ห้างวอลมาร์ทกับนโยบายขายสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 24, 2011 14:41 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ในปี 2552 ตลาดสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพในสหรัฐฯ (Organic และ Natural Food) มีมูลค่าประมาณ 31,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (รายงานโดย Nutrition Business Journal) โดยกระแสความต้องการสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพ (Healthy Foods) ตลาดในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นสูงเป็นลำดับ ในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา

ห้างวอลมาร์ท ซึ่งเป็นผู้นำตลาดค้าปลีกรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ตระหนักถึงความต้องการอาหารเพื่อสุขภาพของผู้บริโภคในสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นจึงได้จัดทำแผนงาน 5 ปี ในการส่งเสริมอาหาร เพื่อสุขภาพให้แก่ผู้บริโภคในสหรัฐฯ โดยจะเน้นการลดระดับการใช้ เกลือ น้ำตาล และ ไขมันแปรรูป ในอาหารประเภท ผลิตภัณฑ์ข้าว ซุป อาหารกระป๋อง น้ำสลัด และ ของทานเล่น เช่น มันฝรั่งทอด (Potato Chips) โดยจะเริ่มดำเนินการในกลุ่มสินค้าอาหารภายใต้ตราสินค้าของห้าง (Private Label) คือ Great Value เป็นลำดับแรก

แผนการส่งเสริมอาหารเพื่อสุขภาพ 5 ปีของห้าง

ห้างวอลมาร์ทเสนอแผนการส่งเสริมและเพิ่มการบริโภคสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพ ดังนี้

1. ลดการใช้เครื่องปรุงรสประกอบอาหารได้แก่

1.1 ลดระดับเกลือ (Sodium) ไม่เกินร้อยละ 25 ภายในปี 2558

1.2 ลดระดับน้ำตาลในอาหารให้มีไม่เกินร้อยละ 10 ภายในปี 2558

1.3 ลดระดับการใช้ไขมันแปรรูป (Trans Fat) ในอาหารและเลิกใช้ภายในปี 2558

2. ลดราคาสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพและผักผลไม้ เพื่อชักจูงให้ผู้บริโภคสามารถซื้อหาอาหารเพื่อสุขภาพราคาย่อมเยามากยิ่งขึ้น

3. จัดทำฉลาก/โลโก้ ติดไปกับสินค้าเพื่อแจ้งให้ผู้บริโภคทราบส่วนประกอบของอาหารแสดงระดับความเป็นอาหารเพื่อสุขภาพที่แท้จริง (Truly Healthier Foods)

4. ให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่องค์กรด้านการส่งเสริมโภชนาการเพื่อสุขภาพนำไปใช้ในกิจกรรมส่งเสริมการรับประทานอาหารอย่างมีคุณค่า

ปัจจุบันหน่วยงาน US FDA ยังไม่มีระเบียบควบคุมปริมาณการใช้เกลือ น้ำตาล หรือไขมันแปรรูป ในการผลิตสินค้าอาหาร แต่เรียกร้องให้ผู้ผลิตสินค้าอาหารของสหรัฐฯ ดำเนินการโดยสมัครใจในการลดปริมาณการใช้เครื่องปรุงรสประกอบอาหารดังกล่าว และหน่วยงาน FDA มีระเบียบ บังคับให้ผู้ผลิตสินค้าอาหารต้องแจ้งสัดส่วนเครื่องปรุงรสประกอบอาหารที่ใช้ในการผลิตลงบนฉลากโภชนาการ

ข้อคิดเห็นและเสนอแนะ

รายงานศึกษาและวิจัยด้านการบริโภคของหลายองค์กรในสหรัฐฯ พบว่า ผู้บริโภคที่มีรายได้ต่ำ และผู้ที่ใช้ Food Stamps ในการซื้อสินค้าอาหาร มักจะประสบปัญหาสุขภาพเนื่องจากไม่สามารถจับจ่ายซื้อหาอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการเพียงพอมาบริโภคได้ ด้วยเหตุผลนี้ ห้างวอลมาร์ท จึงหันมาให้ความสนใจกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกค้าของห้าง และเล็งเห็นว่าแผนการส่งเสริมการขายสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพของห้าง จะสามารถช่วยเสริมสร้างสุขภาพของลูกค้าของห้างวอลมาร์ทได้ในวงกว้าง และตอบสนองต่อความต้องการอาหารเพื่อสุขภาพในสหรัฐฯ ที่ขยายตัวสูงขึ้นเป็นลำดับ และเป็นแนวโน้มตลาดสินค้าอาหารของสหรัฐฯ ในอนาคต

การส่งเสริมการขายอาหารเพื่อสุขภาพของห้างวอลมาร์ท จะเป็นปัจจัยผลักดันให้ผู้ผลิตสินค้าอาหารในสหรัฐฯ ซึ่งขายสินค้าอาหารให้ห้างวอลมาร์ท ต้องปรับกลยุทธ์การผลิตสินค้าของตนให้มีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของห้างวอลมาร์ท ซึ่งจะส่งผลดีต่อตลาด สินค้าอาหารโดยรวม และเป็นแรงผลักดันให้ผู้ผลิต/ผู้นำร้านค้าปลีกรายอื่นๆ หันมาส่งเสริมและผลักดันการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ เป็นผลให้มีการกระจายสินค้าไปยังร้านค้าปลีก ร้านขายของชำ และซุปเปอร์มาร์เก็ต อื่นๆ ทั่วประเทศ

อนึ่ง ประเทศไทยซึ่งเป็นแหล่งผลิตและแหล่งนำเข้าสินค้าอาหารที่สำคัญแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ ดังนั้น ผู้ผลิต/ส่งออกสินค้าอาหารของไทยไปยังสหรัฐฯ ควรให้ความสำคัญในเรื่องการลดการใช้เครื่องปรุงรสประกอบอาหาร เช่น การใช้น้ำตาล เกลือ และ ไขมันแปรรูป เป็นต้น เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มความต้องการสินค้าในตลาดสหรัฐฯ และสามารถแข่งขันได้ต่อไปในกระแสความต้องการของโลก

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครชิคาโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


แท็ก สหรัฐ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ