เมื่อลมหนาวพัด “ฟองสบู่” ฟุ้งกระจายทั่วจีน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 19, 2011 13:38 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ขณะที่ประเด็น “ค่าเงินหยวน” ของจีนเป็นประเด็นร้อนในเวทีระหว่างประเทศ ... เรื่อง “เงินเฟ้อ” ก็กำลังเป็นประเด็นสำคัญที่มาพร้อมกับลมหนาวภายในประเทศจีนเช่นกัน ถึงขนาดว่าพลเมืองเน็ต (Netizen) ในจีนลงคะแนนเสียงให้คำว่า “จ่าง” ซึ่งแปลว่า “การเพิ่มขึ้น” (ของราคา) เป็นคำยอดนิยมประจำปี

อาการ “เงินเฟ้อ” ... น่าเป็นห่วง

ท่านเวิน เจียเป่า (Wen Jiabao) นายกรัฐมนตรีของจีน ซึ่งผ่านประสบการณ์การเมืองอย่างโชกโชนและถือเอาการตรวจสอบราคาสินค้าข้าว เนื้อหมู และผักเป็นภารกิจประจำวัน กล่าวไว้อย่างน่าคิดในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นออนไลน์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาว่า “จากประสบการณ์ทางการเมืองชั่วชีวิต มีเพียง 2 ปัญหาเท่านั้นที่จะสั่นคลอนเสถียรภาพทางสังคมและความมั่นคงของรัฐบาล (จีน) ได้ ประการหนึ่งคือการคอรัปชั่น และอีกประการหนึ่งคือ ราคา (เงินเฟ้อ)”

นับแต่ต้นปี 2553 ดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภค (Consumer Price Index: CPI) ซึ่งเป็นสะท้อนอัตราเงินเฟ้อของจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 1.5 เมื่อเดือนมกราคม เป็นร้อยละ 3.6 ในเดือนกันยายน และพุ่งสูงถึงร้อยละ 4.4 ในเดือนตุลาคม เมื่อเทียบกับของช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งนับว่าเป็นอัตราสูงที่สุดในรอบ 25 เดือน และส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2553 สูงถึงร้อยละ 3 ซึ่งเป็นเป้าหมายที่รัฐบาลจีนตั้งไว้ จากสถานการณ์ดังกล่าว จึงมีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลจีนจะไม่สามารถรักษาระดับอัตราเงินเฟ้อในปีนี้ตามที่กำหนดไว้ได้

ลำพังสินค้าเกษตร ซึ่งมีอิทธิพลถึงประมาณ 1 ใน 3 ของ CPI ก็พบว่ามีราคาเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 10 ภายในเดือนตุลาคมเพียงเดือนเดียว โดยในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ราคาผักและผลไม้สดหลายรายการดีดขึ้นไปกว่าเท่าตัว ขณะที่ราคาน้ำดื่มและกระดาษชำระก็ปรับเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 22 และร้อยละ 50 ตามลำดับ ชาวเซี่ยงไฮ้ท่านหนึ่งระบุว่า การใช้จ่ายซื้อของใช้ประจำวันของตนเองและภริยาเพิ่มขึ้นจากเดือนละ 775 หยวนในเดือนเมษายน 2552 เป็น 1,277 หยวนในเดือนกันยายน 2553 การดีดตัวขึ้นของราคาสินค้าจำเป็นอย่างรวดเร็วได้เริ่มส่งผลเสียในวงกว้างมากขึ้นทุกขณะ ถึงขนาดที่บางคนรู้สึกว่าสถานการณ์เริ่มอยู่ในระดับที่ควบคุมไม่ได้เสียแล้ว ภาพเหตุการณ์เก่า ๆ ที่เงินเฟ้อพุ่งทะยานไปแตะร้อยละ 18.8 เมื่อปี 2531 จนนำไปสู่เหตุการณ์ประท้วงครั้งใหญ่ในกรุงปักกิ่งและอีกหลายจุดในเมืองจีนเริ่มกลับมาหลอกหลอนความรู้สึกของประชาชนบางส่วน เกษตรกรในตลาดซินฟาตี้ (Xinfadi Market) ตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรใหญ่ที่สุดในกรุง ปักกิ่ง ต่างเริ่มแสดงความไม่พอใจต่อราคาขายส่งที่ได้รับ เพราะต้องแบกรับต้นทุนการเพาะปลูกที่สูงขึ้นมาก ขณะที่ราคาขายปลีกสินค้าเกษตรในเมืองก็สูงกว่ามาก ทำให้พ่อค้าคนกลางกลายเป็นแพรรับบาปไปด้วย ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคเองที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายประจำวันที่เพิ่มขึ้นก็ส่งเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลจีนออกมาแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังเสียที นอกจากนี้ ร้านอาหารต่างก็พากันทยอยขึ้นราคาอาหารที่จำหน่าย ซึ่งสร้างความกังวลใจอย่างมากให้แก่ผู้บริโภคที่มีรายได้จำกัด จนถึงขนาดมีข่าวว่า โรงอาหารของสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งในจีนถูกนักศึกษาก่อหวอดประท้วงและทำลายข้าวของจนได้รับความเสียหาย

ทั้งนี้ เหตุการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ในช่วงกลางปีที่ผ่านมาก็นับเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้อุปทานผลผลิตทางการเกษตรลดต่ำลงก่อนหน้านี้ เมื่อผสมโรงกับการขาดแคลนน้ำมันดีเซลซึ่งจำเป็นต้องใช้เพื่อการเกษตรและต้นทุนที่สูงขึ้น ก็ยิ่งผลักให้ราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้น นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ผู้บริโภคในเมืองใหญ่อย่างปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ ต่างพากันซื้อสินค้าจำเป็นกักตุนไว้ล่วงหน้า กอรปกับอากาศหนาวที่กำลังมาเยือน ก็ยิ่งทำให้สินค้าเกษตรบางรายการขาดแคลน ซึ่งจะส่งผลให้อุปทานผลผลิตทางการเกษตรลดลงและกดดันให้ราคาถีบตัวสูงขึ้นไปอีก

ชาวจีนที่อาศัยในบางพื้นที่ก็พยายามหาทางออกเพื่อลดค่าใช้จ่าย เช่นชาวเมืองเซินเจิ้นก็เลือกที่จะเดินทางไปจับจ่ายใช้สอยที่ฮ่องกงมากขึ้น นอกจากนี้ วัยรุ่นเซี่ยงไฮ้บางส่วนยังยอมเหนื่อยจับรถไฟในคืนวันศุกร์ไปใช้ชีวิตและซื้อหาสินค้าจำเป็นในช่วงวันหยุดสัปดาห์ก่อนเดินทางกลับในช่วงเย็นวันอาทิตย์เพื่อมาทำงานต่อ เพราะราคาสินค้าและค่าครองชีพที่ฮ่องกงยังถูกกว่าที่เซี่ยงไฮ้ในเชิงเปรียบเทียบอยู่มาก

ขณะเดียวกัน ดัชนีราคาสินค้าผู้ผลิต (Producer Price Index: PPI) ก็เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.3 เมื่อเดือนกันยายนเป็นร้อยละ 5 ในเดือนตุลาคม ซึ่งสะท้อนถึงแรงกดดันของต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างร้อนแรงของจีน และการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน วัตถุดิบ และปัจจัยการผลิตอื่น

แต่หลายคนก็ชี้ว่า สาเหตุที่แท้จริงของปัญหาเงินเฟ้อในช่วงนี้ก็คือ สภาพคล่องส่วนเกิน (Excess Liquidity) อันเนื่องจากปริมาณเม็ดเงินทั้งภายในและต่างประเทศที่ถาโถมเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของจีน รวมทั้งความกังวลใจต่อเงินร้อน (Hot Money) ที่เข้ามาเก็งกำไรในจีน ซึ่งคาดว่าอาจสูงถึงกว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปัจจุบัน และมาตรการ QE2 (Quantitative Easing Program 2) ที่สหรัฐฯ ทยอยอัดเงินระลอกใหม่จำนวน 600,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้เม็ดเงินในระบบของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ทะลักไหลต่อไปยังประเทศอื่น ๆ และสร้างแรงกดดันไปยังเงินเฟ้อทั่วโลกได้

ก่อนหน้านี้ จีนได้กำหนดตัวเลขเป้าหมายสินเชื่อในปี 2553 ไว้ไม่เกิน 7.5 ล้านล้านหยวน ลดลงจาก 9.6 ล้านล้านหยวนของปีก่อน แต่ปรากฏว่า ในเดือนตุลาคมของปีนี้ สถาบันการเงินในจีนได้ปล่อยสินเชื่อไปอีก 587,700 ล้านหยวน แม้ว่าจะลดลงจาก 595,500 ล้านหยวนในเดือนกันยายน แต่ก็ส่งผลให้ในช่วง 10 เดือนแรกของปี มียอดสินเชื่อใหม่เข้าสู่ระบบรวมทั้งสิ้น 6.9 ล้านล้านหยวน ซึ่งสูงกว่าตัวเลขที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ค่อนข้างมาก ขณะเดียวกัน เม็ดเงิน M2 ในเดือนตุลาคมก็ขยายตัวถึงร้อยละ 19.3 สูงกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลจีนตั้งไว้ที่ร้อยละ 17 อยู่เช่นกัน เม็ดเงินสินเชื่อที่อัดเข้าสู่ระบบในช่วงปี 2552 และมาตรการด้านภาษีและเม็ดเงินอุดหนุนจำนวนหลายหมื่นล้านหยวนเพื่อ เพื่อสร้างสภาพคล่องในตลาด เสริมพลังให้กับธุรกิจในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม และกระตุ้นการบริโภคของผู้คนโดยเฉพาะในชนบท เพื่อประโยชน์ต่อภาคการผลิตและการจ้างงานภายในประเทศนั้น นับเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

นายทอมมี เซี๊ยะ (Tommy Xie) เศรษฐกรประจำธนาคารโอซีบีซี (OCBC Bank) ให้ความเห็นเกี่ยวกับการเกิดสภาวะเงินเฟ้อครั้งนี้ว่าเป็นปรากฏการณ์ทางการเงินที่เกิดขึ้นจากสภาพคล่องส่วนเกินและการขาดแคลนช่องทางการลงทุนภายในประเทศ การพยายามจำกัดช่องทางและขนาดการลงทุนของรัฐบาลจีนในช่วงที่ผ่านมา อาทิ ที่อยู่อาศัย ทองคำ และตลาดหลักทรัพย์ ทำให้นักเก็งกำไรหันไปมุ่งปั่นราคาสินค้าเกษตรในตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรในท้องตลาดพุ่งทะยานขึ้นอย่างรวดเร็ว

มาตรการแล้ว ... มาตรการเล่า

ที่ผ่านมา อาการ “ฟองสบู่” ที่เกิดขึ้นเป็นระยะในบางเมืองของจีนนับว่าเป็นสิ่งที่ค่อนข้างเป็นปกติ เนื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ร้อนแรงอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ต้องชมฝีมือ รัฐบาลจีนที่ดูเหมือนว่าจะจับกระแสและออกมาตรการที่เหมาะสมกดมิให้ฟองสบู่โป่งและแตกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครั้งนี้ก็เช่นกัน รัฐบาลจีนได้ออกมาตรการด้านการเงินมาอย่างต่อเนื่องนับแต่ต้นปีที่ผ่านมา เราลองมาไล่เหตุการณ์เหล่านั้นบางส่วนกันดู

  • ต้นเดือนธันวาคม 2552 คณะรัฐมนตรีของจีนได้ให้ความเห็นชอบให้เรียกเก็บภาษีธุรกิจร้อยละ 5.5 ของราคาขาย สำหรับเจ้าของบ้านที่ซื้อหาที่อยู่อาศัยมาไม่ถึง 5 ปี โดยให้มีผลบังคับใช้นับแต่ปี 2553
  • มกราคม 2553 รัฐบาลเซี่ยงไฮ้ ได้กำหนดให้ลดเพดานวงเงินผ่อนที่อยู่อาศัยในเมืองสำหรับ 2 คนลงจาก 600,000 หยวนเหลือ 400,000 หยวน
  • เมษายน 2553 รัฐบาลจีนออกมาตรการเพิ่มสัดส่วนของการวางเงินดาวน์เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 ของราคาบ้าน (จากเดิมร้อยละ 20) ในการซื้อหาบ้านหลังแรก ขณะที่การซื้อบ้านหลังที่ 2 ผู้ซื้อต้องวางเงินดาวน์เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 40 เป็นร้อยละ 50 และจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราที่สูงขึ้นอีกร้อยละ 15-20 จากอัตราพื้นฐาน นอกจากนี้ยังกำหนดให้ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยหลังที่ 3 ต้องชำระเงินสดทั้งหมดในคราวเดียว เพื่อสกัดการเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์
  • ตุลาคม-พฤศจิกายน รัฐบาลจีนได้ทยอยประกาศห้ามมิให้ชาวจีนในเมืองใหญ่ อย่างปักกิ่งเซี่ยงไฮ้ และเซินเจิ้น เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยมากกว่า 1 หลัง
  • วันที่ 20 ตุลาคม ธนาคารกลางของจีนได้สร้างความประหลาดใจด้วยการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 1 ปีอีกร้อยละ 0.25 เป็นร้อยละ 2.5 ซึ่งนับเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 3 ปี แต่ดูเหมือนว่าดอกเบี้ยเงินฝากจะยังต่ำกว่าค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ
  • วันที่ 15 พฤศจิกายน กระทรวงการเคหะและพัฒนาเมือง-ชนบทแห่งชาติ (Ministry of Housing and Urban-Rural Development) ได้ออกประกาศจำกัดการถือครองที่อยู่อาศัยของชาวต่างชาติในจีนแผ่นดินใหญ่ไม่ให้เกิน 1 หลัง
  • วันที่ 17 พฤศจิกายน ธนาคารชาติของจีนยังออกโรงเตือนธนาคารพาณิชย์อย่างเสียงเข้มว่ามิให้ปล่อยสินเชื่อใหม่ออกสู่ตลาดเกิดความคาดหวังอีก เพื่อหวังควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่กำลังร้อนแรงสุดในรอบ 25 เดือนลง การประกาศดังกล่าวนับเป็นครั้งที่ 2 ในรอบเดือนพฤศจิกายน และเป็นครั้งที่ 5 ในรอบปีนี้เข้าให้แล้ว

นอกจากนี้ แบ้งค์ชาติยังประกาศเพิ่มสัดส่วนสำรองเงินสดอีกร้อยละ 0.5 เป็นร้อยละ 18.5 ซึ่งมีผลนับแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน ศกนี้ ซึ่งมาตรการนี้น่าจะช่วยให้สามารถดึงเงินสดออกจากระบบได้อีก 50,000 ล้านหยวน มาตรการในครั้งนี้ประกาศออกมาต่อเนื่องหลังจากมาตรการเพิ่มสัดส่วนสำรองเงินสดคราวที่ผ่านมามีผลบังคับใช้ไปเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้

  • เพียงไม่กี่วันต่อมา รัฐบาลจีนก็ประกาศมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรรอบใหม่ อาทิ การปล่อยสินค้าเกษตรสำรองออกสู่ท้องตลาด อาทิ น้ำมันพืช ธัญพืช และน้ำตาล และควบคุมราคาสินค้าจำเป็นหลายรายการ โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง ถ่านหิน และสินค้าเกษตร ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวหันมาให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนสินค้าเกษตรเป็นอันดับแรก อาทิ การยกเว้นการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางด่วนสำหรับรถบรรทุกที่ขนส่งสินค้าสด เช่น ผัก ผลไม้ สินค้าประมง เนื้อสัตว์ ไข่ และนม โดยให้มีผลบังคับใช้นับแต่วันที่ 1 ธันวาคม เป็นต้นไป

นอกจากนี้ จีนเผชิญกับแรงกดดันที่พยายามรักษาเป้าหมายการอนุรักษ์พลังงานและลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามแผน 5 ปีฉบับที่ 11 ที่กำหนดไว้ร้อยละ 20 ให้ได้ โดยออกมาตรการให้ผู้ผลิตและผู้ค้าถ่านหินในแต่ละมณฑลรักษาอุปทานให้เหมาะสม การเคลื่อนย้ายถ่านหินออกนอกพื้นที่ของบางมณฑล/เมืองต้องได้รับหนังสืออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่นเสียก่อน ทั้งนี้ ประมาณ 3 ใน 4 ของปริมาณการผลิตกระแสไฟฟ้าในปัจจุบันต้องใช้ถ่านหินเป็นวัตถุดิบ และเพื่อการสร้างความอบอุ่นภายในตัวอาคารโดยเฉพาะภาคเหนือของจีน

นอกจากนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำมันดีเซลที่เกิดขึ้นอยู่เนือง ๆ และรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาวที่กำลังมาเยือน รัฐวิสาหกิจน้ำมันยักษ์ใหญ่ของจีนอย่างชิโนเปค (Sinopec) และปิโตรไชน่า (PetroChina) ก็ดีดตัวรับนโยบายใหม่ของจีนทันที โดยประกาศจะนำเข้าน้ำมันดีเซลในอนาคตรายละ 200,000 ตันต่อเดือน เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีน้ำมันดีเซลเพียงพอต่อความต้องการในอนาคต

นักวิชาการบางส่วนกล่าวว่า การควบคุมกลไกตลาดของรัฐทำให้อุปสงค์และอุปทานน้ำมันเชื้อเพลิง โดยเฉพาะน้ำมันดีเซล เสียสมดุลไป โดยในช่วงครึ่งแรกของปี โรงกลั่นน้ำมันของจีนต่างเพลิดเพลินกับการส่งออกน้ำมันดีเซลที่ได้ราคาดีกว่า เมื่อเทียบกับราคาภายในประเทศ (ที่ถูกควบคุมให้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น) จนทำให้ปริมาณน้ำมันดีเซลในบางพื้นที่ของจีนขาดแคลนในบางช่วง เกษตรกรซึ่งต้องต้องใช้น้ำมันดีเซลเพื่อการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวสินค้าเกษตร จึงไม่สามารถประกอบอาชีพได้มากเท่าที่ควร ส่งผลให้อุปทานสินค้าเกษตรในจีนพลอยแกว่งตัวไปด้วย

มาตรการสกัดเงินเฟ้อ ... ระลอกใหม่

หลายฝ่ายต่างคาดการณ์กันว่า จีนจะกำหนดมาตรการเกี่ยวกับการกำกับควบคุมเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพื่อมิให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น อาทิ การเพิ่มสัดส่วนเงินสำรองอีก 3-4 ครั้งในช่วงครึ่งปีแรก การกำหนดปริมาณสินเชื่อรายเดือน และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 4 ครั้งจากช่วงนี้ไปจนถึงกลางปีหน้า

นายสตีเวน กรีน (Stephen Green) หัวหน้าทีมวิจัยของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์ตเตอร์ (Standard Chartered Bank) ประจำประเทศจีน กล่าวว่า “เงินเฟ้อเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจมากที่สุดจากตลาด ... พวกเรายังคาดว่า จะมีการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีก แม้กระทั่งหลังการเพิ่มสัดส่วนสำรองครั้งใหม่”

นอกจากนี้ หลายฝ่ายยังประเมินว่า นโยบายและมาตรการการเงินอาจช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ในระยะสั้น แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างในระยะยาวได้ ผมจึงคาดว่า รัฐบาลจีนจะกำหนดมาตรการเกี่ยวกับการกำกับควบคุมเม็ดเงินเพิ่มเติมอีกมาก เพื่อกดมิให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นและปรับโครงสร้างการเงินในระยะยาว

รัฐบาลจีนกำลังเร่งแก้ไขปัญหาเงินเฟ้ออย่างเต็มที่ก่อนที่เม็ดเงินก้อนใหญ่รอบใหม่ที่ผู้คนจะออกมาจับจ่ายใช้สอยสินค้าในช่วงสิ้นปีนี้และต้นปีหน้าจะเข้าสู่ระบบอีกครั้ง แต่ดูท่าว่าปีนี้ รัฐบาลจีนจะพลาดเป้าอัตราเงินเฟ้อที่กำหนดไว้เป็นแน่แท้ และอาจปล่อยให้การเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้เล็กน้อย เพื่อรักษาตัวเลขระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แท้จริงในปีนี้ให้สวยหรูต่อไป

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ