โครงการยุทธศาสตร์ระดับชาติเพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นกลับมาเติบโตในศตวรรษที่ 21

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 18, 2011 16:59 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ในขณะที่หลายประเทศกำลังจับตามองยักษ์ใหญ่อย่างจีนซึ่งกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นของเศรษฐกิจและกลายเป็นมหาอำนาจที่สำคัญในเศรษฐกิจโลก มหาอำนาจอย่างญี่ปุ่นกลับมองเห็นอนาคตที่ไม่สดใสและรู้สึกถึงการเข้าสู่ช่วงขาลงของอำนาจทางเศรษฐกิจของตนในโลก ตรงกันข้ามกับจีน ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่นขาดปัจจัยสนับสนุนให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเมื่อประเทศเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อัตราการเกิดและประชากรในวัยทำงานมีจำนวนลดลงในขณะที่ประชากรผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องรับภาระจ่ายเงินบำนาญให้กับผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 1 ล้านล้านเยน โดยคาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า จำนวนประชากรที่มีงานทำของญี่ปุ่นจะลดลงเหลือ 61 ล้านคน ในขณะที่จำนวนประชากรที่ไม่มีงานทำจะเพิ่มขึ้นเป็น 45 ล้านคน (ในจำนวนนี้ 40 ล้านคนเป็นผู้สูงอายุและสตรี โดยที่เหลือเป็นกลุ่มผู้ตกงาน) หรือมีสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากร ทั้งประเทศ ปัญหาด้านเศรษฐกิจจึงเป็นสิ่งที่ท้าทายรัฐบาลญี่ปุ่นอย่างมาก เพื่อแก้ไขปัญหาที่ประสพในปัจจุบันรัฐบาลญี่ปุ่นได้วางยุทธศาสตร์ระดับชาติเพื่อฟื้นฟูให้เศรษฐกิจกลับมาเติบโต และใช้ชื่อว่า “New Growth Strategy” (ยุทธศาสตร์เพื่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจรูปแบบใหม่) โดยตั้งเป้าหมายในภาพรวมให้ภายในปี 2020 ญี่ปุ่น

บรรลุผลทางด้านเศรษฐกิจและการจ้างงานดังนี้

1. ทำให้ญี่ปุ่นมี nominal growth และ real growth สูงกว่า 3 เปอร์เซ็นต์ และ 2 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ จากเดิมที่มีอัตราเติบโตเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ในทศวรรษที่ผ่านมา

2. ให้ consumer prices กลับมาเพิ่มขึ้นในปี 2011 จากที่ไม่มีการเติบโตใน 20 ปีที่ผ่านมา

3. ลดอัตราการว่างงานจาก 5 เปอร์เซ็นต์ เหลือเพียง 3-4 เปอร์เซ็นต์โดยเร็วที่สุด

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์เพื่อการเติบโตรูปแบบใหม่ ญี่ปุ่นจะมุ่งเน้นให้ความสำคัญใน 7 สาขายุทธศาสตร์ ได้แก่

ตอบสนองอุปสงค์ในปัจจุบันและในอนาคต

1. นวัตกรรมสีเขียว (Green Innovation)

2. Life Innovation

3. เอเชีย

4. การท่องเที่ยวและการพลิกฟื้นท้องถิ่น

ส่งเสริมการพัฒนาเพื่อรองรับ Globalization

5. วิทยาศาตร์ เทคโนโลยี และสารสนเทศ

6. การจ้างงานและทรัพยากรบุคคล

7. การเงิน

โดยแบ่งเป็นโครงการต่างๆ ในแต่ละสาขา รวมทั้งสิ้น 21 โครงการยุทธศาสตร์ระดับชาติ ดังนี้

การกระตุ้นการเติบโตโดยใช้นโยบายด้าน อุปสงค์

1. สาขานวัตกรรมสีเขียว “Green Innovation”

1) โครงการเร่งขยายปริมาณพลังงาน

ที่นำกลับมาใช้ได้ (renewable energy) ปัจจุบันการซื้อ renewable energy ในญี่ปุ่นยังจำกัดเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ที่ครัวเรือนและเอกชนผลิตได้และเหลือจากการใช้งานเท่านั้น

เป้าหมายภายในปี 2020

ขยายตลาดที่เกี่ยวข้องกับ renewable energy เป็น 10 ล้านล้านเยน

มาตรการหลัก

1. นำระบบ fixed price มาใช้ในการซื้อ renewable energy ซึ่งรวมถึงพลังงานอื่นๆ นอกจากพลังงานแสงอาทิตย์ด้วย เช่น พลังงานลม, น้ำ, ความร้อน, Biomass และให้รองรับการซื้อ renewable energy ที่ผลิตขึ้นเพื่อการค้าด้วย

2. พัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภค

3. ส่งเสริมการก่อสร้าง (เช่น พลังงานลมนอกชายฝั่ง)

4. สนับสนุนด้านการเงิน

5. กระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้ renewable energy

2) โครงการริเริ่มสร้างเมืองในอนาคต

ขยายการสร้างเมืองในอนาคต “Future City” ในญี่ปุ่นและในต่างประเทศ โดยมุ่งลงทุนสร้าง ตัวอย่างเมืองในอนาคตที่เป็นมิตรกับ สิ่งแวดล้อมที่ประสบความสำเร็จ และแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ในระดับโลก

เป้าหมายภายในปี 2020

สร้าง “Future Eco City” ระดับโลกที่มีเทคโนโลยี โครงสร้าง และบริการ สำหรับโลกอนาคตขึ้นและขยายไปยังตลาดเอเชียโดยสร้างความร่วมมือในระดับรัฐบาล

มาตรการหลัก

1. ใช้กลไกความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อให้โครงการดำเนินอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

2. สร้างระบบการคัดเลือกพื้นที่ตามมุมมองในเชิงนวัตกรรม การก่อให้เกิดมูลค่าทางการค้า และการสร้างผลกระทบต่อเนื่องไปยังเมืองอื่นๆ เป็นต้น

3. สร้าง อุปสงค์ ส่งเสริมการลงทุน และขยายปริมาณการใช้สินค้าและบริการเชิงนิเวศน์ (eco-products & services) ด้วยการทำให้กฎระเบียบเกี่ยวกับมาตรฐาน การประหยัดพลังงานมีความเข้มแข็ง และการนำ Green Tax มาใช้

4. มุ่งส่งเสริม renewable energy รถยนต์สำหรับอนาคต และSmart grid

3) โครงการวางแผนการพลิกฟื้นธุรกิจป่าไม้

เป้าหมายภายในปี 2020

ทำให้ญี่ปุ่นพึ่งพาผลิตภัณฑ์ไม้ภายในประเทศเกินกว่า 50 % ขึ้นไป เพื่อให้ธุรกิจเกี่ยวกับป่าไม้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในท้องถิ่น ส่งเสริมการรักษาป่าไม้ให้ยั่งยืนด้วยตนเองโดยการสร้างอุตสาหกรรมป่าไม้ขึ้น และเพื่อให้เกิดผลดีต่อ low-carbon society

มาตรการหลัก

ขั้นตอนที่ 1 พัฒนาระบบที่สนับสนุนเจ้าของพื้นที่ป่าไม้

ขั้นตอนที่ 2 ส่งเสริมการรวมกลุ่มของอุตสาหกรรมป่าไม้ สร้างระบบเครือข่ายถนนและเครื่องจักรร่วมกัน

ขั้นตอนที่ 3 ขยาย อุปสงค์ โดยการสร้างระบบ supply ที่มั่นคง และบังคับใช้กฎหมายส่งเสริมการใช้ไม้

ขั้นตอนที่ 4 นำผลกำไรที่ได้กลับมาลงทุนเพิ่มเติมในอุตสาหกรรมป่าไม้

2. สาขา Life Innovation

4) โครงการส่งเสริมสถาบันการแพทย์

เพื่อการนำวิธีการรักษาใหม่ๆมาใช้เพิ่มทางเลือกให้กับคนไข้ โดยการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ และจัดหายา และอุปกรณ์แพทย์อย่างรวดเร็วญี่ปุ่น และก่อให้เกิดมูลค่าทางการค้า

เป้าหมายภายในปี 2020

1. สามารถแก้ไขปัญหา “drug lag” และ “device lag” และเพิ่มช่องทางเลือกให้กับคนไข้ในการรับการรักษาโรคที่รักษาให้หายได้ยาก

2. พัฒนายาและอุปกรณ์การแพทย์ที่ผลิตใน

มาตรการหลัก

1. คัดเลือกสถาบันการแพทย์ในประเทศ 100-200 แห่งให้สามารถใช้ยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์มาตรฐานสากลที่ยังไม่ได้รับอนุญาตในญี่ปุ่นได้เป็นกรณีพิเศษ เพื่อแก้ไขปัญหา “drug lag” และ “device lag” (ปัจจุบันการอนุญาตให้ใช้ยาและอุปกรณ์การแพทย์ชนิดใหม่ในญี่ปุ่นล่าช้ากว่าอเมริกา 1.6 และ 2.5 ปีตามลำดับ)

2. ส่งเสริม clinical research และการวิจัยและพัฒนาที่ตอบสนองความต้องการในการรักษาคนไข้

5) โครงการยกระดับการแพทย์ของญี่ปุ่นให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ

เป้าหมายภายในปี 2020

สร้างภาพพจน์และทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นศูนย์การรักษาและการตรวจสอบทางการแพทย์สากลที่ก้าวหน้าที่สุดในเอเชีย

มาตรการหลัก

1. มาตรการด้านกฎระเบียบ

  • กำหนดให้มี medical care visa เพื่อดึงดูดคนไข้ชาวต่างชาติให้มารับการรักษาพยาบาลในญี่ปุ่น
  • ผ่อนคลายกฎระเบียบเกี่ยวกับแพทย์และพยาบาลชาวต่างชาติเพื่อให้เข้ามาให้บริการทางการแพทย์ในญี่ปุ่น

2. พัฒนาระบบเพื่อส่งเสริมการรับคนไข้ต่างชาติ เช่น สร้างผู้เชี่ยวชาญภาษาทางการแพทย์

3. สร้างระบบการรับรองสถาบันทางการแพทย์

4. ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายของสถาบันการแพทย์

3. สาขาเอเชีย

6) โครงการส่งเสริมการส่งออกโครงสร้างสาธารณูปโภค สร้าง “All Japan” team โดยรวมเทคโนโลยีและประสพการณ์เข้าด้วยกันเพื่อส่งออกโครงสร้างสาธารณูปโภค

เป้าหมายภายในปี 2020

ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นผู้ส่งออกโครงสร้างสาธารณูปโภคหลักของโลกและขยายขนาดของตลาดเป็น 19.7 ล้านล้านเยน

มาตรการหลัก

1. ใช้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนส่งเสริมการส่งออกโครงสร้างสาธารณูปโภคเป็น package เพื่อตอบสนอง อุปสงค์ จากเอเชียและภูมิภาคอื่น โดยใช้จุดแข็งในเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าของญี่ปุ่นในด้านการประหยัดพลังงาน รักษาสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และความมั่นคง

2. สร้างกลไกในการสนับสนุนบริษัทเอกชนต่างๆ ในการริเริ่มร่วมมือกันในการส่งออกโครงสร้างสาธารณูปโภค

7) โครงการส่งเสริมญี่ปุ่นให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมของเอเชียเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของญี่ปุ่นในด้านการเป็นฐาน ธุรกิจ

เป้าหมายภายในปี 2020

1. เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในสากลของบริษัทในญี่ปุ่นและรักษาการจ้างงานในประเทศ

2. ดึงดูดบริษัทต่างชาติให้มาลงทุนในสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง และเพิ่มการจ้างงานให้เป็นสองเท่า โดยการดึงดูดบริษัทต่างชาติเข้ามา

มาตรการหลัก

1. ค่อยๆ ลดอัตราภาษีนิติบุคคลลงให้เท่ากับประเทศหลักอื่นๆ

2. สร้างระบบจูงใจ เช่นมาตรการด้านภาษี เพื่อดึงดูดบริษัทต่างชาติให้มาตั้ง Head office และศูนย์วิจัยในญี่ปุ่น โดยวางเป้าหมายที่จะเริ่มใช้ระบบในปี 2011 เพื่อให้ญี่ปุ่นกลับมาเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมของเอเชีย

3. สร้างโปรแกรมส่งเสริมญี่ปุ่นเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมของเอเชียและดึงดูดการลงทุนโดยตรงในญี่ปุ่น โดยการปฏิรูประบบและใช้มาตรการเพื่อให้คน สินค้าและเงินสามารถเคลื่อนย้าย (flow) ได้อย่างคล่องตัว

8) โครงการส่งเสริมการพัฒนา Global Talents และเพิ่มการเปิดรับบุคลากรต่างชาติที่มีฝีมือขั้นสูง ใช้ความรู้และบุคลากรที่มีอยู่ มากมายในโลกร่วมกัน

เป้าหมายภายในปี 2020

1. ขยายปริมาณของบุคลากรต่างชาติที่มีฝีมือสูงให้เป็น 2 เท่า

2. แลกเปลี่ยนนักเรียน คนทำงานชาวญี่ปุ่นกับชาวต่างชาติจำนวน 300,000 คนเพื่อสร้างประสบการณ์ให้กับนักเรียนและคนทำงานและสร้างบุคลากรที่มีความสามารถระดับสากล

มาตรการหลัก

1. นำระบบการให้คะแนนมาใช้ในการพิจารณารับบุคลากรชาวต่างชาติที่มีฝีมือเข้ามาทำงานในประเทศ

2. ส่งเสริมการศึกษาระดับสูงให้เป็นสากล และเพิ่มการแลกเปลี่ยนนักเรียนญี่ปุ่นและนักเรียนต่างชาติ รวมทั้งสร้างความเป็นสากลให้กับนักธุรกิจ

9) โครงการส่งเสริมการใช้ทรัพย์สินทางปัญญา การสร้างมาตรฐานและการส่งออก Cool Japan เสริมสร้างสิ่งที่จะนำไปสู่ความแข็งแกร่งของญี่ปุ่น

เป้าหมายภายในปี 2020

1. สร้างความแข็งแกร่งในการแข่งขันระดับสากลให้กับบริษัทญี่ปุ่นโดยการทำให้มาตรฐานของญี่ปุ่นเป็นมาตรฐานสากลในสาขาที่เป็น ยุทธศาสตร์ของญี่ปุ่น

2. ทำให้ญี่ปุ่นเป็นผู้นำในด้านการทำ content และสร้างรายได้ที่เกี่ยวข้องกับ content ในเอเชียเป็น 1 ล้านล้านเยน

มาตรการหลัก

1. สร้าง Roadmap เพื่อผลักดันให้สร้างและใช้ทรัพย์สินทางปัญญา และสร้างมาตรฐานญี่ปุ่นให้เป็นมาตรฐานสากลใน 7 สาขา ได้แก่การรักษาพยาบาลขั้นสูง, น้ำ, รถยนต์ในอนาคต, รถไฟ, การบริหารจัดการพลังงาน, content media และหุ่นยนต์

2. สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยใช้ข้อได้เปรียบจาก “Cool Japan” ที่มีศักยภาพ ผ่าน contents, แฟชั่น, อาหาร, วัฒนธรรม, ประเพณี, เพลง รวมทั้งสินค้าและบริการ

3. สร้างและใช้ประโยชน์จาก Headquarter ของยุทธศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรม

10) โครงการสร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจผ่าน Free Trade Area of the Asia-Pacific (FTAAP)

เป้าหมายภายในปี 2020

1. ส่งเสริมการสร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจรวมถึงการจัดทำ Free Trade Area of the Asia-Pacific (FTAAP)

2. พัฒนาสภาพแวดล้อมให้พร้อมสำหรับบริษัทญี่ปุ่นในการทำธุรกิจในต่างประเทศ (ขยายปริมาณการเคลื่อนย้ายของคน สินค้าและเงิน เป็นสองเท่า)

มาตรการหลัก

1. กำหนดนโยบายหลักเกี่ยวกับการจัดทำ EPA (FTA) ในภาพรวมภายในฤดูใบไม้ร่วงของปี 2010

2. ส่งเสริมการทำ EPA กับประเทศและภูมิภาคหลักๆ ของโลก และเร่งการจัดทำ FTAAP

3. ปฏิรูประบบภายในประเทศ เช่น ภาษี, ข้อจำกัดในการเคลื่อนย้ายคน, ข้อจำกัด ในด้านการลงทุน รวมทั้งบังคับใช้การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาอย่างจริงจัง ส่งเสริมการอำนวยความสะดวกพิธีการทางการค้า สร้าง safety net เป็นต้น

4. ส่งเสริมการรับบุคลากรต่างชาติเข้ามาในประเทศภายใต้ EPAs โดยการทำให้ระบบการรับชาวต่างชาติ (พยาบาล) มีความคล่องตัว

4. สาขาการท่องเที่ยวและการพลิกฟื้นท้องถิ่น

11) โครงการส่งเสริม Full OpenSkies เพื่อส่งเสริมให้ญี่ปุ่นเป็นท่าอากาศยานและท่าเรือหลักของเอเชียตะวันออก

*Full Open Skies หมายถึงการยกเลิกข้อจำกัดเส้นทางการบินและจำนวนเที่ยวบิน เป็นต้น ทำให้สายการบินสามารถวางแผนการบินได้อย่างอิสระ

เป้าหมายภายในปี 2020

1. สร้างความสามารถในการแข่งขันระดับสากล โดยการสร้าง Comprehensive Special Zone

2. ทำให้สนามบินฮาเนดะเป็นสนามบิน 24 ชั่วโมงและส่งเสริม full open skies สำหรับสนามบินทั้งหมดในเขตโตเกียว

3. ทำให้ท่าเรือของญี่ปุ่นเป็นท่าเรือหลักในเอเชียตะวันออก

มาตรการหลัก

1. สร้าง “Comprehensive global strategic special zone” โดยคัดเลือกเฉพาะพื้นที่ที่มีศักยภาพในการแข่งขันระดับสากล และส่งเสริมให้พื้นที่ดังกล่าวมีความก้าวล้ำในด้านต่างๆ เช่น พลังงานในยุคต่อไป ท่าเรือสากล บุคคลากรที่มีคุณภาพสูง การวิจัยและพัฒนา Life&Bio Science เป็นศูนย์กลางระหว่างประเทศ โดยใช้กฎระเบียบและมาตรการพิเศษทางภาษีสำหรับพื้นที่นั้น ให้การสนับสนุนด้านเงินทุน และกระตุ้นให้เอกชนสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีพลัง

2. ขยายจำนวนเที่ยวบินของสนามบินฮาเนดะ และนาริตะโดยการสร้างระบบที่รองรับ Low-cost carrier ได้

3. พัฒนาประสิทธิภาพในการจัดการสนามบินโดยใช้ความรู้และเงินทุนของภาคเอกชนและทบทวนนโยบายด้านเครือข่ายการบิน

12) โครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวในญี่ปุ่น

เป้าหมายภายในปี 2020

1. เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในประเทศญี่ปุ่นเป็น 25 ล้านคน (จาก 6.8 ล้านคนในปี 2009) เพื่อก่อให้เกิดผลทางเศรษฐกิจมูลค่า 10 ล้านล้านเยนและสร้างงาน 560,000 ตำแหน่ง

2. สร้าง อุปสงค์ ที่มีมูลค่า 1 ล้านล้านเยนโดยให้แต่ละท้องถิ่นมีวันหยุดตามประเพณีที่ไม่ตรงกัน

มาตรการหลัก

1. ทำให้ขั้นตอนการขอวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวชาวจีนง่ายยิ่งขึ้น

2. เสนอสภาให้แก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับวันหยุดตามประเพณีให้แต่ละท้องถิ่นหยุดไม่พร้อมกัน โดยให้มีผลบังคับใช้อย่างเร็วที่สุดภายในปี 2012

13) โครงการขยายตลาดการก่อสร้างและปรับปรุงบ้าน ส่งเสริมให้ลงทุน ในการ renovate บ้านซึ่งเป็นอุปสงค์ ภายในประเทศที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตอย่างมั่นคงของเศรษฐกิจ

เป้าหมายภายในปี 2020

1. ทำให้ตลาดการก่อสร้างและ renovate บ้านมีขนาดใหญ่เป็นสองเท่า (20 ล้านล้านเยน)

2. กระตุ้นให้มีการลงทุนเกี่ยวกับบ้าน โดยใช้มาตรการ เช่น การทำให้บ้านที่ผู้สูงอายุพักอาศัยสะดวกสบาย, การพัฒนาบ้านที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และทำให้ 95 %ของบ้านทั้งหมดทนทานต่อแผ่นดินไหว

มาตรการหลัก

1. วางแผนในภาพรวมสำหรับตลาดการ renovate บ้านเก่า

2. ส่งเสริมอุปทานด้านบ้านสำหรับผู้สูงอายุรวมทั้งบริการด้านการแพทย์และพยาบาล

3. ส่งเสริมการ renovate บ้านให้สามารถทนต่อแผ่นดินไหวได้ โดยเพิ่มจำนวนบ้านที่ทนต่อแผ่นดินไหวจาก 21 %ของจำนวนบ้านทั้งหมดในปี 2008 ให้เป็น 95 %ของทั้งหมดในปี 2020

4. แก้ไขกฏหมายมาตรฐานอาคาร สิ่งก่อสร้าง

5. สร้างมาตรฐานการประหยัดพลังงานขึ้นใหม่

6. ส่งเสริมการสร้าง eco-house และ eco-renovate ผ่านโดยการใช้ระบบ ecopoint จูงใจ

7. ส่งเสริมบ้านที่มีคุณภาพสูงและทนทาน

14) โครงการส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนในการก่อสร้างสาธารณูปโภค

เป้าหมายภายในปี 2020

1. วางยุทธศาสตร์การก่อสร้างและการบำรุงรักษาโครงสร้างสาธารณูปโภค เพื่อใช้ Social Capital Stock ให้มีประสิทธิภาพ

2. ขยาย Public Finance Initiative (PFI) เป็นสองเท่า (มากกว่า 10 ล้านล้านเยน)

มาตรการหลัก

1. เพิ่มการนำระบบ PFI มาใช้ เช่น โดยการให้สัมปทานภาคเอกชน

2. ส่งเสริมให้มีการวางแผนการบริหารจัดการ social capital ของรัฐบาลส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ซึ่งรวมถึงการลงทุนในการบำรุงรักษาและการก่อสร้างใหม่

กระตุ้นการเติบโตโดยใช้นโยบายด้านอุปทาน

5. สาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสารสนเทศ

15) โครงการส่งเสริมสถาบันการศึกษาของญี่ปุ่นไปสู่ระดับนานาชาติ

เป้าหมายภายในปี 2020

1. สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะแก่การคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ โดยให้มีสถาบันวิจัยและสถาบันการศึกษาติดอยู่ในลำดับ Top 50 ในสาขา ต่างๆ มากกว่า 100 สถาบัน

2. ให้มีการจ้างงานผู้ที่จบการศึกษาระดับ PhD ทั้งหมดและใช้ให้เกิดประโยชน์กับสังคม

มาตรการหลัก

1. สร้างความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรม-ภาคการศึกษา-ภาครัฐ

2. พิจารณาสร้างศูนย์วิจัยระดับชาติ

3. สร้างทางเลือกในเส้นทางอาชีพสำหรับ นักวิจัย วิศวกรและผู้เชี่ยวชาญให้หลากหลายมากขึ้น

16) โครงการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT)

เป้าหมายภายในปี 2020

1. ให้มีรัฐบาลท้องถิ่นมากกว่า 50 % นำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้บริหารจัดการ (รัฐบาลกลางใช้ eadministration ภายใน 2013)

2. ใช้ประโยชน์จากระบบอิเล็กทรอนิกส์และการมีอยู่ทั่วไปของร้านสะดวกซื้อ ให้ประชากรกว่า 50 %สามารถใช้ร้านสะดวกซื้อเป็น จุดในการดำเนินการขอใบรับรองต่างๆ ได้อาทิตย์ละ 7 วัน วันละ 24 ชม.

มาตรการหลัก

1. พัฒนาระบบบัตรประชาชนให้เป็นพื้นฐานของ e-administration โดยสามารถรักษาข้อมูลส่วนบุคคลได้

2. กำจัดระบบและกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้ ICT

3. ทำให้การให้บริการ Broadband (Optical Fiber Highways)แก่บ้านเรือนที่พักอาศัยทั้งหมดเกิดขึ้นได้ภายใน 2015

17) โครงการส่งเสริมการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา (R&D)

เป้าหมายภายในปี 2020

ทำให้การลงทุนด้าน(R&D)ของภาครัฐและเอกชนมีสัดส่วน 4 %ของ GDP หรือมากกว่า

มาตรการหลัก

1. ส่งเสริมการลงทุนด้าน (R&D) ของภาครัฐตามแผนหลักฉบับที่ 4 ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

2. นำมาตรการส่งเสริมการลงทุนด้าน (R&D) มาใช้ เช่นการให้แรงจูงใจด้านภาษีกับภาคเอกชน

3. ปฏิรูปการวางแผนงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

6. สาขาการจ้างงานและทรัพยากรบุคคล

18) โครงการพัฒนาระบบการอนุบาลเด็กให้ครบวงจร

เป้าหมายภายในปี 2020

ทำให้เด็กทุกคนสามารถเข้าศูนย์เลี้ยงดูเด็กอ่อนหรือสถานอนุบาลเด็กได้โดยไม่ต้องรอคิว (ปี 2009 ต้องรอคิวจำนวน 25,000 คน ทำให้การรอคิวหมดไปภายในปี 2017) เพื่อส่งเสริมให้ผู้หญิงทำงานนอกบ้านได้

มาตรการหลัก

1. วางแนวทางในการรวม kindergarten และ Nursery school เข้าด้วยกัน เพื่อสร้างศูนย์อนุบาลเด็กที่ครบวงจร

2. ส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม

19) โครงการ “Career Grading System” และ“Personal Support System”

เป้าหมายภายในปี 2020

1. สร้างระบบ National Vocational Qualification (NVQ) ของญี่ปุ่นเพื่อประเมินความสามารถด้านอาชีพ

2. สร้าง safety network ให้คนสามารถได้รับการเรียนรู้อาชีพและเทคนิคใหม่ๆ ได้

มาตรการหลัก

1. ส่งเสริมการพัฒนาในอาชีพและประเมินความสามารถด้านอาชีพ โดยเฉพาะในสาขาพยาบาล, การเลี้ยงดูเด็ก, เกษตรกรรม/ป่าไม้/ประมง, การท่องเที่ยว และสาขาที่กำลังจะเติบโต รวมทั้งสาขาที่ระดับการพัฒนาของบุคลากรมีผลต่องานอย่างมาก

2. สร้างระบบให้คำปรึกษาด้านอาชีพสำหรับรายบุคคล และติดตามผล

20) โครงการสร้างแนวคิดใหม่ในการให้บริการสังคม สร้างสังคมที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการทำให้สังคมมีความสุข

เป้าหมายภายในปี 2020

1. เพิ่มจำนวนผู้เข้าร่วมสร้างแนวความคิดใหม่ในการให้บริการสังคม

2. เพิ่มการบริจาคเงินโดยสมัครใจของประชาชนเพื่อการพัฒนาสังคมขึ้น 0.1-0.2 % ของ GDP

3. ทำให้ประชากรมีความสุขและความพอใจในความเป็นอยู่มากขึ้น

มาตรการหลัก

1. ส่งเสริมความพยายามในการสร้างบริการเพื่อสนับสนุนการให้บริการสังคม โดยการหารือร่วมกัน

2. ปฏิรูปภาษีในปีงบประมาณ 2011 เพื่อวางระบบภาษีที่สนับสนุนกิจกรรมดังกล่าว

3. ปฏิรูประบบการเงินขนาดย่อม (microfinance) เพื่อสนับสนุน Non Profit Organization (NPO)

4. ส่งเสริมและสนับสนุนความพยายามในการส่งเสริม Social capital ของท้องถิ่น

5. ร่วมมือกับรัฐบาลของประเทศต่างๆ และองค์กรระหว่างประเทศในการวัดความก้าวหน้าของสังคม และส่งเสริมการศึกษาเกี่ยวกับการเติบโตรูปแบบใหม่และการเป็นอยู่ที่ดี (well-being)

7. สาขาด้านการเงิน

21) โครงการก่อตั้ง Integrated Securities, Financial and Commodity Exchange Center

เป้าหมายภายในปี 2020

ทำให้ญี่ปุ่นเป็นตลาดการเงินหลักของเอเชีย

มาตรการหลัก

1. ในปี 2010 พิจารณาแนวทางสร้างระบบและวางมาตรการส่งเสริมการก่อตั้ง Integrated Securities, Financial and Commodity Exchange Center

2. ในปี 2013 ดำเนินการสร้างระบบและวางมาตรการส่งเสริมการก่อตั้ง Integrated Securities, Financial and Commodity Exchange Center

การเคลื่อนไหวของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ผ่านมาและในปัจจุบันที่ตอบสนองแนวทางตามโครงการยุทธศาสตร์ระดับชาติ เช่น

1) แผนส่งเสริมการส่งออก “Cool Japan Culture” ซึ่งรวมถึงการ์ตูน แฟชั่น และอาหารไปยังต่างประเทศ โดยกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม (METI) ซึ่งมีงบประมาณเพื่อสนับสนุนโครงการในปี 2011 จำนวน 1,400 ล้านเยน

และคาดว่าจะก่อให้เกิดการส่งออกมูลค่า 13 ล้านล้านเยนภายในปี 2020 (ประมาณ 1.4 เปอร์เซ็นต์ของตลาดโลกสำหรับสินค้าแฟชั่น อาหารและคอนเท้นท์ ซึ่ง METI ประมาณการว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 932 ล้านล้านเยนในปี 2020) (สอดคล้องกับโครงการส่งเสริมการใช้ทรัพย์สินทางปัญญา การสร้างมาตรฐาน และการส่งออก Cool Japan)

2) แผนการยกระดับท่าเรือให้เป็น Port Hub ของเอเชีย โดยการรวมท่าเรือโตเกียว ท่าเรือคาวาซากิ และท่าเรือโยโกฮาม่า เข้าด้วยกันเป็นท่าเรือเคฮิน (เขตอุตสาหกรรมที่สำคัญในเขตคันโต) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือในญี่ปุ่นและทำให้เป็น Port hub ที่ของเอเชียตะวันออก (สอดคล้องกับโครงการส่งเสริม Full Open Skies เพื่อส่งเสริมให้ญี่ปุ่นเป็นท่าอากาศยานและท่าเรือหลักของเอเชียตะวันออก)

3) ความสนใจในการเข้าร่วมเป็นสมาชิก Trans-Pacific Partnership Agreement ซึ่งเป็น FTA ที่อยู่ในระหว่างการเจรจาของประเทศสมาชิกเอเปก 9 ประเทศ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก Keidanren โดยรัฐบาลอยู่ระหว่างการวางแผนปฏิรูปภาคการเกษตรให้สามารถแข่งขันกับสินค้านำเข้าได้ เพื่อรองรับการเปิดเสรี (สอดคล้องกับโครงการสร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจผ่าน Free Trade Area of the Asia-Pacific (FTAAP))

4) รัฐบาลญี่ปุ่นวางแผนที่จะลดภาษีนิติบุคคลเพื่อลดการย้ายฐานไปยังต่างประเทศและดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ โดยจะเสนอต่อสภาให้ลดภาษีนิติบุคคลลง 5 เปอร์เซ็นต์ จากปัจจุบันที่สูงถึง 40.64 เปอร์เซ็นต์ (สูงกว่าประเทศหลักๆในโลก ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 25-30 เปอร์เซ็นต์) ให้เหลือ 35.64 เปอร์เซ็นต์ และลดภาษีนิติบุคคลสำหรับบริษัทขนาดเล็กจาก 18 เปอร์เซ็นต์ ลงเหลือ 15 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ METI กำลังจะเสนอขอความเห็นชอบจากสภาฯให้ลดภาษีนิติบุคคลลงเหลือ 28.5 เปอร์เซ็นต์ เป็นระยะเวลา 5 ปีแก่บริษัทต่างชาติที่มาตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา และศูนย์ให้คำปรึกษาสำหรับภูมิภาคเอเชียในประเทศญี่ปุ่นเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ(Foreign Direct Investment: FDI) ซึ่ง FDI ในญี่ปุ่นมีมูลค่าเพียงประมาณ 3.6 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ในขณะที่ FDI ในเกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา สูงถึง 10.5 และ 15.8 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ตามลำดับ ทั้งนี้ จากมุมมองของบริษัทต่างชาติญี่ปุ่นสูญเสียความสามารถในการแข่งขันลงเมื่อเปรียบเทียบกับจีน อินเดีย และสิงคโปร์ โดยในปี 2007 ญี่ปุ่นถูกจัดลำดับให้เป็นอันดับ 1 ในการเป็น Asia Hub และ R&D Hub และเป็นอันดับ 2 ในการเป็น Back Office Hub ต่อมาในปี 2009 ญี่ปุ่นสามารถรักษาไว้ได้เพียงการเป็นอันดับ 2 สำหรับ R&D Hub สาเหตุหนึ่งที่บริษัทต่างชาติไม่เลือกที่จะลงทุนในญี่ปุ่นเนื่องจากภาษีนิติบุคคลที่สูงมากและกฎระเบียบที่เข้มงวด (สอดคล้องกับโครงการส่งเสริมญี่ปุ่นให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมของเอเชีย)

5) ส่งเสริมการท่องเที่ยวในตลาดใหม่ โดยการผ่อนคลายการให้วีซ่าแก่นักท่องเที่ยวชาวจีน เพื่อดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีอำนาจในการซื้อจากจีน (สอดคล้องกับโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวในญี่ปุ่น)

6) เปิดรับพยาบาลและผู้ดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น โดยทำให้ข้อสอบวิชาชีพพยาบาลและผู้ดูแลผู้สูงอายุง่ายขึ้น สำหรับชาวต่างชาติด้วยการลดอุปสรรคทางด้านภาษา ทั้งนี้เนื่องจากพยาบาลและผู้ดูแลผู้สูงอายุชาวฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียที่เข้ามาทำงานในญี่ปุ่นภายใต้ความตกลง FTA ทวิภาคีกับญี่ปุ่น มีจำนวนน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ที่สามารถผ่านข้อสอบผ่านข้อสอบวิชาชีพ (ในภาษาญี่ปุ่น) ได้ หลังจากผ่านการอบรมและทำงานในญี่ปุ่น 3-4 ปี (สอดคล้องกับโครงการยกระดับการแพทย์ของญี่ปุ่นให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ)

7) กระตุ้นตลาดการก่อสร้าง โดยการใช้ eco-point เพื่อจูงใจให้ประชาชนลงทุนเพื่อการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านพักหรือสร้างบ้านประหยัดพลังงาน โดยการคืนเงินส่วนหนึ่งให้ (สอดคล้องกับโครงการขยายตลาดการก่อสร้างและปรับปรุงบ้าน)

8) การดึงให้เอกชนมาลงทุนในการสร้าง Global Positioning Satellites (GPS) มูลค่า 200,000 ล้านเยน ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่ญี่ปุ่นจะมี GPS เป็นของตนเอง จากที่ผ่านมาญี่ปุ่นพึ่งพา GPS ของสหรัฐอเมริกาซึ่งใช้เพื่อการทหารเป็นหลัก (สอดคล้องกับโครงการส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนในการก่อสร้างสาธารณูปโภค)

ข้อคิดเห็นและบทวิเคราะห์

โครงการยุทธศาสตร์ระดับชาติที่กล่าวข้างต้น มีความครอบคลุมทั้งในแง่ของการตอบสนองความต้องการในอนาคต (สาขาเอเชีย, Green Innovation & Life Innovation) และส่งเสริมการพัฒนาเพื่อรองรับ globalization (เช่น การจ้างงานและทรัพยากรบุคคล และการเงิน) ซึ่งนอกจากจะเกิดผลทางด้านเศรษฐกิจแล้วยังเป็นการเยียวยาและแก้ไขปัญหาทางโครงสร้างในระยะยาวที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีฝีมือขั้นสูงซึ่งจะรุนแรงมากขึ้นตามแนวโน้มที่ลดลงของสัดส่วนจำนวนประชากรในวัยทำงานต่อประชากรทั้งหมด ทั้งนี้ เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมาญี่ปุ่นเข้มงวดและไม่ค่อยเปิดรับการเข้ามาของชาวต่างชาติ จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหา ทางโครงสร้างประชากร ปัจจุบันรัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องเปิดรับบุคลากรต่างชาติที่มีฝีมือขั้นสูงเพิ่มมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาและสร้างความเป็นสากลให้กับญี่ปุ่นในการทำธุรกิจกับต่างประเทศ ซึ่งนอกจากนี้ยังมีการแผนการพัฒนาบุคลากรของญี่ปุ่นให้มีความเป็นสากลมากขึ้นตามโครงการส่งเสริมการพัฒนา Global Talents ซึ่งคาดว่าหากญี่ปุ่น สามารถบรรลุเป้าหมายในแต่ละสาขาได้จะนำมาซึ่งการกลับมาเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น

ยุทธศาสตร์เพื่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจรูปแบบใหม่นี้ มีความชัดเจนในทิศทางนโยบายเศรษฐกิจและสอดคล้องกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจของโลกและวิถีชีวิตแบบใหม่ ทำให้สามารถคาดการณ์นโยบายของญี่ปุ่นในด้านต่างๆ ได้ ซึ่งภาครัฐและเอกชนญี่ปุ่นมักเคลื่อนไหวในทิศทางที่สอดคล้องกัน เนื่องจากเอกชนญี่ปุ่นยังคงมีบทบาทอย่างมากในการกำหนดนโยบายของภาครัฐ และที่สำคัญคือญี่ปุ่นมีความชัดเจนเรื่องนโยบายต่อภูมิภาคเอเชีย และมองการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชียเป็นโอกาสที่ญี่ปุ่นยังสามารถเข้าไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างมากมาย สิ่งที่ท้าทายคือไทยจะสามารถใช้ประโยชน์จากการอยู่ในศูนย์กลางของอาเซียนและการเป็นฐานอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของญี่ปุ่นในเอเชียเพื่อเชื่อมโยงความร่วมมือและก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกันได้ อย่างไร ยกตัวอย่างเช่นในด้านการส่งออกวัฒนธรรมซึ่งรวมไปถึงสินค้าและบริการของประเทศนั้นๆ ซึ่งเกาหลีประสพความสำเร็จเป็นอย่างมาก ในขณะที่ญี่ปุ่นกำลังวางแผนส่งเสริมการส่งออก Cool Japan หากรัฐบาลไทยและรัฐบาลญี่ปุ่นสามารถร่วมมือส่งเสริมการส่งออกวัฒนธรรมของกันและกันน่าจะก่อให้เกิดผลดีกับทั้งสองประเทศในการเผยแพร่วัฒนธรรมและส่งเสริมให้สินค้าและบริการครอบครองส่วนแบ่งในตลาดในสาขานี้ซึ่งมีมูลค่ามหาศาลในอนาคตได้

นอกจากนี้ การศึกษาแนวทางการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น เป็นตัวอย่างประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างประเทศไทยควรศึกษาเพื่อวางแผนการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว เมื่อเศรษฐกิจถึงจุดอิ่มตัวอย่างญี่ปุ่น อุปสงค์ ภายในประเทศเริ่มลดน้อยลง ประเทศไทยจะกระตุ้นให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างไร การเข้าไปสร้างผลประโยชน์ทางธุรกิจในประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีการพัฒนาที่ช้ากว่าอาจเป็นแนวทางหนึ่ง แต่การสร้างสินค้าและเทคโนโลยีที่ตอบสนองความต้องการในอนาคตเป็นสิ่งที่สำคัญที่ต้องอาศัยระยะเวลาในการสร้างและพัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยีเพื่อให้เกิดผลในอนาคต

แหล่งข้อมูล : 1. “New Growth Strategy — Strong Economy, Robust Public Finances & Strong Social Security System”, Ministry of Economy, Trade and Industry, http://www.meti.go.jp/english/policy/economy/growth/outline20100618.pdf

2. “21 National Strategic Projects for Revitalization of Japan for the 21st Century”, http://www.kantei.go.jp/foreign/kan/topics/20100706_21nationalstrategic_e.pdf

3. “METI Seeks to Lure Foreign Firms With 5-Year Tax Break”, The Nikkei, 6 January 2011

4. “Cool Japan, METI will prepare the export strategy by country”, The Nikkei, 8 January 2011

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ