรียญสิงคโปร์)
-Royal Thai Massage                    1  ชม.                128
-Thai Aroma Oil Body Massage          1.30 ชม.               168
                                       2 ชม.                 218
Foot Massage                           30 นาที                58
                                       45 นาที                78
Palms & Sole                           1 ชม.                 98
Anti Stress Head Neck & Shoulder       30 นาที                68
Turkish Body Scrub                     90 นาที                150
Abhyanga Massage                      120 นาที                220
Shirodhava (Oil on forehead)          120 นาที                220
Aromatherapy Body Massage             120 นาที                260
Bamboo Massage                        100 นาที                160
Body Massage                          100 นาที                160
Scalp Massage                         100 นาที                160
Back Massage                           30 นาที                65
Leg Massage                            30 นาที                50

ทั้งนี้ ลูกค้าที่เข้ารับบริการสปาในสิงคโปร์ จำนวน 2 ใน 3 เป็นสตรี ซึ่งมีความพร้อมที่จะจ่ายค่าบริการที่มีมูลค่ามากกว่า 3,000 เหรียญสิงคโปร์ต่อปี นอกจากนี้ยังมีสตรีโสดที่พร้อมจะจ่ายค่าบริการสูงถึง 6,000 เหรียญสิงคโปร์ต่อ package หรือคุณแม่ลูกสองพร้อมที่จะจ่ายค่าบริการสูงถึง 10,000 เหรียญสิงคโปร์ต่อ package ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจสปาเป็นธุรกิจที่มีการไหลเวียนของเงินตราสูง

4. หน่วยงานส่งเสริมธุรกิจสปาในสิงคโปร์

(1) Workforce Development Agency (WDA)

หน่วยงานภายใต้ Ministry of Manpower ให้การส่งเสริมและสนับสนุนแก่ชาวสิงคโปร์เข้ารับการ ฝึกอบรมด้านวิชาชีพต่างๆ ภายใต้โปรแกรม Continuing Education Training (CET) ซึ่งมีโปรแกรมหนึ่งที่ให้สนับสนุนการฝึกอบรมด้านสปา คือ Tourism Workforce Skills Certification (WSQ)

(2) Singapore Tourism Board (STB)

หน่วยงานของภาครัฐสิงคโปร์ให้การส่งเสริมและสนับสนุนเป็นพิเศษเพื่อจัดให้สิงคโปร์กลายเป็นศูนย์กลางแห่งการบริการสปาและให้นักท่องเที่ยวจับจ่ายใช้สอยด้านธุรกิจบริการในสิงคโปร์มากขึ้น โดยการผนวกการให้บริการสปาและการรักษาสุขภาพรวมกับการเดินทางท่องเที่ยวสู่สิงคโปร์เป็น “special package”

(3) สมาคมสปาของสิงคโปร์ (The Spa Association Singapore : SAS)

จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2541 ด้วยการสนับสนุนของ Singapore Tourism Board โดยมีจุดประสงค์สำคัญๆ ได้แก่ เพื่อสร้างมาตรฐานและการให้บริการของอุตสาหกรรมสปาในสิงคโปร์ สร้างเครื่อข่ายและโอกาสให้ธุรกิจสปามีการเติบโตทั้งในประเทศและนานาชาติ สนับสนุนให้มีการศึกษาฝึกอบรมอย่างต่อเนื่องระหว่างสมาชิก และ เป็นตัวเชื่อมระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐ สมาคมฯ มีคณะกรรมการ (Executive Committee) ที่ได้รับการคัดเลือกและอยู่ในตำแหน่งครั้งละ 2 ปี เพื่อช่วยเป็นหัวหอกในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่ง Executive Committee ในช่วงปี 2553-2555 มีดังนี้

NAME/DESIGNATION            COMPANY
NANCY LIM                   SPA VALLEY PTE LTD
President
JEANNIE SIM                 THE RETREAT CONCEPTS PTE LTD
First Vice President
LARRY LEO                   DE BEAUTE BEAUTY & SLIMMING PTE LTD
Second Vice President
ROSALIN MONTRISUKSIRIKUL    AYUTHAYA - THE ROYAL THAI SPA
Secretary
ELIZABETH WONG              COPELEN PTE LTD
Assistant Secretary
LIM KENG MENG               AMORE FITNESS PTE LTD
Treasurer
RENEE CHONG                 ST GREGORY SPA PTE LTD
Committee Member
JET NG                      CITIBELLA PTE LTD
Committee Member
ALBERT TAN                  AFOND LEISURE PTE LTD
Committee Member
CORI TEO                    DE BEAUTE (ROXY) PTE LTD
Committee Member

ทั้งนี้ Mr. Peter Sng ได้ดำรงตำแหน่งประธานสมาคมฯ ตั้งแต่ปี 1998-2008 ในปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Honorary Adviser ของสมาคมฯ

สมาชิกสมาคมฯ แบ่งออกเป็น Ordinary Membership และ Associate Membership โดยมีรายชื่อสมาชิก ดังนี้

Ordinary Membership ได้แก่ Adonis, A Fond Leisure Spa, A Fond Boutique Spa, A ldha-the Wellness Institute, Amore Body Define, Amore Boutique Spa, Amore Living, Amrita Spa, Aramsa Spa, Ayurlly Ayurvedic Spa, Ayuthaya-the Royal Thai Spa, Bella Luna Pte. Ltd., Blenzinski Sanctuary, Body Contours, Cicade Spa, Citibella Beuaty Club & Artelier, Damai, De Beaute, Elements Spa, Essence Vale Aroma Spa, FIL Spa Intelligence Pte. Ltd., Ikeda Spa, Life Spa, LS Philosophy, Qian Ze Ge, Raffle Amirita Spa, Remeda Spa, Renewal Day Spa, Rustic Nirvana Pte. Ltd., Rustic Nirvana Cantonment, Sen-the American Club Spa, Spa Botanica, Spa Furama, Spa Park Asia, Spa Valley, Spa Vintage, Spaboutique, St.Gregory-Marina Mandarin, St. Gregory, Tara Apothecary, The Asian Spa, The Aspara, The DRx Medispa Pte. Ltd., The Retreat Spa @ Marriot Hotel, The Retreat Spa @ Thalasso Centre, The Spa @ Anew, The Spa @ Avanda, The Spa @ Four Season Singapore, The Ultimate Penthouse Spa, The Ultimate Resort Spa, The Ultimate Transit Heaven, Treetops Spa, Willow Stream Spa

Associate Membership ได้แก่ Aesthetics Marketing Asia Pte. Ltd., Singapore Spa Institute, Spa Factory Bali, The Spa & Wellness Academy, Totally Spa LLP., Yang Sheng Centre

          ค่าสมาชิก มีดังนี้                                  หน่วย : เหรียญสิงคโปร์
            ประเภท                    Ordinary               Associate
ค่าลงทะเบียน                              200                     100
ค่าเข้าเป็นสมาชิกครั้งแรก                     500                     100
ค่าสมาชิกต่อปี                        360 สำหรับสาขาแรก       150 สำหรับสาขาแรก

180 สำหรับสาขาต่อๆไป 75 สำหรับสาขาต่อๆไป

ค่าตรวจสอบสถานบริการและให้           800 สำหรับสาขาแรก               -
การรับรอง                         600 สำหรับสาขาต่อๆไป              -

(4) Singapore Spa Institute

จัดตั้งเมื่อปี 2540 นับเป็นศูนย์การศึกษาวิชาชีพด้านสปาแห่งแรกที่ได้รับแต่งตั้งจาก Singapore Workforce Development Agency (WDA) ทำการสอนและฝึกอบรมสปาด้านต่างๆให้ผู้เรียนจะได้รับประกาศนียบัตรชั้นต้นและชั้นสูง รวมถึง Diploma ซึ่งหลักสูตรการเรียนการสอนและอัตราค่าเรียน สรุป ดังนี้

  • Spa Therapy จำนวน 235 ชั่วโมง
  • Spa Services, Beauty Therapy จำนวน 210 ชั่วโมง
  • Spa Services, Body Therapy จำนวน 210 ชั่วโมง
  • ค่าเรียน 588.50 เหรียญสิงคโปร์ต่อหลักสูตร

(5) Spa Wellness Academy

จัดตั้งเมื่อปี 2548 เป็นศูนย์การศึกษาวิชาชีพด้านสปาอีกแห่งหนึ่ง ทำการสอนและฝึกอบรมภายใต้การสนับสนุนของ Workforce Development Agency (WDA) ผู้เรียนจะได้รับประกาศนียบัตรชั้นต้นและชั้นสูง หลักสูตรการเรียนการสอนและอัตราค่าเรียน สรุป ดังนี้

  • Thai Massage, Nuad Phan Bo-ran จำนวน 120 ชั่วโมง ค่าเรียน1,668 เหรียญสิงคโปร์
  • Sport Massage จำนวน 71.5 ชั่วโมง ค่าเรียน 950 เหรียญสิงคโปร์
  • Full Body Massage without Oil จำนวน 71.5 ชั่วโมง ค่าเรียน 950 เหรียญสิงคโปร์
  • Full Body Massage with Oil จำนวน 71.5 ชั่วโมง ค่าเรียน 950 เหรียญสิงคโปร์
  • Holistic Massage จำนวน 150 ชั่วโมง ค่าเรียน 2,115 เหรียญสิงคโปร์

สถานสปาไทยในสิงคโปร์ ในปัจจุบันมีสถานบริการสปาไทยที่เปิดให้บริการเต็มรูปแบบสปาไทย จำนวน 2 แห่ง คือ บริษัทเบญจพรรณสปา และบริษัทอยุธยาสปา ซึ่งมีผู้บริหารเป็นคนไทยและพนักงานส่วนใหญ่เป็นคนไทย

5. โอกาสและช่องทางของธุรกิจสปาและผลิตภัณฑ์สปาของไทย

(1) นักลงทุนสามารถใช้ประโยชน์จากการที่สิงคโปร์เป็นตัวเลือกที่นิยมของการลงทุน เป็นศูนย์- กลางในด้านการค้า การลงทุน การเงินและบริการด้านต่างๆ และมีนักท่องเที่ยวเยือนสิงคโปร์เดือนละประมาณ 900,000 คน ทำให้สิงคโปร์เป็นตลาดการค้าเสรีที่มีศักยภาพแก่ธุรกิจประเภทต่างๆรวมถึงธุรกิจสปา

(2) บริษัทไทยสามารถจัดตั้งธุรกิจได้อย่างสะดวกรวดเร็ว การดำเนินธุรกิจคล่องตัว เนื่องจากสิงคโปร์มีโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวย อัตราภาษีที่แข่งขันได้ ระบบการทำงานที่เป็นระเบียบและมีประสิทธิภาพ และสามารถจัดหาบุคคลากรที่มีความรู้/ความชำนาญ

(3) บริษัทไทยสามารถใช้สิงคโปร์เป็นฐานในการส่งออกต่อ (re-export) สินค้าผลิตภัณฑ์สปาไทยไปสู่ประเทศที่สามเพื่อขยายการส่งออก โดยอาศัยจุดแข็งของสิงคโปร์ในด้านการจัดการ การตลาด การเงิน/ธนาคาร การสื่อสารและการคมนาคมขนส่ง

(4) การร่วมลงทุนกับสิงคโปร์นับเป็นโอกาสในการขยายธุรกิจสปาของไทยในสิงคโปร์ หรือเปิดสถานสปาในประเทศที่สิงคโปร์มีศักยภาพ เนื่องจากสิงคโปร์มีความสามารถในด้านการจัดการ และมีความพร้อมด้านเครือข่ายลูกค้า

(5) บริษัทไทยสามารถส่งสินค้าผลิตภัณฑ์สปาเข้ามาจำหน่ายในสิงคโปร์ เนื่องจากสิงคโปร์ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากแหล่งผลิตทั่วโลก หรืออาจจัดตั้งบริษัทจำหน่ายสินค้าฯในสิงคโปร์ ทั้งนี้ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2548 บริษัทไทย Harnn & Thann ได้เปิดกิจการที่ Millenia Walk Shopping Mall ต่อมาเปิดที่ VivoCity และ Ion ซึ่งผู้บริหารให้ความเห็นว่า ชาวสิงคโปร์จะใช้สินค้าผลิตภัณฑ์สปาและบริการสปาเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาสินค้าและค่าบริการมีการแข่งขันกันอย่างมาก ทำให้ผู้จำหน่ายและผู้ให้บริการต้องปรับราคาลดลงให้เป็นไปตามกลไกตลาด

(6) สปาไทยสามารถใช้โอกาสบุกตลาดสิงคโปร์ โดยใช้พื้นฐานการสนับสนุนของภาครัฐสิงคโปร์โดย Singapore Tourism Board (STB) ที่ให้การสนับสนุนเป็นพิเศษเพื่อจัดให้สิงคโปร์กลายเป็นศูนย์กลางแห่งการบริการสปาและให้นักท่องเที่ยวจับจ่ายใช้สอยด้านธุรกิจบริการในสิงคโปร์มากขึ้น โดยการผนวกการให้ บริการสปาและการรักษาสุขภาพรวมกับการเดินทางท่องเที่ยวสู่สิงคโปร์เป็น “special package”

6. ปัญหาอุปสรรค

(1) สิงคโปร์เป็นตลาดสินค้าและบริการที่จำกัด (ประชากรเพียง 5 ล้านคน) แม้ว่าสินค้านำเข้าที่ต้องเสียภาษีขาเข้ามีเพียง 4 รายการก็ตาม(รถยนต์ น้ำมัน บุหรี่ และสุรา+เครื่องดื่มผสมแอลกอฮอส์) แต่การแข่งขันทางการค้าอยู่ในระดับสูง เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการประกอบธุรกิจสูงมาก

(2) การขาดแคลนแรงงานในประเทศ จึงต้องนำเข้าจากประเทศต่างๆ อาทิ มาเลเซีย ไต้หวัน ฮ่องกง มาเก๊า อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ซึ่งพนักงานนวดสปาเป็นตำแหน่งงานสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพระดับ Skilled Workers มีข้อกำหนดค่าจ้างอย่างต่ำเดือนละ 1,800 เหรียญสิงคโปร์ขึ้นไป และได้รับใบอนุญาตทำงานประเภท Employment Pass (เงินเดือนสูงกว่า 2,500 เหรียญสิงคโปร์) หรือ S Pass (เงินเดือนสูงกว่า 1,800 เหรียญสิงคโปร์) ระเบียบการจ้างแรงงานด้านธุรกิจบริการจากไทยนับเป็นมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีที่เป็นอุปสรรคต่อการนำเข้าพนักงานจากไทย โดยการยื่นขอใบอนุญาตจ้างแรงงานไทยต่อ Ministry of Manpower (MOM) ประสบปัญหา เนื่องจากในบางกรณีสำนักงานแรงงานไทยได้มีหนังสือรับรองพร้อมเอกสารใบประกาศนียบัตรจากหน่วยงานของไทยเพื่อรับรองแล้ว แต่ MOM ไม่อนุญาตโดยไม่มีการชี้แจงเหตุผลใดๆ นอกจากนี้ หน่วยงาน Workforce Development Agency ได้ออกกฎระเบียบกำหนด Skill Standard ใหม่ ภายใต้ National Skills Recognition System (NSRS) มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549 ได้เพิ่มเงื่อนไขมากขึ้น พนักงานนวดสปา/แผนไทยจะต้องผ่านหลักสูตรฝึกอบรมและได้รับประกาศนีย- บัตรการนวดมาตรฐานโดยมีระยะเวลาฝึกอบรมตั้งแต่ 4 เดือน - 2 ปี ที่ฝึกอบรมการนวดรวมถึง Full-body massage with oil, Full-body massage without oil, Manicure-pedicure และ Face treatment ซึ่งในความเป็นจริง ธุรกิจสปาของไทยในสิงคโปร์ ดำเนินธุรกิจเฉพาะนวดตัวและนวดเท้าเท่านั้น ดังนั้น เงื่อนไขดังกล่าว จึงเป็นการเพิ่มภาระและต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ และไม่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนในธุรกิจสปาของไทยในสิงคโปร์

(3) ปัญหาด้านการสื่อสาร ซึ่งภาษาที่ใช้โดยทั่วไปคือ ภาษาอังกฤษ และภาษาจีนกลาง

(4) ปัญหาค่าครองชีพที่มีอัตราสูงถึง 3 เท่าของอัตราค่าครองชีพในประเทศไทย

7. แนวโน้ม

(1) ธุรกิจสปาในสิงคโปร์จะมีการเติบโตต่อไป แม้ว่าสิงคโปร์ยอมรับว่าประเทศคู่แข่งสำคัญด้านธุรกิจสปา คือ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และจีน อย่างไรก็ตาม นักลงทุนของสิงคโปร์มั่นใจว่า สภาพแวดล้อมที่สะอาดของสิงคโปร์ ความสะดวกสบาย และการให้บริการสปาหลากหลายรูปแบบและครบวงจร (สปาแบบบาหลี ไทย หรือแบบ Aqua และแบบสวีเดน) จะเป็นสิ่งเอื้ออำนวยให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าในประเทศหรือชาวต่างชาติ

(2) การเปิดกิจการ Integrated Resorts (IRs) 2 แห่ง ณ Resort World Sentosa และ Marina Bay Sands เป็นปัจจัยสำคัญที่จะเสริมสร้างการเติบโตให้แก่ธุรกิจสปาในสิงคโปร์ และจะสามารถช่วยให้สถานสปาเดิมในเขตของ IRs ทั้ง 2 แห่ง มีการเติบโตเพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากสามารถให้บริการแก่ลูกค้าที่มาเยือนคาสิโน นอกจากนี้ ในช่วงเวลาการแข่งขัน Formula One (F1) ในเดือนกันยายนของทุกปี (ปี 2553 เป็นครั้งที่ 3) ที่เป็นการแข่งขันตอนกลางคืน จะมีนักท่องเที่ยวเยือนสิงคโปร์เพิ่มมากขึ้น นับเป็นอีกแรงหนึ่งสามารถช่วยให้สถาน สปาของโรงแรมและ Resort ที่ตั้งอยู่ในเขตที่มีการแข่งขันให้มีรายได้เพิ่มขึ้น

นักท่องเที่ยวเยือนสิงคโปร์ ระหว่างปี 2548-2552

  หน่วย :  ‘000  ราย       2548         2549         2550         2551         2552
สปา                            40.0         52.0         62.4         79.9         37.0
อื่นๆ                       13,517.40    14,583.00    15,692.40    15,679.10    15,183.90
รวม                       13,557.40    14,635.00    15,754.80    15,758.90    15,220.90
ที่มา :  Euromonitor International

อนึ่ง นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกพิจารณาเดินทางโดยสายการบินประหยัดมายังสิงคโปร์เพื่อใช้บริการ Medical Maladies ที่ให้บริการ specialist centre, hospital, hotel and convention centre ซึ่งพัฒนาโดย Singapore HealthPartners เป็นโครงการที่จะเปิดตัวในไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 จะเป็นการเชื่อมโยงระหว่าง treatment และ recuperation และส่งเสริมให้สถานะภาพของสิงคโปร์เป็นศูนย์ Medical Tourism ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีเป้าหมายมุ่งเน้นนักท่องเที่ยวเพื่อการรักษาพยาบาลที่ประสงค์จะรับบริการการรักษาจากผู้ชำนาญและมีประสบการณ์ ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวเหล่านี้ อาจสนใจใช้บริการสปาด้วย

(3) การจัดให้บริการของสถานสปาต่างๆคงจะมีการเปลี่ยนแปลงให้แตกต่างจากเดิม และให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้เข้ารับบริการมากขึ้น ซึ่งจะเป็นแนวโน้มที่สถานสปาจะสามารถปรับราคาค่าบริการให้สูงขึ้นได้

รายได้ของ Health & Wellness Tourism ระหว่างปี 2547-2552

หน่วย : ล้านเหรียญสิงคโปร์

                                        2547    2548    2549    2550       2551        2552
สปา                                      134    153     181    214.4      255.7       276.6
    -โรงแรมและ Resort                    94     106     123      139      156.9       167.9
    -สปาอื่นๆ                              40      47      58     75.4       98.8       108.7
Other Health & Wellness Tourism         372     447     536      670      836.2         878
Health & Wellness Tourism               506     600     717    884.4   1,091.90    1,154.50
ที่มา :  Euromonitor International

(4) คาดการณ์การเติบโตของ Health and Wellness Tourism จะมีการเติบโตที่ดีในอนาคต โดย จะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 6 ต่อปี ส่วนกิจการสปาอื่นๆ จะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5 ต่อปี

คาดการณ์มูลค่าการเติบโต Health & Wellness Tourism ระหว่างปี 2553-2557

หน่วย : ล้านเหรียญสิงคโปร์

                                           2553        2554        2555        2556        2557
สปา                                         303       326.1       347.7       367.5       385.9
    -โรงแรมและ Resort                     181.3       192.2       201.8       209.9       217.3
    -สปาอื่นๆ                               121.7       133.9       145.9       157.6       168.6

Other Health & Wellness Tourism           930.6       981.8    1,030.90    1,080.40    1,129.00
 Health & Wellness Tourism             1,233.70    1,307.90    1,378.70    1,447.90    1,514.90
ที่มา :  Euromonitor International

ทั้งนี้ สถานบริการสปาขนาดใหญ่คงจะรักษาสถานภาพให้อยู่ในระดับคงที่ในช่วงต่อไปในอนาคต แต่คาดว่า สถานบริการสปาขนาดเล็กอาจมีการรวมตัวกัน หรือบางรายอาจต้องปิดกิจการ และมีรายใหม่เข้ามาทดแทน เนื่องจากการแข่งขันทางการค้าอยู่ในระดับสูง และชาวสิงคโปร์ยังคงต้องระมัดระวังการใช้จ่ายเพราะภาครัฐได้ประกาศการคาดการณ์การเติบโตเศรษฐสิงคโปร์ในปี 2554 ประมาณร้อยละ 4-6 (คาดการณ์ปี 2553 ร้อยละ 15.0)

8. ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

1) ธุรกิจสปาในสิงคโปร์มีการลงทุนที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากค่าเช่าที่ดินและอาคารมีราคาแพง แต่ตลาดมีการเติบโต บริษัททำธุรกิจสปาที่โรงแรมและ Resort ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทใหญ่มีเงินทุนสูงและเปิดกิจการหลายสาขาในเขตธุรกิจและเขตท่องเที่ยว สำหรับธุรกิจสปาขนาดเล็กซึ่งจะเป็นธุรกิจวงการเสริมสวยรวมสปาที่เปิดเป็นร้านเล็กๆตามศูนย์การค้าชานเมืองและให้บริการผู้บริโภคภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่

2) โอกาสที่บริษัทไทยจะเข้ามาขยายตลาดสิงคโปร์มีค่อนข้างสูง เนื่องจากสปาไทยได้รับความนิยม และนวดแผนโบราณไทยเป็นที่รู้จักแพร่หลาย บริษัทไทยที่ต้องการทำธุรกิจสปา อาจทำโดยการร่วมทุนกับบริษัทสิงคโปร์ หรือการขาย Franchise ในรูปแบบ Resort/Hotel Spa หรือแบบ Day Spa โดยเน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวสตรีเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลัก อีกทั้ง สามารถใช้การสนับสนุนของสิงคโปร์เรื่อง “สปา + ท่องเที่ยว” ที่เป็นระบบที่ไทยใช้ดึงดูดนักท่องเที่ยวสิงคโปร์และชาวต่างชาติทั่วโลกให้เดินทางไปใช้บริการ สปาในไทยอย่างได้ผลดีมาแล้ว แต่เนื่องจากสิงคโปร์อาจจะได้เปรียบที่มีประเทศเป็นศูนย์กลางการบินที่ทันสมัย การเดินทางภายในประเทศเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว ดังนั้น จากปัจจัยดังกล่าว บริษัทไทยในสิงคโปร์สามารถได้สัดส่วนการตลาดธุรกิจสปาในสิงคโปร์เพิ่มขึ้น โดยที่มีพนักงานไทยความชำนาญในการนวด การให้บริการที่อ่อนโยนและมีความเป็นไทย นอกจากนี้ การจัดสถานที่ให้บริการที่สะอาด/สะดวกสบาย/สภาพแวดล้อมที่ผ่อนคลาย ผลิตภัณฑ์สปามีคุณภาพและจัดให้มีบริการครอบคลุมทุกด้าน อาทิ การนวดที่ให้ผลในด้านการพักผ่อนและนวดเพื่อรักษาสุขภาพ การสอนให้ออกกำลังกายอย่างถูกต้อง รวมทั้งการแนะนำเกี่ยวกับการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพที่ดี และสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งคือ การให้หลักประกันในด้านผลลัพธ์หลังการบริการด้วย ซึ่งจะทำให้สปาไทยเป็นที่นิยมในสิงคโปร์

3) สินค้าผลิตภัณฑ์สปาของไทยมีศักยภาพสูง ทั้งคุณภาพและการบรรจุภัณฑ์ อาจจะเน้นเรื่องคุณสมบัติในการช่วยผ่อนคลายและเสริมความงามที่ใช้วัตถุดิบสมุนไพรไทย กลิ่นและสีสรรให้มีลักษณะเด่นเฉพาะ เพื่อสร้างให้เกิดความแตกต่างและได้เปรียบในการแข่งขัน ทั้งนี้ การที่สิงคโปร์มีการเปิดธุรกิจสปามากขึ้น ส่งผลให้ไทยได้รับผลประโยชน์ในการที่สิงคโปร์นำเข้าสินค้าและผลิตภัณฑ์สำหรับธุรกิจสปาเพิ่มขึ้น ซึ่งจากการจดบันทึกของ International Enterprise (IE) Singapore ปรากฎว่า สิงคโปร์นำเข้า Essential Oils Perfumery Cosmetic Etc (HS 33) จากไทยประมาณมูลค่า 55 ล้านเหรียญสิงคโปร์ต่อปี ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 5 ไทยเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 10 รองจาก ฝรั่งเศส สหรัฐฯ อิตาลี สวิสเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น เยอรมัน สหราชอาณาจักร มาเลเซีย และจีน

4) การส่งเสริมประชาสัมพันธ์สปาไทยในสิงคโปร์ จะเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นให้ชาวสิงคโปร์หันมานิยมใช้บริการสปาไทยและนวดแผนโบราณไทย และจะส่งผลต่อเนื่องให้ชาวสิงคโปร์เมื่อมีโอกาสไปท่องเที่ยวในไทย จะไปใช้บริการสปาไทยและนวดแผนโบราณไทยที่ค่าใช้จ่ายมีราคาถูกกว่าถึงร้อยละ 50 ทั้งนี้ การส่งเสริมประชาสัมพันธ์อาจทำได้หลากหลายรูปแบบ อาทิ การนำคณะผู้แทนการค้าไทยจัด Net Working ในสิงคโปร์ การลงโฆษณาประชาสัมพันธ์ในหนังสือพิมพ์และวารสารที่เกี่ยวข้อง และการส่ง/แจกแผ่นพับประชาสัมพันธ์ถึงผู้บริโภคโดยตรง ทั้งนี้ เมื่อวันที่13 กรกฎาคม 2553 สมาคมสปาไทย ได้จัดนำสมาชิก 15 ราย เพื่อ Business Matching ณ Singapore Business Federation โดยความร่วมมือของสถานทูตไทย สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ สิงคโปร์ และสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรม SMEs และได้พบปรึกษาหารือธุรกิจกับ The Spa Association Singapore

5) ธุรกิจสปาในสิงคโปร์นับว่าเป็นคู่แข่งที่สำคัญของไทย โดยที่สิงคโปร์ได้เปรียบไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าสินค้าผลิตภัณฑ์สปา ภาษีที่ต้องเสียคือ ภาษีสินค้าและบริการ (Goods & Services Tax : GST) ร้อยละ 7 อีกทั้งเครื่องมืออุปกรณ์สปาต่างๆมีความทันสมัยและเทคโนโลยีสูง อย่างไรก็ตาม การให้บริการนวดแผนโบราณยังอยู่ในรูปแบบที่รวมกันทั้งไทย-มาเลเซีย-อินโดนีเซีย และพนักงานให้การบริการไม่อ่อนโยนเช่นการบริการของพนักงานไทย

ที่มา : Ministry of Industry and Trade, International Enterprise (IE) Singapore,

ACRA, The Spa Association Singapore, The Straits Times & Euromonitor

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ สิงคโปร์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


แท็ก สิงคโปร์  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ