วิสัยทัศน์และแนวทางการไปสู่ความเป็นศูนย์กลางของเซี่ยงไฮ้

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 18, 2011 15:20 —กรมส่งเสริมการส่งออก

เซี่ยงไฮ้ ... จากปารีสสู่นิวยอร์คแห่งตะวันออก

ปัจจุบัน นครเซี่ยงไฮ้มีประชากรกว่า 20 ล้านคนและนับเป็นเมืองที่มีชาวต่างชาติอาศัยมากที่สุดของจีน เซี่ยงไฮ้มีขนาดเพียง 5,800 ตารางกิโลเมตร ใหญ่กว่ากรุงเทพฯ เล็กน้อย แต่มีขนาดเศรษฐกิจเกือบเท่าไทยทั้งประเทศ และ ณ สิ้นปี 2552 เศรษฐกิจของเซี่ยงไฮ้ที่เติบโตร้อยละ 8.2 ก็ได้ก้าวแซงของฮ่องกงไปด้วยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศมูลค่าสูงถึง 218,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

นอกจากการเติบใหญ่ด้านเศรษฐกิจแล้ว นครเซี่ยงไฮ้ยังได้ผสมผสานเอาวัฒนธรรมตะวันออก (ของจีน) ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและกลิ่นอายความเป็นตะวันตกยุคใหม่เข้าไว้ด้วยกันจนสุดบรรยาย กอรปกับความเจริญด้านโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก ทำให้นครเซี่ยงไฮ้สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศได้กว่า 80 ล้านคน-ครั้งในแต่ละปี และตั้งเป้าที่จะขึ้นทาบชั้นฝรั่งเศส แหล่งท่องเที่ยวอันดับ 1 ของโลกภายใน 5 ข้างหน้า

ประการสำคัญ ในไม่กี่ปีข้างหน้า มหานครแห่งนี้ดูเหมือนจะยิ่งใหญ่กว่าสมญานามว่า “ปารีสตะวันออก” (Oriental Paris) ที่เล่าขานกันเสียอีก เพราะปัจจุบันเซี่ยงไฮ้ได้พัฒนาเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนอันดับที่ 1 ของจีน และยังได้กำหนดวิสัยทัศน์ที่จะพัฒนาเป็นศูนย์กลางในหลายด้าน ได้แก่ ศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจ การเงิน การค้า และการขนส่ง ตลอดจนให้เป็นมหานครที่ทันสมัยในปี 2563 โดยได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะสั้น ตามที่ระบุในแผนการพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี ฉบับที่ 11 (2549-2553) โดยมีเป้าหมายหลัก คือ การปูพื้นฐานในการไปสู่ศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจ การเงิน การค้า และการขนส่ง อันจะทวีกำลังและนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของจีน ภายใต้แนวคิด “3+1”

1. ศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศ

ตามแผนการพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 11 คาดการณ์ว่า ในปี 2553 การจัดสรรเงินทุนโดยตรง (Direct Financing) ของเซี่ยงไฮ้จะมีเงินทุนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25 ของมูลค่าของตลาดทุนโดยรวมของจีน ทั้งนี้ ตลาดเงินทุนโดยตรงในที่นี้รวมไปถึงหุ้น พันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกู้ของเอกชน และคาดว่าภายในปี 2553 ตลาดการเงินเซี่ยงไฮ้จะมีมูลค่าการซื้อขายถึง 80 ล้านล้านหยวน

ในส่วนของสินทรัพย์ของสถาบันการเงินในเซี่ยงไฮ้จะมีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10 ของสินทรัพย์สถาบันการเงินรวมทั้งประเทศ และจะยังคงรักษาความเป็นผู้นำทางด้านสภาพปัจจัยแวดล้อมทางการเงินในระดับแนวหน้าของประเทศ และจะค่อย ๆ พัฒนาไปสู่ระดับนานาประเทศมากขึ้น โดยคาดว่า ภายในปี 2553 นครเซี่ยงไฮ้จะสามารถพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางการเงินสำคัญในภูมิภาคเอเซียและแปซิฟิก ในการนี้ แผนการพัฒนาเศรษฐกิจฯ ยังได้กำหนดแนวทางในการพัฒนาธุรกิจการเงินด้วยมาตรการ ดังนี้

1.1 เร่งเสริมสร้างระบบตลาดการเงินให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ในปลายปี 2553 นี้ คาดว่ามูลค่าการซื้อขายในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรา (Currency Market) เซี่ยงไฮ้จะมีมูลค่าถึง 40 ล้านล้านหยวน และจะเป็นศูนย์รวมธุรกิจการเงินระดับประเทศ โดยตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้มีมูลค่าการซื้อขายถึง 7 ล้านล้านหยวน และจะเป็นหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ที่สำคัญของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในส่วนของตลาดซื้อขายล่วงหน้าเซี่ยงไฮ้นั้น ถือได้ว่าเป็นตลาดซื้อขายล่วงหน้าที่มีอิทธิพลสูงในการกำหนดราคาสินค้าติดอันดับ 10 ของโลกเลยทีเดียว และตลาดทองคำก็กำลังพัฒนาขึ้นเป็นตลาดที่มีอิทธิพลต่อตลาดการเงินของโลกมากที่สุดอีกตลาดหนึ่ง รวมทั้งตลาดสินทรัพย์ก็จะพัฒนากลายมาเป็นตลาดการค้าขายสินทรัพย์ในระดับประเทศอีกด้วย

นครเซี่ยงไฮ้ได้อาศัยความที่เป็นตลาดการเงินที่สมบูรณ์เป็นตัวเบิกทางในการพัฒนาผลิตผลทางการเงิน ขยายตลาดให้ใหญ่ขึ้น ยกระดับให้เป็นตลาดการเงินระดับนานาชาติ ส่งเสริมให้เป็นศูนย์รวมทางการเงิน และขยายขีดความสามารถให้กว้างขวางออกไป ขณะเดียวกัน เซี่ยงไฮ้จะถือโอกาสจากการปฏิรูประบบภาษีและระบบการแลกเปลี่ยนเงินตราเป็นกลไกในการผลักดันไปสู่เป้าหมายที่กำหนด โดยถือเอาความเป็นตลาดการเงินที่สมบูรณ์เป็นตัวกระตุ้นและสนับสนุนให้มีพื้นฐานในด้านการตลาดเชิงประสิทธิภาพที่สูงขึ้น

1.2 เร่งจัดตั้งระบบโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ส่งเสริมให้เป็นตลาดที่มีศักยภาพครอบคลุมในหลากหลายมิติ ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ดังกล่าว นครเซี่ยงไฮ้จะเน้นการดึงดูดและการฝึกอบรมทางธุรกิจการเงินเป็นแกนสำคัญ เสริมสร้างระบบการเงินที่มีความหลากหลาย และให้มีการพัฒนาไปในทิศทางเดียวกันกับของสถาบันการเงินของนานาประเทศ พัฒนาธุรกิจอื่นที่สามารถให้บริการธุรกิจการเงิน รักษาความเป็นผู้นำของประเทศในด้านคุณภาพ และผลกำไรของสถาบันการเงิน รักษาเสถียรภาพและส่งเสริมให้นครเซี่ยงไฮ้เป็นศูนย์กลางและเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่/สำนักงานภูมิภาคของสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ นครเซี่ยงไฮ้ยังจะเร่งพัฒนาธุรกิจบัตรเครดิตของจีน ทั้งนี้ ในปี 2553 คาดว่าสถาบันการเงินและธนาคารของเซี่ยงไฮ้จะมียอดเงินฝากสุทธิ ถึง 4.5 ล้านล้านหยวน และยอดเงินกู้ยืมถึง 3.2 ล้านล้านหยวน

1.3 ปรับปรุงเงื่อนไขพื้นฐานของการดำเนินธุรกิจทางการเงิน

สภาพปัจจัยแวดล้อมด้านธุรกิจการเงินถือเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อประสิทธิภาพและคุณภาพในการดำเนินการทางด้านธุรกิจทางการเงิน และถือเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศของนครเซี่ยงไฮ้ ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปีฯ ดังกล่าว นครเซี่ยงไฮ้กำหนดจะเสริมสร้างการให้บริการด้านสาธารณูปโภคของรัฐบาล พยายามผลักดันให้มีการพัฒนาระบบโครงสร้างใหม่ สนับสนุนการปรับปรุงสภาพปัจจัยแวดล้อมด้านกฎหมาย โครงสร้างความมั่นคงทางการเงิน และระบบความน่าเชื่อถือในสังคม สนับสนุนให้เป็นศูนย์รวมด้านบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญทางการเงิน ควบคุมพฤติกรรมทางการเงินของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้นครเซี่ยงไฮ้สามารถรักษาระดับความเป็นผู้นำทางด้านสภาพปัจจัยแวดล้อมทางการเงินของประเทศต่อไป

ขณะเดียวกัน ก็จะให้ความสำคัญและผลักดันให้นครเซี่ยงไฮ้เป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารด้านการเงิน เน้นการพัฒนาระบบธนาคารผ่าน การซื้อขายหุ้น และการบริการประกันภัยผ่านทางอินเตอร์เน็ต เพิ่มสมรรถนะในการบริการทางอินเตอร์เน็ตและปรับปรุงสภาพปัจจัยแวดล้อมในเรื่องของความสะดวกคล่องตัวในการใช้บัตรในการจับจ่ายใช้สอย เพื่อขยายลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 70 เพิ่มสัดส่วนการจับจ่ายใช้สอยโดยผ่านการใช้บัตรเป็นร้อยละ 40 ของการบริโภคปลีกทั้งหมด

1.4 ปรับปรุงและเสริมสร้างศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศ

รัฐบาลนครเซี่ยงไฮ้ตระหนักดีว่า การพัฒนานครเซี่ยงไฮ้ให้เป็นศูนย์กลางการเงินจะต้องใช้กำลังความสามารถของทุกภาคส่วนในการผลักดัน ต้องประสานงานอย่างใกล้ชิดและขอคำแนะนำจากสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานที่กำกับควบคุมดูแลการเงินของรัฐบาลจีนอย่างต่อเนื่อง ในการประชุมของคณะผู้แทนราษฎรแห่งนครเซี่ยงไฮ้ ครั้งที่ 13 เมื่อต้นปี 2552 นายหาน เจิ้ง (Han Zheng) นายกเทศมนตรีมหานครเซี่ยงไฮ้ได้กล่าวถึง สภาวะเศรษฐกิจของเซี่ยงไฮ้ในปี 2552 ว่าจะมีภาวะฝืดเคืองมากกว่าของปีที่ผ่านมา แต่ก็แฝงไว้ด้วยโอกาสอันดีอีกปีหนึ่งสำหรับการเผชิญหน้ากับเศรษฐกิจที่ซบเซา นอกจากนี้ นายกเทศมนตรีฯ ผู้พิสมัยการท่องอินเตอร์เน็ต ยังเน้นย้ำว่า ในฐานะที่เป็นยุทธศาสตร์ของประเทศที่ต้องการสร้างนครเซี่ยงไฮ้เป็นศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศ รัฐบาลเซี่ยงไฮ้จึงทุ่มเททรัพยากรที่มีอยู่เพื่อโครงการนี้อย่างจริงจัง โดยในปี 2551 นครเซี่ยงไฮ้ได้ผลักดันให้ความเป็นศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศพัฒนาเดินหน้าไปจนเห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน และจะสานต่อและผลักดันการสร้างศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศอย่างเต็มที่ต่อไปในอนาคต อาทิ

  • ในบทบาทเชิงรุก ได้ร่วมมือกับสถาบันการจัดการการเงินของประเทศให้โครงการพัฒนาศูนย์กลางการเงินเป็นแกนสำคัญ อาศัยความความได้เปรียบด้านสภาพปัจจัยแวดล้อมทางการเงิน และกระตุ้นให้มีการพัฒนาธุรกิจทางการเงิน
  • ขยายขนาดของตลาด ปรับปรุงโครงสร้างการตลาดให้สมบูรณ์ และผลักดันให้เป็นตลาดเปิดสู่นานาชาติ เพิ่มศักยภาพให้เป็นตลาดการเงินที่ครอบคลุมทุกประเภท
  • ผลักดันให้มีการสร้างสรรค์ผลิตผลทางการเงินในทุกรูปแบบ และเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับการบริการให้สูงขึ้น
  • รวบรวมทรัพยากรแหล่งเงินทุนทางการเงิน มุ่งเน้นด้านการดึงดูดเงินทุนจากต่างประเทศ การลงทุนในตลาดหุ้น ความเสี่ยงในการลงทุน และการบริหารจัดการด้านสินทรัพย์
  • เสริมสร้างเสถียรภาพของสถาบันการเงิน เพื่อเตรียมพร้อมให้สามารถรองรับระดับความเสี่ยงด้านการเงินในแต่ละประเภทที่คาดว่าจะสูงขึ้นในอนาคต

ในปัจจุบัน นครเซี่ยงไฮ้อยู่ระหว่างการเร่งรัดการร่างข้อกำหนดในผลักดันการสร้างศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศ เพื่อที่จะกำหนดกลยุทธ์และลู่ทางการสร้างศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศให้ชัดเจนต่อไปในอนาคต

2. ศูนย์กลางการค้าระหว่างประเทศ

ภายหลังจากการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก รัฐบาลจีนได้ทยอยเปิดเสรีทางการค้าอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งในระดับประเทศและมณฑล และระบบการค้าระหว่างประเทศของนครเซี่ยงไฮ้ดูเหมือนจะได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็วในระดับที่สูงกว่าของประเทศเสียอีก ไม่ว่าในมิติปริมาณ คุณภาพ และระบบการบริหารจัดการ การดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปีดังกล่าวนับเป็นช่วงเวลาที่สำคัญในการสร้างรากฐานเพื่อนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ การเงิน การค้า และการขนส่งของนครเซี่ยงไฮ้

ทั้งนี้ นครเซี่ยงไฮ้ได้ตั้งเป้าหมายการค้าในช่วงเวลาดังกล่าวไว้ดังนี้

  • สินค้าทั่วไป

ในปี 2553 การนำเข้าและส่งออกสินค้าผ่านท่าเรือเซี่ยงไฮ้จะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 550,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเฉลี่ยในอัตราประมาณร้อยละ 10 ต่อปี โดยในจำนวนนี้เป็นมูลค่าการนำเข้าและส่งออกของนครเซี่ยงไฮ้อย่างน้อย 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อปีเช่นกัน และคาดว่าจะก้าวเป็นอันดับ 1 ของโลกในระยะเวลาอันใกล้

  • ธุรกิจบริการ

ในปี 2553 การนำเข้าและส่งออกธุรกิจบริการจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเฉลี่ยในอัตราร้อยละ 25 ต่อปี

  • การรับเหมาโครงการในต่างประเทศและความร่วมมือด้านแรงงาน

ในระหว่างปี 2549-2553 การรับเหมาโครงการในต่างประเทศและความร่วมมือด้านแรงงานกำหนดว่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเฉลี่ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี

  • การลงทุนในต่างประเทศ

ในระหว่างปี 2549-2553 การลงทุนในต่างประเทศของนครเซี่ยงไฮ้จะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 3,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเฉลี่ยในอัตราร้อยละ 30 ต่อปี

ในการนี้ รัฐบาลนครเซี่ยงไฮ้ได้กำหนดแนวทางและมาตรการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศในแผนการพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปีฉบับที่ 11 ไว้ดังนี้

2.1 ยกระดับTechnical Content สำหรับสินค้าส่งออก

1) เพิ่มสัดส่วนการส่งออกสำหรับสินค้าเทคโนโลยีชั้นสูงรุ่นใหม่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะสินค้า Microelectronic เครื่องอุปกรณ์สมัยใหม่ ยานยนต์ เหล็กกล้า เรือ อุตสาหกรรมเคมีหนัก อุปกรณ์ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

2) ให้ความสำคัญกับการพัฒนาตราสินค้าส่งออกที่มีคุณภาพดี ผ่านการดำเนินโครงการ “Shanghai Brand” และขยายการส่งออกสินค้าที่มีตราสินค้าของนครเซี่ยงไฮ้

3) สนับสนุนการวิจัยเทคโนโลยีสำคัญของสินค้าส่งออกที่มีเทคโนโลยีชั้นสูงรุ่นใหม่และพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญาของสินค้าส่งออก

2.2 เสริมสร้างการรับเหมาโครงการและพัฒนา Service Outsourcing

1) ยกระดับคุณภาพของ Service Outsourcing โดยพัฒนาเขตใหม่ผู่ตง (Pudong) ให้เป็นพื้นที่สาธิต (Demonstration Area) ของ Service Outsourcing และมุ่งเน้นการพัฒนา Service Outsourcing ประเภทเทคโนโลยีสารสนเทศ การวิจัยและพัฒนา การออกแบบ ลอจิสติกส์ และการเงิน ขณะเดียวกันก็ดึงดูดให้กิจการบริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศชั้นนำเข้ามาลงทุนในนครเซี่ยงไฮ้ ควบคู่ไปกับการเร่งก่อสร้าง Shanghai International IT Service Outsourcing Base และพยายามสร้าง Pudong Software Park ให้เป็นแหล่งส่งออกซอฟท์แวร์ และศูนย์กลาง Service Outsourcing ชั้นนำของจีน

2) พัฒนานโยบายและศักยภาพการลงทุนด้าน Service Outsourcing ให้สมบูรณ์แบบ สนับสนุนกิจการต่างชาติประเภท IT Outsourcing (ITO) และ Business Process Outsourcing (BPO) เข้ามาลงทุนในนครเซี่ยงไฮ้ ร่วมมือกับกิจการ Outsourcing ต่างชาติขนาดใหญ่ในการรับเหมางาน ติดตามแนวโน้มการพัฒนาของ Service Outsourcing ของโลก และเร่งกำหนดนโยบายในการสนับสนุน Service Outsourcing

2.3 เร่งรัดการพัฒนาธุรกิจบริการ

1) ส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจบริการสำคัญให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยเร่งปรับปรุงธุรกิจลอจิสติกส์ การเงิน การให้คำปรึกษาทางธุรกิจ และเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเป็นธุรกิจบริการที่มีศักยภาพและมิติทางด้านเทคโนโลยีสูง

2) ยกระดับคุณภาพของงานแสดงสินค้า พยายามจัดงาน Shanghai International Industry Fair, Shanghai International Sourcing Fair และ East China Fairให้ประสบความสำเร็จ ร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ โดยเฉพาะในตลาดใหม่ เช่น ซาอุดิอาระเบีย และอินโดนีเซีย และดึงดูดให้กิจการจัดงานแสดงสินค้า (Fair Organizer) ที่มีคุณภาพเข้ามาจัดงานแสดงสินค้าในนครเซี่ยงไฮ้มากขึ้น

3) ส่งเสริมข้อตกลง CEPA ให้มีผลเป็นรูปธรรม ขยายความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจกับฮ่องกงและมาเก๊าให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ชักจูงกิจการของฮ่องกงและมาเก๊าเข้ามาลงทุนในนครเซี่ยงไฮ้ และดึงดูดบุคลากรดีเด่นเข้ามาทำงานในนครเซี่ยงไฮ้ให้มากขึ้น ศึกษาประสบการณ์ด้านธุรกิจบริการของฮ่องกง พัฒนาธุรกิจการเงิน ประกันภัย การขนส่ง ลอจิสติกส์ เร่งส่งเสริมธุรกิจการขนส่ง การก่อสร้าง วัฒนธรรม และกีฬาให้ออกสู่ภายนอก

2.4 ส่งเสริมการนำเข้าและส่งออกของท่าเรือเซี่ยงไฮ้

1) ขยายพื้นที่หลังท่า (Hinterland) ของท่าเรือเซี่ยงไฮ้ โดยเสริมสร้างบทบาทของท่าเรือเซี่ยงไฮ้ออกไปยังสามเหลี่ยมปากแม่น้ำฉางเจียง (แยงซีเกียง) และพื้นที่สำคัญที่แม่น้ำฉางเจียงไหลผ่าน

2) พัฒนาการส่งออกกลับ (Re-export) โดยใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบของท่าเรือน้ำลึกหยางซาน (Yang Shan Deep Sea Port) ในความเป็นศูนย์กลางการขนถ่ายสินค้าในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงเหนือ สร้างนครเซี่ยงไฮ้ให้เป็นศูนย์กลาง Sourcing และศูนย์กระจายสินค้าของบริษัทข้ามชาติในจีน

3) พัฒนาบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (Trading Company) ชั้นนำ ขยายการนำเข้าและส่งออกของกิจการต่างชาติอย่างต่อเนื่อง ปรับโครงสร้างของรัฐวิสาหกิจให้มีบริษัทการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น โดยกำหนดเป้าหมาย ณ ปี 2553 ให้มีบริษัทที่มีมูลค่าการค้ามากกว่า 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จำนวน 6 ราย และมากกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จำนวน 25 ราย

2.5 ส่งเสริมการค้าในอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม

1) ดึงดูดการลงทุนในศูนย์วิจัยและพัฒนา (R & D Center) ของกิจการต่างประเทศเข้ามาในนครเซี่ยงไฮ้

2) ผลักดันและสร้างแบบจำลองห่วงโซ่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง (High-Tech Industry Chain Model) ให้สมบูรณ์แบบ

3) ปรับโครงสร้างการค้าจากสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น (Labor Intensive) เป็นที่ใช้เทคโนโลยีเข้มข้น (Technology Intensive)

2.6 ผลักดันการสร้างฐานการส่งออก (Export Base)

1) ยกระดับเขตการผลิตเพื่อการส่งออก (Export Processing Zone: EPZ) โดยเน้นพัฒนา EPZ จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ เขต Minghang, Jinqiao, Caohejin, Qingpu, Songjiang และ Jiading และขณะเดียวกันก็พัฒนา EPZ ดังกล่าวให้มีนโยบายและบทบาทที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน

2) ผลักดันการสร้างศูนย์ส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนอุปกรณ์ยานยนต์แห่งชาติในเขตเจียติ้ง (Jiading National Automobile & Auto Parts Export Base) และศูนย์ส่งออกอุตสาหกรรมยาในเขตจางเจียง (Zhangjiang Bio-pharmaceutical Industry Export Base)

3) เสริมสร้างการก่อสร้างเขตปลอดภาษีและนิคมอุตสาหกรรม

2.7 ใช้ประโยชน์จากสินค้านำเข้าอย่างเต็มที่

1) ใช้ประโยชน์จากสินค้านำเข้าอย่างเต็มที่ โดยเน้นการนำเข้าสินค้าที่สามารถใช้ประโยชน์ในการยกระดับคุณภาพของเครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับอุตสาหกรรมหลัก

2) ปรับโครงสร้างสินค้านำเข้า โดยส่งเสริมการนำเข้าสินค้าที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร การพัฒนาเทคโนโลยี และการยกระดับคุณภาพชีวิต รวมทั้งเน้นการนำเข้าทรัพยากรที่ขาดแคลน เช่น น้ำมันปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ ไม้ดิบ และโลหะ เป็นต้น ตลอดจนการขยายการนำเข้าเทคโนโลยีที่ทันสมัยและทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อเสริมสร้างพื้นฐานการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

2.8 รักษาความหลากหลายของตลาด

1) พัฒนาตลาดเก่าในเชิงลึก โดยรักษาแนวโน้มการค้าอันดีของตลาดเก่า เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และฮ่องกง พัฒนาศักยภาพของตลาดดังกล่าว ให้คำแนะนำแก่บริษัทจีนในเรื่องการเข้าสู่ตลาด (Market Entry) ของตลาดดังกล่าว และมาตรการกีดกันทางการค้า ตลอดจนพัฒนามูลค่าเพิ่มของสินค้าส่งออก

2) พัฒนาตลาดใหม่ โดยเน้นตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออก เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ อเมริกาใต้ และแอฟริกา สร้างฐานข้อมูลการค้าสำหรับตลาดใหม่ ติดตามและให้ข้อมูลการค้าแก่บริษัท สนับสนุนผู้ประกอบการเซี่ยงไฮ้ออกไปร่วมงานแสดงสินค้าและเจรจาธุรกิจในตลาดดังกล่าว สนับสนุนด้านการเงิน และจัด Shanghai Exhibition ในตลาดดังกล่าวที่มีศักยภาพ

2.9 ยกระดับการออกสู่ภายนอก

1) พัฒนากิจการข้ามชาติของจีน โดยสนับสนุนบริษัทที่มีศักยภาพออกไปลงทุนในต่างประเทศ

2) ผลักดันโครงการสำคัญอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นโครงการด้านพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ถ่านหิน ไม้ โลหะ แร่ธาตุ ซึ่งเป็นโครงการประเภททรัพยากรที่นครเซี่ยงไฮ้ขาดแคลนอย่างมาก

3) พัฒนาการค้าที่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มในต่างประเทศ โดยแสวงหานิคมอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในต่างประเทศ สนับสนุนผู้ประกอบการที่มีศักยภาพไปพัฒนาธุรกิจในประเทศที่กำลังพัฒนา แสวงหาสถานที่ที่เหมาะสมเพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมของธุรกิจเซี่ยงไฮ้ในต่างประเทศ

4) เพิ่มระดับคุณภาพการรับเหมาโครงการต่าง ๆ และการส่งออกแรงงาน สนับสนุนการจัดตั้งกิจการร่วมทุนด้านการออกแบบและก่อสร้างในนครเซี่ยงไฮ้ สนับสนุนบริษัทเซี่ยงไฮ้จัดตั้งบริษัทรับเหมาโครงการหรือการออกแบบก่อสร้างในต่างประเทศ

2.10 เสริมสร้างการค้าที่ยุติธรรม (Fair Trade)

1) สร้างระบบเตือนภัยทางการค้าระหว่างประเทศ ติดตามสถานการณ์การนำเข้าและส่งออกตลอดเวลา เพิ่มขีดความสามารถในการแก้ไขปัญหาการค้าที่เกิดขึ้นอย่างฉุกเฉิน

2) ศึกษาวิธีการป้องกันและพัฒนาระบบการค้าตามหลักเกณฑ์สากล

2.11 สร้างความสะดวกให้กับการค้าระหว่างประเทศ

1) เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินพิธีการศุลกากร เพิ่มระดับเทคโนโลยีสารสนเทศในการดำเนินพิธีการศุลกากรสินค้าระหว่างประเทศ และพัฒนาบริการแบบ One-stop Service ให้สะดวก ปลอดภัยและประสิทธิภาพมากขึ้น

2) ผลักดันพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) ให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เสริมสร้างการพัฒนาและการใช้ประโยชน์ของ Public Business Information Resource ผลักดัน Information Sharing และพัฒนา E-International Business เพื่อลดต้นทุนทางการค้า

2.12 พัฒนาระบบบริการการค้าให้สมบูรณ์แบบ

1) พัฒนานโยบายส่งเสริมการค้าให้สมบูรณ์แบบ สนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ของบริษัทที่จะขยายตลาดในต่างประเทศด้วยนโยบายอันเหมาะสมโดยปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก และสนับสนุนบริษัทในจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาและการรับรองมาตรฐานต่าง ๆ

2) สร้างระบบบริหารการค้าระหว่างประเทศสมัยใหม่ เสริมสร้างบทบาทของหน่วยงานที่ดูแลด้านการค้าระหว่างประเทศ ไม่ว่าเป็นการให้บริการหรือการประสานงาน เสริมสร้างบทบาทของสมาคมของธุรกิจต่าง ๆ ในด้านการให้คำปรึกษาและการบริการ และส่งเสริมธุรกิจต่าง ๆ มีการพัฒนาในเชิงบวกอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ

3. ศูนย์กลางการขนส่งระหว่างประเทศ

เมื่อเดือนธันวาคม 2538 คณะรัฐมนตรีจีนได้ประกาศให้สร้างนครเซี่ยงไฮ้เป็นศูนย์กลางการขนส่งระหว่างประเทศ (International Transport Center) เพื่อที่จะพัฒนาเขตผู่ตงให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของเอเชีย และพัฒนาเศรษฐกิจในลุ่มแม่น้ำฉางเจียง (แยงซีเกียง) และต่อมา ในการประชุมระดับผู้นำของนครเซี่ยงไฮ้ มณฑลเจ๋อเจียง และมณฑลเจียงซูเมื่อเดือนมกราคม 2539 ที่ประชุมได้เห็นชอบร่วมกันที่จะดำเนินโครงการสร้างนครเซี่ยงไฮ้ให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งระหว่างประเทศ โดยมีท่าเรือนครเซี่ยงไฮ้เป็นท่าเรือหลัก และใช้ท่าเรือในมณฑลเจ้อเจียง และมณฑลเจียงซูเป็นท่าเรือรอง

ในปี 2551 ท่าเรือเซี่ยงไฮ้ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนก่อสร้างท่าเรืองน้ำลึกหยางซาน จนมีปริมาณการขนถ่ายสินค้าผ่านท่ารวมทั้งสิ้นกว่า 50,000 ล้านตัน ติดอันดับหนึ่งของโลกติดต่อกันเป็นปีที่ 3 มีปริมาณขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ถึง 28.5 ล้านตู้คอนเทนเนอร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 20 ท่าเรือเซี่ยงไฮ้ได้ก้าวขึ้นมาเป็นท่าเรือที่มีปริมาณขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์มากอันดับที่ 2 ของโลก รองจากสิงคโปร์ และมีการติดต่อเชื่อมโยงกับท่าเรือกว่า 500 ท่าเรือในกว่า 200 ประเทศ รวมทั้งได้ดึงดูดบริษัทเดินเรือทั้งในและต่างประเทศมากกว่า 65 บริษัทมาดำเนินกิจการในท่าเรือนี้ โดยในแต่ละเดือน มีการเดินเรือเฉลี่ยประมาณ 2,200 เที่ยว ในจำนวนนั้นเป็นเที่ยวเรือจากต่างประเทศกว่า 1,110 เที่ยวพัฒนาการของการสร้างศูนย์กลางการขนส่งระหว่างประเทศของเซี่ยงไฮ้ในตลอดระยะเวลา 13 ปีที่ผ่านมา สรุปได้ดังนี้

3.1 ศูนย์กลางขนส่งระหว่างประเทศที่มีท่าเรือน้ำลึกหยางซานเป็นสัญลักษณ์ได้รับการพัฒนาในทางที่ดี

ภายหลังจากการก่อสร้างและเปิดใช้งานท่าเรือน้ำลึกหยางซานในระยะที่ 1 และ 2 เมื่อต้นปี 2550 โครงการระยะที่ 3 ก็ได้เปิดทดลองใช้บริการ ส่งผลให้ท่าเรือดังกล่าวมีท่าเทียบเรือเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 16 ท่า สามารถรองรับการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ได้ถึงปีละ 28 ล้านตู้คอนเทนเนอร์

ขณะเดียวกันท่าเรือไว่เกาเฉียว (Wai Gao Qiao) ซึ่งเป็นท่าเรือที่รองรับเรือในภูมิภาคใกล้เคียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเซีย ก็ได้รับการปรับปรุงถึง 5 ระยะ และเสร็จเรียบร้อยแล้วในระยะเดียวกัน โดยมีท่าเทียบเรือขนาดใหญ่จำนวน 16 ท่าและขนาดเล็ก 4 ท่า สามารถรองรับตู้คอนเทนเนอร์ได้ปีละ 15 ล้านตู้คอนเทนเนอร์

3.2 เสริมสร้างปัจจัยพื้นฐานด้านการขนส่ง (Shipping Elements)

เมื่อปลายปี 2550 นครเซี่ยงไฮ้มีบริษัทเดินเรือระหว่างประเทศและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องเปิดให้บริการรวมทั้งหมด 958 ราย ในจำนวนนี้ เป็นบริษัทเดินเรือระหว่างประเทศจำนวน 40 ราย ตัวแทนบริษัทสายการเดินเรือระหว่างประเทศจำนวน 111 ราย บริษัทให้บริหารจัดการด้านการขนส่งระหว่างประเทศ (International Shipping Management Company) จำนวน 57 ราย ผู้รับขนส่งที่ไม่มีเรือเป็นของตนเอง (NVOCC) จำนวน 750 บริษัท นอกจากนี้ ยังมีบริษัทต่างชาติที่จดทะเบียนด้านธุรกิจดังกล่าวในนครเซี่ยงไฮ้อีกจำนวน 295 บริษัท

ปัจจุบัน บริษัทเรือรายใหญ่ 50 อันดับแรกของโลกได้เปิดให้บริการในนครเซี่ยงไฮ้ สถาบันจัดชั้นเรือ (Classification Society) 8 อันดับแรกของโลกได้จัดตั้งสำนักงานตัวแทนในนครเซี่ยงไฮ้ Shanghai Shipping Exchange ได้ยืนยันในฐานะการเป็นศูนย์กลางวิจัยนโยบายขนส่งทางเรือของจีนและเป็นศูนย์กลางเผยแพร่ข้อมูลขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ และได้พัฒนาเป็นศูนย์ซื้อขายเรือมือ 2 ระดับประเทศอีกด้วย คณะกรรมการอนุญาโตตุลาการพาณิชยนาวีของจีน (China Maritime Arbitration Commission) ก็ได้จัดตั้งศูนย์อนุญาโตตุลาการพาณิชยนาวีระดับภูมิภาคในนครเซี่ยงไฮ้ (ซึ่งมีเพียงแห่งเดียวเท่านั้นในจีน)

3.3 การเปิดเสรีของท่าเรือได้รับพัฒนาระบบแบบก้าวกระโดด

เมื่อเดือนธันวาคม 2548 เขตปลอดภาษีท่าเรือหยางซานซึ่งเป็นเขตควบคุมพิเศษของศุลกากรที่มีลักษณะความเป็นการค้าเสรีแห่งแรกของจีนได้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นเขตปลอดภาษีแบบครบวงจรที่มีทั้งท่าเรือ เขตลอจิสติกส์ และ EPZ

3.4 เริ่มก่อสร้างระบบ E-port และผลักดันระบบ EDI ที่เชื่อมโยงระหว่างท่าเรือ ศุลกากร กับหน่วยงานการค้าระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง

ปัจจุบันนี้ สมาชิกระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Data Interchange: EDI) มีจำนวนกว่า 900 ราย ขณะที่ระบบ E-B/L ได้ครอบคลุมถึงท่าเรือขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ทุกท่าและตัวแทนบริษัทสายการเดินเรือระหว่างประเทศ และเอกสารจำนวน 41 ประเภทที่ใช้ประกอบการขนส่งและพิธีการศุลกากรมีการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ จากเอกสารทั้งสิ้นจำนวน 58 ประเภท

3.5 ปริมาณการขนถ่ายสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในปี 2551 ท่าเรือเซี่ยงไฮ้มีปริมาณขนถ่ายสินค้าคอนเทนเนอร์สูงถึง 28.5 ล้านตู้คอนเทนเนอร์ อยู่ในอันดับที่ 2 ของโลก และมีปริมาณขนถ่ายสินค้าสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก ซึ่งจัดได้ว่าเป็น 1 ในท่าเรือที่มีปริมาณการขนถ่ายสินค้ามากที่สุดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

ทั้งนี้ นครเซี่ยงไฮ้ได้วางแผนในปี 2553 ให้กำหนดฐานะของนครเซี่ยงไฮ้ในการที่เป็นศูนย์กลางขนส่งระหว่างประเทศ และในปี 2563 ให้สร้างศูนย์กลางขนส่งระหว่างประเทศเต็มรูปแบบ โดยมีกำหนดแนวทางในการพัฒนาการไปสู่ศูนย์กลางขนส่งด้วยมาตรการ ดังต่อไปนี้

  • เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของท่าเรือ โดยมีท่าเรือน้ำลึกหยางซานเป็นตัวหลัก สร้างสรรระบบความแข่งขันและความร่วมมือระหว่างท่าเรือกับท่าเรือให้สมบูรณ์แบบ ผลักดันการต่อเรือ พัฒนาระบบการคมนาคมเชื่อมโยงหลังท่าเข้ากับท่าเรือระหว่างประเทศ โดยเฉพาะรถไฟและการขนส่งทางน้ำภายในประเทศ (Inland Water-Way Transportation)
  • ใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบในด้านนโยบายท่าเรือปลอดภาษี เร่งการปรับปรุงนโยบายท่าเรือ
  • รวบรวมปัจจัยการขนส่ง (Shipping Elements) เสริมสร้างระบบภาคบริการขนส่งที่ทันสมัยและเป็นสากล ทั้งนี้ โดยคำนึงเสมอว่า ปัจจัยปริมาณการขนถ่ายสินค้ามิใช่ตัวบ่งชี้ถึงศักยภาพทางการแข่งขันของท่าเรือในระดับสากลเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงการเงิน การค้า กฎหมาย สถาบันที่ปรึกษา และนโยบายต่าง ๆ ตลอดจนบริการขนส่งและที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ซึ่งในปัจจุบัน จีนถือเป็นประเทศที่มีความต้องการปัจจัยดังกล่าวมากที่สุดในโลก แต่บริการด้านการเงินเพื่อการขนส่ง (International Shipping Financing) ของบริษัทขนส่งรายใหญ่เกือบทั้งหมดดำเนินการผ่านกรุงลอนดอน นครนิวยอร์ก เมืองฮัมบวร์ก สิงคโปร์ และฮ่องกง นครเซี่ยงไฮ้จึงจำเป็นที่จะต้องเร่งรวบรวมและพัฒนาปัจจัยการขนส่ง และพัฒนาระบบบริการให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น
  • มุ่งเน้นการพัฒนาระบบลอจิสติกส์แบบสมัยใหม่ โดยปัจจุบันพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำฉางเจียงและเขตใจกลางเมืองสำคัญที่แม่น้ำฉางเจียงไหลผ่านมีปริมาณการขนถ่ายสินค้าออกผ่านทางท่าเรือเซี่ยงไฮ้ คิดเป็นประมาณ 2 ใน 3 ของปริมาณการขนถ่ายสินค้าทั้งหมดของท่าเรือเซี่ยงไฮ้ พื้นที่ดังกล่าวถือว่าเป็นแหล่งสินค้าสำคัญในโครงการศูนย์กลางการขนส่งระหว่างประเทศ

ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงเส้นทางเดิมของระบบการขนถ่ายสินค้าทางน้ำ โดยเร่งสร้างระบบเส้นทางการขนส่งทางน้ำของพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำฉางเจียงและเมืองสำคัญที่แม่น้ำฉางเจียงไหลผ่าน เร่งสร้างพื้นฐานระบบการคมนาคมขนส่งให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันยังได้ตระหนักถึงความสำคัญในการส่งเสริมการประหยัดพลังงาน ลดการปล่อยมลพิษ แก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกิดจากการพัฒนาท่าเรือ ระบบการคมนาคมที่เกิดผลกระทบในด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม และพยายามสร้างให้เป็น “ท่าเรือสีเขียว” (Green Port) เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม

  • เร่งพัฒนาศักยภาพบุคลากรของศูนย์กลางการขนส่งระหว่างประเทศ โดยส่งเสริมและฝึกอบรมบุคลากรให้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเลือกใช้นโยบายให้สอดคล้องและเหมาะสมเพื่อให้บุคลากรมีประสิทธิภาพสูงสุด
  • เสริมสร้างขีดความสามารถของท่าเรือเซี่ยงไฮ้ให้มีมาตรฐานระดับสากล ทั้งในด้านกฎหมาย และข้อมูลข่าวสาร

บทสรุป

ผมขอเรียนว่า ความสำเร็จในการผลักดันให้นครเซี่ยงไฮ้เป็นศูนย์กลางในด้านต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรมเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะความพร้อมด้านการเงิน การกำหนดวิสัยทัศน์และเป้าหมายที่ชัดเจน การจัดสรรทรัพยากรที่เหมาะสม ระบบการจัดการที่สนับสนุนการเรียนรู้และการส่งผ่านข้อมูลระหว่างกันและจากต่างประเทศ และการดำเนินงานและกำกับควบคุมกิจกรรม/โครงการที่สอดรับ เป็นระบบ และต่อเนื่อง อันส่งผลให้นครเซี่ยงไฮ้ได้รับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดจนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าของฮ่องกงในปัจจุบัน

ผมเชื่อว่าหลายท่านอ่านถึงตรงนี้แล้ว ก็อาจรู้สึกเหมือนกับผมว่า สิ่งที่รัฐบาลเซี่ยงไฮ้กำหนดแนวทางการพัฒนาไว้นั้น ไม่ยากเกินกว่าที่คนไทยจะคิดได้ แต่ที่ผมเห็นว่ายากมากก็คือ การดำเนินงานตามแผนงาน/โครงการเพื่อให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ที่วางไว้นั่นเอง ... เพราะจากการการศึกษาและติดตามของผมพบว่า ประชาชนและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องล้วนเชื่อมั่นในการนำพาของรัฐบาลจีน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจีนจึงพร้อมเดินหน้าดำเนินแผนงาน/โครงการที่กำหนดไว้อย่างจริงจัง การล่าช้ากว่าแผนงานไม่มีให้เห็น มีแต่เสร็จเร็วกว่ากำหนดแทบทั้งสิ้น ทีมงานที่เกี่ยวข้องล้วนใช้โอกาสที่ได้รับในการแสดงฝีมือของตนและสร้างผลงานเพื่อความผาสุขของประชาชนและความเจริญของประเทศอย่างแท้จริง รวมทั้งยังเป็นโอกาสให้ทีมงานก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นและรับผิดชอบโครงการที่ใหญ่ขึ้นในอนาคต

เราจะเป็นอะไรก็ได้ที่อยากจะเป็น หากเราร่วมแรงร่วมใจกัน ...

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ