ตลาดสินค้าอาหารฮาลาลในแคนาดา

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 18, 2011 14:26 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. โอกาสทางการตลาด

1.1 ขอบเขตและขนาดตลาดสินค้าฮาลาลปัจจุบันสินค้าฮาลาลครอบคลุมธุรกิจหลายประเภท อาทิ อาหาร ยา เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด อาหารเสริม เพลงและดนตรี หนังสือ ศิลปะ การท่องเที่ยว ตลอดจนธุรกิจด้านการเงิน เป็นต้น อย่างไรก็ดี สินค้าอาหารยังนับเป็นตลาดสินค้าฮาลาลที่สำคัญทั้งในแคนาดาและทั่วโลก จากข้อมูลสำรวจ Statistic Canada ล่าสุดปี 2548 มูลค่าตลาดอาหารฮาลาลประเภทเนื้อสัตว์ ในแคนาดา มีมูลค่าประมาณ 214 ล้านเหรียญแคนาดา โดยมูลค่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคสินค้าอาหารฮาลาลเฉลี่ยครัวเรือนละ 1,623 เหรียญแคนาดาต่อปี ชาวมุสลิมจะนิยมบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ทำจากเนื้อสัตว์ เป็นส่วนมาก ซึ่งโดยเฉลี่ยแต่ละครอบครัวชาวมุสลิมจะจับจ่ายซื้อเนื้อสัตว์ ประเภทฮาลาล 31 เหรียญแคนาดาต่อสัปดาห์ (ซึ่งมากกว่าการจับจ่ายของชาวแคนาเดียนทั่วไป 2 เท่า)

1.2 ขนาดประชากรมุสลิมในแคนาดา จากข้อมูล Statistic Canada ปี พ.ศ. 2551 จำนวนประชากรชาวมุสลิมในแคนาดามี ประมาณ 830,000 รายหรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.5 ของประชากรทั่วประเทศ โดยจะอาศัยตามมณฑลเมืองใหญ่ อาทิ มณฑลออนทาริโอ (ร้อยละ 61), มณฑลควิเบค (ร้อยละ 19), มณฑลบริติช โคลัมเบีย (ร้อยละ 10) และมณฑลอัลเบอร์ต้า (ร้อยละ 8) อย่างไรก็ดี แนวโน้มการอพยพย้ายถิ่นของชาวมุสลิมโดยเฉพาะกลุ่มนักเรียน/นักศึกษามายังแคนาดาจะเพิ่มขึ้นมากขึ้น เนื่องมาจากเหตุการณ์ก่อการร้าย 9/11 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จึงสร้างความเข้มงวดต่อการเข้าประเทศสหรัฐอเมริกามากขึ้น จนส่งผลให้ชาวมุสลิมสนใจเดินทางมายังแคนาดาแทน

จำนวนประชากรมุสลิมในประเทศแคนาดาตามภูมิภาค

          ภูมิภาค           ปี 2544 (คน)           ปี 2560 (คาดการณ์) (คน)
 Canada                     579,700                   1,421,400
 Ontario                    356,700                     910,600
 Quebec                     103,900                     247,600
 British Columbia            57,200                     131,100
 Alberta                     49,300                     100,300
 Atlantic Provinces           5,300                      14,500
 Manitoba                     4,900                      12,100
 Saskatchewan                 2,000                       4,700
แหล่งข้อมูล : Statistic Canada

1.3 พฤติกรรมผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย

1.3.1 ปัจจัยในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าจากการสำรวจข้อมูลจากมณฑลอัลเบอร์ต้า ได้รายงานจำนวนการบริโภคเนื้อสัตว์ของชาวมุสลิมในแคนาดาว่า ในแต่ละครัวเรือนจะมีการบริโภคเนื้อสัตว์ 5.6 Serving ต่อวัน หรือมูลค่าการจับจ่ายซื้อเนื้อสัตว์ของชาวมุสลิม 31 เหรียญดอลลาร์แคนาดาต่อสัปดาห์ ซึ่งมากกว่ามูลค่าการจับจ่ายซื้อเนื้อสัตว์ของชาวแคนาเดียนทั่วไปกว่า 2 เท่า โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค คือ

1) ความมั่นใจต่อสินค้าว่าเป็นสินค้าฮาลาลที่ถูกต้อง 100%

2) คุณภาพของสินค้า

3) ราคาสินค้า

1.3.2 ช่องทางจำหน่ายผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ประเภทฮาลาล แม้ว่า ผู้บริโภคจะสามารถหาซื้อเนื้อสัตว์ประเภทฮาลาลได้ตามห้างซุปเปอร์มาร์เก็ต แต่ชาวมุสลิมส่วนใหญ่ยังซื้อเนื้อสัตว์ที่ร้านค้าจำหน่ายเนื้อฮาลาลโดยเฉพาะ เนื่องจากความมั่นใจในผลิตภัณฑ์ว่าเป็นฮาลาล 100% โดยร้านค้าจะตั้งอยู่ในแหล่งชุมชนของชาวมุสลิมเป็นหลัก

อย่างไรก็ดี จากการสัมภาษณ์ผู้บริโภคที่ซื้อเนื้อสัตว์ประเภทฮาลาลที่ห้างซุปเปอร์มาร์เก็ต โดยร้อยละ 74 จะซื้อที่ห้างซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ เช่น IGA, Safeway, Superstore หากผลิตภัณฑ์ มีฉลากติดสินค้าฮาลาล ส่วนร้อยละ 15 จะไม่ซื้อผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ ประเภทฮาลาลจากห้างซุปเปอร์มาร์เก็ต

นอกจากนั้น ผู้บริโภคร้อยละ 34 จะซื้อเนื้อสัตว์ประเภทฮาลาลจากทางอินเตอร์เน็ท หากราคาต่ำกว่าท้องตลาด ส่วนร้อยละ 39 จะไม่ซื้อสินค้าอาหารทางอินเตอร์เน็ท

สรุปช่องทางการจำหน่ายสินค้าฮาลาล (ประเภทเนื้อสัตว์) ในแคนาดา ได้ดังนี้

          ช่องทางการจำหน่าย             สัดส่วน
 ร้านค้าจำหน่ายเนื้อฮาลาลโดยเฉพาะ           85.1
 ห้างซุปเปอร์มาร์เก็ต                       24.7
 ตลาดฟาร์ม/ประมูล                         9.3
 ร้านค้าจำหน่ายสินค้า Kosher                 2.6
 อื่นๆ                                   10.3
แหล่งข้อมูล : Government of Alberta — Agriculture and rural Development

1.3.3 ความถี่ในการซื้อสินค้าอาหารฮาลาลของชาวมุสลิม

สรุปความถี่ในการซื้อสินค้าอาหารฮาลาลของชาวมุสลิมในแคนาดา

          ความถี่ในการจัดซื้อ           สัดส่วน (%)
 ทุกวัน                                 1.5
 2-3 ครั้ง / สัปดาห์                       18
 1 ครั้ง / สัปดาห์                       41.8
 2 ครั้ง / เดือน                        17.5
 1 ครั้ง / เดือน                        12.4
 อื่น ๆ                                 4.1
 ไม่ระบุข้อมูล                            4.6
แหล่งข้อมูล : Government of Alberta — Agriculture and rural Development

1.3.4 ความนิยมในการรับประทานอาหารนอกบ้านเปรียบเทียบกับการทำอาหารทานเองที่บ้าน จากการสำรวจความนิยมในการรับประทานอาหารนอกบ้านของชาวมุสลิมในแคนาดา รายงานว่า ชาวมุสลิมส่วนใหญ่จะรับประทานอาหารนอกบ้านอย่างน้อย 1- 5 ครั้ง โดยเป็นการ รับประทานอาหารมื้อเย็นร้อยละ 69, มื้อกลางวันร้อยละ 51 และมื้อเช้าร้อยละ 16 โดยปัจจัยสำคัญ

การเลือกร้านอาหารนั้น จะคำนึงถึงว่า ร้านอาหารนั้นใช้วัตถุดิบประเภทฮาลาลในการประกอบอาหารหรือไม่

นอกจากนั้น ยังพบว่าประชากรชาวมุสลิมกว่าร้อยละ 74 จะเพิ่มความนิยมในการรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น หากในแต่ละร้านอาหารสามารถใช้วัตถุดิบประเภทฮาลาลในการประกอบอาหารที่หลากหลายมากขึ้น

2. ช่องทางการตลาด/กระจายสินค้า

ช่องทางการจำหน่ายสินค้าอาหารฮาลาล (ประเภทเนื้อสัตว์) ในแคนาดา แบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบหลัก คือ

1. ดำเนินการภายในประเทศ โดยเป็นการเลี้ยงสัตว์ภายในประเทศ หรือมีการนำเข้าสัตว์มีชีวิตจากต่างประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา, เม็กซิโก เป็นต้น แล้วมาดำเนินการแปรรูปภายในประเทศ จากนั้นจึงส่งต่อไปร้านค้าต่างๆ หรือจัดส่งไปธุรกิจด้านอาหารต่างๆ เพื่อการจำหน่ายกับผู้บริโภค รวมทั้งส่งออกจำหน่ายนอกประเทศ

2. ลักษณะการนำเข้า แคนาดานำเข้าสินค้าเนื้อสัตว์ฮาลาลโดยตรง อาทิ จากประเทศสหรัฐอเมริกา, อุรุกวัย, ออสเตรเลีย , นิวซีแลนด์ รวมทั้งประเทศไทยที่ปัจจุบันแคนาดาอนุญาตนำเข้าเฉพาะไก่ปรุงสุกเท่านั้น เป็นต้น จากนั้นจะส่งสินค้าไปยังผู้ค้าส่ง ผู้ค้าปลีกจำหน่ายยังผู้บริโภค

แคนาดานำเข้าอาหารฮาลาลจากหลายประเทศ อย่างไรก็ตาม ประเทศผู้ผลิตที่ได้รับความยอมรับได้แก่ อาเจนติน่า ออสเตรเลีย จีน อินเดีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ สหรัฐฯ ไทย และมาเลเซีย โดยรายชื่อผู้นำเข้าสินค้าอาหารฮาลาล

3. ขั้นตอนในการนำเข้าสินค้าและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

เนื่องจากปัญหาหลักของตลาดอาหารฮาลาลในแคนาดาคือ ผู้ซื้อไม่สามารถแน่ใจได้ 100% ว่าสินค้าใดเป็นอาหารฮาลาลแท้ ดังนั้น หน่วยงานรับรองมาตรฐานฮาลาลจึงออกกฎ ระเบียบเข้มงวดขึ้น การนำเข้าสินค้าอาหารฮาลาลในประเทศแคนาดา ผู้ส่งออกไทยต้องศึกษา และปฏิบัติตาม กฎระเบียบการนำเข้าสินค้าอาหารจาก Canadian Food Inspection Agency (กำกับ ควบคุม ดูแลการนำเข้าสินค้าอาหารทุกชนิด) และ บทบัญญัติศาสนาอิสลาม โดยเฉพาะต้องสอดคล้องความถูกต้องของวิธีการเชือดสัตว์ ดังนี้

  • การบรรจุภัณฑ์ การขนส่ง และการจัดเก็บ ต้องเป็นไปตามมาตรฐานอาหารฮาลาล โดยปราศจากสิ่งต้องห้าม เช่น เลือด สิ่งที่เกี่ยวพันกับเลือด เนื้อหมู หรือสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับสินค้าฮาลาล
  • ด้านการรับรองถึงมาตรฐานการเชือด ทำลายสัตว์ รวมทั้งอุปกรณ์สำหรับการเชือดที่ถูกต้องตามหลักศาสนา
  • ข้อห้ามสำหรับการทรมานสัตว์ คือ ไม่มีการทรมาน หรือทารุณสัตว์ก่อนหรือขณะที่เชือด
  • ข้อห้ามสำหรับเครื่องมือในการเชือดสัตว์
  • ตั้งอยู่บนหลักการพื้นฐานตามหลักชาลีอะฮ์ของระบบการเงินอิสลาม กล่าวคือ ตั้งอยู่บนความยุติธรรมทางสังคม เศรษฐกิจและความเท่าเทียมกัน

3.1 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านอาหารฮาลาล ในปัจจุบัน มีหน่วยงานรับรองมาตรฐานอาหารฮาลาลนับร้อยแห่งทั่วโลก ซึ่งในส่วนของ แคนาดานั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านอาหารฮาลาลที่สำคัญ 3 แห่งได้แก่

3.1.1 Islamic Society of North America (ISNA)

2200 South Sheridan Way, Mississauga, ON L5J 2M4

Tel: 905-403-8406 , 416-626-0001

Fax : 905-403-8409

http://www.isnacanada.com/ E-mail: isna@isnacanada.com

หน้าที่ของหน่วยงาน Islamic Society of North America (ISNA) สรุปได้ดังนี้

  • ตรวจสอบและอนุมัติโรงเชือดสัตว์ เพื่อรับประกันสถานที่ดังกล่าวเป็นแหล่งผลิตเนื้อวัวที่ตรงตามข้อบังคับหลักศาสนบัญญัติอิสลาม
  • คัดเลือก และฝึกฝนสำหรับผู้เชือดสัตว์เพื่อให้ได้เนื้อสัตว์ฮาลาลตามหลักศาสนบัญญัติอิสลาม
  • ตรวจสอบ ควบคุม ดูแลกระบวนการเชือดสัตว์ ในสถานที่ตามหลักศาสนบัญญัติอิสลาม
  • ออกใบรับรองโรงเชือดสัตว์ ซึ่งได้ผ่านการตรวจสอบ ซึ่งเป็นกระบวนการเริ่มต้นของการจัดส่งเนื้อวัวไปยังประเทศมาเลเซีย

3.1.2 Halal Monitoring Authority Canada

1562 Danforth Avenue, P.O. Box 72031,

Toronto Ontario, M4J 1P0, Canada

Telephone: (416) 731-2247 Fax: (416) 981-3247

Website: www.hmacanada.org Email: info@hmacanada.org

3.1.3 Canadian Halal Foods

c/o Muslim Consumer Group for Food Products

P.O. Box 8538

Rolling Meadows, IL 60008

Phone : (847)255-9396 Fax: (847)255-9156

Email address: Canadianhalalfoods@hotmail.com

4. ข้อมูลอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลในแคนาดา

เนื่องจากสินค้าอาหารฮาลาลมิได้มีการจัดเก็บสถิติรวมเป็นการเฉพาะ อย่างไรก็ดี ตัวเลขมูลค่าตลาดสินค้าอาหารฮาลาล (เฉพาะเนื้อสัตว์) ในแคนาดามีประมาณ 214 ล้านเหรียญแคนาดา โดยประมาณการมูลค่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคสินค้าอาหารฮาลาลเฉลี่ยครัวเรือนละ 1,623 เหรียญแคนาดาต่อปี

ประเทศแคนาดามีการผลิตสินค้าฮาลาลค่อนข้างน้อยและอยู่ในประเภทเนื้อสัตว์เท่านั้น จึงนับเป็นโอกาสที่ดีในการขยายตลาดส่งออกสินค้าฮาลาลจากประเทศไทยไปยังแคนาดา อย่างไรก็ดี ภาคการส่งออกของสินค้าอาหารฮาลาลจากแคนาดานั้น รายงานว่า ปี พ.ศ.2549 แคนาดาส่งออก สินค้าอาหารฮาลาลไปยังตลาดสินค้าฮาลาลทั้งสิ้น 19 ประเทศ คิดเป็นมูลค่า 996 ล้านเหรียญแคนาดา (หรือร้อยละ 1.87 ของยอดการส่งออกอาหารทั้งหมด) ซึ่งตลาดส่งออกหลัก คือ อัลจีเรีย บรูไน อียิปต์ อินโดนีเซีย อิหร่าน อิรัก จอร์แดน คูเวต เลบานอน มาเลเซีย โมร็อคโค โอมาน กาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย ซีเรีย ตูนิเนีย ตุรกี และสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรต

4.1 ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเติบโตอาหารฮาลาลในประเทศแคนาดา อย่างไรก็ดี แคนาดายังมีการผลิตสินค้าอาหารฮาลาลน้อยทั้งในด้านปริมาณและความหลากหลาย ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อผู้บริโภคในประเทศ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ประกอบการไทย ในการผลิตอาหารฮาลาลสู่ประเทศแคนาดา โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อการเติบโตอาหารฮาลาลในประเทศแคนาดา มีดังนี้

  • อัตราเพิ่มขึ้นของประชากรมุสลิม ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภครายสำคัญสินค้าอาหารฮาลาล
  • อัตรากำลังซื้อของประชากรมุสลิม ที่ค่อนข้างสูง แม้ว่าจำนวนประชากรมุสลิมจะค่อนข้างต่ำ
  • ความต้องการอาหารที่ปลอดภัย คุณภาพสูงในกลุ่มผู้บริโภคชาวมุสลิม หรือผู้บริโภคทั่วไปที่นิยมสินค้าเกษตรอินทรีย์ (organic)
  • ความต้องการประเภทอาหารฮาลาลที่หลากหลาย (นอกจากสินค้าอาหารประเภทเนื้อสัตว์)
  • ความต้องการอาหารฮาลาลที่ได้มาตรฐานตามข้อบังคับของศาสนาอย่างแท้จริง

4.2 ประเภทสินค้าอาหารฮาลาลต่างๆที่จำหน่ายในแคนาดา

นอกจากสินค้าประเภทเนื้อสัตว์ที่จำหน่ายในแคนาดาแล้วนั้น ผู้บริโภคชาวมุสลิมยังสามารถจัดหาซื้อสินค้าอาหารประเภทอื่นๆ อาทิ ขนมขบเคี้ยว อาหารว่าง ขนมปัง เครื่องดื่มน้ำผลไม้ น้ำมัน อาหารสำหรับเด็กทารก เป็นต้น ในห้างค้าปลีก ซุปเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ

4.3 ประเภทสินค้าฮาลาลอื่น ๆ

นอกจากสินค้าประเภทอาหารฮาลาลที่จำหน่ายในแคนาดาแล้วนั้น ยังมีผลิตภัณฑ์ฮาลาล ประเภทอื่นๆ อาทิ เครื่องสำอาง จำหน่ายแก่ผู้บริโภคทั่วไป โดยรายชื่อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ประเภทฮาลาลที่จำหน่ายในแคนาดา ได้แก่

          Loreal           Maybelline                Revlon
          Almay            Victoria Secret           American Beauty
          Garnier          Nivea                     Body Shop
          Etude            MAC

5. ข้อเสนอแนะ/ความเห็น

5.1 การส่งเสริมการนำเข้าอาหารฮาลาล

ตลาดอาหารฮาลาลในแคนาดานั้นนับว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง แม้ว่าตลาดอาหารฮาลาลในแคนาดาในปัจจุบันมีขนาดที่ไม่ใหญ่นัก อย่างไรก็ตามแคนาดามีประชากรชาวมุสลิมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สินค้าอาหารฮาลาลจึงนับเป็นสินค้าที่ผู้ส่งออกไทยควรให้ความสนใจ ซึ่งแผนงาน/โครงการ ส่งเสริมการส่งออกอาหารฮาลาลควรมุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์ความน่าเชื่อถือของภาคการผลิตและหน่วยงานรับรองอาหารฮาลาลในประเทศไทย ว่าเป็นสินค้าอาหารฮาลาลอย่างแท้จริง ๑๐๐% โดยสำนักงานฯ เห็นว่าสามารถมีส่วนช่วยผลักดันและดำเนินการได้ ดังนี้

  • ส่งเสริมให้ผู้ผลิตไทยยื่นขอใบรับรองอาหารฮาลาลในแคนาดา โดยเน้นการเข้าใจมาตรฐานการรับรองอาหารฮาลาลของแคนาดาอย่างถูกตูอง
  • สร้างความสัมพันธ์ต่อเนื่องกับสมาคม ISNA และ HMA โดยอาจจะเชิญตัวแทนสมาคมฯเยือนไทย เพื่อดูงานภาคการผลิตอาหารฮาลาลของไทย ซึ่งตัวแทนฯนั้นจะมีศักยภาพโน้มน้าวผู้บริโภคชาวมุสลิมในแคนาดาได้
  • ประชาสัมพันธ์ความน่าเชื่อถือและมาตรฐานด้านวัตถุดิบ และกระบวนการผลิตอาหารฮาลาลในประเทศไทย โดยมุ่งเน้นเจาะกลุ่มผู้บริโภค/สมาคม/นิตยสาร/รายการโทรทัศน์ชาวมุสลิม
  • การจัดสัมมนาด้านอาหารฮาลาลในแคนาดา โดยเชิญตัวแทนสมาคมผู้ผลิตอาหารฮาลาลไทย (ซึ่งเป็นชาวมุสลิม) มาเพื่อให้ความรู้ด้านความน่าเชื่อถือของภาคการผลิตของไทย อนึ่ง เป็นการเปิดโอกาสรับฟังข้อมูลความต้องการจากผู้ซื้อ และสมาคมชาวมุสลิมในแคนาดาเพื่อปรังปรุงการผลิตของไทยอีกทางหนึ่ง
  • การส่งเสริมให้ร้านอาหารมุสลิมในแคนาดาที่ได้รับการรับรองมาตรฐานฮาลาล ใช้วัตถุดิบเครื่องปรุงอาหารจากไทย

5.2 โอกาสผู้ส่งออกไทยในธุรกิจอาหารฮาลาลในแคนาดา

  • เนื่องจากชีวิตความเป็นอยู่ของชาวแคนาดาในปัจจุบันมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่พร้อม เช่น ไมโครเวฟและตู้แช่แข็ง ประกอบกับความเร่งรีบกับการทำงาน ทำให้ระยะเวลาการเตรียมอาหารในแต่ละมื้อนั้นลดลง จึงเป็นโอกาสดีสำหรับอาหารฮาลาลประเภทสะดวกรับประทาน (Halal convenience food) ขยายตัวในประเทศแคนาดา
  • ปัจจุบันตลาดอาหารฮาลาลจะเน้นเฉพาะผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเนื้อสัตว์ อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคชาวอิสลามหลายรายกำลังมองสินค้าที่ได้รับการรับรองสินค้าเครื่องหมายฮาลาลในทุกหมวดหมู่อาหารและรูปแบบเครื่องใช้สอยอื่นๆ อาทิ วิตามิน สบู่ น้ำหอม โคโลนน
  • ผู้ประกอบการรายใหม่ที่กำลังเข้าสู่ตลาดสินค้าอาหารฮาลาล น่าจะคำนึงถึงการสร้างสินค้าในรูปแบบใหม่ อาทิ “Halal Plus” กล่าวคือ มองหาสินค้ากลุ่มใหม่ที่ยังไม่มีคู่แข่งขันในท้องตลาด เพื่อตอบสนองความต้องการต่อผู้บริโภคเป้าหมาย
  • เนื่องจากประเทศไทยได้รับการยอมรับด้านการผลิตอาหารที่มีความปลอดภัยและคุณภาพสูงจากนานาชาติ ซึ่งนับเป็นข้อได้เปรียบสำหรับผู้ประกอบการ/ส่งออกไทย ดังนั้นผู้ประกอบการไทยทุกรายควรตระหนักถึงความปลอดภัยและคุณภาพอาหารฮาลาล เพื่อเป็นการรักษาชื่อเสียงภาพลักษณ
สินค้าอาหารไทย
  • ทวีปเอเชียนับเป็นภูมิภาคที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดของโลก ดังนั้นจึงมีคู่แข่งขันด้านการผลิตอาหารฮาลาลที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะประเทศที่เป็น Halal hub (มาเลเซีย ,สิงคโปร์ เป็นต้น) ซึ่งต้องการเป็นผู้นำการผลิตอาหารฮาลาลอีกแห่งหนึ่ง อย่างไรก็ดี ประเทศเหล่านั้นยังขาดแคลนวัตถุดิบจำพวกเกษตรกรรม ดังนั้น ไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีผลผลิตเกษตรกรรมสูงควรส่งเสริม การค้าผลิตภัณฑ์ เกษตรต่อประเทศเหล่านั้นซึ่งอาจเป็นตัวเลือกหนึ่งสำหรับผู้ประกอบการไทย

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครแวนคูเวอร์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ