รายงานสถานการณ์การส่งออกสินค้าไทยไปอิตาลี ประจำเดือนธันวาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 10, 2011 14:23 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. สถานการณ์ส่งออก

ในช่วง 11 เดือนแรก (มกราคม-พฤศจิกายน) ของปี 2553 ไทยส่งออกสินค้ามายังอิตาลีทั้งสิ้นมูลค่า 1,549.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งส่งออกมูลค่า 1,182.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 31.06 โดยมีสินค้าส่งออก 5 อันดับแรก ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ 170.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (14.45%) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ 151.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (77.15%) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 120.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (143.13%) ยางพารา 102.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (123.32%) และปลาหมึกสดแช่เย็นแช่แข็ง 87.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-0.70%)

2. การวิเคราะห์สถานการณ์โดยรวม

การส่งออกมาอิตาลีในช่วง 11 เดือน (มกราคม-พฤศจิกายน) ของปี 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.06 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน วิเคราะห์ได้ดังนี้

2.1 เป็นการเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนซึ่งเป็นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ จึงทาให้อัตราการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 31.06 อย่างไรก็ดี หากพิจารณาเฉพาะเดือนพฤศจิกายน 2553 การส่งออกได้ชะลอตัวลง โดยเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 11.84 เนื่องจากผู้นำเข้าได้มีการสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าเพื่อไว้ขายในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่นี้ ประกอบกับเป็นเดือนสุดท้ายที่สินค้าจะเดินทางเข้ามาถึงอิตาลี

2.2 การบริโภคของประชาชนปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย โดยสมาพันธ์ผู้ขายปลีกแห่งชาติ (Confcommercio) ได้คาดการณ์ว่าในช่วงเทศกาลคริสต์มาสนี้ ประชาชนจะมีการใช้จ่ายประมาณ 33.6 พันล้านยูโร เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 1.2% นอกจากนี้ยังมีการสำรวจความต้องการซื้อสินค้าของผู้บริโภคในช่วงเทศกาล ดังกล่าว ซึ่งปรากฎว่าสินค้าหลักที่คนอิตาลีจะซื้อได้แก่ สินค้าอาหาร (สัดส่วน 66.2%) เสื้อผ้า (62%) หนังสือ (62%) เครื่องสำอางค์และสุขภาพ (56%) ของเล่นเด็ก (52%) ไวน์ (47.6%)

2.3 การเพิ่มขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นประมาณ 25% เมื่อเทียบกับปีก่อนส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้าบางรายการเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุดิบของสินค้าจำพวกแฟชั่นที่มีต้นทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 30% โดยเฉพาะฝ้ายราคาเพิ่มขึ้น 20% เคมีภัณฑ์ที่ใช้ในการผลิตสินค้าประเภทพลาสติกเพิ่มขึ้นประมาณ 19% และยางธรรมชาติที่ราคาเพิ่มขึ้นถึง 50%

2.4 เป็นช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ซึ่งประชาชนจะออกมาซื้อสินค้าเพื่อให้เป็นของขวัญร้านค้าต่างๆมีการจัดรายการส่งเสริมการขาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเครื่องปรับอากาศซึ่งร้านค้านิยมนำมาขายลดราคาในช่วงนี้เพื่อใช้สำหรับฤดูร้อนที่จะมาถึง รวมทั้งยังมีบริการโดยการลดค่าใช้จ่ายในการติดตั้งและจัดเจ้าหน้าที่เทคนิคเพื่อการติดตั้งได้โดยสะดวก (ในช่วงฤดูร้อนต้องใช้เวลารอเจ้าหน้าที่นานถึง 20 วัน)

2.5 ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของอิตาลี ณ เดือนตุลาคม 2553 เพิ่มขึ้น +3.3% และในช่วง 10 เดือนแรก (มกราคม-ตุลาคม) ของปี 2553 เพิ่มขึ้น +5.8% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยอุตสาหกรรมที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ สิ่งทอและเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนังและเครื่องประดับ เหล็กและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักร และคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์และอุปกรณ์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นภาคอุตสาหกรรมที่นำเข้าสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (Semi-Finished product) จากไทย

2.6 การส่งออกของอิตาลีในเดือนตุลาคม 2553 มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 17.6% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (ตลาดนอกประเทศสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น 21.9% และตลาดในประเทศสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น 14.5%) โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรกได้แก่ เครื่องจักร ยานพาหนะ เครื่องจักรไฟฟ้า น้ำมันและแร่ และพลาสติก

ในขณะที่การนำเข้าของอิตาลีในเดือนตุลาคม 2553 เพิ่มขึ้น 22.5% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (นำเข้าจากตลาดนอกประเทศสหภาพยุโรป +32% และตลาดในประเทศสหภาพยุโรป +16%) โดยมีสินค้านำเข้าสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องจักร ยางพารา เครื่องจักไฟฟ้า ปลาและอาหารทะเล และยานพาหนะ

ประเทศที่อิตาลีนำเข้าสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ เยอรมัน (สัดส่วน 15.84%) ฝรั่งเศส (8.32%) จีน (7.65%) เนเธอร์แลนด์ (5.36%) และสเปน (4.39%) และนำเข้าจากไทยเป็นอันดับที่ 47 (สัดส่วน 0.37%) โดยมีประเทศคู่แข่งในแถบเอเซีย ได้แก่ ญี่ปุ่น (อันดับที่ 18 สัดส่วน 1.23%) อินเดีย (อันดับที่ 21 สัดส่วน 1.05%) เกาหลีใต้ (อันดับที่ 28 สัดส่วน 0.79%) อินโดนีเซีย (อันดับที่ 35 สัดส่วน 0.57%) และไต้หวัน (อันดับที่ 37 สัดส่วน 0.55%)

3. การวิเคราะห์แยกรายสินค้าที่มีการส่งออกลดลง ได้ดังนี้

3.1 เคมีภัณฑ์

การส่งออกในช่วง 11 เดือน (มกราคม-พฤศจิกายน) ของปี 2553 มีมูลค่า 20.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งส่งออกมูลค่า 42.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ -52.95 เนื่องจาก

(1.) อุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้เคมีภัณฑ์เป็นวัตถุดิบ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมก่อสร้างยังคงมีสภาวะตลาดที่ซบเซาซึ่งเป็นผลจากวิกฤตเศรษฐกิจ และยังไม่สามารถกลับคืนสู่ระดับก่อนหน้าการเกิดวิกฤตได้ ในภาพรวมความต้องการของตลาดลดลงต่ำกว่าระดับก่อนวิกฤตเศรษฐกิจถึง -10% อย่างไรก็ดี ความต้องการเคมีภัณฑ์ที่ใช้ในการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคยังมีแน้วโน้มที่ดีกว่าคือ -1% ในขณะที่ความต้องการเคมีภัณฑ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นมีแนวโน้มลดลงอย่างมาก คือ -16%

(2.) ผลจากความต้องการภายในประเทศที่ลดลง และสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่แม้จะมีการฟื้นตัวดีขึ้นแต่ยังคงมีความเสี่ยงและเปราะบาง ทำให้ผู้ประกอบการขายสินค้าที่มีอยู่ในสต็อคออกไปก่อน และชะลอการสั่งซื้อสินค้าใหม่ออกไปเท่าที่จำเป็น

(3.) สภาพตลาดโดยรวมในปี 2553 คาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้นเล็กน้อยอันเป็นผลมาจากความต้องการในประเทศและการส่งออกที่เพิ่มขึ้นประมาณ 3.5% และคาดว่าในปี 2554 การผลิตเคมีภัณฑ์ของอิตาลีจะเพิ่มขึ้น +2.2% ในขณะที่ความต้องการภายในประเทศจะเพิ่มขึ้น +1.8%

(4.) อุตสาหกรรมก่อสร้างซึ่งเป็นภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่สำคัญที่ใช้เคมีภัณฑ์เป็นวัตถุดิบ และได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจมากที่สุดยังคงไม่ฟื้นตัว โดยมีการเลิกจ้างคนงานถึง 280,000 คน และคาดว่าในปี 2554 ก็ยังคงไม่สามารถฟื้นตัวกลับเข้าสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจได้

(5.) มาตรการช่วยเหลืออุตสาหกรรมก่อสร้างของรัฐบาล (มาตรการ In house Plan) ซึ่งได้ออกประกาศตั้งแต่เดือนมีนาคม 2552 จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถมีผลทางปฏิบัติได้เต็มรูปแบบเนื่องจากความล่าช้าของระบบราชการและระเบียบในแต่ละแคว้น โดยสมาคมผู้ประกอบการก่อสร้างแห่งอิตาลี (The Italian Association of Builders) ได้คาดการณ์ว่าหากมาตรการ In house Plan สามารถมีผลในทางปฏิบัติได้อย่างแท้จริง จะสามารถสร้างโอกาสในการลงทุนระหว่างปี 2552-2557 ให้มีมูลค่าได้ถึง 50-70 พันล้านยูโร

(6.) ข้อมูลจาก WTA ล่าสุดในช่วง 9 เดือน (มกราคม-กย.) ของปี 2553 อิตาลีมีการนำเข้าเคมีภัณฑ์ ออร์แกนิค (พิกัด 29) ซึ่งหลักๆ คือ Virgin Naphtha ค่อนข้างมาก (มีสัดส่วนการนำเข้า 64% ของการนำเข้าทั้งหมด) มีมูลค่าการนำเข้าถึง 11,319.169 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีประเทศที่อิตาลีนำเข้า 5 อันดับแรกได้แก่ สวิสเซอร์แลนด์ (สัดส่วน 19.19%) เยอรมัน (14.27%) เบลเยี่ยม (13.96%) เนเธอร์แลนด์ (10.19%) และจีน (5.92%)

ไทยครองตลาดเป็นอันดับที่ 33 (สัดส่วนตลาด 0.18%) โดยสินค้าที่อิตาลีนำเข้าจากไทยส่วนใหญ่ (73%) เป็น Virgin Naphtha และเคมีภัณฑ์ที่ใช้ทำสบู่และน้ำยาซักล้าง เคมีภัณฑ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมทาสี น้ำยาเคลือบ หมึกพิมพ์และกาว เคมีภัณฑ์ที่ใช้ในการเกษตร เช่น ปุ๋ย และเคมีภัณฑ์ทางการแพทย์และเภสัชกรรม ประเทศคู่แข่งสำคัญได้แก่ ญี่ปุ่น (สัดส่วนตลาด 2.72%) อินเดีย (2.03%) และเกาหลีใต้ (0.55%) ประเทศที่อิตาลีนำเข้าเพิ่มขึ้น อย่างมีนัยสำคัญได้แก่ อิหร่าน (+132.66%) ยูเครน (+826.50%) และคูเวต +74.76%)

3.2 เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน

การส่งออกในช่วง 11 เดือน (มกราคม-พฤศจิกายน) ของปี 2553 มีมูลค่า 19.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งส่งออกมูลค่า 21.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ -7.76 เนื่องจาก

(1.) เป็นภาคอุตสาหกรรมหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจค่อนข้างมาก แต่รัฐบาลอิตาลี ไม่ได้มีมาตรการช่วยเหลือเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมรถยนต์และอุตสาหกรรรมก่อสร้าง

(2.) การผลิตและความต้องการภายในประเทศค่อนข้างน้อย (อยู่ระหว่าง 0 ถึง +1%) ซึ่งเป็นผลจากอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ความต้องการจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเล็กน้อย คือ อยู่ระหว่าง 3-4% ประกอบกับเป็นสินค้าที่ไม่จำเป็นต่อการครองชีพทำให้ผู้บริโภคชะลอการซื้อและจะซื้อเท่าที่จำเป็น โดยข้อมูลจาก ISTAT ปรากฏว่าในช่วง 10 เดือน (มกราคม-ตุลาคม) ของปี 2553 ความต้องการในประเทศและการผลิตเฟอร์นิเจอร์ของอิตาลี เพิ่มขึ้น +0.7% และ +0.6% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

(3.) สินค้าที่ไทยส่งออกมาอิตาลีส่วนใหญ่คือ เฟอร์นิเจอร์ชุดที่ทำจากไม้ทั้งประเภทที่ใช้ในห้องอาหารห้องนั้งเล่น ห้องนอน และเก้าอี้ ในขณะที่สินค้าจากจีนซึ่งเป็นประเทศที่อิตาลีนำเข้าเป็นอันดับ 1 จะเป็นประเภทเก้าอี้ และโคมไฟซึ่งมีขนาดไม่ใหญ่และมีราคาถูก ทำให้ผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าจากจีนเพื่อประหยัดการใช้จ่ายและซื้อเป็นชิ้นๆ แทนการซื้อเฟอร์นิเจอร์แบบครบชุด

(4.) ผู้นำเข้าแจ้งว่าในปัจจุบันสินค้าเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้ของไทยไม่เป็นที่นิยมของชาวอิตาลี โดยเฉพาะในทางตอนเหนือของอิตาลี ในขณะที่สินค้าที่ทำจากเหล็กหรืออุปกรณ์และชิ้นส่วนสำหรับห้องน้ำ ซึ่งอิตาลีนำเข้าจากจีนมีแนวโน้มที่ดีกว่า นอกจากนี้ ผู้ส่งออกไทยยังขาดการพัฒนาและนวัตกรรมในการผลิตสินค้าเฟอร์นิเจอร์ให้มีความหลากหลาย รวมทั้งการพัฒนาการผลิตสินค้าเพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคอิตาลีให้มากขึ้น (ทั้งในด้านรูปแบบและสีสัน) เมื่อเปรียบเทียบกับจีน

(5.) สมาพันธ์ผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์แห่งอิตาลี (Italian Federation of Furniture companies-FEDERLEGNO) คาดว่าในปี 2553 ตลาดเฟอร์นิเจอร์ของอิตาลีจะมีมูลค่าการค้าประมาณ 33.3 พันล้านยูโร เพิ่มขึ้น 1.8% (แยกเป็นสินค้าเฟอร์นิเจอร์ +1.9% โคมไฟ +2.3% ชั้นวางของและเฟอร์นิเจอร์กึ่งสำเร็จรูป +6.4%) และคาดว่าตลาดจะสามารถกลับคืนสู่สภาวะก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจได้ในปี 2563

สำหรับปี 2554 สภาวะตลาดเฟอร์นิเจอร์จะฟื้นตัวได้อย่างช้าๆ และจะสามารถเห็นการฟื้นตัวได้อย่างชัดเจนในปี 2555

(6.) สถาบันวิเคราะห์เศรษฐกิจแห่งชาติ (ISAE) ได้รายงานว่าในเดือน พฤศจิกายน 2553 สภาวะตลาดเฟอร์นิเจอร์ทั้งในด้านผู้บริโภค ผู้ผลิต และผู้จัดจำหน่ายฟื้นตัวขึ้น โดยราคาและคำสั่งซื้อจากต่างประเทศรวมทั้งสินค้าคงคลังเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเช่นกัน และคาดว่าจะส่งผลให้การผลิตและการนำเข้าในเดือน ธค. 2553 มีแนวโน้มที่ดีขึ้น

(7.) จากข้อมูล WTA ล่าสุด (มกราคม-กย.) ของปี 2553 อิตาลีนำเข้าเฟอร์นิเจอร์จากทั่วโลกมูลค่า 2,647.33 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 8.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมีประเทศที่อิตาลีนำเข้าสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน (สัดส่วน 30.20%) เยอรมัน (สัดส่วน 14.68%) โปแลนด์ (สัดส่วน 6.53%) โรมาเนีย (6.31%) และออสเตรีย (5.27%)

ไทยครองตลาดเป็นอันดับที่ 26 (สัดส่วนตลาด 0.82%) สินค้าหลักที่อิตาลีนำเข้าจากไทย (สัดส่วนกว่า 75%) เป็นเฟอร์นิเจอร์ประเภทอื่นๆ ประเทศคู่แข่งสำคัญอื่นๆ ได้แก่ อินโดนีเซีย (สัดส่วนตลาด 1.91%)เวียดนาม (1.85%) ไต้หวัน (0.88%) อินเดีย (0.88%) และมาเลเซีย (0.47%)

4. ข้อคิดเห็น

4.1 คาดว่าการส่งออกของไทยมายังอิตาลีในปี 2553 จะเป็นไปตามเป้าหมายคือ 1,577 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+20%) แม้ว่าเศรษฐกิจอิตาลีในภาพรวมยังคงฟื้นตัวได้อย่างช้าๆ จากปัญหาการว่างงานที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้น โดยข้อมูลจาก ISTAT รายงานว่าอัตราการว่างงาน ณ เดือน พฤศจิกายน 2553 เท่ากับ 8.6% (มากกว่า 2 เท่าของอัตราการว่างงานตั้งแต่ เมษายน 50 - ตุลาคม 2553) หรือคิดเป็นจำนวนคนว่างงานเกือบ 2.167 ล้านคน แต่ปัจจัยที่ยังคงส่งผลบวก ได้แก่ การออมภาคประชาชนที่ค่อนข้างสูงและความเข้มแข็งของภาคการเงินและธนาคาร ทำให้เศรษฐกิจอิตาลียังคงมีเสถียรภาพ

4.2 คาดว่าหากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลได้แก่ มาตรการ In House Plan ที่ได้ออกประกาศตั้งแต่ มีค. 52 และได้เริ่มมีผลในทางปฏิบัติแล้วในบางแคว้น (คาดว่ารัฐบาลจะขยายระยะเวลามาตรการออกไปจนถึงปี 2555 เนื่องจากในบางแคว้นยังคงมีปัญหาในทางปฏิบัติและกฏระเบียบต่างๆ รวมทั้งความล่าช้าและซับซ้อนของระบบราชการ) จะสามารถมีผลใช้บังคับได้อย่างเต็มรูปแบบ ก็จะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอิตาลีในปี 2554 ให้มีการเจริญเติบโตได้อย่างมาก ทั้งนี้ มาตรการ In House Plan มีวงเงินทั้งสิ้น 2 พันล้านยูโร และคาดว่าจะสามารถส่งผลให้เห็นชัดเจนได้ในช่วงครึ่งหลังของปื 2554 และต่อเนื่องในปี 2555

4.3 นอกจากนี้ หากโครงการก่อสร้างสะพานเชื่อมระหว่างเกาะซิซิลีกับเมือง Messina (ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ The Berlin-Palermo Corridor) มูลค่า 6,500 ล้านยูโร ซึ่งได้มีการริเริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี 2546 (โดยเมื่อเดือน พฤศจิกายน 52 รัฐบาลอิตาลีได้ให้ความเห็นชอบการให้เงินช่วยเหลือมูลค่า 1.5 พันล้านยูโร) ซึ่งขณะนี้รอการพิจารณอนุมัติจากหน่วยงานเกี่ยวข้องได้แก่ Stretto di Messina กระทรวงคมนาคม (Public Works Ministry) และคณะกรรมการวางแผนร่วมระหว่างกระทรวงเศรษฐกิจ (CIPE) อยู่และหากสามารถเริ่มดำเนินการได้ก็คาดว่าจะช่วยสร้างการจ้างงานให้เพิ่มมากขึ้นในอนาคตซึ่งจะมีผลต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวม

4.4 สมาพันธ์อุตสาหกรรมแห่งอิตาลี (Confindustria) ได้ประกาศการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจของอิตาลีล่าสุด เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2553 เพื่อกระตุ้นความต้องการบริโภคภายในประเทศให้เพิ่มขึ้น เพื่อให้ดุลงบประมาณมีความสมดุลย์และสร้างการจ้างงาน อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) จะต้องเพิ่มขึ้นอย่างน้อย +2% ปัจจัยที่จะส่งผลกระทบมากที่สุดได้แก่ ตลาดแรงงานที่ตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2551 เป็นต้นมา มีจำนวนคนตกงานแล้ว 540,000 คน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 8.9% ในปี 2554 และจะเริ่มลดลงในปี 2555

4.5 สินค้าที่คาดว่ายังคงมีแนวโน้มที่ดี ได้แก่ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยางพารา เครื่องโทรสาร โทรศัพท์และอุปกรณ์ เหล็กและผลิตภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโรม

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ