รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจและภาวะการค้า ภูมิภาคละตินอเมริกา (16-30 ก.ย. 53)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 24, 2011 10:59 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ประเทศชิลี และเขตพื้นที่ดูแลของ สคร. ณ กรุงซานติอาโก ได้แก่ เปรู โคลัมเบีย และเอกวาดอร์

ประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและภาวะการค้าระหว่างวันที่ 16-30 ก.ย. 53

1. ภาวะการค้ากับประเทศไทย

1.1 ในช่วงเดือนมกราคม — สิงหาคม 2553 การส่งออกจากไทยไปตลาดชิลี โคลัมเบีย เอกวาดอร์ และเปรู โดยรวมมีมูลค่า 1,003 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 148 เป็นอัตราเพิ่มที่สูงกว่าสภาวะการณ์การส่งออกของไทยไปกลุ่มประเทศดังกล่าวในเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2553 ซึ่งมีมูลค่า 839 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 130

1.2 ในทุกตลาด สถานะการณ์การส่งออกของไทยในช่วงมกราคม-สิงหาคม 2553 มีอัตราเพิ่มที่สูงขึ้นกว่าอัตราเพิ่มในช่วงมกราคม- กรกฎาคม 2553 กล่าวคือ

  • ชิลี มูลค่าการส่งออก 344 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 373 (มกราคม — กรกฎาคม 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 355)
  • โคลัมเบีย มูลค่าการส่งออก 254 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 66 (มกราคม-กรกฎาคม 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 54)
  • เปรู มูลค่าการส่งออก 198 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 315 (เดือนมกราคม — กรกฎาคม 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 279)
  • เอกวาดอร์ มูลค่าการส่งออก 206 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 57 (มกราคม —กรกฎาคม 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 44)

1.3 สินค้าที่ตลาดนำเข้ารายการสำคัญจากไทยมีมูลค่าการนำเข้าในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2553 ดังนี้

1.3.1 ตลาดชิลี ได้แก่

  • ยานยนต์ นำเข้า 236 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วง 8 เดือนแรกของปี 2552 ร้อยละ 337
  • เครื่องซักผ้า นำเข้า 15 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วง 8 เดือนแรกของปี 2552 ร้อยละ 337
  • ปูนซีเมนต์ นำเข้า 11 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วง 8 เดือนแรกของปี 2552 ร้อยละ 42
  • เครื่องรับวิทยุ นำเข้า 5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วง 8 เดือนแรกของปี 2552 ร้อยละ 602
  • อาหารทะเลกระป๋อง นำเข้า 5 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วง 8 เดือนแรกของปี 2552 ร้อยละ -1.52

1.3.2 ตลาดเปรู ได้แก่

  • ยานยนต์ นำเข้า 139 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วง 8 เดือนแรกของปี 2552 ร้อยละ 126
  • เครื่องซักผ้า นำเข้า 14 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วง 8 เดือนแรกของปี 2552 ร้อยละ 52
  • เครื่องจักรกลไฟฟ้า นำเข้า 14 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วง 8 เดือนแรกของปี 2552 ร้อยละ 270

1.3.3 ตลาดเอกวาดอร์ ได้แก่

  • ยานยนต์ นำเข้า 165 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วง 8 เดือนแรกของปี 2552 ร้อยละ 29
  • เครื่องจักรกล นำเข้า 9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วง 8 เดือนแรกของปี 2552 ร้อยละ 38
  • เครื่องจักรกลไฟฟ้า นำเข้า 6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วง 8 เดือนแรกของปี 2552 ร้อยละ 180

1.3.4 ตลาดโคลัมเบีย ได้แก่

  • ยานยนต์ นำเข้า 162 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วง 8 เดือนแรกของปี 2552 ร้อยละ 97
  • เครื่องจักรกล นำเข้า 38 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วง 8 เดือนแรกของปี 2552 ร้อยละ 44
  • ผลิตภัณฑ์ยาง นำเข้า 15 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วง 8 เดือนแรกของปี 2552 ร้อยละ 73
  • เครื่องจักรกลไฟฟ้า นำเข้า 6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วง 8 เดือนแรกของปี 2552 ร้อยละ 32

2. ประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ

2.1 คาดว่าการขยายตัวของการส่งออกของไทยไปยังตลาดนี้ยังมี Momentum ต่อไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ยังคงขยายตัว หลังจากนั้น อาจจะค่อยๆชะลอตัวลงเมื่อตลาดอิ่มตัว

2.2 สำนักงานฯ มีความเห็นว่า เศรษฐกิจของตลาดยังมีเสถียรภาพ ยังผลให้ค่าของเงินตราสกุลท้องถิ่นของตลาด แข็งค่าขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ อาทิเช่น ค่าของเงินสกุลเปโซของชิลี ในช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมา แข็งค่าขึ้นประมาณร้อยละ 15 และค่าของเงินสกุลโซลเลสของเปรู ในช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมา แข็งค่าขึ้นประมาณร้อยละ 6 ยังผลให้ตลาดยังคงมีอำนาจซื้อพอสมควรหากราคาสินค้าส่งออกของไทยคิดเป็นเงินเหรียญสหรัฐไม่ปรับตัวสูงขึ้นมาก แต่หากราคาสินค้าส่งออกของไทยไปตลาดนี้ปรับราคาสูงขึ้นมาก การนำเข้าของตลาดก็มีแนวโน้มชลอตัว เนื่องจากสินค้าที่นำเข้าส่วนใหญ่มิใช่สินค้าที่เป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน (มี Price Elasticity of Demand ในระดับปานกลางถึงสูง) ยกเว้นสินค้าปูนซีเมนต์ ซึ่งชิลีมีความจำเป็นต้องใช้ในการบูรณะประเทศจากอุบัติภัยแผ่นดินไหว และสินค้าประเภทวัสดุในการผลิตซึ่งตลาดมีความจำเป็นต้องใช้ในอุตสาหกรรมภายในตลาดทั้งสี่ที่กำลังขยายตัว

2.3 สถานการณ์ที่ค่าของเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก จะส่งผลกระทบในเชิงลบ ต่อศักยภาพการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดดังกล่าว แต่อย่างไรก็ดี ตลาดนี้มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจพอสมควร ยังผลให้ค่าของเงินตราสกุลท้องถิ่นของตลาดแข็งค่าขึ้นเช่นกัน ทำให้ตลาดมีอำนาจซื้อเพิ่มขึ้น ประกอบกับประเทศคู่แข่งขันรายสำคัญของไทยหลายประเทศก็ประสบปัญหามีค่าของเงินตราสกุลท้องถิ่นของตนแข็งค่าขึ้นมากเช่นกัน เช่น ญี่ปุ่น สำนักงานฯ จึงคาดว่า ผลกระทบจากการที่ค่าของเงินบาทแข็งค่าขึ้น ที่จะมีต่อการส่งออกของไทยไปยังตลาดนี้จะไม่ถึงขั้นรุนแรงมาก

2.4 ข้อเสนอแนะคือ ทางฝ่ายไทยจะต้องติดตามความเคลื่อนไหวของค่าของเงินตราสกุลท้องถิ่นของประเทศคู่แข่งขันในตลาดการเงินระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิด และควรนำมาตรการทางการเงิน การคลัง มาช่วยรักษาค่าของเงินบาทไทยให้ปรับตัวอยู่ในระดับที่ไม่มากไปกว่าอัตราการแข็งค่าขึ้นของเงินตราสกุลท้องถิ่นของประเทศคู่แข่งขัน โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเซียด้วยกัน ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการบรรเทาผลกระทบในทางลบต่อศักยภาพทางการแข่งขันทางการค้าของไทย นอกจากนี้ ไทยควรหาลู่ทางในการเพิ่มการลงทุนในต่างประเทศในลักษณะ Internationalization ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อสนับสนุนให้มีเงินทุนไหลออกไปนอกประเทศ รวมทั้งสนับสนุนให้มีการนำเข้าเครื่องจักร อุปกรณ์ และวัสดุในการผลิต จากต่างประเทศ เพื่อขยายกำลังการผลิตในช่วงนี้ เพื่อบรรเทาภาวะที่มีเงินทุนไหลเข้าประเทศมาก และในส่วนของมาตรการทางการค้า สำนักงานฯ เห็นว่า ควรเร่งรัดการจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับประเทศคู่ค้าในตลาดนี้ ให้มีผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเสริมศักยภาพในการส่งออกของไทยสู่ตลาด รวมทั้งการจัด Business Summit Forum ระหว่างนักธุรกิจนักลงทุนของไทยและของตลาดต่างประเทศ เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนให้ไทย

2.5 สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการค้าที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของตลาดและมีผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าจากไทยที่สำคัญ ได้แก่

2.5.1 รายงาน Monetary Policy Report ของธนาคารกลางของชิลี เปิดเผยเมื่อวันที่ 8 กันยายน ศกนี้ว่า ธนาคารกลางชิลีเพิ่มตัวเลขคาดการณ์อัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในช่วงครึ่งปีหลัง เป็นร้อยละ 5-5.5 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ของอุปสงค์ภายในประเทศ อันสืบเนื่องมาจากการบริโภคและการลงทุนที่เพิ่มขึ้น (เดิมคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 4-5) ส่วนในปี 2011 Monetary Policy Report ได้คาดการณ์ว่า GDP ของชิลีจะขยายตัวประมาณร้อยละ 5.5-6.5 โดยจะมีการขยายตัวอย่างมากในช่วงไตรมาสแรกของปี 2011 นอกจากนี้ Monetary Policy Report ยังได้คาดการณ์อีกว่า ในปี 2010 ภาวะเงินเฟ้อจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3.9 และในปี 2011 และ 2012 ภาวะเงินเฟ้อจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3

2.5.2 นาง Cristina Kirchner ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐอาร์เจนตินา เรียกร้องให้กลุ่มตลาดร่วม Mercosur เป็นภูมิภาคหลักในการเป็นแหล่งผลิตอาหารของโลก โดยอาศัยความได้เปรียบในเชิงภูมิศาสตร์จากการที่มีพื้นที่ทำการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ โดยร่วมมือซึ่งกันและกันระหว่างประเทศสมาชิก โดยเฉพาะบราซิล ในการส่งออก โดยจะต้องไม่ทำการแข่งขันกันเอง ทั้งนี้ นาย Gerardo Fontelles รัฐมนตรีเกษตรของบราซิล ได้ขานรับว่า ทั้งสองประเทศได้เริ่มหารือกัน ในอันที่จะทำธุรกิจทางการเกษตรร่วมกันโดยจะถือว่า การเกษตรเป็นแกนหลักของอนาคตข้างหน้า ในปัจจุบัน มีการพัฒนาขุดลอกปรับปรุงแม่น้ำ Parana ที่พาดผ่านพื้นที่ตอนกลางของอาร์เจนตินา ปารากวัย และตอนใต้ของบราซิล เพื่อใช้เป็นเส้นทางขนส่งธัญพืชและเมล็ดพืชสำหรับสะกัดน้ำมันต่างๆ เพื่อลดต้นทุนและย่นเวลาในการขนส่งสินค้า ทั้งนี้ ในปัจจุบันสินค้าเกษตรหลายรายการจากไทยที่พยายามจะส่งออกไปสู่ตลาดต่างๆในอเมริกาใต้ รวมทั้งตลาดในเขตที่สำนักงานฯ ดูแล ต้องแข่งขันกันอย่างรุนแรงกับสินค้าผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตจากกลุ่ม Mercosur และประเทศผู้ผลิตรายสำคัญอื่นๆในภูมิภาค เช่น เปรู และชิลี ซึ่งมีความได้เปรียบไทยในเรื่องต้นทุนทางโลจิสติกส์เป็นอย่างมาก ทำให้การเจาะตลาดสินค้าผลิตภัณฑ์อาหารในตลาดดังกล่าวกระทำได้ยาก ยกเว้นสินค้าในกลุ่ม ผัก ผลไม้ เขตเมืองร้อนกระป๋อง (เช่น สับปะรดกระป๋อง) และปลากระป๋อง (ปลาชนิดที่แตกต่างไปจากที่มีการผลิตได้ในตลาดและพื้นที่ใกล้เคียง)

2.5.3 ในเดือนกันยายน ศกนี้ ธนาคารกลางของชิลี ปรับตัวเลข Economic Activity Index เพิ่มขึ้น จากร้อยละ 6.9 ในเดือนมิถุนายน ศกนี้ เป็นร้อยละ 7.1 เนื่องจากคาดการณ์ว่าอนาคตของความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของชิลีจะเป็นไปอย่างเข้มแข็งในระยะยาว มีการขยายตัวของการขายปลีกร้อยละ 18 การขายปลีกรถยนต์ในรอบ 12 เดือน ขยายตัวกว่าร้อยละ 50 โดยผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นมากขึ้นต่อการที่จะซื้อหาสินค้าประเภทของใช้ที่ใช้งานนาน เช่น รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ฯ

กิจกรรมที่ดำเนินการระหว่างวันที่ 16-30 ก.ย. 53

1. ประสานงาน สอท. ณ กรุงลิมา และร่วมให้การต้อนรับและจัดนัดหมายเจรจาธุรกิจให้คณะผู้แทนระดับสูงภาครัฐและเอกชนของไทย จำนวน 25 คน นำโดย ฯพณฯ ผู้แทนการค้าไทย (นายวัชระ พรรณเชษฐ์) ที่เดินทางไปปฏิบัติราชการเยือนสาธารณรัฐเปรู ซึ่งเป็นเขตพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานฯ ระหว่างวันที่ 22 — 26 กันยายน 2553 เพื่อเจรจาขยายตลาด แสวงหาลู่ทางการร่วมลงทุน ตลอดจนแสวงหาพันธมิตรทางการค้า กับทางฝ่ายเปรู โดยได้ประสานงานดำเนินการตามเท่าที่ สอท. ณ กรุงลิมา และฯพณฯ ผู้แทนการค้าไทย ได้พิจารณามอบหมายให้ปฏิบัติ โดยมี สอท. ณ กรุงลิมา เป็นเจ้าภาพหลัก ตามช่องทางการปฏิบัติราชการของสำนักงานผู้แทนการค้าไทย ซึ่งดำเนินการผ่านทางกระทรวงการต่างประเทศ

2. จัดทำรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจและภาวะการค้าภูมิภาคละตินอเมริการะหว่างวันที่ 1-15 กันยายน 2553

3. จัดทำรายงานผลกระทบของกรณีค่าเงินบาทแข็งตัว ฉบับที่ 2

4. ดำเนินการให้บริการนักธุรกิจไทยและชิลีที่ติดต่อขอรับบริการจากสำนักงานฯ

5. ประสานงานให้บริษัท Hertz ซึ่งเป็นธุรกิจให้เช่ารถรายใหญ่ที่สุดในชิลี ที่กำลังวางแผนธุรกิจที่จะเดินทางมาซื้ออะไหล่ซ่อมบำรุงรถในเครือข่ายการให้บริการของบริษัทฯ ที่ประเทศไทย ให้ได้เดินทางมาพบปะเจรจาธุรกิจ กับผู้ส่งออกไทย รายบริษัท Fortune Parts Co., Ltd. ในเดือนตุลาคม 2553

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ