เมื่อจีนหันมาให้ความสำคัญกับ “ความมั่งคั่งของประชาชน”

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 19, 2011 13:59 —กรมส่งเสริมการส่งออก

เปลี่ยนทิศเปลี่ยนทาง ... สู่ความมั่งคั่งของประชาชน

การเติบโตของเศรษฐกิจจีนนับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของโลกที่สร้างความตื่นตะลึงและอิจฉาตาร้อนให้กับมวลมนุษย์ทั่วทุกหัวระแหง แต่แท้ที่จริงแล้ว ความสำเร็จดังกล่าวมิใช่ว่าจะได้มาอย่างง่ายดาย เพราะนำไปสู่ปัญหาและมีต้นทุนทางสังคมที่สูงมากซ่อนเร้นอยู่ด้วย ในระยะหลังนี้ ปัญหาและต้นทุนดังกล่าวได้เริ่มเผยกายออกมาอย่างชัดเจน จนถึงขนาดว่า พรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลจีนต้องทบทวนแนวทางการพัฒนาและประกาศปรับเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาประเทศใหม่ โดยหันมาเน้นถึง “ความมั่งคั่งของประชาชน” (The Wealth of the People) มากขึ้น แทนที่จะเป็น “ความมั่งคั่งของประเทศ” (The Wealth of the Nation) ดังเช่นในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา

โดยเมื่อเดือนตุลาคม 2553 ที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 5 ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์สมัยที่ 17 ของจีนได้มีมติเห็นชอบกับ “แผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 12 (2554-2558)” ซึ่งต่อมาได้มีการลงนามรับรองแผนฯโดยท่านหลี่ เค่อเฉียง (Li Keqiang) ว่าที่นายกรัฐมนตรีของจีนในอีก 2 ปีข้างหน้า แผนฯ ดังกล่าวมีสาระสำคัญคือ การเปลี่ยนถ่ายรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจ (Transformation of Economic Development Mode) และการเปลี่ยนโครงสร้างการจัดสรร (Change of Distribution Pattern) เพื่อแก้ไขข้อขัดแย้งและปัญหาที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในช่วงที่ผ่านมา และเพื่อให้ประชาชนชาวจีนได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงจากผลสำเร็จของการปฏิรูปและพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ผ่านมาของรัฐบาล

การเปลี่ยนทิศทางของแนวทางและเป้าหมายการพัฒนาจากการเน้นในเชิง “ปริมาณ” มาเป็น “คุณภาพ” ที่หันมาให้ความสำคัญกับ “ความมั่งคั่งของประชาชน” ในครั้งนี้แสดงว่า พรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลจีนได้ยกระดับให้ “การปรับปรุงโครงสร้างการกระจายรายได้” เป็นประเด็นในระดับยุทธศาสตร์ของการพัฒนาประเทศ ซึ่งนับเป็นก้าวย่างสำคัญของการปรับเปลี่ยนแนวคิดด้านการบริหารจัดการของพรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลจีนในยุคใหม่

ถนนแห่งความสำเร็จในการพัฒนาประเทศ ... หนทางอีกยาวไกล

ภายหลังจากการปฏิรูปและเปิดประเทศมาเป็นระยะเวลากว่า 30 ปี จีนได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของโลก โดยปัจจุบัน ขนาดเศรษฐกิจจีนนับว่าใหญ่ที่สุดในบรรดาประเทศกำลังพัฒนา และเป็นอันดับที่ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา โดยแซงญี่ปุ่นเมื่อช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 (1.337 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ vs. 1.288 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ) จีนได้กลายเป็นฐานการผลิตใหญ่ที่สุดของโลก กล่าวคือ จีนเป็นแหล่งผลิตอันดับที่ 1 ในกว่าครึ่งหนึ่งของอุตสาหกรรมหลักของโลก มีบทบาทสำคัญในอีกหลายอุตสาหกรรม และมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 40-50 ของกำลังการผลิตที่มีอยู่โดยรวมของโลก

จีนยังพัฒนาและปฏิรูประบบการเกษตรอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้พื้นที่เพาะปลูกของจีนที่คิดเป็นเพียงร้อยละ 9 ของพื้นที่เพาะปลูกโดยรวมของโลก สามารถสร้างผลผลิตการเกษตรเพื่อเลี้ยงปากท้องประชากรกว่า 1,300 ล้านคน หรือถึงร้อยละ 20 ของประชากรโลกได้ การปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศทำให้คนในชนบทของจีนจำนวนถึง 240 ล้านคนหลุดพ้นจากความยากจน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 75 ของคนจนในประเทศกำลังพัฒนา นอกจากนี้ บทบาททางเศรษฐกิจของจีนในเวทีโลกก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประเมินว่า ในปี 2552 ที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เศรษฐกิจจีนอิทธิพลถึงครึ่งหนึ่งของภาพรวมเศรษฐกิจโลก ในช่วงปี 2549-2553 จีนยังมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยถึงประมาณร้อยละ 10 ด้วยขนาดและศักยภาพทางเศรษฐกิจดังกล่าวทำให้ประเทศตะวันตกต่างมองว่าเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการเปลี่ยนแกนอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก แม้ว่าจีนจะใหญ่ในเชิงภูมิศาสตร์และมากในเชิงจำนวนประชากร แต่ความใหญ่และมากมิได้ชี้ถึงความแข็งแกร่งเสมอไป เพราะในขณะที่เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างรวดเร็วและค่อนข้างมีเสถียรภาพ จีนก็ประสบปัญหาในเชิงโครงสร้างด้านเศรษฐกิจและสังคมด้วยเช่นกัน ประการสำคัญ ปัญหาและผลข้างเคียงดังกล่าวดูเหมือนว่าจะมีแนวโน้มรุนแรงมากยิ่งขึ้น

จากสถิติในรายงานของธนาคารโลก (World Bank) ประจำปี 2553 ระบุว่า ณ ปี 2551ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติต่อหัว (Per Capita GNP) ของจีนยังมีอยู่ที่ระดับเพียง 2,940 เหรียญสหรัฐฯ (อันดับที่ 130 ของโลก) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund) ระบุว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัว (Per Capita GDP) อยู่ที่ 3,200 เหรียญสหรัฐฯ (อันดับที่ 105 ของโลก) ซึ่งทั้งสองกรณีจัดอยู่ในระดับประเทศกลุ่มที่มีรายได้ปานกลาง-ต่ำ

แม้ว่าในปี 2552 จีนจะฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจโลกไปได้อย่างงดงาม ส่งผลให้ Per Capita GDP จะทะยานขึ้นไปแตะ 3,600 เหรียญสหรัฐฯ แต่ก็คิดเป็นเพียงร้อยละ 30 ของรายได้เฉลี่ยของโลก ยังมีชาวจีนอีกถึงกว่า 150 ล้านคนที่มีรายได้ต่ำกว่ามาตรฐานรายได้ 1 เหรียญสหรัฐฯ ต่อวันขององค์การสหประชาชาติ (United Nations) และมีมากกว่า 40 ล้านคนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจน (Poverty Line) สถิติในปี 2551 ยังระบุว่ามีชาวจีนในเมืองที่ว่างงานอยู่ถึง 8.86 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 3 ของประชากรออสเตรเลีย ขณะที่จีนประสบความสำเร็จในการเพิ่มช่วงอายุเฉลี่ยของชาวจีนให้ยืนยาวขึ้นจาก 35 ปีก่อนปี 2492 เป็นเฉลี่ยถึง 73 ปีในปัจจุบัน แต่ในอีกด้านหนึ่ง จีนก็กำลังเผชิญกับการเป็น “สังคมคนแก่” (Aging Society) โดยมีสัดส่วนของคนที่มีอายุมากกว่า 60 ปีอยู่ถึงร้อยละ 12.5 ของจำนวนประชากรโดยรวม ผู้คนส่วนใหญ่กำลังเจอกับความเป็นจริงที่ว่า “แก่ก่อนรวย” กันอย่างทั่วหน้า ซึ่งหมายความว่า พรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลจีนมีโจทย์ข้อใหญ่เกี่ยวกับการปรับปรุงระบบสวัสดิการคนชราในจีนรออยู่ นอกจากนี้ มาตรฐานการครองชีพของชาวจีนยังต่ำกว่าอันดับของขนาดเศรษฐกิจที่ปรากฏอยู่มาก แม้ว่าในภาพรวม จีนจะประสบความสำเร็จในการเพิ่มจำนวนนักศึกษาระดับปริญญาจากเพียง 860,000 คนในปี 2521 เป็นกว่า 22,852,000 คนในปี 2552 แต่คนจีนในชนบทจำนวนมากก็ยังประสบปัญหาอย่างรุนแรงในด้านการศึกษา ขณะเดียวกันปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่อยู่อาศัย และการสาธารณสุขที่ไม่มีมาตรฐานและกระจายตัวในวงจำกัดก็ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่รอคอยการแก้ไข

นอกจากปัญหาดังกล่าวแล้ว พรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลจีนยังต้องทนต่อแรงเสียดทานในหลายด้านเพื่อให้สามารถก้าวผ่านเข้าสู่เป้าหมายตามนโยบายใหม่ได้ โดยในระดับมหภาค ความท้าทายประการหนึ่งของจีนคือ การระวังมิให้เศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการต่างประเทศตกอยู่ใน “กับดักชนชั้นกลาง” (Middle Income Trap) ในช่วงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ผ่านมา เราได้เห็นการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของราคาปัจจัยการผลิต ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน ทรัพยากร พลังงาน และแรงงาน ขณะที่ผลตอบแทนต่อการลงทุนและความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของจีนมีแนวโน้มที่ลดลงไปอย่างต่อเนื่องท่ามกลางปัญหาและแรงกดดันในหลายด้านที่ผุดขึ้น ตัวอย่างเช่น อัตราค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในพื้นที่แถบชายฝั่งทะเลด้านซีกตะวันออกของจีน การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าจำเป็นและอัตราเงินเฟ้อ การขยายตัวของชุมชนเมืองที่ขาดความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน มลพิษที่รุนแรง รถติด ความไม่พอเพียงของบริการสาธารณะ และอาชญากรรม รวมทั้งความขัดแย้งและไม่สมดุลระหว่างภาครัฐกับสังคม แรงงานกับทุน คนรวยกับคนจน มนุษย์กับธรรมชาติ เป็นต้น

ในทางการเมือง ผู้ที่เคยได้รับประโยชน์จากแนวทางการพัฒนาประเทศที่ผ่านมาก็คงไม่ต้องการจะเสียผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับในอนาคต และอาจขัดขวางการดำเนินการตามแผนฯ ใหม่ นอกจากนี้ ในเวทีเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ จีนก็กำลังเผชิญกับแรงกดดันจากความคาดหวังของนานาประเทศที่ต้องการผลักดันให้จีนเป็น “พี่ใหญ่” ทาบชั้นสหรัฐฯ กลุ่มสหภาพยุโรป และญี่ปุ่นท่ามกลาง “ภัยคุกคาม” หลากหลายรูปแบบ และ “ข้อจำกัด” ในการดำเนินมาตรการสนับสนุนส่งเสริมสินค้า บริการ แรงงาน และเงินทุนของจีนสู่ตลาดโลกที่กำลังขยายวงกว้างขึ้นทุกขณะ

เพื่อก้าวต่อไป ... งานใหญ่มากมาย รออยู่

ด้วยเหตุนี้ พรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลจีนจึงได้กำหนดทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในช่วง 5 ปีข้างหน้าเสียใหม่ โดยให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนรูปแบบการเติบโตทาง เศรษฐกิจ การขจัดเส้นทางการเติบโตที่ขาดสมดุลนับเป็นภารกิจหลักของจีนในอนาคต แผนดังกล่าวยังระบุถึงการดำเนินการเพื่อแก้ไขข้อขัดแย้งและปัญหาอุปสรรคหลักที่เกิดขึ้นในช่วงของการพัฒนาที่ผ่านมา อาทิ การปรับปรุงกลไกการจัดสรรทรัพยากร การเปลี่ยนโครงสร้างการกระจายรายได้ การยกเลิกระบบการขึ้นทะเบียนสำมะโนประชากรคู่ขนานในเมืองและชนบท (Dual Urban and Rural Household Registration System) และนวัตกรรมของระบบบริการสาธารณะ เป็นต้น

การขจัดเส้นทางการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ขาดสมดุล

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การบริโภค การลงทุน และการส่งออกนับเป็นเครื่องจักรสำคัญที่เสริมสร้างการเติบใหญ่ของเศรษฐกิจจีน ระหว่างปี 2544-2550 บทบาทของภาคการส่งออกที่มีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจพุ่งสูงถึงร้อยละ 63.9 ขณะที่การลงทุนมีบทบาทร้อยละ 26.1 และการบริโภคมีบทบาทเพียงร้อยละ 35 ณ ปี 2551 และแม้ว่าการบริโภคจะเพิ่มอิทธิพลต่อเศรษฐกิจเป็นถึงร้อยละ 50 ในปี 2552 แต่ก็ยังนับว่าต่ำกว่าของสหรัฐฯ ที่สูงถึงร้อยละ 70 อยู่มาก ภาคการบริโภคภายในประเทศของจีนที่มีขนาดเศรษฐกิจค่อนข้างเล็กส่งผลให้ความยืดหยุ่นของเศรษฐกิจจีนถูกจำกัดลงไปโดยปริยาย

วิกฤติทางการเงินและเศรษฐกิจโลกในปี 2551 ทำให้จีนตระหนักดีถึงความอ่อนแอและสลับซับซ้อนของตลาดต่างประเทศ วิกฤติดังกล่าวทำให้รูปแบบการผลิตและการบริโภคของประเทศพัฒนาแล้วได้เปลี่ยนหน้าตาไปอย่างสิ้นเชิง ส่งผลให้กลยุทธ์พึ่งพาการส่งออกของจีนที่ดำเนินมาเป็นระยะเวลานานสั่นคลอนและส่อเค้าว่าจะไม่ยั่งยืนต่อการพัฒนา ขณะที่ขนาดเศรษฐกิจของจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง บทบาทของภาคการส่งออกต่อการพัฒนาเศรษฐกิจกลับอ่อนแรงลง การสร้างกลไกในการขยายอุปสงค์ภายในประเทศในระยะยาวได้กลายเป็นทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่สำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนของจีน

จีนยังได้ปรับโครงสร้างของอุตสาหกรรมเป้าหมายในอนาคตเสียใหม่ โดยยกระดับให้อุตสาหกรรมประหยัดพลังงานและปกป้องสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีสารสนเทศยุคใหม่ ชีวภาพ และการผลิตเครื่องจักรเครื่องมือระดับสูงเป็นอุตสาหกรรมเสาหลัก (Pillar Industry) ของจีนในอนาคต โดยยึดหลักที่ว่าอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้จะต้องส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและมาตรฐานการใช้ทรัพยากรที่ต่ำ การปลดปล่อยมลพิษที่น้อย และการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากทรัพยากรมนุษย์

ขณะที่อุตสาหกรรมพลังงาน วัสดุใหม่ และยานยนต์ที่ใช้พลังงานรูปแบบใหม่เป็นอุตสาหกรรมชั้นนำ (Leading Industry) ทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่จีนให้อุตสาหกรรมที่ใช้ภูมิปัญญาเข้มข้น (Knowledge-Intensive) การประหยัดพลังงาน และสิ่งแวดล้อมเป็นอุตสาหกรรมเสาหลัก จากเดิมที่จำกัดอยู่กลุ่มอุตสาหกรรมดั้งเดิม อาทิ ยานยนต์ เหล็กและเหล็กกล้า และวัสดุก่อสร้าง นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังกำหนดเป้าหมายให้อุตสาหกรรมดาวรุ่ง (Emerging Industry) ทั้งสองกลุ่มจะมีสัดส่วนของมูลค่าเพิ่มต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3 ในปัจจุบันเป็นร้อยละ 8 ภายในปี 2558 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 15 ภายในปี 2563 นักวิชาการบางส่วนยังประเมินว่า มูลค่าผลผลิตของอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ดังกล่าวจะพุ่งสูงถึง 4.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2558 และเป็น 10.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2563 การปรับปรุงระดับของกลไกตลาด

การเพิ่มระดับการปรับปรุงกลไกตลาดและการเติมพลังทางเศรษฐกิจให้มีชีวิตชีวาจึงนับเป็นอีกภาระกิจสำคัญของรัฐบาลจีน นับแต่เปิดประเทศครั้งใหม่ ระบบเศรษฐกิจของจีนได้เปิดให้ภาคเอกชนและสินค้า/บริการต่างชาติเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภายหลังการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกเมื่อปี 2544 จีนนำเข้าสินค้า Commodity เฉลี่ยถึงปีละประมาณ 687,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ การเปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนยังทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่รองรับการลงทุนจากต่างประเทศมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดย ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา จีนรองรับการลงทุนฯ รวมถึง 1.05 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ สูงเป็นอันดับ 1 ต่อเนื่องกันถึง 18 ปีในบรรดาประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน

อย่างไรก็ดี โดยข้อเท็จจริงยังพบว่า ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีของจีนยังไม่เปิดกว้างมากนัก กิจการรายใหญ่โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายของจีนส่วนใหญ่ยังมีสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจ ตลาดยังพัฒนาไปอย่างล่าช้า กลไกการกำหนดราคาทรัพยากรที่เป็นเสรียังไม่ปรากฏชัดเจน การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศก็ยังมีการบ้านเหลืออยู่อีกมาก ขณะที่การปฏิรูประบบการผูกขาดก็ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ การแทรกแซงของภาครัฐยังมีให้เห็นมากมายในกิจกรรมเศรษฐกิจระดับจุลภาค และภาครัฐยังคงกำกับควบคุมราคาสินค้าในแต่ละระดับอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ยังพบว่า การเติบโตอย่างรวดเร็วของภาคการลงทุนและการบริโภคในช่วงหลายปีที่ผ่านมาล้วนเป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายของภาครัฐเกือบทั้งสิ้น การปรับโครงสร้างการกระจายรายได้

การเร่งปรับโครงสร้างการกระจายรายได้ และสร้างสมดุลระหว่างการเพิ่มขึ้นและการกระจายของรายได้ก็เป็นภารกิจสำคัญอีกข้อหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลจีนในยุคหน้า ปัจจุบัน โครงสร้างรายได้ระหว่างพนักงานของรัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไปยังขาดสมดุลระหว่างกัน ขณะเดียวกันระดับรายได้ระหว่างคนที่อาศัยอยู่ในเมืองและชนบทก็แตกต่างกันอยู่มาก นอกจากนี้ ความเหลื่อมล้ำของรายได้ของผู้คนในแต่ละภูมิภาคและอุตสาหกรรมก็มีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้น และอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่กดดันรัฐบาลจีนทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองได้ในอนาคต การสร้างสมดุลดังกล่าวให้เกิดขึ้นอย่างถ้วนทั่วเป็นสิ่งที่ยากต่อการปฏิบัติโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะสั้น และอาจส่งผลให้ประชาชนบางส่วนต้องได้รับผลกระทบในเชิงลบในอนาคต ท่ามกลางแรงกดดันที่รัฐบาลจีนต้องสร้างความมั่นใจว่า ชาวจีนจะได้รับการคุ้มครองรายได้และทรัพย์สินส่วนบุคคลที่พึงจะมีอยู่ต่อไป รวมทั้งการขยายฐานสัดส่วนของชนชั้นกลางในอนาคต

การยกเลิกระบบการขึ้นทะเบียนสำมะโนประชากรคู่ขนานในเมืองและชนบท

แผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 12 ยังให้ความสำคัญกับการยกเลิกระบบการขึ้นสำมะโนประชากรคู่ขนานฯ เพื่อให้คนในชนบทที่โยกย้ายถิ่นฐานมาอาศัยและทำงานในเมืองได้รับสวัสดิการรักษาพยาบาล การศึกษา ที่อยู่อาศัย และสวัสดิการอื่น ๆ ที่เท่าเทียมกัน นอกจากนี้ แผนดังกล่าวฯ ยังจะเร่งความเร็วในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและสร้างชุมชนเมืองที่ดีเป็นกลไลสำคัญในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างคนในเมืองและชนบท ข้อมูลจากสมุดปกฟ้าเรื่อง “China Urban Development” ตีพิมพ์โดยสถาบันสังคมวิทยาแห่งชาติจีน (Chinese Academy of Social Sciences: CASS) ระบุว่า ในช่วงปี 2539-2548 จำนวนประชากรในชุมชนเมืองเพิ่มขึ้นเฉลี่ยมากกว่า 20 ล้านคนต่อปี และเพิ่มขึ้นประมาณ 15 ล้านคนต่อปีในช่วงปี 2549-2552 รวมคิดเป็นเกือบ 2 เท่าของจำนวนประชากรของสหรัฐฯ หรือประมาณ 1 ใน 4 ของ 27 ประเทศในสหภาพยุโรป ระหว่างปี 2543-2552 อัตราการเติบโตของชุมชนเมืองเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 36.2 เป็นร้อยละ 46.6 ส่งผลให้จำนวนประชากรในเมืองเพิ่มขึ้นจาก 460 ล้านคนเป็น 620 ล้านคน

นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังประเมินว่า ในช่วง 5 ปีของแผนฯ สัดส่วนของชุมชนเมืองจะพุ่งขึ้นเป็นร้อยละ 52 ของทั้งหมด อันจะส่งผลให้วิถีชีวิตและโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของชาวจีนเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ความเร็วในการเติบโตของชุมชนเมืองในจีนยังไม่สอดคล้องกับคุณภาพ เช่น การขาดแคลนทรัพยากร โครงสร้างพื้นฐาน และบริการสาธารณะ ปัญหาการจราจร มลพิษ และอื่น ๆ นำไปสู่ปัญหาที่ตามมามากมาย ทำอย่างไรจะทำให้ชุมชนเมืองในอนาคตน่าอยู่ สมดุลกับภาคการเกษตรและสิ่งแวดล้อม และมีความสามารถในการแข่งขันที่สูง จีนยังจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาจำนวนเกษตรกรที่ลดลงและที่ดินเพื่อการเกษตรที่หดหายไปอย่างต่อเนื่อง ในช่วงปี 2543-2551 พื้นที่ของชุมชนเมืองเพิ่มขึ้นจาก 20,400 ตารางกิโลเมตรเป็น 36,300 ตารางกิโลเมตร หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 62 ในช่วงเวลา 8 ปี พื้นที่ในชนบทจะถูกปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่สำหรับชุมชนเมืองมากขึ้นในอนาคต ซึ่งจะมีค่าเช่าที่ดินที่แตกต่างกันมาก ประเด็นสำคัญคือใครจะเป็นผู้ที่จัดสรรความมั่งคั่งที่เกิดขึ้นให้เกิดความเป็นธรรมและอยู่บนกลไกเช่นใด

ความท้าทายและผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้น

การเปลี่ยนแนวคิดจาก “ความมั่งคั่งของประเทศ” ไปสู่ “ความมั่งคั่งของประชาชน” และจากเชิง “ปริมาณ” ไปสู่ “คุณภาพ” จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยพื้นฐานสนับสนุนในหลายภาคส่วน โดยเฉพาะด้านการปฏิรูปการเมือง เพราะหากรูปแบบของการกระจายอำนาจไม่เหมาะสมและกรอบของระบบการเมืองยังไม่สมเหตุสมผลแล้วล่ะก็ ปัญหาความมั่งคั่งของประชาชนก็คงยังจะไม่ได้รับการแก้ไขในเชิงโครงสร้าง กุญแจสำคัญจึงไปอยู่ที่การกระจายอำนาจและผลกำไรไปสู่ภาคประชาชน ท่านเวิน เจียเป่า (Wen Jiabao) นายกรัฐมนตรีของจีนได้กล่าวไว้ว่า “หากการปฏิรูประบบการเมืองมิได้รับการปกป้อง ผลสำเร็จของการปฏิรูประบบเศรษฐกิจก็จะได้รับความเสียหาย”

ประการสำคัญ หลายฝ่ายเชื่อกันว่า แนวคิดดังกล่าวยังน่าจะส่งผลดีแก่เศรษฐกิจจีนในด้านหลายมิติ แต่จำเป็นต้องอาศัยมาตรการมากมายอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ตัวอย่างเช่น ในระยะสั้น เพื่อเพิ่มอุปสงค์ภายในประเทศ จีนจำเป็นต้องเพิ่มรายได้ของประชากร จีนควรเริ่มจากการยกระดับระดับของความกินดีอยู่ดี และปรับปรุงกลไกการประกันสังคม เพื่อสร้างความมั่นใจในชีวิตความเป็นอยู่ในอนาคต ก่อนที่จะเพิ่มอำนาจซื้อ การดำเนินมาตรการดังกล่าวจะขยายการบริโภคและนำไปสู่การเพิ่มอุปสงค์ภายในประเทศในที่สุด

ในระยะยาว การดำเนินนโยบายตามแผนดังกล่าวจะช่วยสร้างความเท่าเทียมกันและความเป็นธรรมทางสังคม ลดช่องทางระหว่างคนรวยกับคนจน และระหว่างภูมิภาค และส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงเชิงยุทธศาสตร์ด้านคุณภาพในการพัฒนาประเทศ

ดูเหมือนพรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลจีนกำลังส่งสัญญาณครั้งใหม่เพื่อบอกชาวโลกว่า ภาพความสำเร็จในการพัฒนาประเทศที่หลายฝ่ายได้เห็นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เป็นเพียงหนังกำลังภายในตอนแรก ๆ ประเทศจีนยังมีผู้กำกับ ดารา เทคโนโลยี กำลังทรัพย์ และอื่น ๆ มากมายที่พร้อมจะมาร่วมสร้างภาพยนตร์คุณภาพดีอีกหลายตอนให้ชาวโลกติดตามชมกันต่อไปในอนาคต

ถ้าหนังตอนต่อ ๆ ไปสนุกเร้าใจ และพวกเราคนไทยตีตั๋วเข้าไปดูทัน ก็คงเป็นประโยชน์กับประเทศไทยในฐานะบ้านพี่เมืองน้องไม่มากก็น้อย ... แต่ยังไงก็อย่าให้ค่าตั๋วแพงนักนะครับ

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ