ภูมิหลังการค้าโดยชอบธรรมในเม็กซิโก
การค้าโดยชอบธรรม หรือ แฟร์เทรดในประเทศเม็กซิโก มีต้นกำเนิดมาจากการค้ากาแฟ ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจเพื่อการส่งออกสำคัญของเม็กซิโกมาเป็นเวลาร่วม 100 ปี การส่งออกกาแฟของเม็กซิโกมีภาวะที่รุ่งเรืองในช่วงปี ค.ศ. 1970-80 ซึ่งได้มีผลส่งเสริมให้ชาวไร่ชาวนาเพิ่มขยายการผลิตเป็นจำนวนมาก จากน้อยกว่าแสนไร่เป็นสามแสนไร่ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ผู้ผลิตกาแฟในเม็กซิโกโดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชนพื้นเมืองผู้มีรายได้น้อย โดยมักจะมีพื้นที่การเพาะปลูกน้อยกว่า 5 เอเคอร์ต่อราย ภาวะราคากาแฟตกต่ำในช่วงปี ค.ศ.1990-2000 ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้เพาะปลูกกาแฟเหล่านี้อย่างร้ายแรง
เมื่อปี ค.ศ. 1988 องค์กรมูลนิธิเอกชนจากประเทศเนเธอร์แลด์ Max Havelaar Foundation ได้เป็นผู้ริเริ่มการไปซื้อกาแฟจากผู้ผลิตโดยตรง โดยตัดขั้นตอนของนายหน้าและผู้นำเข้าต่าง ๆ และได้สร้างตรายี่ห้อที่ประกาศคุณสมบัติของการให้ความช่วยเหลือ โดยตรงการผู้ผลิตกาแฟที่ยากจน ประเทศเม็กซิโกจึ่งเป็นประเทศที่ได้พัฒนาการค้าสินค้า โดยชอบธรรมที่เก่าแก่ที่สุดประเทศหนึ่ง
การออกใบรับรองสินค้าโดยชอบธรรมในเม็กซิโก
มาตรฐานสินค้าโดยชอบธรรม เป็นมาตรฐานที่กำหนดขึ้นและอนุมัติการใช้ตรา ที่เป็นที่ยอมรับในระดับระหว่างประเทศโดยผู้ทำการรับรองได้แก่ องค์กร Flo-cert ของประเทศเยอรมัน ผู้ผลิตรายย่อย ๆ จะต้องขอการใช้ตรารับรองดังกล่าวโดยการส่งข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตไปขอการรับรองจากประเทศเยอรมันเท่านั้น (ตัวอย่างตรารับรองระดับระหว่างประเทศแสดงข้างล่างด้านซ้าย) ในกรณีของเม็กซิโก ได้มีการรวมตัวกันขององค์กรเอกชนทีสนับสนุนการค้าโดยชอบธรรมและการผลิตไร้สารพิษภายในประเทศเพื่อพัฒนาระบบการรับรองมาตรฐานขึ้นมาเอง โดยใช้ชื่อว่า Comerico Justo (ตัวอย่างตรารับรองที่ออกโดยเม็กซิโกที่ใช้ภายในประเทศ-ด้านขวา)
การส่งเสริมการใช้ตรายี่ห้อของตัวเองภายในประเทศ เป็นการส่งเสริมพัฒนาตลาดสินค้า โดยชอบธรรมภายในประเทศ ผู้บริโภคภายในจึงมีความเข้าใจและความพร้อมใจที่จะสนับสนุนการซื้อสินค้าเหล่านี้มากขึ้น ในปัจจุบัน มีการรณรงค์การขายสินค้าประเภทอื่น นอกจากกาแฟ ดังที่ได้แสดงรายการสินค้าในหน้าเวปขององค์กร Comercio Justo (http://www.comerciojusto.com.mx/) ที่มีการกำหนดมาตรฐานสินค้า รวมทั้งการกำหนดรายการสารต้องห้ามที่สินค้าปลอดสารพิษที่ใช้ตรา Comercio Justo ไม่ควรมี พร้อมทั้งการกำหนดราคาที่ควรประกาศขายสำหรับสินค้าเหล่านี้ อันได้แก่ สินค้าน้ำผึ้งเครื่องเทศ Allspice (Pimenta dioica) Maracuya- passion fruit (มีการขายในหลายรูปแบบ เช่น ผลไม้สด เนื้อที่แกะแล้ว-pulp น้ำผลไม้พร้อมดื่มหรือแบบเข้มข้น ไอศครีม และแยม-marmalade) มะม่วง มะนาว กระเจี๊ยบ งา และใบตะบองเพชร เป็นต้น
เวปไซท์ Comercio Justo มีการแจ้งรายชื่อผู้ผลิตและร้านค้าที่ขายสินค้าที่ได้รับการรับรองตรา Comercio Justo ซึ่งมีแพร่หลายใน 13 รัฐของ 31 รัฐทั้งหมดของเม็กซิโก ได้แก่ รัฐ Baja California, Chiapas, Mexico DF, Guanajuato, Jalisco, Est. de Mexico, Morelos, Nuevo Leon, Oaxaca, Queretaro, Quitana Roo, Yucantan และ Zacatecas เมื่อพิจารณารายชื่อร้านทั้งหมดแล้ว เป็นที่น่าสังเกตว่า ถึงแม้จะร้านค้าที่แพร่กระจายไปหลายจังหวัด แต่ร้านค้าเหล่านี้ ดูจะมีลักษณะเป็นร้านค้าย่อย ๆ การค้าสินค้าแฟร์เทรดไม่ได้มีการขายแบบขายส่งในตลาดสำคัญ ๆ โดยทั่วไป ผู้ที่ทำการค้ามักจะมีความสัมพันธ์พิเศษ และทำการซื้อขายโดยตรงจากผู้ผลิตซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นผู้ผลิตรายย่อยเช่นกัน การค้าสินค้าโดยชอบธรรมจึงเป็นตลาดที่มีข้อจำกัดหลายประการ ถึงแม้ว่าจะได้มีการรณรงค์ในระดับชาติโดยกว้างขวาง
องค์กร Comercio Justo ได้แจกแจงองค์กรที่สนับสนุนการค้าสินค้าแฟร์เทรดในเม็กซิโกว่ามีองค์กรเอกชน 9 องค์กรสำหรับการส่งเสริมการขายกาแฟโดยชอบธรรมในรัฐ Chiapas, Oaxaca และ Puebla สำหรับการขายน้ำผึ้ง มีองค์ส่งเสริม 2 องค์กรจาก Chiapas และ Oaxaca สำหรับงา มีหนึ่งองค์กรที่มีการขายทั้งเมล็ดงา และน้ำมันงา สำหรับมะนาว มีองค์กรสนับสนุน 1 องค์กรในรัฐ Campeche สำหรับมะม่วง มีองค์กรหนึ่ง องค์กรใน Campeche สำหรับผลไม้ passion fruit มีหนึ่งองค์กรในรัฐ Oaxaca
สำหรับสินค้ากาแฟโดยชอบธรรมที่ได้รับการสนับสนุนเป็นยี่ห้อโดยเฉพาะในเม็กซิโก มียี่ห้อที่ได้รับการส่งเสริมได้ แก่ ยี่ห้อ Isman, Fertil, Cafe Directo, Cesmach, Majomut, La Organizacion, Tosepan, Toyol Witz และ Uciri. เป็นที่น่าสังเกตว่า ยี่ห้อเหล่านี้เป็นยี่ห้อที่ไม่ค่อยได้เห็นการขายตามซุปเปอร์มาร์เก็ตทั้งหลาย ทั้ง ๆ ที่เป็นรู้กันว่าร้านซุปเปอร์ เช่น Walmart เองก็สนับสนุนการขายสินค้าแฟร์เทรด แต่คาดว่าจะมีการบรรจุและใช้ตรายี่ห้อแยกแตกออกไป
องค์กร Comercio Justo ได้ประกาศกำหนดราคาขายสำหรับกาแฟแฟร์เทรดไว้ 5 ระดับ ราคาขั้นต่ำที่กำหนดให้ขายสำหรับกาแฟอาราบิกา ได้แก่ 121 เหรียญต่อ quintales (1 กระสอบ ๆ ละ 46 กิโลกรัม) สำหรับกาแฟปกติ 105 เหรียญฯ ต่อคินทัล และสำหรับบดที่ใช้กับเครื่องทำกาแฟสำเร็จรูป กำหนดราคาไว้ที่ 85 เหรียญฯ ต่อคินทัล ราคารดังกล่าว เป็นราคาขึ้นต่ำ ที่มีบวกพรีเมี่ยมสำหรับการรับรองที่ต้องจ่าย 2 ระดับ คือระดับ CJ ปกติ (ประมาณ 10 เหรียญฯ) และระดับ CJ ปลอดสารพิษ (ประมาณ 10-20 เหรียญฯ)
ตลาดของสินค้าแฟร์เทรด และองค์กรที่ส่งเสริมการค้าโดยชอบธรรม
กาแฟที่ขายภายใต้ตราแฟร์เทรดในโลกส่วนใหญ่มาจากประเทศเม็กซิโกและประเทศละตินอเมริกาอื่น ๆ ไม่มีการบันทึกสถิติแบ่งแยกรายว่าปริมาณใดเป็นส่วนที่ขายภายใต้โครงการแฟร์เทรด แต่ได้มีการคาดการณ์ว่า เม็กซิโกมีสัดส่วนการครองตลาดสำหรับกาแฟแฟร์เทรดประมาณร้อยละ 23 โดยร้อยละ 50 ของผลิตมาจากเม็กซิโกและกลุ่มประเทศละตินอเมริกา
ในปี 2552 เม็กซิโกส่งออกกาแฟ (รหัส HS 0901) โดยรวมมูลค่า 378.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 131,574 ตัน กว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนส่งออกทั้งหมดส่งออกไปยังสหรัฐฯ เป็นสำคัญ มูลค่า 243.3 ล้านเหรียญฯ รองลงมาได้แก่ การส่งออกไปยังประเทศเยอรมัน 32.2 ล้านเหรียญฯ เบลเยี่ยม 29.6 ล้านเหรียญ แคนาดา 13.5 ล้านเหรียญ และญีปุ่น 8.4 ล้านเหรียญฯ เป็นต้น
ตลาดผู้นำเข้าสำคัญสำหรับสินค้าแฟร์เทรด และสินค้าปลอดสารพิษ ได้แก่ ประเทศสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น สหรัฐฯ นำเข้ากาแฟปลอดสารพิษในสัดส่วนประมาณร้อยละ 40 ของโลก ประเทศแคนาดา เป็นประเทศที่เริ่มมีแนวโน้มการบริโภคสินค้าแฟร์เทรดที่มีการขยายตัวในอัตราที่สูง ได้ขยายจากการนำเข้ากาแฟแฟร์เทรดปริมาณ 425,000 กิโลในปี 2002 เพิ่มเป็น 5 ล้านกิโลในปี 2008
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าการค้าสินค้าโดยชอบธรรมจะพัฒนาเป็นที่นิยมในตลาดสำคัญ ๆ เหล่านี้แล้ว สัดส่วนของการขายกาแฟโดยชอบธรรมเป็นเพียงร้อยละ 1 ของตลาดการขายกาแฟโดยทั่วไปของโลก ในปี 2009 ยอดขายกาแฟแฟร์เทรดมีมูลค่า 1.75 พ้นล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่ตลาดการขายกาแฟโลกมีมูลค่าประมาณ 70 พันล้านเหรียญฯ และประเทศผู้ผลิตได้รับรายได้จากการค้ากาแฟเพียง 5 พันล้านเหรียญฯ ผู้ขายกาแฟที่ สำคัญได้แก่ บริษัท Nestle และ Kraft ซึ่งเป็นขายกาแฟสำเร็จรูป
องค์การเอกชนที่สนับสนุน: Fair Trade Federation, Fair Trade Resource Network, Fair Trade Net, The Fairtrade Foundation, FLO, International Federation of Alternative Trade, Global Exchange, Max Havelaar Foundation, Tradecraft
ผู้ที่ประสานงานการขายกาแฟแฟร์เทรด: Cafe Campesino, Cafedirect, Coordinadora Estatal de Productores de Cafe de Oaxaca CEPCO, Coffee Contact, Equal Exchange, Equiterre, Fair Trade Organisatie, Global Exchange's Fair Trade Coffee Campaign, Oxfam America's Coffee Campaign, Thanksgiving Coffee Co, TransFair USA, US/Labor Education in the Americas Project
ผู้นำเข้ากาแฟแฟร์เทรดที่สำคัญในสหรัฐฯ: Royal Coffee Green Coffee Importers, Cooperative Coffees, Organic Products Trading Company, Organic Products Trading Company, InterAmerican Commodities, Sustainable Harvest Coffee
แหล่งข้อมูล:
http://www.comerciojusto.com.mx/
http://www.fairtrade.com.mx/
http://www.greennet.or.th/e0000.htm
http://en.wikipedia.org/wiki/Fair_trade
http://www.flo-cert.net/flo-cert/main.php?lg=en
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงเม็กซิโก
ที่มา: http://www.depthai.go.th