รัฐบาลญี่ปุ่นเร่งปฏิรูปภาคการเกษตรเพื่อรองรับการเปิดการค้าเสรี

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 6, 2011 16:38 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ญี่ปุ่นนับเป็นประเทศที่มีการปกป้องภาคการเกษตรมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก การปกป้องชั้นแรกคือ กำแพงภาษี สินค้าเกษตรจำนวน 1,332 รายการที่นำเข้าในประเทศญี่ปุ่นจะถูกเรียกเก็บภาษีศุลกากร ในจำนวนนี้ 101 รายการถูกเก็บภาษีสูงกว่า 200 เปอร์เซ็นต์ (สินค้าที่มีภาษีนำเข้ามากที่สุดคือหัวบุก โดยเรียกเก็บภาษีที่อัตรา 1,706 เปอร์เซ็นต์ ตามด้วยถั่ว (peas) เรียกเก็บภาษีในอัตรา 1,086 เปอร์เซ็นต์ และข้าวเรียกเก็บภาษีในอัตรา 778 เปอร์เซ็นต์) ในขณะที่สหรัฐอเมริกาเรียกเก็บภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าเกษตรนำเข้าจำนวน 1,800 รายการ แต่มีสินค้าจำนวนน้อยที่ภาษีสูงกว่า 200 เปอร์เซ็นต์ (เช่น บุหรี่) สหภาพยุโรปเรียกเก็บภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าเกษตรนำเข้าจำนวน 2,200 รายการ และเรียกเก็บภาษีสูงกว่า 200 เปอร์เซ็นต์สำหรับสินค้าที่ใช้บริโภคในชีวิตประจำวัน เช่น น้ำตาล แต่ก็ไม่มีสินค้าใดที่ถูกเรียกเก็บภาษีเกิน 500 เปอร์เซ็นต์ จากข้อมูลขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) พบว่าอัตราภาษีศุลกากรเฉลี่ยของญี่ปุ่นสูงถึง 22.2 เปอร์เซ็นต์ โดยที่สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป มีอัตราภาษีเฉลี่ยอยู่ที่ 5.2 และ 13.5 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ นอกจากนี้มาตรฐานการตรวจสอบ สินค้าเกษตรนำเข้าที่เข้มงวดยังเป็นด่านอีกชั้นหนึ่งที่ช่วยปกป้องสินค้าเกษตรภายในประเทศ

อย่างไรก็ดี ภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ซบเซา ค่าเงินเยนที่แข็ง ประกอบกับความคืบหน้าของการจัดทำการค้าเสรี (FTA) กับตลาดที่สำคัญอย่างสหรัฐอเมริกา และยุโรป ของประเทศคู่แข่งอย่างเกาหลี เป็นแรงผลักดันให้นายนาโอโตะ คัน นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เห็นถึงความจำเป็นที่ญี่ปุ่นจะต้องเร่งดำเนินการจัดทำ FTA กับประเทศต่างๆ เพื่อไม่ให้สินค้าญี่ปุ่นสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสินค้าเกษตรเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นไม่สามารถสรุปผลการเจรจาจัดทำ FTA กับหลายประเทศได้ ซึ่งนายเซอิจิ มาเอะฮารา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเห็นว่าญี่ปุ่นไม่ควรที่จะปล่อยให้สินค้าญี่ปุ่นทั้งประเทศสูญเสียความสามารถในการแข่งขันเพียงเพื่อปกป้องสินค้าเกษตรซึ่งมีสัดส่วนเพียง 1.5 เปอร์เซ็นต์ของเศรษฐกิจญี่ปุ่น รัฐบาลญี่ปุ่นมีการหารือกันมากขึ้นเกี่ยวกับการหาแนวทางที่จะปฏิรูปภาคการเกษตรให้แข็งแกร่ง และสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการแข่งขันกับสินค้าเกษตรนำเข้าในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นประกาศแสดงความสนใจที่จะหารือกับประเทศสมาชิก Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement (TPP) เพื่อพิจารณาการเข้าเป็นสมาชิกของความตกลงฯ ในระหว่างการประชุมผู้นำเอเปคเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2553 ณ เมืองโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2553 รัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจนำมาตรการจูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกมาใช้ โดยเชื่อว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันให้กับเกษตรกรญี่ปุ่น เนื่องจากสถิติปี 2552 ของกระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมง เกษตรกรที่มีพื้นที่เพาะปลูกน้อยกว่า 1 เฮกเตอร์ (10,000 ตรม.) จะประสพภาวะขาดทุน ในขณะที่ เกษตรกรญี่ปุ่นที่มีพื้นที่เพาะปลูกตั้งแต่ 20 เฮกเตอร์ขึ้นไป (200,000 ตรม.) มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 12 ล้านเยน/ปี ซึ่งปัจจุบันพื้นที่เพาะปลูกเฉลี่ยของเกษตรกรญี่ปุ่น (ไม่นับฮอกไกโด) อยู่ที่ประมาณ 1.3 เฮกเตอร์ สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (Keidanren) ซึ่งสนับสนุนการเข้าเป็นสมาชิก TPP ของญี่ปุ่นเห็นว่าTPP เป็นทางออกที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้กลับมาดีขึ้นได้ และเห็นความสำคัญที่จะต้องเร่งสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคการเกษตร รวมทั้งการทำให้สินค้าเกษตรญี่ปุ่นมีคุณภาพสูงขึ้น Keidanren เสนอให้มีการประชุมเชิงนโยบายเพื่อการปฏิรูปภาคการเกษตรร่วมกับกลุ่มเกษตรกรภายในสิ้นปีนี้ เพื่อการขยายขนาดพื้นที่การทำการเกษตรให้ใหญ่ขึ้นและเพิ่มคุณภาพของสินค้าเกษตรของญี่ปุ่น โดยเชื่อว่าหากสามารถช่วยแก้ไขปัญหาให้ภาคการเกษตรได้ก็จะทำให้ญี่ปุ่นสามารถเดินหน้าการเจรจาเข้าเป็นสมาชิก TPP ได้ ทั้งนี้ ญี่ปุ่นวางแผนที่จะปฏิรูปโครงสร้างภาคการเกษตรให้เสร็จภายใน 5 ปี และตั้งเป้าที่จะสรุปผลว่าจะเข้าร่วมเป็นสมาชิก TPP หรือไม่ภายในเดือนมิถุนายน 2554 นี้

มาตรการจูงใจนี้เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการช่วยเหลือรายได้เกษตรกรซึ่งมีแผนที่จะดำเนินการเต็มรูปแบบในเดือนเมษายน 2553 โดยมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ญี่ปุ่นดำเนินการอยู่ เช่น การหันมาจ่ายเงินอุดหนุนให้ชาวนาโดยตรงทันที 15,000 เยน/ปี ต่อพื้นที่เพาะปลูกข้าว 1,000 ตารางเมตร และหากขายข้าวได้ราคาต่ำกว่าต้นทุนการผลิตเฉลี่ยของประเทศ เกษตรกรจะได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาลเท่ากับผลต่างนั้น ระบบการชดเชยรายได้ให้กับเกษตรกรโดยตรงนี้ เริ่มในปีงบประมาณ 2553 โดยเริ่มจากข้าว และจะขยายไปยังผลิตภัณฑ์เกษตรอื่นๆ ที่เป็นอาหารหลัก (Staple crops)

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังได้แก้กฎหมายพื้นที่การเกษตร (Farming Land Law) เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยขยายเพดานให้บริษัทเอกชนสามารถมีสิทธิเข้าถือครองพื้นที่ทำการเกษตรได้สูงสุดไม่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมที่กำหนดให้ไม่เกิน 25 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนรายใหม่เข้ามาทำการเกษตรมากขึ้น เพื่อลดปัญหาจำนวนประชากรที่ทำการเกษตรมีจำนวนลดน้อยลง ทั้งนี้ เกษตรกรกว่า 60 เปอร์เซ็นต์มีอายุมากกว่า 65 ปี จากสถิติพบว่า 7 เดือนหลังจากการแก้ไขกฎหมายพบว่ามีเอกชนกว่า 150 รายหันมาประกอบธุรกิจด้านเกษตรกรรมมากขึ้น

ข้อคิดเห็นและบทวิเคราะห์

ความตกลง TPP เป็นความตกลงการค้าเสรีที่มีคุณภาพสูงทั้งในด้านการค้า การลงทุน และบริการ (โดยสินค้าทั้งหมดจะถูกยกเลิกภาษีในที่สุด) TPP ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐ ซึ่งต้องการรักษาผลประโยชน์ของตนเองในเอเชีย หลังจากที่ประเทศในเอเชียมีการหารือกันอย่างเข้มข้นเรื่องการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน+3 และอาเซียน+6 โดยสหรัฐฯ ต้องการผลักดันให้ TPP ขยายต่อไปเป็น FTAAP (FTA Asia-Pacific) ต่อไป

หากญี่ปุ่นสามารถแก้ไขปัญหาให้กับภาคการเกษตรได้ การต่อต้านจากภาคการเกษตรในการเจรจาการค้าเสรีก็น่าจะลดลง และหากญี่ปุ่นเข้าเป็นสมาชิก TPP ได้จริงจะทำให้ความตกลง TPP เป็นความตกลงที่น่าดึงดูดสำหรับประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตร เนื่องจากทั้งสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นต่างเป็นตลาดด้านสินค้าเกษตรขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพ

อย่างไรก็ดี ในอดีตที่ผ่านมาในการเจรจารอบอุรุกวัย ภายใต้กรอบ WTO (World Trade Organization) ญี่ปุ่นเคยใช้เงินงบประมาณสูงถึง 6 ล้านล้านเยนในการปรับปรุงและเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคการเกษตร เพื่อรองรับการเปิดเสรี แต่ก็ไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในภาคการเกษตร ความพยายามของญี่ปุ่นในการปฏิรูปภาคการเกษตรในครั้งนี้ ภายใต้รัฐบาลของนายนาโอโตะ คัน จะประสบความสำเร็จหรือไม่ จึงยังเป็นที่สงสัยสำหรับหลายฝ่าย ถึงแม้ว่าฐานเสียงของพรรค Democratic Party of Japan (DPJ) ซึ่งเป็น รัฐบาลชุดปัจจุบันมาจากคนกรุง ไม่ได้มาจากภาคเกษตรกรเหมือนรัฐบาลชุดก่อนๆ ที่มาจาก Liberal Democratic Party (LDP) อิทธิพลของภาคการเกษตรในรัฐบาลไม่มากเท่าในรัฐบาลชุดก่อนๆ แต่ความเห็นที่ไม่สอดคล้องกันในพรรคเกี่ยวกับเรื่องการเดินหน้าเปิดเสรีภาคการเกษตร เนื่องจากอีกฝ่ายเกรงว่าจะเสียเสียงสนับสนุนจากชนบทประกอบกับคะแนนนิยมในตัวของนายกรัฐมนตรีที่ลดลงอันเนื่องมาจากประชาชนไม่พึงพอใจในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับข้อขัดแย้งในเขตน่านน้ำกับจีน รวมทั้งการพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งในสภาสูงที่ผ่านมาของพรรค DPJ ทำให้เกิดความไม่แน่นอนว่านายคันจะสามารถรักษาตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้นานพอที่จะดำเนินการตามที่ตั้งใจไว้หรือไม่

แหล่งข้อมูล :

1. “Govt to adopt farmland-expansion incentives”, The Yomiuri Shimbun, 4 December 2010

2. “Tariff rates of over 1,000% set on some farm imports”, The Yomiuri Shimbun, 2 December 2010

3. “Govt pushing on with agricultural reform”, The Yomiuri Shimbun, 1 December 2010

4. “Govt holds meeting to revitalize Agriculture with eye on free trade”, The Nikkei, 30 November 2010

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ