ประเทศชิลี และเขตพื้นที่ดูแลของ สคร. ณ กรุงซานติอาโก ได้แก่ เปรู โคลัมเบีย และเอกวาดอร์
ประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและภาวะการค้าระหว่างวันที่ 15-31 ธ.ค. 53
1. ภาวะการค้ากับประเทศไทย
1.1 ในช่วงเดือนมกราคม — พฤศจิกายน 2553 การส่งออกจากไทยไปตลาดชิลี โคลัมเบีย เอกวาดอร์ และเปรู โดยรวมมีมูลค่า 1,403 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 145 เป็นอัตราเพิ่มที่ชลอตัวลงจากสภาวะการณ์การส่งออกของไทยไปกลุ่มประเทศดังกล่าวในเดือนมกราคม-ตุลาคม 2553 ซึ่งมีมูลค่า 1,268 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 150
1.2 ตลาดที่สถานะการณ์การส่งออกของไทยในช่วงมกราคม-พฤศจิกายน 2553 มีอัตราเพิ่มที่สูงขึ้นกว่าอัตราเพิ่มในช่วงมกราคม- ตุลาคม 2553 ได้แก่
- โคลัมเบีย มูลค่าการส่งออก 351 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 76 (มกราคม-ตุลาคม 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 71)
- เอกวาดอร์ มูลค่าการส่งออก 293 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 71 (มกราคม —ตุลาคม 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 69)
1.3 ตลาดที่สถานะการณ์การส่งออกของไทยในช่วงมกราคม-พฤศจิกายน 2553 มีอัตราเพิ่มที่ชลอตัวลงจากอัตราเพิ่มในช่วงมกราคม- ตุลาคม 2553 ได้แก่
- ชิลี มูลค่าการส่งออก 472 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 293 (มกราคม — ตุลาคม 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 330)
- เปรู มูลค่าการส่งออก 285 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 253 (เดือนมกราคม — ตุลาคม 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 294)
1.4 สินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้นมากและมีศักยภาพการส่งออกสูงในทุกตลาดดังกล่าว ยังคงเป็น รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกมากเป็นลำดับ 1 ไปยังทุกตลาด การส่งออกไปชิลีขยายตัว 932 % ไปเปรูขยายตัว 556% ไปโคลัมเบีย ขยายตัว 128% ไปเอกวาดอร์ ขยายตัว 88% ส่วนสินค้าส่งออกรายการสำคัญอื่นๆไปตลาดนี้ ได้แก่ เครื่องซักผ้า อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลี 72% ไปเปรูขยายตัว 46% ไปโคลัมเบีย ขยายตัว 20% ไปเอกวาดอร์ ขยายตัว 24% ตู้เย็น อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลี 277% ไปเปรูขยายตัว 45% ไปโคลัมเบีย ขยายตัว 47% อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลี 61% เครื่องยนต์สันดาปภายใน อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลี 130% ไปเปรูขยายตัว 256% ไปโคลัมเบีย ขยายตัว 173% ไปเอกวาดอร์ ขยายตัว 38% ผลิตภัณฑ์ยาง อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลี 51% ไปเปรูขยายตัว 64% ไปโคลัมเบีย ขยายตัว 48% ไปเอกวาดอร์ ขยายตัว 25% เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลีลดลง -2% ไปเปรูขยายตัว 102% ไปโคลัมเบีย ลดลง -0.17% ไปเอกวาดอร์ ขยายตัว 15% เม็ดพลาสติก อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลีขยายตัว 404% ไปโคลัมเบียขยายตัว 76% ไปเอกวาดอร์ขยายตัว 249% ไปเปรูขยายตัว 293% ผลิตภัณฑ์พลาสติก อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลีขยายตัว 94% ไปโคลัมเบียขยายตัว 25% ไปเอกวาดอร์ขยายตัว 33% ไปเปรูขยายตัว 2% ปูนซีเมนต์ อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปชิลีขยายตัว 20% ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ อัตราการขยายตัวของการส่งออกจากไทยไปโคลัมเบียลดลง -6% ไปเอกวาดอร์ขยายตัว 66% ไปเปรูขยายตัว 376% (- = ลดลง หรือ หดตัว)
2. ประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ
2.1 หลังจากที่การขยายตัวของการส่งออกของไทยไปยังตลาดนี้ซึ่งมีการขยายตัวในอัตราที่สูงมากในช่วงต้นปี เมื่อ Momentum อ่อนตัวลง เนื่องจากตลาดอิ่มตัว การขยายตัวของการส่งออกของไทยไปยังตลาดดังกล่าวจึงค่อยๆชะลอตัวลง ตามที่สำนักงานฯได้เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว
2.2 สำนักงานฯ มีความเห็นว่า เศรษฐกิจของตลาดยังมีเสถียรภาพ ยังผลให้ค่าของเงินตราสกุลท้องถิ่นของตลาด แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเปรียบเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ ในปัจจุบัน ค่าของเงินสกุลเปโซของชิลีอยู่ที่ประมาณ 1 เหรียญสหรัฐ เท่ากับ 465 เปโซของชิลี ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ค่าของเงินเปโซของชิลีแข็งค่าขึ้นไปอีกประมาณร้อยละ 7 ยังผลให้ตลาดยังคงมีอำนาจซื้อมากขึ้น ดังนั้น หากราคาสินค้าส่งออกของไทยคิดเป็นเงินเหรียญสหรัฐไม่ปรับตัวสูงขึ้นมาก วิกฤตการเรื่องการอ่อนตัวของเงินเหรียญสหรัฐก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปยังชิลีมากนัก แต่หากราคาสินค้าส่งออกของไทยไปตลาดนี้ปรับราคาสูงขึ้นมาก การนำเข้าของตลาดก็มีแนวโน้มชลอตัว เนื่องจากสินค้าที่นำเข้าส่วนใหญ่มิใช่สินค้าที่เป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน (มี Price Elasticity of Demand ในระดับปานกลางถึงสูง) ยกเว้นสินค้าปูนซีเมนต์ ซึ่งชิลีมีความจำเป็นต้องใช้ในการบูรณะประเทศจากอุบัติภัยแผ่นดินไหว และสินค้าประเภทวัสดุในการผลิต เช่น เม็ดพลาสติก ซึ่งตลาดมีความต้องการนำเข้าเนื่องจากเศรษฐกิจของตลาดมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
2.3 สถานการณ์ที่ค่าของเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก จะส่งผลกระทบในเชิงลบ ต่อศักยภาพการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดดังกล่าว แต่อย่างไรก็ดี ตลาดนี้มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจพอสมควร ยังผลให้ค่าของเงินตราสกุลท้องถิ่นของตลาดแข็งค่าขึ้นเช่นกัน ทำให้ตลาดยังคงมีอำนาจซื้อ ประกอบกับประเทศคู่แข่งขันรายสำคัญของไทยหลายประเทศก็ประสบปัญหามีค่าของเงินตราสกุลท้องถิ่นของตนแข็งค่าขึ้นมากเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐเช่นกัน เช่น ญี่ปุ่น สำนักงานฯ จึงคาดว่า ผลกระทบจากการที่ค่าของเงินบาทแข็งค่าขึ้น ที่จะมีต่อการส่งออกของไทยไปยังตลาดนี้จะไม่ถึงขั้นรุนแรงมาก
2.4 ข้อเสนอแนะคือ ทางฝ่ายไทยจะต้องติดตามความเคลื่อนไหวของค่าของเงินตราสกุลท้องถิ่นของประเทศคู่แข่งขันในตลาดการเงินระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิด และควรนำมาตรการทางการเงิน การคลัง มาช่วยรักษาค่าของเงินบาทไทยให้ปรับตัวอยู่ในระดับที่ไม่มากไปกว่าอัตราการแข็งค่าขึ้นของเงินตราสกุลท้องถิ่นของประเทศคู่แข่งขัน โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเซียด้วยกัน ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการบรรเทาผลกระทบในทางลบต่อศักยภาพทางการแข่งขันทางการค้าของไทย นอกจากนี้ ไทยควรหาลู่ทางในการเพิ่มการลงทุนในต่างประเทศในลักษณะ Internationalization ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อสนับสนุนให้มีเงินทุนไหลออกไปนอกประเทศ รวมทั้งสนับสนุนให้มีการนำเข้าเครื่องจักร อุปกรณ์ และวัสดุในการผลิต จากต่างประเทศ เพื่อขยายกำลังการผลิตในช่วงนี้ เพื่อบรรเทาภาวะที่มีเงินทุนไหลเข้าประเทศมาก และในส่วนของมาตรการทางการค้า สำนักงานฯ เห็นว่า ควรเร่งรัดการจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับประเทศคู่ค้าในตลาดนี้ ให้มีผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเสริมศักยภาพในการส่งออกของไทยสู่ตลาด รวมทั้งการจัด Business Summit Forum ระหว่างนักธุรกิจนักลงทุนของไทยและของตลาดต่างประเทศ เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนให้ไทย
2.5 สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการค้าที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของตลาดและมีผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าจากไทยที่สำคัญ ได้แก่
2.5.1 นาย Dominique Strauss-kahn กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แถลงเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ศกนี้ โดยชี้ว่าไม่มีความเป็นไปได้ใดๆในอันที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำเป็นคำรบที่สอง แม้เขาจะเตือนให้ประเทศที่เศรษฐกิจกำลังอยู่ระยะฟื้นตัวอยู่ในขณะนี้ให้ระวังว่ายังมีท่าทางว่ายังมีความเสี่ยงต่อการที่เศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้นจะตกลงไปอีกเป็นการตบท้าย และให้ทรรศนะว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ผ่านมาเป็นเรื่องที่บอบบางและไม่ราบเรียบ อย่างไรก็ดี เขาเน้นว่า ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของบราซิล ชิลี เปรู อเมริกาใต้ เอเซีย และบางประเทศในอัฟริกา เป็นไปด้วยดี ทั้งนี้ IMF พร้อมที่จะช่วยเหลือสมาชิกที่ประสบปัญหาในรูปแบบ การสนับสนุนทางด้านเทคนิคและทางการเงิน ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ ประเทศไอร์แลนด์ก็เป็นประเทศที่สองในยุโรปที่ต้องการความช่วยเหลือเนื่องจากประสบปัญหาเศรษฐกิจพังทลายลงมา อันเนื่องมาจากประสบปัญหาทางเศรษฐกิจในสาขาการธนาคารซึ่งมีหนี้สินมาก เขายังได้เน้นอีกว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของยุโรปยังคงเป็นไปอย่างเงื่องหงอย และยังคงมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาในเรื่องหนี้สินที่บางประเทศในยุโรปยังจะต้องประสบ ทั้งนี้ ประเทศในยุโรปทั้งมวล ควรที่จะพยายามทำให้ฐานะทางการคลังของตนเข้มแข็งขึ้น และจำเป็นจักต้องฟื้นฟูความเชื่อมั่นในฐานะการคลังสาธารณะของตนเอง เขายังเน้นถึงความจำเป็นที่เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาจักต้องขยายตัวให้เร็วและมีท่วงท่าที่แข็งขันขึ้น มิฉะนั้น ผลที่จะเกิดจะกลายเป็นความเลื่อนลอย เพราะถ้าเศรษฐกิจของสหรัฐเกิดติดหล่มเสียการทรงตัว ก็จะส่งผลผตามมาต่อเศรษฐกิจของโลกอย่างใหญ่หลวง
2.5.2 ในสัปดาห์ที่สองของเดือนธันวาคม ศกนี้ กลุ่มวุฒิสมาชิกที่เป็นตัวแทนจากสาขาการเกษตรของประเทศชิลี ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของธนาคารกลางชิลี และประธานาธิปดีแห่งสาธารณรัฐชิลี อย่างรุนแรง ถึงการที่ไม่พยายามช่วยเหลือภาคเกษตรเพื่อการส่งออกของประเทศที่กำลังประสบปัญหากดดันอย่างรุนแรงจากการที่ค่าของเงินชิลีเปโซแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ โดยมาแตะระดับที่ 1 เหรียญสหรัฐ เท่ากับ 470 เปโซชิลี ในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนธันวาคม ศกนี้ ทั้งนี้ วุฒิสมาชิกกลุ่มดังกล่าว ได้เรียกร้องให้ประธานาธิบดีดำเนินมาตรการทางการเงินเพื่อหนุนให้ค่าเงินเหรียญสหรัฐในตลาดชิลีสูงค่าขึ้นบ้าง โดยให้เหตุผลว่า ผลกำไรจากอุตสาหกรรมการเกษตรส่วนใหญ่จะหมุนเวียนอยู่ในประเทศ ต่างจากผลกำไรจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองแดงของประเทศซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในมือของนักลงทุนต่างชาติจะถูกหมุนเวียนนำออกไปนอกประเทศ ทั้งนี้ นาย Jose de Gregorio ประธานธนาคารกลางชิลีได้ให้เหตุผลโต้กลับว่า ธนาคารกลางไม่สามารถวางหลักเกณฑ์อย่างปราศจากเหตุผลในอันที่จะดำเนินมาตรการเพื่อค้ำยันค่าของเงินเหรียญสหรัฐในตลาดชิลี และยังขอให้ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ได้หันไปพิจารณาถึงภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่สามารถทนต่อวิกฤตทางการเงินของโลกที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ได้ดีกว่าหลายๆภูมิภาคของโลก อีกทั้งยังพยากรณ์ได้ว่า ในปี 2011 เศรษฐกิจของชีลีจะมีความเจริญเติบโตได้ถึงร้อยละ 5-7
2.5.3 นาย Jose Mujica ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐอุรุกวัย เรียกร้องที่ประชุมสุดยอดกลุ่ม Mercosur ซึ่งจะจัดให้มีขึ้นที่เมือง Foz de Iguazu ประเทศบราซิล ในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนธันวาคม ศกนี้ เพื่อให้เร่งพิจารณาดำเนินการให้รวมประเทศเวเนซุเอลา เข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มได้ภายในเร็ววัน โดยให้ทรรศนะว่า ถึงเวลาที่ประเทศละตินอเมริกาต่างๆจะต้องขับเคลื่อนอย่างใกล้ชิดกันให้มากยิ่งขึ้นตามกระบวนการรวมกลุ่ม โดยให้ความเห็นว่า ปัจจุบันโครงการ Mercosur ยังเพียงอยู่ในระยะเริ่มต้น ขั้นตอนการเข้าร่วมในกลุ่ม Mercosur ของเวเนซุเอลา ค้างมาตั้งแต่ปี 2006 เพราะยังขาดความเห็นชอบจากรัฐสภาของสาธารณรัฐปารากวัย ในขณะที่ฝ่ายนิติบัญญัติของอาร์เจนตินา อุรุกวัย และบราซิล ต่างก็ได้ให้ความเห็นชอบไปก่อนหน้านี้แล้ว นาย Mujica ยอมรับว่า อุปสรรคอันใหญ่หลวงในการรวมกลุ่มกันเพื่อให้ Mercosur เป็นกลุ่มตลาดร่วมขนาดใหญ่ คือ ข้อจำกัดทางประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกันระหว่างประเทศต่างๆ ดังนั้น การรวมกลุ่มกันจึงจะต้องมีการเปิดกว้างทางการเมืองให้แก่กันและกัน เพื่อหวังประโยชน์ในการที่จะมีหนทางเดินไปสู่ความเป็นไปได้ในการเปิดเสรีต่างๆ ทั้งนี้ ผู้นำอุรุกวัย ได้แสดงทรรศนะยกย่องให้บราซิล เป็นตัวแทนของกลุ่มในฐานะโฆษกของกลุ่ม และมีบทบาทในกระบวนการรวมกลุ่มเศรษฐกิจในการวางแผนการสำหรับกลุ่มละตินอเมริกาในเวทีโลก โดยเห็นว่า การรวมกลุ่มเศรษฐกิจดังกล่าวจะมีผลดีในการพัฒนากลุ่มประเทศละตินอเมริกา จากปัญหาความยากจนและปัญหาการมีหนี้สินก้อนโตของประเทศ เป็นที่คาดว่าในปี 2010 การค้าระหว่างประเทศสมาชิกกลุ่ม Mercosur ทั้ง 4 ประเทศ ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล ปารากวัย และอุรุกวัย จะมีมูลค่าถึงระดับ 42 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งขยายตัวจากปี 2009 ประมาณร้อยละ 30 โดยประมาณร้อยละ 70 ของการค้าภายในกลุ่ม เป็นการค้าสินค้าผลิตภัณฑ์ทางอุคสาหกรรม และเป็นที่คาดการณ์ว่า มูลค่าการส่งออกของกลุ่มสู่ตลาดโลกจะมีมูลค่าถึง 230 พันล้านเหรียญสหรัฐ เท่ากับมูลค่าการส่งออกของกลุ่มไปตลาดโลกในปี 2008 ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ในส่วนของประเทศชิลี ยังคงมีสถานะเป็นเพียงสมาชิกสมทบ (Associate Member) ของกลุ่มตลาดร่วมดังกล่าว
กิจกรรมที่ดำเนินการระหว่างวันที่ 15-31 ธ.ค. 53
1. จัดนัดหมายเจรจาธุรกิจให้ผู้นำเข้าชิลีราย Ms. Carolina Garib เจ้าของบริษัท Artemisa S.p.a. เดินทางมาเจรจาธุรกิจสั่งซื้อสินค้าชุดภาชนะบนโต๊ะอาหารทำจากกระเบื้องเคลือบดินเผา วัสดุหนังปลากระเบนลายจุด (Shagreen) สำหรับใช้ในการผลิตเฟอร์นิเจอร์ และวัสดุ Jewelry Setting สำหรับใช้ในการผลิตเครื่องประดับอัญมณีกึ่งมีค่า ที่ประเทศไทยระหว่างวันที่ 30 ธันวาคม 2553 — 9 มกราคม 2554
2. ขอเพิ่มเป้าหมายแขก VIP เยือนงาน BIFF & BIL 2011
3. ส่งแบบฟอร์มเสนอโครงการปีงบประมาณ 2555 ที่ปรับใหม่ตามมติที่ประชุมแผนงานฯ
4. ส่งสรุปแผนงาน โครงการ ของ สคร. ณ กรุงซานติอาโก ปีงบประมาณ 2553 ที่ตรวจแก้ไขแล้ว
5. รายงานผลการปฏิบัติงานตามตัวชี้วัดผลผลิตเดือนตุลาคม 2553
6. รายงานผลการปฏิบัติงานตามตัวชี้วัดผลผลิตเดือนพฤศจิกายน 2553
7. ดำเนินการให้บริการนักธุรกิจไทยและชิลีที่ติดต่อขอรับบริการข้อสนเทศทางการค้าจากสำนักงานฯ
ที่มา: http://www.depthai.go.th