ข้อมูลเศรษฐกิจประเทศเอล ซัลวาดอร์

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 18, 2011 14:40 —กรมส่งเสริมการส่งออก

El Salvador

ข้อมูลเศรษฐกิจประเทศเอล ซัลวาดอร์

ภาวะเศรษฐกิจโดยทั่วไป

เอลซัลวาดอร์เป็นประเทศที่มีขนาดเล็กที่สุดในกลุ่มประเทศอเมริกากลาง มีพื้นที่ประมาณ 21,041 ตารางกิโลเมตร เกือบเท่ากับขนาดพื้นที่ของประเทศอิสราเอล แต่ขนาดของเศรษฐกิจของเอลซัลวาดอร์มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามในกลุ่มฯ และมีรายได้ต่อหัวในระดับประมาณสองส่วนสามของรายได้ต่อหัวของประเทศคอสตาริกาและปานามา หรือสองเท่าของรายได้ต่อหัวของประเทศนิคารากัว การขยายตัวของเศรษฐกิจเอลซัลวาดอร์ในสองสามปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 3 ต่อปี ในปี ค.ศ. 2009 เศรษฐกิจประเทศเอลซัลวาดอร์ได้หดตัวลงในอัตราร้อยละ 3 และได้มีการคาดว่าเศรษฐกิจปี ค.ศ. 2011 จะมีโอกาสขยายตัวได้ในอัตราระหว่าง 2-3 เปอร์เซ็นต์

รายได้ที่สำคัญของเอลซัลวาดอร์ มาจากจากการรับโอนเงินจากการไปขายแรงงานในต่างประเทศ ซึ่งมีความสำคัญเท่ากับรายได้จากการส่งออกของประเทศ โดยประมาณหนึ่งในสามคนของประชากรในประเทศเอลซาวาดอร์พึ่งพารายได้จากเงินโอนจากญาติๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกา เงินโอนจากต่างประเทศของเอลซัลวาดอร์มีมูลค่าระหว่าง 3-4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นมูลค่าเงินส่งกลับที่สูงกว่ามูลค่าเงินโอนฯ ของประเทศในกลุ่มประเทศอเมริกากลางอื่น ๆ

นอกจากความตกลงเขตการค้าเสรีกับสหรัฐฯ (CAFTA) ซึ่งเอลซัลวาดอร์เป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศอเมริกากลางประเทศแรกที่ได้ให้สัตยาบันสำหรับความตกลงดังกล่าวเมื่อปี ค.ศ.2006 แล้ว เอลซัลวาดอร์ยังมีความตกลงการค้าเสรีกับประเทศเม็กซิโก ชิลี สาธารณรัฐโดมินิกัน และประเทศปานามา อีกทั้งกำลังทำการเจรจาความตกลงการค้าเสรีกับประเทศโคลัมเบีย แคนาดา สหภาพยุโรป และประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ความตกลงเขตการค้าเสรีคาฟต้าได้ส่งเสริมให้เอลซัลวาดอร์เพิ่มการส่งออกสินค้าด้านอาหารแปรรูป น้ำตาล เอธานอล ไปยังประเทศสหรัฐฯ รวมทั้งได้มีการกระตุ้นการลงทุนในภาคการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปในประเทศ

รัฐบาลของเอลซาวาดอร์มีนโยบายแผนงานส่งเสริมการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยจะส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวให้เป็นศูนย์กลางการจำหน่ายสินค้าและโลจิสติกสำหรับภูมิภาคอเมริกากลาง โดยได้มีการเปิดเสรีรับการลงทุนจากภาคเอกชน และจากต่างประเทศ ในภาคการสื่อสาร การบริการสาธารณูปโภคการไฟฟ้า ธุรกิจการเงิน และภาคการกองทุนบำนาญ

การท่องเที่ยวของเอลซัลวาดอร์ได้เติบโตอย่างรวดเร็วในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ในปี ค.ศ.2010 มีสัดส่วนเป็นร้อยละ 4.6 ของรายได้ประชาชาติ และได้มีการขยายตัวในอัตราร้อยละ 4.5 ในปีนั้น ได้มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.97 เป็นจำนวน 1.27 ล้านคนจาก 1.15 ล้านคนในปีก่อน

ข้อมูลเศรษฐกิจพื้นฐาน

เอลซัลวาดอร์มีประชากรประมาณ 7 ล้านคน แรงงาน 2.9 ล้านคน ร้อยละ 19 ทำงานในภาคเกษตร ร้อยละ 23 ในภาคอุตสาหกรรม และร้อยละ 53 ในภาคบริการ

รายได้ประชาชาติรวม (ที่ปรับค่าเงินแล้ว-PPP) สำหรับปี ค.ศ. 2009 มีมูลค่า 42.83 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยได้หดตัวในอัตราร้อยละ 3.5 จากปีก่อน รายได้ต่อหัว 7,100 เหรียญสหรัฐ อัตราการว่างงาน ร้อยละ 7.2 อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 0.6 และมีประชากรที่อยู่ในภาวะยากจนประมาณร้อยละ 30 ของประชากรทั้งหมด

งบประมาณรัฐบาลมีรายรับในปี ค.ศ. 2009 มูลค่า 3.5 พันล้านเหรียญฯ และรายจ่าย 4.8 พันล้านเหรียญฯ หนี้ของภาครัฐมีสัดส่วนร้อยละ 52.3 ของรายได้รวมประชาชาติ มูลค่าของหนี้รวม 10.62 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เงินสำรองระหว่างประเทศมีจำนวน 2.9 พันล้านเหรียญฯ ทั้งนี้ เอลซัลวาดอร์ได้ปรับใช้เงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินสกุลประจำประเทศตั้งแต่ปี ค.ศ. 2001 เป็นต้นมา

ดุลการค้าในปี ค.ศ. 2009 ประเทศขาดดุลการค้าจำนวน 321 ล้านเหรียญ มูลค่าการส่งออกรวมในปี ค.ศ. 2009 มูลค่า 3.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ การนำเข้า 6.7 พันล้านเหรียญฯ ประเทศคู่ค้าที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญได้แก่ ประเทศสหรัฐฯ สัดส่วนความสำคัญทางการค้าร้อยละ 43.9 รองลงมาได้แก่ ประเทศกัวเตมาลา สัดส่วนร้อยละ 13.9 ฮอนดูรัส ร้อยละ 13.2 และประเทศนิคารากัว ร้อยละ 5.7 ส่วนแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ ร้อยละ 29.8 เม็กซิโก ร้อยละ 10.3 กัวเตมาลา ร้อยละ 9.7 จีน ร้อยละ 4.5 และฮอนดูรัส ร้อยละ 4.4

สินค้าส่งออกหลักของประเทศ ได้แก่ กาแฟ น้ำตาล สิ่งทอ สำหรับสินค้านำเข้าหลักได้แก่ เคมีภัณฑ์ อาหารแปรรูป เครื่องจักร และปิโตรเลียม

เงินลงทุนจากต่างประเทศในปี ค.ศ. 2009 มูลค่ารวม 7.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ มีการลงทุนในต่างประเทศมูลค่า 333 พันล้านเหรียญฯ อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 13

ท่าเรือที่สำคัญของเอลซัลวาดอร์ ได้แก่ ท่าเรือ Acajutla และท่า Puerto Cutuco ซึ่งเป็นท่าเรือฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก โดยประเทศไม่มีทางออกในทางฝั่งมหาสมุทรแอ็ทแลนติก

การเมืองและประวัติศาสตร์

ประเทศเอลซัลวาดอร์ได้รับเอกราชจากประเทศสเปนเมื่อปี ค.ศ. 1821 ประธานาธิบดีคนปัจจุบันที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 2009 ได้แก่ นาย Mauricio FUNES Cartagena มีวาระการดำรงตำแหน่งเทอมละ 5 ปี พรรคการเมืองที่สำคัญ ได้แก่ พรรค FMLN ที่มีสมาชิกสภาจำนวน 35 คน และพรรค ARENA สมาชิกสภา 32 คน โดยรัฐสภามีจำนวนผู้แทนที่นั่งรวม 84 ที่นั่ง มีการเลือกสมาชิกรัฐสภาใหม่ทุกๆ 3 ปี

เอลซัลวาดอร์ประสบกับปัญหาด้านความมั่งคงทางการเมืองเป็นระยะเวลานานมาก โดยได้มีสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อเป็นเวลา 12 ปี ระหว่างปี ค.ศ. 1980-1992 เป็นการสู้รบระหว่างอำนาจฝ่ายขวาที่เป็นรัฐบาลมาแต่ดั้งเดิมซึ่งได้รับเงินช่วยเหลือจากประเทศสหรัฐฯ กับตัวแทนกลุ่มฝ่ายซ้ายต่าง ๆ ซึ่งต่อมาได้รวมตัวกันเป็นพรรค FMLN สงครามกลางเมืองดังกล่าวได้ยุติลงโดยความตกลงยุติสงครามระหว่างสองฝ่าย ที่มีการลงนามยุติสงครามในวิหาร Chapultapec ในกรุงเม็กซิโก ประเทศเม็กซิโก

การค้าระหว่างเอลซาวาดอร์กับประเทศไทย

ในปี ค.ศ. 2009 ประเทศไทยกับเอลซาวาดอร์มีมูลค่าการค้ารวมจำนวน 19.16 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นการการส่งออกจากไทยไปยังประเทศเอลซัลวาดอร์จำนวน 14.86 ล้านเหรียญฯ ลดลงจาก ปี 2008 ในอัตราร้อยละ 68.33 และเป็นการนำเข้ามูลค่า 4.3 ล้านเหรียญฯ ลดลงจากปี 2008 ในอัตราร้อยละ 36.33 โดยปี ค.ศ. 2009 ถือเป็นปีที่ประเทศทั่วโลกประสบปัญหาจากวิกฤติการทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกับประเทศสหรัฐฯ ซึ่งประเทศส่วนใหญ่มีความผูกพันทางด้านการค้ากับประเทศสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงประเทศเอลซาวาดอร์อยู่ด้วย

สำหรับปี 2010 (สถิติถึงเดือน พฤศจิกายน 2553) การค้าระหว่างสองประเทศมีมูลค่า 36.59 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อัตราขยายตัวร้อยละ 115.23 การส่งออกของไทยมูลค่า 35.14 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อัตราขยายตัวร้อยละ 176.11 และการนำเข้าจากเอลซาวาดอร์มูลค่า 1.44 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อัตราลดลงร้อยละ 66.24

สินค้าที่ประเทศไทยส่งออกไปยังเอลซัลวาดอร์ได้แก่ รถยนต์และชิ้นส่วนอุปกรณ์ฯ (ซึ่งเป็นสินค้าหลัก มีการขยายตัวร้อยละ 283.98 มูลค่า 20.14 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเป็นอัตราส่วนสินค้าหลักในอัตราร้อยละ 57.32 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย) สินค้าอื่นๆ ได้แก่ สินค้าเหล็กและเหล็กกล้า อัตราการขยายตัวสูงมากจากมูลค่าเพียง 16,000 เหรียญ ในปี 2009 เป็นจำนวน 4.98 ล้านเหรียญฯ ในปี 2010) สินค้าผลิตภัณฑ์ยางพารา สิ่งทอ รองเท้า ด้านและเส้นใย ผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องซักผ้า ผลิตภัณฑ์ด้านกีฬาและเกม สำหรับสินค้าที่ประเทศไทยนำเข้าจากเอลซัลวาดอร์ได้แก่ อาหารทะเล เครื่องจักรที่ใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้า กาแฟ ชา และเครื่องเทศ หม้อแปลงไฟ ไดโอด เซมิคอนดักเตอร์ แผลวงจนไฟฟ้า เสื้อผ้าและสิ่งทอ

สำหรับเป้าหมายการส่งออกของไทยมายังประเทศเอลซาวาดอร์ นั้น คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้จามเป้าหมายในภูมิภาคอเมริกากลางและใต้ในอัตราร้อยละ 20

กิจกรรมที่ผ่านมาของภาคเอกชนทั้งสองฝ่าย

ฝ่ายไทย : บริษัทบิทไว็ส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตส่งออกเครื่องปรับอากาศได้ไปเยือนลูกค้าสำคัญในเมือง San Salvador เมื่อปลายปี ค.ศ. 2010

ฝ่ายเอลซาวาดอร์ : สำนักงานฯ ได้เชิญบริษัทผู้นำเข้าสินค้าของขวัญของชำร่วยและเฟอร์นิเจอร์เป็นแขกพิเศษ (ได้ออกค่าใช้จ่ายเป็นที่พักให้แก่ผู้นำเข้า) คือบริษัท Armida S.A. De C.V. website: http://www.porticoreal.com.sv (รายละเอียดบริษัทฯ ตามหมายเหตุ) เดินทางไปเจรจาการค้าในงานแสดงสินค้าของขวัญของชำร่วย BIG & BIH ในปี 2007 และงานแสดงสิค้าเฟอร์นิเจอร์ฯ TIFF 2010 นประเทศ ซึ่งผลจากการเดินทางไปงานฯ BIG ในปี 2007 นั้น บริษัทได้มีการสั่งซื้อสินค้าจำนวน 2ตู้คอนเทนเนอร์ สำหรับกลุ่มธุรกิจของประเทศเอลซาวาดอร์ สามารถดูได้จาก directory ดังนี้ http://www.coexport.com/hello.shtml

ข่าวล่าสุดเกี่ยวกับเศรษฐกิจการค้าประเทศเอลซาวาดอร์

รัฐบาลใหม่ของประเทศเอลซัลวาดอร์มีแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจหลายแผนงานที่เน้นการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ในนามกองทุนเพื่อศตวรรษใหม่ (Fomilenio) โดยในขั้นแรกจะมีการพิจารณาออกกฏหมายใหม่เพื่อกำหนดให้รัฐบาลสามารถร่วมทุนกับภาคเอกชนในลักษณะ Public Private Partnership โดยโครงการแรกที่จะได้รับการพัฒนาในรูปแบบดังกล่าว ได้แก่ การพัฒนาท่าเรือ La Union ซึ่งจะทดแทนท่าเรือ Acajutla และจะมีความสามารถรับสินค้าได้เป็นสองเท่าของท่าเรือเก่า ทั้งนี้ รัฐบาลเอลซัลวาดอร์กำลังแสวงหาผู้ร่วมทุนเพื่อการบริหารท่าเรือใหม่ดังกล่าว

นอกจากนี้แล้ว โครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ที่รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณให้แล้ว และล้วนแต่ต้องการร่วมลงทุนจากภาคเอกชน หรือจากต่างประเทศ ได้แก่โครงการสาธารณูปโภค การผลิตไฟฟ้า การประปา และการขยายเส้นทางเดินรถและการขนส่ง ในปีงบประมาณ 2011 ได้มีการจัดสรรงบประมาณจำนวน 79 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อการยกระดับการบริหารบริการน้ำประปา โดยได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนร่วมมือการพัฒนาของประเทศสเปน (AECI) ในเดือนมิถุนายนปี ค.ศ. 2011 จะมีการเปิดประมูลเพื่อรับการออกแบบโครงการบริหารสาธารณูปโภคสำหรับเขตเมืองหลวงในกรุงซานซัลวาดอร์ โดยโครงการดังกล่าวจะได้รับเงินช่วยเหลือจากธนาคาร Inter-American Development Bank นอกจากนี้แล้ว กองทุนเพื่อการรักษาถนน (Fovial) จะทำการลงทุนเพื่อปรับปรุงถนนเส้นทางรวมทั้งสิ้น 6,544 กิโลเมตร

แหล่งข่าวอ้างอิง

          http://www.allbusiness.com/caribbean/3910684-1.html Do Business in El Salvador        http://en.centralamericadata.com/en/article/government/El_Salvador_Prepares_a_PublicPrivate_Partnership_Law
http://en.centralamericadata.com/en/article/business_commerce/El_Salvador__47_Million_in_Road_Infrastructure
http://en.centralamericadata.com/en/article/business_commerce/_79_Million_for_Water_Management_in_El_Salvador
http://en.wikipedia.org/wiki/Electricity_sector_in_El_Salvador
บริษัท Armida S.A. de C.V. Address : 93 Ave Nte #631 Colonia Escalon, San Salvador, El Savador: Tel : *503 2264 0581 Fax: +503 2264 0583
E-mail: ccarbone@armida.com.sv Website: http://www.porticoreal.com.sv

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงเม็กซิโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ