1. ภาพรวม
1.1) สหราชอาณาจักรเป็นประเทศที่มีความตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมในระดับสูงและมีบทบาทสำคัญในการกำหนดระเบียบกฎเกณฑ์ทั้งภายในและระหว่างประเทศ รัฐบาลปัจจุบันซึ่งนำโดยนายกรัฐมนตรี นาย David Cameron ถึงกับให้คำมั่นตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 ว่ารัฐบาลชุดนี้จะเป็นรัฐบาลที่ให้สำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา (Greenest government ever)
1.2) รัฐบาลได้กาฃำหนดนโยบายที่จะนำประเทศไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) อันประกอบด้วยนโยบายหลัก 3 ประการคือ
- การลดปริมาณการปล่อยสารที่ทำลายชั้นบรรยากาศ (Cut carbon emissions)
- การสร้างองค์ประกอบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Create conditions for green growth)
- การพลิกฟื้นสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง (Resilience to climate change)
1.3) สหราชอาณาจักรนับเป็นประเทศที่กำหนดเป้าหมายการลดปริมาณการปล่อยสารคาร์บอนไดออกไซด์ลงสูงที่สุดในสหภาพยุโรป โดยได้กำหนดจะลดปริมาณการปล่อยสารฯลงถึงร้อยละ 60 ภายในปี 2050 และสูงถึงร้อยละ 26 ภายในปี 2020 ในการดำเนินการตามเป้าหมายสหราชอาณาจักรได้ออกกฎหมายและระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ เช่น
- กฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Act 2007) ซึ่งถือเป็นประเทศแรกในโลกที่มีกฏหมายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศออกใช้ โดยมีเป้าหมายในการลดการปล่อยสารที่ทำลายชั้นบรรยากาศและแนวทางในการปฎิบัติในส่วนที่เกี่ยวข้อง
- กฎหมายด้านความปลอดภัยด้านพลังงานและเศรษฐกิจสีเขียว (Energy Security and Green Economy Bill 2010) ซึ่งมีเป้าหมายที่จะแนะนำและปรับปรุงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพทั้งในบ้านและการประกอบธุรกิจ
1.4) ในส่วนของผลิตภัณฑ์ Eco-friendly สหราชอาณาจักรบังคับใช้ระเบียบที่สอดคล้องกับสหภาพยุโรปอย่างเข้มงวด เช่น ระเบียบการใช้ส่วนประกอบที่มีความเสี่ยงในผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอีเลคโทรนิคส์ (RoHS — Restriction of the use of certain hazardous substances in electrical and electronic equipment) และระเบียบการรีไซเคิลเครื่องใช้ไฟฟ้าและอีเลคโทรนิคส์ (WEEE — Waste Electrical and Electronic Equipment)
1.5) นอกจากนี้ รัฐบาลสหราชอาณาจักรยังอยู่ในระหว่างการออกระเบียบปฏิบัติตามสหภาพยุโรป EU Directive 2010/30/EU of 19 May 2010 on the indication by labelling and standard product information of the consumption of energy and other resources by energy-related products ซึ่งมีเป้าหมายหลักในการจัดระเบียบการให้ข้อมูลการใช้พลังงานของสินค้าที่ใช้พลังงานต่อผู้บริโภคโดยการใช้ตราสัญลักษณ์หรือฉลากประหยัดพลังงาน (Label) ที่มีมาตรฐานเดียวกันในหมู่ประเทศสมาชิกซึ่งจะมีผลบังคับใช้ ในสหราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2554
1.6) ผลิตภัณฑ์เครื่องอุปโภคบริโภคโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหาร นับเป็นผลิตภัณฑ์ที่ชาวอังกฤษซึ่งตระหนักถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมให้ความสำคัญมาก โดยในปัจจุบันสินค้าเกษตรอินทรีย์ หรือ Organic นับเป็นกลุ่มสินค้าทึ่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งในสหราชอาณาจักรมีหน่วยงานอิสระดำเนินการออกใบรับรองสินค้าเกษตรอินทรีย์หลายราย โดยการรับรองจาก Soil Association ได้รับความเชื่อถือสูงสุดในหมู่ผู้บริโภคชาวอังกฤษ
1.7) ภาคธุรกิจของสหราชอาณาจักรเองก็ตอบสนองความตื่นตัวของผู้บริโภคในด้านสิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และสารที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกในส่วนที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ที่เรียกว่า Carbon Footprint ซึ่งภาคธุรกิจหลายฝ่ายร่วมกันกำหนดแนวทางวัดปริมาณสารพิษดังกล่าวและสมัครใจติดตราสัญลักษณ์หรือฉลากบนผลิตภัณฑ์เพื่อรณรงค์ลดการปล่อยสารคาร์บอนไดออกไซด์
2.สินค้า Eco-Friendly ของสหราชอาณาจักร
2.1) จากการให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อมของชาวอังกฤษ ส่งผลให้ภาครัฐเร่งออกระเบียบมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันในส่วนของภาคธุรกิจก็เร่งพัฒนาสินค้าของตนให้สอดคล้องกับความต้องการ การติดฉลากหรือตราสัญลักษณ์แสดงข้อมูลที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจึงเข้ามามีส่วนสำคัญในการเลือกใช้สินค้าของผู้บริโภค
2.2) ปัจจุบันการติดฉลากหรือตราสัญลักษณ์ของสหราชอาณาจักรสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ การติดฉลากแบบบังคับ (Mandatory) และการติดฉลากโดยความสมัครใจ (Voluntary)
2.3) การติดฉลากแบบบังคับส่วนใหญ่จะใช้อยู่ในกลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอีเลคส์โทรนิค มีวัตถุประสงค์ในการให้ผู้บริโภคเปรียบเทียบสินค้าในด้านการประหยัดพลังงาน โดยแบ่งระดับการใช้พลังงานตั้งแต่ A+ A++ และ A+++ ตั้งแต่สีเขียวจนถึงสีแดง และยังให้ข้อมูลด้านการใช้พลังงาน ซึ่งปัจจุบันบังคับใช้ในเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ได้แก่ ตู้เย็น ตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้า เครื่องอบผ้า เครื่องล้างจาน เครื่องปรับอากาศ เตาไฟฟ้าหลอดไฟ และจะเริ่มใช้กับเครื่องรับโทรทัศน์ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2554
- การติดฉลากความสามารถในการใช้พลังงานในบ้าน (Energy Performance Certificate หรือ EPC) ซึ่งบ้านทุกหลังที่จะให้เช่าหรือขายจะต้องได้รับ โดยในฉลากจะแสดงข้อมูลระดับการใช้ไฟฟ้าและปริมาณการปล่อยสารคาร์บอนไดออกไซด์ โดยแบ่งระดับตั้งแต่ A ถึง G สีเขียวถึงสีแดง
2.4) การติดฉลากโดยความสมัครใจ
- ฉลาก Ecolabel ดำเนินการโดยสหภาพยุโรป โดยออกฉลากให้กับสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าสินค้าทั่วไป ซึ่งผู้ผลิตสินค้าที่ผลิตสินค้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสามารถขอรับการพิจารณาได้จากหน่วยงานของสหภาพยุโรป
- ฉลาก Energy Star ดำเนินการโดยสหภาพยุโรป โดยออกฉลากให้กับสินค้าคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ แสดงความสามารถในการประหยัดพลังงานตามมาตรฐานของสหภาพยุโรป
- กระทรวงสิ่งแวดล้อม อาหารและกิจการในชนบท ( Department for Environment, Food and Rural Affaires - DEFRA) และ กระทรวงธุรกิจ การสร้างสรรค์และพัฒนาฝีมือ (Department for Business, Innovation and Skills -BIS) ของสหราชอาณาจักรได้ร่วมกันจัดตั้งองค์กรอิสระ ได้แก่ Carbon Trust เพื่อรณรงค์ให้หน่วยงานราชการและภาคธุรกิจลดการปล่อยสารเรือนกระจกลงอย่างเป็นระบบ Carbon Trust ยังได้ออกฉลากซึ่งแสดงปริมาณการปล่อยสารเรือนกระจกสำหรับแสดงบนผลิตภัณฑ์ต่างๆซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี โดยธุรกิจหลายรายได้เริ่มนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์ของตนแล้ว
- Carbon Trust รณรงค์ลดการปล่อยสารเรือนกระจกแสดงเครื่องคำนวณปริมาณการปล่อยสารฯที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆของมนุษย์และแนะนำวิธีการดำเนินเพื่อลด/หักล้าง การปล่อยสารฯ
- ภาคธุรกิจหลายฝ่ายเข้าร่วมเข้าร่วมใน Carbon Trust อาทิเช่น มันฝรั่งทอดกรอบ Walkers น้ำผลไม้/ผลิตภัณฑ์นม Innocent และร้านขายยาและเครื่องใช้ประจำวัน Boots โดยการติดตราสัญลักษณ์และแสดงปริมาณการปล่อยสารเรือนกระจกลงบนผลิตภัณฑ์ของตน
- น้าผลไม้//ผลิตภัณฑ์นม Innocent ติดตราสัญลักษณ์ Carbon Trust ลงบนผลิตภัณฑ์ของตน
- Boots ติดฉลาก Carbon Trust ลงบนผลิตภัณฑ์ประเภทแชมพูของตน
- บริษัทปิโตรเลียม BP แสดงเครื่องคำนวณและแนะนำแนวทางปฏิบัติในการลดการปล่อยสารเรือนกระจกแก่บุคคลทั่วไป
- สินค้าเครื่องปรุงอาหารไทยออแกนนิกซึ่งได้รับฉลากมาตรฐานจาก Soil Association
2.5) นอกจากการติดฉลากทั้งจากการบังคับและการสมัครใจแล้ว ธุรกิจหลายรายได้กำหนดแนวทางของตนในการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม อาทิเช่น
- ซุปเปอร์มาเก็ต Tesco ซึ่งถึงแม้ว่ายังไม่ได้เข้าร่วมกับ Carbon Trust ในการใช้ฉลากแต่ก็ใช้แนวทางของตนเองในด้านการประหยัดการใช้ถุงพลาสติก โดยใช้ถุงที่ทาจากผ้าและให้ส่วนลดกับลูกค้าเพื่อเป็นการจูงใจ
- ซุปเปอร์มาเก็ต Waitrose ซึ่งเป็นซุปเปอร์มาเก็ตระดับบนใช้ตราสัญลักษณ์ของตนเอง (Leaf) โดยรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมในสินค้าอาหารทั้งระบบเริ่มตั้งแต่ฟาร์มจนถึงผู้บริโภค
- ธุรกิจรายย่อยใช้วัสดุธรรมชาติและวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้ใหม่มาใช้ในการผลิตสินค้า Eco-Friendlyของตนดังรูปด้านล่างซึ่งแสดงสินค้า Green ที่ขายในเวปไซด์
3. ความเห็นเพิ่มเติมของสำนักงานฯ
3.1) ความตื่นตัวของชาวอังกฤษในประเด็นสิ่งแวดล้อมส่งผลให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนสหราชอาณาจักรต่างออกมามีบทบาทในการออกระเบียบมาตรฐาน ตลอดจนผลิตสินค้าตามความต้องการของผู้บริโภค ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะต้องติดตามความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง
3.2) สินค้าเกษตรอินทรีย์หรือออแกนนิกนับเป็นสินค้าในกลุ่มที่มีศักยภาพสูงและมีโอกาสที่จะขยายตัวได้อีกมาก ประเทศไทยเองก็มีสินค้าสามารถเข้าสู่ตลาดหลายรายการ เช่น ข้าวหอมมะลิ เครื่องปรุงรสอาหารไทย รวมถึงผลิตภัณฑ์สปา ของเล่นและ เครื่องใช้ในบ้านที่ทาจากวัสดุธรรมชาติ
3.3) ปัญหาอุปสรรคที่มีผลกระทบต่อการขยายการส่งออกสินค้าในกลุ่ม Eco — Friendly ไปยังตลาดสหราชอาณาจักร ได้แก่ ระเบียบหลักเกณฑ์มาตรฐานการผลิตสินค้าทั้งของสหภาพยุโรป และของสหราชอาณาจักร ซึ่งเข้มงวดและมีรายละเอียดค่อนข้างมาก รวมทั้งยังมีเงื่อนไขรายละเอียดที่อาจยุ่งยากต่อการนำเข้าจากประเทศนอกกลุ่มสหภาพยุโรป ดังนั้น ผู้ผลิตและส่งออกของไทยควรศึกษาข้อมูลและติดตามความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว รวมทั้งในการคัดเลือกบริษัทผู้นำเข้าที่จดทะเบียนและมีประสบการณ์ด้านการนำเข้าที่ดี ตลอดจนสร้างความสัมพันธ์และการติดต่อประสานงานที่ดีกับผู้นำเข้า ซึ่งจะสามารถให้ข้อมูลและคำแนะนำที่ถูกต้อง เพื่อช่วยให้สามารถขยายการส่งออกไปยังตลาดแห่งนี้ได้เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไป
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงลอนดอน
ที่มา: http://www.depthai.go.th