จดหมายจากเมืองแขก เรื่องนครวัดมาจากไหน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 11, 2011 11:29 —กรมส่งเสริมการส่งออก

วันนี้พี่จะพาไปเที่ยวชมศิลปะอินเดียใต้ ที่ถือได้ว่าเป็นศิลปร่วมสมัยกับนครวัดของเขมรก็ว่าได้ ปฏิมากรรมที่ว่านั้นคือหมู่วิหาร ๕ ราชรถแห่งวงศ์ปาณพ (Panch Rathas) ซึ่งนครวัดได้รับอิทธิพลจากศิลปะอินเดียใต้เป็นอย่างมาก

วันอาทิตย์ที่ผ่านมา สาวิตรีเพื่อนรักของพี่ชวนไปเที่ยวเมืองมหาบาลีปุรัม เมืองโบราณสมัยอาณาจักรโจละอันรุ่งเรืองของอินเดียใต้ ในช่วงคริสศตวรรษที่ ๙ — ๑๓ เป็นเมืองชายทะเลห่างจากเจนไนไปทางใต้โดยใช้เวลาเดินทางด้วยรถยนต์ประมาณ ๑ ชั่วโมง อาณาจักรนี้เคยรุ่งเรืองมาก โดยได้ยกทัพเรืออันเกรียงไกรบุกยึดตีเมืองแถบภาคใต้ของอินเดียทั้งหมด รวมทั้ง รัฐโอริสสา รัฐพิหาร เบกอล กัลกัตตา ศรีลังกา มัลดีฟ มาเลเซีย ชวา และสุมาตรา ไว้อยู่ภายใต้จักรวรรดิของตนไว้ได้ ในประวัติศาสตร์อินเดียได้กล่าวว่าแม้แต่เขมร และพม่าตอนใต้ก็เป็นเมืองขึ้นของโจละด้วย มิน่าเล่า ปัจจุบันเราจึงได้เห็นร่องรอยสิ่งก่อสร้างคล้ายๆ กับศิลปอินเดียใต้หลายแห่ง เช่น นครวัด นครธม ในเขมร และโบโรบุโด ในประเทศอินโดนีเซีย

กษัตริย์ที่สำคัญของราชวงศ์นี้มี ๒ พระองค์ ได้แก่ กษัตริย์ราชะราชา (ค.ศ. ๙๘๕ —๑๐๑๔) และกษัตริย์ราเชนทร์ (ค.ศ. ๑๐๑๔- ๑๐๔๔) ซึ่งได้มีการสร้างวัดหินเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ราชวงศ์โจละได้ล่มสลายลงในปี ๑๒๑๖ เมื่อถูกอาณาจักร Padyas เข้าโจมตีและครอบครองโจละในที่สุด

ในอันที่จริงเขมรนั้นก็มาจากอินเดียนะ ในหน้าประวัติศาสตร์ เขมรถือกำเนินขึ้นด้วยการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจเล็กๆ ปกครองโดยพระนางหลิวเหย่ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๖ ได้มีกองทัพจากอินเดีย (น่าจะเป็นแถวเจนไนนี่ละ) นำโดยพราหมณ์โกณฑัญญะได้เข้าตีและยึดเขมรไว้ได้ และแต่งงานกับนางหลิวเหย่ ต่อมาก็ได้สถาปนาตนเองเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ฟูนัน

วิหาร ๕ ราชรถแห่งวงศ์ปาณพ (Panch Rathas) สร้างขึ้นโดยกษัตริย์นรสิงห์วรมัน ที่ ๑ แห่งราชวงศ์โจละ ฟังดูค้ายกับชื่อกษัตริย์ชัยวรมันของเขมรไม่น้อย วิหาร ๕ ราชรถนี้ สร้างเป็นที่ระลึกแก่เจ้าชายแห่งวงศ์ปาณพ ๕ พระองค์ อันได้แก่ อรชุน ภีมะ ฝาแฝดนกุล-สหเทพ และยุธิษฐิระ ในมหากาพย์มหาภารตะยุทธ์ น้องคงจำได้ดีถึงเรื่องมหาภารตะซึ่งเป็นการรบระหว่างวงศ์ปาณพและวงศ์เการพที่ทุ่งกุรุเกษตร แขกเขาเก่งเรื่องเล่านิทานอยู่แล้ว เพื่อเชิดชูเกีรติยศแห่งเผ่าพันธุ์อารยันอันสูงส่งที่มาปราบมารที่เป็นคนพื้นเมืองเดิมพวกดาร์วิเดียนนั่นเอง

ความพิเศษของหมู่วิหารนี้ก็คือ วิหารทั้งหมดนี้แกะสลักจากภูเขาลูกเดียวกันทั้งลูกเชียวนะ ต้องยอมรับความอึดของคนแขกที่แกะสลักก้อนหินยักษ์ทั้งแท่งออกมาเป็นวิหาร ๕ หลังได้งดงามราวชะลอวิมาณบนสวรรค์มาไว้บนดินก็ไม่ปาน

วันนี้ส่งรูปมาให้น้องดูเล่นไปพลางๆ ก่อน เพื่อให้เกิดกิเลส ชิมิๆ เมื่อน้องมาเที่ยวงาน Thailand Trade Exhibition ที่เมืองเจนไน ช่วงเดือนสิงหาคมนี้ พี่ค่อยพาไปเที่ยวก็แล้วกัน

วันนี้ขอแค่นี้ก่อนนะจ๊ะ ยังมีวิหารชิวๆ อื่นๆ อีกที่เมืองนี้ แล้วจะเขียนมาเล่าให้ฟังต่อในฉบับหน้า

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ