สภาวะการณ์ตลาดอาหารฮาลาลสหรัฐฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 20, 2011 17:07 —กรมส่งเสริมการส่งออก

อาหารฮาลาล

ตามหลักศาสนาอิสลาม ฮาลาล หมายรวมถึงทุกสินค้าที่ผู้บริโภคที่นับถือศาสนาอิสลามใช้ไม่ได้จำกัดเพียงแค่สินค้าอาหาร หากรวมถึงเครื่องสำอางค์ ยารักษาโรค ของใช้เพื่อสุขภาพประจำวันต่างๆ เครื่องมือเครื่องใช้ที่ใช้ในการผลิตสินค้าเหล่านั้น และบุคลากรที่อยู่ในสถานที่ผลิตและการขนส่งสินค้าด้วยเช่นกัน

ในกรณีของสินค้าอาหาร อาหารที่มุสลิมรับประทานได้เรียกว่าอาหารฮาลาล อาหารต้องห้ามเรียกว่า อาหารฮาราม และอาหารที่ไม่แน่ใจว่าถูกต้องตามหลักศาสนาหรือไม่เรียกว่าอาหาร mashbooh

อาหารฮาลาลที่ได้รับประกาศนียบัตรรับรองและติดโลโก้ “Halal” ได้ต้องเป็นอาหารที่ผลิตจากเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่าตามหลัก Shariah ของศาสนาอิสลามและที่มีวิธีการผลิตตามหลักศาสนาอิสลามตั้งแต่การเลือกใช้วัตถุดิบ เครื่องปรุง ขบวนการผลิต และส่วนผสมที่เป็นเครื่องแต่งรสชาดอาหารที่มาจากธรรมชาติหรือที่มนุษย์ผลิตขึ้นต้องไม่มี ethyl alcohol ผสม และต้องมาจากแหล่งวัตถุดิบที่เป็นฮาลาลด้วยเช่นกัน

กลุ่มผู้บริโภคอาหารฮาลาลในสหรัฐฯ

กลุ่มผู้บริโภคอาหารฮาลาลในสหรัฐฯแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มคือ (1) ส่วนใหญ่เป็นผู้บริโภคที่นับถือศาสนาอิสลามบริโภคอาหารฮาลาลเพราะความเชื่อทางศาสนา (2) ส่วนน้อยเป็นผู้บริโภคทั่วไปที่ไม่ได้เป็นยิวหรือนับถือศาสนาอิสลามแต่บริโภคอาหารฮาลาลรวมถึงอาหาร Kosher ด้วยเหตุผลเรื่องสุขภาพเป็นสำคัญ ผู้บริโภคกลุ่มแรก ให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษต่อความแท้จริงของการเป็นอาหารฮาลาล ในขณะที่ผู้บริโภคกลุ่มหลังจะไม่เคร่งครัดมากเท่ากลุ่มแรกและอาจจะกล่าวได้ว่าไม่มีความรู้ที่แท้จริงในหลักการของอาหารฮาลาลและ Kosherมากไปกว่าการเป็นอาหารที่บริสุทธิ์และปลอดภัยกว่าอาหารทั่วไปเนื่องจากผ่านการจัดการอย่างถูกสุขลักษณะมากกว่า

ตลาดอาหารฮาลาลสหรัฐฯ

ประมาณการณ์ว่าตลาดอาหารมุสลิมของสหรัฐฯมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 20 พันล้านเหรียญฯ (Islamic Food and Nutritional Council of America-IFANCA) อัตราการขยายตัวของตลาดระหว่างปี 2006 — 2013 คาดว่าจะอยู่ระหว่างร้อยละ 25 — 30 อุปทานอาหารฮาลาลในตลาดสหรัฐฯถือว่ายังคงขาดแคลน ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของต่อผู้บริโภคอิสลามอเมริกันได้อย่างทั่วถึงและมีราคาแพงกว่าอาหารทั่วไป สินค้าอาหารฮาลาลที่ได้รับประกาศนียบัตรรับรองและวางจำหน่ายในตลาดสหรัฐฯมีเพียงไม่กี่พันรายการ แม้ว่าอาหารฮาลาลจะมีวางจำหน่ายใน supermarket ที่เป็น mass market chain stores แต่ก็จะมีจำกัดเฉพาะตลาดในระดับ regional เท่านั้นไม่ได้มีวางจำหน่ายในตลาดทั่วไปที่เป็นระดับประเทศ

ความขาดแคลนอาหารฮาลาลในตลาดสหรัฐฯทำให้ผู้บริโภคมุสลิมอเมริกันส่วนใหญ่หันไปใช้อาหาร Kosher ทดแทนอาหารฮาลาล มีรายงานว่าผู้บริโภคมุสลิมอเมริกันคิดเป็นร้อยละ 16 ของตลาดสินค้าอาหาร Kosher ของสหรัฐฯ และผู้บริโภคอิสลามอเมริกันมีส่วนอย่างมากในการขยายตัวของตลาดอาหาร Kosher ในสหรัฐฯ (อุปทานอาหาร Kosher ในสหรัฐฯมีมากกว่าอุปทานอาหารฮาลาลเป็นอย่างมาก ในขณะที่ประชากร ชาวยิวของสหรัฐฯคิดเป็นประมาณร้อยละ 2 ของประชากรรวมทั้งสิ้นของสหรัฐฯแต่อาหาร Kosher คิดเป็นร้อยละ 40 ของสินค้าอาหารรวมทั้งสิ้นที่วางจำหน่ายในตลาดสหรัฐ มีประมาณการณ์มูลค่าตลาดอาหาร Kosher สหรัฐฯในปี 2003 ว่าเท่ากับ 150 พันล้านเหรียญฯและเพิ่มเป็น 200 พันล้านเหรียญในปี 2008 เป็นอัตราการเติบโตที่สูงกว่าตลาดอาหารทั่วไปถึงสองเท่าตัว)

แม้ว่าอาหาร Kosher และอาหารฮาลาลจะมีกฎข้อบังคับเรื่องการผลิตที่คล้ายคลึงกัน แต่มุสลิมถือว่าอาหาร Kosherที่ผ่านการรับรองและมีประกาศนียบัตรรับรองไม่สามารถใช้เป็นอาหารทดแทนอาหารฮาลาลได้ทั้งหมดเนื่องจากอาหาร Kosher บางรายการมีส่วนผสมที่มุสลิมถือว่าเป็นฮาราม คือ

1. เจลาตินจากหมูหรือเนื้อที่ไม่ได้ถูกฆ่าตามวิธีทางศาสนาอิสลาม

2. Kosher Gelatin

3. L-Cysteine ทำจากเส้นผมมนุษย์ ขนไก่หรือขนเป็ด

4. ไวน์

5. ลิเคอร์

6. เบียร์

7. การผสมรสชาดด้วยเหล้ารัม

8. ใช้ Ethyl Alcohol เป็นส่วนผสมหลักและมีการระบุไว้ไว้บนฉลากสินค้า

9. Cochineal หรือ Carmine ซึ่งเป็นสีแดงที่ได้มาจากแมลง

10. ซ๊อสถั่วเหลืองที่กลั่นตามธรรมชาติ

11. Yeast Extract หรือ Autolyzed Yeast ทำจากยีสต์ที่เป็นผลผลิตจากการผลิตเบียร์

12. Torula Yeast ที่เพาะเลี้ยงในเหล้า

13. Nucleotides (Nucleic acid) ที่ได้จากยีสต์ที่เลี้ยงในเหล้า

14. Vanilla Extract

15. Wine Vinegar

16. Ethyl Alcohol ที่ใช้เป็นตัวละลายทำปฏิกิริยาในการสร้างรสชาดของอาหาร

ขนาดและลักษณะประชากรอเมริกันมุสลิมในสหรัฐฯ

ปัจจุบันไม่มีการเก็บสถิติที่เป็นวิธีทางวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริงถึงจำนวนที่แท้จริงของประชากรสหรัฐฯที่เป็นมุสลิม แม้ว่าจะมีหลายๆหน่วยงานทำการศึกษาประชากรมุสลิมอเมริกัน จากผลของการศึกษาและการสำรวจของหลายๆองค์กรทำให้สามารถสรุปลักษณะประชากรมุสลิมของสหรัฐฯได้ดังนี้

1. ในระหว่างปี 2000 — 2007 สัดส่วนของคนอเมริกันมุสลิมต่อคนอเมริกันรวมทั้งสิ้นอยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 1 มาโดยตลอด ประมาณการณ์ว่าปัจจุบันสัดส่วนประชากรมุสลิมอเมริกันต่อประชากรสหรัฐฯทั้งประเทศยังคงต่ำกว่าร้อยละ 1

2. ประมาณการณ์โดยคร่าวๆได้ว่าปัจจุบันสหรัฐฯน่าจะมีจำนวนประชากรที่เป็นมุสลิมไม่ต่ำกว่า 3 ล้านคนและไม่เกิน 10 ล้านคน ตัวเลขที่นิยมใช้กันคือประมาณ 8 ล้านคน อย่างไรก็ดีจำนวนประชากรมุสลิมในสหรัฐฯในปัจจุบันอาจจะเกิน 8 ล้านคน หากจะพิจารณาว่าหลังจากปี 2007 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่มีการทำรายงานการสำรวจประชากรมุสลิมอเมริกัน มีผู้อพยพจากประเทศมุสลิมเข้าไปอยู่อาศัยในสหรัฐฯเพิ่มมากขึ้นอันเป็นผลมาจากการหนีภัยสงครามและการสู้รบหลายๆแห่งที่เกิดขึ้นหลังปี 2007 ในหลายๆประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม และการเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามของประชากรสหรัฐฯดังยังคงดำเนินไปอย่างเข้มแข็ง

3. หากจะแยกตลาดผู้บริโภคมุสลิมอเมริกันตามแหล่งกำเนิด สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

3.1 ประชากรที่มาจากการอพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานในสหรัฐฯ

3.2 ประชากรที่เป็นลูกหลานของผู้อพยพที่เกิดในประเทศสหรัฐฯ

3.3 คนอเมริกันที่เปลี่ยนศาสนาเป็นมุสลิมซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นคนอาฟริกันอเมริกัน

4. มุสลิมอเมริกันประกอบด้วยประชากรจากหลากหลายเชื้อชาติส่วนใหญ่จะเป็นอาหรับ เอเซียใต้ และคนอเมริกันพื้นเมืองผิวดำ ดังนั้นเมื่อจำแนกตลาดผู้บริโภคมุสลิมอเมริกันออกตามเชื้อชาติจะได้เป็น 4 ตลาดย่อยคือ

4.1 ผู้บริโภคเชื้อสายอาหรับ ลักษณะการดำรงชีวิตมีแนวโน้มไปทางขนบธรรมเนียมประเพณีของประเทศในตะวันออกกลาง

4.2 ผู้บริโภคเชื้อสายเอเซียใต้ ลักษณะการดำรงชีวิตมีแนวโน้มไปทางขนบธรรมเนียมประเพณีของประเทศในเอเซีย

4.3 ผู้บริโภคที่เป็นอาฟริกันอเมริกันที่เปลี่ยนศาสนาเป็นอิสลาม ลักษณะการดำรงชีวิตมีความเป็นอเมริกันมากกว่ามุสลิมกลุ่มอื่นๆ

4.4 ผู้บริโภคที่เป็นเชื้อสายประเทศอื่นๆที่นับถือศาสนาอิสลามเช่นอาฟริกา ยุโรป หรือเอเซียอื่นๆ

5. ผู้บริโภคมุสลิมอเมริกันที่เป็นผู้อพยพหรือลูกหลานของผู้อพยพส่วนใหญ่เป็นเพศชายและเป็นคนอายุน้อยหรือไม่เกิน 30 ปีเมื่อเปรียบเทียบกับอายุเฉลี่ยของคนอเมริกันทั้งประเทศที่เกินกว่า 40 ปีขึ้นไป

6. ผู้บริโภคมุสลิมอเมริกันที่เป็นผู้อพยพหรือลูกหลานของผู้อพยพโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเอเซียใต้จะเป็นกลุ่มคนที่มีการศึกษาสูง ส่วนใหญ่อยู่ในสายอาชีพวิชาชีพชั้นสูงเช่นแพทย์ วิศวะกร หรือเทคโนโลยี่ระดับสูง สถานะภาพทางเศรษฐกิจค่อนข้างดีมากมีอำนาจการซื้อสูงมากเช่นกัน

7. ส่วนใหญ่ของมุสลิมอเมริกัน (ตัวเลขไม่แน่นอนระหว่างร้อยละ 20 — 40 ของอิสลามอเมริกัน) คือคนอเมริกันพื้นเมืองผิวดำหรืออาฟริกันอเมริกันที่เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม ผู้บริโภคกลุ่มนี้มีระดับการศึกษาและสถานภาพทางเศรษฐกิจเฉลี่ยอยู่ในระดับต่ำที่สุดในกลุ่มผู้บริโภคมุสลิมด้วยกัน (หมายเหตุ: เป็นที่สังเกตเห็นได้ชัดเจนว่าในการศึกษาและสำรวจประชากรสหรัฐฯที่เป็นมุสลิมอเมริกันของหลายๆองค์กร ส่วนใหญ่ของการศึกษาและสำรวจจะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มมุสลิมอเมริกันที่เป็นผู้อพยพหรือเชื้อสายของผู้อพยพที่เกิดในสหรัฐฯเป็นสำคัญ และจะละเลยกลุ่มมุสลิมอเมริกันที่เป็นคนอเมริกันพื้นเมืองโดยสิ้นเชิง ดังนั้นผลการศึกษาและสำรวจจึงมักจะออกมาในรูปที่ว่ามุสลิมอเมริกันเป็นคนมีการศึกษาสูง มีอาชีพที่เป็นวิชาชาชีพชั้นสูง และมีอำนวจการซื้อสูง ซึ่งข้อสรุปในเรื่องนี้ไม่สามารถนำไปใช้ได้กับส่วนใหญ่ของกลุ่มมุสลิมอเมริกันที่เป็นคนอาฟริกันอเมริกันที่เป็นคนพื้นเมืองสหรัฐฯ)

8. ประชากรอาฟาริกันอเมริกันคิดเป็นประมาณร้อยละ 12 ของประชากรสหรัฐฯรวมทั้งสิ้น (Census 2000) มีประมาณการณ์ว่าปัจจุบันสัดส่วนจะอยู่ระหว่างร้อยละ 13.5 หรือประมาณ 41.1 ล้านคนประมาณร้อยละ 1 นับถือศาสนาอิสลาม

9. มุสลิมอเมริกันส่วนใหญ่เป็นนิกาย Sunni จึงค่อนข้างจะเคร่งกับธรรมเนียมการปฏิบัติทางศาสนา

10. สถานกักกันของสหรัฐฯจึงถือได้ว่าเป็นแหล่งชุมนุมของมุสลิมอเมริกันที่ใหญ่ที่สุดแหล่งหนึ่ง

แหล่งอาศัยของมุสลิมอเมริกัน

มุสลิมอเมริกันอาศัยอยู่หนาแน่นใน 4 ภูมิภาคคือ

1. พื้นที่ตั้งแต่รัฐนิวยอร์คจนถึงวอชิงตัน ดีซี

2. แคลิฟอร์เนียภาคเหนือและภาคใต้ โดยเฉพาะลอสแอนเจลิส และ ซานฟรานซิสโก มุสลิมในแคลิฟอร์เนียส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายอิหร่าน ลอสแอนเจลิสมีพลเมืองเชื้อสายอิหร่านมากที่สุดในโลกรองจากประเทศอิหร่าน ทางตอนเหนือของรัฐแคลิฟอร์เนียบริเวณเชิงเทือกเขา Sierra Nevada คนอาฟริกันอเมริกันที่เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามได้รวมตัวกันตั้งเมือง Baladullah เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของคนส่วนใหญ่ที่เป็นอาฟริกันอเมริกันที่นับถือศาสนาอิสลาม

3. พื้นที่สามเหลี่ยมบริเวณตะวันตกตอนกลาง คือ ชิคาโก คลีฟแลนด์ และ ดีทรอย์ มุสลิมในเขตนี้ส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายอาหรับและคนอาฟริกันอเมริกัน

3.1 มุสลิมในชิคาโก ส่วนใหญ่เป็นเชื้อสายจากยุโรปตะวันออก เช่น อัลบาเนียน บอสเนีย และเตอร์ก

3.2 มุสลิมในดีทรอย์ส่วนใหญ่เป็นเชื้อสายอาหรับ เป็นแหล่งรวมมุสลิมอาหรับที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นเชื้อสายเลบานอน อิรัค ปาเลสไตน์ และเยเมน

4. รัฐเท็กซัส โดยเฉพาะบริเวณฮิวส์ตันและดัลลาส-ฟอร์ทเวิรท์ ส่วนใหญ่ของมุสลิมในรัฐเท็กซัสเป็นคนเชื้อสายเอเซียใต้

พื้นที่ที่มีมุสลิมอเมริกันอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุดเมื่อคำนวนเป็นสัดส่วนของประชากรในพื้นที่นั้นๆคือเมือง Dearborn รัฐมิชิแกนที่มีประมาณการณ์ว่าร้อยละ 30 ของประชากรในเมืองดังกล่าวเป็นมุสลิม และในเขตที่เรียกว่า Southend ของเมือง Dearborn ร้อยละ 97 ของประชากรเป็นมุสลิม ส่วนใหญ่ของมุสลิมในเมือง Dearborn เป็นเชื้อสายอาหรับ

พื้นที่ในสหรัฐฯที่มีมุสลิมอเมริกันอาศัยอยู่เบาบางคือบริเวณตะวันออกเฉียงใต้ (ทั้งนี้ยกเว้นรัฐฟลอริด้า) และตะวันตกเฉียงเหนือ(ทั้งนี้ยกเว้นรัฐวอชิงตัน) ในระหว่างปี 2000 - 2009 คนอาฟริกันอเมริกันอพยพย้ายถิ่นฐานไปอยู่มลรัฐต่างทางใต้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เมืองใหญ่ๆที่คนอาฟริกันอเมริกันอพยพย้ายไปอยู่เพิ่มมากขึ้นเช่น Atlanta, Dallas, Houston, Charlotte และ Releigh เป็นต้น จำนวนประชากรอาฟริกันอเมริกันในเมืองใหญ่ๆเช่น Los Angeles, San Francisco, New York, Detroit, Chicago เป็นต้น เริ่มมีจำนวนลดลง คนอาฟริกันอเมริกันที่อพยพย้ายถิ่นฐานลงไปทางใต้นี้ส่วนใหญ่เป็นคนมีการศึกษาสูงและมีฐานะทางเศรษฐกิจค่อนข้างดี แต่ไม่สามารถระบุจำนวนมุสลิมอเมริกันที่รวมอยู่ในกลุ่มคนอพยพกลุ่มนี้ได้

การสำรวจประชากรมุสลิมขององค์กรต่างๆ

1. การสำรวจประชากรของหน่วยงาน Census Bureau รัฐบาลสหรัฐฯในปี 2000 ระบุว่า

1.1 สหรัฐฯมีประชากรที่มีเชื้อสายอาหรับ (ไม่ได้ระบุว่านับถือศาสนาอิสลาม และไม่จำเป็นว่าอาหรับจะต้องเป็นอิสลามทั้งหมด) ประมาณ 1.2 ล้านคน หรือร้อยละ 0.42 ของประชากรสหรัฐฯทั้งประเทศ ประชากรกลุ่มนี้มีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 6 ต่อปี ซึ่งหมายถึงว่าจะมีอัตราการขยายตัวปีละประมาณ 7.2 หมื่นคน ดังนั้นหากจะใช้ข้อมูลของหน่วยงานสำรวจประชากรสหรัฐฯเป็นเกณฑ์อาจจะสรุปได้คร่าวๆว่าในปี 2010 สหรัฐฯมีประชากรที่เป็นเชื้อสายอาหรับไม่ต่ำกว่า 1.9 ล้านคน

1.2 ส่วนใหญ่เป็นคนอาหรับเชื้อสายเลบานิส ซีเรีย และอียิปต์

1.3 ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 48) ของประชากรกลุ่มนี้จะอยู่หนาแน่นใน 5 มลรัฐคือ แคลิฟอร์เนีย ฟลอริด้า มิชิแกน นิวเจอร์ซี่ และนิวยอร์ค

1.4 เมืองที่มีประชากรกลุ่มนี้อาศัยอยู่มากที่สุดเรียงตามลำดับคือนิวยอร์ค ลอสแอนเจลิส ชิคาโก ฮิวสตัน ดิทรอยท์ และซานดิเอโก อย่างไรก็ดี สัดส่วนของประชากรกลุ่มนี้ต่อประชากรส่วนใหญ่ในแต่ละเมืองอยู่ในระดับต่ำคือต่ำกว่าร้อยละ 1

1.5 เมืองที่มีประชากรกลุ่มนี้อาศัยอยู่หนาแน่นมากที่สุดเมื่อเทียบสัดส่วนกับประชากรทั้งสิ้น คือเมืองเดียร์บอนด์ รัฐมิชิแกน

(หมายเหตุ: การสำรวจประชากรของสหรัฐฯครั้งล่าสุดกระทำเมื่อปี 2010 รายงานผลการสำรวจที่สมบูรณ์ยังไม่ถูกประกาศแพร่หลายในขณะทำรายงานฉบับนี้ อนึ่งในการสำรวจประชากรของสหรัฐฯจะไม่มีการถามถึงศาสนาของประชากรแต่ละคน)

2. จากการสำรวจ “Muslim Americans: Middle Class and Mostly Mainstream” ของ Pew Research Center ระบุว่าในปี 2007

2.1 สหรัฐฯมีประชากรที่นับถือศาสนามุสลิมประมาณ 2.35 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 0.6 ของประชากรรวมทั้งสิ้นของสหรัฐฯในช่วงขณะทำการสำรวจ

2.2 ร้อยละ 65 หรือสองในสามเป็นประชากรที่เกิดนอกสหรัฐฯ ในจำนวนนี้ร้อยละ 24 เดินทางอพยพมาจากประเทศกลุ่มอาหรับ 2.3 ร้อยละ 35 เป็นคนพื้นเมืองสหรัฐฯที่เป็นอาฟาริกันอเมริกัน

2.4 คนมุสลิมอเมริกันอายุน้อย(ต่ำกว่า 30 ปี) มีความเคร่งครัดในศาสนามากกว่าคนมุสลิมอเมริกันที่อายุมากกว่า

2.5 มุสลิมอเมริกันส่วนใหญ่เป็นเพศชาย

2.6 มุสลิมอเมริกันที่อพยพเข้าไปในสหรัฐฯร้อยละ 44 ระบุว่าเป็นคนผิวขาว ร้อยละ 28 ระบุว่าเป็นคนเอเซีย ในขณะที่มุสลิมที่เกิดในสหรัฐฯร้อยละ 56 ระบุว่าเป็นคนผิวดำ ร้อยละ 31 ระบุว่าเป็นคนผิวขาว และร้อยละ 2 ระบุว่าเป็นคนเอเซีย (มุสลิมจากอาหรับจะระบุว่าตนเป็นคนผิวขาวมุสลิมจากประเทศต่างๆในเอเซียใต้จะระบุว่าตนเป็นคนเอเซีย)

2.7 ประชากรมุสลิมในสหรัฐฯส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามนิกายSunni อย่างไรก็ดีส่วนใหญ่ของประชากรมุสลิมในสหรัฐฯที่เป็นคนพื้นเมืองดั่งเดิมที่ส่วนใหญ่เป็นคนอาฟริกันอเมริกันที่เปลี่ยนศาสนาเป็นอิสลามสส่วนหนึ่งจะแยกกลุ่มออกมาและเรียกตนเองว่า Nation of Islam

3. จากการสำรวจของ Zogby International ในปี 2000 และ 2002 ระบุว่า

3.1 สหรัฐฯมีประชากรมุสลิมประมาณ 7 ล้านคน หากพิจารณาว่า U.S. Census Bureau ระบุอัตราการขยายตัวของประชากรมุสลิมว่าเท่ากับร้อยละ 6 ต่อปี ดังนั้นหากใช้การสำรวจรายการนี้เป็นเกณฑ์ ในปี 2010 จำนวนประชากรมุสลิมของสหรัฐฯควรจะประมาณไม่ต่ำกว่า 11 ล้านคน

3.2 เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีการศึกษาสูงและมีสถานะภาพทางเศรษฐกิจสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของผู้บริโภค สหรัฐฯโดยรวม หนึ่งในสามของมุสลิมอเมริกันมีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนประมาณ 75,000 เหรียญฯต่อปี อำนาจการซื้อของผู้บริโภคมุสลิมอเมริกันในปี 2000 รวมกันประมาณ 170 พันล้านเหรียญฯ

3.3 ขนาดครัวเรือนของประชากรมุสลิมของสหรัฐฯที่ประมาณการณ์ว่ามีขนาด 5 คนต่อครัวเรือนใหญ่กว่าขนาดครัวเรือนเฉลี่ยของสหรัฐฯที่ประมาณการณ์ว่า 2.6 คนต่อครัวเรือน

3.4 ประชากรมุสลิมในสหรัฐฯส่วนใหญ่เป็นคนอายุน้อยกว่าคนอเมริกันอื่นๆโดยรวม เกินกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรมุสลิมในสหรัฐฯมีอายุต่ำกว่า 40 ปี ในขณะที่เกินกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรสหรัฐฯ โดยรวมมีอายุเกินกว่า 40 ปี

4. จากการสำรวจของ Cornell University ในปี 2002 ระบุความจำเป็นต้องการบริโภคอาหารฮาลาล ของผู้บริโภคมุสลิมสหรัฐฯอยู่ในระดับสูง

5. จากการสำรวจของ U.S. Department of State ในปี 2001 ระบุว่า

5.1 ร้อยละ 42 เป็นคนอาฟริกันอมเริกัน ร้อยละ 24 เป็นคนอเมริกันเชื้อสายเอเซียใต้ และร้อยละ 12 เป็นคนอเมริกันเชื้อสายอาหรับ

5.2 ประมาณร้อยละ 22.4 เป็นคนอเมริกันโดยกำเนิด (สถิติปี 2000)

6. จากข่าวสารอื่นๆพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า

6.1 ประชากรมุสลิมของสหรัฐฯจำนวนมากอยู่ในสถานกักกัน ทั้งนี้พิจารณาจากประมาณการณ์ว่าร้อยละ 30 ของผู้ต้องขังในสหรัฐฯเป็นคนอาฟริกันอเมริกัน และสถานกักกันในสหรัฐฯได้ชื่อว่า เป็นแหล่งสำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนศาสนาไปนับถือศาสนาอิสลามโดยเฉพาะอย่างยิ่งของ ผู้ต้องขังที่เป็นอาฟริกันอเมริกัน

6.2 อำนาจการซื้อของคนมุสลิมอเมริกันประมาณ 170-200 พันล้านเหรียญฯหรือ 25,000 เหรียญฯ ต่อคนต่อปี

6.3 มุสลิมอเมริกันมีอัตราการขยายตัวประชากรปีละ 500,000 คนต่อปี

6.4 มุสลิมอเมริกันที่มีการศึกษาสูงและมีสถานะภาพทางเศรษฐกิจดีที่สุดคือกลุ่มที่มีเชื้อสายเอเซียใต้

แนวโน้มการบริโภคอาหารฮาลาลในสหรัฐฯในปัจจุบัน

1. ผู้บริโภคที่เป็นคนอิสลามอเมริกันหนุ่มสาวรุ่นใหม่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดความต้องการสินค้าที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ผู้บริโภคกลุ่มนี้ต้องการสินค้าใหม่ๆที่ทันสมัยเข้ากับวิถีชีวิตและการดำรงชีวิตของคนอเมริกันรุ่นใหม่ อย่างไรก็ดีมีแนวโน้มว่าผู้บริโภคกลุ่มนี้จะเคร่งครัดในหลักการของศาสนามากกว่าผู้บริโภคกลุ่มอื่น

2. ต้องการที่จะเข้าถึงสินค้าได้โดยง่าย หมายถึงสามารถเข้าถึงสินค้าในตลาด mainstream ทั่วไปได้และไม่ถูกจำกัดวงอยู่เฉพาะแต่ว่าจะต้องหาซื้อสินค้าแต่ในตลาด ethnic markets เพียงอย่างเดียว

3. ความซื่อสัตย์ต่อยี่ห้อสินค้าของผู้บริโภคสินค้าฮาลาลอยู่ในระดับสูงกว่าผู้บริโภคทั่วไปที่บริโภคสินค้าที่ไม่ใช่ฮาลาล ทั้งนี้อาจเป็นเพราะความเชื่อทางศาสนาเป็นแรงกระตุ้นอยู่เบื้องหลัง

แหล่งอุปทานอาหารฮาลาลในตลาดสหรัฐฯ

อาหารฮาลาลที่บริโภคในสหรัฐฯมาจากสองแหล่งกำเนิดด้วยกันคือ

1. ส่วนใหญ่มาจากการนำเข้า

เนื่องจากตลาดอาหารฮาลาลเป็นตลาดขนาดเล็กมากจึงไม่มีสถิติการนำเข้า อย่างไรก็ดีแหล่งอุปทานนำเข้าเกือบจะทั้งสิ้นจะมาจากประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามเช่นมาเลเซีย ปากีสถาน ประเทศต่างๆ ในตะวันออกกลางและเมดิเตอร์เรเนียน นอกจากนี้ยังมีการนำเข้าจากจีน ญี่ปุ่น เวียดนาม และประเทศไทยบ้างแต่เป็นส่วนน้อย

2. จากโรงงานผลิตในสหรัฐฯ (ดูรายชื่อในภาคผนวกท้ายรายงาน) ซึ่งประกอบไปด้วย

2.1 โรงงานผลิตอาหารขนาดใหญ่ที่ผลิตอาหารทั่วไปและเข้าสู่การผลิตอาหารบางรายการเป็นอาหารฮาลาล การขาดมาตรฐานในเรื่องคุณสมบัติและการออกประกาศนียบัตรอาหารฮาลาล ในสหรัฐฯส่งผลทำให้การขยายตัวของการผลิตอาหารฮาลาลของโรงงานผลิตอาหารใหญ่ๆใน สหรัฐฯเหล่านี้เป็นไปอย่างล่าช้าด้วยเหตุผลที่ว่าก่อนการลงทุนผลิตโรงงานผลิตจะต้องแน่ใจก่อนว่าสินค้าที่ตนผลิตเป็นสินค้าที่เข้าในหลักการของอาหารฮาลาลอย่างแท้จริงและสามารถวางจำหน่ายทำผลกำไรให้แก่โรงงานได้ นอกจากนี้ยังต้องระมัดระวังในเรื่องการวางตลาดสินค้าที่จะไม่ก่อให้เกิดกระแสต่อต้านจากคนอเมริกันบางกลุ่ม

2.2 โรงงานผลิตขนาดเล็กที่ผลิตอาหาร ethnic foods โดยเฉพาะ

ระบบการกระจายสินค้าอาหารฮาลาล

เป็นระบบปกติเช่นเดียวกับการกระจายสินค้าอาหารอื่นๆจะมีข้อยกเว้นก็เฉพาะในเรื่องของ logistic ที่ผู้ค้าที่เคร่งศาสนาหรือผู้ค้าที่มีความตั้งใจจริงที่จะทำการค้าสินค้าฮาลาลที่แท้จริงจะใช้ระบบโลจิสติกส์แบบฮาลาล (Halal Logistic) เท่านั้นในการขนส่งสินค้าอาหารฮาลาลล่าวคือการขนส่งสินค้าอาหารฮาลาลจะต้องระวังที่จะไม่ให้ถูกปนเปื้อนโดยสินค้าอาหารอื่นๆ ดังนั้นการขนส่งสินค้าอาหารฮาลาลจำเป็นต้องแยกออกเป็นเอกเทศไม่ปะปนกับการขนส่งสินค้าอาหารอื่นๆ

เนื่องจากเป็นสินค้าที่อยู่ภายใต้กฎระเบียบทางศาสนาที่เคร่งครัดในเรื่องของการแยกตัวออกจากสินค้าอาหารอื่นๆที่ไม่ใช่ฮาลาลและสภาพของตลาดการบริโภคที่มีขนาดเล็กมากที่แบ่งย่อยออกไปหลากหลาย niche markets ตามลัทธิความเชื่อทางศาสนา วัฒนธรรมประเพณีและเชื้อชาติดั่งเดิมของผู้บริโภค ส่งผลทำให้ระบบการกระจายสินค้าอาหารฮาลาลในตลาดสหรัฐฯเป็นไปในลักษณะตรงไปตรงมาและผ่านมือคนกลางน้อยที่สุด ส่วนใหญ่ ของสินค้าจากผู้นำเข้าหรือจากโรงงานผลิตจะเข้าสู่ตลาดผู้ค้าปลีกโดยทันที ธุรกิจนำเข้าและธุรกิจการผลิตที่เป็นของชนกลุ่มน้อยเกือบจะทั้งสิ้นจะทำหน้าที่ครบวงจรโดยเป็นผู้ค้าส่งและผู้กระจายสินค้าพร้อมกันไปในตัวในบางรายจะทำหน้าที่เป็นผู้ค้าปลีกหรือทำธุรกิจให้บริการอาหารด้วย

ช่องทางจำหน่ายสินค้าอาหารฮาลาลในสหรัฐฯ

1. ตลาดค้าปลีกในสหรัฐฯที่จำหน่ายอาหารฮาลาล

ธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ของสหรัฐฯหลายรายได้ให้ความสนใจเสนอสินค้าอาหารฮาลาลแก่ลูกค้าของตนอย่างไรก็ดีการวางจำหน่ายสินค้าอาหารฮาลาลของผู้ค้าปลีกเหล่านี้มีเป้าหมายหลักประการเดียวคือการสร้างรายได้และผลกำไรจากการขาย ดังนั้นธุรกิจค้าปลีกเหล่านี้จะวางขายสินค้าอาหารฮาลาลเฉพาะที่ตนพิจารณาแล้วเห็นว่ามีศักยะภาพในการทำรายได้และวางขายเฉพาะในร้านค้าที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีศักยภาพในการขายเช่นในเขตที่ มีผู้บริโภคมุสลิมอเมริกันอยู่หนาแน่น ธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ๆของสหรัฐฯที่กำลังเคลื่อนเข้าสู่ตลาดค้าปลีกสินค้า อาหารฮาลาลได้แก่ Costco, Whole Foods Market, H-E-B, Mrs Fields Famous Brand, Wal-Mart (วางจำหน่ายเฉพาะ 2 สาขาที่ตั้งอยู่ในเมือง Dearborn, Michigan), Shoprite, SuperValue และ Giant

ธุรกิจค้าปลีกรายย่อยที่เป็น ethnic market ขายสินค้าฮาลาลมีกระจายอยู่ทั่วไปในเกือบจะทุกมลรัฐ ส่วนใหญ่ตลาดเหล่านี้จะเป็นตลาดขนาดเล็กให้บริการเฉพาะผู้บริโภคเชื้อสายเดียวกันที่อาศัยอยู่ในชุมชน เช่น

1. Halal Import Food Supermarket, 701 E. Pioneer Pkwy, Arlington, TX 76010-8556, Tel: 817 265-8875

2. Alaska Halal Grocery, 401 W. International Rd., No. 23, Alaska

3. Sahara Supermarket, 3353 W 117th, Cleveland, OH 44111, Tel: 216 688-1219

4. Holy Land Imports, 11717 Lorain Ave., Cleveland, OH 44111, Tel: 216 671-7736

5. Halal Meats and Middle Eastern Groceries Inc., 311 East Ridge Rd., Rochester, NY 14621, Tel: 585 342-4776, Fax: 585 342-5325, www.halalmarketandmeats.com

6. Halal Market, 2850 S. Redwood Rd., A11/12, West Valley, UT 84119, Tel: 801 952-0786

7. International Market & Deli, 2283 E. 3300 S., Salt Lake City, UT 84109, Tel: 801 463-2700

8. 33rd Street Groceries & Spices, 3232 S. 400 E., Salt Lake City, UT 84115, Tel: 801 484-3302

9. www.muslims411.com ระบุรายชื่อตลาดมุสลิม 59 แห่งในแคลิฟอร์เนีย

2. ธรุกิจบริการร้านอาหารฮาลาล

เนื่องจากความขาดแคลนอาหารฮาลาล ร้านอาหารที่ให้บริการอาหารฮาลาลจึงเป็นแหล่งอุปทานที่สำคัญแหล่งหนึ่งของผู้บริโภค ร้านอาหารที่เป็น Halal Restaurants ในสหรัฐฯมีอยู่เกือบทุกมลรัฐในสหรัฐฯ ยกเว้นรัฐไวโอมิ่ง ร้านอาหารเหล่านี้รวมถึงร้านอาหารจานด่วนที่เป็น chain restaurants เช่น KFC มีประมาณการณ์ว่า Halal Restaurants ในสหรัฐฯมีอยู่รวมทั้งสิ้น 5,434 ร้าน (ข้อมูลจาก www.zabihah.com) ในจำนวนนี้ 1,833 ร้านตั้งอยู่ในรัฐบนฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯที่เป็นเขตความรับผิดชอบของสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่าง ประเทศ ณ นครลอสแอนเจิลส

(ก) รัฐที่มีร้านอาหารฮาลาลมากที่สุด (เกินกว่า 100 ร้าน) เรียงตามลำดับคือ แคลิฟอร์เนีย (987) นิวยอร์ค (658) เท็กซัส (419) ดิสทริกซ์ออฟโคลอมเบีย-ดีซี (373) อิลินอยส์ (310) นิวเจอร์ซี่ (285) เวอร์จิเนีย (280) เพนซิลวาเนีย (169) แมรี่แลนด์ (167) แมสซาจูเซท (152) จอร์เจีย (149) ฟลอริด้า (140) วอชิงตัน (139) โอไฮโอ (135) นอร์ทแคโรไลน่า (112) และ คอนเน็คติกัต (105)

(ข) รัฐที่มีร้านอาหารฮาลาลระหว่าง 50 — 100 ร้าน เรียงตามลำดับคือ มิสซูรี่ (73) อริโซน่า (72) มินิโซต้า (57) เทนเนสซี่ (54) และ โคโลราโด (53)

(ค) รัฐที่มีร้านอาหารฮาลาลไม่ถึง 50 ร้านคือ อินเดียน่า (45) เนวาด้า (41) โอเรกอน (41) วิสคอนซิล (34) ยูท่าห์ (33) มิชิแกน (30) แคนซัส (28) เคนตั๊กกี้ (28) หลุยเซียน่า (23) โอคลาโฮมา (23) เซ้าท์แคลโรไลน่า (23) นิวแฮมเชอร์ (21) อลาบาม่า (20) เดลาแวร์ (20) ไอโอวา (17) โรดไอแลนด์ (15) นิวเม็กซิโก (14) เมน (12) ฮาวาย (12) ไอดาโฮ (11) เนบราสก้า (10) อาร์คันซอร์ (10) อลาสก้า (7) เวสเวอร์จิเนีย (7) มิซิสซิปปี้ (5) นอร์ทดาโกต้า (5) มอนตาน่า (4) เซ้าท์ดาร์โกต้า (3) และ เวอร์มอนท์ (3)

(ง) รัฐทีไม่มีร้านอาหารฮาลาลเลยคือรัฐไวโอมิ่ง

3. การค้าผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ท

ด้วยเหตุผลทางการเมืองและความแตกต่างทางศาสนา สังคม ขนบธรรมเนียมประเพณีจากประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ทำให้ดูเหมือนว่าผู้บริโภคอิสลามอเมริกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่มีเชื้อสายของผู้อพยพจะสร้างสังคมเฉพาะกลุ่มของตนขึ้นมานอกเหนือไปจากการเข้าสมาคมกับกลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศและมีการรวมกลุ่มกันที่เข้มแข็งมากกว่าผู้บริโภคอื่นๆ และเนื่องจากเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ส่วนใหญ่อายุน้อยมีการศึกษาดี มีสถานะภาพทางเศรษฐกิจดี และมีถิ่นที่อยู่ที่กระจายออกไปทั่วประเทศ ดังนั้นการรวมกลุ่มและการสื่อสารที่ผู้บริโภคกลุ่มนี้นิยมใช้มากที่สุดคือการสื่อสารทางระบบอินเตอร์เน็ทผ่านทางเว็ปไซด์และโซเซียลมีเดียต่างๆ รวมถึงการทำธุรกิจต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งการขายสินค้าที่เป็นสินค้าจำเป็นแก่การดำรงชีวิตตามคำสอนทางศาสนาและประเพณีเฉพาะกลุ่มที่หาซื้อได้ยากในตลาดการค้าสินค้าทั่วไปของสหรัฐฯ

กฎระเบียบของสหรัฐฯในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอาหารฮาลาล

1. กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ(U.S. Department of Agricultural — USDA)

ในปี 1995 หน่วยงาน Food labeling Division, Food Safety and Inspection Service (FSIS) ของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯอนุมัตินโยบายการปิดฉลากสินค้าอาหารที่ทำจากเนื้อสัตว์ที่เป็นอาหารฮาลาลโดยยอมให้ใช้คำว่า “Halal”, “Halal Style”, “Halal Brand” บนผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์และเนื้อสัตว์ปีกถ้าสินค้านั้นๆมีการผลิตตามหลักศาสนาอิสลามและภายใต้การควบคุมดูแลขององค์กรทางศาสนาอิสลาม FSIS จะตรวจว่าฉลากสินค้าเป็นของแท้หรือของปลอมแปลงแต่จะไม่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการออกประกาศนียบัตรรับรองสินค้าว่าเป็นสินค้า ฮาลาลที่มีการผลิตตามหลักศาสนาอิสลามและถือเป็นความรับผิดชอบของโรงงานผลิตที่จะหาการตรวจสอบโรงงานว่ามีการผลิตที่เป็นฮาลาล

ฉลากสินค้าอาหารฮาลาลที่เป็นเนื้อสัตว์ ในส่วนที่เป็นภาษาต่างชาติจะต้องส่งร่างแบบพร้อมคำแปลให้หน่วยงาน FSISกระทรวงเกษตรสหรัฐฯรับรอง สินค้าที่ติดฉลากว่าเป็น “Certified Halal” หรือ “Zabiha Halal” จะต้องระบุชื่อพร้อมข้อมูลขององค์กรที่ออกใบรับรองไว้บนฉลากด้วย การยื่นสมัครขอฉลากจากกระทรวงเกษตรสหรัฐฯจะต้องส่งเอกสารต่างๆที่แสดงว่าเป็นสินค้าที่ได้มาตรฐานตามที่องค์กรที่ออกประกาศนียบัตรรับรองสินค้ากำหนด

2. องค์กรอาหารและยารัฐบาลกลางสหรัฐฯ (Food and Drug Administration-FDA)

อาหารฮาลาลอยู่ภายใต้กฎระเบียบเดียวกันกับที่ใช้กับการผลิต การจัดการ การทำบรรจุภัณฑ์ การปิดฉลากสินค้า การเก็บรักษา การขนส่ง การค้าส่ง การค้าปลีก และการค้านำเข้าสหรัฐฯสินค้าอาหารโดยทั่วไปของสหรัฐฯ และเช่นเดียวกันกับกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ FDA ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องการออกประกาศนียบัตรรับรองว่าเป็นสินค้าฮาลาลแต่จะเข้าไปเกี่ยวข้องในกรณีที่การปิดฉลากสินค้าไม่ถูกต้องซึ่งรวมถึงการกล่าวแอบอ้างและการปลอมแปลงว่าเป็นสินค้าฮาลาล

3. กฎหมายของมลรัฐต่างๆ

มลรัฐบางมลรัฐในสหรัฐฯมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอาหารฮาลาล กฎหมายเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นไปในลักษณะการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสลามอเมริกันจากอาหารฮาลาลปลอมหรือที่มีการผลิตไม่ถูกต้องตามหลักศาสนา ปัญหาของกฎหมายเหล่านี้ก็คือไม่ได้มีรายละเอียดที่ชัดเจนและไม่มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง สาเหตุสำคัญของปัญหานี้สืบเนื่องมาจากผู้ที่ออกกฎหมายและผู้บังคับใช้กฎหมายไม่ใช่ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามและไม่มีความเข้าใจอย่างแท้จริงในข้อบัญญัติต่างๆของศาสนาอิสลาม ในปี 2010 ได้มีความพยายามในภาครัฐบาลกลางที่จะออกกฎหมาย Kosher and Halal Billแต่ร่างกฎหมายดังกล่าวถูกคัดค้านอย่างหนักและไม่ผ่านการพิจารณา

เบื้องต้นของสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ

มลรัฐในสหรัฐฯที่มีกฎหมายที่เกี่ยวกับฮาลาลมีอยู่ 7 มลรัฐ คือ

1. ในปี 2000 รัฐนิวเจอร์ซี่เป็นรัฐแรกที่ออกกฎหมาย Halal Food Consumer Protection Act ห้ามการแอบอ้างจำหน่ายอาหารฮาลาลปลอม และกำหนดแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ค้าและผู้กระจายสินค้าฮาลาลในรัฐ

2. ในปี 2001 รัฐมินิสโซต้าออกกฎหมาย Minnesota Session Laws ห้ามการจำหน่ายอาหารฮาลาลปลอม อาหารฮาลาลจะต้องมีการปฏิบัติตามกฎหมายอิสลามอย่างแท้จริง

3. ในปี 2001 รัฐอิลินอยส์ ออกกฎหมาย Halal Food Act บังคับว่าผู้ผลิต ผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ฮาลาลจะต้องจัดหาและแสดงหลักฐานว่าสินค้าดังกล่าวเป็นฮาลาลจริง ผู้ซื้อมีสิทธิที่จะขอดูหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่าสินค้าเหล่านั้นเป็นสินค้าฮาลาลจริง ผู้ค้าและผู้ผลิตอาหารฮาลาล จะต้องจดทะเบียนไว้กับมลรัฐ

4. ในปี 2002 รัฐแคลิฟอร์เนียออกกฎหมาย Halal Food Bill ซึ่งมีเนื้อหาโดยสรุปห้ามการโฆษณาและการขายสินค้าที่ไม่ใช่ฮาลาลว่าเป็นสินค้าฮาลาลในรัฐแคลิฟอร์เนีย

5. ในปี 2003 รัฐเท๊กซัส ออกกฎหมาย Halal Food Bill ห้ามการปิดฉลากหลอกลวงว่าเป็นสินค้าอาหารฮาลาล

6. ในปี 2005 รัฐนิวยอร์คออกกฎหมาย Halal Foods Protection Act of 2005 บังคับนักธุรกิจหรือภาคเอชนผู้ทำธุรกิจหรือเกี่ยวข้องกับการผลิต การทำบรรจุภัณฑ์ การกระจายสินค้า และการจำหน่าย อาหารฮาลาลต้องยื่นจดทะเบียนกับ New York State Department of Agriculture and Markets และร้านค้าปลีกต้องปิดป้ายโฆษณาหน้าร้านว่า “HALAL AND NON-HALAL MEAT SOLD HERE” หรือ “HALAL AND NON-HALAL FOOD SOLD HERE”

7. ในปี 2006 รัฐเวอร์จิเนีย ออกกฎหมาย Halal-Kosher Bill บังคับเรื่องการปิดฉลากสินค้าการระบุสินค้า และการขายสินค้าฮาลาลและ Kosher ว่าต้องระบุชื่อ พร้อมโลโก้ และข้อมูลองค์กรที่ให้การรับรองว่าสินค้าดังกล่าวเป็นฮาลาลหรือ Kosher

4. กฎระเบียบเรื่องการนำเข้าสหรัฐฯสินค้าอาหารฮาลาล

เนื่องจากสหรัฐฯไม่ใช่ประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามดังนั้นจึงไม่มีกฎระเบียบที่บังคับใช้กับการนำเข้าสินค้าอาหารฮาลาลโดยเฉพาะ กฎหมาย กฎระเบียบ และข้อบังคับใดๆของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่ใช้กับการนำเข้าสินค้าอาหารและเครื่องดื่มโดยทั่วไปบังคับใช้กับสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นฮาลาลด้วยเช่นกัน เนื่องจากความบริสุทธิสะอาดของสินค้าเป็นหัวใจสำคัญของขบวนการผลิต อาหารฮาลาลตามหลักศาสนาอิสลาม ดังนั้นการนำเข้าอาหารฮาลาลที่แท้จริงจึงอาจจะลดโอกาสที่จะประสบปัญหาเรื่องอาหารสกปรกหรือปนเปื้อนสกปรกซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้อาหารส่วนใหญ่ถูกห้ามนำเข้าสหรัฐฯ

กฎระเบียบโดยสรุปของ FDA ในส่วนของสินค้าอาหารที่ต้องการนำเข้าไปจำหน่ายในสหรัฐฯคือ

1. ต้องจดทะเบียนโรงงานผลิต (factory registration) ไว้กับ FDA

2. ต้องจดทะเบียนขบวนการผลิตไว้กับ FDA

3. ต้องจดทะเบียนอื่นๆที่จำเป็นสำหรับสินค้าแต่ละประเภท เช่น การจดทะเบียน Food Canning Establishment Number (FCE No.) เพื่อขอหมายเลข FCE # และรับ Submission Identifier — SID no. สำหรับสินค้าที่ Acidified และ Low-Acid Canned Foods เป็นต้น

4. ต้องผลิตและจัดการสินค้าที่สะอาดปลอดภัยต่อการบริโภค ภายใต้ระบบ Current Good Manufacturing Practices (CGMPs) และ/หรือภายใต้ระบบ Hazard Analysis & Critical Control Points (HACCP) ของสหรัฐฯ ข้อบังคับนี้เป็นการเพิ่มเติมที่ นอกเหนือไปจากการผลิตตามหลักฮาลาล

5. ต้องปิดฉลากสินค้าตามกฎระเบียบของ FDA การกล่าวอ้างสรรพคุณและส่วนผสมสินค้าต้องเป็นตามความเป็นจริง รวมถึงการปิดฉลากว่าเป็นสินค้าฮาลาล

6. ต้องรายงานการนำเข้าและจัดส่งเอกสารนำเข้าตามที่กฎหมายกำหนดสำหรับแต่ละตัวสินค้า

(หมายเหตุ: กรุณาศึกษาเพิ่มเติมจากรายงานเรื่องกฎหมายและกฎระเบียบการนำเข้าสหรัฐฯสินค้าอาหารที่สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิสได้จัดส่งไปให้แล้ว)

การออกประกาศนียบัตรรับรองอาหารฮาลาล

กฎหมายสหรัฐฯไม่ได้บังคับว่าอาหารอิสลามที่จำหน่ายในตลาดสหรัฐฯจะต้องมีใบประกาศนียบัตรรับรอง ทั้งนี้ยกเว้น 7 มลรัฐ (นิวเจอร์ซี่ มินิโซต้า อิลนอยส์ แคลิฟอร์เนีย นิวยอร์ค เท็กซัส และนิวเจอร์ซี่) ที่มีกฎหมายบังคับในเรื่องการจำหน่ายสินค้าอาหารฮาลาลที่เป็นของแท้ แต่การมีประกาศนียบัตรรับรองอาหารฮาลาลเป็นสิ่งจำเป็นเพราะประกาศนียบัตรจะเป็นสิ่งเดียวที่จะแบ่งแยกและบ่งบอกความเป็นอาหารฮาลาลที่แท้จริงให้แก่ ผู้บริโภคได้ทราบ ในสหรัฐฯมีองค์กรหลายองค์กรที่ให้บริการออกประกาศนียบัตรรับรองอาหารฮาลาล องค์กรเหล่านี้มีมาตรฐานและเงื่อนไขในการรับรองที่แตกต่างกันออกไปตามหลักความเชื่อและการตีความคำสอนของศาสนาอิสลามที่แตกต่างกันออกไป

ปัจจุบันการออกประกาศนียบัตรรับรองอาหารฮาลาลในสหรัฐฯ ถือได้ว่าไม่มีมาตรฐานที่เป็นหนึ่งเดียวและไม่มีระบบการควบคุมการออกประกาศนียบัตรรับรองหรือการดำเนินงานขององค์กรต่างๆที่อ้างว่าสามารถออกประกาศนียบัตรรับรองได้ จึงก่อให้เกิดปัญหาถกเถียงในเรื่องความแท้จริงและความบริสุทธิ์ของอาหารฮาลาลที่ผลิตและวางจำหน่ายในตลาดสหรัฐฯ ความน่าเชื่อถือขององค์กรที่ออกประกาศนียบัตรรับรอง ผู้ผลิตสหรัฐฯบาง รายได้รับประกาศนียบัตรรับรองทั้งๆที่มีการผลิตที่ขัดกับหลักการทางศาสนาเนื่องจากองค์กรที่ออกเอกสารให้เป็นองค์กรที่ดำเนินธุรกิจหลอกลวงประชาชน ปัญหาในเรื่องนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นปัญหาที่อิสลามในทุกประเทศกำลังเผชิญอยู่ไม่เฉพาะแต่ในสหรัฐฯเท่านั้น

องค์กรที่น่าเชื่อถือได้ในสหรัฐฯที่ออกประกาศนียบัตรรับรองอาหารอิสลาม เช่น

1. Islamic Food and Nutrition Council of America (www.ifanca.org), 777 Busse Highway, Park Ridge, IL 60068, Tel: 847 993-0034, Fax: 847 993-0038 ผู้สนใจสามารถสมัครขอใบประกาศนียบัตรรับรองผ่านทางระบบออนไลน ปัจจุบันบริษัทไทยที่มีชื่อว่าได้รับการรับรองจากองค์กรนี้มี 2 บริษัทคือ (1) Tropical Tanning Public, Co. (www.tropical.co.th) และ (2) Pattani Food Industries Co

2. Muslim Consumer Group (www.muslimconsumergroup.com),10685 Rushmore Lane, Huntley, IL 60142, Tel: 847 515-1008, Fax: 847 659-9512, halalfoods@hotmail.com

3. U.S.A. Halal Chamber of Commerce, (www.ushalalcertification.com), 2701 Bruggs Chaney Rd., Silver Spring, MD 20905, Tel: 202 364-7070 สำหรับการขอรับประกาศนียบัตร ติดต่อ Hajj Habib Ghanim Sr., Director- Iswa Halal Department, 1712 Eye Street NW., # 602, Washington DC 20006, Tel: 240 350-6909, Fax: 301 384-2975, ICFHC@yahoo.com, ICFHC@TMO.Blackberry.net

4. Halal Food Council International — HFCI (www.halalfoodcouncil.info.com), 132 East Main Street, Suite 302, Salisbury, Maryland 21801, Tel: 410 548-1728, Fax: 410 548-2217

5. Islamic Services of America (www.isaiowa.org), P.O. Box 521, Cedar Rapids, Iowa 52406, Tel: 319 362-0480, Fax: 319 366-4369, islamicservices@isahalal.org

6. American Halal Foundation (www.halalfoundation.org), 125 N. Vincent Drive, Bolingbrook, IL 60490, Tel./Fax.: 630 759-4981, info@halalfoundation.org

7. The Islamic Society of the Washington Area, (www.iswamd.org), 2701 Briggs Chaney Rd., Silver Spring, MD 20905, Tel: 301 879-0930

โอกาสของตลาดอาหารฮาลาลสหรัฐฯ

1. โอกาสของอาหารฮาลาลในสหรัฐฯไม่ใช่จำนวนผู้บริโภคอิสลามแต่อยู่ที่การเป็นตลาดการบริโภคในสหรัฐฯดังนั้นแม้ว่าจำนวนผู้บริโภคอิสลามอเมริกันจะไม่มากนักแต่ให้พิจารณากำลังซื้อของผู้บริโภคสหรัฐฯซึ่งอยู่ในระดับที่สูงมากกว่าหลายประเทศ

2. อาหารฮาลาลสามารถขายได้ในราคาสูงกว่าอาหารปกติประมาณหนึ่งในสาม

3. เป็นตลาดที่ขาดแคลนอุปทานอย่างหนัก

4. การแข่งขันในตลาดมีน้อยมาก ประเทศในเอเซียที่จะเป็นคู่แข่งขันที่สำคัญของไทยคือมาเลเซียที่มีเป้าหมายที่จะเป็น Halal Hub ของเอเซียเช่นกัน

5. ผู้บริโภคมุสลิมในสหรัฐฯเปิดกว้างแก่อาหารฮาลาลที่ไม่ได้ผลิตจากประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม ทั้งนี้จะเห็นได้จากอาหารฮาลาลที่ผลิตโดยโรงงานผลิตสหรัฐฯหรือยุโรปหลายรายการได้รับความนิยมบริโภคโดยผู้บริโภคมุสลิมอเมริกัน

6. มีตลาดข้างเคียงที่ใหญ่มาก ตลาดข้างเคียงในที่นี้หมายถึงผู้บริโภคสหรัฐฯที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลามแต่บริโภคอาหารฮาลาลด้วยความเชื่อว่าเป็นอาหารที่ปลอดภัยและเพื่อสุขภาพ ผู้บริโภคกลุ่มนี้เช่น ผู้ที่บริโภคอาหารมังสวิรัต ผู้ที่บริโภคอาหาร gluten-free ผู้บริโภคที่ไม่รับประทานอาหารประเภท นมเนย (daily products) ผู้บริโภคที่ไม่รับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ผู้บริโภคที่มีความวิตกกังวลสูงในเรื่องความปลอดภัยของอาหาร และผู้บริโภคอื่นๆที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพที่ทำให้ต้องเลือกชนิดของอาหารที่จะบริโภค

ปัญหาและอุปสรรค

1. กระแสต่อต้านผู้ก่อการร้ายทำให้ผู้บริโภคสหรัฐฯบางรายเชื่อมโยงอิสลามกับผู้ก่อการร้าย ผู้บริโภคสหรัฐฯ (รวมถึงผู้บริโภคในยุโรป) บางรายเชื่อ/ถูกทำให้เชื่อว่า การบริโภคอาหารฮาลาลเป็นการช่วยสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ก่อการร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีข่าวในปี 2009 ว่าองค์กรที่ออกใบรับรองฮาลาลในสหรัฐฯ บางองค์กรถูกกล่าวหาว่ามีส่วนในการให้การสนับสนุนทางการเงินแก่องค์กรก่อการร้ายในตะวันออกกลางผู้นำศาสนาคริสเตียนและสื่อหลายรายในสหรัฐฯแสดงอาการต่อต้านทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นอิสลามอย่างจริงจังและป้อนทัศนคติต่อต้านอิสลามเข้าสู่ผู้บริโภคทั่วไปในสหรัฐฯทำให้ผู้บริโภคสหรัฐฯหลายรายยังคงมีทัศนคติที่จะไม่ซื้อสินค้าหรือทำธุรกิจใดๆกับบริษัทที่ทำธุรกิจกับอิสลาม กระแสต่อต้านอิสลามในสหรัฐฯ ค่อนข้างรุนแรงและส่งผลทำให้บริษัทที่ทำธุรกิจสินค้าอาหารรายใหญ่ๆหลายรายเลือกที่จะไม่ขายสินค้าฮาลาลของตนในประเทศแต่ผลิตขายในต่างประเทศแทน ตัวอย่างของการต่อต้านอิสลามในสหรัฐฯ เช่น

1.1 ในปี 2010 เมื่อบริษัท Campbell ออกสินค้า Halal soup ก็ถูกต่อต้านโดยทันทีจากสื่อรายใหญ่รายหนึ่งของผู้นับถือศาสนาคริสเตียนคือ Pat Robertson’s Christian Broadcasting Networkว่าการค้าอาหารฮาลาลเป็นการสนับสนุนผู้ก่อการร้าย

1.2 เทศกาล Thanksgiving ของสหรัฐฯในปี 2009 ซึ่งในปีนั้นตรงกับเทศกาล Eid al-Adha ของ อิสลาม บริษัท Best Buy ซึ่งเป็นธุรกิจค้าปลีกสินค้าอิเลคโทรนิกส์รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ในปัจจุบันได้ระบุคำอวยพรเทศกาลอิสลามนี้ควบคู่ไปกับคำอวยพรเทศกาล Thanksgiving ในเอกสารโฆษณาของบริษัทฯส่งผลทำให้เกิดกระแสต่อต้านการกระทำของบริษัทฯจากผู้บริโภคสหรัฐฯกลุ่มอื่นๆเป็นจำนวนมาก

1.3 ในปี 2008 บริษัท Dunkin’s Donuts สหรัฐฯโฆษณาทางสื่อ online โดยใช้ Rachael Ray ซึ่งเป็นบุคคลในวงการบันเทิงด้านอาหารที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในสหรัฐฯเป็น spokeswoman ในโฆษณาดังกล่าว Rachael Ray ใส่ผ้าพันคอที่มีสีและลวดลายเหมือนกับผ้าโพกศรีษะและผ้าพันคอที่ใช้กันเป็นประเพณีแพร่หลายในตะวันออกกลาง เมื่อโฆษณานั้นแพร่หลายออกไปทำให้เกิดกระแสตอบโต้ในทางลบอย่างหนักจากสื่อทั้งที่เป็นฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาและผู้บริโภคหลายรายจนถึงขั้นมีการขนานนาม spokeswoman ในโฆษณานี้ว่า “jihadi chic” ทำให้ Dunkin’s Donuts ต้องถอนโฆษณาดังกล่าวออกไป

2. ตลาดผู้บริโภคมุสลิมยากแก่การเข้าถึงในแง่ที่ว่ากลุ่มผู้บริโภคอเมริกันมุสลิมเป็นผู้บริโภคชนกลุ่มน้อยที่มีความแตกต่างหลากหลายในตัวเองมากที่สุดในบรรดาเชื้อชาติชนกลุ่มน้อยในสหรัฐฯ ความรังเกียจเดียดฉันท์ระหว่างมุสลิมด้วยกันที่มาจากคนละเผ่าพันธุ์และ/หรือคนละนิกาย และการแบ่งแยกมุสลิมที่เป็นผู้อพยพและที่เป็นคนอเมริกันเปลี่ยนศาสนา

3. ระบบการรับรองสินค้าฮาลาลยังไม่มีหลักเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานสากลขึ้นอยู่กับการตีความคำสอนในศาสนาและความเคร่งครัดในการออกใบรับรอง ดังนั้นการตัดสินใจบริโภคของผู้บริโภคอิสลามส่วนหนึ่งจะขึ้นอยู่กับความเชื่อถือในองค์กรที่ออกใบรับรองสินค้าฮาลาลหรือแหล่งที่มาของสินค้าฮาลาล

4. ชุมชนมุสลิมอเมริกันมีจำนวนน้อยและกระจายอยู่ทั่วไป ทำให้ยากแก่การเข้าถึงตัวตลาดหรือร้านค้าที่เหมาะแก่การวางจำหน่ายสินค้าเป็นจำนวนมาก

5. เงื่อนไขโอกาสการวางจำหน่ายสินค้าฮาลาลของตลาดค้าปลีกไม่ใช่แค่เพียงเป็นสินค้าฮาลาลเท่านั้นแต่ต้องเป็นสินค้าฮาลาลที่ “ขายได้” ด้วย

6. ตลาดการบริโภคที่เป็นมุสลิมจริงๆมีขนาดเล็กมาก

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะการเข้าสู่ตลาดอาหารฮาลาลสหรัฐฯ

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิสมีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อพิจารณาในการเข้าสู่ตลาดอาหารฮาลาลสหรัฐฯดังนี้

1. กำหนดผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน

เนื่องจากสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศใหญ่มีประชากรจำนวนมาก ในขณะที่ประชากรมุสลิมอเมริกันมีจำนวนน้อยมากและอยู่กระจัดกระจายไปทั่ว ดังนั้นจึงไม่สามารถทำการตลาดโดยไม่มีการกำหนดกลุ่มผู้บริโภค เป้าหมายและพื้นที่เป้าหมายที่แท้จริงได้ ความสำเร็จในการเข้าสู่ตลาดอาหารฮาลาลสหรัฐฯจะอยู่ที่ความสามารถในการกำหนดตลาดเป้าหมายและพื้นที่เป้าหมายได้อย่างชัดเจน

2. การเข้าสู่ตลาดโดยมุ่งเข้าสู่ตลาดการบริโภคในวงกว้างไม่จำกัดเฉพาะผู้บริโภคที่เป็นมุสลิมที่เป็นผู้อพยพหรือเชื้อสายของผู้อพยพ

เนื่องจากสหรัฐฯไม่ใช่ “ประเทศมุสลิม” และประชากรมุสลิมอเมริกันปัจจุบันที่มีจำนวนไม่ถึงร้อยละ 1 ของประชากรรวมทั้งสิ้นของสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมีความหลากหลายสูงมากในเรื่องของระดับความเชื่อทางศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณีในการดำรงชีวิต สภาวะทางเศรษฐกิจ และถิ่นที่อยู่อาศัย ความพยายามในการเข้าถึงผู้บริโภคมุสลิมแต่เพียงกลุ่มเดียวจะเป็นการปิดกั้นโอกาสการค้าและการเติบโตของตลาด เนื่องจากเงื่อนไขของโอกาสการขยายตัวของตลาดอาหารฮาลาลสหรัฐฯไม่ใช่ผู้บริโภคมุสลิมแต่เป็นอำนาจการซื้อของผู้บริโภคสหรัฐฯทั้งสิ้น การเข้าสู่ตลาดอาหารฮาลาลในสหรัฐฯจึงควรพิจารณาผู้บริโภคสหรัฐฯกลุ่มที่ใหญ่กว่าที่ไม่ใช่มุสลิมแต่ไม่รังเกียจและพร้อมที่จะบริโภคอาหารฮาลาล (ผู้บริโภคทั่วไปที่รับประทานอาหารมังสวิรัต อาหาร glutenfree, อาหารปลอดนมเนย และอัลกอฮอล์ ผู้บริโภคที่ห่วงกังวลเรื่องความปลอดภัยของอาหาร และผู้บริโภคทั่วไปที่สนใจการรับประทานอาหารและการทำอาหารแปลกๆ)

การวางตลาดอาหารฮาลาลโดยให้ความสำคัญต่อผู้บริโภคกลุ่มอื่นในวงกว้างอาจก่อให้เกิดผลดี เนื่องจากเป็นการสร้างภาพลักษณ์ของสินค้าว่าเป็นสินค้าที่ทันสมัยและเป็นสินค้าธรรมดาที่เป็นปัจจุบันสำหรับตลาดทั่วไปซึ่งภาพลักษณ์ดังกล่าวจะสามารถดึงดูดผู้บริโภคที่เป็นมุสลิมซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวได้ดีกว่าการการวางตลาดโดยมุ่งเข้าสู่ตลาดผู้บริโภคมุสลิมทั่วๆไป ทั้งนี้ด้วยเหตุผลที่ว่านอกจากผู้บริโภคกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะต้องการสามารถหาสินค้าบริโภคได้ในตลาด mainstream market แล้ว การวางตลาดในลักษณะนี้ยังอาจจะเป็นการสร้างความรู้สึกในหมู่คนมุสลิมอเมริกันว่าตนได้ถูกรวมเข้าในกลุ่มผู้บริโภคสหรัฐฯทั้งประเทศไม่ได้ถูกแบ่งแยกกีดกันออกไปเหมือนกับสภาวะการณ์ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นอยู่โดยทั่วไปในสังคมสหรัฐฯปัจจุบัน

เงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งของการเข้าสู่ตลาดด้วยกลยุทธนี้คือการผลิตสินค้าอาหารที่อยู่ในแนวนิยมของผู้บริโภคสหรัฐฯโดยทั่วไป การพิจารณาหลีกเลี่ยงการตลาดและการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เน้นผู้บริโภคอิสลามมากเกินไป แต่เน้นการออกแบบบรรจุภัณฑ์สินค้าที่สวยงามทันสมัยที่ดึงดูดใจผู้บริโภคกลุ่มอื่นด้วยหลีกเลี่ยงการทำการตลาดโดยเน้นความเป็นอาหารอิสลามแต่เน้นไปที่การเป็น “อาหารฮาลาล” ที่เป็นอาหารเพื่อสุขภาพทั้งนี้ด้วยเหตุผลว่าไม่สร้างกระแสต่อต้านสินค้าจากผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ในสหรัฐฯ

3. การเจาะตลาดผู้บริโภคที่เป็นมุสลิมเท่านั้น

การเจาะตลาดผู้บริโภคที่เป็นมุสลิมเท่านั้นจะต้องเริ่มต้นที่การระบุกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายว่าเป็นมุสลิมกลุ่มใด ทั้งนี้ตามเหตุผลที่ได้ระบุไว้ในเบื้องต้นของรายงานแล้วว่า มุสลิมในสหรัฐฯแบ่งออกเป็นหลากหลายกลุ่มทั้งที่แยกตามถิ่นที่เกิด เชื้อชาติดั่งเดิม ความเชื่อทางศาสนา และสภาวะเศรษฐกิจ ผู้บริโภคทุกกลุ่มดังกล่าวมีพฤติกรรมการบริโภคที่แตกต่างกัน ดังนั้นการเจาะตลาดผู้บริโภคที่เป็นมุสลิมเท่านั้นจะต้องทำการศึกษาอย่าง ละเอียดว่าจะเข้าสู่ผู้บริโภคกลุ่มใด และในตลาดที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ใดในสหรัฐฯ

ในความเห็นของสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส ในกรณีที่ต้องการเจาะตลาดผู้บริโภคที่เป็นมุสลิมเท่านั้นกลุ่มที่มีเชื้อสายเอเซียใต้และที่เป็นเชื้อสายอาฟริกันอเมริกันน่าจะเป็นกลุ่มที่มีศักยะภาพสูงสุด ด้วยเหตุผลดังนี้คือ

3.1 ความคล้ายคลึงระหว่างอาหารไทยและอาหารที่มุสลิมอเมริกันเชื้อสายเอเซียใต้บริโภค ความใกล้ชิดและคุ้นเคยกับประเทศและวัฒนธรรมประเพณีของกันและกัน

3.2 มุสลิมที่เป็นอาฟริกันอเมริกันมีความเป็นอเมริกันมากที่สุด ง่ายต่อการทำความเข้าใจและเข้าถึงมากที่สุด

4. การเข้าสู่ตลาดสถาบันหรือสถานกักกันในสหรัฐฯ

เป็นที่ทราบกันดีว่าสถานกักกันในสหรัฐฯได้ชื่อว่าเป็นแหล่งกำเนิดที่สำคัญของการเปลี่ยนศาสนาเป็นมุสลิมของผู้ต้องขังที่เป็นอาฟริกันอเมริกันที่ต้องโทษในเรือนจำมา เหตุการณ์นี้ได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 1940 จนถึงปัจจุบัน ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจาก (1) Malcom X บุคคลที่ถือได้ว่าเป็นวีรบุรุษคนหนึ่งของคนอาฟริกันอเมริกันและเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่ม Nation of Islam ที่เมื่อถูกต้องขังได้ทำการชักชวนให้ผู้ต้องขังอาฟริกันอเมริกันเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามได้เป็นจำนวนมาก (2) ความสำเร็จของผู้ต้องขังที่นับถืออิสลามในการฟ้องร้องเรื่องการละเมิดสิทธิของมุสลิมในสถานกักกันของสหรัฐฯและสามารถชนะคดีในหลายๆเมือง ได้รับสิทธิของนักโทษสหรัฐฯที่จะได้รับการปฏิบัติตามหลักศาสนาอิสลามรวมถึงสิทธิที่จะได้รับอาหารฮาลาล ทำให้ผู้ต้องโทษกลุ่มหนึ่งใช้การเปลี่ยนศาสนาเป็นอิสลามเพื่อให้ได้รับการปฏิบัติที่ดีกว่านักโทษทั่วไป (3) ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาเดียวที่มีการรณรงค์ อย่างจริงจังในสถานต้องขังในสหรัฐฯ

หากจะพิจารณาว่าส่วนใหญ่ของผู้ต้องขังในสหรัฐฯหรือประมาณเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ต้องขังรวมทั้งสิ้น เป็นคนอาฟริกันอเมริกัน ในจำนวนนี้ประมาณร้อยละ 15 — 20 เป็นมุสลิม (ประมาณร้อยละ 6 ในสถานกักกันของรัฐบาลกลาง) และส่วนใหญ่ของผู้ต้องขังกลุ่มนี้เป็นคนในวัยหนุ่มสาว สถานกักกันในสหรัฐฯจึงมีศักยภาพเป็นตลาดการบริโภคขนาดใหญ่และที่สามารถเข้าถึงได้โดยง่าย

ฮาลาลที่ผู้ต้องขังในสถานกักกันบริโภคมาจาก (1) การซื้อบริโภคด้วยตนเอง หรือ (2) จากโรงอาหารของสถานกักกันเองทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละมลรัฐ/เมือง/สถานกักกัน

การเข้าสู่ตลาดอาหารสถานกักกันจะต้องศึกษากฎระเบียบและระบบการซื้อสินค้าสำหรับใช้ในสถานกักกันของสหรัฐฯอย่างรอบคอบ เช่น (ก) อาหารที่ขายให้แก่ผู้ต้องขังจะต้องบรรจุอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่สามารถเปิดบริโภคได้โดยง่ายโดยไม่ต้องใช้เครื่องมือเช่นที่เปิดกระป๋องซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับผู้ต้องขัง (ข) การซื้อสินค้าของสถานกักกันบางแห่งซึ่งเป็นของรัฐบาลสหรัฐฯจะมีเงื่อนไขให้ซื้อได้เฉพาะสินค้าที่ผลิตในสหรัฐฯเท่านั้น

5. การสร้างภาพพจน์สินค้าที่ดึงดูดใจผู้บริโภคอิสลามอเมริกัน

ในกรณีที่กลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายหลักคือผู้บริโภคที่นับถือศาสนาอิสลาการผลิตสินค้าที่เป็นฮาลาลแต่เพียงอย่างเดียวไม่พอเพียงที่จะประสบความสำเร็จในตลาดสหรัฐฯ สิ่งที่ควรจะคำนึงถึงก็คือ

5.1 สินค้าได้รับการรับรองจากองค์กรที่ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายให้ความเชื่อถือ

5.2 ประเทศไทยไม่ใช่ “ประเทศอิสลาม” ดังนั้นการสร้างความเชื่อถือในสินค้าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการประชาสัมพันธ์ระบุมาตรฐานการให้ประกาศนียบัตรรับรองสินค้าฮาลาลของไทยว่ายอมรับอะไรไม่ยอมรับอะไรตามหลักความเชื่อในศาสนาอิสลามที่ แตกต่างกันออกไปตามลัทธิต่างๆ ชี้แจงและทำการตลาดมาตรฐานสินค้า ให้ผู้บริโภคเชื่อว่าแม้จะไม่ใช่ประเทศอิสลามแต่ประเทศไทยก็สามารถผลิตสินค้าฮาลาลที่ผลิตตามหลักการของศาสนาอย่างแท้จริงได้

5.3 ความเข้าใจในความเชื่อถือทางศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณี เพื่อให้เกิดความสามารถในการสร้างยี่ห้อและการทำตลาดสินค้าโดยเน้นความสำคัญและคุณค่าในความเชื่อถือทางศาสนาที่เป็นของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย

6. สินค้าที่ควรได้รับการพิจารณา

6.1 สินค้าอาหารฮาลาลสำเร็จรูปที่วางจำหน่ายในตลาดสหรัฐฯปัจจุบันทั้งที่ผลิตในสหรัฐฯและนำเข้าส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าที่ผลิตจากเนื้อสัตว์และเนื้อสัตว์ปีกซึ่งเป็นสินค้าที่ประเทศไทยไม่สามารถส่งเข้าไปจำหน่ายได้ในตลาดสหรัฐฯ สินค้าอาหารฮาลาลสำเร็จรูปที่ทำจากสัตว์น้ำมี วางจำหน่ายน้อยมาก

6.2 สินค้าอาหารฮาลาลที่เป็นอาหารอินเดียมีโอกาสทางตลาดสูงเนื่องจากอาหารอินเดียเป็นหนึ่งในอาหารเอเซียที่ได้รับความนิยมบริโภคสูงในประเทศสหรัฐฯและในหมู่ผู้บริโภคสหรัฐฯทั่วไป อาหารฮาลาลสำเร็จรูปพร้อมรับประทานรายการแรกที่สามารถวางตลาด Whole Foods ได้เป็นอาหารอินเดียที่ผลิตโดยผู้ผลิตอเมริกันเชื้อสายอินเดียในสหรัฐฯ

6.3 สินค้าที่ทำจากผลทับทิมซึ่งเป็นผลไม้ที่เป็นที่คุ้นเคยและรู้จักกันแพร่หลายในตะวันออกกลางและเมดิเตอร์เรเนียน

7. การเข้าถึงผู้บริโภคมุสลิมอเมริกัน

7.1 การศึกษาและใช้ประโยชน์สื่ออิสลามต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นระบบออน์ไลน์และ social network ในการเข้าถึงผู้บริโภคอิสลามอเมริกัน สื่ออิสลามในสหรัฐฯเช่น

7.1.1 “elan” (www.elanthemag.com), Wahid Media Ventures, 1500 Mt. Kemble Ave., Suite 200,

Morristown, NJ 07960, Tel: 973 425-0600, elan@elanthemag.com

7.1.2 “the Muslim Link Paper” (www.muslimlinkpaper.com), Tel: 301 982-1020

7.1.3 “Ogilvy Noor” (www.ogilvynoor.com) เป็นบริษัทโฆษณาในเครือ Ogilvy & Mather Group ที่เน้นตลาด

อิสลามโดยเฉพาะ การติดต่อสำหรับทวีปอเมริกาเหนือ miles.young@ogilvy.com

7.1.4 MLINK (www.themlink.com)

7.1.5 Sound Vision Foundation, Inc. (www.soundvision.com), 9058 S. Harlem Ave. Bridgeview,

IL 60455, Tel: 708 430-1255, Fax: 708 430-1346, info@soundvision.com

7.1.6 Halas Consumer Magazine, 5901 N. Cicero Avenue, Suite 309, Chicago, IL 60646, Tel:

773 283-3708, Fax: 773 283-3973

7.1.7 Muslim Yellow Pages (www.muslimyellowpapges.com)

7.2 ใน Halal consumer Magazine มีคอลัมภ์ตำราอาหารอิสลาลงประจำทุกเดือน อาจใช้เป็นสื่อในการนำเสนออาหารอิสลามที่ทำจากส่วนผสมที่มาจากประเทศไทย

7.3 การรับประกาศนียบัตรรับรองจากองค์กรในสหรัฐฯ องค์กรเหล่านี้ส่วนใหญ่จะลงประกาศและประชาสัมพันธ์รายชื่อยี่ห้อของอาหารและโรงงานผลิตที่ได้รับประกาศนียบัตรรับรองจากตน

8. การเข้าถึงข้อมูล ภาคธุรกิจ และองค์กรต่างๆของมุสลิมอเมริกัน

8.1 งานแสดงสินค้า การประชุม และอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับอาหารฮาลาลในสหรัฐฯมีไม่มากนัก ที่น่าสนใจ เช่น

(ก) The 13th International Halal Food Conference จัดโดย The Islamic Food and Nutrition

Council of America (IFANCA) ที่ Renaissance Schaumburg Hotel & Convention Center,

Schaumburg, IL 60173 ระหว่างวันที่ 10 — 11 เมษายน 2011 ติดต่อ halalconf@gmail.com

(ข) American Muslim Consumer Conference, ติดต่อ MLINK (www.themlink.com) เพิ่งมีขึ้นเพียงสองปีคือเริ่ม

ต้นในปี 2009 ในปี 2010 จัดขึ้นที่นิวเจอร์ซี่ในช่วงปลายเดือนธันวาคม

8.2 รายงานเรื่อง “MarketTrend: Kosher-and Halal-Certified Foods in the U.S. 2009” จัดทำและจำหน่ายโดย Packaged Facts ราคา 2,750 เหรียญฯ

ภาคผนวก

รายชื่อโรงงานผลิต ผู้นำเข้า ผู้กระจายสินค้า ผู้ค้าส่ง ผู้ค้าปลีก สินค้าอาหารฮาลาลในสหรัฐฯ

แหล่งข้อมูล

1. U.S. Bureau of Census

2. Pew Research Center

3. California Muslim Prisoners Foundation, 7117 Reseda Blvd., Reseda, CA 91335, Tel:818 757-0706

4. The Guide to Global Muslim Culture

5. The AdvertisingAge

6. Center for Immigration

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ