รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจและภาวะการค้า ภูมิภาค ละตินอเมริกา

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 19, 2011 11:12 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ประเทศ

ชิลี และเขตพื้นที่ดูแลของ สคร. ณ กรุงซานติอาโก ได้แก่ เปรู โคลัมเบีย และเอกวาดอร์

ประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและภาวะการค้าระหว่างวันที่ 1-15 ม.ค. 54

1. ภาวะการค้ากับประเทศไทย

1.1 ในช่วงเดือนมกราคม — พฤศจิกายน 2553 การส่งออกจากไทยไปตลาดชิลี โคลัมเบีย เอกวาดอร์ และเปรู โดยรวมมีมูลค่า 1,403 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 145 เป็นอัตราเพิ่มที่ชลอตัวลงจากสภาวะการณ์การส่งออกของไทยไปกลุ่มประเทศดังกล่าวในเดือนมกราคม-ตุลาคม 2553 ซึ่งมีมูลค่า 1,268 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 150

1.2 ตลาดที่สถานะการณ์การส่งออกของไทยในช่วงมกราคม-พฤศจิกายน 2553 มีอัตราเพิ่มที่สูงขึ้นกว่าอัตราเพิ่มในช่วงมกราคม- ตุลาคม 2553 ได้แก่

  • โคลัมเบีย มูลค่าการส่งออก 351 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 76 (มกราคม-ตุลาคม 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 71)
  • เอกวาดอร์ มูลค่าการส่งออก 293 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 71 (มกราคม —ตุลาคม 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 69)

1.3 ตลาดที่สถานะการณ์การส่งออกของไทยในช่วงมกราคม-พฤศจิกายน 2553 มีอัตราเพิ่มที่ชลอตัวลงจากอัตราเพิ่มในช่วงมกราคม- ตุลาคม 2553 ได้แก่

  • ชิลี มูลค่าการส่งออก 472 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 293 (มกราคม — ตุลาคม 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 330)
  • เปรู มูลค่าการส่งออก 285 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 253 (เดือนมกราคม — ตุลาคม 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 294)

1.4 สินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้นมากและมีศักยภาพการส่งออกสูงในทุกตลาดดังกล่าว ยังคงเป็น รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกมากเป็นลำดับ 1 ไปยังทุกตลาด การส่งออกไปชิลีขยายตัว 932 % ไปเปรูขยายตัว 556% ไปโคลัมเบีย ขยายตัว 128% ไปเอกวาดอร์ ขยายตัว 88% ส่วนสินค้าส่งออกรายการสำคัญอื่นๆไปตลาดนี้ ได้แก่ เครื่องซักผ้า อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลี 72% ไปเปรูขยายตัว 46% ไปโคลัมเบีย ขยายตัว 20% ไปเอกวาดอร์ ขยายตัว 24% ตู้เย็น อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลี 277% ไปเปรูขยายตัว 45% ไปโคลัมเบีย ขยายตัว 47% อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลี 61% เครื่องยนต์สันดาปภายใน อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลี 130% ไปเปรูขยายตัว 256% ไปโคลัมเบีย ขยายตัว 173% ไปเอกวาดอร์ ขยายตัว 38% ผลิตภัณฑ์ยาง อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลี 51% ไปเปรูขยายตัว 64% ไปโคลัมเบีย ขยายตัว 48% ไปเอกวาดอร์ ขยายตัว 25% เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลีลดลง -2% ไปเปรูขยายตัว 102% ไปโคลัมเบีย ลดลง -0.17% ไปเอกวาดอร์ ขยายตัว 15% เม็ดพลาสติก อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลีขยายตัว 404% ไปโคลัมเบียขยายตัว 76% ไปเอกวาดอร์ขยายตัว 249% ไปเปรูขยายตัว 293% ผลิตภัณฑ์พลาสติก อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลีขยายตัว 94% ไปโคลัมเบียขยายตัว 25% ไปเอกวาดอร์ขยายตัว 33% ไปเปรูขยายตัว 2% ปูนซีเมนต์ อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลีขยายตัว 20% ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปโคลัมเบียลดลง -6% ไปเอกวาดอร์ขยายตัว 66% ไปเปรูขยายตัว 376% (- = ลดลง หรือ หดตัว)

2. ประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ

2.1 หลังจากที่การขยายตัวของการส่งออกของไทยไปยังตลาดนี้ซึ่งมีการขยายตัวในอัตราที่สูงมากในช่วงต้นปี เมื่อ Momentum อ่อนตัวลง เนื่องจากตลาดอิ่มตัว การขยายตัวของการส่งออกของไทยไปยังตลาดดังกล่าวจึงค่อยๆชะลอตัวลง ตามที่สำนักงานฯได้เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว

2.2 สำนักงานฯ มีความเห็นว่า เศรษฐกิจของตลาดยังมีเสถียรภาพ ยังผลให้ค่าของเงินตราสกุลท้องถิ่นของตลาด แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเปรียบเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ ในช่วงต้นเดือนมกราคม 2554 ค่าของเงินสกุลเปโซของชิลีอยู่ที่ประมาณ 1 เหรียญสหรัฐ เท่ากับ 460 เปโซของชิลี ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ค่าของเงินเปโซของชิลีแข็งค่าขึ้นไปอีกประมาณร้อยละ 7 ยังผลให้ตลาดยังคงมีอำนาจซื้อมากขึ้น ดังนั้น หากราคาสินค้าส่งออกของไทยคิดเป็นเงินเหรียญสหรัฐไม่ปรับตัวสูงขึ้นมาก วิกฤตการเรื่องการอ่อนตัวของเงินเหรียญสหรัฐก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปยังชิลีมากนัก แต่หากราคาสินค้าส่งออกของไทยไปตลาดนี้ปรับราคาสูงขึ้นมาก การนำเข้าของตลาดก็มีแนวโน้มชลอตัว เนื่องจากสินค้าที่นำเข้าส่วนใหญ่มิใช่สินค้าที่เป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน (มี Price Elasticity of Demand ในระดับปานกลางถึงสูง) ยกเว้นสินค้าปูนซีเมนต์ ซึ่งชิลีมีความจำเป็นต้องใช้ในการบูรณะประเทศจากอุบัติภัยแผ่นดินไหว และสินค้าประเภทวัสดุในการผลิต เช่น เม็ดพลาสติก ซึ่งตลาดมีความต้องการนำเข้าเนื่องจากเศรษฐกิจของตลาดมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางของชิลี ได้เริ่มเข้าทำการแทรกแซงตลาดการเงินในประเทศ โดยการนำเงินเปโซของชิลี ออกมาช้อนซื้อเงินเหรียญสหรัฐในช่วงต้นเดือน ยังผลให้ในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมกราคม 2554 ค่าของเงินเปโซชิลีอ่อนค่าไปอยู่ที่ 1 เหรียญสหรัฐเท่ากับประมาณ 488 — 494 เหรียญสหรัฐ

2.3 สถานการณ์ที่ค่าของเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก จะส่งผลกระทบในเชิงลบ ต่อศักยภาพการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดดังกล่าว แต่อย่างไรก็ดี ตลาดนี้มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจพอสมควร ยังผลให้ค่าของเงินตราสกุลท้องถิ่นของตลาดแข็งค่าขึ้นเช่นกัน ทำให้ตลาดยังคงมีอำนาจซื้อ ประกอบกับประเทศคู่แข่งขันรายสำคัญของไทยหลายประเทศก็ประสบปัญหามีค่าของเงินตราสกุลท้องถิ่นของตนแข็งค่าขึ้นมากเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐเช่นกัน เช่น ญี่ปุ่น สำนักงานฯ จึงคาดว่า ผลกระทบจากการที่ค่าของเงินบาทแข็งค่าขึ้น ที่จะมีต่อการส่งออกของไทยไปยังตลาดนี้จะไม่ถึงขั้นรุนแรงมาก

2.4 ข้อเสนอแนะคือ ทางฝ่ายไทยจะต้องติดตามความเคลื่อนไหวของค่าของเงินตราสกุลท้องถิ่นของประเทศคู่แข่งขันในตลาดการเงินระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิด และควรนำมาตรการทางการเงิน การคลัง มาช่วยรักษาค่าของเงินบาทไทยให้ปรับตัวอยู่ในระดับที่ไม่มากไปกว่าอัตราการแข็งค่าขึ้นของเงินตราสกุลท้องถิ่นของประเทศคู่แข่งขัน โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเซียด้วยกัน ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการบรรเทาผลกระทบในทางลบต่อศักยภาพทางการแข่งขันทางการค้าของไทย นอกจากนี้ ไทยควรหาลู่ทางในการเพิ่มการลงทุนในต่างประเทศในลักษณะ Internationalization ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อสนับสนุนให้มีเงินทุนไหลออกไปนอกประเทศ รวมทั้งสนับสนุนให้มีการนำเข้าเครื่องจักร อุปกรณ์ และวัสดุในการผลิต จากต่างประเทศ เพื่อขยายกำลังการผลิตในช่วงนี้ เพื่อบรรเทาภาวะที่มีเงินทุนไหลเข้าประเทศมาก และในส่วนของมาตรการทางการค้า สำนักงานฯ เห็นว่า ควรเร่งรัดการจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับประเทศคู่ค้าในตลาดนี้ ให้มีผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเสริมศักยภาพในการส่งออกของไทยสู่ตลาด รวมทั้งการจัด Business Summit Forum ระหว่างนักธุรกิจนักลงทุนของไทยและของตลาดต่างประเทศ เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนให้ไทย

2.5 สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการค้าที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของตลาดและมีผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าจากไทยที่สำคัญ ได้แก่

2.5.1 ธนาคารกลางชิลีแทรกแซงตลาดเงินเพื่อให้ค่าของเงินเหรียญสหรัฐในตลาดชิลีแข็งค่าขึ้น หลังจากที่ค่าของเงินเหรียญสหรัฐแตะระดับต่ำสุดในรอบ 32 เดือนที่ผ่านมา มาอยู่ที่ระดับประมาณ 460 เปโซของชิลี ต่อ 1 เหรียญสหรัฐ เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2554 นาย Felipe Larrain รัฐมนตรีคลังของชิลี ได้แถลงว่า ธนาคารกลางของชิลี ได้ตัดสินใจที่จะช้อนซื้อเงินเหรียญสหรัฐเป็นจำนวน 12 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตลอดปี 2011 ซึ่งเป็นการตัดสินใจแทรกแทรงค่าของเงินตราต่างประเทศในตลาดการเงินของชิลีครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ของชิลี โดยให้เหตุผลว่า กิจกรรมการผลิตสำคัญของประเทศหลายกิจกรรมที่มีบทบาทต่อการจ้างงานเป็นจำนวนมาก ได้รับผลร้ายแรงจากประเด็นปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลท้องถิ่นแข็งตัว โดยพิจารณาเห็นว่า การแทรกแซงดังกล่าว จะสามารถให้การป้องกันการจ้างงานเหล่านี้ได้ การแทรกแซงดังกล่าว ยังผลให้ในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมกราคม 2554 อัตราแลกเปลี่ยนเหรียญสหรัฐแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 488-494 เปโซชิลี ต่อ 1 เหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ การแทรกแซงดังกล่าวจะมีผลในเชิงบวกต่อการส่งออกสินค้าของชิลี แต่จะมีผลในเชิงลบต่อการนำเข้าของชิลีด้วย เนื่องจากสินค้านำเข้าจะต้องมีราคาเป็นเงินตราสกุลท้องถิ่นที่สูงขึ้น

2.5.2 ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดชิลีปรับตัวสูงขึ้นตามค่าของเงินเหรียญสหรัฐ ผลจากการที่ธนาคารกลางของชิลีแทรกแซงช้อนซื้อเงินเหรียญสหรัฐจากตลาดการเงินของชิลี ทำให้ค่าของเงินตราสกุลท้องถิ่นอ่อนตัวลง ซึ่งทำให้ในเดือนมกราคม 2554 ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดชิลีปรับตัวสูงขึ้น โดยราคาน้ำมันเบนซิน น้ำมันก๊าด น้ำมันดีเซล และเชื้อเพลิงก๊าซ ปรับตัวสูงขึ้นลิตรละ 27 เปโซ 28 เปโซ 29 เปโซ และ 35 เปโซ ตามลำดับ ทำให้ปัจจุบัน ราคาน้ำมันเบนซิล 93-Octane, 95-Octane และ 97-Octane ปรับตัวไปอยู่ที่ลิตรละ 691 เปโซ 709 เปโซ และ 733 เปโซ หรือเท่ากับ 1.40 เหรียญสหรัฐ 1.44 เหรียญสหรัฐ และ 1.49 เหรียญสหรัฐ ตามลำดับ

2.5.3 ธนาคารโลกคาดคะเนว่าชิลีจะมีอัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในภูมิภาคละตินอเมริกาและแคริบเบียนในปี 2011 จากรายงาน 2011 Global Economic Prospects (GEP) ของธนาคารโลก คาดการณ์ว่า ในปี 2011 ชิลีจะมีเศรษฐกิจเจริญเติบโตเร็วที่สุดในกลุ่มประเทศละตินอเมริกาและแคริบเบียน โดยจะมีอัตราความเจริญเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 5.8 ซึ่งสูงกว่าอัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของชิลีในช่วงปี 2004-2007 ซึ่งเป็นช่วงที่ชิลีมีเศรษฐกิจเฟื่องฟู (Boom) ที่สุด เสียด้วยซ้ำ เนื่องจากชิลีสามารถบูรณะฟื้นฟูประเทศจากอุบัติภัยแผ่นดินไหวครั้งร้ายแรงเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2010 และในขณะเดียวกันก็สามารถขยายการส่งออกไปยังตลาดเอเซียได้มากขึ้น โดยมีสินค้าส่งออกหลักที่ทำรายได้ให้กว่าครึ่งหนึ่งของรายได้จากการส่งออก คือ ทองแดง และตามมาด้วยเปรู ซึ่งรายงานดังกล่าวยังพยากรณ์ว่า ในปี 2011 จะมีเศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 5.5 และอาร์เจนตินา ขยายตัวร้อยละ 4.7 ในขณะที่เศรษฐกิจของโลกโดยรวม จะมีอัตราความเจริญเติบโตร้อยละ 3.3 ลดลงจากปี 2010 ซึ่งโลกมีอัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 3.9

กิจกรรมที่ดำเนินการระหว่างวันที่ 1-15 ม.ค. 54

1. รักษาลูกค้าเดิมและแสวงหาลูกค้าใหม่ โดยการเชิญนักธุรกิจผู้นำเข้าจำนวน 85 ราย เข้าร่วมเป็นคณะผู้แทนการค้าของสำนักงานฯ เดินทางมาเยี่ยมชมงานแสดงสินค้า Bangkok Gems & jewelry Fair, February 2011 ที่กรุงเทพฯ

2. รักษาลูกค้าเดิมและแสวงหาลูกค้าใหม่ โดยการเชิญนักธุรกิจผู้ผลิตและผู้ส่งออกจำนวน 10 ราย พิจารณาสมัครเข้าร่วมแสดงสินค้าในงาน TIFF 2011 ที่กรุงเทพฯ

3. รายงานผลการปฏิบัติงานตามตัวชี้วัดผลผลิตเดือนธันวาคม 2553

4. รายงานสถานะการณ์เศรษฐกิจและภาวะการค้าภูมิภาคละตินอเมริการะหว่างวันที่ 16-30 กันยายน 2553

5. รายงานสถานะการณ์เศรษฐกิจและภาวะการค้าภูมิภาคละตินอเมริการะหว่างวันที่ 1-15 ตุลาคม 2553

6. รายงานสถานะการณ์เศรษฐกิจและภาวะการค้าภูมิภาคละตินอเมริการะหว่างวันที่ 16-31 ตุลาคม 2553

7. รายงานสถานะการณ์เศรษฐกิจและภาวะการค้าภูมิภาคละตินอเมริการะหว่างวันที่ 1-15 พฤศจิกายน 2553

8. รายงานสถานะการณ์เศรษฐกิจและภาวะการค้าภูมิภาคละตินอเมริการะหว่างวันที่ 16-30 พฤศจิกายน 2553

9. รายงานสถานะการณ์เศรษฐกิจและภาวะการค้าภูมิภาคละตินอเมริการะหว่างวันที่ 1-15 ธันวาคม 2553

10. รายงานสถานะการณ์เศรษฐกิจและภาวะการค้าภูมิภาคละตินอเมริการะหว่างวันที่ 16-31 ธันวาคม 2553

11. รายงานสถานะการณ์เศรษฐกิจและภาวะการค้าภูมิภาคละตินอเมริการะหว่างวันที่ 1-15 มกราคม 2554

12. ให้บริการนักธุรกิจชิลี 3 ราย ที่ติดต่อขอรับบริการข้อสนเทศทางการค้าจากสำนักงานฯ สินค้าเครื่องมือแพทย์ อะไหล่รถกระบะ

13. ให้บริการนักธุรกิจไทย 1 ราย ที่ติดต่อขอรับบริการข้อสนเทศทางการค้าจากสำนักงานฯ สินค้าวัสดุเคมีภัณฑ์

14. จับคู่เจรจาธุรกิจให้นักธุรกิจชิลีราย Ms. Claudia Perez, ตำแหน่ง Commercial Chief, บริษัท Repuestosexpress S.A. กับบริษัท สยามกลการอะไหล่ จำกัด และ บริษัทเค วาย บี เอเซีย จำกัด สินค้าอะไหล่รถยนต์

15. ส่งเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเข้าร่วมกิจกรรมจัดสาธิตการประกอบอาหารไทยให้แขกรับเชิญที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นกิจกรรมของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุ.ซันติอาโก จัดที่ทำเนียบเอกอัครราชทูต ณ กรุงซันติอาโก เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2554

16. ประสานงานสำนักงานส่งเสริมการส่งออกและการท่องเที่ยวของชิลี (ProChile) ณ กรุงเทพฯ เพื่อแจ้งข้อมูลผู้นำเข้าไทยที่ต้องการนำเข้าปลาทะเลจากชิลีมาใช้เป็นวัสดุในการผลิตของบริษัทผู้นำเข้าไทย

17. ตอบเรื่องการเสนอชื่อข้าราชการและลูกจ้างประจำเข้ารับการคัดเลือกข้าราชการพลเรือนดีเด่นประจำปี 2553

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ