สรุปสภาวะตลาดสหรัฐฯ สินค้ากล้วยไม้

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 20, 2011 16:01 —กรมส่งเสริมการส่งออก

I ตลาดการบริโภค

1. กล้วยไม้ที่เป็นที่นิยมบริโภคแพร่หลายในตลาดสหรัฐฯ กล้วยไม้ในตลาดสหรัฐฯมีหลากหลายชนิดด้วยกัน แต่ที่เป็นที่นิยมบริโภคและมีวางจำหน่ายแพร่หลายจนอาจเรียกได้ว่าเป็น mass market orchid หรือ supermarket orchid มีอยู่ 3 สายพันธุ์คือ

1.1 กล้วยไม้ตระกูล Dendrobium

กล้วยไม้ตัดดอกหรือมัดช่อที่วางจำหน่ายในตลาดสหรัฐฯมีหลายพันธุ์ แต่ที่เป็นที่นิยมสูงสุดคือสายพันธุ์ Dendrobium ทั้งที่เป็นสีชมพู สีม่วง และสีขาว ระดับราคาจะแตกต่างกันไปตามความเข้มของสี (ซึ่งสีม่วงหรือ Purple Dendrobium จะมีราคาดีที่สุด) ขนาดของดอก จำนวนดอกต่อก้าน และความยาวของก้าน กล้วยไม้ประเภทนี้นิยมบริโภคในลักษณะมัดเป็นช่อหรือร้อยเป็นมาลัยคล้องคอ (lei) ใช้ในงานพิธีสำเร็จการศึกษา พิธีต้อนรับและพิธีแต่งงานตามธรรมเนียมฮาวาย ดังนั้นฤดูกาลขายสำคัญจึงอยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคม — มิถุนายนซึ่งเป็นช่วงสิ้นสุดปีการศึกษา และ ฤดูใบไม้ผลิสำหรับฤดูการแต่งงานในฮาวาย และ ฤดูร้อนสำหรับฤดูการท่องเที่ยวของฮาวาย

1.2. กล้วยไม้ตระกูล Phalaenopsis

เกินกว่าร้อยละ 90 ของต้นกล้วยไม้ในกระถางที่วางจำหน่ายในตลาดสหรัฐฯเป็นต้นกล้วยไม้ในตระกูล Phalaenopsis เนื่อง จากเป็นต้นกล้วยไม้ที่ปลูกง่าย ไม่ค่อยมีโรค มีดอกและใบที่สวยงาม มีอายุการบานนานเป็นเดือน เหมาะสำหรับเป็นต้นกล้วยไม้ปลูกในบ้าน (houseplants) และมีราคาขายปลีกไม่แพงเกินไป (ราคาขายปลีกในรัฐแคลิฟอร์เนียจะเริ่มต้นที่ประมาณ 15 เหรียญฯขึ้นไป จนถึงหลายสิบเหรียญฯ ขึ้นอยู่กับสี จำนวนก้าน/ดอก ขนาดของดอก ความสมบูรณ์ของต้นความแปลกของดอกและสี วิธีการจัดลงในกระถาง และประเภทของร้านค้าปลีก) ต้นกล้วยไม้สายพันธุ์ Phalaenopsis จึงเหมาะสำหรับผู้บริโภคทั่วไปและได้รับความนิยมสูงสุดในตลาดสหรัฐฯ มีวางจำหน่ายแพร่หลาย มีหลากสีและหลากหลายสายพันธุ์ ที่เป็นที่นิยมและมีวางจำหน่ายมากที่สุด คือสีขาว สีชมพู และสีม่วง ปลูกในกระถางที่มีทั้งที่เป็นถ้วยพลาสติกสีขาวขนาดปากถ้วยประมาณ 2 นิ้ว กระถางดินเผา และกระถางเซรามิก ขนาดกระถางที่นิยมคือ 3 นิ้ว 4 นิ้ว 5 นิ้ว และ 6 นิ้ว ฤดู ขายสำคัญคือประมาณต้นฤดูใบไม้ร่วง — ฤดูใบไม้ผลิซึ่งเป็นช่วงที่กล้วยไม้กำลังออกดอกงาม ผู้บริโภคนิยมซื้อไปแต่งบ้านและให้เป็นของขวัญ กล้วยไม้ Phalaenopsis ในกระถางถือได้ว่าเป็น “corporate gifts” อันดับหนึ่งที่บริษัทธุรกิจในสหรัฐฯนิยมใช้เป็นของขวัญให้แก่ลูกค้าอย่างแพร่หลาย และเป็นกล้วยไม้ที่ได้รับความนิยมบริโภคสูงสุดในตลาดธุรกิจตกแต่งภายในบ้าน

1.3. ต้นกล้วยไม้พันธุ์ cymbidiums

โดยปกติแล้วตลาด cymbidiums อยู่ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ — พฤษภาคม (ฤดูใบไม้ผลิ) ในบางพื้นที่ตลาดจะเริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม (ฤดูหนาว)ที่ cymbidiums กำลังออกช่องาม ตลาดสหรัฐฯนิยม cymbidiums ทั้งที่เป็นดอกใหญ่และที่เป็นดอกเล็ก (miniature cymbidiums) เป็นกล้วยไม้ที่วางจำหน่ายแพร่หลายในกระถาง ราคาจำหน่ายปลีกต่อกระถางในรัฐแคลิฟอร์เนีย เริ่มต้นที่ประมาณ 20 เหรียญฯขึ้นไปทั้งขึ้นอยู่กับจำนวน ช่อ ดอก สี ขนาดของดอก ความสมบูรณ์ของต้นและประเภทของร้านค้าปลีกที่วางจำหน่าย นอก จากจะจำหน่ายเป็นต้นแล้ว cymbidiums ยังเป็นกล้วยไม้ตัดดอกที่นิยมใช้มากที่สุดในงานแต่งงานโดยมัดเป็นช่อสำหรับเจ้าสาวถือ ใช้ประดับตกแต่งในงานหรือแม้กระทั่งประดับบนเค๊ก นอกจากนี้ ยังใช้เป็นดอกไม้สำหรับใส่ที่ข้อมือ (wrist corsage) สำหรับใช้ในวันแม่หรือวันแต่งงาน หรือเทศกาลอีสเตอร์

1.4. ต้นกล้วยไม้พันธุ์ Onicidum นิยมใช้เป็นต้นกล้วยไม้ปลูกในบ้านเนื่องจากปลูกง่ายหรือมัดเป็นช่อจัดแจกันเป็น center pieces บนโต๊ะอาหารในงานเลี้ยงหรืองานแต่งงาน เนื่องจากมีช่อยาวดอกเยอะและมีสีแปลกๆที่ไม่เหมือนกล้วยไม้อื่นๆ ฤดูหลักของการจำหน่ายคือฤดูใบไม้ร่วงและฤดูใบไม้ผลิซึ่งเป็นช่วงที่กล้วยไม้กำลังออกดอกมากที่สุด Onicium ในตลาดสหรัฐฯ มีหลายสีด้วยกันแต่ที่มีวางจำหน่ายมากที่สุดดคือสีเหลืองหรือที่เรียกว่า “Dancing Ladies” สีแดงผสมขาวหรือ Sherry Baby และสีแดงเข้มออกน้ำตาล “Chocolate” นอกจาก Onicium แล้วในตลาดสหรับฯยังมีกล้วยไม้อื่นๆที่เป็นพันธุ์ผสมระหว่าง Onicium และกล้วยไม้สายพันธุ์อื่นที่ให้ดอกที่มีรูปร่างใกล้เคียงกับ Onicium วางจำหน่ายแพร่หลายด้วยเช่นกัน ราคาขายปลีกในรัฐแคลิฟอร์เนียจะเริ่มต้นที่ประมาณกระถางละ 15 เหรียญฯขึ้นไปขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้นจำนวนกิ่งและดอก สี และประเภทของร้านค้าปลีกที่วางจำหน่าย

นอกจากกล้วยไม้ทั้งสี่สายพันธุ์ข้างต้นแล้ว ยังมีอีกสามสายพันธุ์ที่มีวางจำหน่ายแพร่หลายรองลงมาในตลาดสหรัฐฯคือ

1. Cattleya มีจำหน่ายทุกฤดูกาล เป็นดอกไม้ที่นิยมใช้ทำเป็น wrist corsage มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานรับประกาศนียบัตรของนักเรียนมัธยมปลาย

2. ltonia หรือ Pansy Orchid ฤดูกาลขายคือฤดูใบไม้ผลิต เป็นกล้วยไม้ที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

3. Paphiopedilum (lady slipper orchid)

2. แหล่งบริโภคหลักและพฤติกรรมการบริโภค

2.1. ตลาดสำคัญของการบริโภคต้นกล้วยไม้คือรัฐทางฝั่งตะวันตกและภาคใต้ของสหรัฐฯซึ่งเป็นแหล่งรวมหนาแน่นของความต้องการบริโภคและมีอัตราการบริโภคต่อคนต่อปีของสินค้าดอกไม้และต้นไม้ในระดับสูง มีประมาณการณ์ว่ามูลค่าตลาดค้าส่งกล้วยไม้ในเขตนี้รวมกันคิดเป็นร้อยละ 90 ของมูลค่าค้าส่งกล้วยไม้ทั่วสหรัฐฯ

2.2. ในระยะสิบปีที่ผ่านมาความนิยมบริโภคกล้วยไม้ในสหรัฐฯจะเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่กว่าครึ่งหนึ่งของผู้บริโภคสหรัฐฯที่ซื้อต้นกล้วยไม้ไม่รู้จักชื่อของกล้วยไม้ที่ตนซื้อ

2.3. ราคาเป็นเงื่อนไขสำคัญสูงสุดของการตัดสินใจซื้อสินค้า รองลงมาคือขนาดของดอก และสายพันธุ์

2.4. ผู้บริโภคส่วนใหญ่ชอบกล้วยไม้ที่มีหลากสี สีแปลกๆและที่เป็นสีเข้ม

2.5. ฤดูกาลที่ผู้บริโภคสหรัฐฯนิยมซื้อดอกไม้/ต้นไม้ (ซึ่งรวมถึงกล้วยไม้) ไปใช้มากที่สุดเรียงตามลำดับคือ

              (ก) Christmas/Hanukkah           (ข) Mother’s Day
              (ค) Valentine’s Day              (ง) Easter/Passover

(จ) Thanksgiving

II สรุปสภาวะการณ์โดยทั่วไปของตลาดแยกตามประเภทของสินค้า

ตลาดกล้วยไม้ของสหรัฐฯกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีประมาณการณ์ว่าตลาดกล้วยไม้สหรัฐฯปัจจุบันมีมูลค่าเกินกว่า 160 ล้านเหรียญฯต่อปี อย่างไรก็ดีสภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯปัจจุบันกำลังเป็นเงื่อนไขที่ทำให้การขยายตัวของตลาดกล้วยไม้สหรัฐฯชะลอตัวลง

1. สรุปสถานะการณ์ทั่วไปของตลาดต้นกล้วยไม้

ต้นกล้วยไม้ในกระถางเป็นสินค้าต้นไม้ (nursery products) ที่กำลังอยู่ในสมัยนิยมในปัจจุบันได้รับความนิยมบริโภคมากที่สุดเป็นอันดับสองรองจากต้น poinsettias (อันดับที่ 3 คือ chrysanthemums) มีอัตราการขยายตัวของตลาดรวดเร็วที่สุดในกลุ่มสินค้าต้นไม้ทั้งหมด แม้ว่าจะมี ราคาต่อต้นสูงสุด (ราคาขายส่งในปี 2005 เฉลี่ยประมาณต้นละ 8 เหรียญฯ ในขณะที่ราคาต้นไม้ทั่วไปจะเฉลี่ยที่ประมาณ 3.66 เหรียญฯต่อต้น) ในแต่ละปียอดจำหน่ายกล้วยไม้กระถางเป็นรองเฉพาะต้น poinsettiasในกระถางเท่านั้น

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯประมาณการณ์ว่าในปี 2005 (สถิติล่าสุด) สหรัฐฯมีผู้ผลิตต้นกล้วยไม้รวมทั้งสิ้นประมาณ 217 ราย ผลิตต้นกล้วยไม้ออกจำหน่ายประมาณ 18 ล้านกระถางประมาณ 11.6 ล้านอยู่ในกระถางขนาดเล็กกว่า 5 นิ้ว ที่เหลืออยู่ในกระถางขนาดตั้งแต่ 5 นิ้วขึ้นไป ราคาขายส่งเฉลี่ย 8 เหรียญฯต่อกระถาง (กระถางขนาดเล็กกว่า 5 นิ้วราคาขายส่งเฉลี่ยประมาณ 6.41 เหรียญฯต่อกระถาง กระถางขนาดตั้งแต่ 5 นิ้วขึ้นไปราคาขายส่งเฉลี่ยประมาณ 10.9 เหรียญฯต่อกระถาง) ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93 จะขายเข้าสู่ตลาดค้าส่ง มูลค่าตลาดค้าส่งประมาณ 144 ล้านเหรียญฯ ผู้ผลิตแต่ละรายจะมีรายได้จากการขายในปี 2005 เฉลี่ยรายละประมาณ 7 แสนเหรียญฯ

2. สรุปสถานะการณ์ตลาดกล้วยไม้ตัดดอกของสหรัฐฯ

จากรายงานของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯระบุว่าในปี 2005 สหรัฐฯมีผู้ปลูกกล้วยไมัตัดดอกอยู่ประมาณ 60 ราย ราคาขายส่งเฉลี่ย 0.67 เหรียญฯต่อหน่วย กล้วยไม้ตัดดอกทั้งหมดจะถูกส่งเข้าตลาดค้าปลีก เฉลี่ยยอดจำหน่ายในปีนั้นเท่ากับ 1.15 แสนเหรียญฯต่อผู้ปลูกหนึ่งราย

III แหล่งที่มาของสินค้า

1. การผลิตในประเทศสหรัฐฯ

การผลิตกล้วยไม้ในสหรัฐฯมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง เกือบจะทั้งสิ้นของต้นกล้วยไม้ในตลาดสหรัฐฯมาจากการผลิตภายในประเทศ ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากข้อห้ามการนำเข้าดินจากต่างประเทศเข้าสหรัฐฯ (อย่างไรก็ดีมีสินค้าต้นกล้วยไม้จำนวนหนึ่งสามารถเข้าสหรัฐฯได้โดยปลูกใน growing media ที่สหรัฐฯยอมรับ) มีประมาณการณ์ว่าในแต่ละปีสหรัฐฯสามารถผลิตกล้วยไม้ในกระถางออกวางตลาดได้ประมาณปีละไม่ต่ำกว่า 20 ล้านกระถาง แหล่งผลิตสำคัญของสหรัฐฯเรียงตามลำดับคือ แคลิฟอร์เนีย ฟลอริด้า และฮาวาย ซึ่งมีมูลค่าการผลิตรวมกันคิดเป็นประมาณร้อยละ 94 ของมูลค่าการผลิตรวมทั้งสิ้นของสหรัฐฯ การผลิตกล้วยไม้ในรัฐแคลิฟอร์เนีย และฟลอริด้าเป็นการปลูกใน greenhouse กล้วยไม้ที่ผลิตจากฮาวายส่วนใหญ่เป็นการปลูกนอก greenhouse นอกจากรัฐผู้ผลิตหลักทั้งสามรัฐแล้ว ปัจจุบันอุตสาหกรรมการผลิตกล้วยไม้กำลังมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในรัฐเท็กซัส โอไฮโอ และมิชิแกน

รัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นแหล่งผลิตกล้วยไม้ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ การผลิตกล้วยไม้ของรัฐแคลิฟอร์เนียส่วนใหญ่เป็นการผลิตของผู้ผลิตรายใหญ่ มูลค่าตลาดกล้วยไม้ของรัฐแคลิฟอร์เนีย ในปี 2006 เท่ากับประมาณ 144 ล้านเหรียญฯ แหล่งผลิตสำคัญคือบริเวณที่เรียกว่า California Orchid Trail หรือเมืองต่างๆที่ตั้งอยู่บริเวณเทือกเขา Santa Ynezในตอนกลางของรัฐแคลิฟอร์เนีย ด้านติดฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิค (เมือง Santa Barbara, Carpinteria, Oxnard, Malibu) และพื้นที่ริมฝั่งทะเลทางด้านใต้ของรัฐ (เมือง San Diego และเมืองใกล้เคียง) ส่วนใหญ่ของกล้วยไม้ที่ผลิตในรัฐแคลิฟอร์เนียจะต้นกล้วยไม้และเป็นสายพันธุ์ Phalaenopsis และ cymbidiums

California Agricultural Resource ระบุว่าในปี 2007 รัฐแคลิฟอร์เนียมี

1. ผู้ผลิตกล้วยไม้ตัดดอก(เฉพาะที่ทำรายได้เกินกว่า 100,000 เหรียญฯขึ้นไป) มีประมาณ 12 ราย (ในปี 2006 มี 15 ราย) ขายออกตลาดประมาณ 5.7 ล้านดอก ทั้งหมดของผลผลิตเข้าสู่ตลาดค้าส่งที่มีมูลค่าตลาดประมาณ 9 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้นจากในปี 2006 ที่มีมูลค่าตลาดค้าส่ง 8.3 ล้านเหรียญฯ

2. ผู้ผลิตต้นกล้วยไม้(เฉพาะที่ทำรายได้เกินกว่า 100,000 เหรียญฯขึ้นไป) มีประมาณ 37 ราย ลดลงจากปี 2006 ที่มี 42 ราย ผลิตต้นกล้วยไม้ออกสู่ตลาดประมาณ 6.5 ล้านต้น ร้อยละ 97 เข้าสู่ตลาดค้าส่งในราคาเฉลี่ยประมาณ 8.68 เหรียญฯต่อกระถางลดลงจากราคาในปี 2006 ที่เท่ากับ 8.74 เหรียญฯต่อกระถาง รวมมูลค่าค้าส่งในปีดังกล่าวประมาณ 56 ล้านเหรียญฯ

บริษัทผู้ผลิตกล้วยไม้รายใหญ่ของโลกและของสหรัฐฯในปัจจุบัน คือ Matsui Nursery, Inc. (www.matsuinursery.net) ตั้งอยู่ในบริเวณนี้คือ Salinas Valley รัฐแคลิฟอร์เนีย มีประมาณการณ์ว่าหนึ่งในสี่ของกล้วยไม้ในตลาดสหรัฐฯมาจากบริษัท Matsui Nursery Inc. (บริษัทเป็นลูกค้านำเข้า cloned plants จากประเทศไทย) นอกจาก Matsui Nursery, Inc. แล้ว ในบริเวณ California Orchid Trail มีบริษัทผู้ปลูกกล้วยไม้รายใหญ่รวมตัวกันอยู่ 7 บริษัทคือ

1. Cal-Orchid Inc. (www.calorchid.com), 1251 Orchid Dr. Santa Barbara

2. Santa Barbara Orchid Estate (www.sborchid.com), 1250 Orchid Dr.Santa Barbara

3. Gallup & Stribling Orchids (www.gallup-stribling.com), 3450 Via Real,Carpinteria

4. Orchid Royale, 5902 Via Real, Carpinteria

5. Westerlay Orchids (www.westerlayorchids.com), 3504 Calle Real,Carpinteria

6. Hatfield Orchids (www.hatfieldorchids.com), 3793 Dufau Rd., Oxnard

7. Zuma Canyon Orchids (www.zumacanyonorchids.com) , 5949 Bonsall Dr.Malibu

รัฐฟลอริด้า มีประมาณการณ์ว่ามูลค่าอุตสาหกรรมต้นกล้วยไม้ของรัฐฟลอริด้าปีละเกินกว่า 23 ล้านเหรียญฯ แหล่งผลิตสำคัญคือบริเวณ South Florida (Miami Dade County) ฟลอริด้าผลิตกล้วยไม้ทั้งที่อยู่ในกระถางและที่เป็นไม้ตัดดอก ตลาดหลักของกล้วยไม้จากรัฐฟลอริด้าคือรัฐ ในเขต southeastern ของสหรัฐฯ ในปี 2005 มูลค่าตลาดค้าส่งต้นกล้วยไม้ของรัฐฟลอริด้าประมาณ 47 ล้านเหรียญฯเปรียบเทียบกับในปี 2001 ที่มีมูลค่าค้าส่งประมาณ 26.8 ล้านเหรียญฯ ผลผลิตของรัฐฟลอริด้าไม่สม่ำเสมอมีจำนวนผลผลิตที่ขึ้นลงแตกต่างกันในแต่ละปี และไม่มีการเก็บสถิติอุตสาหกรรมกล้วยไม้ที่แยกออกจากการอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าต้นไม้ดอกไม้อื่นๆ

รัฐฮาวาย การผลิตกล้วยไม้ของรัฐฮาวายเป็นการผลิตของผู้ผลิตรายย่อย กว่าครึ่งหนึ่งของผลผลิตกล้วยไม้ของฮาวายมาจาก Big Island หรือที่ถูกเรียกว่าเป็น “Orchid Isle” ฮาวายปลูกกล้วยไม้เพื่อการค้าหกสายพันธุ์หลักคือ dendrobiums, phalaenopsis, cattleyas,vandas, cymbidiums และ oncidiums กล้วยไม้จากฮาวายวางตลาดทั้งในรูปของกล้วยไม้กระถางและกล้วยไม้ตัดดอก แต่ส่วนใหญ่เป็นกล้วยไม้กระถาง ตลาดกล้วยไม้กระถางฮาวายมีมูลค่าปีละเกินกว่า 20 ล้านเหรียญฯ ส่วนใหญ่จะถูกส่งไปขายบนแผ่นดินใหญ่สหรัฐฯโดยจะใช้เวลาเดินทางจากฮาวายไม่เกินสองวันทำการ (working days) ส่วนใหญ่ของกล้วยไม้ตัดช่อหรือตัดดอกจากฮาวายจะเป็น dendrobiums และถูกส่งไปขายบนแผ่นดินใหญ่สหรัฐฯในราคาประมาณช่อละ 3 — 4 เหรียญฯ

2. การนำเข้า

2.1 ต้นกล้วยไม้

มูลค่านำเข้า ในระยะห้าปีที่ผ่านมา (2005-2009) มูลค่านำเข้าต้นกล้วยไม้ของสหรัฐฯขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มูลค่าการนำเข้าในระยะ 9 เดือนแรกของปี 2010 แสดงให้เห็นว่า การนำเข้ายังคงมีการขยายตัวอย่างเข้มแข็ง สหรัฐฯนำเข้าแล้วในมูลค่าประมาณ 43 ล้านเหรียญฯ หรือประมาณ 3.3 ล้านกิโลกรัม เป็นมูลค่านำเข้าที่เพิ่มขึ้นจากระยะเวลาเดียวกันของปี 2009 ร้อยละ 27.98 และปริมาณการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.59

แหล่งอุปทานนำเข้าสำคัญสูงสุดของสหรัฐฯคือประเทศไต้หวัน ถือครองส่วนแบ่งตลาดนำเข้าไว้เกินกว่าร้อยละ 60 มูลค่านำเข้าสหรัฐฯขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ปี 1996 ซึ่งเป็นปีแรกที่สหรัฐฯเริ่มเก็บสถิติการนำเข้าต้นกล้วยไม้

ประเทศไทยและประเทศเนเธอร์แลนด์เคยเป็นแหล่งอุปทานนำเข้าสำคัญรองจากไต้หวัน จนถึงปี 2007 เมื่อการนำเข้าจากคานาดาขยายตัวขึ้นเป็นแหล่งอุปทานนำเข้าสำคัญอันดับสองรองจากไต้หวัน (คาดเดาว่า การขยายตัวของการนำเข้าจากคานาดาน่าจะเป็นผลมาจากการที่ผู้ผลิตรายใหญ่ของไต้หวันย้ายฐานการผลิตเข้าไปยังคานาดาเพิ่มมากขึ้นและจัดส่งสินค้าของตนจากคานาดาเข้าสหรัฐฯ)

ด่านนำเข้าสำคัญของสินค้าต้นกล้วยไม้คือด่านศุลกากรไมอามี่ ด่านศุลกากรนครลอสแอนเจลิส และด่านศุลกากรนครซานฟรานซิสโก ประมาณสองในสามของสินค้าผ่านเข้าสหรัฐฯทางเรือ หนึ่งในสามผ่านเข้าสหรัฐฯทางอากาศ

ด่านนำเข้าสำคัญในการนำเข้าทางเรือเรียงตามลำดับคือ ส่วนใหญ่หรือเกินกว่าครึ่งหนึ่งผ่านเข้าทางด่านศุลกากรนครลอสแอนเจลิส รองลงมาผ่านเข้าทางด่านศุลกากรนครซานฟรานซิสโก และด่านศุลกากรไมอามี่ ตามลำดับ (ในปี 2009 มูลค่าการนำเข้าผ่านด่านศุลกากร ไมอามี่ประมาณ 7 ล้านเหรียญฯ เพิ่มสูงขึ้นผิดปกติถึงร้อยละ 3,554 เกือบจะทั้งสิ้น - ร้อยละ 99 -เป็นการนำเข้าจากไต้หวัน) ที่เหลือมีการนำเข้าประปรายที่ด่านนำเข้านครนิวยอร์ค และนครซีแอตเติล

ด่านนำเข้าสำคัญในการนำเข้าทางอากาศเรียงตามลำดับคือ ระหว่างร้อยละ 46 ขึ้นไปผ่านเข้าทางด่านศุลกากรไมอามี่ ที่เหลือประมาณระหว่างร้อยละ 20 — 45 ผ่านเข้าทางด่านศุลกากรนครซานฟรานซิสโก ประมาณร้อยละ 15 — 20 ผ่านเข้าทางด่านศุลกากรนครลอสแอนเจลิสประมาณร้อยละ 6 — 15 ผ่านเข้าทางด่านศุลกากรนครนิวยอร์ค และประมาณระหว่างร้อยละ 1 — 5 ผ่านเข้าทางด่านศุลกากรฮอนโนลูลู ที่เหลือมีการนำเข้าประปรายที่ด่านนำเข้าซานฮวน ปัวเตอร์ริโก้ ซาวาน่า ชิคาโก แองเคอร์เรต ซีแอตเติล นิวออร์ลีน และฮิวสตัน/กัลเวสตัน

ด่านนำเข้าสำคัญของสินค้าต้นกล้วยไม้จากประเทศไทย เกือบจะทั้งสิ้นนำเข้าสหรัฐฯทางเรือ เกินกว่าร้อยละ 60 ผ่านเข้าทางด่านศุลกากรไมอามี่ ประมาณร้อยละ 10 — 20 ผ่านเข้าทางด่านศุลกากรนครซานฟรานซิสโก ที่เหลือเป็นการนำเข้าที่ด่านฮอนโนลูลู และด่านนครลอสแอนเจลิส

2.2 กล้วยไม้ตัดดอก

มูลค่านำเข้า สหรัฐฯเริ่มเก็บสถิติการนำเข้ากล้วยไม้ตัดดอกในปี 2007 ที่มีมูลค่านำเข้ารวมทั้งสิ้นประมาณ 11 ล้านเหรียญฯสหรัฐฯ ในปี 2008 มูลค่านำเข้าเพิ่มขึ้นเป็น 13 ล้านเหรียญฯ และลดลงเหลือ 11.2 ล้านเหรียญฯในปี 2009 ในระยะ 9 เดือนแรกของปี 2010 สหรัฐฯ นำเข้าแล้วเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 10.6 ล้านเหรียญฯ ขยายตัวร้อยละ 24.35

แหล่งอุปทานนำเข้าสำคัญสูงสุดของสหรัฐฯคือประเทศไทย ในแต่ละปีประเทศไทยถือครองตลาดนำเข้าสหรัฐฯไว้เกินกว่าครึ่งหนึ่ง แหล่งอุปทานนำเข้าสำคัญรองจากประเทศไทยคือประเทศเนเธอร์แลนด์ ประเทศไทยและประเทศเนเธอร์แลนด์ถือครองตลาดนำเข้ากล้วยไม้ตัดดอกของสหรัฐฯไว้รวมกันเกินกว่าร้อยละ 80

ประเภทของดอกกล้วยไม้นำเข้าแบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆคือ

1. กล้วยไม้ทั่วไปที่ไม่ใช่ Dendrobium ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากประเทศเนเธอร์แลนด์ที่ถือครองตลาดนำเข้าไว้เกินกว่าครึ่งหนึ่ง รองลงมาคือนิวซีแลนด์ และประเทศไทย

2. กล้วยไม้พันธุ์ Dendrobium เกือบจะทั้งสิ้นหรือเกินกว่าร้อยละ 90 เป็นการนำเข้าจากประเทศไทย

ลักษณะการนำเข้า มีทั้งที่เป็นการนำเข้าเป็นช่อเดี่ยวและการจัดมัดรวมเป็นช่อแล้วแต่จำนวนที่ผู้นำเข้าสหรัฐฯต้องการ

เส้นทางการขนส่งเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯของกล้วยไม้ตัดดอก ทั้งหมดจะถูกส่งเข้าสหรัฐฯทางอากาศ ด่านนำเข้าสำคัญเรียงตามลำดับคือ

1. ส่วนใหญ่หรือเกินกว่าร้อยละ 30 ขึ้นไปผ่านเข้าทางด่านศุลกากรนครลอสแอนเจลิส

2. ประมาณร้อยละ 20 -30 ผ่านเข้าทางด่านศุลกากรนิวยอร์ค

3. ประมาณร้อยละ 15 — 20 ผ่านเข้าทางด่านศุลกากรฮอนโนลูลู

4. ประมาณร้อยละ 10 — 15 ผ่านเข้าทางด่านศุลกากรไมอามี่

5. ด่านนำเข้าอื่นๆที่มีสินค้าผ่านเข้าประปรายคือด่านนำเข้าชิคาโกซานฟรานซิสโก ดัลลาส/ฟอร์ทเวิท บอสตัน วอชิงตัน ดีซี นิวออร์ลีน และซีแอตเติล

กล้วยไม้ตัดดอกจากประเทศไทยส่วนใหญ่หรือประมาณร้อยละ 35 ขึ้นไป ผ่านเข้าทางด่านศุลกากรนครลอสแอนเจลิส ประมาณร้อยละ 13 — 30 ผ่านเข้าทางด่านศุลกากรฮอน โนลูลู ระหว่างร้อยละ 13 — 25 ผ่านเข้าทางด่านศุลกากรนิวยอร์ค ที่เหลือประมาณระหว่างร้อยละ 1— 9 ผ่านเข้าทางด่านศุลกากรไมอามี่ ซานฟรานซิสโก และชิคาโก นอกจากนี้มีผ่านเข้าประปรายที่ด่านศุลกากรดัลลาส/ฟอร์ทเวิท ด่านศุลกากรวอชิงตัน ดีซี ด่านศุลกากรบอสตัน และ ด่านศุลกากรนครซีแอตเติล

3. ประเทศแหล่งอุปทานสำคัญของสหรัฐฯ

ไต้หวัน เป็นแหล่งอุปทานต้นกล้วยไม้ในกระถางอันดับหนึ่งของสหรัฐฯ ตลาดส่งออกสำคัญอันดับหนึ่งของไต้หวันคือสหรัฐฯ (ประมาณร้อยละ 30 ของผลผลิตรวมทั้งสิ้นของไต้หวันส่งออกไปยังสหรัฐฯ) ญี่ปุ่น (ส่วนใหญ่ของการส่งออก Onicidum จะเป็นสำหรับตลาดญี่ปุ่น) เนเธอร์แลนด์ และเกาหลีใต้ เกินกว่าครึ่งหนึ่งของกล้วยไม้ส่งออกของไต้หวันคือ Phalaenopsis (moth orchids)

ส่วนใหญ่ของสินค้านำเข้าจากไต้หวันจะถูกส่งให้แก่เล้ากล้วยไม้ที่เป็นคู่ค้าในสหรัฐฯในราคาขายส่ง เพื่อปลูกและขายต่อให้แก่ผู้ค้าปลีก อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ไต้หวันประสบความสำเร็จในการเจรจาให้สหรัฐฯยอมให้ไต้หวันส่งต้นกล้วยไม้ที่ปลูกใน growing media ที่สหรัฐฯยอมรับเข้าประเทศสหรัฐฯได้ ทำให้ผู้ผลิตไต้หวันสามารถส่งสินค้าโดยตรงให้แก่ผู้ค้าปลีก ในสหรัฐฯโดยไม่จำเป็นต้องผ่านผู้ปลูกในสหรัฐฯอีกต่อไป ทั้งนี้ การส่งสินค้าต้นกล้วยไม้สายพันธุ์ Phalaenopsis ที่ปลูกใน growing media จากไต้หวันเข้าไปยังสหรัฐฯสามารถกระทำได้เฉพาะผู้ส่งออกที่ได้รับการยอมรับจากหน่วยงาน APHIS ของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯเท่านั้นซึ่งในปัจจุบัน มีประมาณ 89 บริษัทและมีรายชื่อระบุไว้ใน APHIS Approved Facilities Authorized to Export Phalenopsis spp. in Growing Media from Taiwan to the U.S.

ปัจจุบันผู้ผลิตไต้หวันกำลังดำเนินนโยบายเข้าไปเป็นผู้ค้าส่งและผู้กระจายสินค้าของตนเองในตลาดสหรัฐฯและคานาดา มีผู้ผลิตไต้หวันหลายรายได้ยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ และขออนุญาตใช้ผืนดินเพื่อทำธุรกิจปลูกต้นกล้วยไม้ในสหรัฐฯและคานาดา รวมถึงการพยายามขออนุญาตซื้อที่ดินใน New Jersey เพื่อสร้างเครือข่ายธุรกิจปลูกต้นกล้วยไม้เพื่อกระจายในเขตฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ

เนเธอร์แลนด์ ในระยะสิบสองปีที่ผ่านมา การผลิตกล้วยไม้ในกระถางของเนเธอร์แลนด์ได้ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากหรือเฉลี่ยประมาณร้อยละ 23 ต่อปี และเป็นการผลิตต้นกล้วยไม้ทุกสายพันธุ์รวมถึงการผลิต Phalaenopsis ซึ่งเป็นกล้วยไม้กระถางส่งออกสำคัญที่สุดของเนเธอร์แลนด์ มีประมาณการณ์ว่าในปี 2009 เนเธอร์แลนด์สามารถผลิตได้ประมาณ 67 ล้านกระถาง

IV ระบบการกระจายสินค้า

1. ช่องทางการจำหน่าย

สหรัฐฯไม่มีระบบการประมูลดอกไม้ โดยปกติแล้วผู้ผลิตรายใหญ่บนแผ่นดินใหญ่ สหรัฐฯจะขายตรงให้แก่ตลาดค้าปลีก โดยจัดส่งเข้าสู่ร้านค้าปลีกโดยตรง ในขณะที่ผู้ผลิตจากฮาวาย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ผลิตรายเล็กจะขายให้แก่คนกลางซึ่งอาจจะป็นผู้ปลูกกล้วยไม้บนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งอาจจะขายสินค้าต่อโดยทันทีหรือนำไปบรรจุตกแต่งในกระถางใหม่ก่อนวางจำหน่าย หรืออาจจะใช้ brokers ช่วยขายสินค้าให้ ผู้ผลิตรายย่อยๆอื่นๆส่วนใหญ่จะขายให้แก่ผู้ค้าปลีกรายย่อย นำไปจำหน่ายตามงานเทศกาลหรือในระหว่าง farmer market ต่างๆที่มีแพร่หลายไปทั่วสหรัฐฯ

ส่วนใหญ่สินค้านำต้นกล้วยไม้เข้าสหรัฐฯจะอยู่ในรูปของเง้า (bare rooted plants)ที่ส่งเข้าไปยังผู้ปลูกในสหรัฐฯเพื่อนำไปเพาะปลูกลงในกระถางที่กระทำกันเป็น mass production ซึ่งจะกินเวลาประมาณ 4 — 6 เดือนกว่าจะออกดอกพร้อมที่จะจำหน่าย จึงส่งจำหน่ายในตลาดค้าส่งตลาดค้าปลีกที่ขายสินค้าทั่วๆไป และตลาดที่เป็น specialty stores ต่างๆ ในกรณีที่เป็นการนำเข้าใน growing mediaที่สหรัฐฯยอมรับยอมรับเช่น เฟิร์น หรือ ในกากมะพร้าว หรือเส้นใยต่างๆ อาจจะขายส่งให้แก่ผู้ค้าปลีกรายย่อยได้เลยโดยตรง

สินค้านำเข้าที่เป็นกล้วยไม้ตัดดอก มีทั้งการนำเข้าเป็นดอก เป็นกิ่ง หรือเป็นสินค้าสำเร็จรูปเช่นร้อยเป็นมาลัย (lei)

2. ลักษณะการบรรจุสินค้า

กระทำทุกรูปแบบแล้วแต่ผู้ซื้อสั่ง สินค้าที่ส่งภายในประเทศจะมีตั้งแต่บรรจุรวมลงในกล่อง (boxed cased) หรือในถาด (open tray) หรือแยกเป็นต้น เป็นช่อแยกเดี่ยวในกล่องที่สวยงามพร้อมวางจำหน่ายได้เลย ในกรณีที่เป็นต้นกล้วยไม้จะมีการเสริมกิ่งดอกอย่างดีกันดอกหัก

สินค้านำเข้าที่เป็นไม้ตัดดอก เป็นกิ่ง หรือเป็นสินค้ามาลัย การบรรจุจะกระทำตามที่ผู้ซื้อสั่ง ในกรณีที่เป็นดอก อาจจะเป็นการเด็ดดอกเดี่ยวๆใส่ในถุงพลาสติก หรือวางเรียงซ้อนกันในกล่อง ในกรณีที่เป็นช่อจะมัดเป็นช่อแยกตามชนิดของกล้วยไม้ ในกรณีที่เป็นมาลัยจะร้อยแยกออกเป็นมาลัยชั้นเดียวหรือมาลัยซ้อน นับจำนวนในแต่ละถุง แต่ละกล่อง แต่ละช่อตามที่ลูกค้าต้องการ

3. การขนส่ง

ผู้ผลิตบนแผ่นดินใหญ่สหรัฐฯจะขนส่งสินค้าทางรถทรัค ราคาค่าขนส่งเฉลี่ยในปี 2005 ประมาณต้นละ 50 เซ็นต์ขึ้นไป ผู้ผลิตในฮาวายจะจัดส่งสินค้าทางอากาศเข้าสู่แผ่นดินใหญ่ซึ่งราคาค่าขนส่งจะเฉลี่ยประมาณต้นละ 1.15 — 2.00 เหรียญฯ ไม่มีสถิติราคาค่าขนส่งในปัจจุบันแต่ประมาณการณ์ได้ว่าจะสูงกว่าราคาในปี 2005 ไม่ต่ำกว่าหนึ่งเท่าตัว

4. แหล่งจำหน่ายส่งและจำหน่ายปลีกสำคัญบนฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ

4.1 Los Angeles Flower District (www.laflowerdistrict.com) เป็นตลาดค้าส่งดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯตั้งอยู่ที่ 766 Wall Street และพื้นที่ระหว่าง 6th Street และ 8th Street บน Wall Street เป็นแหล่งที่ตั้งของร้านค้าส่งร้านค้าปลีก และ ร้านขายอุปกรณ์สำหรับการจัดดอกไม้

4.2 San Francisco Wholesale Flower Mart (www.sfflmart.com) ตั้งอยู่ที่ 640 Brannan Street, San Francisco, CA

4.3 The Connection Wholesale Florist (www.theconnectionwholesaleflorist.com) ตั้งอยู่ที่ 2733 W. 7th St., Fort Worth, Texas

4.4 Portland Flower Market (www.pdxflowermarket.com) ตั้งอยู่ที่ 3624 N.Leverman, Portland, Oregon

4.5 San Diego International Floral Trade Center (www.floraltradecenter.com) ตั้งอยู่ที่ 5600 Avenida Encinas, Carlsbad, CA

V โอกาส ปัญหาและอุปสรรคอุตสาหกรรมการผลิตและตลาดการค้ากล้วยไม้สหรัฐฯ

1. โอกาส

เงื่อนไขที่สนับสนุนโอกาสการขยายตัวของตลาดต้นกล้วยไม้ของสหรัฐฯคือ

1.1 ผู้บริโภคสหรัฐฯมีความรู้ความเข้าใจการเลี้ยงกล้วยไม้มากยิ่งขึ้น การเลี้ยงกล้วยไม้ไม่ได้เป็นเรื่องยากอีกต่อไป

1.2 ปัจจุบันมีการผสมปรุงแต่งสายพันธุ์ให้เกิดเป็นต้นกล้วยไม้ที่แข็งแรงกว่าเดิมและมีดอกและสีสวยงามมากยิ่งขึ้นและมีหลากหลายรูปแบบ มากขึ้นสามารถตอบสนองความต้องการบริโภคสินค้าใหม่ๆของผู้บริโภคได้หลายกลุ่มหลายวัตถุประสงค์

1.3 ปัจจุบันต้นกล้วยไม้มีวางจำหน่ายทั้งปีและแพร่หลายในตลาดค้าปลีกทั่วไปทั้งที่เป็นตลาด supermarket แบบปกติ ตลาด mass market และ discount market ต่างๆ นอกเหนือไปจากร้านค้าปลีกสินค้าต้นไม้ (nursery) และร้านขายดอกไม้ (flower shops)

1.4 ราคาต้นกล้วยไม้ลดต่ำลงจนผู้บริโภคทั่วไปสามารถหาซื้อได้โดยสะดวกใจ เมื่อเปรียบเทียบกับในอดีตที่ผ่านมาที่ต้นกล้วยไม้ถือเป็น สินค้าฟุ่มเฟือยราคาแพงสำหรับผู้บริโภคในตลาดระดับบนเท่านั้น

1.5 ต้นกล้วยไม้กลายเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยที่จะใช้ เป็นของขวัญสำหรับโอกาสต่างๆ

1.6 ผู้บริโภคสหรัฐฯมีทัศนคติว่าต้นกล้วยไม้เป็นสินค้าที่มี value สูงคือสวยงามและมีความคงทานสามารถบานอยู่ได้เป็นเดือนนานกว่า ต้นไม้ชนิดอื่นๆ

2. ปัญหาและอุปสรรค

ปัจจุบันตลาดกล้วยไม้สหรัฐฯกำลังประสบปัญหาสำคัญคือ

2.1. สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทำให้ผู้บริโภคลดการบริโภคสินค้าหลายรายการที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต รวมถึงการบริโภคกล้วยไม้ และการเดินทางท่องเที่ยว (ส่งผลต่อกล้วยไม้ตัดดอกที่ทำเป็นมาลัยคล้องคอในธุรกิจท่องเที่ยวของฮาวาย) ปัจจุบันตลาดการบริโภคกำลังอ่อนตัวลงอย่างมากตามสภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

2.2. มีแนวโน้มว่ามีการผลิตกล้วยไม้ออกวางจำหน่ายเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากผู้เพาะกล้วยไม้รายย่อยมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ (สาเหตุหนึ่งคือกล้วยไม้สามารถสร้าง รายได้ให้ระหว่าง 60 — 200 เหรียญฯ ต่อหนึ่งตารางฟุตของพื้นที่ปลูก เปรียบเทียบกับการปลูกต้นไม้อื่นๆ ขายเช่น poinsettias สร้างรายได้ให้เพียง 5 เหรียญฯต่อหนึ่งตารางฟุต) ผลผลิตจำนวนมากส่งผลกระทบทำให้ราคาจำหน่ายในตลาดตกต่ำลง เมื่อกลางปี 2007 เกิดเหตุการณ์กล้วยไม้กระถางที่สายพันธุ์ Phalaenopsis สีขาวดอกใหญ่จากผู้ผลิตในรัฐแคลิฟอร์เนียไหลบ่า เข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมากจนทำให้ราคากล้วยไม้ดอกใหญ่ในกระถางในตลาดตกลงถึงร้อยละ 30

2.3. ต้นทุนการผลิตและราคาขนส่งกล้วยไม้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุหนึ่งสืบเนื่องมาจาก การผลิตกล้วยไม้เป็นภาคอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ แรงงานจำนวนมากและพื้นที่ปลูกขนาดใหญ่ ซึ่งเงื่อนไขทั้งสองประการในสหรัฐฯมีค่าใช้จ่ายในการจัดหามาและรักษาไว้สูงมาก

2.4 มีแนวโน้มว่าคนอเมริกันให้ความสำคัญต่อการแต่งงานอย่างมีพิธีรีตองน้อยลงทั้งด้วยเหตุผลที่เป็นค่านิยมส่วนบุคคลและเหตุผล ทางด้านเศรษฐกิจ การจัดพิธีแต่งงานจึงมีแนวโน้มที่จะลดน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งเป็นการปิดกั้นช่องทางหนึ่งของโอกาสการขายสินค้าดอกกล้วยไม้ในตลาดงานแต่งงาน

2.5 การแข่งขันอย่างรุนแรงของกล้วยไม้นำเข้าจากต่างประเทศ

2.6 ปัญหาของผู้ส่งออกไทยกับระบบการตรวจสินค้าส่งออก และระบบการขนส่งสินค้าของสายการบินไทยที่ทำให้สินค้าเกิดความเสียหาย ในระหว่างการจัดส่งเข้าไปยังประเทศสหรัฐฯ

VI กฎระเบียบการนำเข้า

1. ด่านนำเข้ากล้วยไม้

ต้นพืชหรือเมล็ดพืชที่นำเข้าสหรัฐฯส่วนใหญ่แล้วจะต้องผ่านเข้าที่ด่านนำเข้าที่มี Plant Inspection Station คือมีเจ้าหน้าที่หน่วยงาน APHIS (Animal and Plant Health Inspection Service) ของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯประจำอยู่เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบ ในสหรัฐฯมี Plant Inspection Station อยู่รวมทั้งสิ้น 17 แห่งคือที่ อริโซน่า (Nogales) แคลิฟอร์เนีย (Hawthorne, South San Francisco, San Diego) ฟลอริด้า (Miami, Orlando) จอร์เจีย (Atlanta) กวม (Tiyan Barrigada) ฮาวาย (Honolulu) หลุยเซียน่า (Kenner) แมรี่แลนด์ (Beltsville - เป็นสถานีเดียวที่ถูกออกแบบเพื่อการตรวจสายพันธุ์พืชที่นำเข้าสหรัฐฯในจำนวนเล็กน้อยเพื่อวัตถุประสงค์ในการเพาะพันธุ์หรือการวิจัยเท่านั้น และการนำเข้าที่มีใบอนุญาตนำเข้าที่ออกให้โดยกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ) นิวเจอร์ซี่ (Linden) นิวยอร์ค (Jamaica) ปัวโตริโก้ (Carolina) เท็กซัส (Los Indios, Humble) และ วอชิงตัน (SeaTac)

การตรวจที่ Plant Inspection Station นอกจากจะกระทำตามกฎระเบียบของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯที่รวมถึง Lacey Act และ Endangered Species Act แล้วยังรวมถึงกฎระเบียบของ the Convention on International Traded in Endangered Species of Wild Fauna and Flora (CITES) ที่ห้ามการค้ากล้วยไม้ที่มีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ในระดับสูง อย่างไรก็ดี สหรัฐฯยอมให้กล้วยไม้ที่มีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ในระดับต่ำที่ถูกนำไปเพาะพันธุ์และจำหน่ายได้โดยต้องมีเอกสารประกอบ

2. กฎระเบียบการนำเข้าสหรัฐฯต้นกล้วยไม้

2.1 ภาษีนำเข้า การนำเข้าต้นกล้วยไม้ ระหัสศุลกากร 0602.90.20.00 ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า

2.2 ข้อบังคับการนำเข้า

2.2.1. ต้นกล้วยไม้นั้นจะต้องปลอดจากทราย ดิน และแมลงศัตรูพืช ดังนั้น ต้นกล้วยไม้ที่นำเข้าสหรัฐฯจะมาในลักษณะ bare rooted เพื่อนำไปปลูกลงในกระถางในสหรัฐฯ

2.2.2 สหรัฐฯยอมให้นำเข้าสินค้าต้นกล้วยไม้ที่อยู่ในสิ่งรองรับ (growing media)ได้แต่ต้องเป็น growing media ที่สหรัฐฯยอมให้ใช้ได้เท่านั้น คือ ต้นเฟริน์ (tree fern slabs) กากมะพร้าว (coconut husks) ใยมะพร้าว (coconut fiber) กระถางดินเผาที่เป็นกระถางใหม่ (new clay pots) ตระกร้าทำด้วยไม้ที่เป็นของใหม่ (new wooden baskets)ในกรณีหลังนี้จะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบว่าด้วยการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไม้ด้วย การนำเข้าในลักษณะนี้สหรัฐฯจะอนุญาตให้เฉพาะบริษัทผู้ผลิตเฉพาะรายที่สหรัฐฯรับรองเท่านั้น

2.2.3. กฎหมาย Lacey Act และ Endangered Species Act กำหนดว่าต้องมีป้ายหรือเอกสารกำกับที่ระบุ

2.2.3.1 ชื่อทางพฤษศาสตร์หรือสายพันธุ์ (genus หรือ species)

2.2.3.2 ต้นกำเนิดสินค้า (สถานที่/แหล่งปลูก มิใช่ท่าหรือด่าน นำเข้า/ส่งออก)

2.2.3.3 จุดหมายปลายทางของสินค้า (อาจจะไม่ใช่ที่ด่านนำเข้า) ชื่อ/ที่อยู่ของผู้รับ

2.2.3.4 ขนาดและชนิดของการจัดส่งสินค้า (ระบุว่าเป็นการจัดส่งเพื่อการค้า หรือ ไม่ใช่เพื่อการค้า)

2.2.3.5 มีหรือไม่มีเอกสารใบอนุญาตนำเข้าและประกาศนียบัตรสุขลักษณะของพืชของประเทศต้นกำเนิด (foreign

phytosanitary certificates)

2.2.3.6 แบบฟอร์มก่อนการปล่อยผ่านสินค้า (preclearance form —PPQ Form 203)

2.2.3.7 วัตถุประสงค์/ความตั้งใจที่จะใช้สินค้า

2.2.4. เอกสารอื่น เช่น ใบอนุญาตของ CITES ถ้าจำเป็นต้องมี เป็นต้น

2.2.5 ผู้นำเข้าต้องแจ้งศุลกากรสหรัฐฯถึงกำหนดเวลาที่สินค้าเดินทางถึงสหรัฐฯ

3. กฎระเบียบการนำเข้าสหรัฐฯกล้วยไม้ตัดดอก

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯจัดระดับความเสี่ยงของสัตรูพืชของกล้วยไม้ตัดดอกจากประเทศต่างๆไว้ 2 ระดับคือ “Low” และ “High” กล้วยไม้ตัดดอกของไทยอยู่ในระดับ “High” เช่นเดียวกับกล้วยไม้ตัดดอกของออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสิงค์โปร์ กล้วยไม้ตัดดอกจาก เนเธอร์แลนด์อยู่ในระดับ Low

3.1 อัตรภาษีนำเข้า กล้วยไม้ตัดดอก ระหัสศุลกากร 0603.13.00 นำเข้าสหรัฐฯจากประเทศไทยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า

3.2 เอกสารกำกับ สหรัฐฯถือว่าดอกกล้วยไม้เกือบจะทั้งสิ้นมาจากต้นกล้วยไม้ที่ถูกผสมพันธุ์ขึ้นมาไม่ใช่กล้วยไม้ป่าตามธรรมชาติจึงไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตหรือประกาศนียบัตรใดๆ

3.3 ขั้นตอนการการตรวจกล้วยไม้ตัดดอกนำเข้า

3.3.1. สินค้านำเข้าที่เดินทางไปถึงท่านำเข้าสหรัฐฯต้องพร้อมให้เจ้าหน้าที่ APHIS ที่ด่านตรวจ และจะต้องอยู่ที่ด่านนำเข้า จนกระทั่งได้รับคำสั่งปล่อยหรือคำสั่งให้เคลื่อนย้ายจากผู้ตรวจสินค้า

ขั้นตอนการตรวจของเจ้าหน้าที่ APHIS

ขั้นที่ 1 ตัดสินว่าสินค้านั้นเป็นสินค้าต้องห้ามสินค้าที่ไม่ต้องห้าม หรือเป็นสินค้าที่ precleared มาแล้ว

ขั้นที่ 2 ตัดสินว่าจะต้องต้องตรวจหรือสั่งย้ายไปยังสถานที่อื่น

ขั้นที่ 3 พิจารณาว่าสินค้าดังกล่าวจะต้องมีใบอนุญาตนำเข้าหรือไม่

ขั้นที่ 4 ระบุระดับของความเสี่ยงของแมลงศัตรูพืช

ขั้นที่ 5 ตัดสินปริมาณของสินค้าที่จะต้องถูกสุ่มตรวจ

ขั้นที่ 6 ตรวจสินค้า

ขั้นที่ 7 ดำเนินการที่จำเป็นหลังการตรวจทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผลของการตรวจ

3.3.2. ในกรณีที่ผู้ตรวจสินค้าพบว่าสินค้ามีแมลงติดมาด้วยหรือมีโรค ผู้ตรวจสินค้าจะแจ้งผู้นำเข้าหรือเจ้าของสินค้าดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งข้างล่างนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนด

3.3.2.1 เคลื่อนย้ายไปยังสถานที่ที่กำหนดเพื่อทำการแก้ไขสินค้าให้ถูกต้องโดยการฆ่าเชื้อโรค (disinfection) ทำ

ความสะอาด หรือ จัดการ treatment สินค้าใหม่ตามที่ผู้ตรวจสินค้ากำหนด เมื่อกระทำการแก้ไขเสร็จแล้ว

ต้องสินค้ากลับไปให้ตรวจใหม่ หากไม่กระทำการแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนดผู้ตรวจ สินค้าจะสั่งทำลาย

สินค้า

3.3.2.2 ให้ส่งสินค้าออกไปนอกประเทศสหรัฐฯ

3.3.2.3 ให้ทำลายสินค้าทิ้งในประเทศสหรัฐฯ

3.3.3. ในกรณีที่พบว่ามีแมลง agromyzids ติดมาด้วย สินค้าจะต้องถูกรมควัน (fumigation) ด้วย methyl bromide

4. สถานที่การตรวจสินค้ากระทรวงเกษตรสหรัฐฯกำหนดไว้ดังนี้

1. โต๊ะสำหรับใช้ตรวจสินค้าจะนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นใดไม่ได้นอกจากการตรวจสินค้า และตั้งอยู่นอกเส้นทางการจราจรในโกดังเก็บสินค้า

2. สถานที่ตั้งโต๊ะตรวจสินค้าต้องมีอากาศถ่ายเท

3. พื้นผิวโต๊ะต้องเรียบ สะอาด และแห้ง พื้นผิวต้องเป็นสีขาว

4. ต้องมีแสงที่สว่างมากๆ ควรเป็นแสงนีออน และอาจจะต้องมีไฟตั้งโต๊ะที่มี แว่นขยายด้วย ถ้าจำเป็น

5. เครื่องมือที่ใช้ในการตรวจ แอลกอฮอล์ ถุงกระดาษสีน้ำตาล แปรงเล็กๆสำหรับเก็บแมลง ไฟฉาย ถุงมือ เลนส์ที่ถือด้วยมือ มีด ที่หนีบกระดาษ ขวดแก้วเล็กๆ ตรายาง เพื่อระบุการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่ด้วยคำสั่งว่าให้ Hold, Released, Treated & Released, Authorize Shipment to ...., Released for Export หรือ Inspected & Released)

6. ผู้ตรวจจะจับกล้วยไม้เป็นช่อหรือเป็นกำสั่นหรือฟาดกับโต๊ะแรงพอที่จะทำให้แมลงหรือสิ่งแปลกปลอมต่างๆที่ติดอยู่หลุดออกมา กระทรวงเกษตรสหรัฐฯระบไว้ชัดเจนว่าไม่รับผิดชอบต่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับสินค้าในระหว่างการตรวจหรือในระหว่างการแก้ไขสินค้าตามคำสั่งของผู้ตรวจสินค้า

VII งานเทศกาลกล้วยไม้

Santa Barbara International Orchid Show (www.sborchidshow.com) เป็นงานแสงสินค้ากล้วยไม้ที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ที่ Earl Warren Showgrounds, 3400 Calle Real, Santa Barbara, CA กำหนดการจัดงานครั้งต่อไป วันที่ 11 — 13 มีนาคม 2511, วันที่ 16 — 18 มีนาคม 2512 และวันที่ 8 — 10 มีนาคม 2513

VIII ข้อคิดเห็นแนวทางการขยายตลาด

การวางนโยบายขยายตลาดกล้วยไม้ในสหรัฐฯควรจะเน้นไปที่กลุ่มผู้บริโภคที่เป็นภาคธุรกิจซึ่งได้แก่ผู้ผลิตและผู้ส่งออกในประเทศไทย ผู้นำเข้าและผู้ผลิตในสหรัฐฯ มิใช่ผู้บริโภคสุดท้ายในตลาดค้าปลีก เนื่องจากลักษณะการบริโภคสินค้าต้นไม้ดอกไม้ของผู้บริโภคทั่วไปในสหรัฐฯ เงื่อนไขสำคัญสูงสุดในการตัดสินใจซื้อสินค้าคือราคาและคุณภาพความสวยงามสมบูรณ์ของตัวสินค้า ประเทศแหล่งที่มาไม่เคยเป็นเงื่อนไขในการพิจารณาซื้อสินค้า สำหรับผู้บริโภคที่เป็นผู้บริโภคที่สนใจในเรื่องกล้วยไม้อย่างมากๆจะให้ความสนใจถึงแหล่งที่มาที่เป็นบริษัทผู้ผลิตและ/หรือผู้ปลูกในสหรัฐฯที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย

กลยุทธต่างๆที่อาจจะนำไปพิจารณาใช้

1. อาจจะดำเนินรอยตามกลยุทธ์ของประเทศไต้หวันที่ประสบผลสำเร็จมาแล้วในการขยายตลาดต้นกล้วยไม้ของตนในสหรัฐฯ ซึ่งได้แก่

1.1. การ lobby ให้หน่วยงาน APHIS กระทรวงเกษตรสหรัฐฯยอมให้ประเทศไทยส่งต้นกล้วยไม้ใน growing media เข้าสู่ตลาดสหรัฐฯได้เช่นเดียวกับประเทศไต้หวัน ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตส่วนหนึ่งของไทยสามารถส่งสินค้าเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯได้มากยิ่งขึ้น รวดเร็วขึ้น และทำ รายได้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพราะไม่จำเป็นต้องผ่านคนกลางอีกต่อไป

1.2. การให้การสนับสนุนผู้ผลิตไทยรายใหญ่ๆในการขยายฐานการผลิตเข้าไปยังสหรัฐฯตามนโยบาย internationalization ของกระทรวงพาณิชย์ โดยอาจจะเป็นการร่วมผลิตกับผู้ผลิตในประเทศสหรัฐฯ หรือ การลงทุนตั้งแหล่งผลิตเองในสหรัฐฯ แม้ว่ากลยุทธ์นี้จำเป็นต้องใช้เงินในการลงทุนจำนวนมาก แต่ผลที่จะได้คือ จะช่วยลดปัญหาสินค้าเสียหายในระหว่างการส่งสินค้าออกจากประเทศไทยซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน ลดปัญหาค่าใช้จ่ายในการขนส่ง ระหว่างประเทศที่นับวันจะแพงมากขึ้นเรื่อยๆ ลดปัญหาในเรื่องการนำเข้าสหรัฐฯ สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี่ต่างๆที่มีอยู่ในสหรัฐฯมาพัฒนาสินค้าได้โดยง่าย สามารถใช้ประโยชน์จาก incentives ต่างๆที่สหรัฐฯมีให้ในการประกอบธุรกิจ และเป็นการ เปิดช่องทางในการขยายตลาดออกไปยังประเทศต่างๆในทวีปอเมริกาเหนือโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศคานาดาซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงให้สามารถกระทำได้โดยง่ายยิ่งขึ้นเนื่องจากกฎระเบียบของประเทศเหล่านี้ในส่วนของการนำเข้าสินค้าจากประเทศสหรัฐฯ ไม่เข้มงวดเท่ากับการนำเข้าจากประเทศในเอเซีย

2. จัดทำกลยุทธ์ส่งเสริมและประชาสัมพันธ์กล้วยไม้ไทยให้มีจุดยืนที่เด่นชัดในตลาดโลก เป้าหมายก็เพื่อสร้างภาพลักษณ์ประเทศไทยในฐานะแหล่งผลิตกล้วยไม้ชั้นนำของโลก ตามขั้นตอนดังนี้คือ

2.1 ให้การสนับสนุนผู้ผลิตในประเทศไทยในการพัฒนาสายพันธุ์กล้วยไม้ที่มีอยู่แล้วให้มีคุณลักษณะในระดับที่สูงมากยิ่งขึ้น และการพัฒนาสายพันธ์ใหม่ๆที่หายากหรือที่แปลกออกไปจากที่มีอยู่ในตลาด

2.2 คัดเลือกสินค้าที่มีคุณลักษณะเด่นมากๆส่งเข้าประกวดและ/หรือนำออกแสดงในงานแสดงสินค้ากล้วยไม้ในสหรัฐฯอย่างต่อเนื่อง

3. ให้ความสนับสนุนผู้ผลิตไทยในเรื่องการทำการศึกษาวิจัยค้นคว้าสร้างกล้วย กล้วยไม้สายพันธุ์ใหม่ๆที่เหมาะสมกับการบริโภคของผู้บริโภคทั่วไปออกสู่ตลาดสหรัฐฯ เป้าหมายก็เพื่อสร้างความโดดเด่นให้แก่สินค้าดอกกล้วยไม้ไทยในตลาดดอกกล้วยไม้ของสหรัฐฯซึ่งปัจจุบันกำลังมีแนวโน้มเป็นตลาด mass production มากขึ้นเรื่อย สินค้ากล้วยไม้ที่มีความพิเศษแปลกออกไปจากสินค้าทั่วไปในตลาดจะมีโอกาสทางตลาดสูงกว่า

4. ศึกษาและรวบรวมฐานข้อมูลผู้ผลิตไทยที่มีฐานการผลิตในสหรัฐฯอยู่แล้วและผู้นำเข้าที่เป็นนักธุรกิจคนไทยเพื่อ แสวงหาความร่วมมือในการขยายตลาดและการติดต่อทำธุรกิจกับผู้ผลิตในประเทศไทย รวมถึงให้การสนับสนุนให้เกิดโอกาสในการประชาสัมพันธ์สินค้ากล้วยไม้ไทยของตนใน งานแสดงสินค้าต่างๆที่เป็นของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เช่น กลุ่มธุรกิจตกแต่งภายใน กลุ่มโรงแรม เป็นต้น เพื่อประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางและ สามารถเข้าถึงตลาดได้มากยิ่งขึ้น

6. สนับสนุนให้มีการส่งออกจากประเทศไทยกล้วยไม้ตัดดอก/ตัดช่อสายพันธุ์อื่นนอกเหนือไปจาก Dendrobiums ให้มากยิ่งขึ้น

7. หาทางแก้ปัญหาอย่างจริงจังให้แก่ผู้ผลิตและผู้ส่งออกไทยในเรื่องของความล่าช้าในการตรวจสินค้าและการขนส่งสินค้าออกจากประเทศไทยที่จำเป็นต้องมีการร่วมมือกันอย่างจริงจังระหว่างภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง

แหล่งที่มาของข้อมูล

1. International Commercial Orchid Growers Organization

2. U.S. Department of Agricultural

3. HortTechnology

4. Agricultural Communications, Texas A & M University System, Agricultural Program

5. Hawaii Department of Agricultural, Agricultural Development Division

6. California Orchid Trail

7. U.S. Department of Commerce

รายชื่อผู้นำเข้ากล้วยไม้ที่สำคัญ ในเขตเมืองไมอามี ได้แก่

1. N&N Orchids Inc. (ชื่อเดิม V&T Orchids)

2200 NW 102 Ave., Suite 1, Miami, FL 33172

T. 305-406-3766 F. 305-718-8488

Email: admin@vtorchid.com

Website: www.vtorchid.com

2. Banjong Orchids

17720 SW 218th Street, Miami, FL 33170

T. 305-247-8854 F. 786-243-1899

Email: banjong_orchids@hotmail.com

Website: www.banjongorchid.com

3. Bangkok Orchid

7333 NW 56th St., Miami, FL 33166

T. 305-887-3000 F. 305-887-0440

Email: bangkokorchids@bellsouth.net

Website: www.bangkok-orchids.com

4. C S Orchids

4912 SW 75th Ave., Miami, FL 33155

T. 305-260-0559

Website: www.csorchids.com

5. National Orchids Inc.

6911 NW 46th St., Miami, FL 33166

T. 305-436-5678 F. 305-436-7989

Email: dendro@aol.com

Website: www.nationalorchids.com

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส

ที่มา: http://www.depthai.go.th


แท็ก กล้วย   สหรัฐ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ