รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจและภาวะการค้าอิตาลี ระหว่างวันที่ 16-31 ธันวาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 14, 2011 11:22 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. สถานการณ์เศรษฐกิจอิตาลีในช่วง 2 สัปดาห์หลังของเดือนธันวาคม 2553 กระเตื้องขึ้นเล็กน้อย ISAE ได้รายงานผลการสำรวจในเดือนธันวาคม 2553 ว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนธันวาคม 2553 เพิ่มสูงขึ้นเป็นเดือนที่ 4 และสูงสุดนับตั้งแต่กุมภาพันธ์เป็นต้นมาและเกือบจะถึงระดับเดียวกับเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้นจาก 108.5 จุด ในเดือนพฤศจิกายน 2553 เป็น 109 จุด

ทั้งนี้ผลสำรวจความคิดเห็นต่อสภาพเศรษฐกิจโดยทั่วไปเพิ่มขึ้นจาก 80.7 จุด ในเดือนพฤศจิกายน 2553 เป็น 88.2 จุด และการคาดการณ์ต่อภาวะเศรษฐกิจในอนาคตเพิ่มขื้นเล็กน้อยจากเดิม 98.1 จุดเป็น 98.2 จุด ในขณะที่การประเมินสถานะส่วนบุคคลและความคิดเห็นต่อสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันปรากฎว่าได้เพิ่มขึ้นจาก 121.7 จุด และ 115.8 จุด เป็น 121.9 จุด และ 116.3 จุด ตามลำดับ อย่างไรก็ดีดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนธันวาคม 2553 นี้ไม่ได้เพิ่มขึ้นทั่วประเทศ กล่าวคือ เป็นการเพิ่มขึ้นเฉพาะทางตอนตะวันออกเฉียงเหนือและตอนใต้ แต่ลดลงในทางตอนตะวันตกเฉียงเหนือและภาคกลางของประเทศ

2. ISTAT ได้รายงานว่า ผลประกอบการภาคอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม 2553 เพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2553 และ 13.3% เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2552 เนื่องจากมีการขยายตัวด้านการส่งออก แต่คำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรมกลับไม่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2553 แต่เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนเพิ่มขึ้น 12.4%

  • ภาวะเงินเฟ้อ ในเดือนพฤศจิกายน 2553 ยังคงเท่ากับ 1.7 % (เท่าเดิมกับเดือนที่ผ่านมา) ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในดัชนีค่าครองชีพจากเดือนตุลาคม 2553 ทั้งนี้ไม่รวมราคาพลังงานและอาหารสดพบว่า อัตราเงินเฟ้อเท่ากับ 1.5% ซึ่งเป็นอัตราเดียวกับเดือนตุลาคม 2553 ราคาน้ำมันไร้สารตะกั่วเพิ่มขึ้น 1.2% จากเดือนตุลาคม 2553 และเพิ่มขึ้น 6.1% เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา ในขณะที่น้ำมันดีเซลราคาเพิ่มขึ้น
1.7% จากเดือนก่อนหน้าที่และ 10% จากปีที่แล้ว
  • อัตราการว่างงาน ในเดือนตุลาคม 2553 อัตราการว่างงานกระโดดเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 8.4% เป็น 8.7% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 โดยในไตรมาส 3 ของปี 2553 อัตราการว่างงานลดลงจาก 8.4% เป็น 8.3% ซึ่งเป็นการลดลงระยะสั้นหลังจาก 7 ไตรมาสที่ผ่านมา โดยมีจำนวนคนที่อยู่ระหว่างการหางานทำ 2,068 ล้านคน (เพิ่มขึ้นจากในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 3.1%) สำหรับอัตราการว่างงานของคนอายุ 15-24 ปีในไตรมาส 3 ของปี 2553 เพิ่มขึ้นถึง 24.7% โดยส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง 36% ทั้งนี้ 35.2% ของคนว่างงานวัยเด็ก 35.2% อาศัยอยู่ในภาคใต้ 22.1% อยู่ในภาคกลางและ 18 % อยู่ในภาคเหนือ

โดยจากผลการศึกษาของ ISTAT ร่วมกับสถาบันบำนาญแห่งชาติ (the National Pension Institute:INPS) และกระทรวงแรงงานได้รายงานว่า 20% ของคนอิตาเลี่ยนอายุ 15-29 ปีไม่มีงานทำและไม่ได้เรียนหนังสือ โดยเรียกกลุ่มคนดังกล่าวว่า NEET (neither work nor study group) ทั้งนี้ NEET มีสัดส่วน 21.1% ของประชากรในกลุ่มอายุนี้ทั้งหมด (แยกเป็นสัดส่วน 26.3% ของอายุ 25-29 ปีและสัดส่วน 18.3% ของอายุ 15-24 ปี) NEET ส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้ (30.3%) เมื่อเทียบกับภาคกลาง 16.1%) และภาคเหนือ (14.5%)

3. สมาพันธ์อุตสาหกรรมแห่งอิตาลี (Confindustria) ได้รายงานผลการวิจัยเกี่ยวกับเศรษฐกิจอิตาลีว่า ผู้ประกอบการอิตาลีรู้สึกผิดหวังกับสัญญานการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลก ทั้งนี้เห็นว่าอิตาลีมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจช้าและไม่ได้รับการเยียวยาเมื่อเทียบกับเยอรมัน โดยประมาณการว่า GDP ของอิตาลี ว่าจะลดลงจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ +1.2% เป็น +1% ในปี 2553 และจากเดิม +1.3% เป็น +1.1% ในปี 2554

ส่วนแรงงานของอิตาลีจะหดตัวลงอย่างต่อเนื่องในปีหน้า โดยคาดว่าจะลดลง -0.4% ในปี 2554 อัตราการว่างงานมีโอกาสจะถึง 9% ในปี 2554 (ซึ่ง ISTAT รายงานว่าในเดือนพฤศจิกายน 2553 อัตราการว่างงานเท่ากับ 8.6%) โดยทางสหพันธ์ คาดการณ์ว่าจะไม่มีการสร้างงานไปจนถึงปี 2555 ทั้งนี้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2550 - ตุลาคม 2553 อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่ามีจำนวนถึง 2,167,000 คน รายงานยังแจ้งว่า เงื่อนไข ในการให้สินเชื่อมีความยากลำบากขึ้น เนื่องจากการให้เงินกู้ยืมแก่ครอบครัว ธุรกิจและภาครัฐในแคว้นต่างๆ กลายเป็นหนี้สูญซึ่งเป็นผลจากพิษเศรษฐกิจ

4. ยอดขายปลีกในเดือนตุลาคม 2553 เพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2553 ทั้งนี้ยอดขายอาหารเพิ่มขึ้น 0.2% และสินค้าที่ไม่ใช่อาหารเพิ่มขึ้น 0.2% ในขณะที่เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2552 พบว่ายอดขายปลีกลดลง 0.6% โดยสินค้าอาหารลดลง 0.9% และสินค้าที่ไม่ใช่อาหารลดลง 0.4%

5. สมาคมผู้บริโภค Adusbef และ Federconsumati ได้รายงานว่ายอดขายปลีกในช่วงคริสต์มาส ย่ำแย่กว่าที่คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้จากสถิติพบว่า ยอดขายปลีกในช่วงเทศกาลคริสต์มาสมีมูลค่าประมาณ 5 ล้านยูโร (เทียบกับที่คาดการณ์ไว้ที่ 5.5 ล้านยูโร) ทำให้มีการขยายตัวลดลง -12% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ทำให้สมาคมผู้บริโภคอิตาเลี่ยนออกมาเรียกร้องให้มีการจัดเทศกาลลดราคาสินค้าทันทีหลังคริสต์มาส

ทั้งนี้สินค้าที่มียอดขายไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้วคือ เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย 1% ส่วนสินค้าอื่นกลับมียอดขายลดลงได้แก่ เสื้อผ้าและรองเท้า (-14%) เฟอร์นิเจอร์ในบ้านและเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน (-21%) ผลิตภัณฑ์น้ำหอมและเครื่องสำอางค์ (-9%) เครื่องออกกำลังกายและของเด็กเล่น (-2%) และอาหารและไวน์ (-2%)

ในขณะเดียวกันกลุ่มผู้บริโภค Codacons ได้รายงานว่ายอดขายปลีกลดลง -20% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่มีสินค้าที่มียอดขายเพิ่มขึ้นคือ สินค้าไฮเทค (+10%) และสินค้าฟุ่มเฟือย (+5%) ในขณะที่ของเด็กเล่นและอาหารมียอดขายเท่าเดิม ส่วนสินค้าที่มียอดขายลดลงได้แก่ เสื้อผ้า (-20%) เฟอร์นิเจอร์ในบ้าน (-25%) ทั้งนี้ เนื่องจากผู้บริโภคจำเป็นต้องรัดเข็มขัดเพื่อจ่ายค่าใช้จ่ายในบ้านที่สูงขึ้น เช่น ค่าสาธารณูปโภค อัตราดอกเบี้ยจำนองและดอกเบี้ยค่างวดสินค้า โดย Cadacons คาดการณ์ว่าจะมีครัวเรือนอิตาเลี่ยน 50% ที่จะได้เปรียบจากเทศกาลลดราคาสินค้าหลังคริสต์มาส ซึ่งมีค่าใช้จ่ายต่อหัวประมาณ 130 - 150 ยูโร อย่างไรก็ดีคาดการณ์ว่า ยอดขายปลีกในเทศกาลลดราคาจะลดลง 10-20% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

6. มูลนิธิเพื่อการศึกษาและการดำเนินการ (the Foundation for Multiethnic Studies and Initiatives ISMU) ได้ทำการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนคนอพยพในอิตาลีพบว่า มีจำนวนคนอพยพในอิตาลีเพิ่มขึ้นจากปี 2552 จำนวน 5.1 ล้านคนเป็น 5.3 ล้านคนในปี 2553 โดยเมื่อเทียบกันระหว่างส่วนต่างของผู้เดินทางเข้ามาใหม่และผู้ที่เดินทางออกไปจากอิตาลีกลับลดลงคือ 300,000 คนในปี 2553 เมื่อเทียบกับ 400,000 คน ในปี 2552 ทั้งนี้จำนวนผู้อพยพกลับออกไปสูงมากเนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำทำให้ผู้อพยพตัดสินใจออกไปหาทางเลือกอื่น อย่างไรก็ดีสภาพแวดล้อมทางสังคมในอิตาลีไม่ได้ส่งผลต่อผู้อพยพ เนื่องจากอิตาลีไม่ได้เป็นสังคมที่แบ่งแยกเชื้อชาติ การศึกษานี้ยังชี้ให้เห็นว่าเมื่อเทียบกับจำนวนความแตกต่างระหว่างผู้อพยพขาเข้ากับขาออกยังมีจำนวนน้อยกว่าสเปน เนื่องจากสเปนได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจอย่างหนักโดยเฉพาะภาคก่อสร้าง

7. ISTAT รายงานว่า บริษัทในอิตาลี 60% มีหน้าเวปไซด์เป็นของตัวเอง โดยจากผลสำรวจในเดือนมค. 2553 พบว่า บริษัทอิตาเลี่ยน 95.1% ในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการใช้คอมพิวเตอร์และ 93.7% มีการใช้อินเตอร์เน็ต ทั้งนี้ 70% ของบริษัทในภาคอุตสาหกรรม (ไม่รวมก่อสร้าง) มีหน้าเวปไซด์เป็นของตัวเอง โดยมีบริษัทเพิ่มขึ้นถึง 80.7% ในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและคอมพิวเตอร์ บริษัทที่มีเวปไซด์ของตนเองเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับโรงแรมและการท่องเที่ยว 96.8% และ 92.4% ตามลำดับ

8. กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสมาคมสัตวแพทย์แห่งชาติอิตาลี (the Italian National Veterinarians' Association : ANMVI) เปิดตัวบัตรสุขภาพสัตว์เลี้ยงซึ่งเป็นบัตรแบบดิจิตอล โดยบรรจุข้อมูลด้านสุขภาพของสัตว์เลี้ยงและลักษณะการเสียชีวิตของสัตว์จากสาเหตุที่ไม่เป็นธรรมชาติ เพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคสัตว์อันตรายในสัตว์เลี้ยงตามบ้าน โดยเฉพาะสุนัข แมวและกระต่าย นอกจากนี้ยังช่วยให้เจ้าของสามารถติดตามดูแลรักษาสุขภาพสัตว์เลี้ยงได้ดีขึ้นด้วย ค่าใช้จ่าย 28 ยูโรต่อปี ทั้งนี้ข้อมูลสุขภาพของสัตว์เลี้ยงในบัตรยังสามารถนำไปใช้ในกรณีที่ต้องนำสัตว์ไปพบกับสัตว์แพทย์ที่ไม่ใช่เจ้าประจำ และยังมีเบอร์ Toll Free ของเจ้าของในกรณีที่สัตว์หายไป รวมถึงยังช่วยลดจำนวนของสัตว์เลี้ยงที่ถูกนำไปทิ้งอีกด้วย

จากสถิติของสมาคม ANMVI พบว่า ครอบครัวอิตาเลี่ยน 50% มีสัตว์เลี้ยงในบ้าน โดยมีแมวมากที่สุด (7.4 ล้านตัว) ตามด้วยสุนัข (6 ล้านตัว) และกระต่าย นอกจากนี้มีการเลี้ยงสัตว์แปลกๆ ที่เป็นที่นิยม ได้แก่ อีกัวน่า (50,000 ตัว) งู (10,000 ตัว) และสัตว์แปลกอื่นๆ (500,000 ตัว)

9. ตัวชี้วัดเศรษฐกิจอิตาลี ณ 31 ธันวาคม 2553

                                             จำนวน         % เปลี่ยนแปลงเมื่อ         % เปลี่ยนแปลงเมื่อ
                                             (ราย)         เทียบกับเดือนก่อน/         เทียบกับช่วงเดียวกันปี
                                                             ไตรมาสก่อน                   ก่อน
 1. ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (พฤศจิกายน2553)                           +0.6%                    +4.3%
 2. คำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรม (พฤศจิกายน2553)                            +2%                    +2.4%
 3. การบริโภค (ตุลาคม2553)                                       +0.4%                    -1.8%
 4. ภาวะเงินเฟ้อ (ธันวาคม2553)                                    +0.4%                    +1.9%
 5. ยอดขายปลีก (ตุลาคม 2553)                                     +0.3%                    +0.6%
 6. อัตราการจ้างงาน (ไตรมาส 3)                 56.7%             -0.2%                    -1.0%
 (จำนวนคนจ้างงาน)                          (22.8 ล้านคน)
 7.อัตราการว่างงาน (ไตรมาส 3)                   7.6%             -0.1%                    +0.3%
 (จำนวนคนว่างงาน)                          (1.8 ล้านคน)
 8. GDP (ไตรมาส 3ปี 2553)                                       +0.3%                    +1.1%
ที่มา : Confindustria, Confcommercio และ ISTAT

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโรม

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ