โดยทั่วไปชาวซาอุดีอาระเบีย นิยมบริโภคอาหารจำพวกข้าว ขนมปัง เนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกใหม่ อย่างไรก็ตาม เมื่อสภาวะทางศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลงไป รสนิยมในการบริโภคก็เปลี่ยนแปลงตามไปเช่นกัน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสามารถเข้าถึงไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคได้ ความสะดวก ความง่ายในการปรุง และราคาที่ไม่สูงเมื่อเทียบกับอาหารอื่นๆ เป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นที่นิยมในซาอุฯ เพิ่มมากขึ้น
ข้อมูลทั่วไป
ในปี 2553 คาดว่าตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในซาอุฯ จะมีมูลค่าทั้งสิ้น 394 ล้านซาอุดีรียัล (105 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบซอง (Pouch) มีมูลค่าตลาดสูงสุด 363 ล้านซาอุดีรียัล บะหมี่แบบถ้วย (Cup/Bowl) มีมูลค่าตลาด 31 ล้านซาอุดีรียัล (หมายเหตุ: $US 1= 3.75 ซาอุดีรียัล) บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่มีสัดส่วนการตลาดสูงสุดในซาอุฯ คือ Indomie (Pinehill Arabia Food Ltd.) มีส่วนแบ่งการตลาดในปี 2553 ประมาณร้อยละ 69 ตามมาด้วย Maggi (Saudi Food Industries Co., Ltd) มีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 24 ที่เหลือเป็นยี่ห้ออื่นๆ รสของบะหมี่ฯ ที่นิยมกันมาก ได้แก่ 1) Plain Chicken 2) Special Chicken 3) Chicken Curry 4) Vegetable 5) Chicken Kabsah 6) Fried Noodle 7) Shrimp 8) Chicken & Onion
ข้อมูลการตลาด
1. การที่ตลาดบะหมี่ฯ ครอบครองโดย 2 ยี่ห้อใหญ่ สภาพการแข่งขันในตลาดจึงค่อนข้างรุนแรงระหว่างเจ้าตลาดทั้งสอง ในทุกๆ ด้าน เช่น พื้นที่ขายในซุปเปอร์มาร์เกต การตัดราคา การแถมสินค้า การแจกสินค้าพรีเมี่ยม เป็นต้น จากสภาพการแข่งขันดังกล่าวส่งผลให้ตลาดบะหมี่ฯ เหลือพื้นที่เพียงเล็กน้อยสำหรับยี่ห้ออื่นๆ
2. ราคาขายของบะหมี่ฯ ซอง ประมาณซองละ 1-2 ซาอุดีรียัล บะหมี่ฯ แบบถ้วยขนาด 60 กรัม ราคาเฉลี่ยประมาณ 2-4 ซาอุดีรียัล นอกจากนี้ Indomie ขายแบบแพ็ก 40 ซอง ราคาประมาณแพ็กละ 32 ซาอุดีรียัล แบบแพ็ก 60 ซอง ราคาแพ็กละ 42 ซาอุดีรียัล
3. นอกจากนี้ในตลาดซาอุฯ ยังมีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จากเกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ อินโนดีเชีย และไทยด้วยเช่นกัน
4. บะหมี่สำเร็จรูปจากประเทศไทย มียี่ห้อ Royal Umbrella, Mama และ Quicks ที่เจาะตลาดซาอุฯ ด้วยเช่นกัน ในกลุ่มของบะหมี่ฯ แบบซอง ยี่ห้อ Mama ก็มีจำหน่าย แต่ยังไม่แพร่หลายมากนักจำกัดอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ต ที่ชาวต่างชาตินิยมไปจับจ่าย
5. บะหมี่สำเร็จรูปที่น่าสนใจอีกคือยี่ห้อหนึ่ง คือ Blue Dragon (AB World Foods Ltd.) ที่เริ่มบุกตลาดซาอุฯ ตั้งแต่ปี 2552 โดยเน้นสินค้าบะหมี่ฯ แบบถ้วยกระจายไปใน Supermarkets/Hypermarkets ต่างๆ มีการนำเสนอรสชาติที่แปลกใหม่แบบไทยๆ เช่น sweet & sour Thai และ Spicy Thai
ในส่วนนี้ ประเด็นที่น่าสนใจ คือ ผู้บริโภคบางส่วนมีความเข้าใจว่าสินค้าดังกล่าวเป็นของจากประเทศไทย ซึ่งความจริงแล้ว AB World Foods Ltd. เป็นบริษัทลูกของ Associated British Foods (ABF) จากประเทศอังกฤษ และสินค้าผลิตในอังกฤษ เบลเยี่ยม รวมทั้งในประเทศสมาชิก EU อื่นๆ สินค้าจากบริษัทฯ ได้รับประโยชน์จากภาพลักษณ์ของการเป็นสินค้าไทย (จากการที่ผู้บริโภคเข้าใจคลาดเคลื่อน) และมีคุณภาพสูงจากการที่ผลิตใน EU
6. กลุ่มผู้ที่บริโภคบะหมี่ฯ ซอง ส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานต่างชาติจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมาทำงานในซาอุฯ เนื่องจากมีรายได้ไม่มากนัก ประกอบกับราคาบะหมี่ฯ ซองค่อนข้างต่ำ ในขณะที่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วย กลุ่มผู้บริโภคจะเป็นชาวตะวันตก ซึ่งมาทำงานในซาอุฯ ซึ่งชอบรสชาติแปลกใหม่ เนื่องจากสินค้ากลุ่มนี้มีราคาค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับแบบซอง และมีความคุ้นเคยกับสินค้าในรูปแบบนี้ในประเทศของตนเอง
7. บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซึ่งรวมทั้งสินค้ากลุ่มอาหารอื่นๆ ในซาอุฯ จะมียอดจำหน่ายสูงช่วงเดือนรอมฏอน (เดือนถือศีลอด) ของทุกปี
แนวโน้มในอนาคต
1. ในภาพรวม ตลาดบะหมี่สำเร็จรูปในซาอุฯ มีแนวโน้มที่จะขยายตัว เนื่องจากอัตราการเพิ่มของประชากรที่อยู่ในระดับสูง จำนวนวัยรุ่นและวัยทำงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจของซาอุดีอาระเบีย มีแนวโน้มที่จะขยายตัว มีการลงทุนก่อสร้างโครงการต่างๆ มากขึ้น สตรีมีแนวโน้มที่จะทำงานนอกบ้านมากขึ้น ประเทศซาอุฯ มีความต้องการแรงงานจากต่างชาติมากขึ้นทั้งในระดับล่าง และระดับบริหาร ปัจจัยที่กล่าวถึงเหล่านี้ ส่งผลดีต่อการบริโภคบะหมี่สำเร็จรูปทั้งสิ้น
2. Euromonitor (Nov, 2010) คาดการณ์ว่าในปี 2558 มูลค่าตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในซาอุฯ จะสูงถึง 515.7 ล้านซาอุดีรียัล (137 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) โดยแบบซองมีมูลค่า 476.8 ล้านซาอุดีรียัล (127 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และแบบถ้วยมีมูลค่าตลาด 38.9 ล้านซาอุดีรียัล (10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)
การเข้าสู่ตลาด
1. ช่องทางการจำหน่ายของผู้ประกอบการไทย หาโอกาสเข้ามาพบปะกับพ่อค้าชาวซาอุดีฯ เช่น เข้าร่วมงานแสดงสินค้า Thai FEX ที่กรุงเทพฯ โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองเจดดาห์ ได้เชิญนักธุรกิจซาอุฯ เข้าร่วมงานทุกครั้ง หรือผู้ส่งออกไทย เดินทางเข้าซาอุฯ เพื่อพบลูกค้า โดยให้ผู้นำเข้าซาอุฯ เป็นผู้ออกหนังสือเชิญ เพื่อใช้ประกอบการขอวีซ่าเดินทาง
2. ผู้ส่งออกไทยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าเกี่ยวกับอาหารที่จัดในประเทศซาอุดีอาระเบีย ปัจจุบันมีการจัดงานขึ้นที่เมืองเจดดาห์ ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม Food, Hotel Arabia โดยผู้สนใจเข้าร่วมงานติดต่อได้ที่กรมส่งเสริมการส่งออก หรือสำนักงานฯ ได้โดยตรง
3. ผู้ส่งออกไทย เข้าร่วมงานแสดงสินค้าเกี่ยวกับอาหาร ในประเทศที่อยู่ใกล้เคียงซาอุดีอาระเบีย เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และบาห์เรน เป็นต้น
อัตราภาษีนำเข้า/กฎ ระเบียบ
1. การนำบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป (HS.1902) เข้าซาอุฯ เสียภาษีนำเข้าร้อยละ 5 ไม่มีการคิดภาษีมูลค่าเพิ่มในซาอุฯ
2. สินค้าฯ ต้องมี Health Certificate จากประเทศไทย โดยมีมาตรฐานตามที่ SASO (Saudi Arabia Standards Organization) หรือ CODEX กำหนด
3. ฉลากสินค้า ต้องมีการระบุชื่อตรา ชื่อผู้นำเข้า ประเทศผู้ผลิต น้ำหนัก วันที่ผลิต/หมดอายุ วัตถุดิบ/ส่วนผสม สารประกอบต่างๆ อย่างชัดเจน เป็นภาษาอารบิก
สำนักงานฯ ขอแนะนำให้ผู้ส่งออกไทย สอบถามรายละเอียดล่าสุด จากผู้นำเข้าซาอุฯ อีกครั้งหนึ่งก่อนการส่งออก เนื่องจากกฎ ระเบียบการนำเข้า สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
ข้อมูลเพิ่มเติม
ในปี 2553 (มค.-พย.) ไทยส่งออกบะหมี่กึ่งสำเร็จไปซาอุฯ มูลค่า 344,466 เหรียญสหรัฐฯ และวุ้นเส้นกึ่งสำเร็จรูป มูลค่า 50,754 เหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 162.02 และ 249.00 ตามลำดับ
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองเจดดาห์
ที่มา: http://www.depthai.go.th