ปัญหาการขาดแคลนยารักษาโรคในแคนาดา

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 14, 2011 17:17 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สถานการณ์ยารักษา/ป้องกันโรคปัจจุบันของแคนาดา

จากข้อมูลของ Canadian Pharmacists Association ของแคนาดา ได้รายงานถึงภาวะการขาดแคลนผลิตภัณฑ์ยารักษาหรือป้องกันโรคในแคนาดาซึ่งได้เริ่มมาตั้งแต่สิ้นปี 2552 ทั้งนี้ข้อมูลจากการสัมภาษณ์เภสัชกรจากทั่วประเทศแคนาดา พบว่า เภสัชกรกว่าร้อยละ 94 ประสบปัญหาไม่สามารถจัดหายาบางรายการให้กับผู้ป่วยบางรายได้ เนื่องมาจากภาวะยาขาดแคลนตลาด ซึ่งสถานการณ์นี้ได้สร้างความยากลำบากให้กับแพทย์ เภสัชกรและผู้ป่วยเป็นอย่างมาก และในบางครั้งแพทย์จำเป็นต้องจัดหายา หรือออกใบสั่งยาที่มีคุณภาพการรักษาใกล้เคียงให้กับผู้ป่วยในการรักษาเพื่อทดแทนตัวยาเดิมอีกด้วย

ทั้งนี้ รายงานได้ระบุประเภทยารักษาโรคที่กำลังขาดแคลนนั้นจะเป็นกลุ่มยาประเภทปฏิชีวนะ (Antibiotic), ยาแก้คลื่นไส้ อาเจียน (Anti-nausea) และ ยาที่เกี่ยวกับการรักษาโรคทางหัวใจ เป็นต้น โดยหลายฝ่ายเชื่อว่า ภายในปลายปี 2553 จะมียารักษาโรคกว่า 100 ชนิดนำออกจากชั้นวางจำหน่าย ซึ่งการขาดแคลนผลิตภัณฑ์ยารักษาหรือป้องกันโรคในแคนาดา เนื่องมาจากสาเหตุดังนี้

  • การขาดแคลนวัตถุดิบในอุตสาหกรรมการผลิตยา โดยเฉพาะวัตถุดิบจากประเทศจีนและอินเดีย
  • การขาดแคลนขวด / ภาชนะบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม
  • กฎหมายเรื่องการผลิตยาที่เข้มงวดมากขึ้น ส่งผลให้การผลิตยาบางชนิดล่าช้าลง
  • การออกกฎ ระเบียบด้านราคาของผลิตภัณฑ์ยาในแต่ละมณฑล ที่ลดแรงชักจูงในการผลิตยาบางชนิด
  • จำนวนการเรียกคืนสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Recall)
  • การสัมปทานผูกขาดการผลิตยาบางชนิดของบางบริษัท จะส่งผลอย่างชัดเจนเมื่อประสบปัญหาการผลิต

ตัวเลขการนำเข้าผลิตภัณฑ์ประเภทยารักษาหรือป้องกันโรคในแคนาดา (HS CODE: 3004)

จากข้อมูลสถิติการนำเข้าผลิตภัณฑ์ประเภทยารักษาหรือป้องกันโรคของแคนาดาจากทั่วโลก (HS CODE: 3004) ระหว่างเดือน ม.ค. — ต.ค. 2553 คิดเป็นมูลค่า 7,148.028 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2552 โดยประเทศผู้ส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรครายสำคัญ 10 อันดับแรกมายังแคนาดา ได้แก่

  ลำดับ        ชื่อประเทศ        มูลค่าส่งออก         ส่วนแบ่งตลาด
                           (ล้านเหรียญสหรัฐ)           (ร้อยละ)
    1    สหรัฐอเมริกา              2,140.61            29.95
    2    เยอรมนี                   725.364            10.15
    3    ไอร์แลนด์                  637.188             8.91
    4    สหราชอาณาจักร             606.375             8.48
    5    ฝรั่งเศส                   551.567             7.72
    6    สวิตเซอร์แลนด์              543.86              7.61
    7    สวีเดน                    427.046             5.97
    8    สเปน                     283.872             3.97
    9    อิตาลี                     254.552             3.56
   10    อิสราเอล                  182.566             2.55
   47    ไทย                       0.046               n/a
ข้อมูลจาก : Statistic of Canada

เนื่องจากแคนาดามีกฎระเบียบเรื่องการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคที่เข้มงวดมาก จึงทำให้ประเทศส่งออกนั้นจะเป็นประเทศในแถบภูมิภาคยุโรปเป็นหลัก อย่างไรก็ดีประเทศในภูมิภาคเอเชียได้เริ่มมีการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ได้ตามมาตรฐานสากลซึ่งสามารถส่งออกไปยังแคนาดาได้ รวมทั้งต้นทุนราคาที่ถูกกว่า (โดยเฉพาะประเทศจีน) จากข้อมูลสถิติ ตัวเลขการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคจากประเทศในภูมิภาคเอเชีย เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นตามลำดับ อาทิ ญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 61.51 , อินเดีย เพิ่มขึ้นร้อยละ 93.40 , จีน เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.73

ข้อแนะนำ / เสนอแนะจาก สคร.แวนคูเวอร์

เนื่องด้วยประเทศไทยมีศักยภาพและสามารถผลิตยาประเภท Generic Drugs (ยาประเภท Non Branded) ได้เองในราคาต่ำและคุณภาพได้มาตรฐานสากล ประกอบกับรัฐบาลแคนาดามีการอนุญาตให้ใช้และซื้อขายยาประเภทนี้ได้ แม้ในภาพรวมสินค้าและตลาดประเภทPharmaceutical ในประเทศแคนาดามีรายละเอียดกฎระเบียบค่อนข้างเข้มงวด แต่หากมีการประสานในระดับนโยบายที่เกี่ยวข้องให้มีการสนับสนุนการนำเข้าวัตถุดิบและยาประเภทนี้จากประเทศไทยได้ ก็จะเป็นตลาดสินค้าหนึ่งที่น่าจับตามองของไทย และนับเป็นการสร้างโอกาสให้ผู้ผลิต/ส่งออกไทยที่มีศักยภาพสามารถขยายตลาดในอนาคตได้

ข้อมูลเพิ่มเติม: http://www.cbc.ca/health/story/2010/12/16/drug-shortages.html#ixzz18sl1feeY

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครแวนคูเวอร์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ