รายงานภาวะเศรษฐกิจและการค้าของกรีซประจำเดือนธันวาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 10, 2011 13:59 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. สภาวะเศรษฐกิจและการค้าของกรีซค่อนข้างถดถอย ซึ่งเป็นผลจากมาตรการเข้มงวดด้านงบประมาณและการเพิ่มการเก็บภาษีของรัฐบาลที่ทำให้กำลังซื้อของประชาชนลดลง โดย EUROSTAT ได้รายงานว่าเศรษฐกิจกรีซในไตรมาส 3 ของปี 2553 หดตัวลง 4.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยกรีซและโรมาเนียเป็นเพียง 2 ประเทศ ในกลุ่มสมาชิกสหภาพยุโรปที่ยังคงมีสภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย (Recession) ในไตรมาส 3 ในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป 27 ประเทศ มีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้น 2.2%

2. ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม สำนักงานสถิติแห่งชาติเฮลเลนิค (The Hellenic Statistical Authority) ได้รายงานว่าดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (The Production Index in Industry-IPI) ในเดือนตุลาคม 2553 ลดลง 4.2% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (ซึ่งลดลง -9.6%) และในช่วง 10 เดือนแรก (มกราคม-ตุลาคม) ของปี 2553 อัตราการเปลี่ยนแปลงเฉลี่ยของ IPI เท่ากับ -5.5% ซึ่งเป็นผลมาจากอัตราการเปลี่ยนแปลงของดัชนีภาคอุตสาหกรรมรายย่อย ดังนี้

2.1 การผลิตด้านเหมืองแร่และถ่านหิน ลดลง -6.7%

2.2 การผลิตด้านโรงงานอุตสาหกรรม ลดลง -4.6%

2.3 การผลิตด้านไฟฟ้า ลดลง -8.9%

2.4 การผลิตด้านประปา เพิ่มขึ้น +0.9%

3. ภาวะเงินเฟ้อ EUROSTAT ได้รายงานว่าภาวะเงินเฟ้อของกรีซในเดือนพฤศจิกายน 2553 ลดลงเหลือ 4.8% จากเดือนตุลาคม 2553 ที่เท่ากับ 5.2% ในขณะที่ภาวะเงินเฟ้อของกลุ่มประเทศยูโรโซนคงที่ในระดับ 1.9% และภาวะเงินเฟ้อของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป 27 ประเทศ คงที่อยู่ที่ 2.3%

ในเดือนพฤศจิกายน 2553 ประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ ได้แก่ ไอร์แลนด์ (-0.8%) สโลวาเกีย (1.0%) และเนเธอร์แลนด์ (1.4%) และประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อสูง ได้แก่ โรมาเนีย (7.7%) เอโสโทเนีย (5.0%) และกรีซ (4.8%)

4. การว่างงาน หน่วยงาน OAED (The State Employment Agency) ได้รายงานว่าในเดือนพฤศจิกายน 2553 กรีซมีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น 2.96% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยมีอัตราแรงงานที่ถูกเลิกจ้างแรงงานชั่วคราวที่หมดอายุสัญญาจ้าง และแรงงานที่สมัครใจลาออกเพิ่มขึ้น 4.2% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน และการจ้างงานใหม่ลดลง 20.52%

ทั้งนี้ ในเดือนพฤศจิกายน 2553 คนว่างงานที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ OAED มีจำนวน 627,301 คน และจำนวนคนว่างงานที่ได้รับเงินช่วยเหลือ (Subsidized) เท่ากับ 206,779 คน (เพิ่มขึ้น 23,618 คน หรือร้อยละ 12.89% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า) ซึ่งเป็นผลจากการทะลักของแรงงานตามฤดูกาล (Seasonal worker) ในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

5. การจำหน่ายปลีก สมาพันธ์การค้าแห่งเฮลเลนิค (The National Confederation of Hellenic Commerce-ESEE) ได้คาดการณ์ภาวะการจำหน่ายปลีกในปี 252553 ว่าจะมีมูลค่าการค้าลดลง 3 พันล้านยูโร ซึ่งเป็นผลจากรายได้ของประชาชนที่ลดลง จำนวนคนว่างงานที่มีจำนวนมาก และการเพิ่มขึ้นของอัตราภาษีทั้งภาษีทางตรงและภาษีพิเศษ โดยบริษัท Fouris ซึ่งเป็นผู้แทนจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์แบรนด์ IKEA ในกรีซ ได้เปิดเผยว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 รายได้สุทธิของบริษัทลดลงเหลือเพียง 12.3 พันล้านยูโร และหากไม่รวมภาระภาษีที่จะต้องจ่ายจำนวน 5.5 พันล้านยูโร จะทำให้บริษัทมีกำไรสุทธิเพียง 6.8 พันล้านยูโร ลดลงถึง 71%

6. หน่วยงานวิเคราะห์เศรษฐกิจ (Market) ได้รายงานผลสำรวจในเดือนพฤศจิกายน 2553 ว่าภาคอุตสาหกรรมผู้ผลิตของกรีซยังคงเผชิญปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจอยู่แม้ว่าจะมีการหดตัวทางเศรษฐกิจที่ช้าลงประกอบกับความต้องการภายในประเทศที่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญที่ยังคงอ่อนแอ ทำให้การดำเนินธุรกิจใหม่ๆลดลงอย่างมากอันเนื่องมาจากความต้องการภายในประเทศที่ลดลงอย่างมากและการแข่งขันที่รุนแรง คำสั่งซื้อจากต่างประเทศยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น โดยดัชนีการสั่งซื้อของโรงงาน (Manufacturing Purchasing Managers Index-PMI) ใน เดือนพฤศจิกายน 2553 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยคือ 43.9 จุด ซึ่งยังต่ำกว่าเกณฑ์ 50 จุด ที่ถือว่าผ่านจากระยะหดตัวไปสู่ระยะการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ โรงงานผู้ผลิตในกรีซต้องลดการผลิต การจ้างงาน และธุรกรรมการซื้อลง เนื่องจากมีคำสั่งซื้อใหม่น้อยมาก รวมทั้งความต้องการภายในประเทศที่อ่อนแอและการหดตัวของการเปิดธุรกิจใหม่ก็ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ผู้ผลิตภาคอุตสาหกรรมต้องลดการผลิตและการจ้างงานเพื่อลดต้นทุน

7. กระทรวงการคลังได้เปิดเผยรายงานเศรษฐกิจ ดังนี้

7.1 การขาดดุลงบประมาณ ในช่วง 11 เดือน (มกราคม-พฤศจิกายน) ของปี 2553 กรีซขาดดุลงบประมาณจำนวน 18.7 พันล้านยูโร ลดลง 27.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งขาดดุล 25.6 พันล้านยูโร (เป้าหมายปี 2553 ลดลง 33.2%) ซึ่งเป็นผลจากมาตรการตัดลดการใช้จ่ายของรัฐบาลอย่างมาก ได้แก่ การตัดลดงบประมาณรายจ่ายปกติลง 6.4% การตัดลดงบประมาณรายจ่ายหลักลง 10.1% งบประมาณรายจ่ายของการลงทุนภาครัฐลดลง 12.2% ในขณะที่งบประมาณรายจ่ายด้านดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 5.7%

ทั้งนี้ รัฐบาลได้ปรับเป้าหมายการขาดดุลงบประมาณในปี 2553 ใหม่ (จากเดิม 7.8% ของ GDP) เป็น 9.4% ของ GDP เนื่องจากผลของมาตรการเข้มงวดด้านงบประมาณของรัฐบาลเพื่อลดการขาดดุลลงให้เหลือ 3% ของ GDP ในปี 2557 ทำให้เศรษฐกิจกรีซเข้าสู่ภาวะถดถอยและซึมลึกส่งผลให้รัฐบาลมีความยากลำบากในการจัดเก็บรายได้และการอุดช่องโหว่ของงบประมาณ

7.2 การจัดเก็บรายได้ ในเดือนพฤศจิกายน 2553 จัดเก็บรายได้สุทธิ 4.5 พันล้านยูโร เพิ่มขึ้น 18% และในช่วง 11 เดือน (มกราคม-พฤศจิกายน) ของปี 2553 จัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นจานวน 45.5 พันล้านยูโร หรือเพิ่มขึ้น 5.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (เป้าหมายทั้งปี 2553= +6%) แต่ยังคงต่ำกว่าเป้าหมาย 375 ล้านยูโร ทำให้เดือนธันวาคม 2553 รัฐบาลจะต้องจัดเก็บรายได้ให้ได้ 6 พันล้านยูโร เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยคาดว่าจะเก็บรายได้เพิ่มขึ้นจากค่าธรรมเนียมการใช้ถนน การขยายเวลาการเจรจาตกลงเพื่อชำระภาษีและรายได้จากโครงการลงทุนของรัฐ โดยเฉพาะโครงการนิรโทษกรรมด้านภาษีที่รัฐบาลจะสามารถจัดเก็บรายได้ 770 ล้านยูโร ในช่วง 6 สัปดาห์สุดท้ายของปี 2553

8. หนี้สาธารณะ สำนักงานบัญชีแห่งชาติกรีซ (The State’s General Accounting Office) ได้เปิดเผยว่า ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553 รัฐบาลกรีซมีหนี้สาธารณะถึง 336.8 พันล้านยูโร คิดเป็น 145.2% ของ GDP (เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 2 ของปี 2553 ที่มีจำนวน 316.9 พันล้านยูโร และปี 2552 ที่เท่ากับ 297.9 พันล้านยูโร)

ทั้งนี้ รัฐบาลกรีซได้รับเงินกู้เพื่อช่วยเหลือในการต่อสู่วิกฤตเศรษฐกิจจาก Troika (คณะกรรมาธิการยุโรป, ECB, และ IMF) วงเงินรวม 110 พันล้านยูโร กำหนดจ่ายชำระคืนภายใน 5 ปี โดยได้รับเงินกู้แล้วเป็นจำนวน 29 พันล้านยูโร และล่าสุดเงินกู้งวดที่ 3 ที่จะได้รับในเดือน มกราคม 2554 อีก จำนวน 9 พันล้านยูโร (6.5 พันล้านยูโรจากคณะกรรมาธิการยุโรปและ ECB , 2.5 พันล้านยูโร จาก IMF) อย่างไรก็ดี มีความเป็นห่วงกันว่ากรีซอาจไม่สามารถจ่ายชำระคืนภายในกำหนด คือภายในปี 2557 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจกรีซในปี 2553 ที่ไม่สามารถเติบโตได้มากพอในการหารายได้รัฐแม้ว่ารัฐบาลกรีซจะได้ดำเนินมาตรการเคร่งครัดด้านงบประมาณอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม คาดว่า คณะกรรมาธิการยุโรปจะ เห็นชอบให้ขยายเวลาการชำระหนี้ของกรีซออกไปอีกซึ่งยังไม่มีการตกลงที่ชัดเจนแต่อย่างใด

9. ดุลการค้า ณ เดือนกันยายน 2553 กรีซขาดดุลการค้าจำนวน 1,744 พันล้านยูโร ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนซึ่งขาดดุล 2.953 พันล้านยูโร หรือลดลง 40.9% ในช่วง 9 เดือน (มกราคม-กันยายน) ของปี 2553 กรีซขาดดุลการค้าจำนวน 15.395 พันล้านยูโร ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งขาดดุลจำนวน 23.242 พันล้านยูโร หรือลดลง 33.8%

การนำเข้า ณ เดือนกันยายน 2553 กรีซนำเข้ามูลค่า 2.896 พันล้านยูโร ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนซึ่งนำเข้ามูลค่า 4.253 พันล้านยูโร หรือลดลง 31.9%

ในช่วง 9 เดือน (มกราคม-กันยายน) ของปี 2553 กรีซนำเข้ามูลค่า 26.56 พันล้านยูโร ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 22.4%

การส่งออก ณ เดือนกันยายน 2553 กรีซส่งออกมูลค่า 1.152 พันล้านยูโร ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อน ซึ่งส่งออกมูลค่า 1.30 พันล้านยูโร หรือลดลง 11.4%

ในช่วง 9 เดือน (มกราคม-กันยายน) ของปี 2553 กรีซส่งออกมูลค่า 11.165 พันล้านยูโร เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 1.8%

10. ผู้แทนจาก Troika (คณะกรรมาธิการยุโรป, ธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรป (ECB) และ IMF) ได้เปิดเผยว่า Troika ได้ให้ความเห็นชอบการปล่อยเงินกู้งวดที่ 3 (จานวน 9 พันล้านยูโร) ให้แก่กรีซ เนื่องจากเห็นว่ารัฐบาลกรีซสามารถดำเนินมาตรการต่างๆ ตามแนวทางที่ได้ตกลงไว้เพื่อลดการขาดดุลงบประมาณจากปี 2552 ที่เท่ากับ 15.4% ของ GDP โดยลดลงเหลือ 9.4% ของ GDP ในสิ้นปี 2553 นี้ โดยรัฐบาลกรีซจำเป็นต้องดำเนินมาตรการเพื่อปฏิรูปโครงสร้างต่างๆอย่างเคร่งครัดต่อไปเพื่อให้การขาดดุลงบประมาณในปี 2554 ลดลงเหลือ 5% ของ GDP (หรือ 17 พันล้านยูโร)

มาตรการปฏิรูปโครงสร้างที่กรีซจำเป็นต้องดำเนินการในปี 2554 ได้แก่

  • การลดต้นทุนด้านสาธารณสุข 2.1 พันล้านยูโร ด้วยการผลักดันระบบการสั่งยาด้วยคอมพิวเตอร์ การตัดลดค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลของรัฐ และกองทุนประกันสังคม
  • การเลิกการดำเนินการขององค์กรรัฐบางแห่ง
  • การยกเครื่องกลไกในการเก็บภาษีใหม่
  • การเปิดเสรีด้านวิชาชีพ
  • การลดต้นทุนของรัฐวิสาหกิจให้ได้เดือนละ 800 ล้านยูโร

นอกจากนี้ ในเดือนธันวาคม2553 รัฐบาลจะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่อนุญาตให้บริษัทผู้ประกอบการสามารถทาสัญญาจ้างงานแบบกลุ่มได้ในกรณีที่ประสบปัญหาการเงินและสามารถเสนอทางเลือกในการจ่ายค่าจ้างได้ตราบเท่าที่ลูกจ้างยังคงได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่กำหนด (740 ยูโรก่อนหักภาษี) ส่วนกรณีที่นายจ้างสามารถลดเงินค่าจ้างได้โดยถูกกฏหมายยังไม่ได้มีผลสรุป

11. รัฐบาลต้องหารายได้ให้ได้ 5.9 พันล้านยูโร ในเดือนธันวาคม 2553 เพื่อให้มีรายได้ปี 2553 เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งหมายถึงต้องจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น 13.2% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้รัฐบาลคาดว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้ภาษีที่คงค้างชำระในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาได้ถึง 800 ล้านยูโร ภายในสิ้น ธันวาคม 2553 ซึ่งในจำนวนดังกล่าวรวมถึงรายได้จากการเก็บภาษีการใช้ถนนระหว่าง 5.2-5.5 พันล้านยูโร (เป้าหมาย 5.9 พันล้านยูโร) และรายได้ภาษีประมาณ 0.5 พันล้านยูโร อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังกรีซมีความกังวลว่าจะจัดเก็บรายได้ภาษีจากภาษีมูลค่าเพิ่มได้น้อยเนื่องจากการบริโภคภายในประเทศที่ลดลงอย่างมาก

12. สภาอุตสาหกรรมแห่งเฮลเลนิค (The Federation of Hellenic Industry (SEV)) ได้เปิดเผยว่าจะยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลกรีซทบทวนข้อตกลงสำหรับการกู้ยืมเงิน 110 พันล้านยูโร ที่ทำไว้กับ Troika เนื่องจากเห็นว่าการที่รัฐบาลดำเนินมาตรการต่างๆเพื่อให้งบประมาณภายในปี 2553 และ 2554 เป็นไปตามเป้าหมายนั้นเป็นไปไม่ได้ ในขณะที่หากรัฐบาลเพิ่มการเก็บภาษีมากขึ้นในปี 2554 อีก ก็จะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางสังคมของประเทศ ทั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งเฮลเลนิคได้เสนอให้รัฐบาลเร่งรัดการปรับโครงสร้างต่างๆให้มากขึ้น รวมทั้งการหามาตรการเพื่อกระตุ้นการส่งออกและการสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ ลดกิจกรรมและการดำเนินกิจการของรัฐและเปิดตลาด ภายในประเทศให้มากขึ้น

รองประธานสมาพันธ์ผู้ประกอบการแห่งเฮเลนิค (The Federation of Hellenic Enterprises หรือ SEV) นาย Thanasis Lavidas ได้เสนอให้มีการจัดทำ FTA ในกลุ่มภูมิภาคทะเลดำ เพื่อกระตุ้นธุรกรรมทางการค้า และการริเริ่มการลงทุนใหม่ๆ โดยได้เน้นให้เห็นถึงความสำคัญด้านยุทธศาสตร์ของตลาดในภูมิภาคทะเลดำซึ่งคาดว่าจะมีการบริโภคเป็นมูลค่าถึง 450 ล้านยูโร โอกาสทางการค้าและการลงทุนในสาขาพลังงาน แหล่งทรัพยากรที่นำกลับมาใช้ใหม่ วัตถุดิบในด้านการก่อสร้าง เทคโนโลยี IT การบริการด้านสุขภาพ เภสัชกรรม การขนส่งและโลจิสติกส์ และการผลิตสินค้าเกษตร รวมทั้งได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการกลับไปสู่การดำเนินธุรกิจในเศรษฐกิจสีเขียวโดยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ในกระบวนการผลิตสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ กรีซจะสามารถดึงดูดการค้าและการลงทุนได้มากขึ้น หากมีเศรษฐกิจที่เปิด สนับสนุนความจำเป็นในการปฏิรูป การพัฒนาโครงสร้างทางสาธารณูปโภคต่างๆ การปรับแก้ไขกฎระเบียบให้ทันสมัย การหลีกเลี่ยงวิธีการการปกป้อง และการจัดให้มีระบบภาษี และระบบศาลที่เป็นธรรม

ส่วนสหพันธ์แรงงานกลางแห่งหอการค้ากรีซ (The Central Union of Chamber of Commerce-KEE) ก็ได้แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า การที่รัฐบาลเพิ่มการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 11% เป็น 13% เป็นสิ่งที่ผิดอย่างมาก ในเวลาเดียวกันกับการบริโภคในประเทศที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ (มูลค่าการค้าลดลงราว 50%) รวมทั้งการตัดลดค่าจ้างและการเพิ่มภาระภาษีต่างๆ ทำให้ภาวะเศรษฐกิจหดตัวลง โดยคาดว่า GDP ในปี 2553 จะเท่ากับ -4.2% (คาดการณ์ไว้ -4%) และ -3% ในปี 2554

นอกจากนี้ สมาพันธ์การค้าแห่งชาติ (The National Confederation of Greek Commerce —ESEE) ได้กล่าวเรียกร้องให้ธนาคารต่างๆของกรีซผ่อนคลายความเข้มงวดของเงื่อนไขในการกู้ยืมลงเพื่อให้เม็ดเงินไหลเข้าสู่ตลาดได้มากขึ้น และกล่าวว่าผลจากวิกฤตเศรษฐกิจทำให้ธุรกิจมีความยากลำบากในการเข้าถึงเงินกู้ยืม โดยคำขอเงินกู้ยืม 8 ใน 10 ราย จะถูกปฏิเสธ และพบว่าธุรกิจ 1 ใน 4 ราย ต้องปิดกิจการ และการค้าปลีกมีมูลค่าการค้าลดลงอย่างเห็นได้ชัด

โดยเฉพาะร้านขายเสื้อผ้าและรองเท้า นอกจากนี้ จำนวนคนที่ได้รับการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมต่างๆในไตรมาส 2 ของปี 2553 ก็ลดลงเหลือเพียง 801,000 คน จากช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งมีจำนวน 828,000 คน

13. มีความเป็นไปได้ที่สหภาพยุโรปและ IMF จะพิจารณาขยายเวลาการจ่ายคืนเงินกู้ของกรีซตามกรอบความตกลงจากเดิม 5 ปี (ภายใน 2558) ออกไปเป็น 6-11 ปี (ภายในปี 2564) เนื่องจากกรีซไม่สามารถลดหนี้สาธารณะและจัดเก็บรายได้ได้ตามเป้าหมาย โดย IMF เห็นว่าในปี 2554 ถือเป็นปีที่วิกฤตที่สุดที่จำเป็นต้องมีการปฏิรูปและเปลื่ยนแปลงโครงสร้างอย่างสำคัญ โดยเฉพาะในส่วนภาครัฐที่จำเป็นต้องมีการตัดลดในสิ่งที่ไม่จำเป็นลง โดยต้องเน้นในด้านสาธารณสุขและการปรับปรุงกลไกของระบบการจัดเก็บภาษี ปัญหาสำคัญของกรีซไม่ได้อยู่ที่ระดับของหนี้แต่อยู่ที่การขาดความสามารถในการแข่งขัน ทั้งนี้ IMF คาดการณ์ว่า จะสามารถเห็นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของกรีซได้ในช่วงปลายปี 2554 นี้

14. กระทรวงการคลังกรีซได้ทำร่างงบประมาณปี 2554 เสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาแล้วเมื่อเดือน พฤศจิกายน 2553

รัฐบาลได้กล่าวว่าแผนงบประมาณในปี 2554 จะเป็นการเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้นจากแผนงบประมาณปี 2555 โดยรัฐบาลต้องหารายได้จากการประหยัดและตัดลดการใช้จ่ายลงให้ได้ในปี 2554 จำนวน 5.1 พันล้านยูโร เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงที่จะได้รับเงินกู้งวดต่อไปจากสหภาพยุโรปและ IMF

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ยืนยันว่าจะไม่ตัดลดค่าจ้างและเงินบำนาญสำหรับข้าราชการและลูกจ้างภาคเอกชน

ทั้งนี้มาตรการของรัฐบาลในการหารายได้เพื่อให้เป็นไปตามแผนงบประมาณปี 2554 ได้แก่

  • การปรับโครงสร้างพื้นฐานโดยการลดต้นทุนในด้านปฏิบัติการและตัดลดค่าใช้จ่ายที่สูญเปล่าในองค์สาธารณูปโภค (DEKO) และหน่วยงานรัฐ โรงพยาบาลรัฐ กองทุนบำนาญ และการจัดซื้อด้านความมั่นคง เพื่อประหยัดเงินงบประมาณให้ได้ 3.5 พันล้านยูโร (เฉพาะการใช้จ่ายด้านเภสัชกรรมลดลง 1.5 พันล้านยูโร)
  • ลดการใช้จ่ายพื้นฐานลงให้เหลือ 52.6 พันล้านยูโร (จากปี 2553 ที่คาดว่าจะเท่ากับ 52.8 พันล้านยูโร) ซึ่งคาดว่าอาจส่งผลให้เศรษฐกิจกรีซในปี 2554 ถดถอยมากขึ้นและต่อเนื่องเป็นปีที่ 3
  • มาตรการในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลเพื่อจัดเก็บรายได้ตามเป้าหมายในปี 2554 ได้แก่ เพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 11% เป็น 23% ซึ่งคาดว่าจะมีรายได้ 2 พันล้านยูโร ภาษีน้ำมันเชื้อเพลิง (250 ล้านยูโร) ภาษียาสูบ (300 ล้านยูโร) ภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (50 ล้านยูโร) การจัดเก็บภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย (40 ล้านยูโร) การจัดเก็บภาษีการใช้ถนน (Green Road Tax) อีก 300 ล้านยูโร รายได้จากค่าสัมปทานในการติดตั้งเครื่องเล่นเกมและเสี่ยงโชค 200 ล้านยูโร (และ 400 ล้านยูโรในปี 2555) และค่าใบอนุญาตในการดำเนินการ 500 ล้านยูโร (ในปี 2555

จำนวน 225 ล้านยูโร) การเก็บภาษีพิเศษ (อัตรา 5-10 %) สำหรับธุรกิจที่ทำกำไร 1,000 ล้านยูโร (สำหรับบริษัทที่มีรายได้ก่อนหักภาษีไม่เกิน 5 ล้านยูโรจะได้รับยกเว้น) การเก็บภาษีจากการเพิ่มขึ้นของราคาอสังหาริมทรัพย์ 270 ล้านยูโร (200 ล้านยูโรในปี 2555)

15. กระทรวงการคลังกรีซ ได้คาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจกรีซว่าจะกลับเป็นบวกได้ในปี 2555 ซึ่งเป็นผลจากมาตรการการปฏิรูปโครงสร้างต่างๆของรัฐบาลที่จะทำให้การบริการประชาชนมีประสิทธิภาพขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า และส่งผลทางบวกต่อตลาดและการจ้างงาน

ทั้งนี้ รัฐบาลกรีซได้เน้นย้ำถึงความท้าทายทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่กรีซจะต้องเผชิญ และเป้าหมายที่จะทำให้กรีซกลับเข้าสู่การตลาดทุนในปี 2554 โดยมีแผนมาตรการปฏิรูปรวม 10 ข้อ ดังนี้

(1.) การควบคุมและบริหารการจัดการใช้จ่ายภาครัฐโดยการแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจเพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและกำกับดูแล จัดทำร่างกรอบยุทธศาสตร์แผนงบประมาณระยะกลาง (ปี 2555-2557) เพื่อลดการขาดดุลงบประมาณจาก 17 พันล้านยูโร ให้เหลือเพียง 6.4 พันล้านยูโร

(2.) การต่อสู้การหลบเลี่ยงภาษีผ่านร่างกฎหมายและระเบียบต่างๆ เช่น การเร่งรัดกระบวนการด้านภาษี การปรับโครงสร้างกระทรวงการคลังและการควบคุมหน่วยงานด้านภาษี

(3.) การลดจำนวนองค์กรและรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนด้วยการยกเลิกหรือการควบรวมกิจการ และการลดจำนวนพนักงานลงด้วยการถ่ายโอนระหว่างกันแต่ไม่ใช่การเลิกจ้าง

(4.) การปฎิรูปรัฐวิสาหกิจ โดยในปี 2553 จะลดจำนวนพนักงานลงประมาณ 40,000 คน และในปี 2554 จะจ้างพนักงานราว 8,000 คน ในสาขาสำคัญอันดับแรกๆ ได้แก่ การศึกษา การสาธารณสุข และประกันภัย

(5.) การตัดลดค่าใช้จ่ายด้านการสาธารณสุขที่เกินตัวอย่างมาก

(6.) การปรับปรุงด้านแรงงานสัมพันธ์ โดยร่างพระราชบัญญัติใหม่จะถูกเสนอในปลายปี 2553 นี้ ซึ่งจะทำให้ข้อตกลงทางธุรกิจจะมีอำนาจมากกว่าข้อตกลงภาคอุตสาหกรรมภายใต้ขอบเขตที่แน่นอนและไม่กระทบต่อค่าจ้างขั้นต่ำ

(7.) การเปิดตลาดให้แก่อาชีพที่ได้รับการคุ้มครอง ซึ่งคาดว่าร่างพระราชบัญญัติจะผ่านการเห็นชอบภายในไตรมาสแรกของปี 2554 อาชีพที่ได้รับการคุ้มครองและเปิดตลาดที่สำคัญ 6 อาชีพ ได้แก่ เภสัชกร นักกฏหมาย เจ้าหน้าที่รับจดทะเบียนด้านสัญญาและนิติกรรม (Notaries) สถาปนิก ผู้ตรวจสอบบัญชี และวิศวกรของรัฐ นอกจากนี้ยังมีอาชีพอื่นๆที่เปิดตลาด ได้แก่ นายหน้าซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ช่างผม ร้านจำหน่ายสื่อสิ่งพิมพ์ ช่างไฟฟ้า กิจการอู่รถแท็กซี่ ช่างแว่นตา เป็นต้น

(8.) การสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อการเจริญเติบโตของธุรกิจ โดยการกำหนดแผนปฏิบัติการเพื่อลดข้อกำหนดและระเบียบต่างๆในตลาดด้านพลังงาน ซึ่งคาดว่าจะเสนอได้ภายในสิ้นปี 2554

(9.) การปฏิรูปภาคการเงิน โดยการปรับโครงสร้าง ATE Bank ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2553 และการเปิดดำเนินการหน่วยงานด้านการฝากและการให้กู้ยืมของกองทุนเพื่อการออมและการกู้ยืม ในช่วงต้นปี 2554

(10.) การบริหารจัดการที่ดีในด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้ กระทรวงการคลังกรีซคาดว่าแผนมาตรการปฏิรูปดังกล่าวจะช่วยให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บงบประมาณในปี 2555-2557 ได้ราว 5% ของ GDP และทำให้การขาดดุลงบประมาณลดลงต่ำกว่า 3% ของ GDP ในปี 2557 ตามเป้าหมาย (รายได้จากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้น 7 พันล้านยูโร ภายในปี 2013 และรายได้จากอสังหาริมทรัพย์ของรัฐ มูลค่า 300 พันล้านยูโร)

16. รัฐบาลกรีซจะออกกฎหมายส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ในเดือน ธันวาคม 2553 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในประเทศให้มากขึ้น โดยเฉพาะจะช่วยให้ระบบการประมูลในโครงการลงทุนของรัฐ และกระบวนการออกใบอนุญาตมีความรวดเร็วและโปร่งใสมากขึ้น โดยรัฐบาลได้เปิดเผยข้อมูลร่างกรอบการปฏิบัติงานไว้ในเว็บไซต์ www.opengov.gr

กฎหมายการส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ดังกล่าว (Fast Track law) จะบริหารงานโดยองค์กรรัฐที่จัดตั้งขึ้นเป็นแบบ One Stop Shop เรียกว่า Investment in Greece (IG) และมีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี Haris Pamboukis เป็นประธาน เพื่อทำหน้าที่พิจารณาอนุมัติ โครงการลงทุนที่เสนอโดยนักลงทุน ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงโครงการลงทุนของรัฐด้วย นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ในการคัดค้านและริเริ่มโครงการลงทุนใหม่ และขจัดการบิดเบือนจากการประเมินของคณะกรรมการและกลไกที่เอื้อให้เกิดการคอรัปชั่นในกระบวนการยื่นการประมูลด้วย

ขั้นตอนการดำเนินการภายใต้กฎหมายใหม่ดังกล่าว ประกอบด้วย

1. การพิจารณาการกำหนดความเร่งด่วนของโครงการ โดยหน่วยงาน IG (ใช้เวลาในการพิจารณา 15 วัน) ซึ่งได้กำหนดประเภทของโครงการไว้ 3 ประเภท

  • โครงการที่มีเงินลงทุนขั้นต่ำ 200 ล้านยูโร
  • โครงการที่มีเงินลงทุนขั้นต่ำ 75 ล้านยูโร แต่มีการจ้างงานใหม่ตั้งแต่ 200 คน ขึ้นไป
  • โครงการที่มีมีเงินลงทุนขั้นต่ำ 1 ล้านยูโร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการวิจัยและพัฒนา

2. โครงการได้รับการอนุมัติและบริหารโครงการโดยคณะกรรมการร่วมที่มีนาย Pamboukis เป็นประธาน

3. โครงการถูกส่งกลับไปที่หน่วยงาน IG เพื่อดำเนินการในทางปฏิบัติต่อไปตามความสำคัญของความเร่งด่วน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีโครงการหลายโครงการที่ยังคงค้างการพิจารณาเนื่องจากกระบวนการล่าช้าและซับซ้อนของระบบราชการ อย่างไรก็ดี รัฐบาลคาดหวังว่าจะได้เห็นโครงการที่ได้รับการอนุมัติในการลงทุนด้านสาธารณสุข และด้านพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานสีเขียว

17. รายงานของโครงการวิจัยและตรวจสอบการดำเนินงานของผู้ประกอบการทั่วโลกเปิดเผยว่าในปี 2552 ดัชนีผู้ประกอบการธุรกิจลดลง 8.8% (จากปี 2551 ที่เท่ากับ 9.9%) และในปี 2553 ติดลบกว่า 5.5% โดยผู้ประกอบการที่แจ้งว่าต้องปิดกิจการเนื่องจากไม่มีกาไรเพียงพอมีจำนวนถึง 180,000 ราย

แนวโน้มที่ผู้ประกอบการต้องปิดกิจการลงยังคงมีต่อเนื่องและมีผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ รวมทั้งก่อให้เกิดความกลัวแก่นักธุรกิจที่วางแผนจะเปิดดำเนินธุรกิจด้วย นอกจากนี้ยังพบว่าเงินทุนเฉลี่ยในการดำเนินธุรกิจได้เพิ่มขึ้นจาก 40,000 ยูโร เป็น 60,000 ยูโร

สำหรับประเทศกรีซ มีคนจำนวนประมาณ 1.6 ล้านคนที่เกี่ยวข้องอยู่ในกิจกรรมทางธุรกิจ ในขณะที่มีจำนวนประมาณ 600,000 คน ที่อยู่ในขั้นเริ่มต้นการดำเนินธุรกิจ และจำนวนประมาณ 1.2 ล้านคนมีแผนที่จะเปิดดำเนินธุรกิจในอีก 3 ปีข้างหน้า

18. นาย Michalis Chrysochoidis รัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาภูมิภาคและความสามารถในการแข่งขัน (Regional Development and Competitiveness) ได้ประกาศแผน Export Friendly Plan เพื่อส่งเสริมการส่งออกของกรีซให้มากขึ้น ทั้งนี้การส่งออกของกรีซคิดเป็น 8.7% ของ GDP เท่านั้น ในขณะที่ประเทศอื่นๆ เช่นสเปนมีการส่งออกมากกว่า 16% ของ GDP โปรตุเกสส่งออกมากกว่า 20% และเนเธอร์แลนด์ส่งออกมากกว่า 50% ของ GDP

แผน Export-Friendly Plan จะประกอบด้วยการพัฒนาแบรนด์ให้เข้าสูระดับชาติ การปรับโครงสร้างองค์กรที่เกี่ยวข้องต่างๆ เช่น The Hellenic Foreign Trade Board (HEPO) องค์กรการให้สินเชื่อด้านประกันภัยเพื่อการส่งออก (The Export Credit Insurance Organization — ECIO) เพื่อให้มีบทบาทหน้าที่ใหม่ละร่วมมือกับองค์กรการท่องเที่ยวแห่งกรีซ (The Greek National Tourism Organization- GNTO) และองค์กรส่งเสริมการลงทุน (Invest in Greece — IG) เพื่อสร้างความมั่นใจในการปรับภาพลักษณ์ของกรีซในต่างประเทศ

19. นายกรัฐมนตรีของกรีซ George Papandreou กล่าวว่าเกษตรกรรมจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะพากรีซรอดพ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจ เนื่องจากภาคเกษตรกรรมยังมีอนาคตที่สดใส แม้ว่าก่อนหน้านี้จะไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร โดยรัฐบาลจะสนับสนุนการสร้างเอกลักษณ์ให้กับสินค้า ให้หน่วยงานแต่ละพื้นที่สนับสนุน และรับประกันคุณภาพสินค้าประจาภูมิภาคที่ออกสู่ตลาด เพื่อให้สามารถแข่งกับสินค้าชาติอื่นๆได้

20. กรีซและอียิปต์ได้ทบทวนข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างกันและได้มีการลงนามโดยผู้ช่วย รมว.กระทรวงการต่างประเทศกรีซ นาย Spyros Kouvelis และผู้ช่วย รมว. ประจารัฐแห่งอียิปต์ (Egyptian Deputy Minister of State) นาย Mustafa Abdou Mohamad Eisa

นาย Kouvelis ได้ย้ำว่าอียิปต์เป็นประเทศคู่ค้าและเพื่อนบ้านที่สำคัญ โดยความตกลงดังกล่าวจะนำไปสู่ความร่วมมือในหลายๆ สาขา ได้แก่การลงทุน การท่องเที่ยว การพลังงาน (ก๊าซธรรมชาติ, น้ามันปิโตเลียม, แหล่งพลังงานที่นำกลับมาใช้ใหม่) การก่อสร้าง เทคโนโลยีสมัยใหม่ (IT และการสื่อสารโทรคมนาคม) สิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการแหล่งน้ำ และน้ำเสีย การศึกษาและวิทยาศาสตร์

นอกจากนี้ยังมีการทำข้อตกลงอีก 3 ฉบับระหว่างหน่วยงานเกี่ยวข้องในด้านการผลิตสินค้าเกษตร ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ในการผลิตสินค้าเกษตรและการก่อสร้าง เพื่อช่วยส่งเสริมและสนับสนุนความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการกรีซที่ตั้งอยู่ในอียิปต์

21. การค้าไทย-กรีซ

21.1. ในช่วง 11 เดือน (มกราคม-พฤศจิกายน) ของปี 2553 ไทยส่งออกสินค้ามากรีซทั้งสิ้นมูลค่า 188.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งส่งออกมูลค่า 197.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ -4.64

สินค้าส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรกได้แก่ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบมูลค่า 62.4 ล้านเหรียญ สหรัฐฯ (+22.68%) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบมูลค่า 21.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-4.28%) รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบมูลค่า 13.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+22.01%) ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบมูลค่า 11.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-9.28%) และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบมูลค่า 9.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-5.25%)

21.2. สินค้าที่มีการส่งออกลดลงต่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ เม็ดพลาสติก (-51.91%) ตาข่ายจับปลา (-39.65%) ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ (-40.40%) และผลิตภัณฑ์พลาสติก (-25.73%)

21.3. สินค้าที่การส่งออกเพิ่มขึ้นต่างมีนัยสำคัญได้แก่ เหล็กและผลิตภัณฑ์ (145.93%) เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ (280.77%) อาหารสัตว์เลี้ยง (167.70%) เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน (84.46%)

21.4. สินค้าที่คาดว่ายังคงมีแนวโน้มที่ดีได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า เนื่องจากรัฐบาลกรีซมีนโยบายในปี 2554 ที่จะให้การสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมที่กรีซมีศักยภาพ เพื่อช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ได้แก่ ภาคการท่องเที่ยว การก่อสร้าง และพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานที่นากลับมาใช้ใหม่ รวมทั้งสินค้า IT และการสื่อสารโทรคมนาคม

นอกจากนี้รัฐบาลกรีซยังมีโครงการที่จะก่อสร้างสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกเช่น ทางหลวงเชื่อมเมืองต่างๆ เป็นต้น

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโรม

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ